108.ซ้อมรบ 17 – …เอง

ตอนที่ 1 อุดรูรั่วด้วยการ “รู้ทัน”

ลองสังเกตชีวิตของเราส่วนใหญ่ตั้งแต่ตื่น…ตื่นมาก็หลงคิดโน้นคิดนี่ ลืมเนื้อลืมตัว แต่สำหรับนักปฏิบัติที่คุ้นชินแล้วกับการที่จะมี “วิถีชีวิตใหม่ที่จะตื่นมาก็รู้กายรู้ใจ” ว่าตอนนี้เป็นยังไง เมื่อลุกขึ้นจากเตียง เคลื่อนไหว เดินเข้าห้องน้ำ แปรงฟัน อาบน้ำ กินข้าว เดินไปทำนี่ทำโน้นก็ประกอบด้วย “ความรู้สึกตัว” หันกลับมาดูจิตใจบ้าง…เป็นยังไง? ปกติ…ก็รู้ปกติ ส่วนใหญ่ก็ปกติ เดี๋ยวจิตใจก็ไปคิด…ก็รู้ทันว่าไปคิดแล้ว

การรู้ทันจิตที่ไปคิดก็เพื่อจะอุดรูรั่ว ไม่ให้สมาธิที่เกิดจากการรู้สึกตัว จากการรู้สึกจิตใจที่ปกติอยู่ ไม่ให้สมาธิที่เกิดจากความอยู่กับเนื้อกับตัว รั่วไหลออกไปทางความคิดปรุงแต่ง เราจึงต้องรู้ทันความคิด รู้ทันอารมณ์ รู้ทันความรู้สึกที่กำลังเกิดขึ้น นี่ก็เป็นไปเพื่ออุดรูรั่วของสมาธิที่เกิดจากความรู้เนื้อรู้ตัว

เพราะฉะนั้น ชีวิตเราส่วนใหญ่ตั้งแต่ตื่นก็เป็นเวลาของการเสริมสร้างสะสมกำลังของสมาธิ แล้วก็คอยอุดรูรั่วจากความฟุ้งซ่านหรือเข้าไปเป็นกับอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ ด้วยการ “รู้ทัน” … ด้วยกิริยารู้ทัน รู้เห็น ไม่เข้าไปเป็นกับมัน แต่ไม่ใช่เห็นแบบไปจดจ้องมันเอาไว้ .ให้รู้อยู่แต่ไม่ต้องสนใจ…นี่คือวิถีชีวิตส่วนใหญ่ของเรา ทั้งวันเป็นแบบนี้

เพราะฉะนั้น 80-90 เปอร์เซ็นต์ของชีวิต ถ้าเรียกภาษาบาลีก็เป็นเวลาของ “สมถะ” แต่เป็น “สมถะแบบตื่นเนื้อตื่นตัว” ไม่ใช่สมถะจมดิ่งอยู่กับอารมณ์อันเดียว อยู่กับความสงบ ไม่ใช่สมถะแบบนั้น แต่เป็นสมถะที่พร้อมจะรู้เห็นอะไรก็ตามที่กำลังจะเกิดขึ้น และในบางครั้งบางคราวซึ่งไม่บ่อยนัก จิตใจที่สะสมกำลังขึ้นมาเป็นวันเป็นคืนเป็นเดือนเป็นปี มันมีกำลังพอดีกับที่กำลังเห็นสภาวะทางจิตใจ..เกิดขึ้น..ตั้งอยู่..ดับไป..ในขณะนั้นจะเกิดสภาวะที่เรียกว่า “เจริญวิปัสสนา” ซึ่งมันไม่ได้เกิดบ่อยๆ ไม่ได้เกิดทั้งวัน นานๆ เกิดที และไม่ต้องพยายาม

เวลาฟังเรื่องเจริญวิปัสสนามากๆ เลย จะมีคนกลุ่มนึงฟังปุ๊บ…อันนี้ดีกูจะเอา กูจะเห็น กูต้องเห็น เห็นมั้ยว่าตัวกูทั้งนั้นเลย อย่าลืม!!  หัวใจหลักของเส้นทางนี้เป็นเส้นทางของอนัตตา “ให้มันเป็นเอง” เราแค่ทำหน้าที่ที่ผมบอก อย่าทำเกินสิ่งที่ผมบอก ทำหน้าที่ คือ “ ๑) รู้สึกตัว ๒) พ้นออกจากโลกของความคิดปรุงแต่งด้วยการ “รู้ทัน” ๓) แล้วหันกลับมาดูจิตใจบ่อยๆ รู้จักสภาพเป็นปกติอยู่จนเป็นพื้นฐานในส่วนใหญ่ของจิตใจ” มันจะค่อยๆ เป็นเองด้วย ไม่ใช่ไปทำให้มันปกติ “มันเป็นการรู้จัก ไม่ใช่ทำ” มันเป็นการรู้จักสภาพที่มีอยู่แล้ว ไม่ใช่ทำ ไม่ใช่บังคับให้มันเป็น  เนี่ย! รู้จักอย่างนี้ก็คือ “รู้” มันมีกิริยาเดียว “รู้เห็น” ถ้าเกินจากกิริยานี้…ต้องระวังไว้เลยกำลังมีตัวมีตนแล้ว

การเจริญวิปัสสนามันคล้ายๆ เหมือนเราอ่านหนังสือ เมื่อเริ่มอ่านหนังสือเล่มนึง หนังสือก็มีหลายบท เริ่มอ่านหน้าแรก คำนำ อ่านเข้าไปบทที่ 1 หน้า 1 อื้มม…เข้าใจ อ่านต่อไปก็อื้ม…ดูเหมือนจะ…อื้มม พอจบบทหรือจบเล่ม…อ่อ! มันเป็นแบบนี้ กว่าจะ อ่อ! มันเป็นแบบนี้ ตรงนี้จบเล่มหรือไม่ก็จบบท ใช้เวลานานๆ อ่อ! ทีนึงนี่เรียก วิปัสสนา เพราะฉะนั้น “อย่าไปพยายาม” พออะไรดีกูจะเอาทุกอย่างเนี่ย…ตกทางเลย ความอยากมันครอบงำหมด แต่ครูบาอาจารย์จำเป็นต้องพูดเนื้อหาหลักๆ เอาไว้

 

ตอนที่ 2 ค่อยๆ เป็นเอง

ถ้าเราปฏิบัติแบบที่ผมสอน มันจะค่อยๆ เป็นเอง มันแสดงอยู่แล้ว เราเห็นกายเห็นใจตามความเป็นจริง ก็คือ “ไม่ยุ่งกับมัน” เห็นอย่างที่มันเป็น แล้วสุดท้ายมันจะแสดงลักษณะเดียวกัน เราก็รู้ได้เห็นได้ เพราะเคยฟังอยู่แล้วเรื่องไตรลักษณ์ พวกเราฟังธรรมกันมาเป็นสิบปีแล้ว แม้กระทั่งคนที่ไม่เคยฟัง ถ้าเห็นบ่อยๆ เห็นบ่อยๆ สุดท้ายปัญญามันก็เกิดว่า…เออ! มันก็เหมือนกันหมด มีลักษณะร่วมเดียวกันหมด แต่ขอแค่เห็นกายอย่างที่กายเป็น เห็นจิตใจอย่างที่จิตใจเป็น มันก็จะเข้าใจไตรลักษณ์เอง

แต่มันก็มีกลุ่มคนอีกกลุ่ม พอไม่เน้นอันนี้ ไปอ่านไปฟังเรื่อง “จิตว่าง” ก็นึกว่านี่คือ จุดสูงสุดของศาสนาพุทธ…สุญญตา ก็เลยไปทำจิตให้มันว่าง เข้าไปในความว่าง ติดภพว่างๆ ติดอะไรที่มันโปร่งโล่งสบายว่าใช่แบบนี้แหละ พอมันมีกลุ่มคนแบบนี้มาฟังธรรมะอีก เราก็ต้องเอาบทธรรมะเรื่องของไตรลักษณ์ขึ้นมา เพื่อจะให้รู้ว่านั่นไม่ใช่จุดมุ่งหมายของศาสนาพุทธ เพื่อให้คนเหล่านั้นรู้ว่านั่นกำลังจะไปติดอยู่ จึงต้องเน้นขึ้นมาว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไร ความว่างในศาสนาพุทธไม่ใช่ไปทำให้จิตมันว่าง แต่เป็นการเห็นสภาพสภาวะทุกอย่างตามความเป็นจริงในมุมของอนัตตา แล้วมันจะแสดงความว่างจากความเป็นสัตว์ตัวตนบุคคลเราเขา

ดังที่หลวงปู่มั่นเคยพูดไว้ว่า “มีไม่มีนี่เป็นธรรมที่ล้ำลึก” คือหมายความว่า อะไรอะไรก็มีอยู่ แต่ไม่มีความเป็นตัวเป็นตนอยู่ในนั้น…นี่คือ “สุญญตาของศาสนาพุทธ” ทุกอย่างยังมีเหมือนเดิม สภาวะอะไรก็ตามยังมีเหมือนเดิม แต่ปราศจากความเป็นสัตว์ตัวตนบุคคลเราเขา ปราศจากความรู้สึกแบบนั้น ไม่ใช่มันไม่มีอะไรเลย ให้มันว่าง อะไรกูก็ไม่เอาทั้งนั้น ให้มันว่าง

หรือคนที่ไปติดสุขสงบในสมาธิ ก็คิดว่า อ่อ…นี่พ้นทุกข์แล้ว สบายแล้ว เคยถามคนแบบนั้นว่ารู้จักอนัตตามั้ย เคยเห็นอนิจจังมั้ย เคยเห็นทุกขังมั้ย …ไม่เคย  เนี่ย! ทุกวันนี้ต้องหยิบไตรลักษณ์ขึ้นมาพูด เพราะเริ่มไปเจอคนแบบนี้มากขึ้นเรื่อยๆ

แต่อย่างที่ผมบอกถ้าไม่ออกนอกลู่นอกทาง ไม่ไปมุ่งไปทำจิตให้มันว่าง ไปยุ่งกับจิต ไปจัดการจิต ไปทำให้มันเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ มันไม่ผิดหรอก แต่พอไปฟังอะไรเข้า แล้วก็ไปทำอย่างที่ตัวเองคิดว่าถูก คิดว่าใช่ แล้วก็พาตัวเองออกนอกทาง ไปยุ่งไปจัดการ ไม่เข้าใจคำว่า อนัตตา ไม่เข้าใจว่า เราเป็นแค่ผู้สังเกตการณ์เพื่อจะเห็นความจริงของกายและจิตนี้ ไม่ใช่เข้าไปทำอย่างที่อยากให้เป็น แล้วดันทำสำเร็จด้วย อุทกดาบสอาฬารดาบสก็ทำสำเร็จ เข้ารูปฌานอรูปฌานไม่ทุกข์เหมือนกัน เนี่ย! ลักษณะแบบนี้ก็ไปติดอยู่ในนั้น เพราะคิดว่าพ้นทุกข์แล้ว ดีแล้ว

ความสงบที่แท้จริงในศาสนาพุทธ เป็นความสงบที่เกิดจากการเห็นตามความเป็นจริง ไม่ใช่ความสงบที่เราไปทำให้มันสงบ

เมื่อผมมีประสบการณ์เจอคนที่เป็นแบบนี้เลยต้องหยิบธรรมะเกี่ยวกับไตรลักษณ์ขึ้นมาเน้นย้ำกันอีกครั้ง แต่ถ้าพวกเราไม่ได้เป็นแบบนั้น ก็ปฏิบัติหน้าที่ที่ผมเคยสอนไปตั้งแต่แรกๆ แล้วเดี๋ยวมันจะค่อยๆ เป็นเอง จะค่อยๆ เห็นความจริงเอง วิปัสสนาจะเกิดเอง ไม่ต้องเดือดร้อนจะรีบไปเห็น รีบไปหา รีบไปดู อยากเห็นไตรลักษณ์ทั้งวันทั้งคืน  ค่อยๆ ซ้อมรบไป นานๆ เห็นทีเนี่ยมันวิเศษ มันถึงชื่อ “วิปัสสนา เป็นการเห็นอย่างวิเศษ เป็นการเห็นมันทำเองด้วย เป็นการเห็นที่เรียกว่าอยู่ดีๆ ก็เห็นเองด้วย มันถึงวิเศษเพราะไม่ได้ทำอะไร ทำแค่หน้าที่ ทำหน้าที่ไปเรื่อยๆ พอทำหน้าที่ก็เป็นปัจจัยให้เกิดสติ เป็นปัจจัยให้เกิดสมาธิ

 

ตอนที่ 3 ไม่เกี่ยวกับเราซักอย่าง 

การทำหน้าที่ที่ถูกต้อง เราจะรู้สึกเลยว่าแม้กระทั่งสติสมาธิก็ไม่ใช่ของเรา มันมีเหตุปัจจัยมันถึงเกิด อย่างสมมติวันนี้รู้เนื้อรู้ตัวดี มีใครมั้ยรู้สึกว่าวันนี้เรารู้เนื้อรู้ตัวดี หรือว่าแค่รู้สึกว่าวันนี้ความรู้เนื้อรู้ตัวเกิดขึ้นดี

ความรู้เนื้อรู้ตัวเกิดขึ้นดีเพราะมีเหตุ…มีเหตุคือ เราระลึกรู้สึกตัวได้บ่อยๆ ความระลึกรู้สึกตัวได้บ่อยๆ เกี่ยวกับเรามั้ย ไม่เกี่ยว เกิดจากสัญญาความจำได้จากการฟังธรรมรู้ว่าอันนี้เป็นหน้าที่ แล้วมันก็นึกขึ้นได้ว่าควรจะรู้สึกตัว นึกขึ้นได้ว่ามีหน้าที่แบบนี้ มันเกิดจากสัญญา ไม่เกี่ยวกับเรา…เนี่ยคือ การปฏิบัติธรรมบนเส้นทางของอนัตตา ไม่เกี่ยวกับเราซักอย่าง

พระอนิรุทธะก่อนจะเป็นพระอรหันต์ ท่านข้องใจ ท่านบอกว่าท่านมีทิพยจักษุ เห็นการเกิดดับของสัตว์ทั้งหลายในโลก เรียกว่าเห็นเป็นแสนโกฏิขณะในช่วงลัดนิ้วมือเดียว แล้วท่านก็บอกต่อว่าท่านมีความเพียรไม่ย่อหย่อน มีจิตที่ตั้งมั่นเป็นเอกัคคตา แล้วท่านก็บอกต่ออีกว่าแต่ทำไมท่านยังไม่บรรลุเป็นพระอรหันต์  ทั้งหมดนี้คืออะไร… “ตัวเรา”…บางคนสงสัยต้องเจริญปัญญาให้มาก เห็นเกิดดับให้มาก เห็นเป็นแสนเป็นล้านครั้งถึงจะบรรลุธรรมได้ ถ้าเห็นภายใต้ความมีตัวตนก็บรรลุธรรมไม่ได้…เห็นมั้ย  ขณะที่พระอนิรุทธะบอกว่าท่านเห็นการเกิดดับมากมายขนาดนั้น พระสารีบุตรบอกว่าท่านกำลังมี “มานะ” คือ ความถือตัวว่าตัวเองเห็นได้เยอะ เห็นได้ดี ขณะที่ท่านนั่งพิจารณา ท่านมีความเพียร ท่านไม่ย่อหย่อนเลย ท่านมีจิตที่ตั้งมั่นมากจึงเห็นได้ขนาดนั้น พระสารีบุตรบอก ท่านกำลังมี “อุทธัจจะ” ความฟุ้งซ่านในธรรม ขณะที่ท่านสงสัย เอ…ทำไมยังไม่บรรลุธรรมอีกก็ดีขนาดนี้แล้วนี่  พระสารีบุตรบอกว่า ท่านมี “กุกกุจจะ” คือ ความร้อนรน…เห็นมั้ยเหล่านี้เกิดขึ้นบนพื้นฐานของอะไร? “ตัวตน

แต่สิ่งที่ผมบอกเมื่อกี้นี้คืออะไร? เราเห็นแม้กระทั่งสติ สมาธิต่างๆ นั้นก็ไม่ใช่ของเรา มันเป็นไปตามเหตุปัจจัย วันนี้รู้สึกว่าดี ก็เพราะว่ามีเหตุที่ดี…ไม่ใช่เรา  วันนี้ดูฟุ้งซ่านเพราะมีเหตุแห่งความฟุ้งซ่าน…ก็ไม่ใช่เราอีกเหมือนกัน  เพราฉะนั้น ไม่ว่าจะดีเลิศประเสริฐศรีแค่ไหน ถ้าต้นขั้วแห่งความเป็นเรานั้นยังคาอยู่ มันก็ไปไหนไม่ได้

อนัตตา” คือ ความไม่มีเรา ความที่มันเป็นเหตุปัจจัย เน้นมุมมองของการเห็นลงไปในมุมของอนัตตา ไม่ใช่ไปทำให้จิตมันว่าง ถ้าเราทำให้จิตมันว่างได้เป็นยังไง? เป็น “เรา”  จิตมันเป็นอย่างนี้ เราทำให้เป็นอย่างนั้นได้ จิตมันเป็นอย่างนั้น เราทำให้เป็นอย่างนี้ได้ อย่างที่เป็นแล้วรู้สึกดี…ดีแล้วเป็นยังไง? ก็เป็น “เรา”  จะเห็นว่าต่อให้ดีแค่ไหน เลิศแค่ไหน ถ้ายังมีความเป็นเราอยู่ ก็หลุดพ้นไม่ได้

เพราะฉะนั้น เวลาเห็นตามความเป็นจริง แต่ละคนก็เห็นไม่เท่ากัน บางคนเห็นมาก บางคนเห็นไม่กี่ครั้งก็หลุดแล้ว เพราะมันอยู่ที่ต้นขั้วตรงนี้ ต้นขั้วที่เราต้องเข้าใจว่าเส้นทางนี้เป็นเส้นทางของอนัตตา ทำอะไรไม่ได้  หลวงพ่อถึงได้แค่พูดว่า “Don’t do anything, Just Know..แค่รู้

 

ตอนที่ 4 อย่าไปทำอะไรนอกลู่นอกทาง 

ถ้าเราไม่ออกนอกลู่นอกทาง มันจะไปเอง เป็นเองตามธรรมชาติเลย อย่าไปหาทางลัด ทางลัดที่สุดที่พวกเราชอบพูดถึงกันที่ว่า Zen ก็คือ การเห็นอนัตตาอยู่ดี การบรรลุธรรมจะต้องผ่านการเห็นผ่านประตู 3 ประตูไม่ประตูใดก็ประตูหนึ่งในขณะที่กำลังจะข้ามโคตรไป จะเห็นผ่านอนิจจัง ไม่ก็ทุกขัง ไม่ก็อนัตตา เพราะฉะนั้น เราหนีไม่รอด ถ้าเราบรรลุธรรมโดยผ่านการเห็นอนัตตา ภาษาบาลีนี้เขาเรียก “สุญญตวิโมกข์” เข้าใจให้ถูกว่าสุญญตาคือแบบนี้ ชื่อมันก็บอกอยู่แล้วว่าสุญญตวิโมกข์ คือ มุมของอนัตตา เป็นชาวพุทธต้องเข้าใจให้ถูก ไม่ใช่มั่วๆ

อย่างเมื่อกี้นี้ที่ผมพูดไปเรื่องของวิปัสสนานี่นานๆ เกิดที แล้วมันก็เกิดเอง เราไม่ต้องพยายาม ผมยกตัวอย่างการปฏิบัติของผมเองให้ฟัง มีวันนึงผมก็เดินจงกรมแบบที่ทุกคนกำลังเดินอยู่เนี่ยแหละ ก็เดินก็แค่รู้สึก เห็นร่างกายมันเดิน รู้สึกเท้ากระทบพื้น รู้สึกความเคลื่อนไหวอะไรก็ได้ที่จิตใจมันจะไปรู้สึก ก็รู้ตามนั้น พอมันจะคิดก็รู้ทัน กลับมาเห็นร่างกาย มันเดินก็เห็นมันเดิน มันหยุดก็เห็นมันหยุด ผมก็เดินไปเดินมาแบบที่พวกเราเดินกันก็ทำอยู่แค่นี้แหละ ก็เดิน…ตั้งเวลาไว้เดินชั่วโมงนึง ก็เดินให้ครบชั่วโมงนึง เบื่อก็เดิน

แต่ถ้าเกิดเบื่อขึ้นนี่ต้องรู้แล้วว่า แปลว่าการเห็นร่างกายของเราเนี่ยมันขาดๆ เป็นตอนๆ อารมณ์มันแทรก สมาธิมันตก มันเลยเบื่อ ขี้เกียจจะเดิน ไม่อยากจะเดิน อยากจะไปทำอย่างอื่นแทนแล้ว เนี่ย! ก็ต้องรู้ทัน มันมีเหตุปัจจัย ไม่เอาความเบื่อมาเป็นของเรา ต้องรู้ อ่อ…การรู้การเห็นกายและใจนี้มันเรียกว่า เหมือนไฟติดติดดับดับ เมื่อไหร่เกิดเหตุการณ์แบบนั้น เราก็ใส่ใจเพิ่มซักหน่อยที่จะเห็นร่างกายมันเดิน

ให้ทุกก้าวเป็นการเรียนรู้” ไม่ใช่ไปคิดอนาคตว่าเมื่อไหร่จะหมดเวลา ให้ทุกก้าวเป็นการเรียนรู้ แล้วพอครบเวลา ถามว่าผมเห็นอะไร เห็นไตรลักษณ์อะไรมั้ย…ไม่เห็น ผมก็รู้สึกตัว รู้ทันจิตใจไปเรื่อย ไม่ได้เกิดมุมมองอะไรของอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาอะไร…ไม่มี แล้วผมก็มานั่งพักหลังจากครบเวลา จังหวะที่ผมกำลังเอี้ยวตัวจะไปหยิบอะไรซักอย่างหนึ่ง ก็เกิดสภาวะขึ้น เกิดสภาวะอันหนึ่งที่ไม่มีชื่อไม่มีอะไรทั้งนั้น รู้สึกว่าเป็นแค่สภาวะอันหนึ่งกำลังเกิดขึ้น แล้วก็อยู่ห่างๆ แล้วมันก็แสดงความตั้งอยู่ แล้วก็แสดงความทนอยู่สภาพเดิมไม่ได้ ก่อนที่มันจะแสดงความดับไปสลายไป มันก็มีอาการของจิตที่เข้าไปหยิบฉวยอารมณ์นั้นจะเอามาเป็นของเรา พอมันหยิบปุ๊บ…ผมก็เห็นมันปล่อยปั๊บ แล้วมันก็ค่อยเฟดตัวสลายดับไปในที่สุด

เพราะฉะนั้น นี่เป็นตัวอย่างให้พวกเราเข้าใจว่า “มันเป็นเอง” มันเห็นเอง ทำหน้าที่ไปเรื่อยๆ เราไม่รู้หรอกว่ามันจะเกิดขึ้นตอนไหน เมื่อสมาธิมันพอ เหตุปัจจัยมันพร้อม มันแสดงเอง เราก็แค่เป็นคนดูเฉยๆ เหมือนเดิม หน้าที่เราก็คือเหมือนเดิม อะไรจะวิเศษหรือเลวร้ายแค่ไหน “หน้าที่เราก็เหมือนเดิม”

หรือบางครั้งก็เป็นวิปัสสนาแบบเห็นอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงในขณะนั้นๆ ที่เปลี่ยนเลย ความเข้าใจของอนิจจังก็เกิดขึ้น..ปุ้งทันที เปลี่ยนแล้ว เปลี่ยนเอง อย่างนี้ก็มี และมักจะเกิดขึ้นทีเผลออีกเหมือนเดิม

พวกเราไปลองสังเกต ขึ้นรถก็ชอบเปิดเพลงฟัง ผมครั้งหนึ่งก็เปิดเพลงฟัง ฟังไปได้ประมาณท่อนเดียว จิตใจก็เปลี่ยนเป็นเบื่อ ก็เห็นจิตใจมันเบื่อ จิตใจเบื่อ ไม่ใช่เราเบื่อ ในขณะนั้นก็เกิดมุมมองของ  อ่อ…มันเปลี่ยนเองอีกแล้ว  นี่! ลักษณะแบบนี้ แล้วแว้บเดียวจิตใจก็เปลี่ยนอีกเป็นปกติ ก็เห็นเปลี่ยนอีกแล้ว เนี่ยเราไม่ต้องพยายามเห็น ถ้าเรารู้กายรู้ใจอยู่เนืองๆ อะไรมันกำลังเกิดขึ้นอยู่ มันไม่เห็นไม่ได้ มันเห็นอยู่แล้ว “ไม่ต้องพยายามเลย

เพราะฉะนั้น ผมเลยบอกว่าถ้าปฏิบัติตามสิ่งที่ผมบอก อย่าไปออกนอกลู่นอกทาง อย่าไปทำอะไรนอกลู่นอกทาง แล้วเราจะเห็นความเป็นเอง  สำคัญคือ “เราซ้อมรบให้มันต่อเนื่อง อย่าทิ้งการซ้อม

 

ตอนที่ 5 แค่สร้างเหตุที่ถูกต้อง

หมั่นเตือนตัวเอง…ยังเห็นอยู่มั้ย?” ทำอะไรก็เห็นจิตใจอยู่เป็นยังไง เคลื่อนไหวก็รู้สึกร่างกายอยู่ ขณะเราหยุดยืนเนี่ย ความรู้สึกตัวก็เป็นสิ่งที่ถูกรู้ลองสังเกตดู…ไม่ใช่เรารู้สึก เราเป็นผู้กำลังรู้ว่ากำลังมีความรู้สึกตัวอยู่ เราจะเห็นได้ว่าแม้กระทั่งความรู้สึกตัวนี่ก็ไม่ใช่ของเรา เป็นสิ่งที่ถูกรู้ มีอยู่แล้วก็หายไปได้เมื่อเราลืมตัว

เดินสบายๆ ไม่ต้องเดินจะให้มันดีนะ เดินไปตามธรรมชาติ เดินเหมือนดินเล่น ไม่ต้องกลัวหลง เราเดินเป็นหน้าที่…ไม่ใช่เดินจะเอาอะไร  แค่เดินแล้วก็เห็นร่างกายมันเดิน ไม่มีอะไรมากกว่านั้น แล้วเดี๋ยวบางทีมันก็ลืม ไปดู ผมพูดก็มาฟัง เราก็รู้มันเผลอไปดูแล้ว มันไปฟังแล้ว เราจะได้เห็นธรรมชาติว่า “รู้ก็บังคับไม่ได้ หลงก็บังคับไม่ได้” ถ้าเรามีเป้าหมาย เราตั้งใจจะให้มันเป็นอย่างนี้เท่านั้น มันจะอึดอัด มันจะมีความพยายาม ที่จะต้องเป็นแบบนี้

เพราะฉะนั้น เราวางใจให้เหลือแค่ว่ามีหน้าที่เดิน…แค่เดินเหมือนแค่นั่ง แค่เดิน…แค่เดินแล้วก็เห็นร่างกายนี้กำลังเดินอยู่ แล้วเดี๋ยวมันก็มีหลงบ้าง ก็รู้ทันหลงไปแล้ว ลืมไปแล้ว ไม่ใช่เดินเพื่อจะไม่ให้หลง แล้วถ้าใครที่มีความอึดอัด เพ่งอยู่ ก็ไม่ต้องพยายามที่จะทำให้มันหายเพ่ง ให้ “แค่รู้ ว่าตอนนี้เป็นแบบนี้” ความพยายามจะแก้ไขอะไรก็เป็นตัวตนซ้ำเข้าไปอีก  รามีหน้าที่ “แค่สร้างเหตุที่ถูกต้อง” ไม่ได้มีหน้าที่แก้ไขอะไร

เวลาเราหยุดยืน ลองหายใจออกยาวๆ จะรู้สึกได้ถึงความผ่อนคลาย เวลาผมเดินก็ชอบหายใจออกยาว เพราะรู้สึกว่ามันสบายดี เวลาหยุดที่ปลายทางจงกรม ก็ลองหายใจออกแล้วก็รู้สึกตัวทั่วพร้อม รู้สึกแล้วก็ค่อยเดินหรือค่อยหมุนตัว เบิกตากว้างๆ เดินให้มันเป็นเหมือนคนที่ตื่น

เราแค่เห็นร่างกายนี้มันกำลังเดินอยู่ ยืนอยู่ หยุดอยู่ ไม่มีการเพ่งจ้องร่างกาย คำว่า “เห็น คือ แค่รู้สึก”…แค่รู้สึกถึงความมีอยู่ของร่างกายนี้กำลังเดิน กำลังอยู่นิ่งๆ กำลังหมุน รู้สึกธรรมดาๆ ชิลๆ เราเห็นร่างกายมันเดินเหมือนเราดูคนอื่นเดิน “เห็นร่างกายนี้เป็นสิ่งที่ถูกรู้” เหมือนเรารู้ไปดูคนอื่นเขาเดิน เขาเดินท่านี้ เขาเดินท่านั้น เขาขยับอย่างนี้ เขาโยกอย่างนั้น เห็นตัวเองแบบนั้นเหมือนกัน ให้เห็นด้วยความรู้สึกสบายๆ

 

13-04-2562

Camouflage

 

YouTube : https://youtu.be/GbbJlDiLLm0

คลิปเสียงธรรมชุดสนามซ้อมรบ ครั้งที่ 1 วันที่ 9-16 เมษายน 2562

ฟังรวมคลิปเสียงธรรมได้ที่ https://goo.gl/RDZFMI

5 ช่องทางติดตามข่าวสาร
1) YouTube: https://goo.gl/in9S5v

2) Facebook : https://www.facebook.com/SookGuySookJai

3) Line : @camouflage.talk
https://line.me/R/ti/p/%40camouflage.talk

4) Podcast: Camouflage – Dhamma Talk
https://itun.es/th/t6Mzdb.c
วิธีการติดตั้ง https://goo.gl/tBMY9S

5) website : https://camouflagetalk.com/