102.ซ้อมรบ 11 – ความสงบท่ามกลางความเคลื่อนไหว

ตอนที่ 1 ความสงบท่ามกลางความเคลื่อนไหว

เวลาเดิน เราก็เห็นร่างกายมันเดิน หยุดก็เหมือนกันก็เห็นร่างกายนี้มันหยุดอยู่ ระหว่างเราเดินไปเดินมา หยุดอยู่ จิตใจนี้ก็เปลี่ยนแปลง เดี๋ยวก็เพ่ง เดี๋ยวก็สบาย เดี๋ยวก็อึดอัด เดี๋ยวก็ผ่อนคลาย ก็รู้มันเป็นอย่างนั้น ไม่ต้องหาสาเหตุทำไมเป็นแบบนี้ทำไมเป็นแบบนั้น ไม่ต้องพยายามจะแก้ไขให้มันเป็นแบบที่ตัวเองต้องการ ถ้าทำแบบนั้นเราไม่ได้ความจริง เพราะมีแต่เรากำลังอยากได้บางสิ่งบางอย่าง จิตใจมันเกร็งขึ้นมาเอง ก็รู้มันเป็นแบบนั้นเอง มันทำของมันเอง

เวลาหยุดยืน ลองหายใจออกยาวๆ ความรู้เนื้อรู้ตัวมันจะเกิดขึ้น ความผ่อนคลายมันจะเกิดขึ้น

อย่าพยายามจะให้มันเป็นยังไงตามที่เราอยากให้เป็น อันนั้นเป็นกับดัก ไม่ใช่วิถีทางแห่งการรู้ตามความเป็นจริง ยิ่งอยากจะให้เป็นยังไงเท่าไหร่ จะยิ่งอึดอัดมากเท่านั้น

เราเห็นร่างกายมันเดิน เห็นไอ้โครงนี้มันเดิน มันหยุดอยู่ ระหว่างที่เราเห็นร่างกายนี้กำลังเดิน กำลังเคลื่อน กำลังหมุน กำลังหยุด บางทีเราก็ไปเห็นอิริยาบถย่อยๆ ของร่างกายด้วย เช่น เท้าที่เคลื่อนไป ตาที่กระพริบอยู่ จิตใจที่เปลี่ยนแปลง ก็เห็นสลับกันไปมาแบบนั้น ถ้ายังไม่เกินกาย ไม่เกินใจนี้ออกไป ถือว่าใช้ได้

แค่เห็น ไม่มีการทำอะไร แค่รู้ แค่เห็นอย่างที่มันเป็น

ถ้าเราเห็นร่างกายนี้มันเดินอยู่ เห็นความเปลี่ยนแปลงของจิตใจอยู่เนืองๆ เห็นอิริยาบถย่อยที่กำลังเกิดขึ้น สลับกันไปมา เราจะรู้จัก “ความสงบท่ามกลางความเคลื่อนไหว”  ไหลออกไปแว๊บรู้ รู้แล้วก็กลับมารู้สึกร่างกาย มันอยู่ท่าไหนก็รู้ อิริยาบถย่อยที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุดระหว่างเราเดินคือ กระพริบตา กระพริบตาตั้งแต่เด็กเราไม่เคยรู้ เราไม่เคยเห็นว่า ตามันกระพริบเอง สั่งให้มันไม่กระพริบก็ไม่ได้ ถ้าร่างกายรอให้เราสั่งมันทำงานอย่างนี้อย่างนู้นอย่างนั้น มนุษย์สูญพันธุ์ไปแล้ว เพราะจริงๆ แล้วเราโง่กว่ามันเยอะ

ความสงบท่ามกลางความเคลื่อนไหวนี้เป็นสภาพที่ตื่นรู้อยู่ จิตใจไม่ซึมเศร้า เป็นจิตใจที่พร้อมจะรู้ตื่นเบิกบาน พร้อมจะรู้เห็นร่างกายและจิตใจนี้ตามความเป็นจริง

 

ตอนที่ 2 เหตุปัจจัย

ถ้าเดินแล้วเริ่มซึม ลองเบิกตากว้างๆ เราจะรู้สึกได้ว่า เมื่อกี้นี้ซึม จะสังเกตว่า ถ้าเราเห็นร่างกายมันเดิน เห็นร่างกายอยู่เนืองๆ ความคิดฟุ้งซ่านมันจะน้อยหรือไม่ก็สั้น ความคิดมันน้อยลงเพราะจิตใจนี้เริ่มมีกำลัง อย่างนี้เราก็รู้ได้ว่า ความคิดมันน้อยลง ก็มีเหตุปัจจัยคืออะไร คือจิตใจนี้มีกำลังมากขึ้น จิตใจมีกำลังมากขึ้นได้ ก็เพราะเรารู้เนื้อรู้ตัวอยู่เนืองๆ จะเห็นได้ว่า “ทุกสิ่งนั้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย” เราจะสั่งให้มันไม่คิดได้มั้ย ถ้าเราไม่รู้จักที่จะรู้สึกตัวให้จิตมีกำลัง นั่งพูดกับมันทั้งวันว่า อย่าคิดเยอะ อย่าคิดเยอะ เป็นไปได้มั้ย นี่เขาเรียกว่า “ควบคุมบังคับบัญชาไม่ได้” สั่งไม่ได้ อาศัยสร้างเหตุที่ถูกต้องไปเรื่อยๆ ผลปรากฏให้เราเห็นเอง ศาสนาพุทธจึงเป็นศาสนาของการลงมือทำ ไม่ใช่ศาสนาของความเชื่อ ลงมือทำแล้วประจักษ์แจ้งความจริงด้วยตัวเอง

บางทีก็เหม่อไป รู้ทันมั้ย ภาษาไทยเรียกเหม่อลอย รู้สึกมั้ย มันลอยออกไปเลย ลืมเนื้อลืมตัว หายไปเลย สังเกตมั้ยว่า สมัยที่เรายังเด็กๆ เวลาเราตกใจ พ่อแม่ก็จะมาลูบตัว ลูบหน้าอกเรา แล้วบอกว่า “ขวัญเอ๋ยขวัญมา ให้มันมาอยู่กับเนื้อกับตัวนะ” พ่อแม่เราสอนธรรมะเราตั้งแต่เด็ก แต่เราไม่รู้เรื่อง

รู้สึกอิริยาบถในร่างกาย หัดสังเกตอิริยาบถใหญ่ อิริยาบถย่อย เดี๋ยวจิตมันจะจำสภาวะแบบนั้นได้ พอมันหลงไป แล้วเกิดการเคลื่อนไหวขึ้น หรือเกิดการกระพริบตาขึ้น หรือเกิดอะไรขึ้นกับร่างกาย มันจำได้ มันจะกลับมาเองเลยทันที นี่เขาเรียกว่า “สติอัตโนมัติ” มันเริ่มเกิด

อย่าหลงไปอยู่ในความคิดนาน รู้สึกตัวไว้ เวลาเดินไม่ใช่เดินทิ้ง เดินขว้าง เดินแล้วให้เห็นร่างกายนี้มันเดินอยู่ ทุกก้าวย่างเป็นการเรียนรู้ ไม่ใช่การปล่อยปละละเลย

เวลานั่ง เราตื่นอยู่ท่ามกลางความสงบ ความสงบเป็นสิ่งที่ถูกรู้ เราไม่ได้เป็นความสงบนั้น อย่าเข้าไปเป็นอะไรกับอะไรมีหน้าที่แค่รู้ แค่เห็นว่า ตอนนี้เป็นแบบนี้

คำถามเดียวที่เราจะคอยถามตัวเองคือ “ตอนนี้ยังเห็นอยู่มั้ย” มีร่างกายยังเห็นร่างกายอยู่มั้ย มีจิตใจ มีความรู้สึกนึกคิดอารมณ์ต่างๆ ที่มันกำลังเกิดขึ้น เห็นอยู่มั้ย คำว่าเห็นอยู่มั้ยแปลว่า เราไม่ได้เข้าไปเป็นกับมัน เห็นสิ่งเหล่านี้เหมือนเป็นคนอื่น ไม่ใช่เรา

 

ตอนที่ 3 ปัญญา 3 อย่าง

เราจำเป็นต้องฟังคำสอนเดิมๆ ซ้ำไปซ้ำมาทั้งวันพร้อมทั้งกำลังปฏิบัติ เห็นตามที่ได้รับคำสอนนั้นๆ ด้วยตัวเอง ความเข้าใจที่แท้จริงจึงจะเกิดขึ้น นี่คือความสำคัญของปัญญา 3 อย่างที่พระพุทธเจ้าพูดถึง อันแรก “สุตมยปัญญา” คือ ปัญญาจากการได้ยิน ได้ฟังธรรมะหรือคำสอนของครูบาอาจารย์ ของพระพุทธเจ้า เมื่อฟังแล้วอย่างที่สอง ท่านก็บอกว่ามี “จินตามยปัญญา” คือ ปัญญาจากการฟังแล้วนำไปคิดพิจารณาในธรรมนั้นๆ ให้เกิดความเข้าใจว่าจะต้องปฏิบัติยังไง เมื่อเข้าใจแล้ว รู้หลักแล้ว ก็เกิดข้อที่สาม ข้อสุดท้ายเรียกว่า “ภาวนามยปัญญา” คือ ปัญญาจากการลงมือภาวนา ที่พวกเรากำลังทำกันอยู่ตอนนี้นี่แหละ

ปัญญาทั้ง 3 อย่างนี้เราจำเป็นจะต้องใช้ตลอดชีวิตการปฏิบัติธรรม ใช้ด้วยความพอดี ไม่มากไป ไม่น้อยไป โดยเฉพาะการคิดพิจารณา การฟังให้มันพอดี ส่วนการภาวนายิ่งมากยิ่งดี ภาวนาจนมันหลอมรวมเข้าไปในชีวิตประจำวันของเราให้ได้ จนชีวิตทั้งชีวิต เหลือสิ่งที่เราคิดถึงอยู่เสมอคือ วันนี้ ตอนนี้ นาทีนี้ วินาทีนี้ เราภาวนาหรือยัง ย่อลงมาก็คือว่า เรายังรู้กายและรู้ใจนี้ตามความเป็นจริงอยู่หรือเปล่า หรือเราหลงตนลืมตัวไปแล้ว หลงตนคืออะไร หลงว่ามีเราจริงๆ หลงว่ามีอัตตาตัวตนจริงๆ เมื่อหลงตนมันก็ย่อมลืมตัว เมื่อลืมตัวมันก็หลงตน อย่าเป็นคนที่ถูกจัดอยู่ในประเภทแบบนั้น

อากาศร้อน อากาศเย็นก็เป็นเพียงสภาวะอันหนึ่งที่มาสัมผัสร่างกาย ไม่ใช่เราร้อน ไม่ใช่เราเย็น ค่อยๆ เห็นตามเป็นจริงไปเรื่อยๆ “เห็นทุกสิ่งเป็นสิ่งที่ถูกรู้” เราจะเข้าใจมากขึ้น เมื่อสิ่งที่เราเคยเข้าใจว่า เป็นเรา เป็นของเรา มีเราเข้าไปพัวพันในทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นความเห็นผิดทั้งหมด เราจะค่อยๆ เข้าใจว่า สิ่งที่เราคิดว่าเป็นของเรา เป็นเรามาทั้งชีวิต เป็นสิ่งที่เราเข้าใจผิดมาตลอดชีวิตโดยที่ไม่มีใครเคยบอกเราเลย เราต้องทุกข์กับความเข้าใจผิดแบบนั้นมาทั้งชีวิต เรามีโอกาสจนถึงวันนี้ที่จะได้รู้ได้เห็นทุกสิ่งตามความเป็นจริงได้ สิ่งเดียวที่ผมขอคือ อย่าทิ้งความจริงที่ได้รู้แล้ว อย่าเลิก อย่าละเลย อย่าลดละ ที่จะเปิดโอกาสให้ตัวเองอยู่ในเส้นทางแห่งความจริงแบบนี้ไปเรื่อยๆ

 

ตอนที่ 4 ทำหน้าที่ ไม่คาดหวัง

มีคนหลายคนในที่นี้ที่ได้คุยกับผม ปฏิบัติกันมาไม่ถึงปีหรอก แต่เขาค่อยๆ เห็นความจริงมากขึ้นเรื่อยๆ เห็นความจริงที่ผมบอกนี้ เป็นการเห็นอย่างอัศจรรย์ เห็นด้วยตัวเอง อธิบายยังไง ก็ไม่สามารถอธิบายความมหัศจรรย์นั้นออกมาได้หมด เพราะพระพุทธเจ้าบอกว่า “สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่รู้ได้เฉพาะตน” บรรยายยังไงก็ไม่มีทางเหมือน แต่เรารู้เองได้ ว่าความจริงที่แท้มันเป็นแบบนี้ และเห็นได้ผ่านการภาวนาเท่านั้น

คนจริงจะได้ของจริง” ได้รู้จัก ได้สัมผัสของจริง เพราะฉะนั้น ถ้าเราปฏิบัติถูก ให้เวลากับมัน ตั้งแต่ตื่นจนหลับ หรือที่ผมบอกว่า “ชีวิตที่เหลือทั้งชีวิตคือการปฏิบัติธรรม” ความจริงจะถูกเปิดเผยออกมาด้วยระยะเวลาไม่นาน 7 วัน 7 เดือน 7 ปี ไม่นานหรอก…ตอนนี้ผ่านมากี่ปีแล้ว อายุเท่าไหร่แล้ว นึกกลับไปสิว่านานมั้ยที่อยู่มา เพราะฉะนั้น แค่ 7 วัน 7 เดือน 7 ปีสั้นนิดเดียว ทำให้มันจริงก็พอ

พระพุทธเจ้าใช้เวลาแค่คืนเดียว เพราะท่านรู้ว่า ทางสายกลางคืออะไร ท่านใช้เวลาแค่คืนเดียว เปลี่ยนจากมนุษย์ปุถุชนเจ้าชายสิทธัตถะกลายเป็นพระพุทธเจ้า เรารู้ไว้ว่ามันไม่ยาก แต่ไม่ต้องคาดหวัง แค่ทำหน้าที่ มีหน้าที่แบบนี้ รู้เนื้อรู้ตัว รู้กายรู้ใจ รู้อย่างที่มันเป็น รู้ทั้งวันเนืองๆ

สมัยผมปฏิบัติธรรม มีคนเคยบอกพูดกับผมว่า ผมไม่ได้เกิดมาเป็นพระพุทธเจ้าไม่ได้มีหน้าที่แบบนั้น ผมมีหน้าที่อยู่ในโลก ผมตอบกลับไปว่า “เราทุกคนมีความเป็นพระพุทธเจ้าอยู่ในตัวอยู่แล้ว แค่เราใช้ชีวิตทั้งชีวิตที่เหลืออยู่ ปลุกความเป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมาให้ได้ ความเป็นพุทธะจะเปิดเผยตัวออกมา อยู่ที่เราเอาหรือไม่เอาแค่นั้น เราจะทำหรือไม่ทำแค่นั้น มันมีอยู่ในเราทุกคนอยู่แล้ว”

หายใจลึกๆ ให้มันตื่นขึ้น อดทนอีก 5 นาที แต่ถ้าเห็นตามเป็นจริงอยู่ ก็ไม่ต้องอดทน เพราะไม่มีเวลา อยู่กับปัจจุบัน ไม่ใช่ตีระฆังแล้วเลิกปฏิบัติ ตีระฆังเสร็จ ก็ยังต้องปฏิบัติต่อ ปัญหาไม่ใช่การปฏิบัติ ปัญหาคือความอยากที่จะเลิก นั่นคือตัณหา

 

11-04-2562

Camouflage

 

YouTube : https://youtu.be/7JydKmQwqfY

คลิปเสียงธรรมะทั้งหมดของอาจารย์ Camouflage : https://goo.gl/RDZFMI

======================

5 ช่องทางการอ่านและฟังธรรม

1) Facebook : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
http://www.facebook.com/sookguysookjai

2) Line : @camouflage.talk
https://line.me/R/ti/p/%40camouflage.talk

3) YouTube : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
https://goo.gl/in9S5v

4) Website: https://camouflagetalk.com/

5) Podcast : Camouflage – Dhamma Talk
https://itun.es/th/t6Mzdb.c
วิธีการติดตั้ง https://goo.gl/tBMY9S