96.ซ้อมรบ 5 – ผู้จัดการ

ตอนที่ 1 หลงแล้วรู้

อย่าลืมว่าเมื่อจิตใจเปลี่ยนแปลงก็เรื่องของมัน แต่ก็รู้อยู่ มันตั้งใจขึ้นมา อึดอัดขึ้นมา ก็รู้ว่ามันเป็นแบบนั้น ไม่ต้องพยายามแก้ไข ไม่ต้องคิดว่าไม่ดี เพ่งอีกแล้ว อึดอัด แน่น จะทำให้มันดีกว่านี้ อันนี้เป็นทางผิด

แค่รู้ว่า ตอนนี้เป็นแบบนี้” แล้วอดทนอยู่กับสภาพแบบนั้นไป มันจะแสดงไตรลักษณ์ให้เราดู อย่าไปทำอะไรมันซะก่อน

เป็นแค่ผู้สังเกตการณ์” อะไรที่กำลังเกิดขึ้นในกายในใจนี้ “ไม่ใช่เป็นผู้จัดการ” ถ้าจะเป็นผู้จัดการก็ไปทำงาน ถ้าเป็นนักปฏิบัติธรรม เราเป็นผู้สังเกตการณ์ ไม่ได้เงินเดือน แต่เป็นผู้จัดการได้เงินเดือน ได้ความหลง ได้ความฟุ้งซ่าน และได้ความทุกข์

เดินให้มันผ่อนคลาย เดินสบายๆ ไม่ใช่เดินจะไม่ให้มันหลง ใครตั้งใจเกินไปให้มันผ่อนลงบ้าง กลัวมันหลงอย่างนี้…ไม่ได้ เดินให้เป็นธรรมชาติ “หลงแล้วรู้ หลงแล้วรู้ ไม่ใช่รู้อย่างเดียว” ไม่ใช่รู้เป็นพรืดๆ อย่างนั้น แบบนั้นมันจะเพ่ง มันตั้งใจไป พอตั้งใจไป มันจะอึดอัด

ให้เดินธรรมดา เดินเหมือนเดินเล่น แต่สิ่งที่เพิ่มเติมคือ มีสติรู้อยู่ แค่นั้น หลงไปก็รู้ ใครรู้สึกว่าตั้งใจมากเกินไปจนอึดอัดแน่น ให้เดินไปเข้าห้องสุขา…ผ่อนคลายหน่อย…เลยไม่มีใครเดินไปห้องน้ำเลยกลัวรู้ว่าอึดอัด

จิตใจก็มีความสุขขึ้นมานิดนึงเห็นมั้ย หรือว่าเพลิดเพลินไปกับความสุขเมื่อกี้นี้ ความสุขเกิดขึ้นปุ๊บจิตใจก็คลายออก คลายออกก็รู้ว่ามันคลายแล้ว จิตใจก็รวมลงสู่ความเป็นปกติ ก็รู้ว่าตอนนี้เป็นแบบนี้ ปกติแล้ว ไม่ลืมที่จะรู้จักจิตใจ ไม่ลืมที่จะรู้สึกร่างกาย นี่คือหน้าที่ของเรา

 การปฏิบัติในรูปแบบก็เป็นไปเพื่อจะ “ฝึกนิสัยความเคยชินใหม่” ที่จะรู้เนื้อรู้ตัว เพราะมันห้ามทำอย่างอื่น แต่พอเราออกจากการปฏิบัติในรูปแบบ ความเคยชินเก่าก็จะครอบงำพาหลงคิดนู่นคิดนี่ ทำนู่นทำนี่ กว่าจะรู้ตัวได้ทีนึงแทบรากเลือด เพราะฉะนั้น “การปฏิบัติในรูปแบบทุกวันเป็นสิ่งจำเป็น” มีวินัยตั้งเวลาตื่นขึ้นมาปฏิบัติในรูปแบบ เคยตื่นกี่โมง ตื่นให้มันเช้าขึ้นอีกชั่วโมงนึง ก่อนนอนปฏิบัติในรูปแบบ แล้วค่อยนอน

การที่เราเดินแล้วหลงไป แล้วรู้ทันขึ้นมานั่นแหละ ถือว่าได้ปฏิบัติ ไม่ใช่ไปประคองไม่ให้มันหลงเลย การที่มันหลงไปก็รู้ขึ้นมา ตรงนั้นแหละพอดี “เป็นธรรมชาติ” จะรู้ช้ารู้เร็วก็ไม่เป็นไร อย่าให้มันไม่หลง “เพราะธรรมชาติของจิตต้องหลงออกนอก” เรามีหน้าที่รู้ทันเมื่อมันออกไปแล้ว หลงไปแล้ว เราได้แต้มตรงนั้น ได้ปฏิบัติตรงนั้น

 

ตอนที่ 2 เป็นขณะๆ

การปฏิบัติมันเป็นขณะสั้นๆ แค่นั้น เหมือนเราเดินอยู่ เห็นร่างกายมันเดินมั้ย รู้สึกตัวมั้ย ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหว เท้ากระทบพื้นอยู่ ก็รู้สึกมั้ย มันเหมือนรู้สึกอยู่ตลอด แต่ในความเป็นจริงแล้วมันรู้สึกคนละที่คนละทางของร่างกายอยู่ เพราะฉะนั้น มันไม่ได้อยู่ที่เดียวนะ คือมันไปที่นี่ก็รู้ ไปที่นั่นก็รู้มัน ไปรู้สึกตรงนี้ก็รู้ ไปรู้สึกตรงนั้นก็รู้ มันเป็นขณะๆ ให้เข้าใจแบบนี้ อย่าไปรู้สึกเท้ากระทบพื้น เดี๋ยวไปรู้สึกตัวมันเคลื่อนไหว ไหล่ซ้ายขวาขยับไปมา หรือไปรู้สึกตรงที่เรากอดอกก็รู้สึกตรงที่แขนทับกันอยู่อย่างนี้ ให้มันรู้สึกไปเรื่อยๆเรียกว่า “ไม่เกินกายนี้ไม่เกินใจนี้ออกไป

ทุกครั้งที่รู้สึกไปในที่ใหม่ ที่ใหม่ ที่ใหม่นั้น เรียกว่า จิตมันก็เกิดดับไปแต่ละขณะ แต่ละขณะ แต่ละขณะ เราก็รู้ลักษณะแบบนี้แหละ ที่เรียกว่า มีสติรู้กายรู้จิตใจเนืองๆ มันไปไหนก็รู้ มันรู้สึกตรงไหนก็รู้ ไม่มีการบังคับเจาะจงว่าต้องรู้ตรงนี้เท่านั้น เราต้องการเรียนรู้ธรรมชาติของกายและจิตนี้ตามความเป็นจริง “ให้มันไปก่อนแล้วก็รู้ ให้มันไปก่อนแล้วก็รู้” จะเห็นว่ามันไปเอง ไม่อยากไป มันก็ไปเอง บังคับไม่ได้ หรือไม่อยากคิดเรื่องนี้เลย มันก็คิดอีก เห็นมันไปเอง ทำเอง แต่อย่าไปคิดกับมัน รู้เฉยๆ รู้เสร็จมันจะกลับมารู้สึกตัว กลับมารู้สึกที่เนื้อที่ตัวเอง แต่บางทีความคิดบางอย่างมันดึงดูดเหลือเกินโดยเฉพาะเรื่องที่เป็นทุกข์เนี่ยดึงดูดง่าย อยากจะคิดอยากลงนรก…ไม่รู้ทำไม เราต้องรู้แล้วว่าตอนนี้สมาธิมันอ่อน กำลังมันอ่อน มันถึงโดนลากไปง่ายๆ ก็แปลว่าวันๆ ไม่ค่อยรู้สึกตัว โดนอะไรลากไปง่ายๆ โดนอารมณ์ความคิด ความรู้สึกนึกคิดต่างๆ ลากไปง่ายๆ พาลืมเนื้อลืมตัว เหล่านี้ทั้งหมดคือ เพราะว่า “ไม่มีสมาธิ

ไม่มีสมาธิเพราะไม่รู้สึกตัวเนืองๆ” ถ้าชั่วโมงนึงรู้สึกตัวทีเดียวแบบนี้เรียกว่า ไม่รู้สึกตัวเนืองๆ รู้สึกตัวเนืองๆ นี่คือว่ามันไปคิดปุ๊บ…รู้ มันไปคิดปุ๊บ…รู้ คล้ายๆ ว่าจะไม่ค่อยลืมเนื้อลืมตัวทั้งวัน เขาเรียกว่า รู้สึกตัวเนืองๆ จะพูดจะคุยกับใครก็ไม่ลืมเนื้อลืมตัว หลวงพ่อเทียนบอกว่า ออกไปซัก 40 อยู่กับเนื้อกับตัวซัก 60 แต่บางคนฟังแล้วก็ไปคิดเป็นเปอร์เซ็นต์เลย อันนี้เป็นคำเปรียบเทียบเฉยๆ พวกนักคิดเนี่ย โอ้โห เทียบบัญญัติไตรยางค์เลย ตอนนี้ออกไป 40 รึยัง จริงๆ แล้วหมายความว่า ให้มีความรู้เนื้อรู้ตัวประกอบอยู่กับการที่เราต้องปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นด้วย โดยให้มีความรู้เนื้อรู้ตัวมากกว่า…60 เนี่ยแปลว่ามันมากกว่าครึ่งนึง ไม่ใช่คุยกับใครก็หลงเพลินไปเลย…มันส์ เรียกว่า เม้าท์มันส์ แต่ถ้าจิตใจยังอ่อนมาก ดีที่สุดไม่ต้องพูด

 

ตอนที่ 3 เห็นตามความเป็นจริงจึงเบื่อหน่าย

ตากระทบรูป หูได้ยินเสียง จิตใจเป็นยังไงก็รู้ทันความเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ความรู้สึกในจิตใจนั้น เมื่อมีกระทบสัมผัสทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ “ให้รู้ทันความเปลี่ยนแปลงของความรู้สึกในใจ” ไม่ใช่ไปสนใจรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส

เดินก็แค่เห็นร่างกายมันเดินอยู่ เห็นด้วยความรู้สึก เห็นด้วยตาใจ สังเกตมั้ยพอเราลืมการเห็นร่างกายกำลังเดิน หรือกำลังยืน หรือกำลังหมุน แปลว่า “จิตกำลังส่งออกนอก” ไปดูไปฟังหรือไปทำอะไรๆ ทำให้เราลืมการเห็นร่างกายนี้ไป แต่ไม่ใช่ว่าเราบังคับให้มันเห็นอยู่ตลอดเวลา…นั่นมันเพ่ง เพียงแต่เรียนรู้ว่าเดี๋ยวก็รู้ เห็นร่างกายนี้อยู่ เดี๋ยวก็ลืม ลืมใหม่ก็รู้ใหม่ ลืมอีกก็รู้อีก มีหน้าที่แบบนี้ มีหน้าที่เรียนรู้ว่า “เราบังคับควบคุมอะไรไม่ได้” มันทำของมันเอง อยู่ดีๆ มันก็อยากดูซะงั้น อยู่ดีๆ มันก็เผลอไปมองซะงั้น ลืมเนื้อลืมตัวไปอีกแล้ว เห็นตามความเป็นจริงแบบนี้

พระพุทธเจ้าท่านว่า เพราะเห็นตามความเป็นจริง จึงเบื่อหน่าย นี่เป็นขั้นแรกเลย ถ้าใครยังไม่เบื่อหน่ายกับชีวิต นั่นแปลว่า ยังไม่เคยเห็นอะไรตามความเป็นจริงเลย อยู่แต่ในโลกของสมมติ โลกของความหลง ไม่เคยมีสติ แต่ถ้าเรารู้เห็นตามความเป็นจริงก็จะเกิดความเบื่อหน่าย เมื่อเบื่อหน่ายก็จะคลายกำหนัด คลายกำหนัด คือ คลายความอยาก คลายความยึด เพราะรู้ว่า อะไรๆ ก็ล้วนน่าเบื่อทั้งนั้น ไม่มีอะไรเป็นของเราอย่างแท้จริง น่าเบื่อยังไง? น่าเบื่อตรงที่ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ตกอยู่ภายใต้กฎไตรลักษณ์ ควบคุมบังคับอะไรไว้ไม่ได้ซักอย่าง แม้กระทั่งร่างกายและจิตใจตัวเองก็ควบคุมบังคับไม่ได้ มันแก่ มันเจ็บ มันก็ตาย ควบคุมบังคับไม่ได้ เมื่อคลายกำหนัด คือ คลายความยึดมั่นถือมั่นจึงหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นก็จะรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว รู้ด้วยตัวเอง

ตอนไหนที่รู้สึกผ่อนคลายและมีความยินดีพอใจ ให้รู้ทันว่ามีความยินดีพอใจเกิดขึ้นแล้ว เราไม่ได้ฝึกที่จะเอาให้มันผ่อนคลาย มันผ่อนคลายก็รู้มันผ่อนคลาย “เป็นกลาง” กับทุกสภาวะที่กำลังเกิดขึ้นในจิตใจนี้ ไม่ใช่ของเรา

สังเกตจิตใจตัวเอง ตอนนี้เป็นยังไง สังเกตว่าทุกครั้งที่เราหันมาสังเกตจิตใจตัวเอง มันหลุดออกจากทุกอารมณ์ ทุกสภาวะหรือการที่มันออกไปอยู่ข้างนอกอยู่ “กริยาที่จะหันกลับมาสังเกตจิตใจนี้ช่วยเรา” ช่วยให้ความอยู่กับเนื้อกับตัวนี้เกิดขึ้น แล้วส่วนใหญ่การที่เราหันกลับมาสังเกตจิตใจจะพบว่า “มันปกติ” สภาพปกติแบบนี้เป็นสภาพที่ไร้กิเลส เป็นสภาพที่ผ่องใส เมื่อรู้จักพาจิตใจให้รู้จักสภาพที่ปกตินี้บ่อยๆ เวลามันเกิดกิเลส เกิดความขุ่นหมองขึ้น จะรู้ได้เร็ว รู้ได้ไว เพราะจิตใจที่ผ่องใสเป็นปกตินั้นเหมือนผ้าขาว เกิดจุดดำขึ้นนิดนึง…รู้เลย แต่ถ้าไม่รู้จักสภาพจิตใจที่เป็นปกติอยู่เลยก็เหมือนผ้าสีดำ เอาสีดำมาป้ายเพิ่มมันก็ไม่รู้เรื่อง ก็มันหลงจนชิน โกรธจนชิน โลภจนชิน

ลูกศิษย์ส่วนใหญ่มักบอกว่า จิตของครูบาอาจารย์องค์นี้ท่านไว ไวเพราะท่านสะอาดบริสุทธิ์ แต่จิตใจเรามันสกปรก เราเลยรู้เรื่องอะไรไม่ได้ซักอย่าง

 

ตอนที่ 4 ธรรมะเป็นสิ่งที่มีคุณค่าที่สุดในโลกนี้

การเดินจงกรมเป็นการแค่เดินที่ประกอบด้วยสติ ความรู้สึกตัว ไม่มีอะไรมากกว่าการเดินที่ประกอบด้วยความรู้สึกตัว เราเดินเหมือนที่เราเคยเดินนั่นแหละ แต่ที่เราเคยเดินนั้นประกอบด้วยความหลง เดินไปก็คิดไป เดินไปก็คิดไป เพราะฉะนั้น เดินประกอบด้วยความรู้สึกตัวยังไง? เห็นร่างกายนี้มันเดิน แล้วเดี๋ยวมันจะหลงลืมไปบ้างก็เป็นเรื่องธรรมดา เป็นเรื่องพอดี

เห็นมั้ยว่าแวบไปดู นี่ลืมตัวไปแล้วเห็นได้มั้ย เห็นได้มั้ยว่าเมื่อกี้มันออกนอกไป ฝึกเห็นแบบนี้ ไม่ใช่ผิด แต่ให้รู้จักสภาวะที่จิตมันส่งออกไปมันเป็นยังไง คิดก็รู้ทัน แค่จิตใจนี้ไปคิดแล้วก็รู้ทัน เห็นมันในมุมของ “อนัตตา” นี่ก็ใช้ได้แล้ว มันคิดเอง มันไปเอง แต่อย่าเข้าไปผสมโรงคิดกับมัน แต่ก็แน่นอนชอบผสมโรงอยู่แล้วตามความเคยชินเก่าๆ ก็ผสมไปก็รู้…ผสมแล้ว รู้ช้ารู้เร็วก็รู้เหมือนกัน ค่อยๆ รู้ไป

ให้การเดินเป็นการเรียนรู้ เห็นร่างกายเดินไม่ใช่เรากำลังเดิน เป็นเรากำลังเดินมาทั้งชีวิตแล้ว…พอแล้ว ตอนนี้เห็นร่างกายมันเดิน เห็นร่างกายมันขยับเขยื้อนเคลื่อนไหว ไม่ใช่เราขยับเขยื้อนเคลื่อนไหว เห็นร่างกายเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่กำลังถูกรู้อยู่ ร่างกายนี้กำลังถูกรู้อยู่ อะไรที่กำลังเป็นสิ่งที่ถูกรู้ไม่ใช่ของเรา เหมือนเราเห็นเก้าอี้เห็นประตู เก้าอี้หรือประตูก็เป็นสิ่งที่ถูกรู้ มันเป็นของเราไม่ได้ ถ้าใครว่าเก้าอี้กับประตูเป็นเราแล้วก็ยุ่งแล้ว ร่างกายจิตใจนี้เหมือนกัน เมื่อไหร่ก็ตามที่มันอยู่ในสภาวะที่ถูกรู้ มันกำลังแสดงความไม่ใช่เราอยู่ เราเป็นตัวรู้อยู่ตอนนี้ ไม่ใช่ร่างกายและจิตใจ เราเป็นสภาพรู้ตื่นเบิกบานขึ้นมา ไม่ได้เป็นสิ่งที่ถูกรู้ เรียนรู้สิ่งที่กำลังถูกรู้นี้ไปเรื่อยๆ จนพ้นจากการที่ต้องรู้ ทุกอย่างก็เป็นอัตโนมัติ

ธรรมะนั้นเอาแต่อ่าน เอาแต่ฟัง เอาแต่คิด จะไม่มีวันเจอธรรมะที่แท้จริงเลย ธรรมะที่แท้จริงเกิดขึ้นได้จากการลงมือปฏิบัติเท่านั้น และเป็นการลงมือปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง เรียกว่าชีวิตทั้งชีวิตเราคิดถึงแต่การปฏิบัติธรรม ถ้าเรามีหัวใจแบบนั้นความพ้นทุกข์อยู่ไม่ไกล ขอให้เราเข้าใจอะไรขึ้นมาซักหน่อยนึงเถอะเกี่ยวกับการเห็นตามความเป็นจริง เราจะรู้เลยว่า “ธรรมะเป็นสิ่งที่มีคุณค่าที่สุดในโลกนี้

ในสมัยพุทธกาล พ่อค้าเศรษฐีมีลูก 5 คน ลูกได้ยินข่าวว่าพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นแล้วในโลกนี้ คนที่รู้คนแรกวิ่งไปบวชกับพระพุทธเจ้าเลย แล้วทั้ง 5 คนนี้ก็วิ่งทุกคน วิ่งไปจนเศรษฐีเซ็งเพราะไม่เคยสนใจปฏิบัติธรรมแต่ลูกก็สนใจ เฉพาะฉะนั้น ธรรมะตั้งแต่สมัยพุทธกาลเนี่ยเป็นของชนชั้นที่เรียกว่ากษัตริย์ให้ความสนใจ เจ้าชาย เจ้าหญิง วรรณะสูงสุดของคนในสมัยนั้นสนใจธรรมะ รองลงมาก็ชั้นมหาเศรษฐีทั้งหลายออกบวช แต่ผ่านมาสองพันกว่าปีโลกแห่งทุนนิยม ความโลภ กิเลสทั้งหลายมันครอบงำจิตใจเราจนพาลเข้าใจไปว่า ธรรมะเป็นของคนอกหักรักคุด ไม่ประสบความสำเร็จในโลก ล้มเหลวในชีวิต หรือเป็นของคนอีสาน คนจน เราเข้าใจผิดกันหมด นี่คือความมืดบอดของคนสมัยนี้ บอดจนไม่รู้อะไรที่เป็นคุณค่าที่แท้จริงของชีวิต

พระพุทธเจ้าก็ออกจากวังตั้งแต่อายุ 29 ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าหรือว่าเป็นพระอรหันต์ตอนอายุ 35 ในที่นี้มีคนอายุต่ำกว่า 35 แค่คนเดียว พิจารณาชีวิตให้มาก พระพุทธเจ้าก็ใช้ช่วงเวลาที่ท่านแข็งแรงที่สุดตอนอายุ 29 ปฏิบัติธรรม ชีวิตที่เหลืออยู่อย่าให้มันเสียไปเปล่าๆ

ตอนเดินจงกรม เราออกเดิน ระหว่างเดิน ก่อนหยุด จิตใจเหมือนกันมั้ย ค่อยๆ สังเกตร่างกายและจิตใจนี้ให้มันละเอียดขึ้นเรื่อยๆ น้ำหนักที่ลงมันเหมือนกันมั้ย ความรู้สึกที่เท้าเวลายืนมันหนักเท่ากันมั้ย เรียนรู้สังเกตตัวเองให้มาก แม่ชีที่นี่ต้องอยู่ในห้องออกไปไหนไม่ได้ จุดมุ่งหมายก็เพื่อจะให้เรียนรู้ตัวเอง มีชีวิตที่วิเวกสันโดษไม่ต้องทำอะไรก็เพื่อที่จะมีเวลาเรียนรู้ตัวเองอย่างละเอียด

หลงแล้วมั้ย ยังรู้เนื้อรู้ตัวอยู่มั้ย บางคนพูดปุ๊บเพ่งเลย ก็รู้เป็นแบบนั้นไม่ต้องแก้ไขอะไร มันทำเอง ออกจากการปฏิบัติในรูปแบบก็ยังต้องรู้เนื้อรู้ตัวอยู่กับตัวเอง ถ้ามัวไปพูดไปคุยวิพากษ์วิจารณ์ กำลังจะตก อุตส่าห์เดินอุตส่าห์นั่งเป็นชั่วโมงหมดเกลี้ยงเลย เอาไปพูดหมด ใช้สมาธิที่จะดูตัวเองไม่ใช่ดูคนอื่น

 

10-04-2562

Camouflage

 

YouTube : https://youtu.be/JDg39URxZlg

คลิปเสียงธรรมะทั้งหมดของอาจารย์ Camouflage : https://goo.gl/RDZFMI

======================

5 ช่องทางการอ่านและฟังธรรม

1) Facebook : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
http://www.facebook.com/sookguysookjai

2) Line : @camouflage.talk
https://line.me/R/ti/p/%40camouflage.talk

3) YouTube : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
https://goo.gl/in9S5v

4) Website: https://camouflagetalk.com/

5) Podcast : Camouflage – Dhamma Talk
https://itun.es/th/t6Mzdb.c
วิธีการติดตั้ง https://goo.gl/tBMY9S