103.ซ้อมรบ 12 – ลีลา

ตอนที่ 1 ลีลาของความรู้สึกตัว

เรานั่งสมาธิ ค่อยๆ นั่งไป นั่งก็แค่นั่ง เราเริ่มนั่ง แล้วก็แค่สังเกตดูลีลา… “ลีลาของความรู้สึกตัว” มันเป็นอย่างไร ค่อยๆ สังเกต ไม่ได้ทำอะไร ความรู้สึกตัวเองก็มีลีลาของมัน สังเกตให้ดี “อ่อนโยน นุ่มนวล เปลี่ยนแปลง” ผมไม่รู้จะใช้คำพูดอะไร นอกจากว่า มันมีลีลาของมัน ลองสังเกตดู เวลาผมพูดว่า มันมีลีลาของมัน นั่นแปลว่า “มันไม่ใช่เรา” แม้กระทั่งความรู้สึกที่เนื้อที่ตัวก็ยังเป็นแค่สิ่งที่ถูกรู้ ลมหายใจที่เปลี่ยนแปลง ความรู้สึกตัวก็เปลี่ยนไป หายใจเข้าความรู้สึกตัวก็อย่างหนึ่ง หายใจออกความรู้สึกตัวก็อย่างหนึ่ง เป็นความรู้สึกตัวเหมือนกันแต่ลีลาไม่เหมือนกัน

ผมให้แค่สังเกต ไม่ใช่รีบไปเพ่งจ้อง “แค่สังเกต” ใครเข้าไปพยายามเพ่งจ้องมากเกินไป ถอยออกมา แต่ถ้าเข้าไปแล้ว ไม่รู้จะทำยังไง ก็ไม่ต้องทำอะไร ก็แค่นั่งรู้สึกตัวไป

สังเกตมั้ยว่า ขณะที่เรามีความรู้เนื้อรู้ตัวอยู่แบบนี้ จิตใจไม่มีความทุกข์ใดๆ เลย เพราะฉะนั้น สังเกตต่อไป สังเกตลีลาของความรู้สึกตัว แค่หายใจเปลี่ยน ความรู้สึกตัวที่มีอยู่ก็เปลี่ยน ยังคงเรียกว่า ความรู้สึกตัวแต่มีลีลาที่เปลี่ยนไป กระทั่งแค่ความรู้สึกตัวยังมีลีลาของมัน มันไม่ได้อยู่กับที่ สังเกตมั้ย มันเป็นทุกขังที่มันทนอยู่สภาพเดิมไม่ได้ มันเป็นอนัตตาเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย หายใจไม่เหมือนเดิม ความรู้สึกตัวก็ไม่เหมือนเดิม แม้ว่าจะรู้สึกตัวอยู่ กระทั่งแค่ความรู้สึกตัว เราก็นำมาเจริญปัญญาได้ มันเพ่งขึ้นมาก็รู้ มันเพ่งได้เอง เป็นเรื่องของจิต ไม่ใช่เรื่องของเรา “เป็นกลาง” กับอะไรๆ ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในตอนนี้

นั่งหลังตรงๆ อาการในร่างกายใดๆ ที่กำลังเกิดขึ้น ถ้ามันยังไม่หายไปก็เป็นเรื่องของมัน ไม่ใช่เรื่องของเรา ยกเว้นถ้าหลับ ให้ตื่นขึ้น ยังคงสังเกตลีลาแห่งความรู้สึกตัวอยู่ ไม่ใช่ปล่อยตัวปล่อยใจ เอาไปคิดล่องลอย การที่เรายังสังเกตลีลาแห่งความรู้สึกตัวนี้อยู่ มันแปลว่า เราตื่นอยู่ “ตานี้หลับแต่ใจตื่น” แต่ถ้าเราไม่เห็นแล้ว ตาก็หลับใจก็หลับ การสังเกตง่ายๆ แบบนี้

เรากำลังเจริญสมาธิ แล้วก็เจริญปัญญา แล้วก็เจริญสติด้วย เมื่อไหร่เกิดมุมมองที่เห็นว่า ความรู้สึกตัวนี้มันก็ไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลง เป็นไปตามเหตุปัจจัย ทนอยู่สภาพเดิมไม่ได้ ในขณะที่เกิดมุมมองแบบนี้ขึ้น ขณะนั้นเรียกว่า ได้ “เจริญปัญญา” แล้ว เพราะฉะนั้น เรื่องของสติ สมาธิ ปัญญา มันก็คือเรื่องเดียวกันทั้งหมด แต่เป็นมุมมองที่กว้างขึ้น เห็นในมุมมองที่ละเอียดขึ้น เป็นความละเอียดที่เรียกว่า “เห็นตามความเป็นจริง” เพราะฉะนั้น ของง่ายๆ ที่ให้ทำแบบนี้ได้ผลอันยิ่งใหญ่

เวทนาเป็นเพียงสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้น ก่อนหน้านี้ไม่มี ตอนนี้มี นี่คือความไม่เที่ยงของเวทนา แล้วมันก็แสดงความที่มันทนอยู่สภาพเดิมไม่ได้ เดี๋ยวมันขึ้นแล้วเดี๋ยวมันก็ลง เดี๋ยวมันขึ้นจนจะทนไม่ได้ อย่าเพิ่งรีบทำอะไร ดูซิมันจะขึ้นจนเส้นขาดเลยมั้ย มันไม่เป็นแบบนั้นหรอก มันลง…สังเกตดู สังเกตไม่ต้องไปจ้องมัน เห็นร่างกายนี้มันนั่งอยู่ไป มันไม่ลืมหรอกเวทนามันเห็นอยู่แล้ว แต่อย่าไปจ้อง เดี๋ยวมันจะเข้าไปเป็น กำลังดูอยู่ห่างๆ เพราะฉะนั้น นอกจากเราจะสังเกตลีลาแห่งความรู้สึกตัวได้แล้ว เราก็ยังได้สังเกตลีลาของเวทนาได้ด้วย เวลามันผ่อนคลายก็เห็นนี่มันเป็นเอง ไม่เกี่ยวกับเราเลย

การทำบุญก็ให้เข้าใจว่า เป็นความรู้จักเสียสละ แบ่งปัน สนับสนุนผู้ที่ปฏิบัติธรรม สนับสนุนความดำรงอยู่ของพุทธศาสนา พระ แม่ชี นักปฏิบัติธรรม อุบาสก อุบาสิกาเหล่านี้เป็นผู้ที่ค้ำจุนให้พระพุทธศาสนายังคงอยู่ ศาสนายังดำรงอยู่ได้ ธรรมะก็ยังดำรงอยู่ได้ คนก็มีโอกาสเข้าถึงสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ได้ พระพุทธเจ้าตรัสเอาไว้ว่า ตราบใดที่ยังมีบุคคลผู้ดำเนินเจริญสติปัฏฐาน 4 อยู่ โลกนั้นไม่ว่างจากพระอรหันต์ เพราะฉะนั้น ศาสนา พระ แม่ชีหรือนักปฏิบัติธรรมทุกคนเป็นสัญลักษณ์สำหรับคนที่ตามหาความจริง เขาจะได้มาถูกที่…จึงว่าเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้า

 

ตอนที่ 2 รางวัลแห่งการอดทน

อย่าตั้งใจมาก” นั่งก็แค่นั่ง เป็นการนั่งแค่มีองค์ประกอบคือ “ความรู้สึกตัว”…มีสติที่จะรู้สึกตัว พูดง่ายๆ ว่า “แค่นั่ง” มีกายอยู่ก็รู้สึก มีจิตใจอยู่ก็รู้สึก ไม่มีอะไรมากกว่านั้น ร่างกายอยู่ในอิริยาบถไหนก็รู้ จิตใจมีอารมณ์ความรู้สึกอะไรก็รู้ รู้แล้วผ่านไป ไม่ใช่ไปจดไปจ้องมันเอาไว้

ขณะที่สภาวะทางกายทางใจนี้ถูกรู้ ขณะนั้นเรากำลังเป็น “ผู้สังเกตการณ์” ในขณะนั้นกำลังเจริญสมถะ แต่เมื่อไหร่ที่เกิดมุมมองของสภาพสภาวะใดๆ ทางกายหรือทางจิตใจ ในมุมของความเปลี่ยนแปลง ทนอยู่สภาพเดิมไม่ได้ มีความบีบคั้น บังคับควบคุมไม่ได้ เป็นไปตามเหตุปัจจัย ขณะนั้นเกิดการเจริญปัญญาขึ้น  จิตจะเจริญปัญญาเอง เราบังคับให้เจริญปัญญาไม่ได้

แต่การฟังธรรมที่เรียกว่า “สุตมยปัญญา” การพิจารณาธรรมในเชิงอนิจจัง ทุกขังหรืออนัตตา เหล่านี้ส่งผลให้จิตใจนี้ค่อยๆ เกิดการเรียนรู้ แล้วเมื่อมันพร้อมด้วยเหตุปัจจัย มันจะเกิดมุมมองของการเจริญปัญญาด้วยตัวมันเอง ภาษาครูบาอาจารย์นี่ท่านเรียกว่า เราอาจจะมีการนำร่องของจิตให้รู้จักว่า อย่างนี้ไม่เที่ยง อย่างนี้เปลี่ยนแปลง อย่างนี้เป็นทุกข์ ทนอยู่สภาพเดิมไม่ได้ อย่างนี้บังคับควบคุมไม่ได้ มันเป็นของมันเอง เช่น นั่งๆ อยู่จิตไปคิดแว้บ รู้ขึ้นมา มันก็คล้ายๆ พากษ์หรือสอนตัวเองว่า คุมไม่ได้ มันทำของมันเอง ลักษณะแบบนี้เรียกว่า นำร่องของจิตให้รู้จักที่จะเห็นในมุมของไตรลักษณ์

พอฟังธรรมแล้วสังเกต…จิตใจสบายขึ้น ก็รู้สบายขึ้น มันเป็นไปตามเหตุปัจจัยไม่เกี่ยวกับเรา เห็นมั้ย จิตจะฟังแล้วพอใจหรือไม่พอใจ จะสบายใจหรือไม่สบายใจ มันก็เรื่องของมัน ไม่เกี่ยวกับเราอยู่เหมือนกัน เรามีหน้าที่แค่รู้ตอนนี้เป็นยังไง

ในบางครั้งจิตใจก็เกิดอารมณ์เศร้าหมองขุ่นมัวด้วยตัวมันเอง แม้กระทั่งแสดงสภาพทุกข์ด้วยตัวมันเอง โดยไม่มีสาเหตุก็มีเหมือนกัน คำว่า โดยไม่มีสาเหตุ ไม่ได้แปลว่าไม่มีเหตุ แต่มีเหตุที่เราไม่รู้ แล้วเราอาจจะไม่จำเป็นต้องรู้ ถ้าเราไม่รู้จริงๆ เพราะไม่ว่ามันจะมีเหตุอะไรก็ตามสภาพสภาวะในจิตใจขณะนั้นๆ จะแสดงความเป็นไตรลักษณ์ให้เราดู มันจะเปลี่ยนแปลง มันจะถูกบีบคั้นให้อยู่สภาพเดิมไม่ได้ แล้วมันจะดับไปในที่สุด มันจะอยู่นานเท่าไหร่ก็ได้ มันเรื่องของมัน ไม่เกี่ยวกับเรา แต่มันจะแสดงความจริงเท่ากัน หัวใจสำคัญคือ มันแสดงความจริงเท่ากัน แต่เราต้องอดทน อดทนที่จะเห็นมันเฉยๆ

มีครั้งหนึ่ง ผมตื่นขึ้นมา จิตใจนี้เต็มไปด้วยความเศร้าหมอง ไม่รู้สาเหตุ ไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไร หรือว่าฝันร้าย แต่ก็คิดไม่ออก แต่ผมก็ไม่ทำอะไร เพราะในใจมันรู้ว่า ห้ามจัดการหรือแทรกแซงอารมณ์ความรู้สึกใดๆ ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ มีหน้าที่แค่ดูมัน แต่คำว่าดูมันไม่ใช่ไปจ้องมัน คือ รู้แล้วว่า จิตใจตอนนี้เป็นแบบนี้ แล้วเราก็นั่งรู้สึกตัวไป ไม่ได้นั่งสมาธิด้วย นั่งเฉยๆ นั่งเฉยๆ ทำกิจวัตรอะไรของเราไป นั่งตั้งแต่เช้าจนถึงเที่ยง ขณะนั้นอยู่ดีๆ ทันทีทันใดจิตก็เปลี่ยนเป็นมีความสุขขึ้นมาเรียกว่า เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือเลย แล้วมันก็เปลี่ยนเอง นี่คือ รางวัลแห่งความอดทนที่จะไม่หนีความทุกข์นั้น มันจะแสดงความจริงให้เราเห็นในที่สุดว่า ที่พระพุทธเจ้าพูดนี่จริง มันเปลี่ยนเองไม่เกี่ยวกับใคร ไม่เกี่ยวกับเรา เราไม่ทำอะไร มันก็เปลี่ยนเอง เพราะฉะนั้น เมื่อมีอะไรเกิดขึ้นในจิตใจนี้ รู้ว่าตอนนี้เป็นแบบนี้ แล้วก็รู้สึกตัวไว้

ขณะที่รู้สึกตัว มันก็รู้อยู่แล้วว่า จิตใจเป็นยังไง กายกับใจมันเนื่องกัน ถ้าเราไม่ลืมตัว มันก็ไม่ลืมใจหรอก มันเป็นยังไงอยู่ ก็ยังรู้อยู่ แต่แค่เราไม่ใช่ไปจดจ้องกับมัน มึงจะดับหรือยัง มึงจะเปลี่ยนมั้ย อย่างนี้ไม่ใช่ เราดูมันอยู่ห่างๆ “การดูอยู่ห่างๆ” ก็คือเรารู้สึกตัวอยู่ ไม่ได้เข้าไปจดจ้องกับมัน ใช้ความรู้สึกตัว…มันจะห่างเอง แล้วจะไม่เข้าไปยุ่งกับมัน เพราะจิตใจจะเริ่มมีกำลังของสมาธิขึ้นจากความรู้สึกตัว เราจะไม่หลง ไม่เผลอเข้าไปจัดการแทรกแซง ทำให้มันดีกว่านี้ ทำให้มันหายไป เพราะเราไม่ได้เข้าไปเป็นกับมัน เพราะฉะนั้น “ร่างกายนี้เป็นบาทฐานสำคัญ อย่าลืมตัว

 

ตอนที่ 3 ขุมกำลังของสมาธิ

ในตอนที่จิตใจไม่มีเรื่องวุ่นวายอะไรมาก นอกจากเราใช้ร่างกายนี้เป็นขุมกำลังของสมาธิที่เรียกว่า “สมถะ”แล้ว เรายังใช้จิตใจนี้ ด้วยการหันกลับมาดูจิตใจบ่อยๆ เมื่อเราหันกลับมาดูจิตใจ ส่วนใหญ่จะพบว่า มันปกติอยู่ “จิตใจที่ปกตินี่เองเป็นกำลัง” เพราะเป็นจิตใจที่ไม่แส่ส่าย ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ออกนอก ไม่ประกอบด้วยกิเลส เป็นจิตใจที่พร้อมจะรู้ จะเห็นอะไรที่กำลังเกิดขึ้นตามความเป็นจริง

ถ้าเราไม่หันกลับมาดูจิตใจเนืองๆ จิตใจนี้จะเป็นยังไง สังเกตดูเลย…มันจะล่องลอยตามความเคยชินเก่าๆ แล้วถ้าเราลองฝึกแบบที่บอก “รู้สึกตัว พ้นออกจากโลกของความคิดปรุงแต่งทั้งปวง ไม่ตามความคิดไป หันกลับมาดูจิตใจบ่อยๆ นึกขึ้นได้…หันกลับมาดูจิตใจเป็นยังไง” ลองทำดู ความฟุ้งซ่านทั้งหลายจะลดลงในทันที “ความฟุ้งซ่านเป็นปฏิปักษ์กับสมาธิ” เมื่อความฟุ้งซ่านลดลงแน่นอนว่า กำลังของสมาธิจะเพิ่มขึ้น

เพราะฉะนั้น ถ้าเราคอยรู้กาย หันกลับมาดูจิตใจอยู่เนืองๆ ทั้งวัน เรากำลังสะสม “ขุมกำลังของสมาธิ” แต่ถ้าเรารู้แต่กาย ปล่อยจิตใจล่องลอย มันเหมือนเราเติมน้ำลงในตุ่มที่มันมีรูรั่ว เติมเท่าไหร่ มันก็รั่วเท่านั้น เพราะมันไม่รู้จักดูจิตใจ ปล่อยมันล่องลอยฟุ้งซ่าน ฉะนั้น อาศัยร่างกายเพื่อจะมีกำลังที่จะรู้จักจิตใจได้ แล้วมันก็จะวนไปวนมาอยู่อย่างนี้แหละ กลายเป็น “ทั้งกายทั้งจิตนี้กลับกลายเป็นขุมกำลังของสมาธิให้กับเรา” แล้วเมื่อมีสมาธิก็จะเป็นเหตุให้เกิดการเจริญปัญญาเห็นตามความเป็นจริงได้

แต่ถ้าตอนไหนดูจิตใจไม่รู้เรื่อง ดูแล้วงงๆ มันยังไงกัน…มันมีบางช่วงเหมือนกันที่สับสน ไม่ต้องพยายามจะดูจิตใจทั้งนั้น ให้รู้สึกตัวเข้าไว้ เห็นร่างกายในอิริยาบถต่างๆ เข้าไว้ เดี๋ยวมันจะเข้าใจเองว่า เราจะเห็นจิตใจยังไง จะเห็นอารมณ์ความรู้สึกได้

 

ตอนที่ 4 ปฏิบัติอย่ามัวแต่คิด

คนที่เข้าใจธรรมะแล้ว เวลาให้มาสอนเนี่ยมันสอนยากเหมือนกัน มันคล้ายๆ เราเป็นคนไทย เราต้องไปสอนภาษาไทยให้ฝรั่ง เราพูดภาษาไทยจนเป็นชีวิตจิตใจเราไปหมดแล้ว แต่ต้องไปสอนให้เค้าเข้าใจ มันไม่ง่ายนะ ธรรมะก็เหมือนกัน พยายามจะอธิบายยังไง มันก็ไม่ใช่เรื่องที่จะเข้าใจได้ง่ายๆ มันเป็นศิลปะมาก เราต้องฟังแล้วก็ไปลองทำดู เหมือนให้เราไปสอนภาษาไทยให้ฝรั่ง…มันมีอะไรนะ…ไก่จิกเด็กตายบนปากโอ่ง  ไวยากรณ์ของภาษาไทย เรายังไม่รู้เรื่องเลย เราพูดได้แต่สอนไม่ได้

ครูบาอาจารย์สมัยก่อนยุคแรกๆ เวลาสอนปีแรก ท่านจึงสอนลูกศิษย์ท่านให้พุทโธไว้ สอนคำเดียว “พุทโธ” อยู่หนึ่งปี ปีหน้าเจอกันใหม่ เอ้า “รู้สึกตัวไว้”…ไม่พูดเยอะนะ มายุคนี้ ลองบอกพุทโธไว้ปีนึง…ไม่มีใครทำ เพราะฉะนั้น สำคัญสุดคือ เราต้องลงมือปฏิบัติด้วยตัวเราเอง แล้วมีครูบาอาจารย์ที่เราจะถามไถ่ได้ปรึกษาได้ นำทางชีวิตเราได้ อย่ามัวแต่คิด ลงมือทำตั้งแต่วันนี้

เมื่อเราปฏิบัติ คำถามเกี่ยวกับการปฏิบัติจะเกิดขึ้น จะไม่ใช่คำถามเกี่ยวกับความคิด จะมีผลการปฏิบัติแล้วมาถาม ไม่ใช่ไปคิดสงสัยแล้วมาถาม ถ้าแบบนั้นไม่ตอบ ตอบเท่าไหร่ไม่มีวันจบ บางคนมาถามไปไกลเลยว่า “ตอนตายจะวางจิตยังไง” โอ้โห ยังไม่ทันตายเลย ผมอยากจะบอกว่า ให้รีบปฏิบัติ มันวางจิตไม่ได้หรอก มันเป็นไปตามธรรมชาติของจิต ถ้าไม่เคยฝึก มันก็ไปเป็นตามธรรมชาติของความหลง ของกิเลส ถ้าเคยฝึก มันก็เป็นไปตามธรรมชาติที่เคยฝึกเท่าที่ฝึกได้ เนี่ยเราไปหวังน้ำบ่อหน้า ปัจจุบันนี้รีบๆ ปฏิบัติ ถ้าทำดีที่สุดแล้ว ทุ่มเททั้งชีวิตที่เหลือแล้ว วันสุดท้ายมันจะเป็นยังไง เราก็ไม่เสียใจเพราะเราได้ทำดีที่สุดกับชีวิตนี้แล้ว เราทำดีกว่านี้ไม่ได้แล้ว เราสละทั้งชีวิตมาปฏิบัติธรรม มันได้แค่นี้ก็แค่นี้ แต่ถ้าเรามัวเอ้อระเหยไปทำอย่างอื่นก่อน วันสุดท้าย…ไม่มีใครช่วยเราได้เหมือนกัน ไปตามกรรมของเราเอง เราเลือกเอง ถ้าจะต้องเสียใจก็เสียใจเพราะตัวเองเลือกเอง

รู้สึกถึงความมีอยู่ของร่างกายเอาไว้ อะไรจะเกิดขึ้นก็แค่รู้ แล้วมันจะผ่านไปให้ดู ไม่ต้องสนใจเวลา เวลาเป็นเรื่องของผม (ที่จะตีกระดิ่งจบการนั่งสมาธิร่วมกัน) ปัจจุบันเป็นเรื่องของคุณ แค่รู้สึกถึงความมีอยู่ของร่างกายนี้ เราจะเห็นทุกสิ่งทุกอย่างตามเป็นจริงเอง เห็นได้มั้ย ความคิด อารมณ์ ความรู้สึก ถ้าเราไม่หลงไปไหน มันเห็นได้ เวทนาที่เกิดขึ้นก็แค่รู้ รู้แต่ไม่ต้องไปจดจ้องกับมัน รู้ว่ามีอยู่ แล้วหน้าที่เราก็แค่รู้สึกถึงความมีอยู่ของร่างกายต่อไป เวทนามันก็อยู่อย่างนั้นของมันนั่นแหละ เราจะรู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงของมันได้ บางคนอาจจะรู้สึกถึงความดับไปของมันได้ อดทนสักหน่อยแลกกับความจริงที่จะได้เห็น

บางคนอาจจะคิดว่า ผมนั่งบนอาสนะนี้ไม่เมื่อย ผมเคยคิดเหมือนกันว่า หลวงพ่อไม่เมื่อยเพราะมีเบาะ แต่จะบอกว่า เมื่อยแล้วก็เจ็บเหมือนกัน แต่เวทนานั้นจะดับไป จะเปลี่ยนแปลงไป ถ้าร่างกายที่ผมมีนี้ เมื่อมีเวทนาเกิดขึ้น แล้วมันเปลี่ยนแปลงให้เห็นได้ มันดับไปให้เห็นได้ ร่างกายทุกคนก็เหมือนกัน จะเห็นได้เหมือนกัน เพราะร่างกายนี้เป็นแค่ธาตุ 4 ดินน้ำลมไฟเหมือนกันทุกคน

 

11-04-2562

Camouflage

 

YouTube : https://youtu.be/8lGz7-2UVio

คลิปเสียงธรรมะทั้งหมดของอาจารย์ Camouflage : https://goo.gl/RDZFMI

======================

5 ช่องทางการอ่านและฟังธรรม

1) Facebook : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
http://www.facebook.com/sookguysookjai

2) Line : @camouflage.talk
https://line.me/R/ti/p/%40camouflage.talk

3) YouTube : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
https://goo.gl/in9S5v

4) Website: https://camouflagetalk.com/

5) Podcast : Camouflage – Dhamma Talk
https://itun.es/th/t6Mzdb.c
วิธีการติดตั้ง https://goo.gl/tBMY9S