89.คลาสสิก

ตอนที่ 1 คลาสสิก

ศาสนาพุทธเป็นศาสนาของปัญญา” ชี้ไปถึงความเข้าใจความจริงของชีวิต คนที่ไม่เคยมีคำถามกับชีวิตตัวเองเลย ไม่สามารถเข้าใจศาสนาพุทธได้ เป็นคนจมโลก เป็นคนมืดบอด

ปัจจุบันนี้มีคนแบบเจ้าชายสิทธัตถะเหมือนกัน คนที่เป็นที่สุดของโลก เป็นเจ้าชาย เป็นชนชั้นปัญญาชน มีพร้อมทุกสิ่งทุกอย่าง “แต่จำนวนมากไม่เคยมีคำถามกับชีวิตตัวเอง” ไม่เคยมีคำถามว่าเราคือใคร ตรงไหนที่เรียกว่าเรา แขนเป็นเรามั้ย ขาเป็นเรามั้ย หรือว่าลูกตาเป็นเรามั้ย อารมณ์เป็นเรามั้ย ไม่มีใครเคยสงสัยแบบนี้ วัฏสงสารมีที่สุดมั้ย หมายถึง การเกิด แก่ เจ็บ ตาย แบบนี้จะสิ้นสุดที่ตรงไหน คนฉลาด (Intellectual) จำนวนมากในโลกนี้ทั้งรวยทั้งเก่ง ไม่เคยมีคำถามแบบเจ้าชายสิทธัตถะถึงเรียกว่า คนจมโลก มืดบอด ต่อให้รวยแค่ไหน ฉลาดแค่ไหน ก็เป็นคนจมโลก จมกิเลส คนที่ไม่รวยไม่ฉลาดทางโลก แต่ถามคำถามแห่งชีวิตแบบนี้ถือว่าดีกว่า เพราะเริ่มเห็นแสงสว่างแห่งปลายอุโมงค์แล้ว ชีวิตมีโอกาสที่จะหยุดวัฏสงสารนี้แล้ว

เจ้าชายคนนึงมีทุกสิ่งทุกอย่าง ทิ้งความสุขสบาย ทิ้งลูกทิ้งเมียทิ้งพ่อทิ้งแม่ ลำบากตรากตรำ เพื่อจะหาหนทางหยุดวัฏสงสารนี้ ทำทุกรกิริยา 6 ปี เพราะคิดว่าเป็นทาง ลองผิดลองถูก ไม่มีครูบาอาจารย์แต่ไม่เลิก อดอาหาร 6 ปี เราอดข้าวมื้อนึงก็แทบเป็นแทบตาย แต่ท่านต่อสู้จนได้หนทางมา ได้วิธีการมา… “ปล่อยวางตัวตนพ้นจากความคิด รู้ทันดวงจิต ณ ปัจจุบัน” … กว่าท่านจะได้หนทางนี้มา แลกด้วยชีวิตและคราบน้ำตาเหมือนกัน ครูบาอาจารย์ทุกคนก็เดินเส้นทางเดียวกัน อาศัยทุกข์ เรียนรู้ทุกข์ จนเข้าใจทุกข์ และหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง ตื่น รู้ เบิกบาน สู่ความเป็นไท เป็นอิสระ

ไม่ว่าเจ้าชายจนไปถึงยาจก เราทุกคนมีความทุกข์เหมือนกัน เจ้าชายก็ต้องทะเลาะกับคนอื่นเหมือนกัน เจ้าชายก็ต้องเสียใจเหมือนกัน เจ้าชายก็ต้องผิดหวังเหมือนกัน “เราเท่าเทียมกันในฐานะที่เรามีความทุกข์เหมือนกัน” แต่เราโชคดีมีเจ้าชายคนนึงเสียสละหาทางพ้นทุกข์ให้กับเรา

มีครูบาอาจารย์ที่เดินตามส่งผ่านธรรมะการปฏิบัติมาถึงเรา ย่นย่อการปฏิบัติให้เราเข้าใจได้ เราเหลือหน้าที่เพียงเล็กน้อยคือ “ทำตาม” แค่ทำตาม อย่าให้มันยาก อย่าให้มันรู้สึกลำบากกับการที่เรามีหน้าที่แค่ทำตาม

เจ้าชายสิทธัตถะมีความทุกข์มากมาย แต่ด้วยความมีปัญญา ความรู้จักตั้งคำถามแห่งชีวิต จึงพลิกความทุกข์ทั้งหมดเป็นปัญญา เป็นความเข้าใจ เป็นความอิสระในที่สุด

ดอกบัวนั้นเกิดมาจากโคลนตมนั่นเอง … “นิพพานพิสุทธิ์ วิมุติธรรมา อยู่กลางมายาที่เราคุ้นเคย”  เราเพียงแค่รู้ แค่เห็น ค้นลงไปในจิตใจนี้ ดอกบัวก็อยู่ในนั้น เรียนรู้สิ่งที่คนธรรมดาคนนึงทำ คนที่เหมือนเป็นเทวดา สุขสบาย มีทุกสิ่งทุกอย่าง เรียนรู้ให้เกิดกำลังใจที่จะเดินอยู่บนเส้นทางนี้ในชีวิตที่เหลืออยู่นี้  เพราะเราไม่แน่ใจในอนาคต ถ้ามีการเกิดอีก จะเจอหนทางเส้นนี้อีกมั้ย จะมีครูบาอาจารย์หลงเหลือมั้ย จะมีตัวอย่างให้เราได้เห็นมั้ย เราไม่แน่ใจขนาดว่า พวกเรากันเองจะเจอกันอีกมั้ยด้วยซ้ำ

ท่านเขมานันทะครั้งนึงต่อต้านกระแสโลกๆ ต่อต้านแม้กระทั่งการถ่ายรูปเก็บไว้เป็นที่ระลึก มีพระไปกับท่าน ชวนท่านถ่ายรูป ท่านปฏิเสธ พระรูปนั้นก็บอกว่าชีวิตนี้เราอาจจะเจอกันแค่ครั้งเดียว หลังจากนั้นท่านก็ได้ข่าวว่าพระรูปนั้นมรณภาพแล้ว ก็เลยเจอกันเพียงแค่ครั้งเดียว  เพราะฉะนั้น “ชีวิตของเราทุกคนไม่แน่” วันนี้อาจจะเป็นวันสุดท้ายที่เราได้เจอกันก็ได้ หลอมรวมการปฏิบัติเข้าไปในชีวิตประจำวันให้ได้ สอดแทรกมันเข้าไป

ปล่อยวางตัวตน พ้นจากความคิด …ปล่อยวางยังไง? รู้ทันเมื่อไหร่ที่เกิดความเป็นตัวเป็นตนขึ้นมา รู้ทัน… “เมื่อรู้แล้วมันปล่อยเอง” ไม่ใช่ไปนั่งปล่อยวาง อาศัยกิริยารู้ทัน

รู้ทันดวงจิต ณ ปัจจุบัน…ทำอะไรก็รู้จิต ทำอะไรอยู่ก็ไม่ลืมที่จะเห็นจิตใจเป็นยังไง ไม่ลืม ไม่ใช่เพ่งจ้อง เห็นร่างกายมันนั่งอยู่ เห็นร่างกายมันเป็นยังไงอยู่ อาศัยร่างกายเป็น Background แล้วรู้ทันจิตใจเป็นยังไง ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหว…ก็รู้ จิตใจปกติ…ก็รู้ กระทบเสียง จิตใจเคลื่อนไหวยังไง…ก็รู้  การปฏิบัติย่นย่อมาก็เหลือแค่นี้

ารหลอมรวมการปฏิบัติแบบนี้เข้าไปในชีวิตเราให้ได้ในทุกๆ กิจกรรม….มันคลาสสิก (Classic) มันเป็นธรรมชาติ มันเป็นชีวิตใหม่ของเรา มันคือการใช้ชีวิตจริงๆ ที่คนบนโลกนี้ไม่รู้จัก ไม่รู้จักการใช้ชีวิตจริงๆ ว่าเป็นยังไง คนในโลกรู้จักแต่การผจญภัยในโลกกว้าง ออกไปข้างนอกไม่เคยใช้ชีวิตในแบบที่คนมีสติรู้สึกตัว รู้จักจิตใจเป็นยังไง เรารู้ทันจิตใจว่าเป็นยังไง ความรู้สึกอารมณ์ต่างๆ กิเลสต่างๆ เกิดขึ้น…รู้ทัน  คนในโลก อารมณ์ ความรู้สึก กิเลสใดๆ เกิดขึ้น…ตามมัน เข้าไปเป็นกับมัน

เราได้รู้จักชีวิตที่มีคุณค่าที่ไม่มีสอนในโรงเรียน พ่อแม่เรายังไม่รู้เลย เรารู้ได้เพราะมีพระพุทธเจ้า มีครูบาอาจารย์ และด้วยความอุตสาหะ ความเพียรของเราเอง ความที่รู้จักตั้งคำถามแห่งชีวิตของเราเอง เราจึงขวยขวาย ค้นหา และวันนี้เราเจอทางแล้ว เหลือแค่เดิน เดินไปเรื่อยๆ เดินอยู่บนเส้นทางที่น้อยคนนักจะได้รู้จัก

เราอยู่ที่แบบนี้เป็นที่ที่น้อยคนนักจะได้โอกาส เราได้มีโอกาสรู้จักคนที่ทำให้ที่นี่เกิดขึ้น คนที่เสียสละจัดการทุกอย่างให้เราอยู่ได้ เราตอบแทนความเสียสละคนหลายคนที่นี่ ที่ทำให้ที่นี่เกิดขึ้นด้วยการปฏิบัติตามเจตนารมย์ที่ทุกคนเสียสละทำที่นี่ขึ้นมา

 

ตอนที่ 2 แค่รู้ แค่ดู แค่เห็น

พระพุทธเจ้าก่อนจะบรรลุธรรม ท่านพยายามทำให้จิตนี้มันดี ทำให้จิตนี้มันสงบ พยายามจัดการทุกสิ่งทุกอย่าง เพื่อนำไปสู่ความหลุดพ้น แต่ในสุดท้ายท่านต้องเลิก ท่านเข้าใจว่าไม่ใช่การไปจัดการ แทรกแซงจิตใจหรือร่างกาย ท่านสรุปเหลือเพียงแค่… “มีสติรู้เท่าทันกายและจิตนี้” เรียกในนามที่ท่านให้ชื่อไว้ว่า “สติปัฏฐาน 4” มีสติตามรู้กาย เวทนา จิต ธรรม ย่อลงคือ แค่รู้ทัน… “รู้ทันดวงจิต ณ ปัจจุบัน

เมื่อรู้ทันดวงจิต ณ ปัจจุบัน การที่เราเฝ้ารู้ เฝ้าดู อยู่แบบนี้ เป็นบ่อเกิดของศีล สมาธิ และมีปัญญาเห็นไตรลักษณ์ในที่สุด คำว่า “แค่รู้ แค่ดู แค่เห็น” แลกมาด้วยชีวิตของเจ้าชายคนนึง แลกมาด้วยความอดทนและเสียสละของคนหนุ่มคนนึงตัดสินใจออกจากวังอายุ 29 ปี เหลือคำสอนสั้นๆ ที่เราเอาไปใช้ได้ เพราะฉะนั้น อย่าให้ใครหลอกเราได้ อย่าให้ใครหลอกเราทำสิ่งที่เกินกว่าที่พระพุทธเจ้าสอน

คนในโลกจำนวนมากไม่เคยศึกษาศาสนาพุทธคืออะไร เกิดมาก็อยู่ในศาสนาพุทธ รู้แค่นั้น ไม่เคยศึกษาพระพุทธเจ้าสอนอะไร ไม่เคยเรียนรู้ชีวิตของคนๆ นึง มาเป็นพระพุทธเจ้าได้ยังไง คนในโลกเชื่อแต่ความคิดตัวเอง เชื่อค่านิยม เชื่ออะไรต่างๆ ที่เป็นประเพณีปฏิบัติ เอาถูกเอาผิด เอาเป็นเอาตายกับมัน แต่ละประเพณีปฏิบัติก็ไม่เคยถาวรเลย เปลี่ยนแปลงตลอด แม้กระทั่งกฎหมายที่ทุกประเทศมี เช่น  รัฐธรรมนูญ กฎหมายสูงสุดของประเทศ ก็ยังไม่เคยเห็นใครว่าดีที่สุดซักทีนึง เปลี่ยนตลอด ต้องเปลี่ยนให้เข้ากับยุคกับสมัย แปลเป็นภาษาธรรมะคือ ให้เข้ากับกิเลสคน

แต่ธรรมะของพระพุทธเจ้า 2,600 กว่าปีผ่านไป ไม่เคยเปลี่ยนแปลง

วิธีปฏิบัติ สติปัฏฐาน 4  2,600 ปีผ่านไปไม่เคยเปลี่ยนแปลง

ศีล 5 ข้อ 2,600 ปีผ่านไปไม่เคยเปลี่ยนแปลง

แต่คนในโลกก็มืดบอด ไม่เห็นพลังแห่งความจริง มีความจริงอยู่อันนึงในโลกที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลยกลับไม่เห็นคุณค่า กลับไปให้คุณค่ากลับสิ่งที่ไม่ถาวร เปลี่ยนแปลงไปตามยุคตามสมัย ให้คุณค่าสิ่งเหล่านั้นมาเป็นเจ้านายกับชีวิต แล้วเราก็ทาสของมัน คนตั้งแต่ชั้นปัญญาชน ระดับประเทศ ก็ยังเป็นทาสของสิ่งเหล่านี้อยู่

เพราะฉะนั้น พวกเราหมั่นดูจิตใจตัวเอง… ยังเป็นทาสของอะไรมั้ย?

อะไรที่ยังทำให้เราทุกข์ได้นั่นเรายังเป็นทาสของมันอยู่

อะไรที่ทำให้เราแสวงหาอยากได้นั่นแสดงว่าเรายังเป็นทาสของมันอยู่

ไม่ต้องป้องกัน (Protect) ให้จิตนี้มันดีอยู่ตลอดเวลา กระทบอะไรขึ้นมา มันกระเทือนขึ้นมา รู้มันเป็นแบบนี้ ไม่ใช่เอาความคิดเข้ามาปิดบังความจริง ความจริงคือ สภาวะเกิดขึ้นตรงนี้ เป็นแบบนี้ รู้เห็นมันอย่างที่มันเป็น ไม่ใช่ป้องกันจัดการด้วยความคิด รู้เห็นมันให้จิตใจนี้กระทบกระเทือนอย่างอิสระ แล้วรู้เห็นมัน จนวันนึงเราจะเข้าใจว่า ไม่มีเรา “ไม่มีเราในสภาวะใดๆ ที่เกิดขึ้นมา” แต่ถ้าเราคอยไปคิดแทรก ปกป้อง จัดการ นั่นคือ เรา…จิตมันก็ดี ดีตามที่เราแทรกแซงนั่นแหละ แต่มันมีเรา มีเราตลอดทาง เราจะไม่ได้เห็นความจริงเลยว่า ไม่มีเรานี่เป็นยังไง

เพราะฉะนั้นก็… แค่รู้ แค่ดู แค่เห็น…พระพุทธเจ้าคงไม่อยากให้พวกเราทำเกินสิ่งที่ท่านอุตส่าห์ค้นพบ

จิตใจฟุ้งซ่านขึ้นมา ก็แค่รู้ แค่ดู แค่เห็น รู้ตอนนี้เป็นแบบนี้แล้ว มีความอยากจะสงบแล้ว ใจแว่บไปนั่งสมาธิดีกว่า…รู้ทันความอยากนั้น “ความสงบจะเกิดขึ้นได้เมื่อความฟุ้งซ่านดับไป” เราก็แค่รู้ แค่ดู จนมันดับไปแค่นั้น แล้วความสงบก็จะเกิดขึ้นเอง ไม่ต้องทำมันขึ้นมา มันก็เกิดขึ้นเอง เพียงแค่สิ่งหนึ่งดับไป สิ่งใหม่ก็จะเกิดขึ้นมา

แต่นักปฏิบัติธรรมก็อดทนไม่พอ” เห็นอย่างนี้ก็ไม่ชอบ ลุยเลย จัดการแทรกแซงเลย นี่เค้าเรียกว่า ติดดี เอาดี…ไม่ใช่เอาความจริง

รู้สึกร่างกาย แล้วก็เห็นจิตใจ คำว่า “เห็น” คือ เห็นด้วยความรู้สึกนั่นแหละ เป็นยังไง ปกติก็รู้ว่าปกติ เงียบก็รู้ว่าเงียบ รู้แล้วก็รู้สึกตัว วนเวียนอยู่แบบนี้ มันไปคิดก็รู้ทัน มันออกนอกไปหน่อยก็รู้ทัน ทำไมรู้? ก็มันลืมร่างกายไปแล้ว มันลืมความรู้สึกตัวไปนิดนึงแล้ว ฝึกแบบนี้

จิตมันยังไปคิดได้ ก็ไม่เป็นไร แปลว่าเราไม่ได้เพ่ง ก็แค่รู้ว่ามันไปแล้ว มีความสั่นสะเทือนขึ้นภายในก็แค่รู้ “อย่าเอาไปเป็นเจ้าของ” พอมันสงบแล้วก็รู้ว่ามันสงบแล้ว “เห็นลงไปในมุมของไตรลักษณ์” บังคับไม่ได้ มีเหตุก็เกิด หมดเหตุก็ดับไป เรียกว่าเห็นอนัตตา เดี๋ยวมันสะเทือนอีกก็รู้…แค่รู้

 

ตอนที่ 3 เปลี่ยนมุมมอง

โอเค…ไปเดินจงกรมครับ

เราเดินก็แค่เดินสบายๆ “เดินสบายๆ แต่มีมุมมองที่จะเห็นร่างกายนี้มันเดิน” ไม่ใช่เดินสบายแบบล่องลอย เปลี่ยนจากมองข้างนอก ก็เป็นมองร่างกายนี้มันเดินอยู่… มองด้วยความรู้สึก ไม่ใช้ตาจริงๆ เนี่ย! เราเพิ่มมุมมองอันนี้นิดเดียว บางทีพูดเดินสบาย เดินให้มันผ่อนคลาย ทีนี้หลงเลย ไปดูวิวทิวทัศน์ไปอย่างนั้นแทน

เดินสบายๆ แต่มีมุมมองในการเห็นร่างกายนี้มันเดินอยู่ เห็นร่างกายมันหยุดยืน มันหมุนก็เห็นมันหมุน ไม่ได้เพ่ง ไม่ได้จ้อง เห็นร่างกายมันเดิน บางทีก็ไปรู้สึกเท้าชัด เท้ามันกระทบพื้นมันรู้สึกชัด…ก็รู้ ก็แค่นั้น  ก็รู้ว่ามันรู้สึกตรงนั้น มันก็สลับกัน จะเห็นว่าจิตใจมันก็ไปรู้สึกตรงนั้นตรงนี้ของมันเอง เราไม่ได้บังคับให้มันต้องอยู่ตรงนั้น ต้องอยู่ตรงนี้ แต่เดี๋ยวมันก็ลืม เดี๋ยวมันก็หลงออกไปคิด หลงออกไปดูเพราะเราลืมตาอยู่ หลงมาฟัง…ก็รู้ทันว่ามันลืมแล้ว ลืมการเห็นร่างกายนี้แล้ว ลืมการเห็นจิตใจนี้แล้ว มีเสียงเกิดขึ้นมามันก็มาฟังเลย ก็เห็นว่า เอ้อ…มันบังคับไม่ได้ ถ้าเราจะต่อต้านเสียงที่ผมพูด จะต่อต้าน…ไม่ฟัง ไม่ฟัง…อันนี้เป็นเรา เรากำลังแทรกแซงธรรมชาติของจิตใจมันเป็นแบบนี้ แล้วสุดท้ายเราจะเหนื่อย จะหนัก ชีวิตก็ลำบากในที่สุด เพราะเราฝืนธรรมชาติ

เดินแล้วก็ดูจิตใจเป็นยังไง? ไม่ลืม… ไม่ลืมที่จะย้อนกลับมาดูความรู้สึกในจิตใจเป็นยังไง รู้แล้วก็ผ่านไป

ใครที่ชอบไปคิดบ่อยๆ ยืนรู้สึกตัวให้มันนานๆ หน่อย “รู้สึกถึงสภาพหยุดนั้น” ให้มันรู้สึกว่ามีกำลังขึ้นมา ความรู้เนื้อรู้ตัวมันเกิดขึ้นมา ความอยู่กับเนื้อกับตัวมันเกิดขึ้นมา มันจะเป็นกำลังส่งต่อให้การเดินนั้นไม่ฟุ้งซ่านมาก พอฟุ้งซ่านน้อย เราก็จะรู้ทันจิตที่ฟุ้งซ่านได้

จิตใจเนี่ยมันเปลี่ยนแปลงนิดๆ หน่อยๆ ก็รู้ กระทบอะไรเข้าทางตา จิตใจก็จะเปลี่ยนแปลง ก็รู้ ไม่ใช่ไม่ให้มันเปลี่ยนแปลง หรือไม่ใช่ว่าเกิดอะไรขึ้นก็ทำเป็นไม่รู้  ความมีอยู่ของสิ่งใดๆ ในลักษณะของความเป็นตัวเป็นตนเกิดขึ้นมาได้เพราะความคิด ถ้าไม่คิด…สิ่งนั้นยังมีอยู่ แต่ไม่มีความเป็นตัวเป็นตนเข้าไปร่วมด้วย

 

ตอนที่ 4 อย่าพยายามที่จะมีสติทุกย่างก้าว

อย่าพยายามที่จะมีสติทุกย่างก้าว นั่นคือเป้าหมาย นั่นคือความหวัง แล้วเราจะทำในที่สุด แล้วเราจะเพ่งในที่สุด

หน้าที่ตอนนี้มีแค่เห็นร่างกายนี้มันยืนอยู่ มันหมุนอยู่ มันเดินอยู่ “ไม่ต้องคาดหวัง หรือมีเป้าหมายที่จะดีไปกว่าหน้าที่ตรงนี้ ทำหน้าที่แค่นี้ แล้วมันจะดีเอง

อย่าลืมที่บอกไปตอนนั่งสมาธิเมื่อกี้นี้… แค่รู้ แค่ดู แค่เห็น… มันจะได้แค่ไหนเป็นเรื่องของเหตุปัจจัย

เราเรียนหนังสือ เรียนไป ป.1 ป.2 ป.3 ป.4 จนถึงด็อกเตอร์ มันค่อยๆ พัฒนาไป อย่าไปเริ่มเรียน ป.1 คิดไปถึงด็อกเตอร์ จะให้เป็นด็อกเตอร์จะทำเป็นด็อกเตอร์แต่เรียนป.1 อยู่ นั่นคือเป้าหมาย ถ้ามีเป้าหมายก็จะหลงลืมหน้าที่ตอนนี้ จะไปทำผลอย่างที่คิดเอาไว้ มันจะพาเราหลงทาง

เพราะฉะนั้น มันเดินอยู่ ก็เห็นมันเดินอยู่ พอมันวื้บบไปคิด…รู้ทันไปคิดแล้ว ลืมเห็นแล้ว ก็แค่นั้น

อย่าลืมว่าเราอย่าทำเกินสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอน อย่าทำเกินสิ่งที่ครูบาอาจารย์สอน ถ้าเราไม่ทำเกิน ง่ายเลย “มันยากเพราะชอบเกิน” เราปฏิบัติไป เราอยู่ ป.2 ป.3 ป.4 ป.5 มันยังไม่ถึงด็อกเตอร์ เพราะฉะนั้น เราจะโดนตำหนิ จะโดนบอกว่าไม่ถูก หรือว่ายังไม่ดี ยังขาดนี่ขาดนั่น มันก็เรื่องธรรมดา แต่ไม่ได้แปลว่าเราทำผิด ถ้ายังไม่เป็นพระอรหันต์ มันก็ยังไม่มีใครสมบูรณ์หรอก ไม่ต้องไปกลัวเรื่องแบบนั้นที่จะทำผิดจะยังไม่ดี ถ้าดีแล้วก็ไม่ต้องมาเดินจงกรมแบบนี้

พระอานนท์สมัยนึงท่านก็เป็นพระโสดาบันแล้ว พูดกับพระพุทธเจ้าว่า ปฏิจจสมุปบาทนี้เป็นของตื้น ก็คือหมายความว่าท่านเข้าใจแล้ว พระพุทธเจ้าก็บอกว่า อย่าเลยอานนท์ปฏิจจสมุปบาทนี้ไม่ใช่ของตื้น เป็นของลึกซึ้ง เป็นพระโสดาบันก็ยังต้องถูกสั่งสอนจากพระพุทธเจ้าอยู่เหมือนกัน เพราะพระโสดาบันก็ยังไม่แจ่มแจ้งในกองทุกข์ ต้องเรียนรู้เหมือนกัน

เรานักปฏิบัติธรรมส่วนใหญ่ก็จะเห็นปฏิจจสมุปบาทส่วนปลายคือ มีอยากแล้ว ก็มียึด เรียกว่า มีตัณหา แล้วก็มีอุปทาน เกิดภพ เกิดชาติ เกิดชรา มรณะ ไปเรื่อยๆ ทุกข์ในที่สุด เราจะเห็นตรงนี้กันมาก เห็นกันบ่อยๆ เราค่อยๆ ฝึกไป เราจะเห็นปฏิจจสมุปบาทตอนต้น อวิชชาเป็นเหตุให้เกิดสังขาร สังขารเป็นเหตุให้เกิดวิญญาณ วิญญาณเป็นเหตุให้เกิดนามรูป…เราจะเห็นส่วนนี้ มันจะเป็นประสบการณ์ ตอนเห็นก็ไม่รู้หรอกว่าเรียกว่าปฏิจจสมุปบาทส่วนต้น พอฟังธรรมอ่านอีกทีนึงถึงจะ อ้อ…อันนี้เรียกปฏิจจสมุปบาทส่วนต้น เพราะฉะนั้น ตอนเห็นก็เป็นประสบการณ์ที่เราจะสัมผัสได้เอง

เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าถึงบอกพระอานนท์ว่า ปฏิบัติให้มากแล้วจะสิ้นสงสัยเอง “เพราะการเห็นกับการคิดตาม มันไม่เหมือนกันโดยสิ้นเชิง” แต่พระพุทธเจ้าก็จำเป็นต้องพูดเอาไว้ก่อน พอวันนึงมีคนเห็นตามก็… อ้อ! ที่ท่านว่าคือแบบนี้ จะได้รู้สึกว่าปฏิบัติแล้วก็…เออ! เห็นความจริงตามที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ แปลว่ามาถูกทาง

ยังเห็นร่างกายมันเดินอยู่มั้ย? มันมีว่าเป็นเราเดินบ้างมั้ย? สังเกตดู… มีเหมือนกัน “เราเดินกับเห็นร่างกายมันเดิน ความรู้สึกไม่เหมือนกัน” การฝึกที่จะมองแบบนี้เค้าเรียกว่า กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นการเริ่มที่จะเห็นร่างกายนี้ตามเป็นจริง แล้วเราก็เริ่มที่จะเห็นจิตใจนี้ตามเป็นจริง เป็นการเปิดตาเรียกว่า ธรรมจักษุ คือเห็นแบบนี้ อย่าไปทำให้มันไม่หลง มันหลงก็รู้ขึ้นมา แค่นั้น

เพราะฉะนั้น เราไม่มีหน้าที่ที่จะบอกว่า ชั้นจะต้องมีสติตลอด ชั้นจะเห็นร่างกายมันเดินตลอด ชั้นจะเห็นมันหมุน เห็นมันหยุดตลอด ไม่ได้มีหน้าที่แบบนั้น “มีหน้าที่แค่เห็นร่างกายมันเดิน ไม่มีเงื่อนไขอื่นๆ อีก…มีแค่นี้  แล้วมันลืมไปก็รู้ขึ้นมา…แค่นั้น

 

หมายเหตุ เนื้อหาคำสอนบางส่วนสีแดง นำมาจากเพลงคำถามแห่งชีวิต ซึ่งประพันธ์เนื้อร้องโดยท่าน ว. วชิรเมธี https://youtu.be/s0jOeOu-Xc8

 

28-02-2562

Camouflage

 

YouTube: https://youtu.be/FS74_Datdl0

คลิปเสียงธรรมะทั้งหมดของอาจารย์ Camouflage : https://goo.gl/RDZFMI

======================

5 ช่องทางการอ่านและฟังธรรม

1) Facebook : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
http://www.facebook.com/sookguysookjai

2) Line : @camouflage.talk
https://line.me/R/ti/p/%40camouflage.talk

3) YouTube : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
https://goo.gl/in9S5v

4) Website: https://camouflagetalk.com/

5) Podcast : Camouflage – Dhamma Talk
https://itun.es/th/t6Mzdb.c
วิธีการติดตั้ง https://goo.gl/tBMY9S