92.ซ้อมรบ 1 – ปัญญานำสมาธิ

ตอนที่ 1 ปัญญานำสมาธิ

เวลาเดินจงกรมก็เดินเป็นธรรมชาติ เคยเดินยังไงก็เดินอย่างนั้น ไม่ต้องบังคับ เรียนรู้ร่างกายที่กำลังเดินอยู่ ทั้งชีวิตเราเดินไปก็คิดไป ไม่เคยเห็นร่างกายนี้กำลังเดินอยู่ ลองเปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่ แต่เดินก็ไม่ใช่ใจลอย เดินก็เห็นร่างกายมันเดิน…เห็นด้วยตาใจ

คำว่า “ตาใจ คือ เห็นด้วยความรู้สึก”…เห็นด้วยความรู้สึกว่าร่างกายนี้กำลังเดินอย่างนี้ น้ำหนักลงเท้าแบบนี้  เวลาเราหมุนตัว เราก็รู้ว่าร่างกายนี้กำลังหมุนอยู่ แล้วเราเป็นอะไร เราเป็นผู้ที่กำลังรู้ว่าร่างกายนี้กำลังเป็นยังไงอยู่

เดินธรรมดาไม่ต้องกระย่องกระแย่ง

อย่าไปคิดว่าการปฏิบัติธรรมเป็นเรื่องผิดธรรมชาติ มันเป็นการเรียนรู้ธรรมชาติของกายและใจนี้ เป็นสิ่งที่เราไม่เคยเรียนรู้เลย

เวลาเราป่วยก็ไปหาหมอ เชื่อหมอ เราไม่เคยเรียนรู้ร่างกายตัวเอง ไม่เคยรู้จักว่าจริงๆ มันทำงานยังไง แม้กระทั่งการกิน เราก็ไม่เคยรู้ว่ากินแล้วร่างกายตอบสนองยังไง เอาแต่กินด้วยความอร่อย กินด้วยความตะกละ กินด้วยความอยาก เราใช้ชีวิตอยู่กับความหวังตลอด ตะกายหาความสุข ไม่เคยอยู่กับความจริงตรงนี้ ร่างกายตอบสนองยังไงไม่เคยรู้ไม่เคยสนใจ เป็นอะไรขึ้นมาก็วิ่งหาคนอื่นพึ่งตัวเองไม่ได้ เพราะฉะนั้น “เริ่มที่จะเรียนรู้ร่างกายนี้ ทำอะไรอยู่ก็รู้สึกร่างกายนี้

จะเดินช้าหรือจะเดินเร็วก็ไม่ใช่ปัญหา ปัญหาคือ มีสติรู้สึกอยู่มั้ยว่าตอนนี้ร่างกายกำลังเดินเร็วหรือเดินช้า จิตใจเป็นยังไงสังเกตมั้ย เดินด้วยความหวังอะไรหรือเปล่า หวังว่าจะให้เป็นยังไงหรือเปล่า รู้ทันว่าความหวังเกิดขึ้นแล้ว  เมื่อความหวังเกิดขึ้นความเป็นตัวเป็นตนก็เกิดขึ้น นั่นเป็นส่วนเกิน…ส่วนเกินของชีวิตของนักปฏิบัติธรรม

ชีวิตของนักปฏิบัติธรรมมีแค่รู้สึก” แค่รู้สึกอยู่ที่ขณะนี้ ยืนอยู่รู้สึกมั้ย น้ำหนักที่เท้ายืนอยู่รู้สึกมั้ยว่าร่างกายนี้กำลังยืนอยู่ ออกเดินแล้วรู้สึกมั้ยว่ามีความเคลื่อนไหวของร่างกาย เนี่ยเราเคยรู้สึกมั้ย บางคนโตมา 30-40 ปีไม่เคยรู้สึกเลยอยู่แต่ในความคิด อย่างนี้เรียกว่าคนไม่รู้จักชีวิต อยู่แต่ในโลกจินตนาการ อยู่ในโลกแห่งความลวงหลอก เพราะฉะนั้น เวลานี้ชั่วโมงนี้เราให้ความสำคัญกับการรู้สึกตัว เห็นร่างกายและจิตใจมันเป็นยังไงก็เห็นมันเป็นอย่างนั้น เรียกว่า “เห็นตามเป็นจริง

จิตมันไปคิดก็ไม่ต้องกังวลว่า อุ้ย! มันไปคิดเยอะมันฟุ้งซ่าน ก็แค่รู้ว่าไปคิดแล้ว รู้แล้วมันก็จะกลับมาเองไม่ต้องดึงมันกลับมา มันจะกลับมาที่เนื้อที่ตัว กลับมาที่การเห็นร่างกายนี้ที่กำลังเดินอยู่

ไหลออกไปดูก็รู้ทันว่าไหลออกไปแล้ว ไม่ใช่ห้ามไหล ก็แค่รู้ว่ามันไหลออกไป มันลืมเนื้อลืมตัวไปแล้ว ลืมความรู้สึกเนื้อความรู้สึกตัวไปแล้ว ค่อยๆ รู้สึกไม่มีอะไรซีเรียส รู้สึกเท่าที่รู้สึกได้ “รู้สึกเท่าที่จิตใจนี้มีกำลังสมาธิพอที่จะรู้สึกได้

ทุกครั้งที่รู้สึกขึ้นมาก็เป็นสติเป็นสมาธิ สติที่ถี่ๆ เข้าก็จะเป็นบ่อเกิดของสมาธิ สมาธิที่เราใช้ปฏิบัติธรรมไม่ใช่สมาธิสงบ แต่เป็นสมาธิที่ตั้งมั่น เรียกว่า “สัมมาสมาธิ” เป็นสมาธิที่เกิดจากการพ้นจากโลกของความคิดปรุงแต่งทั้งปวง ด้วยเครื่องมือ คือ อาศัยความรู้สึกตัว อาศัยการเห็นกายและจิตนี้ตามเป็นจริง แล้วสมาธิก็จะเกิดขึ้น

การปฏิบัติแบบนี้ เรียกว่า “ใช้ปัญญานำสมาธิ” อาศัยเครื่องมือเห็นกายและจิตนี้ตามเป็นจริง เห็นร่างกายอย่างที่ร่างกายเป็น เห็นจิตใจหรือที่เรียกว่าความรู้สึกอารมณ์ต่างๆ ที่เป็นอยู่ในขณะนี้ตามเป็นจริง แล้วสมาธิจะเกิดเอง ไม่ต้องพยายามจะมีสมาธิ มันก็เกิดเอง

 

ตอนที่ 2 ความสุขที่แท้จริง

ถ้ารู้สึกเบื่อ นั่นแปลว่าไม่รู้สึกตัวแล้ว อยู่ภายใต้อารมณ์ความรู้สึกความคิดแล้ว เป็นทาสแล้ว ไม่เป็นอิสระแล้ว

เมื่อเข้าไปจับยึดอารมณ์ความรู้สึกมาเป็นของเรา ความเป็นเราก็เกิดขึ้น ความดิ้นรนแสวงหาทางจิตใจก็จะเกิดขึ้น เหล่านี้เป็นตัวแสดงว่าความเป็นตัวตนนี้เกิดขึ้นแล้ว แล้วแน่นอนสิ่งที่ตามมาคือ “ความทุกข์

เราเห็นมั้ยว่าเดินเฉยๆ เนี่ยไม่ต้องทำอะไรเลย เดินเฉยๆ ในห้องแอร์พื้นลามิเนตอย่างดี มันยังทุกข์เลย คิดดู ทำไมชีวิตมันทุกข์ง่ายขนาดนี้ แต่เราไม่เห็นนะ เพราะเราวิ่งหนีความทุกข์ตลอดเวลา” เบื่อแล้วก็เลิกไปทำอย่างอื่นดีกว่า ไม่มีความอดทนอะไรเลย เบื่อก็เห็นความเบื่อ ความเบื่อเกิดขึ้นแล้ว ความดิ้นรนแสวงหาในใจเกิดขึ้นแล้ว ไม่ใช่เรา มันเป็นแค่สภาพสภาวะอันนึงที่เกิดขึ้นในใจเฉยๆ

หัดรู้ทันความเป็นเราที่เกิดขึ้น” เมื่อเกิดขึ้นแล้วรู้ทัน ความเป็นตัวเป็นตนในชีวิตนี้เกิดขึ้นอีกแล้วเกิดบ่อยเหลือเกินในวันๆ นึง รู้ทัน ถ้ารู้ทันตรงนี้ได้การปฏิบัติธรรมจะไปได้เร็วมาก

คนที่ยังสังเกตไม่ค่อยเป็น ให้ลองหยุดยืนที่หัวท้ายจงกรม หยุด…หยุดแล้วแค่รู้สึก แค่รู้สึกน้ำหนักที่เท้าก็ได้ แค่เห็นร่างกายมันยืนอยู่ก็ได้ ขณะนั้นๆ จะเห็นว่ามันเป็นเพียงแค่ความรู้สึก เหลือเพียงแค่ความรู้สึก ไม่มีเราไม่มีใคร จิตใจนี้เป็นปกติอยู่ ไม่มีความดิ้นรนบีบคั้นอะไรทั้งนั้น แต่แล้วไม่นานอารมณ์ความรู้สึกก็เกิดขึ้น เราจะเข้าไปจับไปยึดมัน ความเป็นเราก็เกิดขึ้น ก็รู้ทันเกิดขึ้นอีกแล้ว มันเกินกว่าแค่รู้สึกแล้ว

ถ้าจิตใจมีสมาธิดี มันเกิดขึ้นปุ๊บ มันก็รู้ทันปั๊บ ก็ดับไปเลย หมดไป หรือไม่ก็จางคลายไป ไม่ได้เอามาเป็นของเรา  การเห็นแบบนี้นี่แหละที่เรียกว่า “ความสุขในการปฏิบัติธรรม เกิดจากการเห็นสภาพสภาวะใดๆ ในกายในใจนี้ตามเป็นจริง

พวกเราหลายคนอาจจะไม่เข้าใจว่ามันสุขยังไง มันเป็นเรื่องธรรมดานะเหมือนเราชิมน้ำตาลแค่เกล็ดเดียวเราก็ไม่รู้หรอกว่ามันหวาน ต้องชิมไปเรื่อยๆ เราก็ต้องขยันไม่ขี้เกียจ ปฏิบัติให้ต่อเนื่อง เราจะได้รู้จัก “ความสุขที่แท้จริง คือ ความพ้นจากทุกข์ทั้งปวง คือ ความอิสระไม่ติดกับสิ่งใดหรืออะไรๆ เลย” ชีวิตเป็นแค่การเลื่อนไหล flow อยู่ในธรรมชาติจนกว่าจะหมดลมหายใจไป

 

ตอนที่ 3 สัมมาสติ

สังเกตจิตใจหน่อยมีอะไรมั้ย ความรู้สึกอารมณ์ในใจตอนนี้เป็นยังไง สังเกตมั้ยพอเราหันกลับมาดูจิตใจหรืออารมณ์ความรู้สึกในตอนนี้ว่าเป็นยังไง มันกลับมาที่เนื้อที่ตัวอัตโนมัติเลย มันตัดความหลงทันที

พอเราหันกลับมาดูจิตใจบ่อยๆ เนืองๆ หรือเท่าที่ระลึกขึ้นได้ เราจะเข้าใจว่า โอ้ เมื่อกี้หลงไปเลย โอ้ เมื่อกี้ไปติดอยู่กับความคิดติดกับอารมณ์อะไรก็ไม่รู้นัวไปหมด  เราจะเห็นความแตกต่างได้ว่า โอ้! เมื่อกี้หลงไปเป็นแบบนี้นี่เอง ลืมเนื้อลืมตัวไปเป็นแบบนี้นี่เอง ไม่มีสติเป็นแบบนี้นี่เอง

คนไม่มีสติก็เหมือนคนที่ตายไปแล้ว มีชีวิตอยู่ก็เหมือนคนที่ตายไปแล้วไม่มีคุณค่าอะไร  เพราะคนไม่มีสติคือคนที่จะทำอะไรตามความอยากตามกิเลส รังแต่จะสร้างความวุ่นวายให้กับตัวเองและคนรอบข้างจนถึงสังคมประเทศ

สติที่ว่านี่ไม่ใช่สติทั่วๆ ไป ที่ว่าเดินข้ามถนนดูซ้ายดูขวารถไม่ชน สติที่ว่านี้เรียกว่า “สัมมาสติ หรือ สติปัฏฐาน 4” คือ สติที่ไม่ลืมเนื้อลืมตัวนี่แหละ รู้กายรู้ใจอยู่นี่แหละ เขาเรียกว่าสติ เป็นสติที่คนในโลกไม่เคยมีเลย

วันนี้เราก็เหมือนเด็ก เหมือนตอนเด็กๆ ที่เราโตขึ้นมา พ่อแม่ก็จับเราเข้าไปเรียนหนังสือแล้วก็บอกเราต้องเรียนหนังสือ ไม่อยากไปเรียนก็ต้องเรียนหนังสือ โตขึ้นจะได้มีอาชีพการงานทำ เราก็เชื่อนะ ทำทั้งๆ ที่เราไม่เข้าใจหรอกว่าทำไมต้องเรียน เราคิดไม่ออก มีแต่พ่อแม่บอกเราว่าต้องเรียน  มาวันนี้เหมือนกันมีคนกำลังบอกเราว่า ต้องมีสติ รู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง พวกเราก็ทำตัวให้เหมือนตอนเป็นเด็กทำตามที่พ่อแม่ครูบาอาจารย์บอก  แล้ววันนึงเราจะเข้าใจว่า มันมีความสำคัญกับชีวิตมากขนาดไหน วันนี้เราอาจจะไม่เข้าใจอะไรเลย แต่ขอให้ทำ ความเข้าใจจะค่อยๆ เกิดขึ้นจากการปฏิบัติ เราไม่สามารถเข้าใจธรรมะจากความคิดได้หรือจากการฟังได้

สังเกตได้มั้ยว่าความเป็นเราเกิดขึ้นกี่ทีแล้ว เดินๆ อยู่ประมาณครึ่งชั่วโมงนี่  ความเบื่อเกิดขึ้นรู้ทันหรือว่าเข้าไปเป็นความเบื่อนั้น

อย่าลืมว่าการปฏิบัติธรรมนี้ให้มันเป็นธรรมชาติ ไม่ใช่ตั้งใจมากเกินไป เราเดินจงกรมก็แค่เห็นร่างกายนี้มันเดินอยู่ เราเห็นมันได้ ไม่ต้องใช้ตาจริงๆ เราเห็นได้ด้วยความรู้สึก มันจะเดินเร็วเดินช้าก็เห็นมันเดินอยู่ “ตัวสำคัญคือ ยังเห็นอยู่” ไม่ใช่การเดินเร็วเดินช้า แต่ยังเห็นอยู่ว่ามันเดินอยู่ มันหยุดอยู่ มันหมุนอยู่

มันจะเผลอหลงลืมไปบ้างก็เป็นเรื่องธรรมดาเหมือนกัน ไม่ต้องไปคิดว่าแย่จัง เห็นในมุมของเหตุปัจจัยให้ได้ว่า “มันมีเผลอก็เลยมีรู้ขึ้นมา มันมีหลงก็เลยมีรู้ขึ้นมา” แล้วเดี๋ยวรู้ก็กลายเป็นหลงอีก เห็นว่าอะไรๆ ทั้งหมดนี้ก็ไม่เที่ยงทั้งนั้น จะบังคับควบคุมให้มันมีสติตลอดเวลาไม่ลืมเนื้อลืมตัวเลยก็เป็นไปไม่ได้ นี่คือ “กฎของธรรมะ ธรรมชาติ

 

ตอนที่ 4 เห็นตามเป็นจริง

ตั้งแต่เดินมามีใครรู้สึกกระพริบตาบ้างมั้ย ตามันกระพริบอยู่เรื่อยๆ เคยรู้สึกมั้ย  สังเกตได้มั้ยเราไม่ค่อยรู้สึกอะไรอยู่ในตัวในกายในใจ เราไม่ค่อยรู้เรื่อง

เวลาเดิน สังเกตจิตใจเรามีความรู้สึกว่าจะเดินเพื่ออะไร จะเอาอะไรมั้ย ให้รู้ทันความหวังที่เกิดขึ้น ตอนนี้มีหน้าที่แค่เห็นร่างกายนี้มันกำลังเดินอยู่ แค่เราเห็นร่างกายนี้มันกำลังเดินอยู่ สังเกตมั้ยว่าความสงบหรือความเป็นปกติของจิตใจนี้มันเกิดขึ้นเอง

นี่เรียกว่า ปัญญานำสมาธิ เมื่อเราเห็นร่างกายมันกำลังเดินอยู่ หยุดอยู่ หรือหมุนอยู่ เราจะรู้สึกได้ว่าร่างกายนี้เป็นสิ่งที่ถูกรู้ เมื่อไหร่ที่เรารู้สึกว่าร่างกายนี้เป็นเพียงแค่สิ่งที่ถูกรู้อยู่ แล้วถูกใครรู้? ถูกเรานี่แหละรู้ แล้วตอนนี้เราเป็นใคร? เราเป็นผู้รู้อยู่  ผู้รู้ว่าร่างกายนี้กำลังเดินอยู่

เมื่อร่างกายเป็นสิ่งที่ถูกรู้ ถามว่ามีเราในร่างกายนั้นมั้ย ความเป็นเราอยู่ที่ไหนกันแน่ อยู่ในร่างกายนั้นจริงหรือเปล่า? เราเป็นคนรู้ร่างกายอยู่ เพราะฉะนั้น เราไม่ใช่ร่างกายนี้ เราเป็นอีกสิ่งหนึ่งในตอนที่เห็นร่างกายนี้อยู่ ครูบาอาจารย์ก็เรียกว่าเป็น “ผู้รู้” อยู่

เมื่อมีจิตที่เป็นลักษณะของผู้รู้ โอกาสที่จะเห็นสรรพสิ่งหรือว่ากายและจิตนี้ตามความเป็นจริงก็มีได้ ที่เรียกว่า วิปัสสนาญาณจะเกิดขึ้นได้ แต่มันจะเกิดทีเผลอ ไม่ต้องพยายามจะไปเห็นมันหรอก

หน้าที่ของเราส่วนใหญ่ในชีวิตของการปฏิบัติธรรม คือ ไม่ลืมเนื้อลืมตัว” รู้เห็นร่างกายอย่างที่กำลังเดินจงกรมอยู่แบบนี้ตั้งแต่ตื่นจนหลับ  หน้าที่เรามีแค่นี้ ถึงบอกว่า การปฏิบัติธรรมมันง่าย  เพราะว่าสิ่งที่ต้องทำมันมีนิดเดียวเอง คือ “แค่รู้ แค่เห็นกายและจิตนี้ไปเรื่อยๆ”  แต่ที่มันไม่ก้าวหน้าไม่พัฒนาเพราะเราละเลย

เดี๋ยวลองดูก็ได้พอเลิกเดินจงกรม ดูซิว่าเราลืมกายลืมใจไปนานเท่าไหร่  ไม่มีคนคอยพูดเตือนเรา ดูซิว่าหลงอยู่ในความคิดนานเท่าไหร่ เรานั่งอยู่เรารู้มั้ย เราเดินอยู่เรารู้มั้ย เราพูดอยู่รู้มั้ย

ถ้าเราไม่ลืมเนื้อลืมตัวเห็นร่างกายอย่างที่ร่างกายเป็น เห็นจิตใจอย่างที่จิตใจเป็น ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับมัน มรรคผลนิพพานความพ้นทุกข์มันอยู่ไม่ไกลเราหรอก อารมณ์ความรู้สึกที่เปลี่ยนแปลงในจิตใจเกิดขึ้นก็แค่รู้ ไม่ต้องเอามาเป็นของเรา มันเป็นเพียงแค่สิ่งที่ถูกรู้เหมือนกัน ไม่ใช่เรา ถ้าเราพยายามจะเป็นเจ้าของอะไรเราจะต้องทุกข์เพราะสิ่งนั้น

อีก 5 นาทีเดินเห็นกายนี้อย่างที่มันเป็น เห็นจิตใจนี้อย่างที่มันเป็น “เป็นการเดินเหลือแค่กิริยารู้สึกแล้วก็รู้ทัน” รู้ทันอะไร? รู้ทันความคิด รู้ทันอารมณ์ รู้ทันความรู้สึกที่เปลี่ยนแปลง ไม่มีอะไรเป็นของเราทั้งนั้น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเพราะมีเหตุ มีสาเหตุมันก็เกิดขึ้น เราจำเป็นต้องรู้สาเหตุนั้นมั้ย…ไม่จำเป็น

เราไม่ได้ปฏิบัติธรรมเพื่อจะมีความรู้ แต่เดี๋ยวความรู้มันมาเองจากการปฏิบัติธรรมนี่แหละ 

การปฏิบัติธรรม คือ การเห็นตามเป็นจริง” เหมือนเราเห็นอะไรซักอย่างนึง..เห็นของจริงเลยนะ มันจะอธิบายได้ละเอียดเลย เข้าใจว่าสิ่งที่เห็นนี่มันเป็นยังไงๆ  ถ้าเรานั่งฟังเขาเล่าแล้วก็คิดตาม คิดในเชิงเป็นเหตุเป็นผลตาม คิดยังไงมันก็ไม่เหมือน

เพราะฉะนั้น ศาสนาพุทธจึงเป็นการเห็นอย่างวิเศษ”  คนปฏิบัติธรรมในศาสนาพุทธไม่จำเป็นจะต้องเป็นคนเก่งนะ  แต่ที่สำคัญต้องเป็นคนอึด…อึดพอที่จะไม่เลิก…ไม่เลิกที่จะรู้กายรู้ใจอย่างที่มันเป็น  มันเป็นแค่เรื่องเรียบๆ ง่ายๆ เพราะฉะนั้น มันไม่ได้อาศัยความเก่งอะไรเลย อาศัยความอึด  เหมือนเต่าโง่กว่ากระต่าย  เต่าก็ค่อยๆ เดินไปเรื่อยๆ แต่มันชนะ ปฏิบัติธรรมก็เหมือนกันก็แค่รู้กายรู้ใจอย่างที่มันเป็นไปเรื่อยๆ อย่าเลิกก็พอ  เลิกก็กลับไปเป็นคนหลงโลกจมทุกข์หาความสุขไม่ได้ซักทีจนตาย พอจะตายก็กลัวตายอีก ทุกข์อีก ไม่อยากมีชีวิตแบบนั้นก็อย่าเลิกปฏิบัติธรรม

 

09-04-2562

Camouflage

 

YouTube : https://youtu.be/m8XmouhpBFw

เสียงธรรม ชุดสนามซ้อมรบ ครั้งที่ 1 วันที่ 9-16 เมษายน 2562

คลิปเสียงธรรมะทั้งหมดของอาจารย์ Camouflage : https://goo.gl/RDZFMI

======================

5 ช่องทางการอ่านและฟังธรรม

1) Facebook : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
http://www.facebook.com/sookguysookjai

2) Line : @camouflage.talk
https://line.me/R/ti/p/%40camouflage.talk

3) YouTube : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
https://goo.gl/in9S5v

4) Website: https://camouflagetalk.com/

5) Podcast : Camouflage – Dhamma Talk
https://itun.es/th/t6Mzdb.c
วิธีการติดตั้ง https://goo.gl/tBMY9S