93.ซ้อมรบ 2 – เตรียมความพร้อมของจิต

ตอนที่1 เตรียมความพร้อมของจิต

ความสงบในจิตใจก็เป็นสิ่งที่ถูกรู้ เรามีหน้าที่รู้จักว่าแบบนี้เรียกสงบไม่ใช่เอาเป็นเจ้าของ ไม่ใช่นั่งเพื่อให้มันสงบ จะเห็นว่าความสงบก็เกิดขึ้นเอง  จริงๆ ก็มีเหตุปัจจัยนั่นแหละแต่ไม่เกี่ยวกับเรา

อะไรที่เกิดขึ้นตรงหน้าเรามีหน้าที่แค่รู้ ไม่มีหน้าที่มากกว่านั้น ไม่มีหน้าที่เอามันเอาไว้ ไม่มีหน้าที่คงมันเอาไว้ “มีหน้าที่แค่รู้อย่างที่มันเป็น” ตอนนี้เป็นแบบนี้ แล้วถ้ามันเปลี่ยนแปลงก็แค่รู้ว่ามันเปลี่ยนแปลงแล้ว จำไว้ว่าเราไม่ได้เป็นเจ้าของอะไรทั้งนั้นการปฏิบัติธรรม เป็นแค่การเรียนรู้ปัจจุบันนี้เป็นแบบนี้…รู้เป็นแบบนี้

ต่อไปนี้นั่งหลับตาแล้วสังเกตความรู้สึกในกายในใจที่มันจะแสดงความเปลี่ยนแปลงให้เราเห็น…เห็นด้วยตาใจ บางทีความรู้สึกภายในใจนี้ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรก็ให้รู้สึกร่างกายไป เห็นร่างกายที่กำลังนั่งอยู่หรือรู้สึกถึงความมีอยู่ของร่างกายนี้ แค่รู้สึก ยังรู้สึกร่างกายนี้อยู่มั้ย ถ้าไม่รู้สึกมันจะหลับ

การเข้าคอร์สปฏิบัติธรรมเป็นไปเพื่อให้เรารู้จักการมีชีวิตที่อยู่กับตัวเองจริงๆ ไม่ได้อยู่ติดกับครอบครัว ไม่ใช่อยู่ติดกับโทรศัพท์ ไม่ใช่อยู่ติดกับเพื่อน ไม่ใช่อยู่ติดกับการพูดคุยฟุ้งซ่านหาความสุข แต่เป็นการเปิดโอกาสให้ตัวเองรู้จักวิถีชีวิตแบบใหม่ เก็บเกี่ยวประสบการณ์กับการที่เราจะได้อยู่กับตัวเองจริงๆ แล้วเราจะเข้าใจว่า ทำไมการ “มีชีวิตวิเวก สันโดษ” การมีเวลาอยู่กับตัวเองจึงสำคัญมากกับชีวิตของเราทุกคน เมื่อเราเข้าใจเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในการอยู่แบบนี้ เราจะรู้จักว่าในชีวิตประจำวันที่เราต้องกลับเข้าไปในโลก เราจะแบ่งเวลายังไง เราจะให้ความสำคัญกับการมีชีวิตวิเวกสันโดษ มีเวลาอยู่กับตัวเอง เราจะจัดสรรเวลาได้ เพราะเรารู้ความสำคัญแล้วว่าเวลาแบบนี้มีคุณค่ากับชีวิตมากขนาดไหน

ฝึกเรียนรู้ที่จะอยู่กับตัวเองเป็นเบื้องต้นเลย เรียนรู้ที่จะนั่งแล้วอยู่กับตัวเอง ร่างกายกำลังนั่งอยู่ รู้ได้มั้ย? ร่างกายกำลังหายใจอยู่ รู้ได้มั้ย? ขากำลังทับกันอยู่ รู้มั้ย? มือประสานกันอยู่ รู้มั้ย? ร่างกายแม้จะนั่งนิ่งๆ แบบนี้แต่มันไม่นิ่งจริงๆ รู้มั้ย? มันมีความขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวเล็กๆ น้อยๆ อยู่ตลอดรู้สึกได้มั้ย? เดี๋ยวความจำได้อะไรก็ตามเกิดขึ้นที่เรียกว่าสัญญา รู้ทันมั้ย? ความคิดเกิดขึ้น รู้ทันมั้ย? จิตวิ่งไปที่ไหนในร่างกายมันเป็นรู้สึกที่ก้น เดี๋ยวมันไปรู้สึกที่ขา เดี๋ยวมันไปรู้สึกที่หลัง รู้ทันได้มั้ย? แค่รู้ได้มั้ยไม่ต้องยุ่งกับมัน “แค่รู้ว่า ตอนนี้เป็นแบบนี้

แค่รู้สึก แล้วก็ผ่านไป”…แค่รู้สึก แล้วก็ผ่านไป อย่าให้มันก่อรูปของความคิดความเป็นตัวเป็นตนเกิดขึ้น คำสอนแบบนี้เป็นแค่คำพูดนะ ในความเป็นจริงแล้วเนี่ยมันรู้สึกอะไรเข้ามันจะเข้าไปจับไปยึดแล้วก็ก่อรูปของความคิดก่อความเป็นตัวเป็นตนขึ้น และนั่นเป็นสิ่งที่ “เราต้องรู้ทันความเป็นเราเกิดขึ้นแล้ว ความเป็นชีวิตงอกงามขึ้นมาอีกแล้ว มิจฉาทิฏฐิเกิดขึ้นอีกแล้ว”

อย่าลืมว่าให้ระวังความสงบ ถ้าเราไม่ระวังความสงบเราจะไปเป็นความสงบนั้น เราจะหลับในที่สุด ถามตัวเองยังเห็นร่างกายนี้อยู่มั้ย ร่างกายนี้มันกำลังนั่งอยู่เห็นมั้ย รู้สึกถึงความมีอยู่ของร่างกายมั้ย เรานั่งเพื่อจะตื่นไม่ใช่นั่งเพื่อจะหลับ เรานั่งเพื่อจะตื่นรู้ เห็นร่างกายและจิตใจนี้อย่างที่มันเป็น

การปฏิบัติธรรม อย่าคิดมาก อย่าวิเคราะห์มาก ค่อยๆ ปฏิบัติตามที่แนะนำไปเรื่อยๆ ความคิดนั้นไม่สามารถพาเราเข้าใจธรรมะได้ การลงมือปฏิบัติจะแก้ข้อสงสัยทุกอย่าง เพราะฉะนั้น ตอนนี้ถ้ามีความสงสัยเกิดขึ้นให้ “รู้ทัน” ไม่ต้องเข้าไปคิดหาคำตอบ  สังเกตมั้ยว่าพอเราหลุดจากความสงสัย ชีวิตก็พ้นทุกข์ขึ้นมาทันที เนี่ยคือความอิสระไม่ติดกับสภาวะใดๆ ไม่เป็นทาสของความสงสัย

ยังรู้สึกร่างกายอยู่มั้ย? ยังเห็นร่างกาย นั่งอยู่มั้ย? ชีวิต 80-90%ของนักปฏิบัติธรรมคือทำแบบนี้ 80-90%ของชีวิตนักปฏิบัติธรรมคือ การเตรียมความพร้อมของจิตให้มีกำลัง พอถึงเวลาเหตุปัจจัยมันพร้อม มันจะเกิดการเห็นตามเป็นจริงที่เรียกว่า “วิปัสสนาญาณ” ได้ มันจะเกิดเมื่อไหร่ก็ได้ไม่มีใครรู้

เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราทำได้แค่อย่างเดียวคือ “เตรียมความพร้อมของจิต” ที่พร้อมให้มันเห็นความจริงได้ด้วยการทำแบบนี้ การที่เราเห็นร่างกายมันนั่งอยู่ เห็นความรู้สึกอารมณ์ทางจิตใจ เช่น ปกติอยู่ก็รู้มันปกติอยู่ มันเปลี่ยนแปลงก็รู้มันเปลี่ยนแปลงอยู่  เหล่านี้ก็ถือว่าเป็นการเริ่มเปิดโลกทัศน์ใหม่ที่จะเห็นความจริงเบื้องต้น เริ่มมีสติที่เรียกว่า “สติปัฏฐาน 4” รู้อยู่ใน กาย เวทนา จิต ธรรม

 

ตอนที่ 2 สะสม

การปฏิบัติธรรม สรุปรวบยอด ก็คือ “การเห็นความจริง” แต่ได้เห็นมากขึ้นๆ เรื่อยๆ เห็นด้วยความรู้สึกก่อน ปฏิบัติไปมากเข้าๆ ลึกซึ้งมากเข้า จะเรียกว่าเกิดการเห็นด้วยญาณ… “ญาณหยั่งรู้

เพราะฉะนั้น เรามีหน้าที่ค่อยๆ “สะสม”…สะสมความรู้สึกตัว สะสมการเห็นร่างกายเห็นจิตใจอย่างที่มันเป็น สะสมไปเรื่อยๆ สะสมความไม่ลืมเนื้อลืมตัวนี้ไปเรื่อยๆ เราจะใช้โอกาส 7-8 วันนี้ที่จะสะสม เขาเรียกว่า “สะสมอริยทรัพย์”…ทรัพย์ที่จะติดตัวเราไปจนกระทั่งเราตาย เป็นทรัพย์เดียวที่ติดตัวข้ามภพข้ามชาติไปกับเราได้ ทรัพย์ที่เราพยายามหาทุกวันนี้มันไปกับเราไม่ได้ อารมณ์ ความรู้สึกความผูกพันธ์ความรัก ความห่วงใย ทั้งหลายมีแต่ให้ทุกข์กับเรา สะสมไปเป็นสันดานที่จะสร้างทุกข์ให้ทุกภพทุกชาติไป

พวกเราสะสมกันมานานแล้ว สะสมมาตั้งแต่เกิดความเป็นตัวเรา ความเป็นคน ความรู้สึกอารมณ์ต่างๆ เอาเป็นของเราหมดทุกอย่าง เพราะฉะนั้น วันนี้สะสมสิ่งใหม่ สะสมความรู้เนื้อรู้ตัว สะสมความไม่ลืมตัว นี่พูดภาษาง่ายๆ พูดให้ยากเรียกว่าสะสมสติ สมาธิ ปัญญา  พูดแล้วมันก็เป็น Abstract ฟังไม่รู้เรื่อง สะสมความไม่ลืมเนื้อลืมตัวนี้ไว้ สะสมความรู้เนื้อรู้ตัวนี้ไว้ จะเป็นนิสัยใหม่ จะเป็นมุมมองใหม่ในชีวิต

วิถีชีวิตแบบใหม่จะเกิดขึ้น การใช้ชีวิตที่มีปัญญาญาณนำไปจะเกิดขึ้น จะไม่ใช่การใช้ชีวิตตามความคิด ตามกิเลสแบบเดิม แต่อาศัยการฝึก ฝึกสติแบบนี้ รู้เนื้อรู้ตัวไว้ บัวมี 4 เหล่าเราเลือกเองได้ว่าจะเป็นเหล่าไหน เหล่าที่แย่ที่สุดคือ เหล่าที่สอนไม่ได้ บางคนมานั่งไม่ต้องถึงวันหรอก นั่งชั่วโมงเดียวก็อยากกลับบ้านแล้ว…เบื่อ อยากจะไปทำนี่ทำนู่นทำนั่น ทำอย่างอื่น เนี่ยเรียกว่าบัวเหล่าที่ 4 ความมืดมันหนาทึบปิดบัง ความสว่างมันเข้าไปไม่ถึง เข้าใจอะไรไม่ได้

ลองดูซิว่า ชีวิตที่เหลือแค่รู้สึกมันเป็นยังไง พบประสบการณ์ตรงด้วยตัวเอง เคยมีชีวิตแบบนี้ตอนทำงานอยู่ในโลกมั้ย อยู่ในโลกก็คิดทั้งวัน เคยเหลือชีวิตที่มีแค่รู้สึกแบบนี้มั้ย มีทุกข์มั้ยชีวิตแบบนี้ พ้นทุกข์ตั้งแต่ตอนนี้แล้ว ฝึกไปเรื่อยๆ มีของแถมคือ มีปัญญาด้วย มีญาณหยั่งรู้ด้วย แต่ถ้าอยู่ในโลกคิดทั้งวัน ดิ้นรนทะยานอยากทั้งวัน ได้ของแถมเหมือนกัน คือ ได้ความทุกข์ แล้วก็ได้ความทุกข์ แล้วก็ได้ความทุกข์ตลอดชีวิต

บางคนเคยสงสัยว่า โอ้ย ถ้ามีคนมาทำอย่างนี้ทั้งโลกนี้ ก็พอดีกันไม่ต้องมีคนทำงาน ไม่มีวันนั้นหรอกไม่ต้องคิด ขนาดเราจะลากตัวเองมาปฏิบัติธรรมเรายังคิดแทบแย่เลย ใช้ความพยายามแทบแย่เลยกว่าจะมาเข้าคอร์ส กว่าจะลงมือปฏิบัติธรรม

ดังนั้น ไม่ต้องกลัวว่าเรื่องอย่างนั้นจะเกิดขึ้น ไม่มีทางเกิดขึ้น โลกนี้เต็มไปด้วยกิเลส คนมัวเมาอยู่ในอำนาจของความหลงนับภพนับชาติไม่ถ้วน จะให้คนทั้งโลกมาปฏิบัติธรรมนั้นไม่มีทาง คนมีบารมีอย่างพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นมาในโลกยังทำไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น เรื่องแบบนี้เรื่องของชีวิตเราเอง เราเป็นคนเลือกไม่ใช่ปล่อยไปตามยถากรรม

 

ตอนที่ 3 เผชิญหน้ากับความจริง

สังเกตมั้ยบางคนก็จิตใจดิ้นรนไม่อยากอยู่ปฏิบัติแบบนี้แล้ว นี่คือความทุกข์มันจี้ก้นเราตลอดเวลา เราไม่ยอมเผชิญหน้ากับความทุกข์ เราอยากหนีอย่างเดียว หนีได้ตั้งแต่เกิดจนถึงตอนนี้ จนถึงวันนึงเราจะหนีไม่ได้ ถ้ายังไม่ฝึกที่จะเผชิญหน้าตามความเป็นจริง วันที่เราหนีไม่ได้ เราจะทุกข์ที่สุดในโลกนี้ ทุกข์ที่สุดในชีวิต

เราจะเผชิญหน้าความเป็นจริงยังไง เวลาเกิดความรู้สึกอารมณ์อะไรในจิตใจ เช่น เบื่อก็เห็นว่าตอนนี้มีความเบื่อเกิดขึ้น ไม่ใช่เรา มันเป็นสิ่งที่ถูกรู้ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเอง เวลามันเกิดขึ้น เราไม่อยากให้มันมีได้มั้ย บังคับได้มั้ย ตอนนี้ฉันต้องการมีความสุข สั่งได้มั้ยให้จิตมีความสุขตอนนี้เลย…สั่งไม่ได้ เพราะมันไม่ใช่ของเรา จิตใจอารมณ์ความรู้สึกไม่ใช่ของเรา มันปรุงแต่งไปตามธรรมชาติของอวิชาของความไม่รู้ ก็ปรุงแต่งไปตามต้นตอที่มันมีคือกิเลส ตามความเคยชินเก่าๆ ที่มันมีคือ มันชอบหนี

มันทำของมันเอง แต่พอเราคว้าเป็นของเราปุ๊บ เราก็ทุกข์เลย จากแค่ความเบื่อเป็นสภาวะอันหนึ่งกลายเป็นเราเบื่อ ความเบื่อกับเราเบื่อไม่เหมือนกัน ความปวดกับเราปวดไม่เหมือนกัน เห็นความปวดหรือความเบื่อเป็นอีกสิ่งหนึ่งเหมือนเห็นคนอื่นปวด เหมือนเห็นคนอื่นนั่งเบื่ออยู่ เราไม่ต้องเบื่อไปกับมัน เราไม่ต้องปวดไปกับมัน จะเห็นแบบนั้นได้ “จิตใจต้องมีกำลังมีสมาธิ”  สมาธินั้นมาจากการที่เราฝึกแบบนี้ รู้เนื้อรู้ตัวไว้ ร่างกายมันอยู่ในอิริยาบถไหนก็รู้ ก็เห็น ไม่ปล่อยตัวปล่อยใจอยู่ในโลกของความคิดปรุงแต่ง อยู่ในอารมณ์ความหลง แล้วสมาธิจะค่อยๆ เกิดขึ้น เราจะเห็นอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ เป็นสิ่งที่ถูกรู้โดยไม่มีเราเข้าไปเกี่ยวข้องกับมัน ถ้าเราไม่เข้าไปจับยึดอารมณ์ความรู้สึกหรือความคิดใดๆ มาเป็นของเรา “ไม่มีใครทุกข์”

ศาสตร์ของพระพุทธเจ้าเป็นศาสตร์แห่งความพ้นทุกข์ แล้วเราก็พ้นทุกข์ได้ตั้งแต่เดี๋ยวนี้ตอนนี้ ถ้าเราปฏิบัติให้มันถูก ปฏิบัติให้มันต่อเนื่อง ปฏิบัติให้มันจริงๆ

 

ตอนที่ 4 พลิกกิเลสเป็นปัญญา

นั่งแล้วก็ฝึกที่จะเห็นความรู้สึก ความรู้สึกตอนกลางวันกับตอนบ่ายกับตอนนี้ไม่เหมือนกันเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัยไม่มีเราเข้าไปเกี่ยวข้องกับความรู้สึกใดๆ ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่

แม้ว่าเรานั่งอยู่แบบนี้ ความรู้สึกภายในใจมันจะไม่ค่อยมีอะไรเปลี่ยนแปลง ส่วนใหญ่เป็นปกติ สิ่งสำคัญไปมากกว่านั้นคือ “เรากำลังฝึกความเคยชินใหม่” ที่จะหันกลับมารู้ทันความรู้สึกในกายในใจนี้ แม้ว่ามันไม่มีอะไร มันปกติอยู่ เราก็รู้จักที่จะเห็นความรู้สึกตอนนี้เป็นแบบนี้

การที่เราฝึกความเคยชินที่จะหันกลับมาดูกายดูใจ หรือเรียกว่าดูความรู้สึกตอนนี้เป็นยังไง มันจะติดตัวเราไป เมื่อเราอยู่ในชีวิตประจำวันของเราที่ไม่ได้นั่งสมาธิแบบนี้ที่ต้องเผชิญกับโลกเผชิญกับคน แล้วเมื่อเกิดความรู้สึกปลี่ยนแปลงขึ้นในจิตใจ ความเคยชินที่เราฝึกอันนี้จะเกิดขึ้นจะเตือนเราขึ้นมาว่า อ่อ!ตอนนี้ความรู้สึกในใจเปลี่ยนแปลงแล้ว มีอารมณ์แบบนี้เกิดขึ้น “ไม่ใช่เรา”

มันเป็นเพียงสักว่าความรู้สึก สักว่าอารมณ์ที่ปรุงแต่งไปตามเหตุปัจจัย ที่ผ่านเข้ามากระทบ เข้ามาแล้วก็เกิดการตอบสนอง คือ การปรุงแต่งไปในทางกุศลหรืออกุศลด้วยตัวของมันเอง ไม่เกี่ยวกับเรา เมื่อไหร่เราคว้าอะไรเป็นของเรา เราคว้าความคิด คว้าอารมณ์ คว้าความรู้สึกใดๆ ที่เกิดขึ้นในกายในใจนี้มาเป็นของเรา “เราต้องทุกข์ทันที” แต่ถ้าเราพลิกจากการคว้ามาเป็นของเราเป็นการเห็น สิ่งต่างๆ ที่ผมพูดถึงเมื่อกี้นี้ “พลิกให้เป็นการเห็น” ว่ามันเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ถูกรู้ ไม่ใช่เราเท่ากับว่า “เราพลิกกิเลสเป็นปัญญา” ฝึก…ฝึกแบบนี้

เราฝึกที่ตรงนื้ เมื่อตีระฆัง เลิก เดินออกไปจากหอธรรมนี้กลับไปห้องนอน เราไม่ใช่เลิกปฏิบัติ เรายังคงเห็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นในใจอยู่เนืองๆ เรายังคงเห็นร่างกายที่กำลังขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวอยู่เนืองๆ “ไม่ลืม” ไม่ใช่เลิกนั่งเลิกเดินบนนี้ก็เลิกปฏิบัติไปเลย ถ้าอย่างนั้นก็เสียแรงเปล่า เสียเวลาเปล่าทั้งคนพูดทั้งคนฟัง

เราคอยหันกลับมาดูกายหันกลับมาดูจิตใจเนืองๆ ตอนที่จิตใจไม่มีอะไร เป็นปกติอยู่ แล้วก็รู้สึกกายไว้ รู้สึกกายหรือว่าเห็นร่างกายนี้มันนั่งอยู่หรือว่ารู้สึกถึงความมีอยู่ของร่างกายนี้ “ไม่ลืม”…ไม่ลืมว่าเรามีร่างกายนี้อยู่ แต่มันไม่ใช่ของเรานะ พูดว่าเรามีร่างกายนี้เป็นคำพูดเฉยๆ รู้สึกถึงความมีอยู่ของมัน การที่เรารู้สึกถึงความมีอยู่ของร่างกายได้ขณะนั้นเรากำลังพ้นออกจากโลกของความคิดปรุงแต่งทั้งปวง

การปฏิบัติธรรมเราอาศัยเครื่องมือ คือ กายและจิตนี้ เราอาศัยสิ่งที่มีอยู่แล้ว เราไม่ต้องขวนขวายหาสิ่งภายนอกเพื่อจะบรรลุมรรคผลนิพพาน เราอาศัยสิ่งที่เรามีอยู่แล้วได้มาตั้งแต่เกิด แต่เราใช้มันเป็นทางหลง ใช้ไปในทางตามกิเลส ใช้ไปในทางของมิจฉาทิฏฐิความเห็นผิด ใช้ทั้งชีวิตแบบนั้น ขณะนี้เรากำลังได้ยินได้ฟังการใช้กายและจิตนี้ที่เราอุตส่าห์ได้มันมาแล้ว ไม่รู้ต้องใช้บุญมากมายมหาศาลเท่าไหร่ที่จะได้ร่างกายและจิตใจแบบนี้ มีโอกาสมานั่งฟังธรรมแบบนี้ เพราะฉะนั้น ใช้ให้มันถูก ใช้ให้มันเกิดประโยชน์ ใช้ให้มันสมกับคุณค่าที่เราจะได้ถึงความหลุดพ้นในชีวิตนี้

สังเกตมั้ยว่าชีวิตของเรา เราใช้ทุกอย่างคุ้มค่า ใช้เงินก็ใช้คุ้มค่า ซื้ออะไรมาก็ใช้อย่างคุ้มค่า จะซื้ออะไรจะหาอะไรถามอากู๋กูเกิ้ลทุกวัน วิเคราะห์อย่างดี สมกับเงินที่เสียไปคุ้มค่าทุกอย่าง ยกเว้นชีวิตตัวเอง! พิจารณาให้ดี เราใช้กายและจิตนี้ไปในทางโลกไม่คุ้มเลย ไม่เคยใช้ชีวิตนี้อย่างคุ้มค่าเลย ใช้ไปในทางเสื่อม ทางทำลาย ทางเพิ่มความหลง เพิ่มกิเลส เพิ่มความอยาก ใช้ไปในทางนั้นอย่างเดียว

คนไทยเรานิยมความกตัญญูมาก แต่เรากตัญญูผิดที่ผิดทางตลอด พ่อแม่ก็ให้ร่างกายและจิตใจนี้มา ใช้ให้มันถูกคือ ความกตัญญูสูงสุด ใช้ให้มันเกิดประโยชน์ ใช้ให้มันเป็นประโยชน์ต่อตัวเองจนที่สุดก็เป็นประโยชน์กับคนอื่นได้ ผลลัพธ์เหล่านั้นคือ “ความกตัญญูสูงสุด” ไม่ใช่กตัญญูด้วยการตามใจพ่อแม่

 

09-04-2562

Camouflage

 

YouTube : https://youtu.be/fog9RBVYA48

คลิปเสียงธรรมะทั้งหมดของอาจารย์ Camouflage : https://goo.gl/RDZFMI

======================

5 ช่องทางการอ่านและฟังธรรม

1) Facebook : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
http://www.facebook.com/sookguysookjai

2) Line : @camouflage.talk
https://line.me/R/ti/p/%40camouflage.talk

3) YouTube : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
https://goo.gl/in9S5v

4) Website: https://camouflagetalk.com/

5) Podcast : Camouflage – Dhamma Talk
https://itun.es/th/t6Mzdb.c
วิธีการติดตั้ง https://goo.gl/tBMY9S