90.เพื่อนใหม่

 

ตอนที่ 1 “ความคิด” เป็นกับดักอันใหญ่

เวลานั่งช่วงแรกความคิดฟุ้งซ่านมันมีเยอะ ให้อาศัยความรู้สึกตัว…สังเกตการนั่งมีอะไรบ้างเกิดขึ้นในร่างกาย มีการกระเพื่อมของหน้าอก ท้อง ความสั่นไหวของร่างกายเล็กๆ น้อยๆ น้ำหนักที่กดทับกันระหว่างขาสองข้าง มือสองมือ…สังเกตมันไป

คำว่า “สังเกต ก็คือ แค่รู้สึก” รู้สึกอยู่ในกายนี้ จะหายใจสั้นจะหายใจยาวไม่ใช่ปัญหา หายใจสั้นก็รู้ หายใจยาวก็รู้ ไม่มีคำว่าต้องสั้นหรือต้องยาว เห็นร่างกายมันก็ทำงานของมันไปแบบนั้น

พอเราอยู่กับร่างกายจะสังเกตได้ว่าจิตใจเรานี้เป็นปกติอย่างรวดเร็ว เงียบสงบ แต่เป็นความสงบแบบตื่นรู้…ตื่นรู้ยังไง? คือยังรู้กายรู้จิตนี้อยู่ ไม่ใช่สงบจนร่างกายอะไรหายไปจนหมดเกลี้ยงจนไม่เหลืออะไรเลย ยังคงอยู่กับร่างกาย สังเกตอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นในร่างกาย อาการเย็นร้อนอ่อนแข็งตึงไหวที่เกิดขึ้นในร่างกาย ล้วนเป็นเครื่องมือให้เราได้สามารถที่จะรู้สึก…รู้สึกอยู่ในร่างกายนี้

เมื่อเรารู้สึกอยู่ในร่างกายนี้จะเห็นว่าความคิดน้อยลงแต่ยังมีความคิดอยู่ และเมื่อความคิดเกิดขึ้น เราก็จะ “รู้ทัน” ได้ รู้ทันได้โดยที่มีกำลังเพียงพอที่จะไม่ติดกับมัน รู้ทันแล้วก็จบมันจะกลับมาที่ร่างกายด้วยตัวมันเอง แต่ถ้าจิตใจมีกำลังไม่พอ เราจะติดกับความคิด เรารู้ทันแล้วเราก็เข้าไปคิดกับมัน หรือบางทีก็รู้ไม่ทันก็คิดกับมันเลย อันนี้เป็นกับดับอันใหญ่

ความคิดเป็นกับดักอันใหญ่” บางทีเรารู้สึกตัว แล้วบางทีเราเห็นว่ามันคิด เราก็คิดกับมัน เราก็เห็นว่าเรากำลังคิดอยู่ด้วย แล้วเราก็รู้สึกว่าเรารู้สึกตัวอยู่ด้วย สภาพแบบนี้เป็นสภาพถูกหลอก เราต้องอย่าลืมว่าเส้นทางของการปฏิบัติธรรมคือ “การพ้นจากความคิดปรุงแต่งทั้งปวง” เพราะฉะนั้น คิดเฉพาะเรื่องจำเป็นจริงๆ เรื่องไม่จำเป็นไม่ต้องคิด …รู้ทันแล้วก็กลับมาที่ร่างกาย กลับมาที่ความรู้สึกตัว

ความรู้สึกตัว” เป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้เราพ้นออกจากโลกของความคิดปรุงแต่งได้ การที่ให้พวกเราทุกคนอยู่กับร่างกาย สังเกตร่างกายอย่างละเอียด ก็เพื่อให้เราพ้นออกจากความคิดปรุงแต่งทั้งปวงได้อย่างต่อเนื่อง โดยที่ไม่ใช่การเข้าไปจัดการกับความคิด ไม่ใช่การเข้าไปเพ่งจ้องอะไร เพียงแค่ให้ความสำคัญกับความรู้สึกตัวในระดับที่ละเอียดขึ้นหน่อย สังเกตอย่างละเอียดขึ้นหน่อย เหมือนกับการหางานหาการให้จิตทำ “ให้จิตอยู่กับกิริยารู้สึก” มีหน้าที่ต้องรู้สึกตัว ก็ไปคิดไม่ได้ มันทำได้ทีละอย่าง

 

ตอนที่ 2 สร้างความเคยชินใหม่…รู้สึกตัว

การปฏิบัติธรรม คือ การเปลี่ยนแปลงความเคยชิน ความเคยชินที่จะหลง ความเคยชินที่ชอบจะคิด เปลี่ยนมัน สร้างความเคยชินใหม่ให้มันที่จะรู้สึกตัว ครูบาอาจารย์บอกว่า  “การปฏิบัติธรรม คือ การขัดเกลา”…ขัดเกลาคืออะไร? คือไม่ทำตามกิเลส ไม่ทำตามความเคยชินเก่าๆ เราทุกคนต้องพิจารณาตัวเอง ถ้าเรายังทำตามความเคยชินเก่าๆ นิสัยเดิมๆ คิดแบบเดิมๆ ต้องรู้ไว้ว่า นั่นไม่ได้ขัดเกลา นั่นไม่ได้เป็นทางเจริญ

ตาหลับ แต่ใจให้มันตื่น ต้องช่วยตัวเอง หายใจเข้าลึกๆ เมื่อไหร่ที่เคลิ้ม สมมติเคลิ้มนับ 10 ถ้าเริ่ม 1 นี่ต้องรู้แล้ว รู้ปุ๊บทำยังไง…หายใจเข้าลึกๆ ยืดตัวให้มันตรง ถ้าเรารู้ทันตั้งแต่ 1 เราจะไม่หลับ จะไม่เคลิ้ม แต่ถ้าไปรู้ทันตอน 5, 6 นี่ ไม่ทันแล้ว ถ้าอย่างนั้นต้องอาศัยลืมตาเลย อย่าไปตามความเคยชินเก่าๆ

การปฏิบัติธรรมคล้ายๆ การออกกำลังกาย เวลาเราไปฟิตเนส ต้องมีเทรนเนอร์บอกเราว่าท่านี้ต้องลงอย่างนี้ มันถึงจะได้กล้ามเนื้อ ได้อะไรที่เราต้องการ ถ้าทำแค่ท่าแบบนี้ ทำไปเหอะ ทำจนตายก็ไม่ได้ ลักษณะเดียวกันปฏิบัติธรรมก็เหมือนกันคือ ต่อให้เรานั่ง เดิน แต่ถ้าเราไม่ได้อยู่บนเส้นทางที่ถูกต้อง นั่งทั้งวัน เดินทั้งวัน มันก็ไม่ได้อะไร

เพราะฉะนั้น ถ้าเราลงมือทำทั้งที ทำให้มีประสิทธิภาพ ไม่ใช่ทำเอาเวลา นั่งนานเดินทน…เราไม่ได้ทำแบบนั้น “เราเอาประสิทธิภาพความตื่น” …เมื่อตื่นขึ้น คุณภาพจิตใจก็เจริญขึ้น สว่างขึ้น

เวลากลับบ้านก็ทำแบบนี้แหละ ทำแบบที่นั่งอยู่ด้วยกัน ไม่มีอะไรมากไปกว่านี้เลย แล้วผลลัพธ์ทั้งหลายมันจะเกิดขึ้นเอง มันจะค่อยๆ เป็นไปเองตามธรรมชาติของมัน กลับบ้านไปแล้วไม่ต้องคิดว่า… เอ๊ะ! จะปฏิบัติยังไง จะทำยังไง จะทำอะไร เราก็ทำในรูปแบบ นั่ง เดิน แล้วพอเราว่างจากรูปแบบที่เรากำหนดเอาไว้ อยู่ในอิริยาบถอื่นก็อยู่ในหลักการเดียวกันคือ “รู้สึกตัว” มันก็เป็นการปฏิบัติเหมือนกันนั่นแหละ ยิ่งคนอยู่ในชีวิตประจำวันแล้วรู้สึกตัวได้อย่างต่อเนื่องเป็นลูกโซ่นั่นแปลว่าเราปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้ เราสามารถเอาการปฏิบัติไปอยู่ในทั้งชีวิตของเราได้ ไม่ใช่เพียงแค่ต้องนั่ง หรือต้องเดินจงกรม หรือต้องนั่งขยับมือ เพราะถ้าการปฏิบัติของเรายังอยู่ในแค่รูปแบบ แล้วในชีวิตประจำวันเราทำไม่ได้ นั่นแปลว่าการปฏิบัตินี้มันยังไม่เข้าไปในชีวิตของเราจริง ๆ เท่ากับเราละเลย เราแบ่งการปฏิบัติเป็นสองส่วน แบ่งการปฏิบัติเป็นหนึ่งส่วน แต่อีกส่วนนึงเอาไว้หลงคือเลิกปฏิบัติในรูปแบบเอาไว้หลงแทน

เพราะฉะนั้น ให้เราระลึกเอาไว้ สิ่งที่ควรจะเป็นคำบริกรรมของเราทุกคนตั้งแต่ตื่นเลย ควรจะบอกตัวเองเรื่อยๆ ว่า “เรามีหน้าที่รู้สึกตัว” สอนตัวเอง กำลังจะฟุ้งซ่าน เพ้อเจ้อ หาความสุข เตือนตัวเองเรามีหน้าที่รู้สึกตัว

ต่อไปพลิกมือ 14 จังหวะ….ค่อยๆ ขยับไปเรื่อยๆ หยุดให้รู้สึกก่อน รู้สึกถึงการหยุดได้ ค่อยๆ ไปต่อ อย่าไปด้วยความเพลิดเพลิน ไม่มีใครบอกว่าต้องทำรอบ ค่อยๆ

ต้องเข้าใจว่า เราขยับมือเพื่อจะสร้างความรู้สึกตัวให้เกิดขึ้นเป็นลูกโซ่อย่างต่อเนื่อง เพราะฉะนั้น ทุกการเคลื่อน ทุกการหยุด เรามีหน้าที่ที่จะรู้สึก การสร้างจังหวะไปเรื่อยๆ ก็จะเกิดการเคลิ้มได้เหมือนกัน เพราะมันเป็นอิริยาบถเดิมๆ

เพราะฉะนั้น ความรู้สึกตัว ความรู้สึกถึงการเคลื่อนและการหยุดจำเป็นมากที่จะตัดความเคลิ้มนั้น ทุกครั้งที่หยุดแล้วเรารู้สึกได้จริงๆ มันจะตื่นขึ้นมา แต่ให้มันรู้สึกได้จริงๆ

การสร้างจังหวะขยับมือให้มันมีในใจว่า ไม่ใช่การทำงั้นๆ…ทำไปงั้นๆ ยกไปงั้นๆ ยกไปเรื่อย…แบบนี้เจ๊งหมด เพราะสุดท้ายมันจะเพลิน ยกไปครบรอบแล้วยังไม่รู้สึกตัวเลย…คิดอยู่

อยู่กับความรู้สึกถึงการเคลื่อนและการหยุดนี้ให้มันต่อเนื่อง ถ้ามันต่อเนื่องมันจะเกิดความรู้สึกทั่วทั้งตัว มันจะมีพลังงานบางอย่างเกิดขึ้น

เมื่อมีความคิดเกิดขึ้น ก็ต้องอย่าเพิ่งเคลื่อน อย่าเพิ่งขยับ มีหน้าที่รู้สึกก่อน ถ้ามันคิดอยู่มันรู้สึกไม่ได้ แล้วถ้าเคลื่อนไปโดยปราศจากความรู้สึกในปัจจุบันนั้นๆ มันก็เป็นการเคลื่อนที่ไม่มีประโยชน์อะไร กิริยา…เคลื่อนแล้วหยุด…แล้วรู้สึก มันเป็นกิริยาการขยับมือที่สร้างความต่อเนื่องแบบลูกโซ่ให้เราอัตโนมัติเลย เพราะมันมี 2 จังหวะที่ต่างกัน สลับกันไปเรื่อยๆ

 

ตอนที่ 3 รู้ตัวเอง เข้มงวดกับตัวเอง

เวลาจิตใจมันเงียบ ปกติ อย่าปล่อยให้กิเลสหลอกเราให้เราขี้เกียจ อย่าให้กิเลสหลอกว่า ดีแล้วไม่ต้องทำในรูปแบบแล้ว พอแล้ว อย่าโดนหลอกแบบนั้น ยิ่งจิตใจเราปกติ จิตใจนี้ไม่ค่อยมีความฟุ้งซ่านเป็นเวลาที่เราต้องรีบสั่งสมขุมกำลังแห่งความรู้สึกตัวเอาไว้ให้มันต่อเนื่อง

เหมือนเราสะสมน้ำในตุ่ม เมื่อก่อนเราไม่เคยปฏิบัติธรรมเลยเหมือนตุ่มมันคว่ำอยู่ ฝนลงมาเท่าไหร่ก็รับน้ำไม่ได้ เหมือนเราเกิดในศาสนาพุทธมีพ่อแม่ครูบาอาจารย์ มีธรรมะ กลิ่นอายของธรรมะทั้งประเทศที่เราอยู่ แต่เราไม่สนใจ เราไปเที่ยวไปเล่น เหมือนเราเป็นตุ่มที่คว่ำเอาไว้ ได้ยินได้ฟังได้เห็นอะไร ก็รับไม่ได้ซักอย่าง แต่วันนี้เราเป็นตุ่มที่พลิกกลับขึ้นมาแล้ว ปากเปิดแล้วพร้อมรับน้ำฝน จากเดิมที่เราไม่มีน้ำฝนเลย ตอนนี้พวกเราเริ่มมีแล้ว

น้ำฝนที่ว่าคืออะไร? คือ “สติ” น้ำฝนที่มากขึ้นพอไปใช้ได้ แรกๆ อาจจะใช้ได้นิดหน่อยแปรงฟัน มากขึ้นหน่อยได้อีกขันเอาไปล้างหน้า เยอะๆ หน่อยเอาไปอาบน้ำได้ มากเข้าอีกก็ทำกับข้าวได้ด้วย …เหล่านี้คือ การสะสมความรู้สึกตัวอย่างต่อเนื่อง  มันก็เปรียบเหมือนน้ำฝนที่อยู่ในตุ่ม

หลังจากสติก็เป็น “สมาธิตั้งมั่น” ความตั้งมั่นหรือความตื่นมันมีหลายระดับ เท่านี้ก็เรียกตื่นเหมือนกัน เท่านี้ก็เรียกตั้งมั่นเหมือนกัน แต่มันมากเท่าไหร่ก็ใช้ได้มากเท่านั้น เช่น สติ สมาธิ ปัญญาแก่รอบ มันก็พร้อมจะพาเราข้ามฝั่ง ข้ามสู่ความเป็นอริยบุคคลได้

เพราะฉะนั้น นักปฏิบัติเราเวลาใครเค้าชมว่าเราตั้งมั่นแล้ว เราไม่ได้เหลิงหรือว่าพอใจแค่นั้น เราต้องรู้ตัวเองว่า จริงๆ เราทำได้ดีกว่านี้ ถ้าเราเข้มงวดตัวเองมากกว่านี้ เราไม่ไปตามความเคยชินเก่าๆ ให้มากกว่านี้ ความตั้งมั่นนี้จะเพิ่มขึ้นได้อีก เพราะฉะนั้น เราทุกคนต้องรู้ตัวเอง ถ้าเรารู้ตัวเองได้ ต่อให้คนชมเรา เราก็จะไม่เหลิงเพราะเรารู้ตัวเองว่าที่ชมมาก็ยังไม่ดีเท่าไหร่หรอก เราทำได้อีกมากกว่านี้ หรือใครว่าเรายังไม่ตั้งมั่น ก็ไม่ได้แปลว่าเราไม่มีน้ำในตุ่มเลย…ก็มีเหมือนกัน แต่แค่มันอาจจะยังไม่มากพอในระดับที่ครูบาอาจารย์อยากจะให้เป็น เพราะฉะนั้น เรารู้ตัวเอง เข้มงวดกับตัวเองได้ อยู่ที่เราจะทำมั้ย

การปฏิบัติธรรมนี่ว่าไปแล้ว เป็นแค่การเปลี่ยนความเคยชินเฉยๆ … “เคยชินจะหลง เปลี่ยนเป็นเคยชินจะรู้” เคยชินจะตามความคิด เคยชินจะตามกิเลส เปลี่ยนเป็น “รู้ทัน แล้วไม่ตามไป” มันก็คือ การดัดการขัดเกลาที่พระพุทธเจ้าบอกว่า เราจะขนาบแล้วขนาบอีก ใครทนได้ เราก็จะทำ เราก็จะสอน ใครทนไม่ได้ก็ไป เพราะคนที่ได้รับผลมันคือคนๆ นั้น ไม่ใช่อาจารย์ ไม่ใช่พระพุทธเจ้า ใครจะไป ใครจะมา พระพุทธเจ้าไม่ได้เดือดร้อน อาจารย์ไม่ได้เดือดร้อน เพราะคนได้ผลไม่ใช่อาจารย์ ไม่ใช่พระพุทธเจ้า อาจารย์มีหน้าที่ต้องทำแบบนั้น

 

ตอนที่ 4 อะไรเปลี่ยนแปลงในกายในใจ…รู้ได้

การปฏิบัติในรูปแบบ ไม่ว่าจะนั่งสมาธิหรือนั่งขยับมือ เราต้องรู้ตัวเอง ความเคลิ้มมันเข้ามาหาเราได้ทุกเมื่อ ลืมตา ลืมตากว้างๆ นั่งหลังให้มันตรง ยืดเนื้อยืดตัวขึ้น ให้ความตื่นนี่มันเป็นสภาพ 100% นั่นแหละ ความสดชื่นให้เป็น 100% มันไม่ 100 ก็เพราะว่า เรารู้ไม่ทันเวลามันเคลิ้ม พอมันเคลิ้มเลยไประดับ 5 ระดับ 6 แล้วเนี่ยมันต้องรับกรรมแล้วก็คือ เกิดความง่วง เพลีย จะหลับอะไรอย่างนี้ แต่ถ้าเรารู้ทันตั้งแต่จังหวะแรกที่มันเริ่มจะเคลิ้ม มันเริ่มไม่ค่อยตื่นแล้ว… รู้ให้ทัน แล้วก็ขยับตัว ลืมตากว้างๆ ยืดตัวขึ้น หายใจเข้าลึกๆ …เนี่ย! มันจะช่วย ช่วยให้นิวรณ์มันหมดไป

เพราะฉะนั้น คุณสมบัติของนักปฏิบัติธรรมต้องเป็นนักช่างสังเกตในกายในจิตนี้ อะไรเปลี่ยนแปลงนิดหน่อย..รู้ได้ จิตใจเปลี่ยนแปลงนิดหน่อย…รู้ได้ สภาพตื่นเริ่มตกไปนิดหน่อย…รู้ได้ แล้วเราก็ไม่ได้ทำอะไร เราแค่อาศัยร่างกายนี้เองเฉยๆ ลืมตาให้กว้างขึ้น ยืดตัวให้ตรง หายใจเข้าให้ลึก อาศัยร่างกายนี้เป็นเหตุปัจจัยให้สภาพตื่นนั้นกลับมา เราไม่ได้ทำอะไร เราทำให้มันตื่นไม่ได้ อาศัยความรู้สึกตัวมันถึงจะตื่นขึ้นมา ความตื่นเป็นผลอีกทีนึงเลย พอเมื่อตื่นแล้ว ความโปร่ง โล่ง สบาย ความเป็นปกติก็เกิดขึ้นมาเอง เป็นผลอีกเหมือนกัน

แล้วความรู้สึกตัวเกิดขึ้นได้ยังไง? เกิดขึ้นจากเราได้รับคำสอน เราก็มีสัญญาในใจ มีความทรงจำว่า ถ้าเราจะปฏิบัติธรรมต้องอาศัยความรู้สึกตัว มันจำได้ มันระลึกขึ้นได้ มันก็เลยรู้สึกขึ้นมา ถึงบอกว่าถ้าเราอยากจะบริกรรม ให้บริกรรมสอนตัวเองว่า “มีหน้าที่รู้สึกตัว” สอนตัวเองทั้งวันมีหน้าที่รู้สึกตัว แล้วทุกอย่างมันจะเป็นไปเอง เราจะเห็นได้เอง เราจะ… อ้อ! ที่ครูบาอาจารย์พระพุทธเจ้าว่าเอาไว้ อ้อ! อย่างนี้…เป็นเอง  เวลาเราฟังใครเค้าพูด…เป็น “ผู้ดู” เห็นสภาวะมันอยู่ห่างๆ นั่นแหละมันจะเป็นเอง เราไปทำให้มันห่างๆ ได้มั้ย…ทำไม่ได้ บางคนก็อาจจะทำได้ก็ได้พวกทำเก่งๆ  แต่ในความเป็นจริงมันเป็นเอง มันห่างเอง แล้วมันก็เห็นเอง เหมือนที่เคยพูดว่า ถ้าเราเข้าไปถึงจุดชมวิวแล้ว มันไม่เห็นวิวไม่ได้ มันต้องเห็น แต่ถ้ายังไม่ถึงจุดชมวิว อย่ารีบไปเห็น เพราะมันไม่เห็น ถ้าเห็นก็เห็นคนละวิว แต่พอมาพูดอาจจะคล้ายๆ กันก็นึกว่าเหมือนกัน

พวกเรามีหน้าที่แค่เดินทางอยู่บนเส้นทางนี้ มีหน้าที่แค่นั้น ไม่มีหน้าที่คาดหวังเมื่อไหร่จะเกิดความก้าวหน้า ไม่มีหน้าที่คาดหวังเมื่อไหร่จะเห็นอะไรๆ ที่เคยอ่านมาที่เคยฟังมา เหล่านั้นคือส่วนเกินของชีวิต ไม่มีประโยชน์ที่จะคาดหวังอะไรๆ มีหน้าที่ใช้ชีวิตไปวันๆ บนเส้นทางที่ถูกต้อง แค่นั้น

 

ตอนที่ 5 ที่พึงเดียวคือ หลัก

อย่าให้ความเพลินในการขยับมือสร้างจังหวะนี้เข้ามา…รู้สึกเอาไว้…หยุดก็รู้สึก เคลื่อนก็รู้สึก หรือเอาง่ายๆ ก็คือ เคลื่อนก็รู้สึกอันเดียวก็ได้ ขยับไป เคลื่อนไป ตะพืดตะพือไป…ขยับไป เคลื่อนไป ตะพืดตะพือไป…เห็นมั้ยว่ามันพ้นออกจากโลกความคิดปรุงแต่งอัตโนมัติเลย มันพ้นได้อย่างต่อเนื่อง มีความคิดบ้างก็รู้ทัน รู้ทันบ้าง ติดบ้างหน่อยๆ แต่ไม่เยอะ ก็ธรรมดา ค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป จนความรู้สึกตัวอย่างต่อเนื่องนี้มันเกิดขึ้นเอง มันเป็น Momentum จากที่เราฝึกอย่างนี้แหละ มันเป็นความเคยชิน

เราเคยเห็นว่าจิตมันไปคิดเอง เราก็ชอบคิดกับมัน ดูมันเป็นเองหมดเลย ห้ามอะไรมันไม่ได้ สุดท้ายการเปลี่ยนความเคยชินใหม่จะเป็นเองเหมือนกัน มันจะรู้สึกตัวอย่างต่อเนื่องเอง ธรรมชาติหลงกับธรรมชาติรู้ มันก็ธรรมชาติกลไกเดียวกันแต่ไปคนละทางแค่นั้น

เพราะฉะนั้น ต้องซ้อมไว้ แรกๆ ต้องซ้อมด้วยตัวเอง ซ้อมอย่างต่อเนื่องจนเข้าไปในชีวิตประจำวันได้ ตรงนี้อาศัยความอดทน ตรงนี้แหละ “ขันติบารมี” คืออย่างนี้…อดทน…เบื่อแระ ขี้เกียจทำ เมื่อยแระ อยากจะไปนั่งชิลๆ แระ เนี่ยคืออะไร? มารทั้งนั้น มันหลอกเราให้เรารู้สึกว่า เลิกทำนี่สบายกว่า ดีกว่า

การปฏิบัติของพวกเรามันเลยเหมือนไฟไหม้ฟาง เดี๋ยวติดเดี๋ยวดับ เดี๋ยวติดเดี๋ยวดับตลอดเวลา เดี๋ยวติดเดี๋ยวดับจนท้อแท้ ถ้าเอาจริงๆ นะ เราไม่ลืมที่จะรู้สึกตัวจริงๆ เราไม่ถูกกิเลสหลอกว่าไปทำอย่างโน้นดีกว่า อันนี้พอแระ ทำอย่างอื่นสบายกว่า ถ้าเราไม่ถูกหลอกอย่างนั้น ไม่นานหรอก ครูบาอาจารย์ในอดีตสายหลวงพ่อเทียนเยอะแยะ ที่ท่านพูดที่ท่านเล่าแต่ละองค์ก็ไม่นาน

เพราะฉะนั้น ดูๆ แล้วการบรรลุธรรมมันไม่ยาก มันยากที่เราไม่เอาเท่านั้นเอง เราจะเอาแต่ปากแต่เราไม่ทำ

เราละเลย… “เราละเลยหน้าที่ที่เราจะต้องทำ” หน้าที่ที่ควรจะเป็น เราละเลย เราชอบทำเกินหน้าที่ เช่น คาดหวัง ตั้งความหวัง อยาก หน้าที่ตรงหน้านี้เราไม่ทำ เราเอาเวลาไปทำอย่างอื่นตามกิเลส …นักปฏิบัติก็ทำตามกิเลส ทำตามความอยาก ปฏิบัติอยากจะได้อย่างนี้ อยากจะเป็นอย่างนั้น อย่างจะเจริญอย่างโน้น ปฏิบัติภายใต้ความอยาก มันไม่ใช่การทำหน้าที่ การทำหน้าที่ให้มันกลางๆ มีหน้าที่แบบนี้

มีหน้าที่เตือนตัวเองว่า… “อยู่กับความรู้สึกตัวนะ ไม่ตามความคิดไปนะ รู้จักจิตใจเป็นยังไงตอนนี้” ปกติก็รู้ปกติ ปกติเป็นแบบนี้… อ๋อ! ดีอย่างนี้ อ่อ! ไม่ทุกข์ ไม่สุข กลางๆ เป็นอย่างนี้…รู้เท่าทันทุกอย่างที่เกิดขึ้นในกายในจิตนี้โดยไม่เข้าไปเป็นกับมัน แต่ถ้ามันเป็นแล้ว ก็อย่าไปต่อความยาวสาวความยืดด้วยการคิดปรุงแต่งไปกับสิ่งๆ นั้นอีก

อาศัย “ความรู้สึกตัวล้วนๆ ถ้วนๆ” …ความรู้สึกตัวล้วนๆ ถ้วนๆ เป็นความรู้สึกที่อธิบายอะไรมันไม่ได้ ไม่มีคำอธิบายที่จะครอบคลุมความรู้สึกตัวล้วนๆ ถ้วนๆ ได้ ความรู้สึกตัวล้วนๆ ถ้วนๆ มีแต่ผู้ที่ลงมือทำเท่านั้นถึงจะรู้สึกได้ว่ามันเป็นยังไง เป็นผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นเฉพาะตัว ปัจจัตตัง รู้ได้เฉพาะตน

พระพุทธเจ้า ครูบาอาจารย์ได้แต่พาทำ ผลรู้เอาเอง ไม่มีใครรู้ดีกว่าเรา มีคนมาเล่าไปหาครูบาอาจารย์ องค์นึงก็ชมปฏิบัติดี ไปเจออีกองค์นึงก็ไม่ได้ชม…จะเชื่อใคร? เชื่อตัวเอง ซื่อสัตย์กับตัวเอง เชื่อตัวเองอย่างซื่อสัตย์ เราจะประเมินตัวเองได้ เราจะไม่ไขว้เขว้ ชมมาเราก็เหลิง…ชิลแล้วกู ปฏิบัติดีแล้ว ไม่ชมมาก็กลุ้มใจ…อ้าว! ปฏิบัติผิดตรงไหนเนี่ย

เพราะฉะนั้น สิ่งเดียวที่เป็นที่พึ่งของเราคือ “หลัก ยังอยู่ในหลักมั้ย…ถามตัวเอง เข้มงวดกับชีวิตการปฏิบัติธรรมแล้วหรือยัง…ถามตัวเอง วันๆ อยู่กับความคิด ติดกับความคิดมากขนาดไหน…ถามตัวเอง ถ้าเรารู้จุดอ่อนของตัวเอง เราก็ปรับ เปลี่ยนจุดอ่อนให้เป็นพลังขึ้นมา เปลี่ยนความทุกข์ให้เป็นความเจริญขึ้นมา “อาศัยความทุกข์นี่แหละที่จะพ้นทุกข์” คนเราไม่มีทุกข์ ไม่มีวันเจริญ เพราะมันจะหลงเพลินกับความสุข ความสบาย

แต่ถ้าเรามีทุกข์ เช่น ทุกข์ทางกายนิดหน่อย…เจ็บนี่ ปวดโน่น เป็นอย่างนี้หน่อย เป็นอย่างนั้นหน่อย ค้างคาอยู่กับชีวิตเรา ความเจ็บปวดทางกายช่วยอะไรเรา ช่วยให้กลับมารู้สึกตัว เป็นหวัดเจ็บคออย่างนี้เป็นยังไง อยู่กับคอตลอดเลย…นั่นแหละเพราะมันเจ็บ

จิตใจมีเรื่องเป็นทุกข์หน่อยๆ เดี๋ยวเรื่องนี้ก็มารบกวนให้เป็นทุกข์ มันมาอีกแล้ว มันมาอีกแล้ว ช่วยเรา…ช่วยให้เรารู้ว่าเรายังรู้สึกตัวไม่พอ ช่วยเตือนเราให้เราไม่ประมาท ความทุกข์ยังไล่ล่าเราอยู่ได้ เรายังเป็นทาสของมันอยู่ได้ มันจะช่วยเรา ให้เรา โอ๊ะ…ความรู้สึกตัวไม่พอ น้ำในตุ่มไม่พอ ร่อยหรอแล้ว

เพราะฉะนั้น นักปฏิบัติธรรมเราจะเห็นคุณค่าของความทุกข์ ไม่ใช่เกลียดหรือกลัวความทุกข์ เห็นคุณค่าของมันเพราะมันช่วยเรา

เรานั่งไปมีเวทนา ก็รู้สึกถึงเวทนานั้น… แค่รู้สึก พอมีเวทนาให้รู้สึก มันก็ตัดความคิดปรุงแต่ง นี่! คือสติปัฏฐาน 4 เป็นเครื่องมือให้เราออกจากความคิดปรุงแต่งทั้งปวง เราจะใช้เครื่องมือไหนตอนไหน มันอยู่ที่เรา จริงๆ แล้วมันก็สลับไปมาตลอดเวลา

 

ตอนที่ 6 คบเพื่อนใหม่…”ความรู้สึกตัว”

เราคนไทยต้องกินข้าวทุกวันเป็นอาหารหลัก ความรู้สึกตัวอย่างต่อเนื่องอย่างเป็นลูกโซ่ก็เหมือนเป็นฐานหลักของชีวิตนักปฏิบัติธรรม “เราจะละเลยความรู้สึกตัวไม่ได้”  ให้มันเข้าไปอยู่ในทุกอิริยาบถในทุกกิจกรรมของเรา เตือนตัวเอง…อาบน้ำ แปรงฟัน กินข้าว เดินเหินไปไหน ตอนนอน ทั้งหมดทำด้วยความรู้สึกตัว

เปลี่ยนความเคยชินจากการทำอะไรๆ ในกิจกรรมใดๆ แล้วมีเพื่อนคือ ความปรุงแต่ง เปลี่ยนเพื่อนของเราเป็นความรู้สึกตัว คบเพื่อนคนใหม่

มีเพื่อนคนใหม่ในทุกกิจกรรมคือ ความรู้สึกตัว ให้มันแน่นหนา ให้มันไม่ลืม แต่ไม่ใช่เพ่ง อาศัยการเตือนตัวเอง สอนตัวเอง …“มีหน้าที่รู้สึกตัวนะโว้ย” สอนตัวเองแบบนี้ มันก็รู้สึกตัวขึ้นมาทีนึง แล้วด้วยกำลังต่อเนื่องที่เราฝึกปฏิบัติในรูปแบบ พอเตือนขึ้นมาทีนึงมันก็มีโมเมนตัมแรงส่งต่อไปอยู่ เพราะฉะนั้น เราจะทำงานทำการทำกิจกรรมอะไรในชีวิตเรา เราต้องถือว่าความรู้สึกตัวเป็นหน้าที่ที่เราจะลืมไม่ได้!! เตือนตัวเองนะไม่ต้องไปเตือนเพื่อน เดี๋ยวมันจะตีกันแทน เตือนแค่ตัวเองพอ เรารู้สึกตัวอยู่ เดี๋ยวเพื่อนมันก็รู้สึกตัวเหมือนกัน ไม่ต้องไปเตือน เค้าเห็นเรารู้สึกตัวอยู่ เค้าก็จะรู้สึกตัวด้วย

เหมือนเราอยู่ใกล้ครูบาอาจารย์ พวกเราก็รู้สึกตัวกันใหญ่เลยกลัวโดนด่า…เนี่ย! ลักษณะอย่างนี้ไม่กล้าฟุ้งซ่านเลย ไม่กล้าทำอะไรนอกรีดนอกรอย จะทำก็แอบทำ เหมือนเด็กหนีเรียน ก็มีบ้าง แต่การต้องแอบทำเท่ากับว่าเป็นคนมีครูบาอาจารย์ ชีวิตก็จะไม่ตกร่องตกรอยมาก แต่ถ้าชีวิตที่ไม่มีครูบาอาจารย์เลยเป็นยังไง…อิสระ ทำอะไรก็ได้ เหมือนคนไม่มีพ่อมีแม่ ตามใจตัวเองได้ทุกอย่าง ชีวิตที่ตามใจตัวเองเป็นยังไง…เหลวแหลก เละเทะ เพราะมันเป็นชีวิตที่ตามกิเลส..ง่ายๆ แค่นี้เอง ไม่มีอะไรซับซ้อน

แต่ชีวิตของนักปฏิบัติธรรมเป็นชีวิตแห่งการขัดเกลา เราจึงจำเป็นต้องมีครูบาอาจารย์ เหมือนเรามีพ่อแม่ที่ดี พ่อแม่ที่ดีก็ไม่ตามใจลูก ลูกก็เลยไม่ค่อยชอบพ่อแม่เท่าไหร่ ชอบอยู่กับเพื่อนเพราะเพื่อนมันตามใจ ลูกสมัยนี้ก็ฆ่าพ่อฆ่าแม่ได้ด้วย…เป็นข่าวเห็นบ่อยๆ…เพราะอะไร? ไม่ตามใจ พ่อแม่ที่ดีเค้าก็ไม่ตามใจลูก ฝืน บังคับ พวกเราโตขึ้นมาได้ทุกวันนี้ก็เพราะเรามีพ่อแม่ที่ดี พ่อแม่เค้าสอนเราเรื่องทางโลก ครูบาอาจารย์ลูกศิษย์พระพุทธเจ้าก็เค้าสอนเราทางธรรม เค้าถึงเรียกพ่อแม่ครูบาอาจารย์ เป็นพ่อแม่เราทางธรรมที่จะสอนเรา ขัดเกลาเรา เพราะเราโตมาพ่อแม่เราแท้ๆ สอนเราไม่ได้แล้ว เราไม่เชื่อ พูดซ้ายมันไปขวา พูดขวามันไปซ้าย บอกให้มันนั่งเรายืน เพราะเราถือว่าเราโตแล้ว เราไม่เชื่อพ่อแม่เราแล้ว เราก็ต้องโดนพ่อแม่คนใหม่ พ่อแม่คนนี้ไม่ง้อลูกด้วย จะไปก็ไป จะมาก็มา เพราะมีหน้าที่แค่สอนไม่ได้หวังอะไร ไม่ได้หวังอะไรจากลูก ทำหน้าที่ตัวเองเฉยๆ

เพราะฉะนั้น เรามีครูบาอาจารย์ที่คอยว่าเรา คอยเตือนเรา คอยบอกคอยสอนเรา คอยขัดใจเรา เราต้องภูมิใจว่าเรายังมีครูบาอาจารย์สนใจเราอยู่ พร้อมจะสอนเราอยู่ ไม่ใช่ไม่พอใจ

 

ตอนที่ 7 ให้เวลากับความรู้สึกตัว

เดี๋ยวเราจะเปลี่ยนเป็นนั่งสมาธิอีกรอบ….หลับตา

สงบ…สงบแล้วจะเคลิ้ม นั่งรู้ทันความเคลิ้มให้ได้ ถ้ารู้ไม่ทันต้องลืมตา

สังเกตความรู้สึกทางร่างกายให้ละเอียด สังเกตความรู้สึกเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้น น้ำหนักที่ก้น น้ำหนักที่ขาทับกัน มือที่ประสานกันอยู่ เรียนรู้ความรู้สึกทางร่างกายด้วย “ตาใน” ของเรา ตาในไม่ใช่ตาเนื้อ แม้เรานั่งนิ่งๆ เราหลับตาก็รู้สึกได้ ความสั่นไหวภายในเกิดขึ้นเรื่อยๆ…รู้สึกได้

ถ้าเราสังเกตความรู้สึกทางร่างกายเล็กๆ น้อยๆ ไปเรื่อยๆ …ความรู้สึกตัวทั่วพร้อมจะเกิดขึ้นเอง ด้วยความรู้สึกตัวทั่วพร้อม ด้วยความรู้สึกอยู่ที่ร่างกายนี้แหละ มันจะพาให้จิตนี้ตื่นขึ้น…ตื่นอะไร? “ตื่นออกจากโลกของความคิดปรุงแต่งด้วยเครื่องมือความรู้สึกตัว” จิตมันตื่นขึ้น จิตมันก็สว่าง นี่คนมีหูมีตาเค้าก็เห็นแสงสว่างได้ ความวิเศษทั้งหลายมันก็มาจากการสร้างเหตุแค่นี้แหละ

แต่ความวิเศษของศาสนาพุทธไม่ใช่แค่มีแสง ความวิเศษของศาสนาพุทธคือ การได้เห็นตามเป็นจริง…วิปัสสนา เห็นตามเป็นจริง เข้าใจความจริง จนพ้นทุกข์อย่างสิ้นเชิง นี่คือ ความวิเศษที่แท้จริงของศาสนาพุทธ

อย่าลืมว่าเรานั่งเพื่อความตื่น ไม่ใช่ความสงบ ความสงบเป็นผลจากความตื่นอีกทีนึง เป็นความสงบที่เหมือนน้ำนิ่งในใบบัว มันไม่ติดกับใบบัว มันยังกลิ้งไปกลิ้งมาได้ ทำอะไรๆ ได้

เวลาเราปฏิบัติในรูปแบบ อยากให้ทุกคนลองนั่งหรือนั่งขยับมือจนมันเกิดความรู้สึกว่า ความรู้สึกตัวมันแน่นหนา มันไม่ใช่วูบไปวูบมา…วูบไปวูบมาหมายความว่า เดี๋ยวรู้ตัว เดี๋ยวก็แว่บไปคิดล่ะ รู้ตัวเดี๋ยวก็แว่บไปคิดล่ะ แต่ลองนั่งให้เวลากับมันเป็นชั่วโมง 2 ชั่วโมง จนมีความรู้สึกแตกต่าง รู้สึกว่าความรู้ตัวมันแน่นหนาในกายทั้งกายนี้ ลองให้เวลากับมัน

เรานั่งสมาธิเนี่ย เรานั่งให้เป็น นั่งด้วยความรู้เนื้อรู้ตัว ความอยู่กับเนื้อกับตัว นั่งแรกๆ อาจจะไปคิดวูบ…วูบบ คือไปเป็นความคิดแล้วค่อยรู้ แต่พอความรู้สึกตัว ความอยู่กับเนื้อกับตัวมันหนาแน่นขึ้น จิตเนี่ยมันแค่ขยับวึ๊บบไปเฉยๆ…มันก็รู้แล้ว การขยับวึ๊บไปนิดเดียวก็เรียกว่าส่งออกแล้ว ต่อให้ยังไม่เป็นรูปของความคิดก็ตามก็เรียกว่ามันส่งออกแล้ว ถ้าเรารู้ทันในขณะที่มันยังไม่ก่อรูปของความคิด มันก็ไม่มีใครต้องทุกข์เรียกว่ารู้ทันได้เร็ว แต่จะเป็นอย่างนั้นได้มันต้องให้เวลากับความรู้สึกตัว ให้ความสำคัญกับความรู้สึกตัว เมื่อเรารู้สึกตัวแล้ว สภาวะแห่งความเป็นปกติทางจิตใจก็จะเปิดเผยตัวออกมา…จิตใจนี้จะมีกำลัง

เราก็ “รู้จักสภาพจิตใจที่เป็นปกติไว้” เป็นแบบไหน รู้จักไว้ทำไม?…เพราะเวลามันเริ่มที่จะผิดปกติ เริ่มที่จะมีอาการเหมือนจะฟุ้งซ่าน คำว่า “ฟุ้งซ่าน” มันเป็นคำอย่างนั้นเลย…กิริยาของจิตที่ไม่มีกำลัง มันจะเป็นอาการฟุ้ง เหมือนเรามีแป้งฝุ่นกองไว้ แล้วเราแค่เอามือไปผ่านมันวึ๊บ ลมผ่านมันหน่อยนึง มันก็ฟุ้งขึ้นมา นี่คืออาการของจิต ลักษณะอย่างนั้นเลยที่เรียกว่าฟุ้ง บรรพบุรุษของเราเรียกว่าปฏิบัติธรรมเป็น ใช้คำเป๊ะเลย…มันฟุ้งอ่ะ

เพราะฉะนั้น ถ้าเรารู้จักจิตใจที่เป็นปกติ ไม่ฟุ้ง เวลามันมีอาการฟุ้งเหมือนแป้งฝุ่นที่ฟุ้งขึ้นมาหน่อยนึง เราก็รู้แล้ว พอเรารู้ว่าจิตเป็นอย่างนั้นทำอย่างไร? ต้องรู้ว่า…อ่อ! น้ำในตุ่มเราเริ่มลดแล้ว ต้องเติมน้ำในตุ่ม…เติมยังไง? อาศัยการสร้างเหตุผ่านการปฏิบัติในรูปแบบ อาศัยการไม่ออกไปหาเรื่องฟุ้งซ่านทำ อาศัยการไม่ไปตามกิเลส อาศัยคุณธรรม การปฏิบัติธรรมที่เกื้อกูล ให้น้ำในตุ่มมันเพิ่มขึ้น หรือที่เรียกว่าสมาธิมันเพิ่มขึ้น ให้ความตั้งมั่นของจิตใจมันเพิ่มขึ้น

 

ตอนที่ 8 อย่าเอามาเป็นของส่วนตัว

เวทนาทุกอย่างจะผ่านไป ความปวดจะผ่านไป อดทนอยู่กับมันเฉยๆ  อย่างขามันตึง นักปฏิบัติเราไม่ใช่ว่า โอ้…ขาชั้นมันตึง เราแค่รู้สึกว่ามีความตึงเกิดขึ้นในร่างกายนี้ ความตึงเป็นอย่างนี้ อย่าเอามาเป็นของส่วนตัว อย่าเอามาเป็นของเรา ก็รู้สึกว่า…อ๋อ! มันตึงอยู่แบบนี้

เรานั่งเฉยๆ ที่เรียกว่า นั่งสมาธิ บางทีเราก็เบื่อเมื่อไหร่จะเลิก ตอนไม่นั่งเราก็อยากนั่ง พอนั่งแล้วเราก็อยากเลิก เห็นความเปลี่ยนแปลงของจิตใจเป็นแบบนี้ เรานั่งนิ่งๆ ได้ไม่นานเราก็เบื่อ แต่ถ้านั่งคุยกัน นั่งทั้งวันก็ไม่เบื่อ คิดให้ดี…เป็นเรื่องแปลก นั่งคุยกันทั้งวันเมื่อยก็ไม่เป็นไร …ได้ เพราะอะไร? เพราะเราถูกความสนุกสนานเพลิดเพลินดึงดูดเราจากความสนใจร่างกายตัวเอง เราอาศัยความเพลิดเพลินในการพูดคุย บรรเทาความทุกข์ทางร่างกาย ความสุขทำให้เราละเลยความจริง นักปฏิบัติธรรมเราเรียนรู้ความจริง ความทุกข์เป็นความจริง ถ้าเราหนีความทุกข์ เรียกว่าเราหนีความจริง เราก็เป็นคนในโลก

เราจะนั่งอีก 10 นาที นั่งให้มันตื่น ความปวดก็มีอยู่กับทุกคนไม่เว้นคนพูด ก็ปวดขาเหมือนกัน ลองนั่งอย่างนี้ นั่งซักสองชั่วโมง นั่งให้มันเกิดความรู้สึกตัว ความรู้เนื้อรู้ตัวที่มันหนักแน่น ครูบาอาจารย์หลวงปู่มั่นนี่เดินจงกรมสองชั่วโมง นั่งสองชั่วโมง สมัยผมบวชเคยเดินได้เกือบสามชั่วโมง…ได้ครั้งเดียว ทำไมได้? เดินไปคิดไป เดินไปคิดไป ไม่ได้รู้สึกตัวเลย เนี่ย! ความคิดมันพาเราเพลิดเพลินอย่างที่บอกเมื่อกี้ ถ้าเรานั่งคุยกันสามชั่วโมงเราก็ไม่รู้สึกเลยเวลาผ่านไปไวจัง แต่พอเรานั่งเป็น เดินเป็น ยิ่งเวลามากเท่าไหร่ ช่วยเรามากเท่านั้น แต่เราจะนั่งจะเดินทั้งวันไม่ทำอะไรเลยก็ไม่ได้อีก แม้กระทั่งพระยังมีหน้าที่ มีกิจของสงฆ์ ต้องทำงาน ดูแลเสนาสนะ ทำความสะอาดวัด ซ่อมหลังคา ซ่อมประปา ทำทุกอย่างเหมือนกัน แต่เมื่อมีเวลา เราก็อาศัยรูปแบบช่วยเรา แล้วการปฏิบัติธรรมจะเรียกว่าครบวงจรได้ทั้งในทั้งนอกรูปแบบได้หมด เป็นธรรมชาติ

เคยมีคนมาฟังธรรมเป็นคนทำงาน มาถึงเริ่มนั่งปุ๊บ…หลับเลย หลับไปชั่วโมงครึ่ง เราก็อดทนนั่ง พอเราอดทนนั่ง คนที่เหลือต้องอดทนนั่งตามเรา เราหวังว่าจะให้เค้านอนจนพอแล้วตื่นขึ้น เค้าจะได้นั่งจริงๆ แล้วเค้าก็ตื่นขึ้นเป็นเวลาชั่วโมงครึ่ง เราก็นั่งต่ออีกครึ่งชั่วโมงให้เค้าได้รู้จักการนั่งสมาธิ เพื่อเค้าจะได้ไปใช้ในชีวิตได้เวลากลับบ้านไป เพราะฉะนั้น ที่พานั่งนานๆ ก็ไม่ใช่เพื่อใคร ก็เพื่อพวกเรานั่นแหละ

มีเวทนาเราก็รู้สึกไป รู้สึกจนมันเป็นแค่เวทนาไม่มีเราเข้าไปเป็นกับมัน

 

05-11-2561

Camouflage

 

YouTube : https://youtu.be/HC9GpGRjBQk

5 ช่องทางการฟังธรรม

1) YouTube: https://goo.gl/in9S5v

2) Facebook : https://www.facebook.com/SookGuySookJai

3) Line id : @camouflage.talk
https://goo.gl/DF2hFv

4) Podcast : Camouflage – Dhamma Talk
https://itun.es/th/t6Mzdb.c

วิธีการติดตั้ง https://goo.gl/tBMY9S

5) Website :
https://camouflagetalk.com/