91.ส่วนเกิน

ตอนที่ 1 ไม่ตัดสินตัวเอง

เวลาเดินก็เห็นร่างกายที่มันกำลังเดินอยู่ เห็นร่างกายที่กำลังเดินนี้เป็นสิ่งที่ถูกรู้ สังเกตได้มั้ยอะไรที่กำลังถูกรู้อยู่นี่ไม่ใช่เรา ร่างกายกำลังถูกรู้อยู่ เราเห็นด้วยความรู้สึกว่ามันกำลังเดินอยู่ ท่อนแท่งนี้มันกำลังเดินอยู่ มันกำลังยืนอยู่ มันกำลังหยุดอยู่ กำลังหมุนอยู่ ไม่ใช่การเพ่งจ้อง เป็นแค่ความรู้สึก ตาใจเห็น เห็นตัวเอง เหมือนเราชอบดูไปข้างนอก ดูคนอื่น ดูอย่างไม่ลดละสายตาเลย แต่ก็ไม่อึดอัดใช่มั้ย เราก็ดูตัวเองแบบนั้นแหละ

เราเดินจงกรมนั่งสมาธิเพื่อจะรู้จักตัวเอง ไม่ใช่เดินเพื่อจะได้อะไรหรือนั่งเพื่อจะได้อะไร การทำในรูปแบบนั้นทำเพื่อให้รู้จักการเห็นตัวเอง ฝึกนิสัยความเคยชินใหม่ที่จะเห็นตัวเอง ฝึกจนนิสัยนี้มันหลอมรวมเข้าไปในชีวิตของเราที่จะหันเหความสนใจมาที่ตัวเอง มาที่ร่างกายและจิตใจนี้ว่ามันเปลี่ยนแปลง มันเป็นยังไงอยู่ ไม่ใช่เดินหวังว่าจะได้อะไร

เวลาเราเดิน เราสนใจตัวเองได้มากขึ้นมั้ย เราเห็นร่างกายมันเดินได้มั้ย หรือเดินแล้วสนใจแต่ข้างนอกเหมือนกับที่เคยเป็นในชีวิตประจำวัน

เพราะฉะนั้น “ไม่ต้องหวังอะไร แค่เดินแล้วสนใจตัวเอง แต่ไม่ใช่การเพ่งจ้อง มันจะมีความหลงด้วย แต่รู้ทันขึ้นมา” เดินๆ ไปลืมร่างกายไปแล้วก็รู้ทันขึ้นมา เดินๆ ไปลืมร่างกายไปแล้วรู้ขึ้นมา ไม่ใช่ให้มันไม่ลืมเลย ถ้าเป็นอย่างนั้นก็จะมีความหวังว่าจะไม่ลืมเลย แต่เราแค่เดิน เห็นร่างกายมันเดิน แล้วเดี๋ยวก็ลืม ลืมก็เห็นใหม่ก็แค่นั้นเอง ไม่ต้องตัดสินตัวเองว่า ลืมอีกแล้ว…แย่จัง แบบนี้เป็นส่วนเกิน ต้องเห็นว่าเดี๋ยวมันก็รู้ เดี๋ยวมันก็ลืม มันไม่เที่ยงเป็นแบบนี้ ทั้งรู้ทั้งลืมก็ไม่เที่ยงเหมือนกัน จะให้มันรู้ตลอดก็ไม่ได้ บังคับควบคุมไม่ได้ เห็นลงไปในมุมของไตรลักษณ์ ไม่ใช่จะเอาให้ได้อย่างที่เราอยากจะให้มันเป็น ไม่ใช่เอาดี เราต้องการเห็นความจริงว่าทั้งหลงและรู้ก็ตกอยู่ภายใต้กฎไตรลักษณ์เหมือนกัน

หลงไปคิดก็รู้ทัน หลงเข้าไปเป็นกับอารมณ์ ความรู้สึกใดๆ ที่มันรู้สึกว่าเป็นเราขึ้นมา รู้ทัน กำลังเป็นมิจฉาทิฏฐิแล้ว อย่าให้อารมณ์ความรู้สึกเวทนาใดๆ สร้างความเป็นเราขึ้นมา แต่มันห้ามไม่ได้ แต่ต้องรู้ว่าเหล่านี้คือ “มิจฉาทิฏฐิ” ต้องรู้ทัน ชีวิตความเป็นตัวเป็นตนเกิดขึ้นมาแล้ว รู้ทัน! เพราะฉะนั้น เมื่อไหร่ที่ชีวิตความเป็นเรา ความเป็นตัวเป็นตนเกิดขึ้น เรามีหน้าที่รู้ทัน ไม่ใช่ไปต่อชีวิตต่อตัวตนให้มันเป็นเรื่องจริงขึ้นมา

 

ตอนที่ 2 สิ่งที่ติดตัวเราไป คือ สติ

เดินให้มันผ่อนคลาย เดินให้เป็นธรรมชาติ เป็นธรรมชาติแต่รู้ตัว เห็นว่าเรามีธรรมชาติการเดินแบบนี้ เราไม่ใช่คอยบังคับกายบังคับใจให้มันเรียบร้อย เห็นธรรมชาติของร่างกายมันเดินแบบนี้ มันเดินท่านี้ ขามันลงน้ำหนักอย่างนี้ มันก้าวสั้นก้าวยาวแบบนี้ แม้กระทั่งเวลายืนรู้สึกมั้ยว่ามันลงน้ำหนักด้านไหนมากกว่ากัน  มันไม่เท่ากัน ธรรมชาติของร่างกายแต่ละคนก็เป็นแต่ละแบบ ก็รู้ว่าเป็นแบบนี้ มันเป็นยังไงก็รู้ว่าเป็นอย่างนั้น รู้อยู่ที่เนื้อที่ตัว ไม่ใช่ไปรู้คนอื่น

ความรู้สึกอะไรเปลี่ยนแปลงในใจหรือในร่างกายก็แค่รู้ว่าเป็นแบบนี้ ไม่ต้องคิดว่า ทำไมเป็นแบบนี้ ผิดรึเปล่า นั่นคือตัวเราเกิดขึ้นแล้ว ให้รู้อยู่ที่ตัว “สอนตัวเอง”

อย่าลืมจะเห็นร่างกายมันเดิน สังเกตมั้ยเวลาเราออกเดิน การส่งน้ำหนักของเท้ามันเป็นยังไง สนใจตัวเอง การก้าวในแต่ละก้าวเป็นการเรียนรู้ “รู้จักศึกษาตัวเอง” ไม่ใช่หวังให้มันเป็นยังไง เป็นแค่การศึกษาเรียนรู้ เราไม่ใช่ต้องเดินนิ่งเป็นหุ่นยนต์ ถ้าเราขยับเขยื้อนเคลื่อนไหว หรือตรงไหนมันตึงเราก็บิดตัวยืดเนื้อยืดตัว  ก็เห็นอยู่ว่าร่างกายเป็นอย่างนี้ เห็นมันยืด เห็นมันคลาย เห็นมันตึง ไม่ใช่ว่าทำอะไรไม่ได้เลย ต้องเดินอย่างเดียว

เราต้องระลึกไว้ว่า เรากำลังทำสิ่งที่มีคุณค่าที่สุดในชีวิตเรา เรากำลังใช้เวลาแห่งการที่เราได้เกิดมาแล้ว เรียนรู้ รู้จักศาสตร์ของพระพุทธเจ้า ถ้านอกจากเวลาตรงนี้แล้วเราไปทำอะไร ส่วนใหญ่ก็ไปทำเรื่องตามใจกิเลสตัวเอง เราก็ทิ้งเวลา เวลาที่มีน้อยอยู่แล้ว ก็ยังชอบทิ้ง! อย่างเวลาที่ปฏิบัติร่วมกันตอนนี้ก็ยิ่งน้อยลงไปอีก ในอาทิตย์นึงจะมีสักชั่วโมงสองชั่วโมงก็อย่าขี้เกียจ อย่าเอ้อระเหย ถ้าเมื่อไหร่เราคิดว่าชีวิตเรายังมีเวลาอีกเยอะให้รู้ไว้ว่า “ประมาทแล้ว” เรานึกว่าเราอายุ 30 กว่า 40 50 60 ยังไม่ตายหรอกเหลืออีกเยอะ ให้รู้ไว้ว่านี่ประมาทแล้ว คนอายุ 40 นิดๆ ตายไปแล้วก็เยอะ ตายแบบไม่ตั้งตัวด้วย เรียนจบดีๆ มีครอบครัว มีลูก ตายแล้ว อยู่ดีๆ ก็ตาย อยู่ดีๆ หัวใจก็ไม่เต้น ไม่เคยรู้มาก่อนว่าตัวเองจะเป็นโรคอะไร ข้างนอกดูแข็งแรงดี แต่ตายก่อนเพื่อนเลย

อะไรๆ ที่เรากำลังหาอยู่ไม่ว่าจะเป็นความสุข ความปลอดภัย เงินทองทรัพย์สิน ถึงเวลานั้นเอาอะไรไปไม่ได้เลย “สิ่งที่ติดตัวเราไปคือสติ” เป็นสิ่งเดียวที่ฝึกแล้วมันไปกับเราด้วย เมื่อมีสติ จิตก็เป็นกุศล เป็นบุญ เพราะเมื่อสติเกิด อกุศลเกิดไม่ได้ สติเกิด อกุศลก็ดับ มีสติแล้วสิ่งดีๆ ทุกอย่างจะเกิดตามมา

เพราะฉะนั้น สิ่งที่จะต้องฝึกจะต้องสะสมก็คือ ความเคยชินที่จะมีสติรู้ทันร่างกายและจิตใจนี้ รู้เห็นร่างกายและจิตใจนี้ ชีวิตเราฝากไว้กับสติ ถ้าไม่มีสติก็เหมือนคนที่ตายไปแล้ว! จะมีชีวิตอยู่ร้อยปีก็เหมือนคนที่ตายไปแล้ว ไม่มีคุณค่าเลย คนที่ไม่มีสติส่วนใหญ่จะสร้างแต่ความเดือดร้อนให้กับคนรอบข้างและสังคม เพราะมักจะทำอะไรผิดๆ เชื่ออะไรผิดๆ

อีก 5 นาที ลองเดินแบบผู้มีสติเห็นร่างกายมันเดิน รู้เท่าทันพฤติกรรมของจิตใจ รู้เท่าทันความรู้สึกอารมณ์ที่เกิดขึ้นในใจ ใช้การเห็นร่างกายนี้มันเดิน มันยืน มันขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวเป็น Background แล้วรู้ทันจิตใจ มันเผลอออกไปแล้ว…รู้ มันส่งออกไปดูแล้ว…รู้ มันส่งออกมาฟังแล้ว…รู้ ถ้ารู้อยู่นั่นแปลว่าปฏิบัติถูกแล้ว

ไม่ต้องสนใจว่ามันครบ 5 นาทีรึยัง ถ้าสนใจนั่นแปลว่าเราไม่รู้ร่างกายและจิตใจของตัวเองอยู่ เราถูกความคิดหลอกแล้ว เราถูกอารมณ์ความรู้สึกหลอกแล้ว เราไม่ได้อยู่กับตัวเอง ความคาดหวัง 5 นาทีของแต่ละคนไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับความเบื่อที่เราเข้าไป ถ้าเข้าไปเป็นกับความเบื่อมาก 5 นาทีก็เหมือน 5 ชั่วโมง แต่ถ้าอยู่กับปัจจุบันตอนนี้ ตรงนี้ ความรู้สึกความมีอยู่ของร่างกายแบบนี้ ปราศจากความคิดปรุงแต่งใดๆ “เวลาไม่มีผลกับเรา” เมื่อเราไม่พะวงไปถึงอดีตไม่ไปคิดถึงอนาคต พระพุทธเจ้าท่านว่า เป็นผู้มีชีวิตอยู่เพียงราตรีเดียวก็น่าชื่นชม ไม่อยู่ในอดีต ไม่อยู่ในอนาคต ไม่อยู่ในห้วงของเวลา “อยู่กับแค่รู้สึกและรู้ทัน”

เห็นมั้ยว่าพูดจบปุ๊บเนี่ยเวลามันหายไปจากจิตใจเราเลย 5 นาทีไม่มีผลกับเราแล้ว

 

ตอนที่ 3 ส่วนเกิน

เปลี่ยนมานั่งสมาธิ

ไม่ต้องคิดว่าจะปฏิบัติยังไง แค่นั่ง นั่งรู้สึก รู้สึกอยู่ที่ร่างกาย รู้สึกตรงไหนก็รู้สึกตรงนั้น จิตมันไปรู้สึกที่ไหนจะรู้สึกที่นั่น รู้สึกแล้วก็ผ่านไป ไม่ต้องพยายามจะทำอะไรให้ดีกว่าตอนนี้ รู้อย่างที่มันเป็น รู้กายอย่างที่กายเป็น รู้จิตอย่างที่จิตเป็น ถ้ามีนิสัยที่ต้องการจะให้ดีกว่านี้ รู้ทันว่ามีความอยากเกิดขึ้นในใจแล้ว ถ้ามันดีกว่านี้ได้ด้วยความอยากนั่นก็เรียกว่าไม่ดี

เห็นร่างกายและจิตใจนี้เหมือนเห็นคนอื่น เหมือนเราเห็นเพื่อน สังเกตเพื่อนคนนี้นิสัยยังไง บุคลิกยังไง ชอบทำอะไร นิสัยใจคอเป็นยังไง เราแค่ดูใช่มั้ย ไม่ใช่ไปด่า ไม่ใช่ไปคอยแก้ไขเพื่อน เราแค่ดู ว่ามันเป็นยังไงเฉยๆ เรียนรู้มันเป็นวิธีปฏิบัติธรรม

เวลาลืมกายไป ก็รู้ทันลืมร่างกายไปแล้ว บางทีมันไม่ใช่ไปคิด แต่มันลืมไป ไปอยู่ในอารมณ์เมฆหมอกโมหะก็รู้ทันลืมร่างกายไปแล้ว เราเห็นร่างกายมันนั่งอยู่ได้ เห็นได้ด้วยความรู้สึก ไม่ใช่ด้วยสายตา สังเกตได้มั้ยว่าความรู้เนื้อรู้ตัวก็เป็นอย่างนึง จิตใจพฤติกรรมทางใจก็เป็นอีกอย่างนึง ต่างคนต่างทำงานคนละอย่าง

ระหว่างที่เรากำลังเห็นร่างกายมันนั่งอยู่ หรือว่านั่งอย่างรู้เนื้อรู้ตัวอยู่ หรือรู้สึกความรู้สึกทางร่างกายนี้อยู่ จิตใจก็ไปคิดนึกปรุงแต่ง จิตใจก็ทำอะไรของมันที่มันอยากจะทำที่มันชอบทำ บางคนฟังเพลงก็มันก็ร้องเพลง บางคนชอบสวดมนต์อยู่ดีๆ มันก็สวดมนต์ สังเกตเห็นว่ามันเป็นคนละส่วนกัน ไม่มีอะไรเป็นเราเลย ต่างคนต่างทำของมัน

เวลาเราเห็นกายเห็นจิตใจที่มันทำงานนี้ให้สังเกตซ้อนลงไป เราเห็นเฉย ๆ มั้ย บางคนเกิดความไม่พอใจที่มันร้องเพลงมันพูดมันพากษ์ ถ้ามีความไม่พอใจก็เห็นว่าตอนนี้มีอารมณ์เป็นสิ่งแปลกปลอมเข้ามาในจิตใจแล้ว ไม่เกี่ยวกับเรา มันมีความพอใจหรือไม่พอใจก็เพราะมีอวิชาอยู่ มีความเห็นผิดอยู่ ไม่เกี่ยวกับเรา มันพูดมันพากษ์มันร้องเพลงก็เป็นเรื่องของมัน มันไม่ได้ทำแบบนั้นตลอดเวลา สังเกตไป มันไม่ได้อยู่ถาวร ทุกอย่างก็ชั่วคราว

คำว่าชั่วคราวคืออะไร มันไม่เที่ยง จะมัวพอใจไม่พอใจมันทำไม พอใจแล้วมันได้อย่างที่เราหวังมั้ย ไม่พอใจแล้วได้อย่างที่เราหวังมั้ย เนี่ยมันเป็น “ส่วนเกิน” ความพอใจและไม่พอใจนี้เป็นส่วนเกิน มีหน้าที่รู้ทัน ไม่ใช่ไปดับความพอใจหรือความไม่พอใจ

เรียนรู้ รู้ทันว่าความพอใจหรือไม่พอใจนี้มันเที่ยงมั้ย มันเกี่ยวกับเรามั้ย ลองไม่ยุ่งกับมันดูซิมันจะหายไปมั้ย มันจะเปลี่ยนแปลงมั้ยไอ้อารมณ์ความพอใจหรือไม่พอใจเนี่ย ถ้าอยากดีก็ไปดับมันความไม่พอใจนี้ แต่ถ้าอยากมีปัญญาก็แค่ดูมันเฉยๆ

 

ตอนที่ 4 มีหน้าที่เรียนรู้ความจริง

ยังรู้สึกร่างกายอยู่มั้ย “ยังตื่นอยู่มั้ย” ตื่นรู้ ตื่นขึ้นมาแล้วถึงจะรู้สึกอะไรๆ ได้ คอยสังเกตว่ายังตื่นอยู่มั้ย รู้ทันสภาพที่มันไม่ค่อยตื่นแล้ว เคลิ้มๆ แล้ว ความรู้เนื้อรู้ตัวมันเริ่มไม่ชัดแล้ว

สังเกตมั้ยว่าความอยู่กับเนื้อกับตัวดีขึ้น โมหะความฟุ้งซ่านของจิตที่ไม่ค่อยมีกำลังก็เริ่มมีกำลังขึ้น ความฟุ้งซ่านหรือโมหะก็ค่อยๆ คลายไปลดลง อาศัยการรู้แบบนี้แหละ จิตใจก็มีกำลัง มีสมาธิขึ้น แล้วความฟุ้งซ่านหรือความลอยๆ มันก็ค่อยๆ ลดน้อยถอยลงไป

เพราะฉะนั้น หน้าที่ของทุกคนในการปฏิบัติธรรมคือหน้าที่แบบนี้ ปฏิบัติในรูปแบบ แล้วก็หลอมรวมเข้าไปในชีวิตประจำวันให้ได้ ไม่ใช่หลงฟุ้งซ่านทั้งวัน ถ้าเป็นแบบนั้นการนั่งในรูปแบบก็จะใช้เวลานานกว่านี้ กว่าจะเข้าที่เข้าทาง

รู้สึกได้มั้ยว่าเวลามีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในใจเช่น มันไปคิด มันหลงไปแล้ว จิตใจนี้มีความเป็นกลางมากขึ้นกว่าในตอนแรกๆ เห็นมันเฉยๆ ได้ รู้ทันมันเฉยๆ ได้ นี่คือลักษณะของจิตใจที่มีกำลัง ไม่โซซัดโซเซกับอะไรอะไรง่ายๆ

เพราะเรานั่งสมาธิแบบนี้ จิตใจก็เปลี่ยนแปลงมีกำลังขึ้น ผลลัพธ์ที่เรากำลังรู้สึกอยู่ตอนนี้เห็นมั้ยว่ามันต่างไปจากตอนแรก ให้เห็นในมุมมองว่า “ทุกสิ่งเป็นไปตามเหตุปัจจัย” เมื่อเหตุมันเปลี่ยนผลมันก็เปลี่ยน

ใครเคลิ้มให้ไม่ลืมตาขึ้นมา เราฝึกที่จะตื่นไม่ใช่ฝึกที่จะหลับ ยังคงเห็นร่างกายมันนั่งอยู่มั้ย หรือมันลอยไปไหนแล้ว หรือมันจมไปไหนแล้ว

ความคิดไม่ใช่ปัญหา แต่เราแค่ไม่มีหน้าที่จะไปคลุกคลีกับมัน เรามีหน้าที่รู้ทัน เห็นจิตมันก็ไปคิดได้เอง ความรู้อยู่ในความหลงนั้น แค่ไม่หลงไปกับมัน ไม่ใช่ให้ไม่มีความหลงเลย ถ้าไม่มีความหลงเลยก็ไม่มีความรู้เลยเหมือนกัน

การปฏิบัติธรรมเป็นการเรียนรู้ ความหลงก็ชั่วคราว ความรู้ขึ้นมาก็ชั่วคราว เดี๋ยวมันก็หลงใหม่ ไม่มีอะไรตั้งอยู่ได้นานทั้งนั้น ต่อให้คนทำฌานได้มันเหมือนตั้งอยู่ได้นาน แต่สุดท้ายมันก็เสื่อม แสดงความจริงเท่ากัน ทุกสิ่งมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา นี่คือหน้าที่ของพวกเราที่ต้องเรียนรู้ความจริงแบบนี้

สนใจกลับเข้ามาที่ตัวเอง ไม่ใช่สนใจเรื่องคนอื่น นั่นไม่ใช่หน้าที่ของเรา ไม่ต้องสนใจว่าผมจะพูดอะไร พูดดีมั้ยวันนี้ ไม่ต้องสนใจ สนใจที่ตัวเอง

ยังรู้เนื้อรู้ตัวอยู่มั้ย ยังรู้สึกจิตใจอยู่มั้ย อารมณ์ความรู้สึกในใจเป็นยังไงรู้มั้ย มีร่างกายทั้งร่างกายกำลังนั่งอยู่เห็นมั้ย รู้สึกได้มั้ย ลมหายใจหน้าอกกระเพื่อมขึ้นกระเพื่อมลง รู้สึกได้มั้ยว่ามันกระเพื่อมขึ้นกระเพื่อมลง ทั้งร่างกายมันกระเพื่อมขึ้น มันขยับขึ้น หรือมีความเคลื่อนไหวเมื่อมีการหายใจ รู้มั้ย นี่เค้าเรียกว่าคนสนใจตัวเอง สนใจตัวเองไม่ใช่เห็นแก่ตัว สนใจแบบนี้

เวทนาเริ่มมา รู้สึกได้มั้ย แค่รู้สึกเฉยๆ ได้มั้ย มีบางสิ่งที่ชื่อว่าเวทนา ที่ชื่อว่าความเจ็บ ที่ชื่อว่าความปวด มันเกิดขึ้นที่นั่นที่นี่แล้ว ก็รู้ แล้วหันมาดูความรู้สึกในใจเป็นไง เดือดร้อนมั้ย หรือปกติ เป็นกลาง หรือไม่พอใจ หรือมีความอยากบีบคั้น ไม่มีอะไรผิด ถ้ารู้อยู่ ถ้าเรารู้อะไรกำลังเกิดขึ้นตอนนี้ นั่นเรียกว่าปฏิบัติธรรม

เราต้องเข้าใจว่า การปฏิบัติธรรมเป็นไปเพื่อการเห็นตามเป็นจริง เรียกว่าเจริญปัญญา ไม่ใช่การคอยปรับแก้จัดการ แทรกแซงทุกอย่าง เพื่อให้มันดีอย่างที่เราคิด นั่นไม่ใช่การเห็นความจริง ไม่ใช่การเห็นตามเป็นจริง

แค่รู้สึก แค่รู้ทัน ไม่ต้องเพ่งต้องจ้องอะไรเอาไว้

ช่วงพักเมื่อกี้นี้เราก็สังเกตได้ใช่มั้ยว่า ส่วนใหญ่เราจะหลง คุยมีความสุข ไม่ได้รู้เนื้อรู้ตัวเท่าไหร่ ต้องสังเกตเห็นได้ว่าชีวิตเราส่วนใหญ่เป็นแบบนั้น เป็นชีวิตที่อยู่กับความหลง อยู่กับความเพลิดเพลิน โดยเฉพาะเวลาที่มีความสุขเป็นเวลาเพลิดเพลินง่ายที่สุด

เวลาที่เราจะอยู่กับตัวเองของแต่ละคนเนี่ยจริงๆ มันมีน้อยมาก โดยเฉพาะถ้าเรามีครอบครัว…ครอบครัวแบบพ่อแม่พี่น้องก็แบบนึง ครอบครัวแบบเราเองมีสามีภรรยามีลูกก็อีกแบบนึง ทั้ง 2 แบบก็หาเวลาเป็นส่วนตัวไม่ค่อยได้ เพราะฉะนั้น เมื่อมีเวลาส่วนตัวจะอยู่กับตัวเองต้องเห็นคุณค่า ไม่ใช่พอมีเวลาอยู่กับตัวเองก็คิดจะไปทำอย่างอื่นหาเรื่องอย่างอื่นทำ จะหนีจากตัวเองตลอดเวลา นั่นเขาเรียกว่าจิตใจที่เต็มไปด้วยความดิ้นรนบีบคั้น นั่นเป็น “ความทุกข์” เห็นให้ได้ว่าสภาพแบบนั้นนั่นเป็นความทุกข์ ไม่ใช่มัวแต่ไปสนองความดิ้นรนบีบคั้น

ถ้าเราเข้าใจว่าชีวิตนี้เต็มไปด้วยความดิ้นรนและบีบคั้นตลอดเวลา เราจะเริ่มรู้จักความจริงของชีวิตนี้ที่พระพุทธเจ้าบอกว่ามีแต่ทุกข์ โลกนี้ไม่มีความสุขหมายความว่าอะไร เราจะค่อยๆ รู้จัก ถ้าเราเลิกที่จะหนีความทุกข์ เราจะได้เห็นความจริง ถ้าเราเลิกวิ่งหนีหรือไปหลบอยู่ในรู อย่างพวกชอบทำความสงบหรือจมในความสงบนี้เขาเรียกว่าหลบอยู่ในรู ไม่หนีแล้วแต่ไปหลบแทน ก็ไม่เห็นความจริงเหมือนกัน

 

ตอนที่ 5 มีหน้าที่อยู่กับตัวเอง

เรารู้จักแล้วใช่มั้ยว่า จิตใจที่เป็นปกติกับจิตใจที่เพลิดเพลินในความสุขต่างกันยังไง

จิตใจที่เป็นปกติไม่มีความบีบคั้น ไม่มีความดิ้นรน เป็นกลางต่อทุกสภาวะต่อทุกสภาพที่กำลังเกิดขึ้นในร่างกายและในจิตใจ

เห็นมั้ยว่าสภาพปกติไม่ได้ทำขึ้นมา เพียงแค่นั่งเฉยๆ อย่างนี้แหละ นั่งรู้เนื้อรู้ตัวไป จิตใจเริ่มสงบระงับ ความเป็นปกติก็เปิดเผยตัวออกมา แสดงตัวออกมา จิตใจที่เป็นปกติเป็นจิตใจที่ไม่มีความทุกข์ใดๆ ไม่มีอะไรบีบคั้น เป็นจิตใจที่มีกำลังพร้อมจะรู้จะเห็นอะไรก็ตามที่เกิดขึ้นอย่างเป็นกลาง

ความรู้สึกอะไรที่มันก่อร่างสร้างตัวตนขึ้นมาจากความคิดให้รู้ทัน ตัวเราเกิดขึ้นอีกแล้ว รู้ทันตรงนี้ให้บ่อยๆ

เรานั่งอยู่แบบนี้ไม่ใช่นั่งปล่อยเนื้อปล่อยตัว แต่เป็นการนั่งที่รู้เนื้อรู้ตัว รู้สึกถึงความมีอยู่ของร่างกายนี้ ร่างกายนี้กำลังนั่งอยู่ รู้สึกถึงความมีอยู่ของร่างกาย มีพลังวูบวาบขึ้นมารอบๆ ตัวก็แค่รู้ว่ามันเป็นแบบนั้น

อย่าลืมว่าเราต้องตื่นเข้าไว้ สังเกตว่าเรายังรู้สึกร่างกายอยู่มั้ย ความตื่นลดลงมั้ย มัวๆ เบลอๆ มั้ย เคลิ้มมั้ย

เวลาที่จิตใจเป็นปกติแล้วเนี่ยให้ระวังความคิด จิตใจเป็นปกติแล้วก็ต้องรู้สึกร่างกายไว้ให้มาก ลืมร่างกายไปมั้ย ไม่งั้นมันจะเพลินไปคิดง่ายๆ ความสุขนี้เป็นอันตราย มันทำให้เกิดความเผลอเพลินง่ายๆ เมื่อปกติแล้ว สงบแล้วมันเริ่มเผลอเพลินแล้วเพราะมันไม่ทุกข์ เพราะฉะนั้น “อย่าลืมร่างกาย” ความไม่ลืมร่างกายนี้เป็นบาทฐานสำคัญ ไม่ลืมความรู้สึกถึงความมีอยู่ของร่างกาย

เวลานั่งรถกลับด้วยกันไม่ต้องนั่งคุยกัน คุยเท่าที่จำเป็น ไม่ใช่ใช้นิสัยแบบเดิมๆ ที่เราเคยอยู่ในโลกเรียกว่า ต้องคุยกันเดี๋ยวมันเงียบ เดี๋ยวมันไม่สนุก นี่เป็นความคิดของคนในโลก พวกเราคุยกันพอหอมปากหอมคอ แต่ก็ไม่ใช่เงียบเกร็งเป็นซอมบี้เหมือนกัน อันนั้นก็ไม่ใช่ มีเรื่องคุยก็คุย หมดก็ไม่ต้องพยายามหา เราไม่ได้มาทัวร์โป๊งชึ่งแบบเมื่อก่อนนี้ เรามาปฏิบัติธรรมเพื่อจะนำมันกลับไปใช้ในชีวิตประจำวันในทุกกิจกรรมที่เราเข้าไปเกี่ยวพันด้วย เราไม่ได้มีหน้าที่ต้องคอยเอนเตอร์เทนเพื่อน เอนเตอร์เทนใคร เหมือนเป็นดีเจก็ต้องคอยเอนเตอร์เทนเชียร์คนกินเหล้าคนเต้น เชียร์ให้มันหลงเข้าไว้ เชียร์ให้เพลิดเพลินอยู่ในความสุข มันจะได้ไม่กลับ สั่งอีกเติมอีก เนี่ยเป็นกลยุทธ์ของคนในโลก

“เรามีหน้าที่อยู่กับตัวเอง” ลืมตัวไปก็รู้สึกขึ้นมา ถ้าเราไปด้วยกัน เราก็จะรู้หน้าที่ของแต่ละคนคืออะไร รู้กันเอง เรามีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ อยู่กับตัวเอง ถึงแม้ไปด้วยกัน แต่ละคนก็จะรู้หน้าที่ ว่ามีหน้าที่อยู่กับตัวเอง ไม่ใช่มีหน้าที่เอนเตอร์เทนซึ่งกันและกัน

 

ตอนที่ 6 สรรพสิ่งเป็นไปตามเหตุปัจจัย

นั่งยืดตัวตรงๆ ให้มันตื่นตัว เมื่อนั่งแล้วมันสบายให้ระวังความสบายนั้น “รู้ทัน” ความสบายนั้น ไม่งั้นเราจะติดกับดักของความสบายเพลิดเพลินเคลิ้มลงไป “เรามีหน้าที่ตื่น รู้ทุกสิ่งตามเป็นจริง” ไม่ใช่สบาย สบายก็รู้ ไม่สบายก็รู้

เมื่อมีอะไรกระทบเข้ามาก็มีตัวรับความกระทบนั้น เราก็รู้มีเหตุปัจจัยกระทบกระเทือน มีอวัยวะร่างกายรับความกระทบนั้นมันก็กระเทือน ไม่ใช่เรา เห็นการทำงานซึ่งเป็นตามธรรมชาติของมัน อย่าเอาคำว่าเราเข้าไปรับความรู้สึกอะไรทั้งนั้นมาก่อร่างสร้างตัวตนให้มันยืดยาวออกไปอีก สังสารวัฏมันหมุนไม่จบก็เพราะว่าแบบนี้ เราเอาความเป็นตัวเราเข้าไปรับทุกสิ่งทุกอย่าง พยายามจะแก้ไขจัดการทุกสิ่งทุกอย่าง เราไม่ยอมเห็นว่ามันมีเหตุมีปัจจัยแบบนี้จึงเป็นแบบนี้จึงรู้สึกแบบนี้ ถ้าเราเห็น เราจะรู้ว่าไม่มีความเกี่ยวข้องอะไรกับเราเลย เช่น สมมติเป็นเราผู้หญิง ต้องผ่าตัดคลอดลูก เราไม่อยากเจ็บ เขาก็บล็อกสันหลังเรา เรายังไม่ตายแต่เราไม่รู้สึก ที่มันรู้สึกเพราะไม่มีตัวรับ ไม่ใช่เรา แม้ว่าเรามีชีวิตอยู่แต่เราก็ไม่รู้สึก เพราะเขาตัดตัวรับนั้นออกไป แต่พอยาหมดฤทธิ์ ก็รู้สึกขึ้นมา ตัวรับมันทำงาน ตัวรับความเจ็บปวดมันทำงานได้ มันก็ไม่เกี่ยวกับเราเหมือนกัน

เหมือนหลวงพ่อคำเขียนเคยพูดไว้ในมุมที่พอฟังแล้วก็รู้สึกว่าเรื่องง่ายๆ ท่านอธิบายได้เป็นเรื่องน่าฟัง ท่านบอกว่า พระมาบวชใหม่ๆ หรือคนมาปฏิบัติธรรมอยู่วัดก็ไม่ได้กินข้าวเย็น ก็หิว…แรกๆ ก็หิวทุกวัน ทรมาน ท่านก็ให้เห็นว่า กระเพาะอาหารมันทำงานเนาะ มันยังแสดงความหิวได้ แปลว่าร่างกายเรานี่ยังใช้ได้ปกติที่ยังหิวอยู่ มันเป็นมุมมองของเรื่องง่ายๆ ที่ท่านอธิบายแต่ฝึกให้เราเห็นว่า เมื่อมีกระเพาะอาหารที่มันทำงานอยู่ มันจะแสดงความหิวด้วยตัวมันเอง ไม่เกี่ยวกับเรา แล้วเมื่อมันปรับอะไรของมันเสร็จ ความหิวนั้นหมดไป ไม่เกี่ยวกับเราอีกเหมือนกัน เพราะฉะนั้น เราค่อยๆ ฝึกที่จะมองเห็นสรรพสิ่งนี้เป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับตัวเรา ความเป็นเรา

อย่าลืมว่าเราต้องระวังความสบาย มีหน้าที่ตี่นไม่ใช่สบาย รู้สึกมั้ยพอเราตื่นขึ้น เราหลุดออกจากความสบายนั้น นั่นแปลว่าเราจมลงไปในความสบายนั่นแล้ว

 

ตอนที่ 7 ช่วงตอบคำถาม

ในความเป็นจริงที่เรานั่งกันนิ่งๆ แบบนี้ มันไม่นิ่งหรอก มันมีความเคลื่อนไหวตลอดเวลาเล็กๆ น้อยๆ ถ้าเราไม่ลืมร่างกาย เราจะรู้สึกได้ เดี๋ยวความกระเพื่อมก็เกิดขึ้น อย่างเวลาเราหายใจ เรานั่งเฉยๆ เนี่ย จริงๆ แล้วร่างกายมันยิบยับๆตลอดเวลา มันไม่ได้นิ่งหรอก

ให้เห็นร่างกายมันนั่งอยู่ อย่าไปดูลมหายใจ พอดูลมหายใจเนี่ยมันเล็กๆ อะไรที่เป็นจุดเล็กๆ มันเพ่งง่ายเคลิ้มง่าย ให้เห็นร่างกายทั้งร่างกาย ที่ผมบอกว่ารู้สึกถึงความมีอยู่ของร่างกายเอาไว้ รู้สึกได้ใช่มั้ย เหมือนตอนนี้เรารู้สึกถึงความมีอยู่ของร่างกายได้ มันใหญ่ๆ มันต่างกับรู้ลมหายใจ เห็นร่างกายมันนั่ง เห็นเป็นโครงใหญ่ๆ ดูความสึกว่ามีท่อนนี้มันนั่งอยู่ เห็นทั้งร่างกาย

ถ้าเราเข้าใจหลักปฏิบัติธรรม เราจะนั่งหลับตา หรือนั่งลืมตา มันก็จะได้ความรู้สึกคนละแบบ แต่มันก็ได้หมด

การที่เราหันกลับมาดูติดใจบ่อยๆ มันก็คือการพาเราหลุดออกจากโลกของความคิดปรุงแต่งนั่นแหละ นั่นคืออย่างแรก อย่างที่สอง ตอนที่หันกลับมาดูจิตใจหรือดูความรู้สึกดูอารมณ์ในตอนนั้น ส่วนใหญ่มันก็จะ “เป็นปกติ” เราลองกลับมาดูตอนนี้เลย จิตใจและอารมณ์ความรู้สึกเป็นยังไง ก็ไม่มีอะไร ปกติ ช่วงแรกๆ ที่ผมสอนผมเน้นอันนี้มากเพราะว่ามันเป็นสภาพที่มีอยู่แล้วแต่คนในโลกไม่ค่อยสนใจ เราสนใจแต่แสวงหาภายนอกหรือว่าแม้กระทั่งแสวงหาว่าจะปฏิบัติธรรมยังไง เราดิ้นรนแม้กระทั่งการปฏิบัติธรรม แต่การปฏิบัติธรรมต้องใช้จิตใจที่เป็นปกติธรรมดาถึงจะตื่นรู้ขึ้นมาเห็นอะไรได้ ถ้าปฏิบัติธรรมแล้วจิตใจไม่ปกติเต็มไปด้วยดิ้นรน มันก็ปฏิบัติไม่ได้ มันเต็มไปด้วยความอยาก ก็เลยจะต้องเน้นอันนี้ให้รู้จัก แล้วอีกอย่าง เมื่อจิตใจปกติ ผลลัพธ์อีกอย่างนึงคือ จะได้จิตใจที่มีกำลัง ก็คือ “มีสมาธิ” ก็จะเป็นกำลังให้เห็นร่างกาย รู้สึกตัวหรือรู้สึกร่างกายได้ต่ออีก มันหลายอย่างมากที่ช่วย

รู้ทันปัจจุบันว่าตอนนี้เป็นยังไง ร่างกายเป็นยังไง จิตใจเป็นยังไง ก็คือการปฏิบัติธรรมนั่นแหละ เมื่อกี้ติดอยู่ใช่มั้ย ปัจจุบันของเมื่อกี้นี้ก็คือติดอยู่ ก็รู้ทันว่าติดอยู่ พอรู้ทันมันกลับมาที่เนื้อที่ตัวก็ตรงนี้เป็นปัจจุบันในตอนนี้ก็ต้องรู้ว่าจิตใจเป็นยังไงล่ะ มีพอใจหรือไม่พอใจ ร่างกายเป็นยังไงยืนอยู่นั่งอยู่เดินอยู่ มันก็คือ “การรู้ปัจจุบัน” แค่นั้นเอง

สติอัตโนมัติ” คือ สติที่เกิดขึ้นเองโดยที่เราไม่ได้บังคับให้เกิด เช่น จิตไปคิดปึ๊บ ปกติเราก็อุ้ย ไปคิดแล้ว ใช่มั้ย อันนี้เป็นสติที่บังคับให้เกิด แต่สติที่ไม่ได้บังคับให้เกิด คือ มันไปปุ๊บมันก็รู้เองซะงั้น ไม่มีเราคอยจะรู้ทัน มันรู้เอง จากการที่จิตจำสภาวะที่มันไหลออกไปได้ การที่มันไปแล้ว เราก็อุ้ย มันไปแล้ว อุ้ยมันไปแล้ว แบบนี้เรียกว่า ฝึกความเคยชินใหม่ เค้าเรียกว่าสัญญาอย่างนึง เรียกว่า “ถิรสัญญา” คือจำได้ เอาง่ายๆ ก็เป็นสัญญาแล้วกัน

“การฝึกที่จะรู้ทัน” เป็นความเคยชินใหม่ จากเดิมที่หลงไปเลย ไม่รู้เรื่อง พอมาปฏิบัติธรรมก็ฝึกที่จะรู้ทันจิตที่ไปคิด อุ้ยไปคิดแล้ว อุ้ยไปคิดแล้ว จิตมันก็จำสภาพลักษณะของการรู้ทันนี้ได้ ก็เกิดถิรสัญญาคือความจำได้แบบนี้ พอฝึกมากเข้า มันไปปึ๊บ มันก็จำได้ขึ้นมาเอง ทำเอง เราก็เลยจะรู้ว่าแม้กระทั่งสติมันก็ทำงานเองไม่เกี่ยวกับเรา มันมีเหตุคือมันจำได้

พอมีสติอัตโนมัติกลับมาเองปุ๊บ รู้สึกมั้ยว่า “สมาธิเกิด” กลับมาปุ๊บ ความตั้งมั่นก็เกิด เราจะรู้สึกเองได้ ความอยู่กับเนื้อกับตัวก็เกิดอย่างรุนแรง แต่มันก็แวบเดียว สติปัฏฐาน 4 ก็คือ การมีสติบ่อยๆ ที่เขาเรียกว่า มหาสติ ก็คือ สติอัตโนมัตินั่นแหละเรียกว่ามหาสติ

 

30-03-2562

Camouflage

 

YouTube : https://youtu.be/B8f_wm_B6dk

คลิปเสียงธรรมะทั้งหมดของอาจารย์ Camouflage : https://goo.gl/RDZFMI

======================

5 ช่องทางการอ่านและฟังธรรม

1) Facebook : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
http://www.facebook.com/sookguysookjai

2) Line : @camouflage.talk
https://line.me/R/ti/p/%40camouflage.talk

3) YouTube : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
https://goo.gl/in9S5v

4) Website: https://camouflagetalk.com/

5) Podcast : Camouflage – Dhamma Talk
https://itun.es/th/t6Mzdb.c
วิธีการติดตั้ง https://goo.gl/tBMY9S