107.ซ้อมรบ 16 – ซ้อมรบ

ตอนที่ 1 ซ้อมรบ

เราปฏิบัติธรรมเหมือนทหาร ก่อนทหารจะออกรบ ก็ต้องซ้อมรบทุกวัน นานๆ ถึงจะได้ออกรบทีนึง

เมื่อเราฟังธรรมะ ฟังดูแล้วก็รู้สึกว่า การเจริญปัญญานี่สุดยอดเลย เปรียบเหมือนการออกรบ เป็นจุดสูงสุดในศาสนาพุทธ คือการเห็นตามความเป็นจริง พอฟังอย่างนี้จิตใจก็อยากเจริญปัญญาตลอดเวลา อยากเห็นไตรลักษณ์ อยากเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เต็มไปด้วยความอยาก คล้ายๆ เป็นทหารมีซ้อมรบกับออกรบ แต่กรณีนี้ก็อยากไปฆ่าเขาอย่างเดียวเลยยังไม่ทันซ้อม อยากออกรบอย่างเดียว ถ้าออกไปแล้วไม่ทันซ้อมก็ตายอย่างเดียวเหมือนกัน

เพราะฉะนั้น หน้าที่ของทหารส่วนใหญ่คือ “ซ้อมรบ” เราเป็นกองทัพเหมือนกัน “กองทัพธรรม” ซ้อมรบด้วยการฝึกในคอร์สตั้งแต่วันแรกที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ “1)รู้สึกตัว 2)พ้นออกจากโลกของความคิดปรุงแต่ง 3)หันกลับมาดูจิตใจ” ปกติก็รู้ปกติ ไม่ปกติก็รู้ไม่ปกติ แต่จะพบว่าส่วนใหญ่ปกติ เพราะจิตใจที่อยู่กับเนื้อกับตัวส่วนใหญ่เป็นปกติ จะเกิดภาวะที่สามารถเห็นกายและใจนี้ตามความเป็นจริง เป็นกลางไม่ว่าอะไรจะผ่านเข้ามาในกายในใจนี้ จะเห็นมันเฉยๆ ได้ เพราะการที่เราซ้อมแบบนี้ตั้งแต่ตื่นจนหลับ จิตใจจะเริ่มมีสมาธิ แต่สมาธิเราก็หมดไปเร็วมาก เพราะเราหลงไปคิดนึกปรุงแต่ง หลงไปในอารมณ์ ความรู้สึกต่างๆ ฟุ้งซ่าน พูดคุย ทำงาน คิดนู่นคิดนี่

เพราะฉะนั้น การซ้อมรบสำคัญกับเราทุกคน “มีหน้าที่ซ้อมรบทุกวันทุกเวลา” หน้าที่ซ้อมรบสำคัญกว่าออกไปรบ ถ้าซ้อมรบได้ดีรับรองได้ออกไปรบแน่ มันเป็นธรรมชาติ

เมื่อเราเห็นอะไรที่ผ่านมาในกายในใจด้วยความเป็นกลาง เห็นไปเรื่อยๆ มันเกิดความเข้าใจเองว่า อะไรๆ ที่ผ่านมาผ่านไป มันเกิดขึ้นแล้วมันก็เปลี่ยนแปลง แล้วมันก็ดับไป ไม่เกี่ยวกับเรา มันทำของมันเอง มันเป็นของมันเอง เราไม่ต้องพูดชื่อให้งงๆ ก็ได้ว่าเรียกว่า “ไตรลักษณ์” ไม่ต้องพูดก็ได้ แต่การที่เราซ้อมรบจนมีจิตใจที่เป็นปกติ พร้อมจะเห็นกายและใจนี้ว่ามันทำงานยังไง มันจะแสดงลักษณะอย่างหนึ่งที่เราจะเห็นได้ พระพุทธเจ้าสรุปให้ฟังว่ามันคือ “ไตรลักษณ์” แต่หน้าที่เราคือ เห็นมันบ่อยๆ เห็นมันเรื่อยๆ มันมาให้เห็นอยู่แล้วแหละ แต่เราพร้อมจะเห็นมันมั้ย ถ้าเราไม่ซ้อมรบ เราไม่พร้อมจะเห็น เราพร้อมจะเป็นกับมันอย่างเดียว

ถ้าเราซ้อมรบ ทำหน้าที่ 3 ข้อ มันอัตโนมัติ มันต้องเห็นเป็นธรรมชาติ เราอาจจะไม่รู้จักเลยว่าอย่างนี้เรียก ไตรลักษณ์ จนกว่าจะมีคนมาบอกเราว่า ที่เห็นเนี่ยเขาเรียกว่าไตรลักษณ์แบ่งเป็นหมวดหมู่แบบนี้เรียก อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

ถ้าคนไม่เคยอ่านไม่เคยฟังเรื่องไตรลักษณ์ก็อาจจะพูดได้แค่ว่า มันมาเอง มันเกิดขึ้นเอง มันเป็นเอง มันดับเอง เห็นมันทำงานของมัน ไม่เกี่ยวกับเราอะไรก็ว่าไป เห็นแบบนั้นได้เพราะมีความพร้อมจิตใจ พอพร้อมมันก็เห็นได้ เห็นได้แต่เรียกชื่อไม่เป็น

เพราะฉะนั้น ความสำคัญคือ ต้องเข้าใจที่ผมให้เห็นร่างกายมันนั่งอยู่กับเนื้อกับตัว รู้จักสภาพจิตใจที่เป็นปกติ เพื่อจะให้เกิดความพร้อมที่จะมีสมาธิตั้งมั่นเพียงพอ ที่จะเห็นอะไรที่กำลังผ่านเข้ามาในกายในใจนี้อย่างที่มันเป็นได้ แล้วพอมันเห็นเรื่อยๆ เห็นบ่อยๆ นานๆ ทีมันเกิดความเปลี่ยนแปลงแล้วเราเห็นทันพอดี นานๆ ทีมันดับไป แล้วเราเห็นมันพอดี เกิดความเข้าใจว่า มันดับเอง มันเปลี่ยนไปเอง ในขณะนั้นๆ เรียกว่า “เกิดวิปัสสนาญาณ” แต่เราก็อาจจะไม่รู้ชื่ออีกก็ได้ แต่มันก็เห็นอย่างนั้นเอง มันเห็นเองตามธรรมชาติ

แต่ที่เราได้เรียนรู้ว่าพุทธเจ้าสอนอะไรมันเป็นเรื่องดีอย่างหนึ่งว่า “เราจะไม่หลงทาง” พอเราเห็นอย่างนี้เราก็ไม่งงตรงตามที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ เราจะไม่หลงไปติดกับอะไรอยู่ ไปติดความว่าง ติดความสงบ ติดความเบาสบาย เราจะไม่หลงนึกว่าศาสนามีแค่นั้น ที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ว่า จมในท่ามกลาง คือ ไปติดภพใดภพหนึ่งอยู่ ภพว่างๆ ภพสบายๆ ไปฟังเรื่องสุญญตาก็ไปทำให้จิตมันว่าง ว่างในศาสนาพุทธมาจากคำว่า “อนัตตา” มันก็คือมุมหนึ่งของไตรลักษณ์นั่นแหละ ถ้าว่างแบบอื่นไม่ใช่ศาสนาพุทธ

เห็นกายอย่างที่กายเป็น เห็นจิตใจอย่างที่จิตใจเป็น อะไรผ่านมาผ่านไปก็รู้ มันไปคิดก็รู้ มันดับไปก็รู้ มันเปลี่ยนแปลงก็รู้ ลักษณะแบบนี้เราจะเห็นในมุมของ “อนัตตา” ได้ คือ มันทำเอง เป็นเอง มีเหตุก็เกิด หมดเหตุก็ดับไป ควบคุมบังคับบัญชาไม่ได้ แล้วเราจะได้เห็นว่า เออมันว่างจากความเป็นตัวตน เพราะไม่มีใครเข้าไปเกี่ยวข้องกับสภาวะใดๆ เลยที่กำลังแสดงลักษณะของมันให้เราเห็นอยู่ เพราะเรากำลังเห็นมันอยู่ เราไม่ได้ไปจัดการแทรกแซงหรือยุ่งอะไรกับมันเลย มันทำของมันเอง มันจะไปคิดเอง เราไม่อยากคิด เราก็ห้ามไม่ได้

เรามีหน้าที่ได้แค่รู้มัน ไปคิดก็รู้ว่าไปคิดแล้ว แต่ถ้าเกิดมุมมองขึ้นมาว่า มันไปเอง นี่ไงเกิดมุมมองอนัตตาขึ้นคือ ทำของมันเอง แต่เราอาจจะเรียกชื่อไม่เป็น ถ้าจิตใจเราพร้อมที่จะเห็นอะไรๆ ในกายในใจนี้ไปเรื่อยๆ มันก็เป็นการเจริญปัญญาในที่สุดแม้ว่าเราจะเรียกชื่อไม่เป็น

เพราะฉะนั้น สำคัญคือ “การซ้อมรบ” ทำหน้าที่รู้สึกตัว พ้นออกจากโลกของความคิดปรุงแต่ง มีความคิดก็รู้ทัน ไม่ตามความคิดเข้าไป ในชีวิตประจำวันหันกลับมาดูจิตใจบ่อยๆ ปกติก็รู้ ปกติไม่ปกติก็รู้ไม่ปกติ ทำหน้าที่ 3 ข้อนี้ให้เนื่องๆ เรียกว่า การซ้อมรบ อย่าไปทำสิ่งที่นอกเหนือจากสิ่งที่ผมบอก การซ้อมรบก็มีกระบวนการซ้อมรบแบบที่ผมบอก อย่าไปหาอะไรประหลาดๆ ทำ ทำเรื่องง่ายๆ ที่ผมบอกแค่นี้แหละ แล้วจะไม่หลงทาง

เหมือนหลวงพ่อเทียนพูดว่า มีแม่กุญแจกับลูกกุญแจ เราเพียงแค่หาลูกกุญแจที่พอดีถูกต้องเสียบเข้าไปยังไงมันก็หลุด แต่ถ้าเขี้ยวล่องมันผิดนิดเดียวเสียบให้ตายมันก็ปลดล็อคไม่ได้ เพราะฉะนั้น เข้าใจ เรียนรู้วิธีการปฏิบัติให้แม่นยำแล้วค่อยลงมือเสียบ

 

ตอนที่ 2 จิตใจที่ปกติ

อย่าลืมทำหน้าที่ที่จะหันกลับมาดูจิตใจบ้าง ไม่ใช่เพลิดเพลินไปกับเสียงหรือไปกับความคิด หรือไปอยู่ในอารมณ์ล่องลอยสบายๆ ให้มันอยู่กับเนื้อกับตัว การหมั่นหันกลับมาดูจิตใจความอยู่กับเนื้อกับตัวจะเกิดขึ้น การได้รู้จักจิตใจที่เป็นปกติจะทำให้เรารู้จักว่า “สภาพไม่ทุกข์มันมีอยู่แล้วกับเรา” สภาพที่ไม่มีความดิ้นรนบีบคั้น อยากนู่นอยากนี่ หนีความทุกข์ตลอดเวลามันมีกับเราอยู่แล้ว รู้จักมัน…รู้จักมันบ่อยๆ จนมันเป็นส่วนใหญ่เป็นพื้นฐานของจิตใจ

เราจะเห็นสิ่งที่ผ่านมาผ่านไปในกายในใจนี้ง่ายขึ้นอีก จากการที่เรามีพื้นฐานของจิตใจที่เป็นปกติ จะมีได้ต้องหันกลับมาดูใจบ่อยๆ รู้จักมัน รู้จักว่าแบบนี้ปกติ สภาพจิตใจที่ไม่ขึ้นไม่ลงไม่บวกไม่ลบ Neutral กลางๆ

ลองสังเกตในอดีตเราไม่มีจิตใจที่เป็นปกติเลย จิตใจแฉลบซ้ายแฉลบขวา คิดนู่นคิดนี่ อยากนั่นอยากนี่ มั่วซั่วไปหมด อะไรกระทบหน่อยก็กระเทือนแรงเลย กระเพื่อมเร็วกระเพื่อมแรง ถ้ามันเป็นแบบนั้นเราจะเห็นกายและใจอย่างที่มันเป็นไม่ได้ เหมือนน้ำที่เต็มไปด้วยคลื่นแล้วก็เห็นอะไรใต้ท้องน้ำไม่ได้ จิตใจที่เป็นปกติเป็นจิตใจที่พร้อมจะเห็นอะไรๆ เหมือนน้ำที่นิ่งใสมีอะไรผ่านมาปุ๊บเห็นเลย อะไรอยู่ใต้ท้องน้ำลึกๆ ก็เห็น กิเลสอะไรเล็กๆ น้อยๆ ที่กำลังเกิดขึ้นก็เห็น

เพราะฉะนั้น รู้จักสภาพจิตใจที่เป็นปกติไว้ มันเป็นกำลังสำคัญอันหนึ่งกับชีวิตของนักปฏิบัติธรรม เป็นสิ่งที่หาไม่ยาก ไม่ต้องสร้างขึ้นมา ไม่ต้องทำขึ้นมา มันมีอยู่แล้ว แค่เพียงย้อนกลับไปดูจิตใจตัวเองบ่อยๆ เมื่อจิตใจเป็นปกติ ศีลก็เกิดเพราะศีลแปลว่าปกติ เมื่อศีลเกิดสมาธิก็เกิด เพราะจิตใจที่ปกตินั้นไม่แส่ส่ายไม่ฟุ้งซ่าน ไม่กระเพื่อมหวั่นไหวอะไรง่ายๆ จิตใจก็เป็นสมาธิ เมื่อจิตใจเป็นสมาธิก็เป็นเหตุให้เกิดการเห็นตามเป็นจริงหรือเรียกว่า เจริญปัญญาได้

เห็นมั้ยทั้งหมดเป็นเหตุปัจจัยไม่เกี่ยวกับเราเหมือนกัน มันส่งผลส่งทอดกันไปอย่างต่อเนื่องอย่างเป็นธรรมชาติ เป็นเอง เห็นเอง รู้สึกได้เอง เหมือนจิตใจที่เป็นปกติรู้สึกได้มั้ยว่ามันไม่มีทุกข์ ต้องให้ใครบอกเรามั้ย มันเป็นสิ่งที่สัมผัสได้ รู้ได้เองในทุกๆ ขั้นตอนที่มันเกิดขึ้นตามธรรมชาติ

เพราะฉะนั้น เพียงแค่เริ่มให้ถูกแล้วทุกอย่างก็จะพัฒนา กระบวนการตามธรรมชาติของเหตุปัจจัยที่เราเริ่มให้ถูกมันก็จะเกิดกระบวนการถัดไปที่ถูกต้องตามเหตุตั้งต้นที่ถูกแล้ว ถ้าเราเริ่มถูกมันไปผิดไม่ได้ เพราะธรรมชาตินี้เป็นไปตามเหตุปัจจัย มันจะไปผิดก็ต่อเมื่อเราหาเรื่องไปทำอะไรผิดเอง สร้างเหตุที่ถูกต้องอยู่ดีๆ ก็ไปหาอะไรทำที่ไม่ได้บอกให้ทำนั่นแหละ มันเลยผิด…ผิดเพราะว่าเราทำเอง

เวลานั่งแล้วอยู่กับเนื้อกับตัว จิตใจเป็นปกติอยู่กับเนื้อกับตัว ภาษาบาลีเรียกว่า “สมาธิ” เราไม่ต้องรู้ศัพท์ เราก็รู้สึกได้ใช่มั้ยว่า มันอยู่กับเนื้อกับตัว เนี่ยเป็นธรรมชาติเอง

 

13-04-2562

Camouflage

 

YouTube : https://youtu.be/9NC3l3Z53B8

คลิปเสียงธรรมะทั้งหมดของอาจารย์ Camouflage : https://goo.gl/RDZFMI

======================

5 ช่องทางการอ่านและฟังธรรม

1) Facebook : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
http://www.facebook.com/sookguysookjai

2) Line : @camouflage.talk
https://line.me/R/ti/p/%40camouflage.talk

3) YouTube : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
https://goo.gl/in9S5v

4) Website: https://camouflagetalk.com/

5) Podcast : Camouflage – Dhamma Talk
https://itun.es/th/t6Mzdb.c
วิธีการติดตั้ง https://goo.gl/tBMY9S