106.ซ้อมรบ 15 – จบลงที่ไตรลักษณ์

ตอนที่ 1 หลุดเอง

ความปล่อยวางที่แท้จริงจะเกิดขึ้นได้จากจิตที่มีปัญญาแล้ว พวกเราทุกคนเคยทุกข์เพราะความคิด ติดความคิด ติดอารมณ์ ติดความรู้สึก ไม่อยากจะคิดมันก็คิดปล่อยวางไม่ได้ ถ้าเราไม่รู้จักการปฏิบัติธรรมเราก็จะเข้าไปคิด จะคิดให้มันแตกหัก คิดให้มันได้คำตอบ คิดว่าทำไมเขาทำกับเราอย่างนั้น ทำไมเขาพูดกับเราอย่างนี้ นี่คือลักษณะของจิตที่มันอ่อน “ไม่มีสมาธิ” จึงหลงเข้าไปในความคิด หลงเข้าไปในอารมณ์

สังเกตดูอดีตที่ผ่านมา คิดแทบตายก็ปล่อยวางไม่ได้ จะปล่อยวางได้ตอนไหน ตอนที่คิดจนเหนื่อยแล้ว…เลิกดีกว่า แบบนี้ไม่ได้ปล่อยวางด้วยปัญญา ปล่อยวางเพราะว่าเหนื่อยแล้ว พอแล้ว เบื่อแล้ว ไปหาอย่างอื่นทำดีกว่า

แต่ถ้าเรานักปฏิบัติธรรมเคยฝึก…ฝึกแบบนี้แหละที่ผมบอก ฝึกอะไรที่มันดูโง่ๆ นี่แหละ “แค่รู้สึกสึกตัว แค่รู้เนื้อรู้ตัวอยู่” จะทำอะไร จะหยิบจับอะไร ก็เห็นความรู้สึกตัวนี้มีอยู่ อารมณ์ในจิตใจที่ติดค้างอยู่ก็มีอยู่  แต่ไม่ได้สนใจ… “สนใจที่ความรู้เนื้อรู้ตัวนี้”  ในขณะนั้นๆ อารมณ์ความรู้สึกหรือความคิดอะไรที่มันยังติดอยู่มันก็ยังอยู่นะไม่ใช่ไม่อยู่ “แต่เราแค่ไม่ยุ่งกับมัน” แล้วเดี๋ยวกำลังของสติ สมาธิจากความรู้เนื้อรู้ตัวจะค่อยๆ เกิดขึ้น  อยู่ดีๆ มันก็หลุดออกจากอารมณ์ความรู้สึกความคิดเหล่านั้นที่ติดอยู่เอง… “หลุดเองไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ยเลย

เราจะได้เห็นว่ามันทำเองอีกแล้ว เป็นไปตามเหตุปัจจัย คือ มีสมาธิก็เกิดผลแบบนี้  พอมันหลุดจังหวะนั้นโล่งสบายเลย แต่ถ้าสมาธิมันยังน้อย หลุดแล้วก็ดีใจ หลงเข้าไปดีใจ…สมาธิตกอีก แล้วเรื่องเดิมมาใหม่ ก็ติดใหม่ แต่อาจจะติดเบาลง ความเข้มข้นจะลดลง ก็เห็นอีกว่าเป็นเองอีกแล้ว แล้วทำยังไง…จะเข้าไปคิดกับมันมั้ย?…ไม่ใช่ ก็รู้เนื้อรู้ตัวต่อไป ทำเหมือนเดิม ที่นี้มันจะหลุดอีก หรือจะค่อยๆ คลายจนหมดไปก็ได้ มันจะเป็นแบบไหนก็ได้ แล้วแต่มันจะทำ

การแก้ปัญหาความทุกข์ทั้งหลายในศาสนาพุทธไม่ใช่เราเข้าไปจัดการแก้มันตรงๆ ไม่ใช่แบบนั้น เราสร้างเหตุของสติ สมาธิและปัญญาที่จะเกิดขึ้นเนื่องๆ กันไปตามเหตุปัจจัย

เจริญสติ สมาธิมันก็เกิด สมาธิเกิด ปัญญามันก็เกิด พอปัญญาเกิดมันก็หลุด

ความหลุดพ้นเนี่ยสัมผัสได้เลยใช่มั้ย หลุดพ้นเล็กน้อยก็เรียกว่า หลุดพ้นเหมือนกัน เห็นมั้ยว่ามันสบาย มันโล่งขนาดไหนเวลามันหลุดพ้นจากความทุกข์ใดๆ แล้วลองนึกดูว่า หลุดพ้นที่เรียกว่า “นิพพาน” หลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงนี่มันจะขนาดไหน เราหลุดพ้นจากทุกข์นิดเดียวยังรู้สึกโอ้โหมันสุดยอดเลย

เพราะฉะนั้น ถ้าพิจารณาให้ดี ตอนนี้เราลองคิดว่า “เป้าหมายในชีวิตของเราคืออะไร?” ตอนเด็กๆ เป้าหมายในชีวิตเรามีอย่างนึง เรียนจบมหาวิทยาลัยเป้าหมายในชีวิตเราก็อีกอย่างนึง ทำงานเป้าหมายในชีวิตเราก็อย่างนึง ตอนนี้รู้จักการปฏิบัติธรรมเป้าหมายในชีวิตเราเปลี่ยนรึยัง มีของที่มีคุณค่าที่สุดในโลกนี้รออยู่ข้างหน้าจะเอารึยัง หรือจะคงเป้าหมายเดิมเหมือนตอนที่ยังไม่รู้จักธรรมะ

 

ตอนที่ 2 ฝึกจิตใจให้มีปัญญาจนพ้นทุกข์

เวลาเรามีความทุกข์เจอเพื่อนเจอแฟนเจอใครๆ ที่พร้อมจะปลอบใจเรา เค้ามักจะบอกให้ปล่อยวางยอมรับมันเถอะ ปล่อยวางอย่าคิดมาก มีใครทำได้มั้ย ไม่มีใครทำได้ เราจะสวนกลับว่ามึงไม่เป็นกูนี่  ไม่เป็นฉันแกไม่รู้หรอกว่ามันทุกขนาดไหน  ปลอบยังไงมันก็ยังทุกข์ ปล่อยไม่ได้หรอก แต่สุดท้ายชีวิตก็ต้องปล่อยวาง ปล่อยได้ แต่แล้วเรื่องใหม่ก็มาใหม่ ก็ปล่อยไม่ได้อีก แล้วก็ใช้เวลา หรือไม่ก็หนี…หนีความทุกข์  อกหักก็ไปมีแฟนใหม่ ก็คลาย จะรู้จักยอมรับและปล่อยวางได้อย่างแท้จริงมีทางเดียว คือ ต้องฝึกจิตใจนี้ให้มีปัญญาจนหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง ความหลุดพ้นด้วยวิธีอื่นๆ เป็นของชั่วคราว

นักปฏิบัติธรรมเป็นทุกข์ ถือว่าเป็นคนฉลาดหน่อยมาปฏิบัติธรรม แต่ฉลาดไม่พอก็ไปนั่งทำความสงบ มันจะได้ไม่ทุกข์ สงบแต่ไม่มีปัญญา ก็หลุดพ้นเหมือนกันแต่หลุดพ้นชั่วคราว พอเลิกทำความสงบมันก็ทุกข์ใหม่

เพราะฉะนั้น “ศาสนาพุทธที่แท้จริงเป็นศาสนาของปัญญา” มีปัญญาเห็นตามความเป็นจริง เมื่อเราเข้าใจอะไรตามความเป็นจริง มันทุกข์ไม่ได้ มันไม่ทุกข์เอง

บางทีเรื่องเล็กนิดเดียวก็ทำให้เราทุกข์ได้ ถ้าคนอื่นมารู้เรื่องก็คงจะคิดว่าเราทุกข์อะไรกับเรื่องแค่นี้  เรื่องนิดเดียวของคนอื่นแต่พอดีมันเป็นเรื่องใหญ่ของเรา เพราะแต่ละคนสะสมสันดานอนุสัยมาไม่เหมือนกัน  บางคนก็ทุกข์กับเรื่องแบบนี้ บางคนก็ทุกข์กับเรื่องแบบนั้น สองคนเอามาคุยกันมันก็บอกว่าเรื่องแบบนั้นเป็นทุกข์ทำไม พูดเหมือนกันแต่มันทุกข์กันคนละเรื่อง เพราะกรรมมันไม่เหมือนกัน กรรมที่จะติดกับเรื่องอะไรๆ มันไม่เหมือนกัน

เพราะฉะนั้น ถ้าใครทุกข์อะไรอยู่ เราก็อย่าไปคิดว่า ทำไมแค่นี้มันทุกข์ เพราะกรรมเค้าเป็นแบบนั้นเค้าต้องติดแบบนั้น เราก็ทุกข์อีกแบบนึงเหมือนกัน เค้าอาจจะไม่ทุกข์แบบเราก็ได้ ฉะนั้น ให้เข้าใจซึ่งกันและกันว่า “เราทุกคนล้วนเป็นผู้ที่ยังทุกข์อยู่แล้วเราทุกคนก็มีหน้าที่ที่จะใช้ชีวิตที่เหลืออยู่นี้นำพาจิตใจไปสู่ความหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง  เราเขาก็เหมือนกันยังทุกข์กันเหมือนกันหมด  ไม่มีใครดีกว่าใคร ยังมีกิเลสเหมือนกัน เห็นแบบนี้ มันจะช่วยลดความถือตนถือตัวว่าเราดีกว่าเขา

 

ตอนที่ 3 ร่างกายมีไว้รู้สึก จิตใจมีไว้รู้ทัน

บางทีจิตใจมันก็เหนื่อยล้ากับการที่จะนั่งรู้สึกตัวหรือว่านั่งเห็นร่างกายที่มันนั่งอยู่ ก็เห็นว่าจิตใจนี้กำลังแสดงอาการเหนื่อยล้า ถ้าไม่นั่งเห็นร่างกายมันนั่งอยู่ จะไปนั่งหลงเหรอ ถามตัวเอง มันก็ไม่เอาเหมือนกัน เพราะฉะนั้น รู้ทันสภาพสภาวะที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ พอรู้ทันได้ มันก็จะคลายไป หมดไป ดับไป แล้วก็แค่นั่ง อย่าให้การที่แค่นั่งแล้วมันเหนื่อย ทีเดินช้อปปิ้งไปฮ่องกงเดินตั้งแต่เช้ายันเที่ยงคืนไม่เหนื่อย ความหลงมันมีอำนาจมาก ทำให้เราทำอะไรก็ได้

เรานั่งรู้เนื้อรู้ตัว เห็นร่างกายมันนั่งอยู่แบบนี้ สังเกตได้มั้ยว่า จิตใจมีอาการมีลักษณะที่เหมือนมันจะออกไป ลองสังเกตดู มันยังไม่ทันก่อรูปของความคิด มันมีแค่อาการลักษณะที่มันจะออกไป ที่มันจะลืมเนื้อลืมตัว เราเห็นมันได้มั้ย มันแวบๆ เหมือนมันจะไปนึกถึงอะไรซักอย่างนึงแต่ไม่ทันไปก็ถูกรู้ซะก่อน เพราะ “จิตใจเป็นธรรมชาติที่ชอบนึกคิด” นึกคิดเสร็จ ปุ๊บ พอเราเข้าไปกับมัน…ก็ปรุงแต่ง ธรรมชาติมันคือ ชอบนึกคิด อาการที่มันกำลังจะไปนึกคิด เราจะเห็นได้ รู้ทันมันได้

ไม่จมลงไปในความสงบ หายใจเข้าลึกๆ ให้มันตื่นเข้าไว้ ความรู้สึกในจิตใจตอนนี้เป็นยังไง รู้ทัน ไม่ปล่อยให้อารมณ์ความรู้สึกงุ่นง่านในจิตใจครอบงำเรา “เห็นมันไม่ใช่เป็นมัน” อย่าตกร่องของความเคลิ้ม “ปลุกให้มันตื่นขึ้นมา” อย่าปล่อยให้จิตล่องลอยออกไป มีหน้าที่รู้เนื้อรู้ตัว ความรู้สึกอารมณ์ทางจิตใจมีหน้าที่เห็นไม่ใช่เป็น เข้มแข็งที่จะรู้เนื้อรู้ตัว ไม่พ่ายแพ้ต่ออารมณ์ความรู้สึกในจิตใจ อยู่กับปัจจุบัน “ร่างกายมีไว้รู้สึก จิตใจมีไว้รู้ทัน

 

ตอนที่ 4 จบลงที่ไตรลักษณ์

ช่วง 3-4 วันที่ผ่านมาเราก็เข้าใจความรู้สึกตัว รู้จักที่จะเห็นร่างกายในอิริยาบถต่างๆ เช่นตอนนี้ร่างกายนี้กำลังนั่งอยู่ เราก็เห็น เราใช้ร่างกายนี้เป็นบาทฐานของความรู้สึกตัว เป็น Background ที่เราจะรู้ทันจิตใจได้

ทีนี้ต่อไปไม่ว่าอะไรกำลังจะเกิดขึ้นผ่านเข้ามาทางใจ “ให้เรารู้มันลงไปในมุมของไตรลักษณ์” อะไรที่กำลังจะเกิดขึ้นผ่านมาทางร่างกาย ให้เรารู้มันในมุมของไตรลักษณ์ สิ่งใดๆ ที่กำลังเกิดขึ้นจะแสดง “ความไม่เที่ยง” แสดงความเปลี่ยนแปลง จากที่ไม่เคยมีอยู่มันก็เกิดขึ้นมา จากที่มันเกิดขึ้นมาแล้วมันก็ “ทนอยู่สภาพเดิมไม่ได้ถูกบีบคั้น” ให้ต้องแตกดับสลายตัวไป สภาวะใดๆ ที่กำลังผ่านเข้ามาในกายในใจมันเกิดขึ้นเองเป็นไปตามเหตุปัจจัยไม่เกี่ยวกับคนหรือใครเข้าไปเกี่ยวข้องทั้งนั้น มันเกิดหรือดับด้วยตัวของมันเองมีเหตุก็เกิด หมดเหตุก็ดับ บังคับไม่ได้ นี่คือ “อนัตตา

พวกเราเข้าใจความรู้สึกตัว ความรู้เนื้อรู้ตัว ความอยู่กับเนื้อกับตัวเป็น Background แล้ว เป็นพื้นฐานของชีวิตแล้ว ต่อไปนี้เห็นทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาในกายในใจนี้ในมุมของไตรลักษณ์ เรียกว่า “การเจริญปัญญา การเจริญวิปัสสนา การเห็นตามความเป็นจริง”

ส่วนใหญ่เวลาอะไรเกิดขึ้น เราก็สงสัย…ทำไมเป็นแบบนี้ ทำไมเป็นแบบนั้น เข้ามาถาม เข้ามาหาสาเหตุ ไปนั่งคิด ไปหาข้อมูล มันเป็นเพราะอะไรทำไมเป็นแบบนี้ ให้รู้ไว้ว่าตอนนั้นความเป็นเราเกิดขึ้นแล้ว ความเป็นคนเกิดขึ้นแล้ว “อัตตาตัวตนเกิดขึ้นแล้ว” ไม่ว่าเราจะรู้สาเหตุหรือไม่รู้สาเหตุของมัน เราทุกคนจะเห็นทุกสิ่งทุกอย่างได้ในมุมของไตรลักษณ์ จบลงที่ไตรลักษณ์ จบลงไปที่ตรงนั้น แล้วเราจะไม่ต้องมีปัญหากับอะไรใดๆ ทั้งสิ้นที่กำลังเกิดขึ้นในตอนนี้

อย่าลืมว่าโลกนี้จบลงที่ไตรลักษณ์สภาวะใดๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในกายในใจนี้ล้วนเป็นโลก เมื่อทุกอย่างจบลงที่ไตรลักษณ์การปฏิบัติธรรมนั้นจะไม่พาเราหลงทาง จะไม่พาเราไปติดแค่ความว่าง ความสบาย ความโปร่ง ความโล่ง ความสุข 

อย่างเมื่อกี้แม่ผมก็มาเล่าว่า นั่งสมาธิเห็นกายเห็นอาการทางกายอาการทางใจ เห็นไปเห็นมามันโปร่งโล่งว่างสบายอัศจรรย์อย่างที่ไม่เคยรู้สึกมาก่อน ร่างกายด้านบนหายไปขายังเหลือหัวยังเหลือ ความสุขนั้นอัศจรรย์ แต่ถ้าเราไม่รู้จักเห็นมันในมุมไตรลักษณ์เราจะคาอยู่แค่นั้น ติดสุขอยู่แค่นั้น เราจะนึกว่าอันนี้อัศจรรย์แล้ว เพราะฉะนั้น ความรู้ที่พระพุทธเจ้าฝากไว้ในเรื่องของ “ไตรลักษณ์เป็นเหมือนเข็มทิศ” ที่ทำให้เรารู้ว่ามันยังไม่จบ เราต้องเห็นสภาพสภาวะใดๆ จบลงในมุมของไตรลักษณ์ไม่ว่ามุมใดมุมหนึ่ง

และนี่เป็นตัวอย่างที่เราจะเห็นได้ว่า การเห็นกายและจิต เห็นอาการทางกายและอาการทางจิตใจ ตามความเป็นจริงไปเรื่อยๆ รู้อย่างที่มันเป็นไปเรื่อยๆ เป็นบ่อเกิดของสมาธิ เราไม่ได้ไปนั่งทำสมาธิ เรานั่งรู้เห็นกายและจิตนี้ไปเรื่อยๆ “สมาธิมันเกิดเอง” จะเห็นว่าถ้าไม่มีคำสอนของพระพุทธเจ้าว่า การเจริญปัญญาคือ การเห็นสิ่งใดๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในมุมของไตรลักษณ์ เราจะไปไม่ถึงปัญญา เราจะคาอยู่แค่สมาธิ

แต่บางคนได้ยินได้ฟังคำสอนครูบาอาจารย์ อ่านหนังสือธรรมะพูดถึงสิ่งเหล่านี้มาก จนเราจำขึ้นสมองแล้ว เวลาเราปฏิบัติไปเนี่ยมันก็เป็นไปเองตามธรรมชาติเลย ไม่ติดไม่คาอยู่ที่ใดเพราะว่าฟังมาเยอะแล้ว รู้อะไรเป็นอะไร จิตใจมันก็ไปเองเป็นเองเห็นไตรลักษณ์เอง เพราะอาศัยสุตมยปัญญาฟังธรรม ถ้าเราไม่ได้เคยมีโอกาสได้ฟังธรรมในแง่ของการเจริญปัญญามันก็คล้ายๆ มันไปต่อไม่ถูก

เพราะฉะนั้น ปฏิบัติธรรมอาศัยปัญญาหลายอย่าง สุตมยปัญญา จินตามยปัญญา ภาวนามยปัญญา อาศัยศิลปะมาก บางคนฟังเรื่องเจริญปัญญามากๆ จะเจริญปัญญาอย่างเดียวเลยสมาธิยังไม่มีเลย จิตยังไม่พร้อมเลยจะไปเจริญปัญญาจะเห็นไตรลักษณ์ มันจะคิดไตรลักษณ์แทน เพราะฉะนั้น มันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่จะปิดจุดอ่อนของคำสอนทุกอันได้ มันยาก

 

ตอนที่ 5 เห็นบ่อยๆ

เมื่ออะไรที่กำลังจะผ่านมาผ่านไปในกายในใจนี้แล้วเราจบลงที่ไตรลักษณ์ แรกๆ เราอาจจะไม่ค่อยชำนาญแต่เดี๋ยวอะไรๆ มันผ่านมาผ่านไปเรื่อยๆ มันจะเห็นจนชิน…ชินว่า อ่อ ทุกอย่างมันก็เป็นแบบนี้ หรือว่าที่สรุปกันว่า มันเป็นเช่นนั้นเอง “ตถตา…มันเป็นเช่นนั้นเอง” มันก็มาจากไตรลักษณ์นั่นแหละ คือเห็นเรื่อยๆ เห็นจนชิน เห็นจนรู้ว่ามันก็อีหรอบเดียวกัน ส่งผลให้เกิด “จิตใจนี้เป็นกลาง” อะไรๆ ผ่านมาเนี่ยมันเข้าใจแล้ว จะดีจะร้ายจะชั่วจะเลวยังไง มันก็ตกอยู่ภายใต้กฎไตรลักษณ์เหมือนกัน

เพราะฉะนั้น จิตใจจะเริ่มเป็นกลางมากขึ้นเรื่อยๆ กับอะไรที่กำลังผ่านเข้ามาในชีวิต “จิตใจที่เป็นกลางคือ จิตใจที่เป็นปกติ” จิตใจที่เป็นกลาง จิตใจที่เป็นปกติ เป็นจิตใจที่พร้อมจะเป็นสมาธิ มันก็วนกลับมาอีก วนกลับมาเติมสมาธิอีก จากการเห็นกายและใจตามความเป็นจริง มันส่งเสริมซึ่งกันและกันหมุนไปหมุนมาไปเรื่อยๆ

แรกๆ เราฝึกเหมือนที่ผมเคยพูด “รู้สึกตัว พ้นออกจากโลกของความคิดปรุงแต่ง ด้วยการรู้ทันความคิดไม่เข้าไปในความคิด ความคิดเกิดขึ้นตามธรรมชาติของมันแล้วรู้ทัน และข้อสุดท้ายข้อสาม คือ หันกลับไปดูจิตใจบ่อยๆ” ถ้าเราไม่หันกลับไปดูจิตใจ ไม่ย้อนกลับไปดูจิตใจ ลองไปดูเถอะระหว่างวันจะล่องลอยคิดนู่นคิดนี่ ฟุ้งซ่านสารพัดเลย รู้สึกตัวก็เอาไม่อยู่ เพราะกำลังความฟุ้งซ่านในชีวิตเรามันเยอะ

เพราะฉะนั้น 3 ข้อนี้เป็นพื้นฐานของนักปฏิบัติทุกคนเพื่อให้มันคอยเติมกำลัง ไม่ให้ตุ่มมันรั่ว หยดน้ำลงไปตุ่มดันรั่วหายหมด น้ำหายหมด  รู้สึกตัวทีหนึ่งปึ๊ง คิดไป 10 นาที รู้สึกตัวที่ 1 ปึ๊งคิดไปชั่วโมงหนึ่ง  อย่างนี่เขาเรียกว่า ตุ่มมันมีรูรั่ว แล้วก็บ่นว่า รู้สึกตัวก็แล้วทำไมฟุ้งซ่านจัง เพราะฉะนั้น ใช้ทั้งกายและใจนี้เป็นตัวปั่นกำลังให้เกิดสมาธิ  เมื่อมีสมาธิถึงจะเห็นอะไรๆ ได้ตามความเป็นจริง เห็นอะไรอะไรผ่านมาแล้วผ่านไปได้

เหมือนพวกเราก็ฟังธรรมกันมามาก ฟังธรรมกันมาหลายสิบปี ฟังไตรลักษณ์จนเบื่อแล้ว เพราะมันเข้าไปในหัวใจเราแล้วเรื่องเจริญปัญญาเนี่ย แต่เราขาดจิตที่พร้อมจะเจริญปัญญาจริงๆ เราจึงต้องมานั่งปฏิบัติ 3 ข้อที่ผมบอกเมื่อกี้นี้ เพื่อจิตนั้นพร้อมเจริญปัญญาด้วยตัวมันเอง มันไปเองเป็นเองเพราะเรามีข้อมูลเยอะแล้ว ส่วนคนที่ไม่มีข้อมูลทางธรรมะซักเท่าไหร่ก็จะไปได้เหมือนกันแต่อาศัยเวลาต้องเห็นบ่อยๆ เห็นบ่อยๆ มันก็แสดงความจริงในที่สุด เหมือนที่พระพุทธเจ้าได้รับความจริงในที่สุด ไม่มีใครบอกท่านหรอกเรื่องไตรลักษณ์ท่านก็อาศัยการเห็นเห็นไปเรื่อยๆ จนอ๋อ…ทุกสิ่งเหมือนกันแบบนี้จบลงที่ไตรลักษณ์  ด้วยการผ่านการเห็นบ่อยๆ

แต่พวกเราโชคดีก็มีคนเฉลยข้อสอบแล้ว  เราเห็นปุ๊บ มันก็ไปทางนั้นเลยเป็นไตรลักษณ์หมด เห็นปุ๊บก็ไปไตรลักษณ์หมดอัตโนมัติ เพราะเราฟังมาเยอะแล้ว อย่างเราเห็นมั้ยว่า ร่างกายมันหายใจเอง เราไม่ต้องสั่งให้หายใจเข้า หายใจออก มันทำเอง สั่งให้หัวใจหยุดเต้นได้มั้ย สั่งไม่ได้ มันทำเอง ลักษณะแบบนี้เราเห็นร่างกายในมุมมองไตรลักษณ์ได้ มันเป็นเอง ทำเอง

เวลาผมพูดถึงการเจริญปัญญา ไม่ใช่เราฟังแล้วก็อยากจะเจริญปัญญา อยากเห็นไตรลักษณ์ ไม่ใช่แบบนั้น หน้าที่ของเราคือ เตรียมจิตให้พร้อมด้วยความรู้สึกตัว เตรียมจิตให้พร้อม หมายความว่า ให้จิตนั้นเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานขึ้นมาก่อน สิ่งที่สำคัญคือ อาศัยความรู้สึกตัว อาศัยการหันกลับมาดูจิตใจบ่อยๆ อาศัยการอุดรูรั่วด้วยการรู้ทันจิตที่ฟุ้งซ่านออกไป จิตที่ไหลไปคิดไปปรุงแต่ง รู้ทัน มันไม่เข้าไปในมัน รู้เนื้อรู้ตัวไว้ อันนี้คือจุดสำคัญที่สุด ถ้าจิตมันไม่พร้อมต่อให้ไปดูไตรลักษณ์ ไปเห็นไตรลักษณ์ มันก็เห็นไม่จริง เพราะฉะนั้น ความสำคัญคืออันนี้ แล้วเดี๋ยวอะไรผ่านมาผ่านไปจะเกิดมุมมองเห็นในมุมของไตรลักษณ์ได้

ไม่ใช่บอกว่าเจริญปัญญา แล้วก็ทิ้งความรู้สึกตัว ทิ้งนู่นทิ้งนี่ที่ปฏิบัติมา 3-4 วันแล้วไม่ต้องทำ แล้วดูอย่างเดียว ไม่ใช่แบบนั้น สิ่งที่ให้ทำมา 3-4 วันนี้ต้องทำตลอด…ตลอดชีวิต และการเจริญปัญญาที่ว่าจึงจะเกิดได้จริง

 

12-04-2562

Camouflage

 

YouTube : https://youtu.be/ylNtxoyLUtc

คลิปเสียงธรรมะทั้งหมดของอาจารย์ Camouflage : https://goo.gl/RDZFMI

======================

5 ช่องทางการอ่านและฟังธรรม

1) Facebook : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
http://www.facebook.com/sookguysookjai

2) Line : @camouflage.talk
https://line.me/R/ti/p/%40camouflage.talk

3) YouTube : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
https://goo.gl/in9S5v

4) Website: https://camouflagetalk.com/

5) Podcast : Camouflage – Dhamma Talk
https://itun.es/th/t6Mzdb.c
วิธีการติดตั้ง https://goo.gl/tBMY9S