87.ถ่วง

ตอนที่ 1 อย่าละเลยเรื่องง่ายๆ

การปฏิบัติธรรมจะได้ผลนั้นต้องรู้จักอยู่กับตัวเองให้มากพูดให้น้อย การพูดมากพูดเยอะเดือดร้อนใคร?…เดือดร้อนตัวเอง ทำไม? เพราะจิตมันฟุ้งซ่าน หาเรื่องเข้ามาในสมอง หาเรื่องเข้ามาในความจำ หาเรื่องหาราวเข้ามาในชีวิต เอาเรื่องคนอื่นเข้ามาในชีวิตเรา “ความฟุ้งซ่านเป็นปฏิปักษ์กับสมาธิ” อยากปฏิบัติให้ก้าวหน้าอยากปฏิบัติให้ดีต้องรู้อะไรเป็นอะไร ต้องรู้จักว่าเหตุอะไรเป็นบ่อเกิดแห่งศีล สมาธิ ปัญญา เหตุอะไรทำลายศีล สมาธิ ปัญญา

เพราะฉะนั้น เน้นย้ำเรื่องการพูดคุย อย่าปฏิบัติธรรมเหมือนไฟไหม้ฟาง เดี๋ยวฟิตเดี๋ยวเลิก เดี๋ยวฟิตเดี๋ยวเลิก ไม่ติดไฟซะที อย่างที่ผมเคยบอกไว้ว่าทำให้เป็นลูกโซ่ให้ต่อเนื่อง เวลาหลวงพ่อเทียนให้นั่งพลิกขยับมือ 14 จังหวะ บางคนก็นั่งคุยไปด้วยขยับมือไปด้วย แต่หลวงพ่อเทียนท่านไม่ให้คุย ให้ต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างอยู่กับตัวเอง มีหน้าที่อยู่กับตัวเอง อยู่กับความรู้สึกตัว รู้กายรู้จิตของตัวเอง

จิตใจเราเป็นยังไง ก็รู้ เศร้าหน่อยๆ ก็รู้ เซ็งหน่อยๆ ก็รู้ “รู้อย่างที่มันเป็น” ต้องแก้อะไรมั้ย…ไม่ต้อง มันเป็นอย่างนี้ก็รู้เป็นอย่างนี้  รู้แล้วก็กลับมารู้สึกตัว รู้สึก มีน้ำหนักอยู่รู้มั้ย  มือประสานกันอยู่รู้มั้ย แขนวางอยู่ยังไงรู้มั้ย  รู้สึกตัวเนี่ยรู้ได้ทุกคน แต่เรามักละเลยเรื่องง่ายๆ ไปหาเรื่องยากๆ ดู ทุกวันตั้งแต่ตื่นจนหลับ “อย่าละเลยเรื่องง่ายๆ

ถ้ามีคำพูดหรือความคิดอะไรก็ตามขึ้นมาบอกเราว่า ฉันรู้ตัวอยู่แล้ว ให้รู้เลยว่าเดี๋ยวจะไม่รู้ตัวแล้ว เพราะ “ความประมาท” คืบคลานเข้ามาแล้ว

นี่คือสาเหตุว่าทำไมทุกคนต้องทำในรูปแบบ  ทุกคนน่าจะมีประสบการณ์กับความขี้เกียจ ความประมาท หรือคำพูดที่ว่ารู้ตัวแล้วไม่ต้องทำในรูปแบบหรอก  ผมว่าทุกคนมีประสบการณ์ว่ามันเป็นยังไง

เพราะฉะนั้น รู้จักมีบทเรียนแล้วก็อย่าประมาทอีก  ชีวิตเราทุกคนนี้แสนสั้น   เราทุกคนลองนับอายุตัวเองดู เกินครึ่งค่อนชีวิตแล้ว  เราก็รู้สึกว่า อุ้ย…มันสั้นนิดเดียวนะที่ผ่านมา ยังไม่ไปถึงไหนเลย อีกต่อไปในอนาคตมันก็สั้นเหมือนกัน พระพุทธเจ้าถึงมีมรณานุสติให้พวกเราหมั่นระลึกถึงความตายเพื่อความไม่ประมาท

 

ตอนที่ 2 ไม่ทำอะไร…แค่รู้

ที่นี้ไม่มีครูบาอาจารย์คุมทั้งวัน เราทุกคนต้องควบคุมตัวเองให้เอง ไม่งั้นก็จะมีแต่ความฟุ้งซ่านปกคลุมสถานที่นี้ สถานที่นี้จะศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมาได้พวกเราทุกคนต้องศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมาก่อน  พวกเราเข้าใจหลักการปฏิบัติธรรมมามากแล้ว ถือว่าทุกคนในนี้ก็แม่นการปฏิบัติธรรมพอสมควรแล้ว เพราะฉะนั้น เหลือแค่ทำให้มันจริงๆ ทำที่ว่านี้คือ “ไม่ทำอะไร

มีคนเคยสงสัยต้องทำอะไรก่อนมั้ย ถึงจะถึงความไม่ต้องทำอะไร ผมก็ยืนยันว่าไม่ต้องทำอะไรเหมือนเดิม คนที่มาถามก็ไม่เชื่อก็ลังเล ก็เลยบอกว่าลองดู “อยู่วิเวกสันโดษซัก 3 เดือน แล้วก็ให้แค่รู้ อะไรเกิดขึ้นก็แค่รู้ ไม่ต้องทำอะไร” พอเริ่มเท่านั้นแหละ ไอ้ไม่ต้องทำอะไร…ทำยังไงทำไม่เป็น ที่เป็นอย่างนี้เพราะติดจะทำ อะไรเป็นสาเหตุของการติดจะทำหรือชอบจะทำ? นิสัยชอบทำคือคน  “ความเป็นคนนี่แหละมันชอบทำ”  พอให้ไม่ทำอะไร เลยทำไม่เป็น เลยจะทำอีก จะทำยังไงไม่ทำอะไร

ใช้เวลา 3 เดือนกว่าจะเข้าใจว่า อ่อ…ไม่ต้องทำอะไรนี่มันเป็นอย่างนี้นี่เอง  เมื่อก่อนทำได้ทุกอย่าง ทำได้เสร็จมาบอกด้วยนะว่ารู้สึกว่าปฏิบัติได้ดีมาก…ทำได้ทุกอย่าง ผมเลยถามคำถามกลับไปคำถามเดียว รู้สึกมั้ยว่าที่ผ่านมาที่ทำให้ทุกอย่างนี่อัตตามันใหญ่ขึ้นเยอะเลย”  ตัวตนมันมากขึ้นเยอะเลย เพราะมันมีฉันทำได้  ถามแค่นี้แหละเขาก็รู้เลย 3 เดือนผ่านไปยิ่งรู้ชัดเลยว่า เมื่อก่อนมีแต่อัตตาทั้งนั้น พอรู้จักการไม่ทำอะไรแล้วนี่มันถึงได้รู้ว่าการทำอะไรนั่นมีอัตตาตัวตนทั้งนั้น  เห็นมั้ยว่าต้องใช้เวลามาก ใช้เวลาเกือบ 3 เดือนถึงจะเข้าใจว่า อ่อ ปฏิบัติธรรมที่ว่าไม่ทำอะไร แค่รู้ เป็นยังไง

รู้หลักแล้ว “ต้องใช้เวลา” ใช้สิ่งแวดล้อมที่เกื้อกูลที่จะเข้าใจหลักนั้น สิ่งแวดล้อมแบบใดที่เกื้อกูล? “สิ่งแวดล้อมที่วิเวกสันโดษ” เรียนรู้อยู่กับตัวเอง เมื่อก่อนเคยทำได้ทุกอย่าง ทุกวันจะรู้สึกว่า ทำไอ้นี่ก็ได้ ทำไอ้นั่นก็ได้ เจริญขึ้นทุกวันเลย  มีอะไรให้ “ทำ” ทุกวัน เจริญทุกวัน เพราะเราไม่เข้าใจว่า “จิตนี้เป็นอนัตตา” มีธรรมชาติเจริญแล้วเสื่อม เจริญแล้วเสื่อม ถ้ามันเจริญขึ้นทุกวันก็รับรองเลยว่าผิด จิตเป็นอนัตตา ควบคุมบังคับบัญชาอะไรไม่ได้ เป็นไปตามเหตุปัจจัย ถ้าทำได้ทุกอย่างนี่เป็นอะไร? เป็นอัตตา

ใช้เวลาวิเวกสันโดษอยู่เกือบ 3 เดือนถึงจะเข้าใจว่า อ่อ บางวันมันก็ดี บางวันมันก็ร้าย อ่อ มันคุมอะไรไม่ได้เลย สร้างเหตุ มีวินัยอยู่เหมือนเดิม วิเวกสันโดษเหมือนเดิม แต่จิตใจแต่ละวันไม่เหมือนกันเลย แล้วก็ทำอะไรไม่ได้ด้วย พอเจอภาวะแบบนี้เข้าหลายๆ รอบเกิดอะไรขึ้น? เกิดสภาวะที่นักปฏิบัติทุกคนจะต้องไปถึงคือ “ยอมศิโรราบ” ยอมที่จะแค่รู้จริงๆ แล้ว  นั่นแหละเป็นทางเป็นความเข้าใจที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติของตัวเองไม่ใช่เชื่อใคร เพราะบอกไปตั้งแต่แรกก็ไม่เชื่อ ก็เลยบอกให้ลองทำดูให้เวลาตัวเอง  เอาแค่นี้แค่รู้…ลองดู  แล้วมันประจักษ์แจ้งแก่ใจตัวเอง พอมันเข้าใจแล้วต่อไปนี้ก็หมดโอกาสที่จะหลงทาง เพราะมันประจักษ์แก่ใจตัวเองแล้ว

เพราะฉะนั้น ผมถึงบอกตลอดว่า คำสอนทั้งหลายที่พระพุทธเจ้าสอนว่า ไม่ให้เชื่อแต่ต้องไปลองทำดูเอง”  พระพุทธเจ้าบอกว่า เราเป็นแค่คนชี้ทาง ครูบาอาจารย์ทั้งหลายเป็นแค่คนชี้ทาง ชี้ทางว่าควรจะอยู่ในสิ่งแวดล้อมแบบนี้ ควรจะปฏิบัติตัวแบบนี้ ควรจะอยู่ในที่ที่วิเวกสันโดษแบบนี้  แล้วเราก็ไปทำตาม ผลลัพธ์มันเกิดขึ้นกับใจเราเอง  ถ้ามันใช่เราก็จะรู้ว่ามันใช่  ถ้าคำสอนนั้นไม่ใช่เราก็จะรู้ว่ามันไม่ใช่

เหมือนการสอนของผมผ่าน YouTube มีแต่เสียงไม่มีใครรู้จักว่าผมเป็นใคร ไม่มี background ความน่าศรัทธาอะไรทั้งนั้น เพราะฉะนั้น คนฟังก็บริสุทธิ์ปราศจากอคติหรือความชอบส่วนตัว ได้แต่ฟังเนื้อหาแล้วก็ไปปฏิบัติตาม แล้วความศรัทธามันถึงเกิดขึ้น ปฏิบัติตามแล้วเห็นผลจริง “ความศรัทธาก็เกิดขึ้น เกิดขึ้นจากที่เราได้ลงมือปฏิบัติแล้ว” ไม่ใช่สุ่มสี่สุ่มห้าศรัทธาไปเลย  นี่คือวิถีของชาวพุทธ

ใครยังพยายามจะทำความไม่ทำอะไร…ต้องรู้ตัว อย่าไปทำซ้อน การปฏิบัติธรรมเป็นเรื่องง่ายๆ “แค่รู้” เหมือนตอนนี้เรารู้สึกน้ำหนักที่ก้นเราได้มั้ย? รู้ได้  เรารู้สึกมือที่เราวางประสานกันไว้ได้มั้ย? เรารู้ได้ เรารู้สึกอาการไหวๆ ของร่างกายได้มั้ย? รู้สึกได้ อย่าไปคิดว่าการปฏิบัติธรรมเป็นเรื่องซับซ้อน จิตใจเราเป็นยังไงรู้ได้มั้ย จิตใจเป็นปกติรู้ได้มั้ย จิตใจไม่ปกติรู้ได้มั้ย จิตใจมีความอยาก ความดิ้นรน ความพอใจความไม่พอใจรู้ได้มั้ย? รู้ได้ทุกคน อะไรเกิดขึ้นในกายในใจนี้รู้ได้มั้ย? รู้ได้

 

ตอนที่ 3 ถ่วง

เพียรรู้อยู่ในกายในจิตตัวเองไปเรื่อยๆ มันยากตรงไปเรื่อยๆ นี่แหละ เพราะมันชอบที่จะไม่รู้ มันชอบไปคิด ชอบไปหาอะไรทำตามความอยากตามความพอใจตามความไม่พอใจก็จะไปทำเหมือนกัน  เช่นอยากจะไปด่าคนนี้อยากไปทะเลาะกับคนนั้น  มันก็ลืมสิลืมที่จะเรียนรู้กายจิตตัวเอง

เพราะฉะนั้น การปฏิบัติธรรม การแค่รู้ มันไม่ยาก มันง่ายๆ แต่จะให้ไม่ตามกิเลสทั้งหลายที่เกิดขึ้นในใจ…มันยากตรงนี้แหละ  มันไม่พอใจ มันอยากจะไปว่าเขา ไปตำหนิเขา ไปด่าเขา มันหักห้ามใจตัวเองไม่ได้ ถ้ามันหักห้ามใจได้ กลับไปอยู่กับตัวเองจะจบแล้ว เรื่องราวทั้งหมดก็จบลงเลย การที่หัดหักห้ามใจตัวเองได้ไม่ว่าจะเป็นทำตามความอยากหรือทำตามความไม่พอใจหรือทำตามความพอใจ….การหักห้ามใจนี่เป็นบารมีใหญ่มาก  เขาเรียกว่า “ทวนกระแส

บารมีเนี่ยหาง่ายๆ ในตัวเรานี่แหละอยู่ที่เราจะเอามั้ย เรารู้จักจะพลิกกิเลสเป็นบารมีมั้ย พลิกบาปอกุศลในใจเป็นบุญบารมีได้มั้ย เราเลือกได้ ถ้าเราไม่ยอมพลิกเหมือนที่ผมเคยพูดว่า “บาปนี้มันจะถ่วงเราไว้”  อกุศลต่างๆ ในใจมันถ่วงเราไว้ อันนี้ไม่ได้พูดเล่น

วันนึงปฏิบัติไปถึงจะรู้เองว่า มันถ่วงไว้จริงๆ มันปกปิด มันปิดบังเอาไว้  เหมือนมีขี้ตาอยู่แล้วก็เขี่ยออกแค่นั้น ทุกอย่างก็สว่างไสวเลย แต่ถ้าเราขยันเอาขี้ตาโปะๆ มากขึ้นยิ่งไม่เห็นอะไรเข้าไปใหญ่ เพราะฉะนั้น สภาพที่บาปอกุศลมันถ่วงเราเอาไว้ มันปกปิดปิดบังเหล่านี้มันมีอยู่จริง เราจะรู้ได้ตอนที่มันหลุดออกไป เลยบอกว่าบาปเล็กบาปน้อยจนกระทั่งบาปใหญ่อย่าทำไม่คุ้ม เพราะไม่มีใครช่วยเราได้ เราทำเองต้องรับเอง ต้องรับกรรมนั้นเอง

เพราะฉะนั้น “การรู้จักไม่ทำบาปอกุศล ไม่ตามกิเลส คือ การขัดเกลาอันยิ่งใหญ่ของนักปฏิบัติธรรม” ไม่ใช่ว่าไม่ให้มันมีหรือไม่ให้มันเกิดขึ้น…ไม่ใช่ เมื่อมันเกิดขึ้นแล้วเราไม่ตามมัน นี่เรียกการขัดเกลา เราไม่สนองมัน เรียกว่า การขัดเกลา เพราะยังไงก็ต้องมีเพราะจิตใจนี้มีอวิชาอยู่ ยังมีเชื้อของกิเลสอยู่ มันเกิดขึ้น เราก็รู้ แต่ไม่ตามมันไป อย่างนี้เรียกว่า การขัดเกลา

เรามาที่นี่เพื่อปฏิบัติธรรม ทุกคนไปลองคิดให้ดีว่า เราอยู่ที่นี่แล้วเราใช้ชีวิตเหมือนอยู่ที่บ้าน…จะมีอะไรเจริญเหรอ อยากได้อะไรเราก็ได้ทุกอย่าง…จะมีอะไรเจริญเหรอ  ถ้าเราไม่ฝึกที่จะขัดเกลาตัวเอง มันจะเจริญยังไง เราต้องขัดเกลาเพื่ออะไร? พอขัดเกลาปุ๊บไอ้สิ่งที่พอกพูนเนี่ยมันค่อยๆ น้อยลงๆ สิ่งที่มันถ่วงเอาไว้มันจะค่อยเบาลงๆ จนวันหนึ่งมันหลุดออกไป” แต่ถ้าเรายังทำเหมือนเดิม ใช้ชีวิตตามใจเหมือนเดิม ตามความอยากเหมือนเดิม ตามความเคยชินเดิมๆ ตามความชอบเดิมๆ มันก็พอกพูนอยู่นั่นแหละ ปกปิดปิดบังอยู่นั่นแหละ

เพราะฉะนั้น เรื่องนี้สำคัญพวกเราต้องเข้าใจที่ครูบาอาจารย์ห้ามนู่นห้ามนี่ บีบเราอย่างนี้บีบเราอย่างนั้น  เหมือนพุทธเจ้าบอกว่า เราเหมือนเป็นช่างปั้นหม้อ เราจะทุบ เราจะขนาบแล้วขนาบอีก เราจะไม่อ่อนข้อให้เลย เพราะมันจำเป็น ครูบาอาจารย์ไม่ได้อะไรหรอก มีแต่ลูกศิษย์จะไม่ชอบมากขึ้นที่มาบีบบังคับแต่ก็ต้องทำในฐานะครูบาอาจารย์  ความเจริญไม่อยู่ที่ครูบาอาจารย์ แต่อยู่ที่ตัวเราเอง  เวลาหลวงพ่อบังคับใคร แล้วเขาอาจจะโกรธหลวงพ่อ หลวงพ่อบอกว่า โกรธก็ได้ไม่เป็นไร เพราะนี่คือ “หน้าที่ของครูบาอาจารย์” ถ้าไม่ทำหน้าที่จะเป็นครูบาอาจารย์ทำไม

 

ตอนที่ 4 จริงจังกับของไม่จริง

เราอยู่ร่วมกัน ปฏิบัติธรรมร่วมกัน จำอันนี้ไว้ “รู้จักระวังตัวเอง” ความระวังตัวเองเกิดขึ้น ความระวังผู้อื่นก็จะเกิดขึ้น เช่น รู้จักระวังตัวเองที่จะไม่พูด สำรวมระวังในตัวเอง เมื่อทุกคนสำรวมระวังในตัวเอง ความสำรวมระวังในส่วนรวมจะเกิดขึ้น ความเงียบความวิเวกจะเกิดขึ้น เราทุกคนมีหน้าที่แค่ระวังตัวเอง

เมื่อเราเริ่มระวังตัวเอง 1 วันผ่านไป เราจะรู้สึกถึงความแตกต่างเลย เมื่อเราเห็นคุณของการระวังตัวเอง เห็นผลลัพธ์ของการระวังตัวเอง เราจะมีกำลังใจที่จะระวังตัวเองต่อไป แต่ถ้าเราไม่ระวังตัวเอง ไม่เข้มงวดกับตัวเอง การปฏิบัติธรรมก็เหมือนไฟไหม้ฟาง คล้ายๆ จะเจริญก็ไม่เจริญ จะดีก็ไม่ดี และสุดท้ายก็หมดกำลังใจ ความฟุ้งซ่านจะเกิดขึ้น ความตีโพยตีพายจะเกิดขึ้น ความท้อแท้จะเกิดขึ้น สารพัดทุกอย่างจะเกิดขึ้น เพราะจิตใจไม่มีกำลังจากความฟุ้งซ่าน

แต่ถ้าเราระวังตัวเอง อยู่กับตัวเอง จิตใจจะเริ่มมีกำลังขึ้น พอจิตใจเริ่มมีกำลังขึ้น ความทุกข์ก็น้อยลง พอความทุกข์น้อยเราจะรู้สึกว่าการปฏิบัตินี้มาถูกทางแล้ว กำลังใจก็เกิดขึ้น เห็นมั้ย มันสนับสนุนกันยิ่งๆ ขึ้นไป  ทุกองค์ประกอบมันสนับสนุนให้เกิดความเจริญก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป แต่เดี๋ยวมันเสื่อม เกี่ยวกับเรามั้ย? จิตมันเสื่อมเกี่ยวกับเรามั้ย? ไม่เกี่ยว มันเสื่อมก็รู้มันเสื่อม

เมื่อจิตใจมีความตั้งมั่น มันเสื่อมก็รู้มันเสื่อม ไม่เป็นไปกับมัน  มันเจริญก็รู้มันเจริญ ไม่เป็นไปกับมัน  เพราะเราคืออะไร? “เราคือสภาพตื่นรู้ล้วนๆ” เราไม่ได้เป็นเจ้าของกายไม่ได้เป็นเจ้าของจิตนี้ เรามีหน้าที่เรียนรู้มันเฉยๆ เรียนรู้ว่ามันทำของมันเอง มันปรุงของมันเอง มันกระทบมาแล้วมันก็กระเทือนเอง มันกระเทือนแบบนี้ เพราะมีอวิชาแบบนี้ ยังมีกิเลสแบบนี้ ยังมีสังโยชน์แบบนี้ ยังมีรากเหง้าของความโง่แบบนี้ มันถึงกระเทือนแบบนี้ มันเข้าไปจับไปยึดก็ด้วยความมีอุปาทานอย่างนี้ ยังมีอุปาทานอยู่มันก็เลยเข้าไปยึด

เรียนรู้ธรรมชาติการทำงานของกายของจิตของอวิชชาของกิเลสว่า “ทั้งหมดนั้นไม่ใช่เรา” เห็นแค่การทำงานของมันว่า ตอนนี้เป็นแบบนี้  แล้วถ้าเรายังเข้าไปคลุกคลี เข้าไปเอากับมัน เราต้องรู้ว่าตอนนี้เราตกทางแล้ว

ถ้าเราเข้าไปเอากับมัน เข้าไปเป็นกับมัน หรือแม้กระทั่งเข้าไปคิดกับมัน วิธีปฏิบัติง่ายๆ คือ ถ้านั่งอยู่ก็รู้สึกน้ำหนักมีน้ำหนักอยู่รู้มั้ย…รู้ให้มันชัด ถ้ายืนอยู่ก็รู้สึกน้ำหนักที่เท้าได้มั้ย ที่ฝ่าเท้าน่ะรู้ให้ชัด ลองดูเหอะ ที่เมื่อกี้กำลังวุ่นวายกับมันอยู่ทั้งหลายนั้นมันจะหายไปเลย มันง่ายๆ แต่เราไม่ค่อยทำกัน เพราะเราชอบคิด เราชอบเป็นจริงเป็นจังกับทุกเรื่อง “เราชอบจริงจังกับของไม่จริง” ไอ้ของจริงไม่ค่อยจริงจังกับมันเท่าไหร่ “ของจริงชอบละเลย”  ของไม่จริงนี่โอ้โห้เอาเป็นเอาตายเลย  เกลียดไอ้นี่ไม่ชอบไอ้นั่น ชอบไอ้นี่เหลือเกินรักคนนี้มาก ของไม่จริงนี่จริงจังมาก  ของจริงๆ กับเนื้อกับตัวไม่ค่อยจริงจัง

นั่งรู้สึกของจริงๆ รู้สึกของที่มีอยู่จริงตอนนี้  รู้สึก แค่รู้สึก ไปคิดก็รู้ทัน รู้ทันแล้วมันก็กลับมาที่รู้สึก “ชีวิตก็มีแค่รู้สึกกับรู้ทัน” รู้สึกกับรู้ทันไปเรื่อยๆ ก็จะเกิดการรู้เห็นวิปัสสนา รู้เห็นอะไรผ่านมาผ่านไป รู้เห็นได้  มันเหมือนคนขับรถผ่านหน้าบ้านเลย เราก็รู้เห็นได้ เรานั่งเราเดินหรือเราจะขยับมือ มันก็มีแค่กริยารู้สึก รู้ทัน พูดสั้นๆ คือ “แค่รู้”  อะไรเกิดขึ้นก็แค่รู้ “มีหน้าที่เป็นแค่พยาน

สมัยบวช ผมเคยนอนตื่นมาตอนเช้าตี 3 ตื่นมาปึ๊บนี่รู้สึกตัวแล้ว แต่ยังไม่รู้ว่าเป็นตัวเรา เป็นตัวอะไรไม่รู้ ไม่รู้หัวอยู่ไหนขาอยู่ไหนแขนอยู่ไหน ไม่รู้สักอย่าง แต่รู้สึกแล้ว “ความรู้สึกนี้มันเป็นอันดับแรก”  ที่ทำไมถึงไม่รู้ว่าหัวอยู่ไหนขาอยู่ไหนแขนอยู่ไหนหรือว่านี่เป็นตัวอะไรยังไม่รู้ มีแต่รู้สึกอย่างเดียว เพราะสัญญามันยังไม่มา ใช้เวลาอึดใจหนึ่งสัญญามา ถึงค่อยรู้ว่าหัวอยู่นี่ขาอยู่นี่แขนอยู่นี่ สัญญามาต่อว่า อ่อ เป็นพระอยู่ มาต่อก็ อ่อ อยู่ในวัดอยู่ในกุฏิ ความเป็นชีวิตมันเกิดขึ้นเพราะสัญญา  แต่สิ่งแรกเลยที่มาก่อนคือ ความรู้สึก สัญญามาไม่ทันเลยงงอยู่ตั้งนาน

พระพุทธเจ้าบอกว่า รูปเวทนาสัญญาสังขารมาประชุมรวมกันก่อเกิดเป็นชีวิตขึ้นมา  ท่านจึงบอกว่า เราต้องเห็นมัน เห็นขันธ์มันทำงานคือเห็นอย่างนี้  แต่ละขันธ์ๆ มันทำงานแยกออกไป มันก็ไม่มีเรา พอมารวมกันมันก็มีเราขึ้นมา

เพราะฉะนั้น ผมเลยบอกว่า อย่าจริงจังกับชีวิตมาก  เพราะมันเป็นของไม่จริง “ของจริง คือ ความรู้สึก ที่นี่เดี๋ยวนี้ตอนนี้” อันนี้คือของจริง ความรู้สึกน้ำหนัก รู้สึกมือ แขนที่ประสานกันอยู่วางอยู่บนตัก นี่คือของจริงบริสุทธิ์ ร่างกายไม่เคยมีกิเลส กิเลสมันอยู่ที่ใจ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับร่างกายนี้มันก็เป็นเพียงแค่ความรู้สึกจริงๆ ไม่มีอะไรปนเป

ความรู้เนื้อรู้ตัวจึงเป็นฐานที่มั่นที่สำคัญที่พวกเราจะต้องหมั่นที่จะอยู่กับเนื้อกับตัว ให้ความอยู่กับเนื้อกับตัวมันเป็นพื้นฐานของชีวิตเรา ไม่ใช่ความล่องลอยไปในความคิดปรุงแต่งเป็นพื้นฐานของชีวิตเรา

งานศพที่ผ่านมาก็มีเพื่อนมาหลายคน  ถามคำถามเพื่อนว่าเคยไม่อยู่ในโลกของความคิดปรุงแต่งบ้างมั้ย? ทุกคนยืนคิดอยู่นาน คำตอบคือไม่เคย  คนในโลกไม่เคยรู้จักสภาพพ้นจากความคิดปรุงแต่งทั้งปวง  พวกเรามีบุญเยอะได้รู้จักแล้ว  ได้รู้วิธีที่จะไปสู่ความพ้นทุกข์แล้วทำให้มันดี  ให้ความสำคัญกับมันให้มาก  ไม่ใช่ทุกคนจะมีบุญเหมือนเรา จะมีบารมีเหมือนเรา จะมีปัญญาเหมือนเรา จะมีโอกาสเหมือนเรา

 

21-10-2561

Camouflage

 

YouTube : https://youtu.be/nZW-5BqDlIk

คลิปเสียงธรรมะทั้งหมดของอาจารย์ Camouflage : https://goo.gl/RDZFMI

======================

5 ช่องทางการอ่านและฟังธรรม

1) Facebook : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
http://www.facebook.com/sookguysookjai

2) Line : @camouflage.talk
https://line.me/R/ti/p/%40camouflage.talk

3) YouTube : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
https://goo.gl/in9S5v

4) Website: https://camouflagetalk.com/

5) Podcast : Camouflage – Dhamma Talk
https://itun.es/th/t6Mzdb.c
วิธีการติดตั้ง https://goo.gl/tBMY9S