113.ซ้อมรบ 22 – หลุดออกจากกัน

ตอนที่ 1 หลุดออกจากกัน

เรานั่ง ก็รู้สึกตัวไป รู้สึกตัวไปสบายๆ แล้วสังเกตจิตใจ ลองสังเกตดู รู้สึกตัวไปสบายๆ รู้สึกถึงความรู้สึกตัวที่มีอยู่แล้ว ลองสังเกตอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นในกายในใจนี้ มันจะมีความเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ มีอาการเบา มีอาการตึง สลับกันเปลี่ยนแปลงอยู่เนืองๆ นั่นแหละ หายใจออกก็รู้สึกอย่างหนึ่ง หายใจเข้าก็รู้สึกอย่างหนึ่ง เป็นเพียงแค่ความรู้สึกอย่างหนึ่งไม่ต้องให้ชื่อให้แซ่มันก็ได้ แต่รู้สึกอยู่

นั่งเฉยๆ รู้สึกได้ถึงความสั่นไหวภายในซึ่งก็เป็นความรู้สึกอย่างหนึ่งที่ถูกรู้ สังเกตว่าถ้าเรารู้ความรู้สึกอยู่แบบนี้จิตใจก็ไม่ค่อยฟุ้งซ่าน ในขณะที่ความรู้สึกที่ถูกรู้สึกอยู่นั้นก็แสดงถึงความไม่เที่ยง ความสั่นไหวแปลว่าอะไร มันแปลว่าความไม่เที่ยงใช่มั้ย มันเป็นเหมือนคลื่นเป็นความเปลี่ยนแปลงที่มีอยู่ตลอด แม้กระทั่งความรู้สึกตัวหรือความรู้สึกในร่างกายที่ถูกเห็นอยู่นี้ก็อยู่ภายใต้กฎไตรลักษณ์เหมือนกัน จริงๆ ไม่ต้องให้ชื่อมันก็ได้ จิตใจที่เรียนรู้ความรู้สึกที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ มันเรียนรู้ของมันเอง “เรามีหน้าที่แค่รู้สึกอยู่ เห็นอยู่

ความรู้ทางไตรลักษณ์ช่วยให้เรามีข้อสรุปกับสิ่งที่เห็นนั้น ไม่ต้องไปเพ้อเจ้อคิดต่อว่าจะทำยังไงต่อ ดูยังไงต่อ แล้วไงต่อ ความรู้ของไตรลักษณ์ที่พระพุทธเจ้าเฉลยไว้ก่อน ช่วยพาให้เราไม่ต้องฟุ้งซ่านไปในทางอื่น พอเราเห็นได้ในมุมของไตรลักษณ์ ท่านก็ว่าพอแล้ว เราก็อาศัยความรู้นั้นช่วยเรา

แต่ถ้าคนไม่คิดมาก ไม่ฟุ้งซ่านมาก ไม่ขยันมาก มันก็ไม่คิดมาก เขาให้ดูมันก็ดู จิตมันก็ค่อยๆ เรียนรู้เอง เห็นเอง คนเรียนรู้คือจิต ไม่ใช่เรา ความหลุดพ้นก็คือจิตเป็นคนหลุดพ้น ก็ไม่ใช่เราอีกเหมือนกัน แต่เราดันเป็นเจ้าของจิต จิตมันดันมีกิเลสมันก็เลยทุกข์ เราเลยต้องเห็นความจริง “จิตก็ส่วนจิต กิเลสก็ส่วนกิเลส เราก็เป็นคนดูเฉยๆ” เพื่อจะเห็นความจริงอย่างแจ่มแจ้ง แล้วทุกอย่างก็หลุดออกจากกันหมด

 

ตอนที่ 2 ล้วนไม่ใช่เรา

นั่งๆ ไปบางทีมันล่องลอย…รู้ทัน รู้ทันแล้วก็หายใจเข้าลึกๆ ออกซิเจนก็ช่วยให้ความตื่นเนื้อตื่นตัวนี้เกิดขึ้น พอจิตมันตื่นขึ้นมาจากอารมณ์มันก็จะสว่างขึ้นมา ถ้าเคลิ้มก็ให้ลืมตาขึ้น ไม่ต้องเสียเวลากับความเคลิ้ม

สังเกตได้มั้ยว่าความรู้สึกตัวก็เป็นสิ่งที่ถูกรู้ ความรู้สึกถึงการเคลื่อนไหวใดๆ ก็เป็นแค่สิ่งที่ถูกรู้ ไม่ได้เป็นเรา เราเป็นคนที่กำลังรู้อยู่ คนที่รู้อยู่ไม่ได้เอาอะไรเลย รู้ตามเป็นจริงเฉยๆ คำว่าไม่ได้เอาอะไรเลย ไม่ใช่ให้มันไม่มีอะไร คือ “ปราศจากความอยากและไม่อยาก” เป็นเพียงแค่กล้องวงจรปิด อะไรก็ได้ อะไรก็ได้นั้นล้วนเป็นสิ่งที่ถูกรู้ ไม่ใช่เรา

สัญญาความจำได้อะไรเกิดขึ้นก็เป็นแค่สิ่งที่ถูกรู้ แต่บางครั้งมันก็เข้าไปแล้วก็สร้างความเป็นเราขึ้นมา ก็รู้ทันว่าความเป็นเรานั้นเกิดขึ้นแล้ว ชีวิตเกิดขึ้นแล้ว มิจฉาทิฐิเกิดขึ้นแล้ว

หันกลับไปดูจิตใจตอนนี้เป็นยังไง ปกติก็รู้จักปกติแล้ว ความรู้สึกตัวไม่ว่าจะมาในรูปแบบไหนเราก็รู้อยู่ ความรู้สึกตัวเป็นสิ่งที่ถูกรู้มันไม่ได้คงที่ มันมีลีลาของมัน เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอย่างนุ่มนวล เวลาอะไรที่มันนุ่มนวลเนี่ยมันชวนฝัน เคยได้ยินมั้ยนุ่มนวลชวนฝัน ชวนหลับนั่นแหละ เพราะฉะนั้น “สติต้องแข็งแรง” ไม่เข้าไปเป็นความนุ่มนวลนั้น ลักษณะที่นุ่มนวลก็ถูกรู้อยู่ ถ้าเราเห็นได้แบบนั้นมันก็จะไม่เข้าไปเป็น เพราะฉะนั้น สติสำคัญในทุกขั้นตอน ทุกที่ที่กำลังผ่านไปต้องประกอบด้วยสติ

ถ้าหลับให้ลืมตาขึ้น เราจะเห็นโลกตามความเป็นจริงได้ต้องตื่นขึ้นมาก่อน ตาหลับแต่ใจตื่น ตื่นรู้ความเป็นจริงในรูปนามกายใจนี้ มันกำลังแสดงอะไรอยู่ก็รู้ อะไรโดดเด่นให้รู้ได้ก็รู้

พวกเราก็ฝั่งนึงก็เพ่งตั้งใจ ฝั่งนึงก็ฟุ้งซ่าน เคลิ้มหลับ จนถึงวันนี้พวกเรารู้จักคำว่า “แค่รู้”แล้ว พวกเราเข้าใจแล้วว่า การปฏิบัติธรรมไม่มีการทำอะไร แต่ละคนก็ได้เข้าใจ หลุดออกจากอะไรๆ ที่เราติดอยู่ จริงๆ ที่มันไม่หลุดก็เพราะว่าหลักเราไม่แม่น ถ้าหลักแม่นมันก็ไม่ติดอะไร เหมือนที่ตอนนี้พวกเราเข้าใจแล้วว่าคำว่าไม่ต้องทำอะไรคืออะไร คำว่าแค่รู้คืออะไร แม้กระทั่งความรู้สึกตัวที่เรารับฟังกันมานาน วันนี้เราก็ได้เข้าใจความรู้สึกตัวก็ไม่ใช่ของเรา ความรู้สึกตัวก็เป็นแค่สิ่งที่ถูกรู้ ความรู้สึกตัวนี่แหละที่เป็นสาเหตุให้เกิดสมาธิ ก็เป็นเพียงสิ่งที่ถูกรู้ เพราะฉะนั้น สมาธิเองก็ไม่ใช่ของเรา มันมีเหตุถึงเกิดขึ้น หมดเหตุก็ดับไป เพราะฉะนั้น อะไรๆ ก็ตามที่กำลังเกิดขึ้นล้วนไม่ใช่ของเรา

อย่าลืมที่ผมบอกว่า “เราเป็นแค่ธาตุรู้” ชื่อมันบอกอยู่แล้ว ธาตุรู้มีหน้าที่แค่รู้ แปลเป็นภาษาชาวบ้านเราเป็นแค่กล้องวงจรปิด กล้องวงจรปิดขโมยจะขึ้นบ้านมันก็เห็นเฉยๆ เจ้าของบ้านกลับมาบ้าน มันก็เห็นเฉยๆ มันไม่มีอยากไม่อยาก มันไม่เดือดร้อนกับอะไรที่กำลังเกิดขึ้นตอนนี้

 

ตอนที่ 3 ศิลปะแห่งการพ้นทุกข์

ถ้าคนบนโลกนี้ต่างคนต่างรู้กายรู้ใจตัวเองอย่างที่มันเป็น โลกนี้ไม่ต้องมีกฎหมายอะไรทั้งนั้น แต่ละคนจะเห็นกิเลสที่เกิดขึ้นในใจตัวเองแล้วไม่ตามไป ถ้าเป็นชีวิตที่ไม่ทำตามกิเลสแล้ว ก็จะไม่มีใครเดือดร้อน พระพุทธเจ้าจึงบอกว่า การที่เราจะพ้นทุกข์ได้นั้น เราต้องกลับมาดูตัวเอง ไม่ใช่คอยไปแก้ไขคนอื่น คนอื่นทำอย่างนี้ไม่ดี ทำอย่างนั้นไม่ดี เราก็คอยไปแก้ไขเค้า ให้เค้าทำให้ดี เราจะได้ไม่ทุกข์ แต่แล้วแก้ได้มั้ย? แก้ไม่ได้ หลวงพ่อถึงเคยพูดว่า โลกนี้สิ้นหวัง พวกเรารู้อย่างนี้แล้วว่าโลกนี้สิ้นหวัง เราจึงต้องมาปฏิบัติตัวเอง พึ่งคนอื่นไม่ได้ แต่ไม่ต้องคิดว่า ถ้าทุกคนในโลกนี้สิ้นหวัง แล้วจะอยู่กันยังไง? ไม่มีวันนั้นหรอก เราไม่ต้องไปคิดไกลว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าคนเป็นแบบนั้นเป็นแบบนี้ เอาแค่นักปฏิบัติธรรมนี่แหละ จะมีกี่คนที่จะเอาจริง เสียสละชีวิตทั้งหมดเพื่อจะไปสู่ความพ้นทุกข์โดยสมบูรณ์ ใน 100 คนจะมีกี่คน เป็นคนที่จะไม่ทิ้งการปฏิบัติธรรม

เมื่อเป็นคนที่เอาจริงกับการปฏิบัติธรรม ก็จำเป็นจะต้องรู้วิธีปฏิบัติธรรมที่ถูกต้อง ถึงวันนี้เราได้รู้แล้ว เข้าใจแล้ว หลายคนได้เห็นความเป็นจริงในเชิงของวิปัสสนาแล้ว ก็ยิ่งเข้าใจชัดเจนว่าทำแค่นี้ ที่ผมบอกว่าเหมือนอ่านหนังสือ อ่านไปๆ ใช้เวลา ค่อยๆ อ่าน อ่านวันละหน้าสองหน้า อ่านไปเรื่อย ไม่เลิก อ่านไปจนจบบท อ้อ! พอเข้าใจอะไรขึ้นมาซักทีมันรู้สึกอัศจรรย์ มันรู้สึกว่าคุ้มค่ากับการรอคอย แต่ระหว่างที่เราจะต้องปฏิบัติเรื่องเดิมๆ ซ้ำๆ ซากๆ แบบนี้ บางทีมันก็น่าเบื่อ บางทีมันก็ท้อแท้ บางทีมันก็ขาดแรงกระตุ้น เราก็ทำอะไรไม่ได้นอกจาก “อดทน”

ความรู้สึกอะไรก็ตามที่ผมบอกเมื่อกี้นี้ เมื่อเกิดขึ้นก็มีหน้าที่รู้ทันว่า “ตอนนี้เป็นแบบนี้” แล้วไม่เข้าไปเป็นกับมัน เราจะรู้แล้วไม่เข้าไปเป็นกับมันได้ต้องมีสมาธิ เพราะฉะนั้น อย่าลืมเรื่องการซ้อมรบสามข้อที่ผมบอกไว้ ซ้อมทุกวัน ซ้อมทั้งวัน และไม่ว่าจิตใจจะเกิดความรู้สึกอะไรขึ้นมา เราจะเห็นมันได้ จะไม่ตกเป็นทาสของมัน

ถ้าเราพลิกจาก “เป็น”อาการนั้น เป็น “เห็น” เราจะมีประสบการณ์รู้เลยว่า มันนิดเดียวจริงๆ เหมือนเส้นผมบังภูเขา นิดเดียว หลุดออกจากความทุกข์ได้เลย เพราะฉะนั้น ครูบาอาจารย์บางท่านจึงบอกว่า ศาสนาพุทธเป็นศิลปะแห่งความพ้นทุกข์ ศิลปะแห่งการพ้นทุกข์ ไม่ใช่ศิลปะแห่งการหนีทุกข์ ไม่เหมือนกัน

 

ตอนที่ 4 ถ้ารู้อยู่ ถือว่าปฏิบัติธรรมแล้ว

เวลาผมบอกว่า “ปฏิบัติได้ดี” อย่างตอนนี้เรียกว่า กริบเลย ไม่ได้แปลว่าจิตใจดี แต่หมายความว่า เราสามารถรู้อะไรก็ตามที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในกายในใจนี้ด้วยความเป็นกลาง เป็นแค่กล้องวงจรปิดได้ รู้เฉยๆ ได้ มันจะเป็นอะไรก็ได้ เหมือนร่างกายเจ็บปวดกับร่างกายสบายดีอันไหนดีกว่ากัน? ร่างกายสบายดี ดีกว่า เจ็บป่วยนี้ไม่ดี เจ็บปวดนี้ไม่ดี แต่ปฏิบัติธรรมคือ “รู้อย่างที่มันเป็น เป็นกลางกับมัน” เจ็บปวดก็รู้เจ็บปวด สบายก็รู้สบาย คนสองคนก็เท่ากันตรงที่ว่าสามารถรู้ตามความเป็นจริง ไม่มีความเดือดร้อนในความเจ็บปวดนั้น ไม่มีความเพลิดเพลินในความสบายนั้น ไม่เกี่ยวกับว่าร่างกายนี้จะดีหรือจะไม่ดี จิตใจก็เหมือนกันแบบเดียวกัน ไม่เกี่ยวว่ามันจะดีหรือไม่ดี “ถ้ารู้อยู่ ถือว่าได้ปฏิบัติธรรมแล้ว

เหมือนเมื่อกี้มีคนมาเล่าให้ฟังว่า นั่งสมาธิ แล้วเดี๋ยวรู้เดี๋ยวหลง เดี๋ยวรู้เดี๋ยวหลงไปเรื่อยตามสภาพ หลงก็รู้ รู้อยู่ก็รู้ หลงก็รู้ รู้อยู่ก็รู้ ตามสภาพที่เราปฏิบัติกันอยู่แบบนี้แหละ ไม่มีอะไรมากกว่านั้น อยู่ดีๆ ก็มีเสียงไก่ขัน แล้วมันเกิดความรู้สึกขึ้นในใจว่าไก่กับเรานี่เท่ากัน เห็นมั้ยว่ามันเกิดเอง “ปัญญามันเกิดเอง” ไม่มีความคาดหวังจะได้ปัญญานั้นเลย แต่อยู่ดีๆ มันเกิดความเข้าใจขึ้นมาอย่างอัศจรรย์ ความเข้าใจอย่างอัศจรรย์แบบนั้นไม่ต้องถามใคร มั่นใจว่ารู้สึกแบบนั้นจริงๆ พระพุทธเจ้าถึงบอกว่า “เป็นเรื่องที่รู้ได้เฉพาะตน” ปฏิบัติง่ายๆ แบบที่ผมสอนนี่แหละ ความจริงที่เขารู้สึกอัศจรรย์ปรากฏได้ ไม่ต้องทำอะไรพิสดารเลย ขอแค่อดทน ไม่เลิก ขี้เกียจก็ปฏิบัติ ขยันก็ปฏิบัติ เบื่อก็ปฏิบัติ ไม่เบื่อก็ปฏิบัติ

หลวงพ่อเทียนเคยเปรียบเทียบชีวิตคนเราเหมือนสำลีที่จุ่มน้ำ ชุ่มไปด้วยน้ำ ภาษาบาลีเรียกว่า “ชุ่มไปด้วยกาม” มีแต่อยากโน่นอยากนี่ ไม่อยากนั่นไม่อยากนี่ คำว่า “กาม” ไม่ใช่เรื่องเซ็กส์อย่างเดียว ก็เรื่องทุกอย่าง อยากกินโน่น อยากได้ยินนี่ อยากเห็นนั่น ถือว่าเป็นกามหมด เราค่อยๆ ปฏิบัติไปเหมือนเราบีบน้ำออกจากสำลี บีบจนแห้ง จนไม่มีน้ำหลงเหลืออยู่  ท่านว่าอะไรอะไรๆ มันก็จืดไปหมด ไต้หวันก็จืด ญี่ปุ่นก็จืด จืดหมด ตอนนี้สงกรานต์คนส่วนนึงก็ไปเที่ยวญี่ปุ่น ไปทุกปีไม่มีเบื่อ

ที่ผมเคยถามว่าความสุขอยู่ตรงไหน? ตรงไหนเรียกว่าความสุข? มีใครคิดออกมั้ย? ความสุขใช่ที่เราได้รู้สึกหัวเราะชอบใจ ยินดีปรีดาอย่างเดียวมั้ย เคยเห็นตัวเองโกรธใครมั้ย? อยากจะไปด่าเขา อยากจะไปเอาเรื่องเขา ถ้าไม่ได้ทำนี่ แหม! มันทุกข์ ต้องจัดการมัน เป็นทุกข์นะ โกรธนี่เป็นทุกข์อยู่นะ แต่อยากโกรธ  แล้วถ้าได้จัดการ ได้ด่ามันตามที่คิด ก็พอใจนะ เป็นความสุขนะ เพราะฉะนั้น อะไรคือความสุขของเรากันแน่ ความสุขอยู่ตรงไหน

 

15-04-2562

Camouflage

 

YouTube : https://youtu.be/aQCed0iXgvQ

คลิปเสียงธรรมชุดสนามซ้อมรบ ครั้งที่ 1 วันที่ 9-16 เมษายน 2562

ฟังรวมคลิปเสียงธรรมได้ที่ https://goo.gl/RDZFMI

5 ช่องทางติดตามข่าวสาร
1) YouTube: https://goo.gl/in9S5v

2) Facebook : https://www.facebook.com/SookGuySookJai

3) Line : @camouflage.talk
https://line.me/R/ti/p/%40camouflage.talk

4) Podcast: Camouflage – Dhamma Talk
https://itun.es/th/t6Mzdb.c
วิธีการติดตั้ง https://goo.gl/tBMY9S

5) website : https://camouflagetalk.com/