112.ซ้อมรบ 21 – หัวใจการปฏิบัติ

ตอนที่ 1 ปล่อยวางด้วยกิริยา “แค่รู้ แค่ดู”

ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งความไม่ยึดมั่นถือมั่น ความหลุดพ้นก็คือความไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใดๆ เพราะฉะนั้น กิริยาเดียวที่เราใช้ในการปฏิบัติธรรมคือคำว่า “รู้” การพยายามจะทำอะไร มันมีความยึดมั่นถือมั่นอยู่กลายๆ อยู่ข้างหลัง การปฏิบัติธรรมที่ถูกคือว่า มันเป็นยังไง แล้วรู้อยู่มั้ย ถ้ารู้อยู่ มันเป็นอะไรก็ได้ มันเผลอไป แล้วรู้ขึ้นมา นี่ถูกแล้ว

เราชอบนึกว่าเผลอไม่ดี หลงไม่ดี ไม่อยากให้หลง แต่ธรรมชาติเป็นแบบนั้น มีเผลอกับเพ่งมีอยู่ 2 อย่าง ตรงกลางก็คือ “รู้” ต่อให้จิตใจปกติ ดูเหมือนว่าดีนะปกติ แต่ถ้าไม่รู้ ก็ไม่ดีเหมือนกัน อะไรกำลังเกิดขึ้นอยู่ แล้วไม่รู้เนี่ย มันก็ไม่ดีทั้งนั้นแหละ แต่ถ้าอะไรที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ ไม่ว่าจะเพ่งหรือเผลอ แต่ถ้ารู้อยู่ว่ามันเป็นแบบนี้ ถือว่าปฏิบัติดีแล้ว จะอึดอัด จะโปร่งโล่ง ก็เท่ากัน ถ้ารู้อยู่ ไม่มีอันไหนดีกว่าอันไหน รู้อยู่ แล้วก็แค่รู้นั่นแหละ ไม่มีมากกว่านั้น ไม่ต้องไปพยายามแก้ไขจัดการ อะไรไม่ดีทำให้ดีอย่างนี้ นั่นคือเบื้องหลังของความยึดมั่นถือมั่น

อย่าลืมว่า เรามีหน้าที่แค่เป็นกล้องวงจรปิด กล้องวงจรปิดก็ไม่รู้อะไรดีไม่ดี ขโมยเข้าบ้านมันก็ดู เจ้าของเข้าบ้านมันก็ดู หมาเดินผ่านมันก็ดู ดูเฉยๆ มันไม่ต้องพยายามดูด้วย มันมีกิริยา “แค่ดู” เห็นมั้ยว่า “อย่าเกิน” แค่ดู ไม่ใช่ต้องพยายามดู ถ้าเราแค่ดู มันก็ไม่ติดกับอะไร

คำว่า “ไม่ติดกับอะไร” แปลว่า เราไม่ได้ยึดมั่นถือมั่นกับอะไร ถ้าเราไม่ได้ยึดมั่น ไม่ได้ติดกับอะไร ก็ไม่ต้องมีการปล่อยวางอะไร แต่ถ้าจิตไม่มีกำลัง มันก็มีบ้างเหมือนกัน ก็ไปติดกับอะไรเข้า ไปยึดกับอะไรเข้า ถามว่าทำไง ปล่อยวางมั้ย ถ้าปล่อยได้ แปลว่าก็บังคับได้ นั่น อัตตา ถ้ามันยึดอะไรเข้า ติดอะไรเข้าแล้ว ก็แค่รู้ว่า ตอนนี้ติดแล้ว ไม่ใช่ไปพยายามจะปล่อยวาง ปล่อยวางได้แล้วดีมั้ย ดี เป็นคนเก่ง แต่ไม่เห็นความจริง อยากเป็นคนเก่งหรือเห็นความจริง เลือกเอาเอง

ถ้าแค่ดูเฉยๆ มันติดก็รู้ว่ามันติด ก็จิตใจมันมีอวิชชาอย่างนี้ มันก็ติดอย่างนี้ “ก็แค่รู้” จิตมีคุณภาพแบบนี้ก็เป็นแบบนี้ ไม่ใช่ของเรา แต่พอมันติดก็เดือดร้อน ติดไม่ดี ต้องไม่ติดถึงดี ก็หาทางจะทำ ที่เรียกว่าปล่อยวาง คำศัพท์เท่ๆ ที่คิดว่า ต้องทำให้ได้ จิตมันติด มันข้องอะไรอยู่ ถ้าเรารู้ว่า มันเป็นเรื่องของมัน ในขณะนั้น ไม่มีเราไปติดกับมัน มีแต่จิตไปติดกับบางอย่าง แต่ไม่ใช่มีเราไปติดกับจิต ในขณะนั้นปล่อยวางแล้ว เราปล่อยวางไปที่จิตเลย ปล่อยวางไว้ที่จิตด้วยการ แค่ดูมัน กิริยานี่แหละเป็นกิริยาเดียวกับปล่อยวาง คือไม่อะไร “ไม่เป็นอะไรกับมัน” สมัยหนึ่ง มีคนมาถามผมว่า มีคนบอกให้ปล่อยวางปล่อยวาง ปล่อยยังไง ผมตอบว่ามันปล่อยไม่ได้ ปล่อยได้ก็เป็นอัตตา “รู้ รู้อย่างเดียว” เพราะถ้าทำได้ก็เป็นอัตตา

จิตมันจะเพ่ง มันก็ทำเอง “ก็รู้” จิตมันจะเผลอ ก็ทำเอง “ก็รู้” เหมือนกันโมเดลเดียวกัน จิตมันจะติดกับอะไร “ก็รู้” จิตมันจะไม่ติดอะไร “ก็รู้” แต่เราชอบไปยุ่งกับจิต อยากให้มันดี อยากให้มันไม่ติดอะไร อยากให้มันสบาย อยากให้มันเบา พอมันไม่เป็นแบบที่คิด นี่มันเดือดร้อนเลย อันนี้แหละ เขาเรียกว่า “ติดแล้ว ยึดแล้ว” ยึดเข้าที่จิตเลยนี่แหละตัวใหญ่เลย แต่ไม่เห็นทั้งนั้น พยายามจะไปปล่อยวางสิ่งที่จิตไปติดอยู่ แต่ตัวเองไปติดกับจิต ยังไม่รู้เรื่องเลย เหมือนร่างกายป่วย เราไม่อยากให้ป่วย ก็ไปแก้ไข ทำอะไรเยอะแยะ โดยไม่ทันเห็นว่า ตอนนี้ติดกับร่างกายอยู่ เห็นร่างกายเป็น เราไม่ได้เข้าใจว่า ร่างกายนี้กำลังแสดงอาการอะไรอยู่ ก็เป็นเรื่องของมัน

 

ตอนที่ 2 รู้จักตัวเอง

การที่เราไปหลงเอาจริงเอาจังกับอะไรเข้าแล้ว มันจะสร้างทุกข์ให้กับเราทันที แม้กระทั่งการปฏิบัติธรรม อย่าลืมที่ผมเคยบอกว่า อารมณ์ความรู้สึกหรือความคิดใดๆ ที่เราไปคว้าเอามาเป็นชีวิตของเรา เป็นเรา เป็นฉันขึ้นมา ฉันเป็นอย่างนี้ ฉันเป็นอย่างนั้น เราต้องรู้ทันว่า ชีวิตเกิดขึ้น มิจฉาทิฏฐิเกิดขึ้นอีกแล้ว ความเป็นเราเกิดขึ้นอีกแล้ว ถ้าเราแค่รู้ ไม่ไปคว้ามันมาเป็นของเรา ความเป็นชีวิตมันก็ไม่เกิดขึ้น อะไรต่างๆ ที่มีอยู่ มันก็อยู่เก้อๆ ของมันแค่นั้น

จริงๆ เราเพียงแค่รู้ แค่นี้แหละ ความจริงอะไรทั้งหลายที่พระพุทธเจ้าแจกแจงเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นไตรลักษณ์ จะเป็นตถตา จะเป็นอิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปบาทอะไรพวกนี้ มันจะเปิดเผยออกมาเอง มันเห็นเอง

ธรรมะต้องแจกแจงเยอะ เพราะว่ามีคนหลายแบบ แต่การปฏิบัติมันมีนิดเดียว เหมือนแม้กระทั่งพวกเราในห้องนี้ ก็มีหลายแบบ เพราะฉะนั้น อะไรที่พูดออกไป ถ้ามันไม่ใช่ของเรา ก็ไม่ต้องเอาไปจริงจังมาก เหมือนพวกตั้งใจเอาจริงเอาจัง พอกระตุ้น ก็เอาจริงเอาจังมากกว่าเดิมอีก เวลาพูดกระตุ้นก็จะพูดกระตุ้นพวกคนฟุ้งซ่าน แต่คนเอาจริงเอาจังก็เอาไปเป็นเรื่องของตัวเอง เมื่อเราบอกไม่ต้องทำอะไร คนฟุ้งซ่านก็ยิ่งหลงไปเลย ก็ต้องเฆี่ยนให้มีวินัย ทำหน้าที่เป็นนักปฏิบัติ พอพูดเอาพูดเอา ไอ้พวกตั้งใจก็เอา กูรับเข้ามาอีก เพราะฉะนั้น “รู้จักตัวเอง” รู้จักธรรมะส่วนไหนเป็นของตัวเอง และ “รู้จักหลัก” เมื่อฟังธรรมแล้วรู้และเข้าใจได้ว่าอันนี้เราโอเคอยู่แล้ว อันนี้เรายังไม่โอเค อันนี้เราขาด อันนี้เราเกิน ขอแค่มีหลักเอาไว้

 

ตอนที่ 3 รู้ปัจจุบัน แค่รู้สึก

เวลาฟังธรรมมากๆ บางทีก็สับสน สมมติขึ้นมานั่งสมาธิกันตอนนี้ ก็คิดว่า เอ้า ทำอะไรดี สงสัยว่ามันต้องทำยังไง ที่จริงไม่มีอะไรเลย เรามีหน้าที่ซ้อมรบ ตั้งแต่เดินขึ้นมา ก็เห็นร่างกายมันเดินขึ้นมา กราบพระก็เห็นร่างกายมันกราบ นั่งก็เห็นร่างกายมันนั่งอยู่ มันนั่งแล้วมีความรู้สึกตัวเกิดขึ้น ก็เห็นว่ามีความรู้สึกตัวเกิดขึ้นแล้ว ความรู้สึกตัวก็เป็นสิ่งที่ถูกรู้เหมือนกัน ไม่ใช่เราเป็นความรู้สึกตัว ความรู้สึกตัวก็เป็นสิ่งที่ถูกเรารู้อยู่ตอนนี้

พอไม่มีความรู้สึกตัว สิ่งที่รู้คืออะไร ไปรู้ว่าจิตมันหลงออกไป พอมีความรู้สึกตัวเกิดขึ้น เช่น เห็นร่างกายมันนั่งอยู่ มีความรู้สึกตัวเกิดขึ้น ก็รู้ว่าตอนนี้มีความรู้สึกตัวแล้ว ก็แค่นี้เอง ไม่ได้ทำอะไร คือ “รู้ปัจจุบัน รู้อยู่ที่กายที่ใจ” จิตใจเป็นยังไง ปกติ…ไม่มีอะไร ก็รู้ปกติ ไม่มีอะไร ไม่ต้องหาอะไรทำนะ ไม่ต้องหา เอ๊ะ ทำยังไงตอนนี้ ต้องทำอะไร “มันไม่มีต้องทำอะไร ให้มีแค่รู้” มีอะไรอยู่ เกิดอะไรขึ้นอยู่ตอนนี้ ก็รู้ เรียกว่า ปฏิบัติธรรม

รู้ไปเรื่อยๆ หน้าที่เรามีแค่นั้นเอง รู้ไปเรื่อยๆ ความจริงความรู้ทั้งหลายที่จะเรียกว่า เจริญปัญญาหรืออะไรก็ตาม มันจะค่อยๆ เปิดเผยตัวออกมา คนที่เคยเห็นแล้วจะรู้ว่า มันเปิดเผยตัวออกมาเอง ที่เคยมาเล่าให้ฟังกันหลายๆ คน เราก็รู้ได้ชัดเจนใช่มั้ยว่า มันเกิดขึ้นเอง มันเข้าใจเอง มันเป็นเอง จากการที่เรารู้อยู่แค่นี้แหละ ทำหน้าที่ซ้อมรบไปเรื่อยๆ ไม่ต้องพะวงว่า อันนี้ต้องเจริญปัญญาตอนไหน อะไร ยังไง พะวงก็เห็น ปัจจุบันคืออะไร ความพะวงเกิดขึ้นแล้ว

การพูดเส้นทางของการปฏิบัติธรรมก็เพียงเพื่อเป็นไกด์ไลน์ให้การเดินทางนี้ ไม่ออกนอกทาง ไม่ถูกใครหลอก ไม่ตกทาง แต่เมื่อเริ่มปฏิบัติธรรมรู้ไกด์ไลน์คร่าวๆ แล้ว ก็ทำหน้าที่ซ้อมรบ 3 ข้อ Forever ไปเรื่อยๆ แล้วอะไรอะไรมันจะพัฒนาเจริญขึ้น ตามประสบการณ์ที่พวกเราทุกคนได้เห็นแล้วด้วยตัวเอง

 

ลองไปสังเกตมุมนี้ให้ดี มุมที่ชีวิตนั้นเกิดขึ้นอีกแล้ว ส่วนใหญ่มันเกิดขึ้นจากการหลงไปคิดก่อน มีคำว่า “ต้อง” ในชีวิตขึ้นมาลองเปรียบเทียบดูนะ คำว่า “แค่รู้สึก” กับว่า “ต้องรู้สึก” ต่างกันมั้ย การปฏิบัติธรรมคือ แค่รู้สึก พิจารณา 2 คำนี้ พิจารณาลงไปในชีวิตประจำวันของเรา คำว่า “ต้อง” มีมันมีเยอะมั้ย ฉัน “ต้อง” รู้สึกตัว อึดอัดเลยเพราะมันมีฉัน แต่ถ้าแค่รู้สึก มีอะไรอยู่ก็รู้สึกไป แค่รู้สึก ลืมไปก็รู้สึกขึ้นมาว่า ลืมแล้ว

สายหลวงพ่อเทียนก็เลยพูดว่า การปฏิบัติธรรมคือ การทำเล่นๆ แต่…มี แต่ ด้วยนะ “ทำเล่นๆ แต่ทำจริงๆ” งงหนักกว่าเดิม ทำเล่นๆ อย่างนี้แหละ ไม่ได้เอาจริงเอาจัง แค่รู้สึก แต่ทำจริงๆ หมายความว่าอะไร คือ ชีวิตนี้ไม่เลิก รู้แล้วนี่เป็นหน้าที่ รู้แล้วนี่เป็นงานของการเกิดมา รู้แล้วอันนี้เป็นสิ่งที่มีคุณค่าที่สุดในชีวิต เข้าใจแล้ว แต่พอลงมือปฏิบัติ ทำเล่นๆ ทำเล่นๆ เป็นแบบไหนคล้ายๆ ฉิ่งฉาบทัวร์ ถึงก็ช่าง ไม่ถึงก็ช่าง อะไรแนวๆ นั้น

 

ตอนที่ 4 การปฏิบัติธรรมคือ การไม่ทำอะไร

สมัยผมปฏิบัติธรรมปีแรกๆ เลย ฟังธรรมะ รู้วิธีปฏิบัติแล้ว เขาบอกให้รู้สึกตัว พอไม่ใช่เวลาปฏิบัติ เวลาขับรถต้องขับคนเดียว ขึ้นรถปุ๊บจะเปิดซีดีธรรมะฟัง เปิดปุ๊บ มันนึกขึ้นได้ว่าต้องรู้สึกตัว พอนึกขึ้นได้ปุ๊บก็จุกเลย แน่น บางครั้งก็อึดอัดมาก จนแบบหายใจไม่ค่อยออก เนี่ยธรรมชาติ จิตมันทำเอง ไม่ได้เป็นแป๊บเดียวด้วยนะ เป็นชั่วโมง แต่ด้วยความหนักแน่นในคำสอนของครูบาอาจารย์บอกว่า “ห้ามจัดการ ห้ามแทรกแซง ห้ามยุ่งกับมัน ห้ามแก้ไข ให้ดูมันเฉยๆ” ผมก็แค่ “อดทน” อยู่กับสภาพแบบนั้นไปเรื่อยๆ เป็นชั่วโมง ผมก็อดทน แล้วเดี๋ยวมันก็คลาย คลายเอง แล้วก็บังคับไม่ได้ด้วยที่จะให้มันคลาย บางครั้งก็อึดอัดมากจนขนาดว่าฟังเพลงดีกว่า แต่ก็ไม่คลายอยู่ดี พยายามลืมเรื่องการปฏิบัติธรรม มันก็ไม่คลายอยู่ดี แต่อยู่ๆ มันจะคลาย มันก็คลายเองซะงั้น เนี่ยเราได้เห็นความจริงบนความทุกข์นั้นๆ ว่า “มันบังคับไม่ได้” มันเป็นของมันเอง มันอยากจะแน่น มันก็แน่น มันอยากจะคลาย มันก็คลาย ผมอยู่กับสภาพแบบนั้นสมัยเริ่มปฏิบัติธรรมเนี่ยไม่ใช่เป็นวันนะ เป็นปี แล้วมันก็หายเอง ไม่ได้ทำอะไร

การปฏิบัติธรรมของผมอยู่บนพื้นฐานของ “การไม่ทำอะไร” ตั้งแต่แรกเลย เพราะว่าหลักการหลักปฏิบัติที่ผมได้รับมายังหนักแน่น “เรื่องของการไม่จัดการ ไม่แทรกแซง ไม่แก้ไขจิตใจ ไม่ดีก็ได้ ผมอดทนได้”

เพราะฉะนั้น ให้หลักที่ผมสอนนี้เข้าไปในหัวใจของทุกคน แล้วเราจะปฏิบัติไม่ผิดพลาดหรอก มันอาจจะยังไม่ดี แต่มันไม่ผิดพลาด

มันเป็นเส้นทางแห่งการเรียนรู้ที่จะ “ยอมรับ” ตามความเป็นจริง ว่าอะไรกำลังจะเกิดขึ้นอยู่ในตอนนี้ เพราะอะไร ทำไมเราต้องยอมรับตั้งแต่วันนี้ เพราะว่าประตูไปสู่มรรคผลนิพพานคือ “ความเป็นกลางต่อสังขารทั้งปวง” จะเกิดขึ้นก่อน เรียกว่า “สังขารุเปกขาญาณ” ความเป็นกลางต่อสังขารทั้งปวงเป็นประตูจะข้ามไปสู่มรรคผลนิพพาน เพราะในความเป็นกลางนั้นมันแปลว่า “มันไม่มีเรา” ถ้ามีเรา มันไม่เป็นกลาง

ผมถึงบอกว่า จิตมันจะเพ่งขึ้นมาเอง ก็เรื่องของมัน ก็รู้ มันจะเผลอ ก็เรื่องของมัน ก็รู้ แล้วมันส่งผลให้อาการทางร่างกายเป็นยังไง ก็เรื่องของมัน ก็รู้ ไม่ต้องมาแก้ไขอะไร แต่ถ้ามันจะจวนจะตายแล้ว ก็หาอุบายหน่อย แค่นั้น อุบายใช้เวลาจำเป็นเท่านั้น เราต้องการเห็นความจริง ไม่ต้องการแก้ไขอะไร

ครูบาอาจารย์ทุกคนก็เคยเป็นเหมือนกับเราทุกคนตอนนี้นั่นแหละ อดทน ล้มลุกคลุกคลาน หมดกำลังใจ หรือมีกำลังใจ ก็เป็นเหมือนกัน แต่สิ่งเดียวที่ไม่หมดไป ก็คือ “ไม่เลิกที่จะทำหน้าที่นี้

 

ตอนที่ 5 เราคือธาตุรู้อันบริสุทธิ์

ลืมตาแล้วก็มีสมาธิได้ ถ้าเคลิ้มแล้ว ก็ลืมตาขึ้น อย่าเสียเวลากับความเคลิ้ม บางคนชอบเคลิ้มนะ เคลิ้มยังไงก็หลับตาอยู่อย่างนั้น มันส์ดี เงิบๆ งาบๆ นึกออกมั้ยเหมือนเวลาเรานั่งรถ คนเราชอบหลับในรถนะ มันมันส์ดี เซซ้ายเซขวาหน้าทิ่มหน้าหงาย

ตอนนี้ขำ มีความสุข เห็นมั้ย ถ้าเห็นแล้ว ไม่ต้องไปรวบมันเข้ามานะ อุ้ย ตายแล้วมีความสุข แค่เห็น แค่รู้ มีความสุขได้ แต่รู้แค่นั้น อย่างโดนชี้แบบนี้แล้วมันแน่น ก็รู้ว่ามันแน่น เห็นมั้ย ก็แค่รู้ แน่นก็ได้ ไม่เห็นเป็นไรเลย ถ้าเป็นกลางกับมัน อะไรก็ได้

ร่างกายนี้ให้ดีตลอดได้มั้ย ก็ไม่ได้นะ มันต้องป่วย มันต้องเจ็บ แล้วมันต้องตายด้วย มีแต่เรื่องไม่ดีทั้งนั้นเลย เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะเอาแต่ดีๆ นี่เราอยู่ไม่ได้หรอกในชีวิตนี้ เราต้องเป็นกลางกับอะไรที่มันไม่ดีด้วยในกายกับใจนี้ ใจนี้เต็มไปด้วยอกุศล จิตมีธรรมชาติไหลลงต่ำ คิดได้แต่เรื่องไม่ค่อยดี เรื่องดีๆ คิดไม่ค่อยได้ เพราะธรรมชาติของกิเลสมันยังมีอยู่ กิเลสฝ่ายดีก็มี กิเลสฝ่ายชั่วก็มี แต่ส่วนใหญ่ชั่ว เพราะอัตตาตัวตนมันมีอยู่ คิดอะไรก็เป็นเรื่องในทำนองของการเห็นแก่ตัวทั้งนั้น แต่แล้วยังไง อะไรเกิดขึ้นในใจ ก็แค่รู้ ถ้าเรารับไม่ได้กับอกุศล ชีวิตเราจะลำบากเพราะมันมีแต่อย่างนั้นเยอะ ถ้าเรารับไม่ได้กับอกุศลในจิตใจ เหมือนรับไม่ได้กับอาการเจ็บป่วยทางร่างกาย อกุศลจิตใจเกิดขึ้น ก็จะไปจัดการ จะไปไม่ให้มันมี จะไปทำลายมัน จะไปละมัน รู้สึกว่ามันไม่ดี ไม่ควรมี เหล่านี้ตัวตนทั้งนั้น แล้วถ้าทำได้ ไม่ใช่ว่าทำไม่ได้ด้วยนะ บางคนก็ทำได้จัดการพวกนี้จัดเก่งเลย ผลลัพธ์คืออะไร สมมติอกุศลดับไป ผลลัพธ์คือ กูทำได้ แล้วกูจะทำอีก ถ้ามันมีอีก นั่นคือการเสริมสร้างความเป็นเราให้แข็งแกร่งขึ้นไปเรื่อยๆ

เพราะเราไม่ศึกษา อย่างเช่นผมบอกว่า ประตูสำคัญไปสู่การบรรลุมรรคผลนิพพานคือ “ความเป็นกลางต่อสังขารทั้งปวง” แต่เริ่มฝึกแล้ว เราก็เริ่มบังคับ เริ่มจัดการ เริ่มอะไรมันไม่ชอบกูไม่เอา อะไรดีกูเอา มันจะไปถึงความเป็นกลางได้ยังไง เริ่มก็ไม่กลางแล้ว

เหมือนบอกว่าแท้จริงครูบาอาจารย์บอกว่า “เราเป็นแค่ธาตุรู้อันบริสุทธิ์” เพราะฉะนั้น เวลาเริ่มเราปฏิบัติก็ต้องรู้ รู้อย่างบริสุทธิ์เหมือนกัน ไม่ใช่คิดว่าต้องไปทำอย่างอื่นก่อน ถึงจะถึงธาตุรู้อย่างบริสุทธิ์ ไม่ใช่ ทำกิริยาเดียวกันเลย ก็เขาบอกเราเป็นธาตุรู้ที่บริสุทธิ์ แล้วเราจะทำไปอย่างอื่นทำไม ก็แค่รู้สิ คือเรามีเฉลยอยู่แล้ว เราแค่ทำตาม เหมือนเราไปห้องสอบแล้วก็มีกระดาษคำตอบให้อันที่ 1 ตอบ ก.ไก่ อันที่ 2 ตอบ ข.ไข่ เราเข้าไปถึงอันที่ 1 กูตอบ ง.งู อันที่ 2 กูตอบ ก.ไก่ เหมือนคนบ้า ทำสลับกับเขาหมด

สังเกตจิตใจตอนนี้เป็นยังไง ปกติก็รู้ว่าปกติ สภาพจิตใจที่เป็นปกตินี้เป็นสภาพจิตใจที่พร้อมจะรับธรรมะ พร้อมจะเรียนรู้ธรรมะ พร้อมจะเห็นทุกสิ่งตามความเป็นจริง รู้จักมันบ่อยๆ แค่รู้จักมัน ไม่ใช่จะเป็นเจ้าของมัน ไม่ใช่จะให้จิตใจเป็นแบบนี้ แค่มันเป็นแบบนี้ ก็รู้จักมัน มีหน้าที่แค่รู้ จิตใจเป็นยังไงก็รู้ว่ามันเป็นอย่างนั้น ไม่มีคำว่า “ต้อง” ให้มันเป็นยังไง

 

15-04-2562

Camouflage

 

YouTube : https://youtu.be/K_HJHxLDyGk

คลิปเสียงธรรมะทั้งหมดของอาจารย์ Camouflage : https://goo.gl/RDZFMI

======================

5 ช่องทางการอ่านและฟังธรรม

1) Facebook : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
http://www.facebook.com/sookguysookjai

2) Line : @camouflage.talk
https://line.me/R/ti/p/%40camouflage.talk

3) YouTube : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
https://goo.gl/in9S5v

4) Website: https://camouflagetalk.com/

5) Podcast : Camouflage – Dhamma Talk
https://itun.es/th/t6Mzdb.c
วิธีการติดตั้ง https://goo.gl/tBMY9S