88.ถามตัวเอง

 

ตอนที่ 1 คำถามเดียวสำหรับทุกคน

เรานั่งสมาธิ นั่งให้มันสบาย คำว่าสบายคือ มันเริ่มจากท่าทางก่อน นั่งท่าทางที่สบาย สบายยังไง? หลังตรง พอเราอยู่ในท่าทางที่ถูกต้อง หันมาดูจิตใจเราเป็นยังไง ปกติมั้ย ปกติก็รู้ว่าปกติ ถ้ามันยังไม่ค่อยปกติเท่าไหร่ ค่อยๆ หายใจออกช้าๆ หายใจเข้าหายใจออกช้าๆ เวลาหายใจออกจะรู้สึกถึงความรู้สึกตัวทั่วพร้อมง่ายๆ ไม่เกิดการจำเพาะเจาะจงว่าต้องอยู่ที่ไหน รู้ตรงไหนไม่มี

เมื่อความรู้สึกตัวทั่วพร้อมเกิดขึ้น อันนี้เรียกว่า มีสติแล้ว พอมีสติ สมาธิมันก็จะเริ่มเกิด มันเป็นของเนื่องๆ กันไป หน้าที่เราก็มีแค่นี้เอง เพราะฉะนั้น “เราต้องเริ่มให้มันถูก” ไม่ใช่ตั้งท่าปฏิบัติธรรมทั้งวัน ตั้งท่าจะมีสติทั้งวัน มันมีแต่เรา เริ่มจากการนั่งสบายๆ หันมาดูใจ หายใจออกยาวๆ นี่ปัจจัยง่ายๆ แค่นั้นแหละ ความรู้สึกตัวทั่วพร้อมก็เกิดขึ้น

เมื่อความรู้สึกตัวทั่วพร้อมเกิดขึ้น ก็จะมีอาการปลอดจากความคิด” อาจจะปลอดจากความคิดซักระยะหนึ่ง แล้วเดี๋ยวจิตใจก็มีธรรมชาติส่งออกนอก วึ้บไปคิด แล้วก็รู้ทันขึ้นมา รู้ทันขึ้นมามันก็กลับมาเอง ไม่ใช่ไปดึงมันกลับมา รู้ทันขึ้นมาปึ๊บธรรมชาติมันจะกลับมาเอง ก็กลับมาอยู่กับความรู้สึกตัวทั่วพร้อมหรือที่เรียกว่า อยู่กับเนื้อกลับตัวอันเดียวกัน

มันคิดก็รู้ทัน พอผมเงียบก็คิดเลยก็ต้องรู้ทัน รู้ช้ารู้เร็วไม่เป็นไร รู้ขึ้นมาได้โอเคแล้ว ทำไมถึงโอเค “เพราะว่าจิตนี้ยังทำงานอย่างเป็นธรรมชาติ” ธรรมชาติหลงแล้วก็มีธรรมชาติรู้เกิดขึ้น เรามีธรรมชาติรู้กับหลงสลับกันไปมาทุกวันทั้งวี่ทั้งวัน ฝึกอยู่อย่างนี้ ต่อไปจะเจริญปัญญาขึ้นมาเอง การเห็นสภาวธรรมซ้ำไปซ้ำมาๆ เป็นผลให้ธรรมชาติแห่งปัญญาเกิดขึ้น เราไม่ทำมันขึ้นมา มันเจริญของมันเอง ด้วยการที่เรารู้จักธรรมชาติรู้กับหลง รู้กับหลงไป ไปเรื่อยๆ

ตอนที่ไม่หลงไปไหน มันเป็นความรู้สึกตัวทั่วพร้อม มันเป็นความอยู่กับเนื้อกับตัว “ความรู้สึกตัวทั่วพร้อมความอยู่กับเนื้อกับตัวเป็นความรู้สึกรวมๆ” สัมมาสตินี้เป็นการรู้แบบทั่วถึง ไม่ใช่รู้เป็นจุดๆ ไม่งั้นจะไม่มีคำศัพท์ว่ารู้สึกตัวทั่วพร้อม ทำไมถึงรู้สึกตัวทั่วพร้อมได้ ทั่วพร้อมหมายถึงรู้สึกทั้งองค์รวม รู้เห็นความมีอยู่ของร่างกายและจิตใจนี้ นั่งอยู่ก็รู้ได้ รู้สึกได้ว่าร่างกายนี้มันนั่งอยู่…ทั้งองค์นี้นั่งอยู่ นั่งรูปท่าขัดสมาธิอยู่…รู้ได้ ถ้าเราไปจมอยู่กับจุดใดจุดหนึ่งหรือที่ใดที่หนึ่งเราจะรู้ได้มั้ยทั่วพร้อม…รู้ไม่ได้

อย่างเรานั่งทำงาน เราแค่หลับตาลงหายใจเข้าซักทีออกซักทีความรู้สึกตัวทั่วพร้อมก็เกิดขึ้นทันที พลังใจก็เกิดขึ้นทันที ทำงานต่อได้ การปฏิบัติธรรมนั้นไม่ขัดขวางการทำงาน แต่การต้องเสียเวลาไปทำงานในโลกอาจจะเสียเวลาปฏิบัติธรรมเพราะต้องคิด โดยเฉพาะงานที่ต้องใช้ความคิดตลอดเวลา

เรานั่ง เราก็อยู่กับร่างกายเรา ความรู้สึกตัวทั่วพร้อมก็เกิดขึ้นเนืองๆ “อย่าให้ความเคลิ้มกินพื้นที่ความตื่นของใจ นิดนึงก็ควรจะต้องรู้ทัน คนชำนาญแล้วจะเห็นได้ไว เห็นปึ๊บก็ขยับหน่อยหายใจหน่อย คนไปเยอะแล้วต้องลืมตาเลย แต่ถ้าเราเห็นมันได้ไว ความเคลิ้มก็ขาดไปเลย ความตื่นจะมีพลังมากกว่า

ทุกวันเราก็นั่งแบบนี้แหละ การนั่งสมาธิก็คือ การนั่งแบบนี้แหละ นั่งแบบนี้เอาไว้เรียกว่า “สั่งสมความตั้งมั่น” อย่ารีบไปเจริญปัญญา “ปัญญาจะเจริญได้จิตใจต้องตั้งมั่นก่อน จิตใจตั้งมั่นได้ต้องมีสติก่อน

แค่เรามีสติอยู่กับเนื้อกับตัวพ้นจากความคิดปรุงแต่งจิตใจนี้เป็นปกติอยู่ ความตั้งมั่นจะเกิดขึ้นเอง กำลังสัมมาสมาธิจะเกิดขึ้นเอง เมื่อสัมมาสมาธิเกิดแล้ว การเจริญปัญญาก็จะเกิดขึ้นเอง

เพราะฉะนั้น เราไม่ต้องรีบร้อนไม่ต้องกะวนกะวายว่าเมื่อไรจะก้าวหน้า ถ้ามีคำถามกับตัวเองว่าเมื่อไรเราจะก้าวหน้านั่นคือ “อัตตา” กิเลสหลอกอีกแล้ว ถ้ามีคำถามทำไมเรายังเป็นอย่างนี้อยู่ กิเลสหลอกอีกแล้ว คำถามเดียวสำหรับพวกเราทุกคน ตอนตื่นมาถามตัวเอง กินข้าวเสร็จถามตัวเอง เวลาขี้เกียจถามตัวเอง เวลาท้อแท้ถามตัวเอง “วันนี้เราสร้างเหตุหรือยัง”

หรือเรามัวแต่คิดหาวิธีการ คิดท้อแท้สิ้นหวัง คิดว่าทำไมเป็นอย่างนี้ คิดว่าเมื่อไรจะก้าวหน้าซักที นักปฏิบัติทุกคนต้องเคยผ่านสภาพแบบนั้น สภาพแห่งความรู้สึกเป็น Loser (ผู้แพ้) แต่จำไว้ว่าบทเรียนนั้นได้สอนเราแล้วว่าการคิดกับตัวเองแบบนั้นไม่มีประโยชน์อะไรเลยแม้แต่นิดเดียว มีแต่จะทำให้จิตใจนี้อ่อนแอลงไปเรื่อยๆ

เพราะฉะนั้น ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ถ้าอยากจะมีคำถาม อยากจะสงสัย ให้ถามตัวเอง “วันนี้เราสร้างเหตุหรือยัง วันนี้เราได้มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อมหรือยัง

 

ตอนที่ 2 ความน่าสนใจของศาสนาพุทธ

ขณะที่หยุดพูด สังเกตได้ว่าเกิดความรู้สึกตัวทั่วพร้อมขึ้นเพราะอะไร เพราะจิตมันไม่ได้ไปอยู่ที่หูแล้ว มันก็กลับมาที่ตัว จิตมันไม่ได้ส่งออกไปฟัง มันก็กลับมาที่ตัว สังเกตว่าเรานั่งแบบนี้มีเหลือแค่ความรู้สึกตัวทั่วพร้อม มันมีทุกข์มั้ย…ไม่มี มีสุขมั้ย…ไม่มี

มันเป็นเพียงแค่ความรู้สึกตัวทั่วพร้อม เหลือแค่รู้สึก ที่พ้นออกจากโลกความคิดปรุงแต่ง เป็นจิตใจที่ปกติ จิตใจที่สิ้นตัณหา สิ้นความอยากชั่วคราว สภาพของการแค่รู้สึก สภาพที่ไม่มีบุคคลมารองรับ ปราศจากความต้องการ ความไม่ต้องการ ความหวัง ความสมหวัง ความผิดหวัง เหลือแค่รู้สึก ขณะนี้ ขณะนี้ ขณะนี้ หมดไปๆเรื่อยๆ เป็นชีวิตที่ไร้ขอบเขต

อย่าให้ความเคลิ้มนิดเดียวครอบงำจิตใจเรา ถ้ามีสติรู้รอบ อะไรเกิดขึ้นในกายในใจก็รู้ทัน นิดเดียวก็ต้องรู้ทัน เวลารู้ทันปึ้บ ความรู้สึกตัวทั่วพร้อมก็เด่นขึ้นมา นี่คือธรรมชาติของการปฏิบัติธรรม เค้าเรียกว่า รู้เป็นขณะๆ เปลี่ยนแปลงตลอด เดี๋ยวตื่นเดี๋ยวเริ่มเคลิ้มๆ เดี๋ยวเด่นเดี๋ยวไม่เด่น เดี๋ยวชัดเดี๋ยวไม่ชัด เรียนรู้ธรรมชาติ เป็นแบบนั้น จิตใจมันจะเรียนรู้อยู่ในกายในใจนี้ อยู่ในกายนี้ วิ่งวนไปเรื่อยๆ ทุกวันเราก็ทำแบบนี้

เมื่อเรามีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม เวลาเราหายใจเข้าเราจะรู้สึกได้ทั้งตัว ไม่ใช่รู้สึกอยู่แค่ลมหายใจ เวลาเราหายใจออกเราก็รู้สึกได้ทั้งตัว เมื่อเรารู้สึกถึงความรู้สึกตัวทั่วพร้อมได้ ความรู้สึกเล็กๆ น้อยๆ ก็จะรู้ได้ มันก็ส่งเสริมกันไปมา “แค่อย่าละเลย

ความรู้สึกมีอยู่กับเราตลอดเวลา ที่ไม่รู้สึกเพราะละเลย ที่ผมเคยบอกอยากจะหาทางแก้ คิดโน่นคิดนี่ จะทำไงให้ดีกว่านี้ จะทำยังไงดีตอนนี้เป็นแบบนี้ อยากจะจัดการโน่นจัดการนี่ เหล่านี้ทั้งหมดเรียกว่า ละเลยความรู้สึกตัวทั่วพร้อม ละเลยความรู้สึกตัว เมื่อละเลยแล้วความฟุ้งซ่านก็เกิดขึ้น ฟุ้งซ่านจนสุดท้ายก็ทุกข์ ความทุกข์ก็เกิดขึ้นกับเรา ความทุกข์ก็เกิดขึ้นกับเค้า เพราะเราก็จะเข้าไปยุ่งกับเค้าด้วย

เพราะฉะนั้น “ระวังตัวเองเท่ากับระวังผู้อื่น” ระวังตัวเองให้มาก อย่าให้คนอื่นต้องทุกข์เพราะเรา เพราะความไม่ระวังของเราเอง

ถ้านั่งแล้วรู้สึกมีความสว่างอะไรขึ้นมา ก็รู้มันเป็นแบบนั้น ไม่ต้องตื่นเต้น ทุกสภาวะไม่ว่าจะดีหรือไม่ดี เกิดขึ้นแล้วจะผ่านไป เกิดขึ้นแล้วก็จะดับไป ไม่มีอะไรน่าสนใจทั้งนั้น ความน่าสนใจเดียวของศาสนาพุทธคือ “ความไม่ทุกข์” ไม่ใช่สวยรวยหล่อ มีเกียรติยศชื่อเสียง เหล่านั้นเป็นความน่าสนใจในโลกที่วันนึงจะเสื่อมไปในที่สุด แต่ความน่าสนใจของศาสนาพุทธคือ “ความไม่ทุกข์เป็นสิ่งที่จะคงอยู่ตลอดไป

 เพียงแต่เราทำหน้าที่ทุกวัน หน้าที่แห่งความรู้สึกตัวทั่วพร้อม เจริญความรู้สึกตัวทั่วพร้อม ผ่านการเจริญสติ ผ่านการทำในรูปแบบ ผ่านการระวังตัวเองตั้งแต่ตื่นจนหลับ มีหน้าที่สร้างเหตุแบบนี้โดยไม่ต้องคาดหวังผลอะไรทั้งนั้น

ชีวิตเราแค่มีอาหารพอ มีที่อยู่หลับนอนได้ มียารักษาโรค เราได้โอกาสใช้ชีวิตในการทำหน้าที่แบบนี้ ไปเรื่อยๆ ไม่ต้องคาดหวังอะไร ได้ทำหน้าที่แบบนี้ไปเรื่อยๆ ถือว่าสมบูรณ์ที่สุดแล้ว

 

ตอนที่ 3 เหนือคำพูด

จิตใจที่ปกติ” มันไม่มีตัวหนังสือบอกเราว่าปกติ มันคือสภาพจิตใจที่ไม่ทุกข์ ไม่บวกไม่ลบ ไม่ขึ้นไม่ลง ไม่ฟูไม่แฟบ สังเกตว่ามันอธิบายตรงๆ ไม่ได้ มันใช้คำว่า “ไม่”…ไม่ใช่อย่างนั้น ไม่ใช่อย่างนี้ เพราะไม่รู้จะอธิบายยังไง

ธรรมะพระพุทธเจ้าเป็นแบบนั้น เรียกว่าเหนือ…“เหนือคำพูด” แต่ไม่ใช่เรื่องที่เราต้องไปคิดหาคำตอบ หาความเข้าใจด้วยความคิด…ไม่ต้องไปทำแบบนั้นเลย ไม่มีประโยชน์ แถมเมื่อไหร่คิดเก่ง กูเก่งนี่จะมาเลย อัตตานี่มันจะลอยมาเลย เข้าใจทุกอย่าง โดนหลอกอีก “ให้ความเข้าใจนี้มันเกิดขึ้นเองในใจผ่านการปฏิบัติผ่านการประจักษ์แจ้ง ผ่านประสบการณ์จากการได้สัมผัสด้วยตัวเอง ไม่ใช่การคิด” ผลลัพธ์การปฏิบัติธรรมทุกอย่าง มันเป็นประสบการณ์ที่เราจะต้องผ่านไปได้ด้วยตัวเอง ไม่มีการคิดเลย คิดก็ไม่เหมือน เพราะมันอยู่เหนือความคิด อธิบายไม่ได้ ไม่ว่าเรื่องผลลัพธ์เล็กๆ น้อยๆ ไปจนถึงผลลัพธ์ใหญ่ๆ ก็อธิบายได้ยากทั้งนั้น

เพราะฉะนั้น เรามีหน้าที่ คือ “วันนี้สร้างเหตุหรือยัง?”. มีหน้าที่แค่นั้น ความรู้ความเข้าใจ ญาณทั้งหลายจะเกิดขึ้นเองเมื่อถึงเวลา…ถึงเวลาของมัน ไม่ใช่เวลาของเรา

อย่าลืมว่าการปฏิบัติธรรมไม่เหมือนการทำงานในโลก คำสอนนี้สอนหลายครั้งแล้ว การทำงานในโลก ความพยายามอยู่ที่ไหนความสำเร็จอยู่ที่นั้น ในทางธรรมความพยายามอยู่ที่ไหนความล้มเหลวอยู่ที่นั่นเลย เพราะความพยายามนี้มีแต่เรา “ในทางธรรมมีแค่การทำหน้าที่” ไม่มีการเร่ง ไม่มีการอยากก้าวหน้า ไม่มีการอยากให้สำเร็จ ไม่มีอยากให้เร็วกว่านี้ ทั้งหมดนี้เป็นอัตตา เป็นตัณหา

เปลี่ยนทัศนคติใหม่ แทนที่จะคิดว่า จะทำยังไงให้เร็วกว่านี้ จะทำยังไงให้ดีกว่านี้ หาหนทางจะทำ จะทำ จะทำ เปลี่ยนเป็นว่า “เราจะทำหน้าที่ทุกวันอย่างสม่ำเสมอได้ยังไง” เราต้องใช้ศิลปะอะไรในการให้กำลังใจตัวเอง ปลุกตัวเองขึ้นมาที่จะทำหน้าที่เฉยๆ ปราศจากความคาดหวัง ปราศจากความอยาก ปราศจากตัณหา อยากจะคิดให้คิดแบบนี้ จะทำยังไงให้ทุกวันทำหน้าที่ได้สม่ำเสมอ สอนตัวเองแบบนี้ บอกตัวเองแบบนี้

ทำหน้าที่อย่างสม่ำเสมอ เช่น นั่งแบบที่นั่งกันตอนนี้แค่นั้น ปราศจากความคาดหวัง ปราศจากการต้องการให้นั่งแล้วเป็นอย่างนี้เป็นอย่างนั้น “แค่นั่ง” นั่งอยู่บนความรู้สึกตัวทั่วพร้อม อยู่กับเนื้อกับตัว มันไปคิดก็รู้ทัน จะรู้ทันช้ารู้ทันเร็วไม่เป็นไรก็รู้ทันเหมือนกัน ไม่ต้องคิดว่าต้องเร็ว ถ้ามันจะเร็วมันจะเร็วเอง ไม่เกี่ยวกับเราอยากจะให้มันเร็ว เราทำหน้าที่ให้มันดีก็พอแล้วมันจะเร็วเอง แต่ถ้าเราอยากให้เร็วมันไม่เร็วหรอกมันจะยิ่งช้า เพราะมัวแต่คิด มีแต่ตัณหา มีแต่ตัวตน มีแต่อัตตา…นี่แหละ คือ “ตัวถ่วง

เซนเค้าถึงบอกว่า “อยากก้าวหน้าให้ถอยหลัง” ทำไม? ให้ถอยหลังกลับมาไม่งั้นมันจมเข้าไปในตัณหา ถอยหลังกลับมา หายใจซักเฮือก รีเซ็ตความอยากทั้งหลายทิ้งไป หายใจซักเฮือก หายใจเข้าให้สบาย หายใจออกให้สบาย เท่านี้ มันก็ได้รีเซ็ตแล้ว

 

ตอนที่ 4 มีเหตุ ผลก็เกิด

เวลาเรานั่งรู้สึกตัวทั่วพร้อมแบบนี้ จะสังเกตได้ว่าจิตมันเคลื่อนไปฟังหน่อยรู้แล้ว จิตมันขยับเหมือนไปคิด เราก็จะรู้เห็นได้ทั้งที่ยังไม่ได้ไป มันแค่กระดึบๆ บางครั้งก็เห็นได้ บางครั้งก็หลง ไม่ทันก็ได้เหมือนกันก็รู้ทีหลัง…รู้ทันทีหลังก็ได้ ที่พูดนี้หมายความว่ามันก็มีอะไรให้เราสังเกต ถ้าเรารู้จักที่จะนั่งอย่างรู้เนื้อรู้ตัว

นั่งเป็นชั่วโมงผ่านมาจนมาถึงตอนนี้ สังเกตให้ดีว่าพอเราเริ่มถูก เวลาจะผ่านไปเท่าไหร่มันก็ถูกหมด เพราะฉะนั้น “การเริ่มนั่งหรือเริ่มเดินต้องเริ่มให้ถูกต้อง” เริ่มอย่างที่อธิบายไปในตอนแรกอย่างนั้น พอเราติดกระดุมเม็ดแรกถูก ที่เหลือก็ถูกเอง

สังเกตให้ดีว่าถ้าตอนนี้เราถามว่า เราสงบเหรอ? คำตอบคือไม่ใช่ ลองถามตัวเองว่าตอนนี้สภาพที่เป็นอยู่ในขณะนี้เป็นยังไง เราสงบมั้ย? ไม่ใช่ เราเพียงแค่รู้ว่าจิตใจนี้มันสงบ มันปกติ แล้วเราก็รู้ว่ามันมีสาเหตุ…สาเหตุเพราะว่าจิตใจนี้มันพ้นจากโลกของความคิดปรุงแต่งทั้งปวง ด้วยเครื่องมือคือ “ความรู้สึกตัวทั่วพร้อม” ไม่มีเราอยู่ที่ไหนเลยสังเกตมั้ย เพราะฉะนั้น เวลาที่มันไม่สงบอย่าไปคิดว่าเราไม่สงบ ไม่มีเรา มันเพียงเพราะว่าเราไม่สร้างเหตุให้จิตใจนี้สงบหรือปกติลงได้แค่นั้นเอง

เพราะฉะนั้น การสร้างเหตุก็ไม่ใช่เราสร้าง ไม่ใช่เอาเราไปสร้างเหตุเพื่อจะได้ผล การสร้างเหตุมีเพียงแค่กริยา คือ ทำหน้าที่ “รู้จักหน้าที่ ทำหน้าที่ ผลมันจะเป็นเอง

เมื่อความรู้สึกตัวทั่วพร้อมมันจางลงเพราะความคิด ให้หายใจออกยาวๆ สัมผัสความรู้สึกตัวทั่วพร้อม อย่าให้ความคิดมีอำนาจมากกว่าความรู้สึกตัว ความรู้สึกตัวทั่วพร้อมมีอำนาจมากกว่าความคิด แต่ความคิดไม่ได้หายไปไหน แต่เราจะไม่ติดความคิด เราจะรู้ทันได้

ถ้าหายใจออกแล้วความรู้สึกตัวทั่วพร้อมยังไม่เด่นขึ้นมา ให้สังเกตเวลาปลายลมหายใจออกที่เรายังไม่ต้องการลมหายใจเข้า หยุดตรงนั้นอยู่กับมันสักครู่ ความรู้สึกตัวทั่วพร้อมจะเด่นขึ้นมา จะเห็นว่าความรู้สึกตัวทั่วพร้อมเราไม่ได้ทำมันขึ้นมา “มันมีเหตุ…ผลก็เกิดขึ้น

เพราะฉะนั้น ศาสนาพุทธเป็นเรื่องของเหตุปัจจัย ไม่ใช่ใครทำอะไรขึ้นมาได้ มีเหตุอย่างนี้ผลก็เป็นอย่างนี้ การเห็นแบบนี้ได้เรียกว่า “สติปัฏฐาน” ในฐานของ “ธรรมานุปัสสนา” คือเห็นเหตุปัจจัยของสรรพสิ่งได้

เมื่อจิตนี้เจริญความเข้าใจแห่งเหตุปัจจัยไปเรื่อยๆ มันก็เข้าใจว่า “แท้จริงไม่มีเรา” แต่ถ้ามีแต่เราทำได้ เราทำแบบนี้ได้ เราทำแบบนั้นได้ เราจะหาอนัตตาไม่เจอ…จะเจอแต่อัตตา

 

27-10-2561

Camouflage

 

YouTube : https://youtu.be/AJMLOpEbv9s

คลิปเสียงธรรมะทั้งหมดของอาจารย์ Camouflage : https://goo.gl/RDZFMI

======================

5 ช่องทางการอ่านและฟังธรรม

1) Facebook : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
http://www.facebook.com/sookguysookjai

2) Line : @camouflage.talk
https://line.me/R/ti/p/%40camouflage.talk

3) YouTube : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
https://goo.gl/in9S5v

4) Website: https://camouflagetalk.com/

5) Podcast : Camouflage – Dhamma Talk
https://itun.es/th/t6Mzdb.c
วิธีการติดตั้ง https://goo.gl/tBMY9S