114.ซ้อมรบ 23 – มองข้าม

ตอนที่ 1 อย่าลืมซ้อมรบทุกวันตั้งแต่ตื่นจนหลับ 

จะสังเกตว่าการนั่งสมาธิแต่ละครั้งก็ไม่เหมือนกัน สภาวะที่เกิดขึ้นในกายในใจนี้ไม่เหมือนกัน บางครั้งนั่งปุ๊บเข้าที่เลย บางครั้งนั่งฟุ้งซ่านตั้งนาน ก็ไม่ใช่ปัญหา มันเป็นอนิจจังแบบนั้น ฟุ้งไปก็รู้ทัน บางทีก็รู้ช้า บางทีก็รู้ไว ควบคุมไม่ได้ เป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่ต้องซีเรียส

สำคัญคือ เราได้ทำหน้าที่ “หน้าที่ในการอยู่กับตัวเอง” เช่น เวลานั่งสมาธิ เราได้อยู่กับตัวเอง มีโอกาสที่จะได้เรียนรู้ความจริง จะนั่งได้ดี นั่งไม่ดี ก็มีโอกาสที่จะได้เรียนรู้ความจริง เพราะฉะนั้น หน้าที่เราคือ เปิดโอกาสให้ได้อยู่กับตัวเอง

หลังจากจบคอร์สกลับบ้านไปแล้ว ไม่มีกัลยาณมิตรแบบนี้ ไม่มีครูบาอาจารย์แบบนี้ “เราต้องมีวินัยให้มาก” ไม่ทิ้งสิ่งที่ได้เรียนรู้แล้ว

พอได้ฟังธรรมความอยู่กับเนื้อกับตัวก็เกิดขึ้น ให้เห็นเป็นเหตุปัจจัย มีเหตุอย่างนี้ ผลเกิดแบบนี้ เห็นมั้ยมันเป็นเอง เราไม่ได้บังคับขู่เข็ญให้มันต้องอยู่กับเนื้อกับตัว แต่ก่อนที่จะเป็นเองแบบนี้เราก็ได้ฝึกมาแล้ว เพราะฉะนั้น ก่อนจะถึงความเป็นเองอัตโนมัติ อย่าลืมซ้อมรบทุกวันทั้งวันตั้งแต่ตื่นจนหลับ ต่อไปจะขี้เกียจพูด 3 ข้อ (รู้สึกตัว, ไม่ตามความคิดไป, หันกลับมาดูจิตใจ) แล้วมันยาวไป พูดแค่ซ้อมรบพอ

บางทีก็รู้สึกมั้ยว่าหลงไปคิด แล้วก็รู้ทันขึ้นมาอย่างนุ่มนวล คล้ายๆ การรู้ทันนั้นแทรกซึมเข้าไปในการหลงเข้าไปในความคิดอย่างนุ่มนวล แล้วก็กลับมาอยู่กับเนื้อกับตัวอัตโนมัติ …เนี่ยคือลีลา ก็มีลีลาหลายแบบ เราก็จะสังเกตลักษณะของลีลาต่างๆ ได้

ร่างกายยังเป็นสิ่งที่ถูกรู้อยู่มั้ย หรือลืมไปแล้ว หายไปแล้ว ต้องหมั่นสังเกตตัวเอง เรารู้สึกร่างกายอยู่ จิตใจก็ไปฟุ้งซ่านยาก เมื่อไปฟุ้งซ่านยากจะเกิดอะไรขึ้น? ความสงบก็เปิดเผยตัวออกมา ความปกติก็เปิดเผยตัวออกมา ของเหล่านี้เป็นผลพลอยได้ทั้งนั้น เกิดจากการที่เราไม่ลืมร่างกายนี่แหละ

เมื่อก่อนเรานั่งจะเอาความสงบ เราเข้าใจว่าศาสนาพุทธคือ ความสงบ เดี๋ยวนี้เราต้องเข้าใจแล้วว่า ศาสนาพุทธ หรือ พุทธะ คือ “ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน”  รู้ทุกสิ่งตามความเป็นจริง รู้ด้วยความเป็นกลาง ไม่อินไปกับอะไร เรียกว่า เบิกบาน

ตอนที่อยู่ในคอร์สนี้ต้องเข้าใจว่าเรากำลังซ้อมรบอยู่ สิ่งแวดล้อมค่อนข้างจะเอื้ออำนวยให้ทุกอย่างนี้ราบรื่น แต่พอเราไปใช้ชีวิตจริงๆ จะต้องมีการกระทบกระทั่ง กิเลสเกิด อารมณ์เกิด ความรู้สึกเกิด เราก็รู้ทัน รู้ทันไปที่ใจ ที่ความรู้สึกตัวเองที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งอาจจะแพ้บ้าง หรืออาจจะชนะบ้าง คำว่า ชนะบ้าง คือ สามารถรู้เท่าทัน รู้เฉยๆ ด้วยความเป็นกลางได้อัตโนมัติ ไม่ใช่บังคับควบคุมเอาไว้ มันไม่ปรุงต่อ เห็นแล้วมันก็เห็นเฉยๆ ตามกำลังสมาธิที่มีอยู่ บางครั้งแพ้ คือ เสร็จมัน ตกเป็นของมันเรียบร้อย เค้าเรียกว่าอะไร? คนใจง่าย กิเลสเกิดขึ้นก็โดนล่อลวงไป

แต่ก็ล้มบ้างก็ได้ แพ้บ้างก็ได้ มันเป็นบทเรียน มันเป็นแรงกระตุ้นให้เรารู้ว่า ที่ปฏิบัติอยู่ยังปฏิบัติไม่พอ ประมาทไม่ได้ อย่านึกว่าดีแล้ว นี่คือ “คุณค่าของความพ่ายแพ้” หรือที่เรียกว่า คุณค่าของความทุกข์ที่จะคอยเตือนเรา

 

ตอนที่ 2 ไม่ทอดทิ้งกายและใจนี้

อย่าให้คอร์สนี้สูญเปล่า กลับไป “เปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่” ทุกวันทำในรูปแบบ ตื่นให้เช้าขึ้น นอนให้เร็วขึ้น เสาร์อาทิตย์ไม่ใช่วางแผนไปเที่ยว หยุดงานก็เข้าวัดฟังธรรม มาหาครูบาอาจารย์ ถ้าไม่รู้จะไปไหน ก็อยู่บ้านปฏิบัติธรรม ถ้าเราไม่ทอดทิ้งธรรม ธรรมก็ไม่ทอดทิ้งเรา ไม่ทอดทิ้งธรรม คือ ไม่ทอดทิ้งกายและใจนี้ กายและใจนี้คือ ตู้พระไตรปิฎกของจริง ไม่ทอดทิ้งธรรม คือ ไม่ลืมกายและใจนี้

กลับบ้านไปเราอาจจะไม่สามารถนั่งได้ดีแบบนี้ แต่ต้องไม่ลืมว่าเราต้องทำหน้าที่ ดีไม่ดีไม่สำคัญเท่าทำหน้าที่ ถ้ารู้จักทำหน้าที่ ที่เราคิดว่านั่งไม่ดีจะดีขึ้นมา แต่ถ้าไม่ทำหน้าที่ ก็ไม่มีอะไรเหลือเลย

อะไรๆ ก็ทำงานของมันเอง ทุกการเห็นตามความเป็นจริง เราได้ค่อยๆ ล้างมิจฉาทิฏฐิ สั่งสมสัมมาทิฏฐิ แค่เห็นอย่างที่มันเป็นไปเรื่อยๆ เท่ากับว่าเราได้ใช้ทุกนาทีอย่างคุ้มค่าที่สุด

พวกเราจำนวนมากได้พบเห็นความจริง ได้รู้จักการเห็นตามความเป็นจริง เข้าใจสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอน รู้สึกถึงความอัศจรรย์ของการเห็นตามความเป็นจริงภายในระยะเวลาสั้นๆ ปัจจัยหลักอย่างหนึ่งก็คือ สิ่งแวดล้อมช่วยเรา มีระเบียบมีวินัย อุทิศเวลาให้กับการปฏิบัติธรรมทั้งวันอย่างต่อเนื่อง จึงเกิดความเข้าใจขึ้นมาได้

แต่ความสำคัญมากกว่านั้นก็คือ นำมันกลับไปใช้ในชีวิตจริงๆ ของเรา ชีวิตจริงๆ ที่เราต้อง “พึ่งตัวเอง” การที่เราสามารถกลับไปบ้านแล้วสร้างระเบียบวินัยให้กับตัวเองได้ ตรงนี้สำคัญมาก…เป็น “บารมี” มันไม่มีใครบังคับเรา การที่เราฝืนกิเลสบังคับตัวเอง ให้มานั่งมาเดิน ทิ้งสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องทำ จัดสรรเวลาให้เกิดขึ้น ความเข้มแข็งทางจิตใจจะเกิดขึ้น

ใน 7 วันเรานั่งปฏิบัติแบบนี้ ทุกคนที่มาเล่าให้ผมฟังก็ได้ผลลัพธ์แล้ว เห็นตามความเป็นจริงในเชิงของไตรลักษณ์แล้ว รู้จักการรู้ซื่อๆ รู้อย่างเป็นกลางแล้ว รู้จักการไม่ต้องทำอะไรแล้ว เอาตรงนี้เป็นกำลังใจที่จะกลับไปบ้านแล้วไม่เลิก อย่าปล่อยให้โมเมนตัมนี้สูญสลายไปเพราะความขี้เกียจ หรือว่ากลับไปแล้วก็ โอ้…ปฏิบัติมาเต็มที่แล้ว เดี๋ยวไปพักผ่อนก่อน รู้จักกระต่ายกับเต่ามั้ย กระต่ายมันก็พักผ่อนแบบนี้แหละ สุดท้ายมันก็แพ้

 

ตอนที่ 3 มองข้าม

ความสำคัญประการหนึ่งที่จะทำให้เราเจริญในการปฏิบัติธรรมคือ “คอยอุดรูรั่วทั้งหลาย”  รูรั่ว หมายความว่า เรื่องอะไรก็ตาม กิจกรรมอะไรก็ตามที่ไม่จำเป็นต้องทำ เช่น ไปเที่ยว ไปเล่น ไปหาความสุขในแบบต่างๆ ดูหนัง ดูละคร ช้อปปิ้ง ไม่รู้จะทำอะไร ไปห้างดีกว่า แนวๆ นี้ รวมๆ ก็คือ การใช้ชีวิตที่หนีความเบื่อไปเรื่อยๆ ไม่อยากอยู่กับมัน ไม่อยากเห็นมัน เบื่อปุ๊บหนีเลย

เพราะฉะนั้น เริ่มอุดรูรั่วของชีวิต ไม่อย่างนั้นปฏิบัติเท่าไหร่ ก็เหมือนเติมน้ำลงไปในตุ่มเท่าไหร่ มันก็ไหลออกหมด เห็นมั้ยว่าเราอยู่ที่นี่ 7 วันทำไมถึงเกิดพัฒนาการอย่างรวดเร็ว เพราะไม่มีโอกาสที่จะไปทำอะไรฟุ้งซ่าน โดนเก็บมือถือ ระเบียบที่นี่ก็อุดรูรั่วให้ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เราลุยปฏิบัติ แต่ไม่อุดรูรั่ว

นักปฏิบัติจำนวนมาก “มองข้ามการอุดรูรั่วไป” บางคนไปคิด โอ้…ไปเที่ยวก็ปฏิบัติธรรมได้…รู้สึกตัว ไปช้อปปิ้งก็ปฏิบัติธรรมได้…รู้สึกตัว ไม่ได้รู้จักเลยว่าจิตใจเนี่ยมันเบื่อ มันพยายามหนีความเบื่อ พยายามหาความสุข แต่คนไม่เข้าใจการปฏิบัติ ไม่เข้าใจว่าความเจริญเกิดขึ้นได้ยังไง ก็ไม่เข้าใจตรงนี้หรอก ไม่เข้าใจการอุดรูรั่วว่ามันสำคัญขนาดไหน พอไม่เข้าใจก็จะทำอะไรก็ได้ ตามใจกิเลสก็ยังไม่ยอมจะรู้เลยว่านี่กำลังตามใจกิเลส ใช้ความคิดว่าการที่ไปทำอะไรก็รู้สึกตัวไปก็ปฏิบัติธรรมได้เหมือนกัน เนี่ยคนเรามันหลอกตัวเอง ถามว่าปฏิบัติได้มั้ย? ได้…รู้สึกตัว มันก็ดี แต่เติมน้ำลงตุ่มไปมันก็ไหลออก

คอร์สครั้งนี้ก็เป็นตัวอย่างสำคัญอันหนึ่ง แต่เราต้องเห็นว่าเป็นโมเดลของการที่ชีวิตของเรานั้นถูกอุดรูรั่ว นอกจากเราเข้าใจการปฏิบัติที่ถูกต้องได้แล้ว ชีวิต 7-8 วันนี้ก็ถูกอุดรูรั่ว น้ำในตุ่มหรือที่เรียกว่ากำลังของสมาธิ มันก็ไม่หายไปไหน มีแต่เพิ่มขึ้น พอมันเพิ่มขึ้นได้ก็เกิดการเห็นตามความเป็นจริงได้ ทุกคนที่มาเล่าให้ผมฟังก็สังเกตได้เองใช่มั้ยว่า มันอัตโนมัติ เห็นเองโดยที่ไม่คาดคิด ไม่ว่าใครจะเห็นในมุมไหนก็ตาม ประสบการณ์ครั้งนี้ของเราอาจจะเป็นครั้งเดียวในชีวิตก็ได้ แต่รู้จักมันไว้ว่าอะไรเป็นเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น

เพราะฉะนั้น เมื่อเรากลับไป เราก็รู้จักเปลี่ยนบ้านให้เป็นวัด เปลี่ยนวิถีชีวิตให้เป็นสมณะ เปลี่ยนให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ อย่าไปคิดล่วงหน้าว่า โอ้…ไม่ได้หรอก โอ้…ไม่ได้ ให้พยายามทำให้ได้ พยายามก่อน อย่าคิดไปก่อน เหมือนเวลาเราทำธุรกิจ สมัยก่อนที่ผมทำการค้า อุปสรรคไม่ได้เป็นสิ่งที่ทำให้เราล้มเลิกตั้งแต่แรก เวลาเราทำธุรกิจ ทำการค้า ต้องมีเป้าหมาย ต้องมีแผน เราจะไปถึงที่ตรงนั้น และไม่มีอุปสรรคอะไรขวางอยู่ เราจะหาวิธีที่จะก้าวข้ามผ่านมันไป ไม่ใช่เห็นว่ามีอุปสรรคแล้วเราก็ เออ..ทำไม่ได้ นั่นเป็นชีวิตของคนที่ล้มเหลว จะประสบความสำเร็จในทางโลกก็ไม่ได้

จากเป็นคนอยู่ในโลก ฟุ้งซ่านวุ่นวาย แต่เมื่อจบจากคอร์สไป เราจะได้รู้จักความเป็นลิงที่ไม่มีทุกข์ เริ่มจากไม่มีทุกข์ชั่วคราว จนเป็นลิงที่ไม่มีทุกข์อย่างสมบูรณ์ จนเป็นลิงแค่สมมติแต่ไม่มีความเป็นลิงเหลืออีกเลย

 

16-04-2562

Camouflage

 

YouTube : https://youtu.be/1VTXyyc2MkI

คลิปเสียงธรรมชุดสนามซ้อมรบ ครั้งที่ 1 วันที่ 9-16 เมษายน 2562

ฟังรวมคลิปเสียงธรรมได้ที่ https://goo.gl/RDZFMI

5 ช่องทางติดตามข่าวสาร
1) YouTube: https://goo.gl/in9S5v

2) Facebook : https://www.facebook.com/SookGuySookJai

3) Line : @camouflage.talk
https://line.me/R/ti/p/%40camouflage.talk

4) Podcast: Camouflage – Dhamma Talk
https://itun.es/th/t6Mzdb.c
วิธีการติดตั้ง https://goo.gl/tBMY9S

5) website : https://camouflagetalk.com/