104.ซ้อมรบ 13 – วิถีชีวิตใหม่

ตอนที่ 1 วิถีชีวิตใหม่

ยังเห็นร่างกายอยู่มั้ย? หรือฟุ้งซ่านแล้ว  “แค่เห็น”…เห็นด้วยความรู้สึก ไม่ต้องเพ่งจ้องหรือตั้งใจมาก

สังเกตมั้ยว่าถ้าเราไม่ค่อยหันกลับมาดูจิตใจ จิตใจจะล่องลอย ตอนนี้ลองย้อนกลับไปดูจิตใจตัวเองเป็นยังไง? จะพบว่ามันกลับมาที่เนื้อที่ตัวลึกซึ้งขึ้น  แต่ถ้าเราลืมหันกลับมาดูจิตใจอาศัยความรู้สึกตัวอย่างเดียว จิตใจก็ล่องลอยง่ายๆ เพราะฉะนั้น เมื่อ “รู้สึกตัว” แล้ว ก็ต้องอย่าลืมที่จะ “รู้สึกจิตใจ” ด้วย มันเป็นยังไงก็รู้เป็นอย่างนั้น

คำว่า “รู้สึกจิตใจ” ก็คือ แค่รู้สึกว่าตอนนี้มีอารมณ์ความรู้สึกยังไงในใจเรา  เฉยๆ ก็รู้เฉยๆ  ปกติก็รู้ว่ามันปกติ  มีความพอใจไม่พอใจก็รู้  รู้เสร็จก็กลับมาอยู่ที่ร่างกาย เห็นร่างกายมันนั่งอยู่

เมื่อเราฝึกจนชำนาญ มีความรู้เนื้อรู้ตัวอยู่เป็นประจำแล้ว มันก็ไม่ลืมความรู้สึกทางจิตใจหรอก เมื่อเราฝึกไปมากๆ เข้า มันเหมือนชีวิตเราก็อยู่กับความรู้สึกตัว อยู่กับการเห็นจิตใจ ไม่ว่ามันจะเป็นยังไงอยู่…ก็รู้อยู่  อาจจะมีเข้าไปคิดบ้าง อาจจะมีหลงไปปรุงแต่งบ้างก็ธรรมดา แต่ชีวิตจะเปลี่ยน…จากเดิมที่เคยสนใจแต่จะออกไปข้างนอก คิดนึกปรุงแต่งโน่นนี่นั่น แสวงหาภายนอกเหมือนชีวิตเมื่อก่อนที่ไม่รู้จักการปฏิบัติธรรม  ชีวิตจะเปลี่ยนไป มันจะมีแต่ความสนใจในกายและจิตนี้  ชีวิตใหม่จะเกิดขึ้น… “วิถีชีวิตใหม่” จะเกิดขึ้น แล้วมันจะค่อยๆ กลมกลืนกลมเกลียวเป็นธรรมชาติมากขึ้นเรื่อยๆ อยู่บนวิถีชีวิตใหม่นี้

ให้เวลากับตัวเอง… ค่อยๆ ฝึก อย่าเลิก ไม่ต้องกลัวผิด ตั้งแต่วันนี้ไปเปลี่ยนวิถีชีวิตให้เป็นวิถีชีวิตของนักปฏิบัติธรรม ตื่นแต่เช้าขึ้นมานั่งสมาธิหรือจะเดินจงกรม 1 ชั่วโมงก่อนไปทำงาน ก่อนนอนจะนั่งหรือจะเดิน 1 ชั่วโมงก่อนนอน  “ฝึกให้เป็นนิสัย ทำหน้าที่อย่างมีวินัย แล้วหลอมรวมมันเข้าไปในชีวิตประจำวันของเรา” จะหยิบจะจับจะทำอะไรก็ประกอบด้วยความรู้สึกตัว ประกอบด้วยสติที่เรียกว่า “สติปัฏฐาน 4

ไม่ใช่ปล่อยตัวปล่อยใจล่องลอยไปเหมือนคนที่ไม่เคยรู้จักการปฏิบัติธรรม  วิ่งแสวงหาความสุขที่ไม่มีอยู่จริง คนทำงานก็คิดแต่ว่าวันหยุดจะไปเที่ยวไหน วิถีชีวิตใหม่ คิดใหม่ วันหยุดปุ๊บจะไปคอร์สไหน…เป็นแบบนั้น ไม่ใช่เที่ยวไหน เวลาก็มีน้อยอยู่แล้วต้องทำงาน ยังจะเอาเวลาไปเที่ยว…หลงทุกวันยังไม่พอ วันหยุดจะไปหลงต่ออีก

 

ตอนที่ 2 ศาสนาแห่งความบริสุทธิ์หลุดพ้น

ขณะที่เรารู้สึกถึงความมีอยู่ของร่างกายนี้  หูก็ยังได้ยินเสียง…ก็สักแต่ว่าเสียง แต่ถ้าความเคยชินเก่าๆ มันชอบคิดนึกปรุงแต่ง มันก็สักแต่ว่าเสียงไม่ได้ มันก็ไปคิด…นกกี่ตัว นกอะไร อุ้ย! อากาศดีจัง ทำไมบ้านเราไม่มีแบบนี้ เมื่อมีความเคยชินเก่าที่จะคิดนึกปรุงแต่งแบบนั้น เราก็ทำได้อย่างเดียวคือ “แค่รู้ทัน” ว่ามันไปปรุงแต่งแล้ว

เราได้ยินเสียงที่เรายินดีพอใจเกิดความสุขขึ้น…ก็ “รู้ทัน” ความสุขเกิดขึ้นในใจแล้ว  เราได้ยินเสียงที่ไม่น่ายินดีไม่น่าพอใจ ความไม่พอใจเกิดขึ้นในใจ… “รู้ทัน” ความไม่พอใจเกิดขึ้นแล้ว ถ้าเรารู้ไม่ทัน ความทุกข์จะเกิดขึ้นตามมา  นี่จึงเป็นสาเหตุที่พระพุทธเจ้าบอกว่า “ไม่มีใครให้ทุกข์กับเราได้นอกจากเราทำเอง” เพราะเรารู้ไม่ทัน เราเข้าไปเป็นกับทุกอารมณ์ทุกความรู้สึก เอามาเป็นของเรา เราจึงต้องทุกข์ เพราะความเห็นผิดว่าอะไรอะไรก็เป็นของเรา เราจึงต้องทุกข์ 

เพราะฉะนั้น รู้สึกตัวไว้  เตือนตัวเองยังเห็นร่างกายนี้อยู่มั้ย ยังรู้สึกถึงความมีอยู่ของร่างกายนี้มั้ย แล้วจิตจะตื่นขึ้น รู้เห็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ตามความเป็นจริงได้ สังเกตมั้ยว่าขณะที่เรารู้สึกถึงความมีอยู่ของร่างกายแบบนี้ จิตใจเป็นยังไง…ปกติ  จิตใจที่สงบเป็นปกติ…เป็นจิตใจที่พร้อมจะรองรับธรรมะ พร้อมจะรู้เห็นทุกสิ่งตามความเป็นจริง เพราะมันไม่มี Bias ไม่มีอคติ ปราศจากกิเลส

ถ้าวันๆ จิตใจไม่ปกติเอาซะเลย นั่นแปลว่า จิตใจนี้เต็มไปด้วยกิเลสทั้งวัน  นั่นแปลว่า จิตใจนี้ไม่มีโอกาสที่จะมีสมาธิได้เลย เพราะมันวุ่นวายทั้งวัน เพราะฉะนั้น รู้จักสภาพจิตใจที่เป็นปกตินี้บ่อยๆ

เบื้องต้นเราจะได้รู้ว่า เมื่อจิตใจนี้เป็นปกติ “ความทุกข์ ไม่มีแล้ว ความบีบคั้นดิ้นรนใดๆ ไม่มีแล้ว ความสุขที่ปราศจากความเสียดแทงใดๆ เกิดขึ้นแล้ว  ในขณะเดียวกันจิตใจที่เป็นปกตินี้เป็นบ่อเกิดของ “สมาธิ”  จิตใจที่อยู่กับเนื้อกับตัวเป็นปกติเป็นบ่อเกิดของสมาธิ เพราะฉะนั้น มันเป็นความพ้นทุกข์ในปัจจุบันนี้ และกำลังเป็นสมาธิที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะนำไปสู่การเจริญปัญญา เห็นทุกสิ่งที่กำลังผ่านเข้ามาในกายในใจนี้ตามความเป็นจริงได้ จะเป็นการเห็นที่ไม่เข้าไปเป็นกับสิ่งนั้นๆ ไม่เข้าไปเป็นแม้กระทั่งความสุข  ความสุขก็เป็นสิ่งที่ต้องถูกเห็นเหมือนกัน

ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งความบริสุทธิ์หลุดพ้น ไม่ใช่ศาสนาของความสุข  บริสุทธิ์หลุดพ้น…หลุดพ้นจากทั้งความสุขและความทุกข์  เข้าถึงบรมสุขที่แท้จริง บรมสุขไม่ใช่ของคู่ ไม่ใช่ความสุขและความทุกข์ที่เกิดคู่ๆ กันเสมอ มันเป็นความหลุดพ้นจากทุกสิ่งทุกอย่าง

ถ้าเราอยากได้ชีวิตที่มีความสุข เราจะได้ชีวิตที่มีความทุกข์มาคู่กันเสมอ  แต่ถ้าเรามีชีวิตที่จะมีปัญญาเห็นตามความเป็นจริง เราจะได้ชีวิตที่หลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง แม้ว่าทุกข์จะมีอยู่ แต่ไม่มีผู้ทุกข์อีกต่อไป

 

ตอนที่ 3 ความไม่ทุกข์เป็นสิ่งที่ต้องฝึกเอาเอง

ถ้ารู้สึกกำลังตั้งใจเพ่งมากเกินไป ต้อง Reset ตัวเองขึ้นมา ลืมตาขึ้นมา…เริ่มใหม่  ไม่ใช่เราตะบี้ตะบันเพ่งไปเรื่อยๆ การปฏิบัติคือ การเริ่มใหม่ทุกขณะ” ชีวิตเรามีแค่ขณะเดียว ขณะต่อไปเป็นชีวิตใหม่ ขณะต่อไปเป็นชีวิตใหม่ ไม่ใช่ชีวิตเดิม  “ทุกขณะเป็นความสดใหม่”  รู้สึกอยู่ขณะนี้…ไม่ต้องไปเสียดายอดีตที่ผ่านไปเมื่อกี้นี้ ไม่ต้องคาดหวังอนาคตจะดีกว่านี้

การที่ได้โอกาสอุปัฏฐากรับใช้ครูบาอาจารย์อยู่ใกล้ชิดมีประโยชน์  อย่างแรก คือ ตัวเราเองจะมี “ความสำรวม” มีสติอยู่กับเนื้อกับตัว เพราะรู้ว่าถ้าหลงไปนี่โดนแน่  ประโยชน์ข้อที่สอง คือ ถ้ามันหลงไปจริงๆ ก็โดนจริงๆ “คอยเตือนให้เรามีสติ”  …ครั้งหนึ่งผมขับรถไปกับหลวงพ่อ ผมก็ขับไปแล้วก็เผลอคิดไปแวบนึง หลวงพ่อก็หันมาหาผมบอกว่า พระอรหันต์ก็ไม่ติดความคิด เนี่ย! ลักษณะแบบนี้ มีคนคอยเตือนเรา การได้ใช้ชีวิตกับผู้มีปัญญา เราจะไม่ใช่ได้แค่คำเตือน เราจะได้วิถีชีวิตทั้งชีวิตว่าคนมีปัญญาเขาใช้ชีวิตเป็นยังไง เขาดำเนินวิถีชีวิตยังไง เขาตอบสนองต่อสถานการณ์ต่างๆ ยังไง เกิดเป็นวิถีแห่งความหลอมรวมขึ้น ภาษาที่ท่านเขมานันทะใช้เรียกว่า “คุรุดอม”  เหมือนเราเป็นลูกอยู่กับพ่อแม่ วิถีแห่งความที่พ่อแม่เป็นจะถ่ายทอดมาที่เราอัตโนมัติ

เพราะฉะนั้น ถ้าเรารู้จักอยู่กับคนที่ฉลาดกว่าเรา ธรรมชาติของวิถีชีวิตความเป็นทั้งหมดของท่านจะค่อยๆ ไหลผ่านมาสู่หัวใจเรา เป็นการเรียนรู้ผ่านกระแสของธรรมชาติ ไม่ใช่การนั่งฟังคบคิดพิจารณาไตร่ตรอง หาเหตุหาผล หาถูกหาผิด มันไม่ใช่เรื่องลี้ลับซับซ้อน หรือว่าเป็นเรื่องไสยศาสตร์อะไร มันเป็นเรื่องธรรมชาติธรรมดา เหมือนเราทำงาน เรามีหัวหน้าที่เก่งๆ เราอยู่กับเขา ความเก่งของเขาก็ถูกถ่ายทอดมาสู่เราอัตโนมัติ

ครั้งหนึ่งมีคนเคยพูดกระแหนะกระแหนตอนที่ผมลาออกจากการทำงานมาปฏิบัติธรรม บอกว่า โอ้! เดี๋ยวนี้เลิกเป็นอาเสี่ยอยู่บ้าน ไปเป็นคนขับรถให้พระ  เนี่ยเขาพูดด้วยความไม่รู้ว่าคุณูปการของการที่เราอยู่กับคนที่มีปัญญามากกว่าเรานี่มันเป็นยังไง  มีความรู้แค่ในกะลาตัวเองที่คิดว่าตัวเองเก่งแล้วฉลาดแล้ว  ทุกวันนี้เจอผมถามว่าปฏิบัติธรรมทำยังไง เพราะชีวิตในโลกทุกข์เหลือเกิน เพราะฉะนั้น กว่าเราจะมีชีวิตอยู่ในที่ตรงนี้ได้ เราทุกคนจะต้องผ่านความรู้สึกการโดนกระทบกระเทียบ โดนต่อว่า โดนไม่เห็นด้วยมากมาย แต่เราต้อง “อดทน” เขายังไม่รู้  แต่เรารู้แล้ว เราทำหน้าที่ของเราให้ดี เวลาเราทุกข์ไม่มีใครช่วยเราได้ มีแต่เราฝึกปฏิบัติธรรมจนไม่ทุกข์ด้วยตัวเราเอง

ความไม่ทุกข์เป็นของส่วนตัว เป็นของที่ต้องฝึกเอาเอง ครูบาอาจารย์เป็นแค่พี่เลี้ยง คอยแนะนำ ให้กำลังใจ เชียร์ แต่จะทำไม่ทำนี่มันบังคับกันไม่ได้  หลายคนที่เป็นลูกศิษย์เก่าๆ อาจจะเถียงเล็กน้อยว่า บังคับไม่ได้จริงเหรอ  ที่บังคับได้ก็เพราะว่าเป็นคนที่สอนได้  มีศรัทธาต่อครูบาอาจารย์  ถ้าคนที่ยังสอนไม่ได้ ยังไม่ปวารณาตัวให้สั่งสอนได้ ก็ไม่บังคับหรอก

 

ตอนที่ 4  ไม่ลืมเนื้อลืมตัว

สังเกตมั้ยพอหยุดพูด ก็พยายามจะรู้สึกตัว มันจะเพ่ง ไม่ต้องพยายาม เอาความพยายามออกไป เหลือ “แค่รู้สึก” แค่รู้สึกถึงความมีอยู่ของร่างกายนี้ แค่ไม่ลืมร่างกายนี้เฉยๆ ไม่มีมากกว่านั้นเลย… “แค่ไม่ลืม

เราใช้ความรู้สึกถึงความมีอยู่ของร่างกายนี้เป็น  Background ไปเรื่อยๆ  ตรงนี้เรากำลังสร้างกำลังให้กับจิต หรือที่เรียกว่า “สมถะ” เป็นความรู้สึกในลักษณะที่ไม่ได้เพ่งไม่ได้จ้อง ไม่ได้พยายาม มันเป็นแค่ความระลึกรู้ถึงความมีอยู่ของร่างกายนี้เฉยๆ ความระลึกรู้ถึงความมีอยู่ของร่างกายนี้เป็น Background แล้วเดี๋ยวอะไรอะไรเกิดขึ้น..ก็แค่รู้ สัญญาความจำได้หมายรู้เกิดขึ้น..ก็แค่รู้ สังขารความคิดเกิดขึ้น..ก็แค่รู้  เวทนาความรู้สึกนึกคิด ความรู้สึกอารมณ์ในใจ ความเจ็บปวดในร่างกายเกิดขึ้น..ก็รู้  แล้วเดี๋ยวจิตไปนึกคิดแล้วลืมร่างกายนี้ไป ก็เห็นว่าวิญญาณก็ไม่เที่ยง  เดี๋ยวก็เป็นผู้รู้ เดี๋ยวก็เป็นผู้หลง จะเป็นผู้รู้ตลอดก็ไม่ได้  เดี๋ยวมันก็เผลอไปคิดไปนึกไปปรุงไปแต่ง

ทำไมถึงบอกว่านั่งแล้วให้รู้อยู่ว่าร่างกายนี้มันนั่งอยู่ หรือว่าให้รู้สึกถึงความมีอยู่ของร่างกายนี้ เพราะมันเป็นบาทฐานสำคัญไปสู่การเจริญวิปัสสนา เมื่อมีอะไรผ่านมาผ่านไปเราจะเห็นได้

เพราะฉะนั้น ทั้งวันส่วนใหญ่ของชีวิตเราตั้งแต่ตื่นจนหลับ เราอาศัยความรู้สึกตัว อาศัยความไม่ลืมเนื้อลืมตัว คำว่า “ไม่ลืมเนื้อลืมตัว” คือ ไม่ลืมกายไม่ลืมใจนี้ กายเป็นยังไงอยู่..ก็รู้  จิตใจเป็นยังไงอยู่..ก็รู้  มันจะปกติ..ก็รู้   มันจะไม่มีอะไร..ก็รู้  มันเฉยๆ..ก็รู้  หมั่นหันกลับมาดู หันกลับมาแล

ถ้าเราไม่หันกลับมาดูกายหรือดูจิตใจ มันก็ไปคิด…ก็แค่นั้นเอง  ล่องลอย แส่ส่าย ฟุ้งซ่าน สมาธิที่ฝึกมาทั้งหมดก็หายไปในพริบตา เหมือนเราทำงานเก็บเงิน ตอนนี้กำลังเก็บเงินอยู่ เก็บเงินเอาไว้ใช้ เอาไว้ใช้ คือ เอาไว้เจริญปัญญา  แต่ถ้าเราเก็บเงินหรือว่ากำลังรู้ร่างกาย เติมกำลังสมาธิอยู่ แล้วพอออกไป ฟุ้งซ่าน ปล่อยล่องลอยไม่สนใจแล้ว  เหมือนเราเก็บเงินแล้วก็เอาไปโยนทิ้ง  เก็บเงินแทบตายแล้วเอาไปโยนทิ้ง  ไม่ได้ใช้

ถ้ามีความเคลิ้มแม้แต่นิดเดียว แล้วสู้ไม่ได้ ให้ลืมตาขึ้นเริ่มใหม่  ไม่ใช่ไปจมอยู่กับมันเป็น 10 นาที 20 นาที คิดว่ารู้สึกตัวอยู่  ไม่เอาแบบนั้น  “เริ่มใหม่” ลืมตา หายใจเข้าลึกๆ ยืดตัวขึ้นตรงๆ

ยิ่งเราอยู่ในความเคลิ้มนานเท่าไหร่ ความเคยชินที่จะอยู่กับมันก็จะยิ่งมากขึ้นเท่านั้น  พอกพูนนิสัยที่จะจมอยู่ในความเคลิ้ม ความหลง เราต้องพอกพูนนิสัยแห่งความตื่น ไม่ใช่ความหลับ

 

ตอนที่ 5  รู้ทัน ไม่เข้าไปเป็นมัน

เรานั่งมาหลายวันแล้ว เวทนาอาจจะมาเร็วขึ้นเรื่อยๆ ก็แค่รู้  มีความกลัวเวทนาเกิดขึ้น ก็ให้รู้ทันว่ามีความกลัวเกิดขึ้นแล้ว…ไม่ใช่เรา  เมื่อไหร่จิตใจผิดปกติ นั่นคือตัวเรากำลังเกิดขึ้น  มีความอยาก มีความไม่อยาก มีความกลัว สิ่งที่รองรับกิเลสเหล่านั้นคือ “ตัวตน”…รู้ทัน  รู้ทันมัน ไม่เข้าไปเป็นมัน เราเป็นผู้สังเกตการณ์ทุกสภาพสภาวะที่กำลังเกิดขึ้น

สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น และเรารับรู้ได้ มองให้เห็นว่ามันเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่กำลังถูกรู้อยู่  มันเป็นแค่บางสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น และถูกรู้อยู่  ไม่ใช่เรา  เข้มแข็งที่จะเห็นมันเป็นแค่อีกสิ่งหนึ่งที่ถูกรู้อยู่  ความเป็นห่วง ความกังวล คิดถึงลูก คิดถึงคนที่บ้าน คิดถึงกิจการ คิดถึงอะไรอะไร เข้มแข็งที่จะเห็นสภาพสภาวะเหล่านี้เป็นสิ่งแปลกปลอมที่เกิดขึ้นมาในจิต  เป็นสิ่งที่ถูกรู้อยู่เหมือนกัน  ไม่ใช่เรา  อยู่ดีๆ มันก็เกิดขึ้น  มีหน้าที่ดู เห็น ไม่ใช่เข้าไปเป็นกับมัน ไม่ใช่เข้าไปเอาจริงเอาจังกับอารมณ์ความรู้สึกใดๆ เมื่อมีอะไรเกิดขึ้น พลิกมันเป็นปัญญาให้ได้ เห็นในมุมของไตรลักษณ์  ทุกสภาพสภาวะ ความรู้สึกอารมณ์ใดๆ เกิดขึ้นจบลงที่ไตรลักษณ์ เห็นมันในมุมมองของไตรลักษณ์  มันจะแสดงให้เราดู

การเอาจริงเอาจังกับทุกสิ่งที่กำลังผ่านเข้ามาในจิตใจในร่างกาย  เป็นเรื่องของคนที่มีมิจฉาทิฏฐิ  แต่การเห็นอยู่โดยไม่เข้าไปเป็น เป็นเรื่องของคนที่มีสัมมาทิฏฐิแล้ว เห็นตามความเป็นจริง 

ฝึกที่จะเห็นความห่วงความกังวลอะไรใดๆ ให้ได้  ถ้ายังติดกับความห่วงความกังวลใดๆ เล็กๆ น้อยๆ ก็ตาม  ขณะที่เรากำลังจะตาย ตายไม่ดีแน่  ฝึกตั้งแต่วันนี้ ฝึกที่จะเห็นสภาพของความห่วงความกังวล ไม่ใช่เป็นไปกับสภาพนั้นๆ ปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่าง  จะปล่อยวางได้อาศัยปัญญาที่รู้เห็นตามความเป็นจริงเท่านั้น ตอนจะตายมันคิดหาเหตุผลไม่ทันแล้วที่จะปล่อยวาง  มีอย่างเดียว คือ จิตใจที่มีปัญญาแล้วมันจะปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่างด้วยตัวมันเอง

คนจำนวนมากคิดว่า โอ้! ต้องห่วงก่อน ต้องกังวล มันต้องอย่างนี้ต้องอย่างนั้นก่อน เรายังมีชีวิตอยู่ …เนี่ย! พลาดซะแล้ว คิดว่าเดี๋ยวตายไปก็หมด ชีวิตนี้ก็จบ ไม่ต้องห่วงไม่ต้องกังวลอะไรแล้ว เข้าใจผิดอย่างรุนแรง มันจะห่วงและกังวลไปจนตาย  แล้วก็ข้ามภพข้ามชาติด้วย นิสัยแบบนี้ไปด้วย  มันไม่จบหรอก

เพราะฉะนั้น ฝึกที่จะรู้ทัน สิ่งที่เราทุกคนเป็นบ่อยมากก็คือ “ความห่วง ความกังวล”…รู้ทันมัน ไม่เข้าไปเป็นกับมัน  พวกเราทุกคนเคยผ่านความรู้สึกห่วงและกังวลมาทุกคนนั่นแหละ  เห็นมั้ยว่าเวลาห่วงอะไรทีกังวลอะไรที มันคิดไม่หยุดเลย อยากจะหยุดก็หยุดไม่ได้ คิดซ้ำไปซ้ำมา ซ้ำไปซ้ำมาอยู่นั่นแหละ  ถ้าเราจะตายแล้วเป็นแบบนั้นจะเป็นยังไง  โอเคมั้ย  ดีมั้ย…บอกว่าตอนตายจะพุทโธ พุทโธ พุทโธ เปิดธรรมะให้ฟัง เปิดบทสวดมนต์เจ้าแม่กวนอิมให้ฟัง คิดว่าจะสงบ…เอาตอนนี้เลย ลองพุทโธซิ…สงบมั้ย? เป็นๆ ยังทำไม่ได้เลย จะตายพะงาบๆ จะไปทำได้ยังไง  ไปหวังเอาน้ำบ่อหน้า ทิ้งปัจจุบัน หวังแต่อนาคตอย่างเดียว  ปัจจุบันไม่ฝึกไม่หัด หวังอนาคตจะไปพุทโธ

 

ตอนที่ 6 ไม่ทิ้งไม่เลิก

ฝึกตั้งแต่วันนี้…ฝึกจนอย่างน้อยมี “สติอัตโนมัติ”  สัมผัสด้วยตัวเอง เราจะรู้เลยว่าจิตที่ออกนอกไปติดอยู่กับอารมณ์อะไรนี่เป็นทุกข์มาก  ทันทีที่สติอัตโนมัติเกิด รู้ว่ามันออกไปแล้วมันจะกลับมาที่เนื้อที่ตัวเอง เราจะพบว่า โอ้โห! เมื่อกี้นี้ทุกข์เยอะมาก ขนาดมันยังไม่ได้ปรุงแต่งอะไรด้วยนะ มันแค่ออกไป คลุกเคล้ากับอะไรไม่รู้ข้างนอก  แต่พอสติอัตโนมัติทำงาน มันกลับมาที่เนื้อที่ตัว เกิดสมาธิตั้งมั่น ความพ้นทุกข์ในขณะนั้นเกิดขึ้นทันที จะเรียกว่าเป็นความสุขก็ได้ เป็นความสุขที่บริสุทธิ์ เพราะเป็น “มหากุศลจิต” ในขณะนั้น

แล้วถ้าเรากำลังจะตาย แล้วเกิดมหากุศลจิตขึ้นในจิตใจ…จะไปดี  จะเกิดอย่างนั้นได้ทำยังไง? ฝึกแบบที่สอนนี่แหละ  แต่อาศัยทั้งชีวิตที่จะฝึกแบบนี้ ไม่ใช่ปีนึงมาเข้าคอร์สทีนึง  ฝึกทั้งวันตั้งแต่ตื่นจนหลับ ไม่ลืมไม่ลืมหน้าที่แบบนี้  บังคับตัวเองจัดสรรเวลาปฏิบัติในรูปแบบ ในชีวิตประจำวันก็ไม่ลืม เมื่อเราเห็นความจริงมากขึ้น คำว่า มากขึ้น นี่ไม่ต้องมากหรอก  มากขึ้น คือ “ขอซักครั้งเดียว ของความจริงเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็ได้  เราจะรู้จักคุณค่าของชีวิตที่แท้จริงว่าเกิดมาทำไม  หน้าที่คืออะไรกันแน่  สิ่งที่ทำอยู่นี่มันใช่มั้ย  มันจะรู้เอง  ไม่ต้องให้ใครบังคับขู่เข็ญเลยว่าต้องออกจากโลกมาปฏิบัติธรรม  มันเห็นด้วยตัวเอง

บางคนก็พยายามทำงาน เก็บเงิน เงินยังไม่พอ เก็บก่อน  ถ้าเราติดตามเศรษฐกิจโลก เราจะเห็นประเทศที่เงินนั้นไร้ค่า เงินเฟ้อเป็นล้านเปอร์เซ็นต์ ไร้ค่าแล้ว เก็บมาแทบตาย อยู่ดีๆ ดันไร้ค่า  เพราะฉะนั้น โลกนี้ไม่มีอะไรที่เรากำลังแสวงหาที่จะเรียกว่า ความปลอดภัย…ไม่มี! สิ่งที่โลกนี้มีอย่างเดียวคือ “ความไม่แน่”  อะไรๆ ก็ไม่แน่

จิตใจตอนนี้เป็นยังไงรู้มั้ย? รู้แล้วก็รู้สึกตัวต่อ  ทำหน้าที่ของตัวเอง  คุยกับใคร  ปฏิสัมพันธ์กับใคร ไม่ใช่มัวแต่ไปดูคนอื่น ดูเค้าว่าทำไมเค้าทำแบบนี้ ทำไมเค้าพูดอย่างนั้น ทำไม่เค้าเป็นอย่างนี้… ดูไปที่ตัวเอง   จิตใจกระเพื่อมหวั่นไหวแล้ว จิตใจไม่พอใจแล้ว จิตใจไม่ชอบแล้ว… “เห็นตัวเอง”  ไม่ใช่ไปวิจารณ์คนอื่น  จะพอกพูนนิสัยส่งออกนอก พูดมาก ช่างวิพากษ์วิจารณ์ ส่งผลให้จิตใจนี้ฟุ้งซ่านหนักกว่าเดิม

ทุกคนก็กำลังซึมซับธรรมะแห่งความเป็นจริงมากขึ้นเรื่อยๆ กำลังเข้าใจอะไรๆ มากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าซาบซึ้งกับความเป็นจริงที่กำลังได้เรียนรู้อยู่แล้วนี้ก็อย่าได้ทิ้งอย่าได้เลิก

 

12-04-2562

Camouflage

 

YouTube : https://youtu.be/3j6Rm4XJIR4

คลิปเสียงธรรมชุดสนามซ้อมรบ ครั้งที่ 1 วันที่ 9-16 เมษายน 2562

ฟังรวมคลิปเสียงธรรมได้ที่ https://goo.gl/RDZFMI

5 ช่องทางติดตามข่าวสาร
1) YouTube: https://goo.gl/in9S5v

2) Facebook : https://www.facebook.com/SookGuySookJai

3) Line : @camouflage.talk
https://line.me/R/ti/p/%40camouflage.talk

4) Podcast: Camouflage – Dhamma Talk
https://itun.es/th/t6Mzdb.c
วิธีการติดตั้ง https://goo.gl/tBMY9S

5) website : https://camouflagetalk.com/