97.ซ้อมรบ 6 – หนา

ตอนที่ 1 เรียนรู้ตัวเอง

การนั่งสมาธินั้นเราแค่นั่ง ไม่ต้องพยายามจะทำให้มันสงบ ไม่ต้องพยายามทำให้มันไม่ฟุ้งซ่าน แค่นั่งรู้สึกตัวไป เห็นร่างกายที่มันกำลังนั่งอยู่ เห็นด้วยความรู้สึกไม่ใช่เห็นด้วยตาจริงๆ มีหน้าที่ตอนนี้แค่นั่ง แล้วรู้สึกถึงความมีอยู่ของร่างกายนี้ ไม่มีหน้าที่จัดการให้จิตใจนี้เป็นยังไง ปล่อยให้จิตใจนี้ทำงานตามธรรมชาติ แล้วแค่รู้ มันหลงไปแล้วก็รู้ มันหลงไปแล้วก็รู้ ไม่ใช่ควบคุมให้มันอยู่กับที่ ไม่ใช่ทำให้มันไม่หลง เหล่านั้นคือ “ตัวตน” ความเป็นคนอยากจะดี ทำแบบนั้นเป็นได้แค่คนดี พ้นไปจากความเป็นตัวตน ความเป็นคนไม่ได้

อย่าลืมว่าศาสนาพุทธเราสอนความจริงสูงสุดด้วยการเห็นตามเป็นจริง เห็นตามเป็นจริงว่าร่างกายและจิตใจนี้ เปลี่ยนแปลง ทนอยู่สภาพเดิมไม่ได้ บังคับควบคุมอะไรไม่ได้ เป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่มีใครคนใดเข้าไปเกี่ยวข้องกับกระบวนการตามธรรมชาติเหล่านั้น “เรามีหน้าที่เป็นแค่ผู้สังเกตการณ์ ไม่ใช่ผู้จัดการ” ถ้าเป็นผู้จัดการต้องกลับไปทำงานที่บ้าน เป็นนักปฏิบัติธรรมเราเป็นผู้สังเกตการณ์ ไม่ทำอะไร แล้วความจริงที่เรียกว่า “ไตรลักษณ์” ของกายของใจนี้จะค่อยๆ เปิดเผยออกมา เราจะเห็นมันได้ ขอแค่ “อดทน” ที่จะเป็นแค่ผู้สังเกตการณ์ให้ได้

ร่างกายเป็นยังไงอยู่รู้มั้ย นั่งอยู่ท่าไหนรู้มั้ย มีร่างกายอยู่ท่อนเบ้อเร่อลืมไปแล้วมั้ย เวลานี้ไม่ใช่เวลาคิดเรื่องงาน คิดเรื่องทางโลก คิดถึงบ้าน คิดถึงคนอื่น เป็นเวลาเรียนรู้ตัวเอง มาเข้าคอร์สเพื่อฝึกที่จะเรียนรู้สิ่งที่ไม่เคยเรียนเลยในชีวิตคือ ตัวเอง วิพากษ์วิจารณ์คนอื่นได้หมดยกเว้นตัวเอง กูดีที่สุดอยู่คนเดียว เพราะฉะนั้น “เรียนรู้ตัวเอง” เห็นคนที่เลวร้ายที่สุดก็คือ เราเองนี่แหละ จิตใจเต็มไปด้วยอกุศล วิพากษ์วิจารณ์ เต็มไปด้วยมานะทิฏฐิ กูดีกว่าคนอื่นเสมอ เชื่อความคิดตัวเอง กูคิดดีกว่าคนอื่นเสมอ เก่งอยู่คนเดียว เห็นว่าอัตตาตัวตนที่มีอยู่ในใจตลอดเวลานี้มันน่าเกลียดขนาดไหน…รู้ทัน ถ้าเราปฏิบัติธรรมจริง เราจะรู้ว่าคนที่น่าเกลียดที่สุดก็คือ ตัวเราเองนี่แหละที่มันเต็มไปด้วยกิเลส

 

ตอนที่ 2 เลือกเอง

โอกาสเกิดเป็นมนุษย์นี้ยากแสนยาก มนุษย์ในโลกมีแค่ 6-7พันล้านคน เอาแค่มดก็ไม่รู้มีเท่าไหร่แล้ว มนุษย์อาจจะเป็นแค่ 0.00001 เปอร์เซ็นต์ของสิ่งมีชีวิตทั้งโลกนี้ มนุษย์ปุถุชนทั่วไปซึ่งมีโอกาสน้อยอยู่แล้วที่จะได้เกิดขึ้นมา แต่ความเป็นพระอริยบุคคลยิ่งน้อยลงไปอีกเพราะคนในโลกนั้น “ลืมตัว หลงตัว” ลืมตัวก็มี หลงตัวเองก็มี ด้วยนิสัยแบบนั้นของมนุษย์ทุกคนจึงเป็นได้แค่ปุถุชน

ปุถุชนแปลว่าอะไร แปลว่า “คนที่หนา” หนาด้วยอะไร หนาด้วยกิเลส จิตใจมีแต่ความมืดบอด หลงตนลืมตัว เขาเรียกว่า คนหนา แสงสว่างข้างนอกจะมากเท่าไหร่ก็เข้าไปไม่ได้ ชีวิตจึงมีแต่ความทุกข์เพราะอยู่แต่ในความมืด

แต่เราทุกคนในที่นี้มีโอกาสที่จะไม่ทุกข์อีกเลย เรียกว่าเข้าถึงกระแสความเป็นพระอริยบุคคล ไม่ยากถ้าเรารู้จักจะทุ่มเทชีวิตที่เหลือทั้งหมดในการปฏิบัติธรรม แต่ถ้าเราจะปฏิบัติบ้างพอให้ชีวิตได้ดีขึ้นบ้าง ก็ได้แค่นั้นแหละ ดีขึ้นหน่อย มันอยู่ที่เราหวังแค่ไหน หรือพูดให้ลึกซึ้งกว่านั้นคือว่า เราฉลาดแค่ไหน เรามีปัญญาแค่ไหน เราเป็นบัวเหล่าไหน เพราะไม่มีใครบังคับเราได้ “เราต้องเลือกเอง

เหมือนพระพุทธเจ้าก็เลือกเอง เจ้าชายสิทธัตถะเลือกเอง คนในวัง พ่อแม่พี่น้องญาติติโกโหติกาไม่มีใครยอมทั้งนั้น แต่เจ้าชายสิทธัตถะเลือกเอง หนีออกจากวัง บวช ความเสียสละครั้งนั้นก็ทำให้ทุกวันนี้เราทุกคนได้รู้จักคำสอนที่จะนำเราทุกคนไปสู่ “ความพ้นทุกข์ได้อย่างถาวร ไม่ต้องเกิดอีกต่อไป

เพราะฉะนั้น มันอยู่ที่เราเลือกเอง อย่ามัวแต่เก่งดูคนอื่น “เก่งดูตัวเองให้มาก และเลือกชีวิตที่ถูกต้อง” ชีวิตที่เหลืออยู่ของแต่ละคนไม่มาก อย่านึกว่าเรายังไม่ตาย คนอายุ 40 กว่าปีตายเยอะแล้ว พวกเราในที่นี้มีอายุมากกว่านั้นถือว่ารอดตอน 40 แต่ 50 ไม่แน่ 60 ไม่แน่ 70 ไม่แน่ “อย่าประมาท” อย่าคิดว่าเอาไว้ก่อนไปทำอย่างอื่นก่อน โง่เกินไป! ไม่มีอะไรติดตัวเราไปได้ในวันที่เราตาย นอกจากสิ่งที่เราทุกคนกำลังฝึกอยู่ตอนนี้ เจริญสติรู้กายรู้ใจอย่างที่มันเป็น ความเคยชินที่จะมีสติรู้สึกตัวนี้จะติดตัวเราไปข้ามภพข้ามชาติ

สตินี้สำคัญมากขนาดไหน สำคัญมากขนาดว่า ถ้าเราไปตกอยู่ในอบายภูมิ ถ้าสติที่เคยฝึกมันอัตโนมัติเกิดขึ้นมา มันเป็นพลังแห่งกุศลอันใหญ่ที่จะพาเราข้ามภพเลย เราอาจจะขึ้นไปเป็นเทวดาเลยก็ได้ หรือไปเกิดในท้องใครเป็นมนุษย์อีกครั้งก็ได้ นี่คือ อานิสงส์ของสติ สติอัตโนมัติเป็นกุศลอย่างแรง เรียกว่า “มหากุศลจิตญาณสัมปยุตอสังขาริกัง” คือมันเกิดเอง ไม่ต้องบังคับจงใจให้มันเกิด แล้วมันจะเกิดได้ก็คือ จากการที่เราฝึกเจริญสติ ไม่ใช่มีสติวันละครั้ง “มีสติทั้งวัน” แต่การทำงานมันพาเราต้องคิด วางแผน ปฏิสัมพันธ์กับผู้คนมากมาย ตั้งแต่ 8 โมงเช้ายัน 2 ทุ่ม เดี๋ยวนี้ไม่ได้เลิกงาน 5 โมงเย็นแล้ว กลับมาบ้านก็คิดอีกพรุ่งนี้ต้องทำอะไรต่อดี

เพราะฉะนั้น พิจารณาชีวิตตัวเองมีสติได้มั้ย ชีวิตนี้จะเอาแค่เงินใช่มั้ย เอาเงินแถมความโง่จนตายไปเรื่อย วันนี้มีโอกาสแล้ว มีโอกาสรู้จักคำว่า “อริยทรัพย์” แล้ว ถึงเวลาที่ต้องสะสมอริยทรัพย์แทนทรัพย์สมบัติที่สะสมมาเยอะแล้ว…พอแล้ว

 

ตอนที่ 3 ชีวิตที่คิดไม่ถึง

ยังเป็นผู้สังเกตการณ์อยู่มั้ย ลืมร่างกายนี้ไปหรือยัง ยังเห็นร่างกายมันนั่งอยู่มั้ย ยังรู้สึกถึงความมีอยู่ของร่างกายนี้มั้ย ตั้งกายตรงดำรงสติเฉพาะหน้า กายเป็นยังไง… “รู้” จิตใจเป็นยังไง… “รู้” ตั้งกายตรงดำรงสติเฉพาะหน้า หมายถึง ให้ตื่นขึ้นมาแล้วรู้กายและจิตนี้ตามเป็นจริง

เรานักปฏิบัติธรรมตาหลับแต่ใจตื่น ตื่นรู้ทุกสิ่งทุกอย่างที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ คนในโลกเนี่ยตาตื่นแต่ใจหลับ หลับทั้งวันเพราะมันเอาแต่คิด ฟุ้งซ่านอยู่แต่ในโลกของความคิด ไม่เคยรู้ตัว นี่คือสาเหตุว่าทำไมอริยบุคคลถึงจะมีน้อย มีไม่มากเพราะไม่มีใครอยากจะรู้ตัว อยากหลงมากกว่า รู้ตัวนี้มันน่าเบื่อ ไม่ฉูดฉาด แต่ขอให้อดทนกับความน่าเบื่อแบบนี้แหละ วันนึงเราจะเข้าใจว่า ความรู้สึกตัวนี้มีอุปการคุณกับชีวิตเรามากที่สุด ฝึกจนวันหนึ่งมีสติอัตโนมัติ ศีลก็จะอัตโนมัติ สมาธิก็จะอัตโนมัติ ปัญญาก็จะอัตโนมัติ “ความอัตโนมัตินี้เองคุ้มครองเรา

“ความมีสติอัตโนมัติ” เหมือนกระทะเทฟล่อนทอดแล้วไม่ติด ยังใช้ได้อยู่ ใช้ทอดได้เหมือนเดิมแต่ไม่ติด ไม่ติดกับอะไร…ไม่ต้องทุกข์ พระพุทธเจ้าจะใช้คำว่า “หลุดพ้น” มันหลุดจริงๆ หลุดพ้น หลุดร่อน หลุดออกจากอะไรๆ ที่มันเคยติดอยู่ ในขณะที่เกิดสภาวะแบบนั้นก็จะเป็นสภาวะที่เราคิดไม่ถึง เพราะเราไม่เคยมีหรอกถ้าไม่เคยปฏิบัติธรรม ก็จะมีคำพูดว่า ฝึกปฏิบัติธรรมไปจนวันนึง “จะเข้าถึงชีวิตที่คิดไม่ถึง

มีเงินร้อยล้านพันล้านก็แลกชีวิตที่คิดไม่ถึงไม่ได้ ซื้อไม่ได้ “อาศัยการฝึก เสียสละชีวิต” ที่จะมาฝึกตัวเอง สังเกตตัวเองว่า ยังตื่นอยู่มั้ย เริ่มเคลิ้มแล้วมั้ย เราไม่ได้มานั่งหลับนั่งเคลิ้ม “เรานั่งเพื่อที่จะตื่น” ชีวิตที่ผจญในโลกไม่ค่อยมีเวลาจะเรียนรู้กายและใจตัวเอง ใช้เวลาตรงนี้ฝึกที่จะเรียนรู้กายและใจตัวเอง “จะเรียนรู้ได้ต้องตื่นขึ้นมาก่อน

เพียงแค่รู้ ไม่ได้นั่งเพื่อจะได้อะไร ไม่ได้นั่งจะเอาอะไร “เพียงแค่รู้อย่างที่มันเป็น” หน้าที่เราคือ “ตื่น…รู้”

 

ตอนที่ 4 ความรู้สึกตัวก็เป็นจุดตั้งต้นของการปฏิบัติธรรม

สำหรับคนที่ยังฟุ้งซ่านมาก อย่าลืมหลัก 3 ข้อ หนึ่ง คือรู้สึกตัว สอง รู้ทันจิตที่ไหลไปคิด สาม หันกลับไปดูจิตใจบ่อยๆ ปกติอยู่ก็รู้ปกติอยู่ ความสำคัญไม่ใช่ปกติหรือไม่ปกติ แม้ว่าส่วนใหญ่จะปกติ แต่ความสำคัญคือ “ได้หันกลับมาดูจิตใจ” เป็นการฝึกที่จะได้อยู่กับเนื้อกับตัว ผลพลอยได้จากความอยู่กับเนื้อกับตัวและจิตใจที่เป็นปกติทำให้ จิตใจนี้มีกำลังมากขึ้นเรื่อยๆ เรียกว่า “มีสมาธิมากขึ้นเรื่อยๆ” ซึ่งจะเป็นผลให้ความฟุ้งซ่านนั้นลดลงไป

สภาพจิตใจที่ปกติเป็นสภาพจิตใจที่ปราศจากกิเลส ไร้ราคะ ไร้โทสะ ไร้โมหะ สภาพนี้แหละเป็นสภาพของสมาธิ เพราะฉะนั้น รู้จักหันกลับมา แล้วเราจะได้เจอว่าจิตใจนี้ “ส่วนใหญ่เป็นปกติอยู่” แต่ถ้ามันจะไม่ปกติมันก็เป็นเรื่องของมัน ก็ดูมันไป ดูซิมันจะเปลี่ยนมั้ย เรียกว่า “พลิกกิเลสให้กลายเป็นปัญญา

เพราะฉะนั้น จะเห็นว่าถ้าเราพูดถึงการที่เราไม่ลืมกายไม่ลืมใจ…รู้อยู่เนี่ย.มันเป็นอานิสงส์ทั้งนั้นแหละ ไม่ได้ผลพลอยได้อันนี้ก็ได้ผลพลอยได้อันนั้น “มีแต่คุณไม่มีโทษ

ตั้งคอตรงๆ ร่างกายที่ตรงเป็นร่างกายที่พร้อมจะตื่น ร่างกายที่โค้งที่งอเป็นร่างกายที่พร้อมจะหลับ บางทีจิตมันก็สวดมนต์ มันก็ร้องเพลง ก็เป็นเรื่องของมัน ก็แค่รู้ว่ามันเป็นแบบนั้น ไม่ต้องไปพยายามจัดการให้มันไม่เป็นแบบนี้ ถ้าทำแบบนั้นนั่นตัวเรา นั่นตัวตน

เรามีหน้าที่เป็นแค่ผู้สังเกตการณ์ว่าอะไรกำลังเกิดขึ้นในตอนนี้ บางครั้งเราก็ไม่รู้ว่าตอนนี้จะรู้อะไรดี งงๆ “ให้รู้สึกร่างกายไว้ ร่างกายก็ไม่หลอกเรา” มันเป็นท่อนเป็นแท่งแค่นั้น รู้สึกถึงความมีอยู่ของร่างกายเอาไว้ถ้าไม่รู้จะทำอะไรดี

ความรู้สึกตัวก็เป็นจุดตั้งต้นของการปฏิบัติธรรม ขยายความก็คือ การเห็นร่างกายนี่แหละเป็นยังไง มันนั่งอยู่ก็รู้ มันยืนอยู่ก็รู้ มันเดิน มันนอนก็รู้ มันขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวก็รู้ รู้อยู่ทั้งวัน นี่คือหน้าที่ของพวกเรา แล้วกำลังสมาธิจะเกิดขึ้นเอง มีเหตุแบบนี้สมาธิก็เกิดได้

เวทนา ความเจ็บปวดก็เป็นแค่สิ่งที่ถูกรู้ ไม่ใช่เรา เห็นมันเป็นอีกสิ่งหนึ่ง เป็นความรู้สึกอันหนึ่งที่เกิดขึ้นในร่างกาย ตอนแรกมันไม่มี ต่อมามันก็มีขึ้นมาเอง อยากให้มันหายไปก็ไม่ได้ นี่เขาเรียกว่า “มันเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย บังคับควบคุมไม่ได้ เป็นอนัตตา

แต่พอเราลุกขึ้นยืดเส้นยืดสาย ความเจ็บปวดนั้นก็คลายไป เป็นไปตามเหตุปัจจัยไม่มีใครบังคับให้มันหายได้ เราอาจจะคิดว่าก็เราเป็นคนยืดไงเราทำให้มันหาย ถ้าเราทำได้บังคับได้จริงต้องทำได้อย่างถาวร บังคับได้ทุกครั้ง แต่เราทำไม่ได้ทุกครั้ง บางครั้งมันก็หาย บางครั้งมันก็ไม่หาย เห็นทุกสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในกายในใจนี้ลงไปในมุมของไตรลักษณ์

ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในโลกนี้ ในกายในใจนี้ จบที่ไตรลักษณ์ แล้วชีวิตจะง่าย ที่มันยากเพราะฝืนไตรลักษณ์ พยายามฝืนธรรมชาติ ชีวิตเลยต้องทุกข์เพราะยอมรับความจริงไม่ได้

 

10-04-2562

Camouflage

 

YouTube : https://youtu.be/kFwvgfqzHLo

คลิปเสียงธรรมะทั้งหมดของอาจารย์ Camouflage : https://goo.gl/RDZFMI

======================

5 ช่องทางการอ่านและฟังธรรม

1) Facebook : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
http://www.facebook.com/sookguysookjai

2) Line : @camouflage.talk
https://line.me/R/ti/p/%40camouflage.talk

3) YouTube : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
https://goo.gl/in9S5v

4) Website: https://camouflagetalk.com/

5) Podcast : Camouflage – Dhamma Talk
https://itun.es/th/t6Mzdb.c
วิธีการติดตั้ง https://goo.gl/tBMY9S