110.ซ้อมรบ 19 – มุมมอง

ตอนที่ 1 เปลี่ยนมุมมอง

การปฏิบัติธรรมนั้นไม่มีอะไรยาก มันเป็นเหมือนการเปลี่ยนมุมมองนิดเดียว เหมือนเส้นผมบังภูเขา จากที่เคยมีความรู้สึกว่าเราเป็นอย่างนั้นเราเป็นอย่างนี้ ก็แค่เปลี่ยนมุมมองนิดเดียวเป็น “เห็นร่างกาย” มันเป็นอย่างนั้นมันเป็นอย่างนี้ “เห็นจิตใจ” มันเป็นอย่างนั้นมันเป็นอย่างนี้ เปลี่ยนตรงนี้นิดเดียว เรียกว่า “ถอดถอนความเป็นเราในเบื้องต้น

เช่น มันหิวข้าว เมื่อก่อนนี้เป็นเราหิวใช่มั้ย มันมีแต่ “เราหิว” เปลี่ยนใหม่ เป็นร่างกายนี้แสดงอาการที่เรียกว่า หิวข้าว มันก็ไม่ต้องทำอะไรใช่มั้ย ไม่มีอะไรพิสดารใช่มั้ย ไม่ต้องเพ่ง ไม่ต้องจ้อง “แค่เปลี่ยนมุมมองในการใช้ชีวิตเฉยๆ

เวลาเบื่อ นั่งอยู่บ้านเสาร์อาทิตย์ไม่ทำงาน สมมติผมบอกว่า ไม่ให้ไปไหนด้วย ไม่ให้ทำอะไร ไม่ให้เล่นโทรศัพท์ ให้นั่งเฉยๆ แบบที่อยู่ที่นี่ในคอร์ส แต่ไม่มีเพื่อนแบบนี้ ไม่มีครูบาอาจารย์แบบนี้ ไม่มีใครมาบังคับให้มานั่งมาเดินแบบนี้ ต้องบังคับตัวเอง อาการเบื่อจะมาแล้ว ปกติชีวิตของเราทุกคนเป็น “เราเบื่อ” เราไม่เคยเห็นว่า อ๋อ จิตใจตอนนี้เบื่ออยู่ มีอาการเบื่ออยู่ เนี่ยเปลี่ยนมุมมองนิดเดียว “ถอดถอนเราออกไป”

เดี๋ยวนี้พวกเราเข้าห้องน้ำก็พกมือถือเข้าไปด้วยใช่มั้ย นั่งไปด้วยดูไปด้วย เห็นมั้ยว่าตอนที่เราเพลิดเพลินดูมือถือนั่นมันเป็นเรารวมกับร่างกายนี้ ตอนกำลังดูมือถืออยู่สังเกตมั้ยว่า เราลืมเห็นร่างกายนี้ กำลังนั่งอยู่ “เรารวมเข้าไปกับร่างกายนี้เรียบร้อยแล้ว”

ตื่นมา จิตใจเป็นยังไง เคยสังเกตมั้ยมีอารมณ์อะไร มีความรู้สึกอะไรในจิตใจ เคยสังเกตมั้ย แล้วเป็นเราเป็นอารมณ์นั้นหรือเห็นจิตใจว่ามันเป็นอย่างนั้น

เวลากินข้าวอิ่ม เป็นเราอิ่มหรือว่ารู้สึกได้ว่าร่างกายนี้พอแล้ว สังเกตให้ดีนะพวกเราไม่ค่อยสังเกตกันเวลาเจอของอร่อยเนี่ยเรากินๆๆๆ กินจนท้องแตกตายเป็นเหมือนตอนเด็กๆ เราเจอของอร่อยก็อยากกินเยอะๆ ร่างกายมันอิ่มก็ไม่รู้นะ ร่างกายมันพอแล้วนะ มันแน่นแล้วนะ แต่สิ่งที่ไม่อิ่มคือ จิตใจ แต่แล้วก็ไม่รู้อีก เพราะเราเป็นทาสของกิเลสอยู่คือ ความอยาก ความตะกละ เพราะฉะนั้น เมื่อเรารู้จักการปฏิบัติธรรม เราจะเห็นว่าร่างกายนี้อิ่มแล้ว พอแล้ว แต่กิเลสยังมี เช่น มันเป็นของชอบอ่ะแต่จิตใจนี้ยังไม่อิ่ม แต่ด้วยความที่เราเป็นนักปฏิบัติธรรมถูกสั่งสอนมา นอกจากเราเห็นกายว่ามันอิ่มแล้ว เราก็เห็นจิตใจด้วยว่ามันยังไม่อิ่ม พอเห็นจิตใจมันยังไม่อิ่มแต่กายมันอิ่มแล้ว เราก็จะไม่ทำตามกิเลสในจิตใจนั้น เพราะกิเลสนั้นถูกเห็นแล้ว “เมื่อกิเลสนั่นถูกเห็น เราจะไม่เข้าไปเป็นกับมัน” แบบนี้เรียกว่า การปฏิบัติธรรมมันหลอมรวมเข้าไปในชีวิตประจำวัน นี่เป็นแง่มุมหนึ่งเท่านั้นในชีวิตประจำวัน

 

ตอนที่ 2 รู้แล้วผ่านไป

ถ้าเรามีอาการอะไรเกิดขึ้นในกายในใจ แล้วเราไม่เห็นว่า มันเป็นแค่เรื่องของกายเรื่องของใจ กลับเอาความเป็นเราเข้าไปรองรับอาการเหล่านั้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นทันทีคือ “ความทุกข์” และเมื่อไหร่ที่รู้สึกว่า อุ้ย เกิดความทุกข์ หรือความดิ้นรนทางจิตใจอะไรซักอย่างหนึ่งขึ้นมา ลองสังเกตดูมันมีตัวเราเข้าไปรองรับอะไรหรือเปล่า

นี่เป็นศาสตร์ง่ายๆ ที่น่าอัศจรรย์ แล้วพอเราเริ่มเห็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ มันจะเกิดความเข้าใจที่ค่อยๆ ซึมซับทุกวันทุกเวลาว่า “กายนี้ไม่ใช่เรา จิตใจนี้ไม่ใช่เรา” อธิบายในเชิงเหตุผลก็คือว่า “เพราะมันเป็นสิ่งที่กำลังถูกรู้อยู่” เราเป็นคนที่รู้มันอีกทีนึง

ลองเป็นผู้สังเกตการณ์ต่อไป ไม่ต้องพยายาม มันเป็นเรื่อง “แค่รู้สึกร่างกายและจิตใจ เป็นแค่สิ่งที่ถูกรู้ถูกเห็น อาการต่างๆ ที่ประกอบขึ้นในกายในใจก็เป็นแค่สิ่งที่ถูกรู้ถูกเห็น เหมือนมีอาการอะไรทางกายทางใจเกิดขึ้น จะพูดอีกมุมนึงก็คือ “เราเป็นแค่คนรับรู้รับทราบ แล้วก็ผ่านไป

สังเกตมั้ยว่า บางทีร่างกายก็ต้องการลมหายใจเข้าออกไม่เหมือนกัน ไม่เท่ากัน มันทำของมันเอง เวลาเราตื่นเช้าแบบนี้สมัยก่อน ได้ยินเสียงนกเสียง เรารู้สึกว่าชีวิตมีความสุขอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ แฮปปี้ ยิ่งคนในเมืองได้ออกมาต่างจังหวัด สัมผัสธรรมชาติอากาศบริสุทธิ์ เสียงสัตว์ต่างๆ รู้สึกมีความสุข แต่เรานักปฏิบัติธรรม เราได้ความสุขจากการเห็นว่า หูมันไปได้ยินเสียงได้เอง เมื่อมีเสียงเกิดขึ้นมันก็ไปฟังเอง ได้ยินเอง เรานั่งรู้สึกตัวอยู่ดีๆ เสียงนกมันร้องดังขึ้นมา มันก็แวบไปฟังทันทีทันใดด้วยตัวของมันเอง ไม่เกี่ยวกับเรา เรามีความสุขกับการเห็นความจริงแบบนั้น ไม่ใช่มีความสุขกับเสียงนกที่ไพเราะ เราไม่ได้เป็นคนคนเดิมอีกแล้ว คนที่จะหลงรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสต่างๆ แล้วก็เกิดความยินดีพอใจ ไม่ยินดีไม่พอใจ เราเป็นผู้เห็นอายตนะตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจต่างๆ กำลังทำงานด้วยตัวของมันเอง “ไม่เกี่ยวกับเรา”

เรากำลังฟังธรรมะง่ายๆ ก็เกิดความซาบซึ้ง เกิดสมาธิ ก็รู้ว่าตอนนี้เป็นแบบนี้แล้ว ไม่ใช่เราเหมือนกัน แม้กระทั่งสมาธิก็เป็นสิ่งที่ถูกรู้เหมือนกัน

 

ตอนที่ 3 ใช้จิตใจที่เป็นปกติธรรมดา

เวลาเราเริ่มนั่งสมาธิ เราไม่ต้องเปลี่ยนจิตเปลี่ยนใจให้กลายเป็นนักปฏิบัติขึ้นมา “ใช้จิตใจที่เป็นปกติธรรมดา” จิตใจที่เป็นปกติธรรมดานั้นเป็นเหมือนก่อนที่เราจะมานั่งนั่นแหละ ไม่ต้องสร้างภพของนักปฏิบัติขึ้นมา การนั่งสมาธิหรือเดินจงกรมเป็นเพียงแค่การให้โอกาสตัวเองได้อยู่กับตัวเองแค่นั้น แต่ไม่ใช่การเปลี่ยนจิตใจให้เป็นอีกแบบนึง ไม่ใช่ถึงเวลาขึ้นมาบนหอธรรมแล้ว จะนั่งสมาธิแล้ว ต้องทำจิตใจให้มันเป็นซักอย่างนึงที่เราคิดว่าต้องเป็น อย่าลืมว่า “เราไม่ต้องยุ่งกับจิตใจ มีหน้าที่แค่รู้ทัน มีหน้าที่แค่รู้สึก” ว่าตอนนี้มีอะไรกำลังเกิดขึ้นในกายในใจนี้

พอเลิกตั้งท่า มันก็คลายออก สังเกตได้มั้ย ถ้าเราไม่สร้างภพใดภพหนึ่งขึ้นมา การปฏิบัติธรรมก็จะไม่เหนื่อย ไม่ลำบาก ก็เป็นวิถีชีวิตปกติของเรานั่นแหละ เราแค่เปลี่ยนจากการนั่งดูวิว มานั่งดูตัวเองแค่นั้นเอง เปลี่ยนจากนั่งดูโทรศัพท์ มานั่งดูตัวเอง เปลี่ยนจากนั่งอ่านหนังสือ มานั่งดูตัวเอง ก็ใช้จิตอันเดิมนั่นแหละ ไม่ต้องตั้งท่า

ตอนนี้จิตมันเบาไปอีก สังเกตเห็นมั้ย ความสุขมันคลายลงก็รู้เฉยๆ ไม่ใช่ อุ้ย เมื่อกี้หลงไปแล้ว ต้องกลับมารู้เนื้อรู้ตัว ต้องปกติ หรือต้องอะไรๆ อย่างที่คิดไว้ ถ้าเป็นแบบนี้นั่นเรากำลังจัดการ กำลังจะตั้งท่าเป็นนักปฏิบัติอีกแล้ว

จะเห็นว่า “พอไม่ได้ทำอะไร มันก็คลาย” พอเริ่มจะทำอะไรก็เอาอีกแล้ว เพราะฉะนั้น “รู้ทัน” รู้ทันในตอนที่จะตั้งท่าอีกแล้ว มันห้ามไม่ได้ เป็นความเคยชิน เพราะฉะนั้น เราทำได้อย่างเดียว คือ รู้ทัน ทันบ้างไม่ทันบ้าง ก็ไม่เป็นไร เดี๋ยวบอกให้รู้ทัน รู้ไม่ทันก็กลุ้มใจอีก “ทันบ้างไม่ทันบ้าง” ก็เหมือนกับ “รู้บ้างหลงบ้าง” เป็นธรรมชาติ “อย่าไปเอาผิดเอาถูก” เราทุกคนอยู่ในระหว่างการเดินทาง เป็นเหมือนเรือที่ล่องอยู่ในน้ำ มันก็ต้องมีกระแสลมพัดบ้าง เจออุปสรรคบ้าง ผิดบ้าง ถูกบ้าง อย่าไปจริงจังกับมัน ก็เรื่องธรรมดา

พระโสดาบัน พระสกิทาคามีก็จัดอยู่ในกลุ่มที่มีสมาธิเล็กน้อย สมาธิเล็กน้อยแปลว่า ก็ไม่ค่อยตั้งมั่นเหมือนกัน ก็มีความที่ยังไม่สมบูรณ์เหมือนกัน อย่าไปเอาผิดเอาถูกกับมันเยอะ อย่าไปจริงจังกับมันมาก มีหน้าที่รู้ มันไม่ตั้งมั่นก็รู้ว่าไม่ตั้งมั่น เราปฏิบัติธรรมไม่ได้แสวงหาความ Perfect การปฏิบัติธรรมเป็นแค่การทำหน้าที่ ได้ทำหน้าที่ รู้อย่างที่มันเป็น อันนี้ Perfect แล้ว ส่วนมันจะเป็นยังไงก็เป็นอย่างนั้น มันหลงก็รู้ มันไม่มีสมาธิก็รู้ ทำหน้าที่ไปเรื่อยๆ อย่าไปเอาจริงเอาจังกับอะไรมากกว่าการรู้กายและจิตนี้ตามความเป็นจริง ธรรมะที่แท้จริงมันออกมาจากตัวเราเอง ธรรมะครูบาอาจารย์ คำแนะนำต่างๆ มากมายหลายอย่างก็เป็นแค่แนวทาง

เพราะฉะนั้น อย่าลืมว่า เราไม่ต้องตั้งท่าตั้งทางอะไร ไม่มีหน้าที่ไปเปลี่ยนจิตใจ เราแค่เปลี่ยนอิริยาบถเฉยๆ แล้วก็รู้ทันจิตใจ จะรู้อะไรไม่ต้องตั้งท่า รู้ได้เลย

มันมีอาการสั่นไหวภายใน ก็แค่รู้ มันเป็นอย่างนั้นของมันเอง เห็นมั้ยว่าไม่เกี่ยวกับเรา สิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้น ก็เกิดขึ้น เรียกว่า อนิจจัง ไม่เที่ยง

รู้อย่างเป็นกลาง” คำว่า “รู้เฉยๆ” เขาเรียกว่า รู้อย่างเป็นกลาง “รู้ซื่อๆ” ก็รู้อย่างเป็นกลาง แต่ถ้ามีความคิดความหวัง มันจะไม่เป็นกลางแล้ว มันไม่เป็นอย่างที่คิด ไม่เป็นอย่างที่หวัง พอไม่เป็นกลาง มันก็อยากจัดการ อยากแก้ไข นั่นคือ “มิจฉาทิฏฐิ” ความเป็นตัวตนเกิดขึ้น ก็รู้ทัน เราห้ามมันไม่ได้ เราบังคับมันเป็นกลางก็ไม่ได้ เราก็ได้แต่รู้ทัน แล้วเราจะเห็นว่า เออ มันก็มีสิ่งใหม่เกิดขึ้นตลอดนะ หมดไอ้นี่ไป ไอ้นั่นก็เกิด ควบคุมบังคับบัญชาไม่ได้ เวลานั่งบางครั้งก็โอโห้นั่งดีมาก กะว่าอีกนิดนึงเป็นพระอรหันต์แน่ ตีระฆังซะก่อน แหม…อดเลย มานั่งอีกรอบ มันไม่เหมือนเดิมแล้ว อยากจะเป็นเหมือนเดิมอีก เนี่ย! เห็น รู้ทัน เอาความรู้สึกดีๆ แบบนั้นมาเป็นของเราอีกแล้ว มาเป็นเป้าหมายแล้ว มาเป็นความคาดหวังอีกแล้ว อดีตผ่านไปแล้ว อนาคตยังไม่มาถึง รู้อยู่ที่ตอนนี้ แค่นี้ ชีวิตมีเพียงแค่ขณะเดียว พูดเสร็จก็ทำให้คิดถึงคำสอนประจำของหลวงพ่อเลย “วันนี้เป็นวันใหม่ เมื่อวานนี้เป็นความทรงจำ อนาคตยังมาไม่ถึง Now is the knowing

 

ตอนที่ 4 แค่ทำหน้าที่

ถ้ามีความเคลิ้มก็ลืมตาขึ้น เคลิ้มนิดเดียวก็ไม่เอา ไม่ต้องพยายามหาความรู้สึก อะไรมันเด่นขึ้นมาก็รู้สึกได้ จิตใจไปคิดก็เป็นความรู้สึกที่จะรู้สึกได้อย่างนึง เพราะฉะนั้น “ไม่ต้องไปควานหาอะไร” มีอะไรให้รู้ตอนนั้นก็รู้เลย ไม่รู้อะไรก็รู้ว่ากำลังไม่รู้อะไร เช่น เราหลับตาแล้วความรู้สึกอะไรมันเด่นขึ้นมา เราก็รู้ แค่รู้สึก ไม่ต้องพยายามหาใช่มั้ย แค่รู้สึก…แค่รู้สึก

บางครั้งก็เกิดความรู้สึกตัวทั่วพร้อมขึ้นมา ก็รู้สึกว่า ตอนนี้เป็นแบบนี้ ความรู้สึกตัวทั่วพร้อมก็ไม่ได้ไปทำขึ้นมา ไม่ใช่ไปนั่งสแกนร่างกาย หัวลงเท้าเท้าลงหัว ที่จะให้มันบอกว่านี่คือรู้สึกตัวทั่วพร้อม มันจะเกิดเอง นั่งๆ อยู่อย่างนี้เดี๋ยวมันก็เกิด เกิดแล้วมันก็ดับ เดี๋ยวมันก็เกิดใหม่ เวลามันเกิดความรู้สึกตัวทั่วพร้อม มันก็รู้สึกดี รู้สึกเหมือนเป็นซุปเปอร์ไซย่า มีพลังรอบๆ ตัว ใหม่ๆ ก็ตื่นเต้นหน่อย นานๆ ก็ชิน ก็เป็นแบบนี้

ยังเห็นร่างกายมันนั่งอยู่มั้ย รู้สึกถึงความมีอยู่ของร่างกายมั้ย รู้สึกถึงสภาพปลอดความคิดมั้ย รู้สึกถึงความไม่ทุกข์มั้ย รู้สึกถึงความไม่มีอะไรบีบคั้นมั้ย รู้สึกถึงจิตใจก็ส่วนนึง ร่างกายก็ส่วนนึงมั้ย ความรู้สึกอารมณ์ต่างๆ ก็อย่างนึง ความรู้สึกทางร่างกายก็อย่างนึง “ทั้งหมดไม่ใช่ของเรา” ไม่มีเราอยู่ในนั้น เรากำลังเป็นผู้สังเกตการณ์ จะเห็นว่าการปฏิบัติธรรม การเห็นแบบนี้เป็นเรื่องของเราทำได้ด้วยตัวเอง “ทำแทนกันไม่ได้” ครูบาอาจารย์หรือแม้แต่พระพุทธเจ้าก็เป็นแค่คนชี้ทาง เป็นได้แค่คนชี้บอก แต่เป็นหน้าที่เราต้องเห็นเอาเอง

ส่งออกไปคิดแล้วก็รู้ทัน

ถ้าเราไปตั้งใจไว้มาก ไม่อยากให้มันหลงเนี่ย เราจะไม่ได้สัมผัสสติอัตโนมัติที่บางทีมันจะเกิดขึ้นได้ พอสติอัตโนมัติเกิดขึ้น มันกลับมาที่เนื้อที่ตัวปึ๊บ มันก็เกิดความตั้งมั่นขึ้น เกิดความรู้ตัวทั่วพร้อมขึ้น แวปนึง แล้วแต่กำลังของสติอัตโนมัตินั้นว่ามันมีกำลังมากขนาดไหน เพราะฉะนั้น อย่าไปเอาให้มันไม่หลงเลย ให้มันหลงแล้วรู้ขึ้นมา “หลงแล้วรู้ขึ้นมา” แล้วก็ทำหน้าที่ “แค่ทำหน้าที่

เดินก็เห็นร่างกายมันเดิน ไม่ใช่..ชั้นจะเห็นร่างกายมันเดิน ไม่ให้มันลืมเลย ไม่ใช่แบบนั้น แค่รู้หน้าที่ตัวเองเฉยๆ ว่า มีหน้าที่เดินแล้วก็เห็นว่าร่างกายมันเดิน หรือว่ารู้สึกถึงความเคลื่อนไหวของร่างกาย หรือรู้สึกว่าเท้ามันกระทบพื้น ก็แล้วแต่ความชำนาญของเราว่าจิตมันจะไปรู้แบบไหน หรือว่ามันระลึกขึ้นถึงคำสอนได้แบบไหนมันก็รู้ได้แบบนั้น “แล้วก็รู้เท่าที่รู้ได้

สิ่งเหล่านี้เป็น Background คือคำว่าหน้าที่นี่คือเป็นพื้นฐาน เป็นBackground เฉยๆ เหมือนเรากินข้าวเราค่อยๆ กินเข้าไปใช่มั้ย กินเข้าไปเรื่อย แต่ก็มีความค่อยๆ รู้ไปเรื่อยๆ ว่ามันค่อยๆ อิ่มขึ้น แบบนี้ เราก็ทำหน้าที่ใส่อาหารเข้าปาก ใส่อาหารเข้าปาก ทำหน้าที่ เดี๋ยวก็รู้ว่าความอิ่มค่อยๆ เกิดขึ้น เปรียบเหมือนรู้ว่ามันหลงไปแล้ว ทำหน้าที่เห็นร่างกาย รู้สึกร่างกาย แล้วก็เห็นมันไปคิดแล้ว มันหลงไปแล้ว ก็รู้ได้

เวลาเราใส่อาหารเข้าปาก เราก็ใส่เป็นธรรมชาติใช่มั้ยล่ะ ไม่ต้องเพ่ง ไม่ต้องเกร็ง ไม่ต้องพยายาม ก็ทำหน้าที่ตักอาหารเข้าปากเฉยๆ

 

14-04-2562

Camouflage

 

YouTube : https://youtu.be/a6PM7QlIj9k

คลิปเสียงธรรมชุดสนามซ้อมรบ ครั้งที่ 1 วันที่ 9-16 เมษายน 2562

ฟังรวมคลิปเสียงธรรมได้ที่ https://goo.gl/RDZFMI

5 ช่องทางติดตามข่าวสาร
1) YouTube: https://goo.gl/in9S5v

2) Facebook : https://www.facebook.com/SookGuySookJai

3) Line : @camouflage.talk
https://line.me/R/ti/p/%40camouflage.talk

4) Podcast: Camouflage – Dhamma Talk
https://itun.es/th/t6Mzdb.c
วิธีการติดตั้ง https://goo.gl/tBMY9S

5) website : https://camouflagetalk.com/