95.ซ้อมรบ 4 – กะจั๊ว

ตอนที่ 1 กะจั๊ว

อย่าลืมว่าชีวิตส่วนใหญ่ของพวกเรานักปฏิบัติธรรมเป็นการสะสมกำลัง หรือที่เรียกว่า “สมาธิ” “ผ่านการเจริญสติปัฏฐาน 4” หรือย่อก็คือว่า “มีสติรู้กายรู้ใจอยู่เนืองๆ

คนที่ฟุ้งซ่านมากๆ คิดตลอดเวลา จุดเริ่มต้นคือ ต้อง “รู้สึกตัว” ให้มาก เห็นร่างกายมันนั่งอยู่ รู้สึกถึงความมีอยู่ของร่างกาย ไม่ลืมร่างกายนี้  แต่เดี๋ยวมันจะลืมก็เป็นเรื่องธรรมดา  ไม่ต้องไปรู้สึกว่า แย่จังทำไมลืมอีกแล้ว มันเป็นธรรมชาติแบบนั้น  เพียงแต่เรารู้ไว้ว่าเราไม่ควรจะลืม  แต่สิ่งที่จะซ้อนมากไปกว่านั้นคือ “แต่มันก็บังคับไม่ได้” เพราะฉะนั้น เราจึงมีหน้าที่ที่จะรู้ทัน เมื่อมันลืมไปแล้ว

นอกจากนี้ เราจำเป็นจะต้องหันกลับมาดูจิตใจบ่อยๆ มีสติที่จะรู้ทันจิตใจอยู่เนืองๆ จิตใจตอนนี้เป็นยังไง? ตัวแสดงลักษณะของจิตใจคือ ความรู้สึก อารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น เราต้องรู้อยู่ตอนนี้เป็นยังไง? แม้กระทั่งมันปกติอยู่ เราก็ต้องรู้ว่าตอนนี้มันปกติอยู่

ถ้าเราไม่รู้กายไม่รู้จิตอยู่ เกิดอะไรขึ้น? เราจะไปคิด เราจะอยู่ในความคิดแทน และความคิดปรุงแต่งที่เราเข้าไปอยู่ในนั้นนั่นเองเป็นเหตุให้กำลังสมาธิค่อยๆ ตกไปเรื่อยๆ จิตก็จะอ่อนอีก จิตอ่อนก็จะฟุ้งซ่าน ความฟุ้งซ่านนั้นเองทำให้ชีวิตนั้นเหมือนแมลงสาบบินแบบไร้ทิศทาง ภาษาจีนเรียก “กระจั๊ว” แทนที่เราจะเป็นมนุษย์เราก็เป็นกระจั๊วตัวนึงที่ไร้ทิศทาง “เพราะจิตมันอ่อน

เพราะฉะนั้น อย่าลืมหน้าที่…มีหน้าที่ “รู้สึกตัว ไม่ตามความคิดไป หันกลับมาดูจิตใจบ่อยๆ” 3 อย่างนี้จะเป็นตัวพัฒนากำลังของสมาธิขึ้นมาเรื่อยๆ เมื่อมันขึ้นมาจนถึงระดับที่พอดี…เราไม่ต้องรู้ว่าพอดีคือยังไง แต่ตัวที่แสดงความพอดีคือ จะเกิดผลลัพธ์ในการเห็นกายและจิตนี้ตามความเป็นจริงที่เรียกว่า “วิปัสสนาญาณ” คือ เห็นมันตกอยู่ภายใต้ “กฎไตรลักษณ์” :

  • มีความไม่เที่ยงเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ
  • มีความเป็นทุกข์ทนอยู่สภาพเดิมไม่ได้ มีสภาพบีบคั้น  ต้องให้เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
  • มีความเป็นอนัตตา คือ มันเป็นไปตามเหตุปัจจัย บังคับควบคุมไม่ได้ ไม่มีเราไม่มีใครเข้าไปเกี่ยวข้องในสภาวะใดๆ ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ มันเป็นของมันเอง

เราจะเห็นตามความเป็นจริงแบบนี้ได้ ต้องอาศัยจิตใจที่มี “กำลังของสมาธิ”  ซึ่งเกิดจากการเจริญสติปัฏฐาน 4

การเจริญสติปัฏฐาน 4 ก็คือ “การรู้กายรู้ใจอยู่เนืองๆ”  เพราะฉะนั้น ทำหน้าที่รู้เห็นร่างกายและจิตใจนี้อยู่เนืองๆ

ความเบื่อก็เป็นสิ่งที่จะปรากฏตัวให้เราเห็นอยู่บ่อยๆ เพราะธรรมชาติของเราอยู่เฉยไม่ได้ อยู่นิ่งไม่ได้ เคยชินที่จะออกนอก หาอะไรทำตลอดเวลา เพราะฉะนั้น อย่าให้ความเบื่อนั้นครอบงำจิตใจเรา เมื่อความเบื่อเกิดขึ้น เห็นมัน…เห็นมันเป็นอีกสิ่งหนึ่ง เป็นสิ่งแปลกปลอมเข้ามา เมื่อกี้ไม่มี เห็นมันเป็นเพียงอีกสิ่งหนึ่งแค่นั้น ไม่ใช่เรา! อย่าตกเป็นทาสมัน อย่าโง่แบบนั้น มันเป็นเพียงแค่อารมณ์ความรู้สึกอันหนึ่งที่เกิดขึ้น “ไม่ใช่เรา

จำไว้ว่าทุกอารมณ์ทุกความรู้สึกที่เกิดขึ้นในใจเราไม่ว่ามันจะรุนแรงขนาดไหน มันเป็นเพียง “สักแต่ว่า…ความรู้สึก…ไม่ใช่เรา”  แล้วมันจะดับไป มันจะเปลี่ยนแปลงไปให้เราดู “อย่าไปยุ่งกับมัน

 

ตอนที่ 2 ฝึกตัวเองก่อน

พวกเราเคยได้ยินพลังงานในพระเครื่อง พลังพุทธคุณ เป็นพลังงานจากอะไร? จากครูบาอาจารย์นั่นแหละ แต่เราจะหวังพึ่งสิ่งพวกนั้นอย่างเดียวไม่ได้ เราต้องสร้างมันขึ้นมาด้วยตัวเอง พูดคำว่าสร้าง ก็เป็นคำพูดเฉยๆ ในความเป็นจริงพลังแห่งพุทธะ หรือพลังพุทธคุณ หรือพลังงานสะอาดบริสุทธิ์แบบนี้มีอยู่ในตัวเราทุกคน มันแค่รอวันที่จะถูกเปิดเผยออกมาแค่นั้น

การที่เรามาเข้าคอร์ส ฟังธรรม ปฏิบัติธรรม ก็เพื่อจะรู้จักหนทางที่จะเปิดเผยความเป็น “พุทธะ” ที่มีอยู่ในใจของเราแล้วทุกคน …เปิดเผยมันออกมา เปลี่ยนความหลงเป็นความรู้ เปลี่ยนจากชีวิตที่เคยเป็นผู้หลงเป็น  “ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน” ขึ้นมา เรามาที่นี่อาศัยพลังงาน (Synergy) ของครูบาอาจารย์ แม่ชีและพวกเราที่มาร่วมกันปฏิบัติธรรม ตรงนี้ก็ช่วยเรา แต่ไม่ใช่สิ่งที่เราจะพึ่งพิงได้ตลอดเพราะเราไม่ได้อยู่กับครูบาอาจารย์หรือแม่ชีตลอดเวลา เราต้องปลุกพลังนั้นขึ้นมาด้วยตัวเราเอง ทำตัวเองให้ศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมา เมื่อฝึกตัวเองดีแล้วจึงค่อยฝึกผู้อื่น

เคยพูดหลายครั้งว่า ฝึกตัวเองดีแล้วจะฝึกคนที่เรารักได้ เราจะฝึกพี่น้องเราได้ เราจะฝึกสามีภรรยาได้ เราจะฝึกลูกเราได้ เราจะฝึกพ่อแม่เราได้ เป็นมรดกชิ้นเดียวที่จะติดตัวเราทุกคนข้ามภพข้ามชาติไปได้ จะต้อง “ฝึกตัวเองก่อน

ฝึกตัวเองยังไง? กลับไปอยู่ในโลกเสาร์อาทิตย์ไม่ใช่ไปเที่ยว เสาร์อาทิตย์พาลูก พาแฟน พาพ่อพาแม่ เข้าวัดฟังธรรม สะสมความเคยชินที่จะรู้จักศีล รู้จักธรรม รู้จักการปฏิบัติ รู้จักว่าพุทธศาสนาคืออะไร รู้จักว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไร พาลูกเข้าวัดตั้งแต่เด็ก ให้รู้จักเรียนรู้ เมื่อลูกโตขึ้นไปแล้วก็ไม่เชื่อพ่อแม่แล้ว ติดเพื่อน ติดแฟน แต่สิ่งที่จะติดอยู่ในใจของเด็กคือ การที่เราพาเข้าวัดฟังธรรม มีตัวอย่างคือ ตัวเองปฏิบัติธรรมให้ดู นี่คือ “มรดกชิ้นเดียว” ที่เราจะฝากให้คนที่เรารักได้ มรดกชิ้นอื่นๆ นั้นให้ไปก็หมด ให้ไปก็จบ ไม่ยั่งยืน จะมีทรัพย์สินเท่าไหร่ ถ้าวันรุ่งขึ้นมีเพื่อนชวนไปติดการพนันมันก็หมด เท่าไหร่ก็ไม่พอหรอก เป็นหนี้ด้วย

แต่ธรรมะในใจไม่มีวันหมด เป็นเหมือนน้ำพุที่ผุดขึ้นมาจากใต้พื้นพิภพ ผุดขึ้นมาไม่มีวันหมด นี่เป็นมรดกชิ้นเดียวที่จะติดตัวเราไป ติดตัวคนที่เรารักไป แต่มรดกชิ้นนี้เป็นสิ่งที่ต้องทำเอง ทำให้กันไม่ได้ ได้แต่บอก ได้แต่สอน ได้แต่แนะ แล้วต้องไปทำเอง

ต้องรู้จักความสำคัญ รู้จักอะไรเป็นหน้าที่ของชีวิต รู้จักแบ่งเวลา จัดสรรชีวิตให้ถูกต้อง อยู่ในแวดวงของกัลยาณมิตร ชวนกันปฏิบัติธรรม ไม่ใช่อยู่ในแวดวงของคนพาล ชวนกันไปเที่ยว ชวนกันไปหลง ชวนกันไปหาความสุขจอมปลอม ถ้ายังคบเพื่อนแบบนั้นไม่มีวันเจริญ

เรานั่งปฏิบัติธรรมแบบนี้ รู้กายรู้จิตใจแบบนี้ แล้วต่อไปนี้ในชีวิตเรา ให้ไปลองดูอะไรที่เราคิดว่าเป็นความสุข ลองไปทำดู ได้ความสุขเป็นรูปธรรมแบบไหน? มีมั้ย? ไปลองสังเกตดู ตรงไหนที่เรียกว่าความสุขในสิ่งที่เรากำลังทำ จังหวะไหนที่เรียกว่าความสุข ยกตัวอย่างเช่น อยากกินอันนี้ กินเข้าไปแล้วความสุขอยู่ตรงไหน ตรงที่ลิ้นมันสัมผัสรส ตรงที่กลืนเข้าไป หรือมันไปอยู่ในกระเพาะแล้ว ไปลองสังเกตดูว่า มีความสุขอยู่ที่ตรงไหน ผมยังไม่เฉลยไปหัดสังเกตกันให้มาก จะได้รู้จักชีวิตว่า แท้จริงแล้วมีความสุขจริงมั้ย? แล้วถ้ามีมันอยู่ตรงไหน?

 

ตอนที่ 3 ยอมรับมัน

จิตใจฟุ้งซ่าน ให้รู้ว่าฟุ้งซ่านแล้ว มีความงุ่นง่านในใจเกิดขึ้น รู้ทัน  ไม่ตกเป็นทาสมัน “เห็นมัน” ถ้าเราเห็นมันอยู่ เราจะไม่เข้าไปเป็นมัน “อดทนที่จะเห็นมันไม่เข้าไปเป็นกับมัน” ไม่ต้องตั้งใจจนมันเพ่ง จนมันอึดอัด รู้ไปสบายๆ รู้บ้าง หลงบ้าง ไม่ใช่รู้แบบไม่ให้มันหลงเลย…ไม่ใช่แบบนั้น

รู้บ้าง หลงบ้าง ให้มันเป็นธรรมชาติ รู้บ่อยๆ มันเป็น “ลูกโซ่” ไม่ใช่เป็นเหล็กเส้นเหล็กแผ่น รู้แล้วหลง แล้วก็รู้ขึ้นมา แล้วก็หลง แล้วก็รู้ขึ้นมา จะหลงเร็วหรือหลงนานก็ไม่เป็นไร ค่อยๆ รู้เท่าที่รู้ได้ ค่อยๆ ฝึก

ถ้ารู้สึกเพ่ง รู้สึกแน่นขึ้นมา “ก็แค่รู้ว่า…ตอนนี้เป็นแบบนี้” ไม่ต้องแก้ไขจัดการอะไรทั้งนั้น มันมีสาเหตุก็เลยอึดอัดหรือแน่นขึ้นมา แค่รู้แค่ดูมันไปว่า ตอนนี้เป็นแบบนี้  มันจะแสดงความเปลี่ยนแปลง แสดงความไม่เที่ยงให้เราดู ทุกสภาวะที่กำลังเกิดขึ้นในกายในใจนี้เท่ากันในแง่ของความเป็น “ไตรลักษณ์” คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่มีอะไรดีกว่าอะไรทั้งนั้นในแง่ของไตรลักษณ์ แล้วทุกอย่างในโลกนี้จบลงที่ไตรลักษณ์ ไม่ว่ามันจะดีแค่ไหน จะเลวร้ายแค่ไหน มันจบลงที่ไตรลักษณ์คือ จุดสิ้นสุดของโลกนี้

เพราะฉะนั้น ความเข้าใจตามความเป็นจริงที่พระพุทธเจ้าสอนคือ เข้าใจว่ามันไม่เที่ยง มันทนอยู่สภาพเดิมไม่ได้ มันเป็นไปตามเหตุปัจจัย ควบคุมบังคับไม่ได้ เพื่อให้เราเข้าใจตามความเป็นจริงว่า ทุกสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในชีวิตเราจบลงที่ไตรลักษณ์…ไม่เกี่ยวกับเรา

ถ้าเราเข้าใจความเป็นจริงตามนี้ ชีวิตทุกคนจะง่าย…ง่ายมาก แต่เพราะเราไม่เข้าใจความเป็นจริง เราเลยยอมรับไม่ได้กับความเปลี่ยนแปลง ความที่มันอยู่สภาพเดิมไม่ได้ ความที่มันควบคุมบังคับบัญชาไม่ได้ ชีวิตเราเลยต้องทุกข์  ชีวิตเราเลยต้องดิ้นรน แสวงหาอะไรที่มันเที่ยง อะไรที่มันบังคับควบคุมได้ จัดการทุกสิ่งให้ดีที่สุด เรากำลังทำสิ่งที่ฝืนกฎธรรมชาติสูงสุดคือ ไตรลักษณ์ และถ้าเราทำอะไรที่มันฝืนธรรมชาติ ชีวิตเราไม่มีทางจะเป็นสุขได้เลย

เพราะฉะนั้น ยอมรับมันซะว่าชีวิตเป็นแบบนี้ ชีวิตนั้นตกอยู่ภายใต้กฎไตรลักษณ์ …ยอมรับมัน เรียกว่า “เห็นตามเป็นจริง” ค่อยๆ เห็นไปเรื่อยๆ ค่อยๆ เข้าใจความเป็นจริงไปเรื่อยๆ และเมื่อความเข้าใจนั้นสมบูรณ์ เราจะพ้นทุกข์อย่างสิ้นเชิง เราจะเป็นผู้ที่ไม่ต้องกลับมาเกิดอีกต่อไป

ถ้าจิตใจนั้นมีอาการเพ่ง เราต้องรู้ว่ามันทำเอง ไม่เกี่ยวกับเรา มันเป็นความเคยชินเก่าที่เราเคยทำมา ก็แค่รู้ว่าจิตใจมันยังติดความเคยชินเก่าที่จะเพ่งที่จะตั้งใจมากเกินไป แต่สิ่งสำคัญคือ เราอย่าไปช่วยมันเพ่ง เท่ากับเราไม่ได้สร้างเหตุแห่งความเพ่งเพิ่มเติม จิตใจมันทำตามความเคยชินเก่าๆ ที่เราเคยทำ มันยังติดอยู่ …เป็นเรื่องของมัน

เรามีหน้าที่อะไร? “สร้างเหตใหม่” ..สร้างเหตุใหม่ตามที่ผมสอนไปนี่แหละ มันจะค่อยๆ ล้างของเก่าทิ้งไปอย่างเป็นธรรมชาติ โดยที่เราไม่ต้องไปจัดการ แก้ไขความผิดพลาดที่ผ่านมา มีหน้าที่แค่ “สร้างเหตุที่ถูกต้องไปเรื่อยๆ” แล้วทุกอย่างจะดีเอง

อย่าเร่งรัดตัวเอง ให้เวลากับตัวเอง พอมันคลาย ก็รู้ว่ามันคลาย เห็นมั้ยว่ามันก็เป็นเอง มันอาจจะมีสาเหตุว่า อ่อ! ฟังธรรมแล้วมันคลาย แต่ก็รู้ว่ามันเป็นเหตุแบบนั้น ไม่เกี่ยวกับเราเหมือนกัน มันมีเหตุมันก็คลาย มันคลายเอง นี่คือมุมมองของความเป็น “อนัตตา” มันเป็นเอง ไม่เกี่ยวกับเรา แล้วเดี๋ยวมันอาจจะเพ่งขึ้นมาใหม่อีก อาจจะเบาลงกว่าเมื่อกี้นี้ ก็ดูมันไป มันจะแสดงความเป็นไตรลักษณ์ให้ดูอีก เห็นมั้ยว่าจะดีหรือไม่ดีเจริญปัญญาได้ทั้งนั้น…เท่ากัน!!

 

10-04-2562

Camouflage

 

YouTube :  https://youtu.be/Gx5pdzwhwkU

คลิปเสียงธรรมะทั้งหมดของอาจารย์ Camouflage : https://goo.gl/RDZFMI

======================

5 ช่องทางการอ่านและฟังธรรม

1) Facebook : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
http://www.facebook.com/sookguysookjai

2) Line : @camouflage.talk
https://line.me/R/ti/p/%40camouflage.talk

3) YouTube : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
https://goo.gl/in9S5v

4) Website: https://camouflagetalk.com/

5) Podcast : Camouflage – Dhamma Talk
https://itun.es/th/t6Mzdb.c
วิธีการติดตั้ง https://goo.gl/tBMY9S