86.ลูกโซ่

ตอนที่ 1 แค่รู้สึก อะไรเด่นก็รู้สึก

เรานั่งรู้สึกร่างกายไป…แค่รู้สึก อะไรชัดก็รู้สึก ลมหายใจชัดก็รู้สึก ความไหวเอนของร่างกายเล็กๆ น้อยๆ ก็รู้สึก “การแค่รู้สึกนี่คือ เหตุ” เป็นเหตุให้จิตใจนี้พ้นออกจากโลกของความคิดปรุงแต่งทั้งหลาย

เพราะฉะนั้น “เมื่อเราแค่รู้สึก มันก็อยู่ในทางเลย

ระหว่างทางเราจะเจออะไรบ้างกับการแค่รู้สึกนี้ บางทีมันก็เงียบ ก็รู้สึกถึงความเงียบนั้นได้ “จิตนี้ก็ว่าง ไม่ใช่ว่างเปล่า ว่างจากกิเลสตัณหา โลภ โกรธ หลงทั้งหลาย” ก็รู้จักได้เป็นแบบนี้ สภาพแบบนี้ไม่มีทุกข์ ไม่มีเครื่องข้องกังวล หมดการดิ้นรนแสวงหา หมดความทะยานอยาก สิ้นกลัว สิ้นกังวล แบบนี้คือ ความสุขในพุทธศาสนา

ในระหว่างทางเราจะเจออะไรอีก บางทีจิตใจก็แอบไปคิด…ไปคิดก็รู้ทันได้ จะเกิดอารมณ์เบื่อ ก็รู้ทันได้ รู้เห็นได้ ไม่เข้าไปเป็นกับมัน แล้วเราจะรู้เห็น รู้ทันอะไรๆ ที่เกิดขึ้นในใจนี้ได้ เราต้องอยู่ในทางให้ได้ก่อน “พออยู่ในทางแล้วเนี่ย มันจะเห็นเอง

เพราะฉะนั้น กลับมาจะอยู่ในทางยังไง เริ่มที่ “แค่รู้สึก” แค่รู้สึกอยู่ในกายเรานี้ให้ได้ก่อน ไม่ต้องรีบไปจะทำผล เพราะถ้าทำผลมันผิด

มีหน้าที่สร้างเหตุ แล้วการเห็นอย่างวิเศษจะเกิดขึ้น

พระพุทธเจ้าจึงสอนให้เราอยู่กับปัจจุบัน ไม่คิดถึงอดีต ไม่พะวงไปในอนาคต…ทำไม? เพราะว่าการอยู่กับปัจจุบัน คือการสร้างเหตุ…แค่รู้สึก

แค่รู้สึก อะไรเด่นก็รู้สึกขึ้นมาในกายนี้ มันเป็นการอยู่กับปัจจุบัน ไม่ต้องคิดว่าเราจะเจริญวิปัสสนาหรือยัง เมื่อไหร่จะเจริญซักที ทำไมจิตเราไม่ว่าง ทำไมจิตวุ่น จะทำยังไงให้มันดีกว่า นี่เค้าเรียกว่า ตกจากปัจจุบัน ดิ้นรน แสวงหา ง่ายๆ ไม่ทำ จะไปทำยากๆ ทำด้วยความคิด

แค่รู้สึก… ทำง่ายๆ ทำได้ทุกคน สิ่งที่มันยากคือ “ทำให้มันต่อเนื่อง” คนเราช้าเร็วต่างกัน ก็ต่างกันตรงนี้แหละ มันละเลย

หลวงพ่อเทียนพูดว่า ให้มันเป็น “ลูกโซ่” คือ “ไม่เลิก” ในรูปแบบก็แค่รู้สึกได้เวลาเราเปลี่ยนอิริยาบถ หรือนอกรูปแบบก็ต้องไม่ลืม จะเตือนตัวเองว่ามีหน้าที่ต้องรู้สึกตัวคือ แค่รู้สึก

แต่พอเลิกในรูปแบบ พวกเราก็เหมือนเลิกทำงาน อ้อ…สบายล่ะเหมือนได้พักผ่อน ทำไมการปฏิบัติถึงไม่ใช่การพักผ่อนตั้งแต่แรกเลย แค่รู้สึกนี้ไม่ได้ทำอะไรเลยทำไมถึงเหนื่อย ทำไมถึงต้องไปหาความสุขอย่างอื่นที่เรียกว่าพักผ่อน “เพราะยังไม่เข้าใจว่าโลกนี้เป็นทุกข์” ไม่เข้าใจว่าการส่งจิตออกนอกนี้เป็นเหตุแห่งทุกข์ ยังไม่เข้าใจว่าโลกนี้ไม่มีความสุข เห็นความทุกข์น้อยๆ เป็นความสุข

อย่าลืมว่าจริงๆ เราไม่ได้ต้องการได้ความสุข อย่างแรกคือ เพราะไม่มีเราอยู่จริง อย่างที่สองคือว่า จิตนี้ไม่ใช่ต้องการความสุข จิตนี้แค่ต้องการการเปลี่ยนแปลง นักปฏิบัติธรรมเรามีหน้าที่ “เห็น” ความอยากของจิตอันนั้น เวลามันอยากขึ้นมาเราไม่ค่อยเห็นก็ไปทำเลย เราต้องใจแข็งๆ หน่อย มันอยากขึ้นมาปุ๊บ…เห็นก่อน อยู่นิ่งๆ ไม่ใช่อยากปุ๊บก็พรวดไปเลย อยู่นิ่งๆ ก่อน ดูก่อนซิเป็นยังไง

พวกเราทุกคนลองคิดชีวิตตัวเองดีๆ เราเหมือนคนบ้า เป็นคนเห็นแก่ตัว เรามีลูกมีหลานมีน้องมีนุ่ง ส่วนใหญ่เราชอบสอนแต่สิ่งดีๆ ให้กับพวกเค้า สิ่งดีๆ ส่วนใหญ่เป็นการไม่ทำตามใจ ไม่ให้เอาแต่ใจ แต่พอเป็นตัวเราเอง เราไม่ค่อยยอมฝืนตัวเอง พอเป็นตัวเองนี่ เราพรวดไปเลย กูอยากทำแบบนี้ กูก็ทำเลย รู้ว่าไม่ดีก็จะทำ เราสอนลูกสอนหลานสอนน้องสอนนุ่งก็ด้วยความรัก อยากให้เค้าได้ดี

ถึงเวลาที่ต้องเอามาสอนตัวเอง สอนตัวเองทุกวันทุกเวลา สอนตัวเองที่จะไม่ลืมเนื้อลืมตัว รู้สึกตัว ไม่ทำตามกิเลส เห็นกิเลส ไม่เข้าไปในโลกความคิดปรุงแต่ง เห็นความคิด หันมาดูใจบ่อยๆ  มันจะได้ไม่ลืมที่จะมีหน้าที่ที่ต้องรู้กายรู้ใจนี้ ไม่ใช่มีหน้าที่คิดนึกปรุงแต่ง เพ้อเจ้อไปเรื่อย

 

ตอนที่ 2 ต่อเนื่องอย่างเป็นลูกโซ่

ความต่อเนื่องอย่างเป็นลูกโซ่” สำคัญมาก สภาวะที่มีอุปการะคุณมากกับการที่เราจะสามารถมีสติตามรักษาจิตต่อเนื่องอย่างเป็นลูกโซ่คือ สภาพที่มีทุกข์นิดหน่อย ไม่ใช่สุขสบาย ชีวิตที่สุขสบายเป็นโทษมาก เป็นเหตุแห่งความหลง ความเพ้อเจ้อ เพ้อฝัน ความอยากทุกอย่าง ชีวิตที่ทุกข์นิดหน่อย ทุกข์อยู่เนืองๆ เป็นชีวิตที่ดีกว่าสำหรับนักปฏิบัติธรรม

อะไรเป็นทุกข์อยู่เนืองๆ ? ร่างกายนี้…ร่างกายนี้เป็นทุกข์อยู่ตลอดเวลา แต่เราไม่เคยเห็น นั่งนานก็ต้องลุก ยืนนานก็ต้องนั่ง ทั้งนั่งทั้งยืนไปมา ไม่ไหวแล้วก็ต้องนอน เป็นทุกข์ตลอดเวลา แต่มันเป็นทุกข์น้อยๆ แล้วเราก็หนีมันได้ด้วยการเปลี่ยนอิริยาบถ ถ้าเราลองเปลี่ยนอิริยาบถไม่ได้ เราเป็นผู้ป่วยนอนติดเตียง เราจะไม่ทุกข์ได้มั้ย ขยับไม่ได้เราจะไม่ทุกข์ได้มั้ย ถ้ายังทุกข์อยู่แปลว่าการปฏิบัติของเรายังไม่พอ

เนี่ย! การเห็นร่างกายจิตใจนี้ว่ามันเป็นทุกข์ มันเป็นอนุสติเตือนเรา เตือนให้เราไม่ประมาท พระพุทธเจ้าก็สอนเรื่องสติเยอะ เช่น มรณานุสติ สังฆานุสติ นึกถึงพระสงฆ์ ครูบาอาจารย์ก็เตือนเรา เพราะฉะนั้น อะไรที่เป็นสัจธรรมเรียนรู้มาแล้วเนี่ย ใช้เตือนตัวเอง จะคิดจะนึกจะทำอะไร มีอะไรเตือนตัวเองหน่อย เลือกเอาซักอย่างนึง ไม่มีใครเตือนเราได้ตลอดเวลา “ตัวเองต้องเตือนตัวเอง

อิริยาบถย่อยต่างๆ…รู้สึก  กลืนน้ำลาย…รู้สึก หน้าอกกระเพื่อมขึ้นกระเพื่อมลง…รู้สึกได้ วนเวียนอยู่ในกายนี้แหละ แค่รู้สึกโดยไม่เข้าไปจับอะไรไว้ รู้สึกแล้วก็ผ่านไป ลูกโซ่นี้กำลังต่อเนื่องๆ ไป มันหาทุกข์ไม่ได้ แต่ถ้าเมื่อไหร่ลูกโซ่นี้มันหายไป เพราะมันไม่รู้สึกตัวแล้ว มันอยู่ในโลกความคิดแล้ว พออยู่ในโลกความคิด มันก็เกิดความทุกข์ เกิดความกังวล เกิดความดิ้นรน เกิดความอยาก เกิดความไม่อยาก ขับดันขึ้นมาทางใจ เนี่ย! เห็นให้มันชัด สภาพทุกข์กับสภาพไม่ทุกข์มันต่างกัน ทำไมถึงชอบเอาสภาพทุกข์กัน

รู้สึกแล้วก็ผ่านไป” ถ้าเราเข้าไปจับอะไรไว้ มันก็จะเกิดความอยากความไม่อยากเกิดขึ้น ความอยากความไม่อยากจริงๆ ทางปรมัตถ์มันก็หน้าตาเดียวกันนั่นแหละ มันเป็นอาการอย่างนึง อาการอยู่เฉยไม่ได้ อาการถูกบีบคั้น ถ้าเราชอบเราก็อยาก เราไม่ชอบเราก็ไม่อยาก อยากไม่อยากเป็นแค่ชื่อ แต่จริงๆ มันก็เป็นอาการถูกบีบคั้นทั้งคู่เหมือนกัน แค่บีบไปทางไหนแค่นั้นเอง เห็นแบบนี้ ไม่ใช่เข้าไปเป็นกับอาการเหล่านั้น

จะเห็นแบบนี้ต้องทำยังไง? ก็คือสร้างเหตุ “แค่รู้สึกให้มันต่อเนื่อง” นี่แหละ เดี๋ยวมันจะเห็นได้ บางคนเกิดความอยาก พอใจไม่พอใจเกิดขึ้น เค้าบอกว่าเห็นแล้ว แต่อยากไม่อยาก พอใจไม่พอใจ ก็ยังอยู่เหมือนเดิม คือเห็นมันเหมือนกับชักกะเย่อ ไปทางไหนแน่ จะเห็นหรือจะเอา จะเห็นหรือจะเอา…แบบนี้ทำยังไง? แบบนี้ต้องรู้แล้วว่าไม่ได้เห็น “กำลังมันไม่พอ

กลับมาที่เดิม…แค่รู้สึก” ไม่ต้องไปพยายามเห็นแล้ว เพราะมันเห็นเฉยๆ ไม่ได้ มันเห็นแล้วมันไม่จบ เป็นแบบนั้นก็แปลว่ากำลังมันไม่พอแล้ว กลับมาทำอะไร? สร้างเหตุ…แค่รู้สึก ไม่ต้องไปคิดถึงเรื่องนั้นแล้ว

มีคนนึงมาเล่าว่าไปปฏิบัติ 20 วัน กลับบ้านปุ๊บโมโหเหมือนเดิม คนที่บ้านถามว่าปฏิบัติธรรมมาทำไมเป็นแบบนี้ ว่าเราอย่างโน้นอย่างนี้ เพราะเค้าไม่เข้าใจ เค้าไม่เคยปฏิบัติธรรม เค้าไม่รู้ว่ามันต้องใช้เวลา “ใช้ทั้งชีวิตเพื่อที่จะหมดกิเลส” ไม่ใช่ 20 วัน เพราะฉะนั้น ไม่ต้องสนใจ คนในโลกก็เป็นแบบนี้แหละ จะคิดอะไรก็ได้ จะเข้าใจอะไรที่ตัวเองอยากจะเข้าใจก็ได้ อยากจะด่าจะว่าเรายังไงก็ได้

คิดถึงพระพุทธเจ้าเอาไว้ พระพุทธเจ้าดีขนาดนั้นยังไม่พ้นคนนินทาเลย ไม่ใช่ทุกคนจะเข้าใจพระพุทธเจ้า…โดนด่าเหมือนกัน พระอัครสาวกอยู่กับพระพุทธเจ้า มีวาสนาในทางไม่ค่อยเรียบร้อย กิริยามารยาทไม่ค่อยเรียบร้อย พระอยู่ใกล้ๆ ไปฟ้องพระพุทธเจ้าว่า ท่านเป็นคนหยาบอะไรซักอย่างนี่แหละ คนเรามันเอาตามองคิดเพ้อเจ้อไปเรื่อย คิดอะไรก็ได้ อยากจะว่าเค้าด่าเค้าก็ได้ ใช้ตามองใช้สมองคิดมันไม่เห็นข้างใน เพราะฉะนั้น เราไม่ต้องสนใจคนพวกนั้น ไม่มีประโยชน์…เรามีหน้าที่ฝึกตัวเองต่อไป

ไม่ต้องเอาคำพูดโน้นพูดนี้มากังวล เอามาคิด…เสียเวลา ความคิดพาเราไปไหนไม่ได้ มีแต่จะพาให้เราหลงทางมากขึ้น คิดไม่ดี จิตใจก็เป็นอกุศล ส่วนใหญ่เรื่องที่เรากังวลก็เรื่องไม่ดีทั้งนั้นแหละ จิตใจก็มีแต่อกุศล เพราะฉะนั้น จะไปคิดมันทำไม ไม่ต้องคิด ทำหน้าที่ของตัวเอง เราทำหน้าที่ให้ดีจนวันนึงสรรเสริญหรือนินทาก็ทำอะไรเราไม่ได้ทั้งนั้น

คนสรรเสริญก็เรื่องของเค้า คนนินทาก็เรื่องของเค้า คืนเค้าไปให้หมด มันอยู่ที่ปากเค้าอยู่ที่ใจเค้า มันถึงพูดออกมาได้ ไม่ต้องรับ คืนไปที่คนพูดนั่นแหละ พระพุทธเจ้าก็สอนแบบนี้ มันมาจากไหนก็กลับคืนไปที่เดิม ไม่ต้องไปรับ ความสกปรกมันอยู่ที่แหล่งที่มา ไม่ต้องหยิบมาป้ายตัวเรา

สมัยหลวงพ่อเทียนอยู่วัดสนามใน ญาติโยมมาปฏิบัติธรรม ท่านให้พลิกมือสร้างจังหวะทุกอิริยาบถยกเว้นกินข้าว อาบน้ำ ทำกิจธุระส่วนตัว นอกนั้นท่านให้พลิกมือตลอด นี่คืออุบายสำคัญมากที่จะทำให้ต่อเนื่องเป็นลูกโซ่

ครูบาอาจารย์รุ่นถัดมาที่รู้จักก็คือ หลวงพ่อมหาดิเรก ก็อยู่ในรูปแบบนี้เหมือนกันเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องทั้งวัน พวกเราต้องใช้โครงสร้างการปฏิบัติแบบนี้ในชีวิตของเราด้วย แม่ชีทุกคนต้องใช้โอกาสนี้ เป็นประโยชน์มากที่จะให้มันต่อเนื่อง ไม่ใช่เลิกปฏิบัติในรูปแบบแล้วไปนั่งคุยกัน หาเรื่องคุยกัน ใช้โอกาสที่มีน้อยนักให้เป็นประโยชน์กับตัวเองที่สุด

 

ตอนที่ 3 ทุกข์เป็นแรงกระตุ้นชั้นดี

ความคิด… มันให้ความสุขกับเราก็ได้ ให้ความทุกข์กับเราก็ได้ สมมติว่าเราคิดถึงใครก็มีแต่คนรักเรา คิดแล้วมีความสุขก็ชอบคิด สมมติคิดถึงใครมีแต่คนเกลียดเราทั้งนั้นเลย อยากจะคิดมั้ย? ไม่อยากคิด คิดแล้วทุกข์ คนนี้ไม่ชอบเรา คนนั้นก็ไม่ชอบเรา พอคิดปุ๊บก็เตรียมทุกข์เลย พอไม่อยากทุกข์เป็นยังไง? ก็ไม่อยากคิด…ไม่อยากคิดทำยังไง? มีวิธีเดียวคือ “รู้สึกตัว” เพราะฉะนั้น คนสองคนนี้ใครจะปฏิบัติธรรมได้ดีกว่ากัน… คนที่มีทุกข์ เพราะทุกข์เป็นตัวช่วย

อย่างฟังครูบาอาจารย์เล่า นั่งสมาธิ จิตชอบออกนอก แต่เป็นคนกลัวผี ออกไปเจอผีไม่เอากลัวทุกข์ กลัวผีก็คือ กลัวไม่อยากทุกข์เพราะเจอผีแล้วมันกลัว นั่งสมาธิก็พยายามรู้สึกตัว รู้สึกตัว ไม่ให้มันออกนอก เห็นมั้ยว่า “ทุกข์เป็นแรงกระตุ้นชั้นดี

ความสุขก็เหมือนน้ำตาล กินน้ำตาลมากๆ ก็ไม่ดีกับร่างกาย น้ำตาลมันหอมหวานแต่เป็นโทษมหาศาล ยาขมๆ ผักขมๆ เป็นคุณมหาศาลกับร่างกาย นี่คือธรรมชาติ

เวลามีใครมาเริ่มรักเราชอบเรา เราชักเริ่มกลัวเพราะเราชอบอยู่คนเดียว เราไม่ชอบให้ใครมายุ่งกับเรา ถ้าเค้ารักชอบเรา ก็ต้องมายุ่งกับเรา ถ้าเค้าเฉยๆ ก็โอเค ถ้าเค้าไม่ชอบยิ่งโอเคใหญ่เลย

เพราะฉะนั้น ในการปฏิบัติธรรม คำสอนคำแนะนำอะไรต่างๆ บางทีเรายังคิดไม่ถึง ใช้แต่ความคิดมันคิดไม่ถึงว่าทำไมครูบาอาจารย์ให้ทำอย่างนี้ทำอย่างนั้น มันดูทรมานดูบังคับอะไรก็ว่าไป จริงๆ ท่านบอกด้วยความเมตตา บอกให้ทำเพราะเคยทำมาแล้วถึงรู้ว่ามันดี แต่พวกไม่รู้เรื่อง ความอยาก ความพอใจไม่พอใจมันเยอะกว่า มันก็คิดไปในทางร้ายหมด  จริงๆ ต้นตอก็คือ มันแค่ไม่อยากทำแค่นั้นแหละ ยังติดกับความสบาย ติดกับอะไรที่ตัวเองชอบ แต่ไม่อยากจะคิดแบบนั้น หาเรื่องอื่นมาพูดแทน หาเหตุหาผลอื่นมาที่จะไม่ทำ ไม่ยอมพูดความจริง เพราะจริงๆ ยังติดอยู่ มันก็ไม่พ้น…ติดสบาย ติดสุข ติดความเคยชินเก่าๆ

เพราะฉะนั้น เรานักปฏิบัติธรรมเมื่อเรามีชีวิตที่วิเวกสันโดษแล้ว มีอาหารการกินที่พอดีแล้ว มีการใช้ชีวิตที่ถูกต้องแล้ว ก็ต้องลดความต้องการอื่นๆ ลง ถ้าอยากจะหมกมุ่นวุ่นวาย ให้หมกมุ่นวุ่นวายกับการที่แค่รู้สึก ไม่ใช่วุ่นวายที่จะหาอะไรเพิ่มมากกว่านี้ ใช้ชีวิตให้เรียบง่าย” ปฏิบัติในรูปแบบให้มันรู้จักว่าแบบไหนที่จะทำให้ตัวเราเองตื่นเนื้อตื่นตัว ไม่หลับไม่เคลิ้ม แบบไหนที่มันดีที่สุด เหมาะที่สุดสำหรับเรา ต้องรู้จักเปรียบเทียบ เราทำได้หมดทุกแบบแหละ แต่เราจะต้องรู้จักเปรียบเทียบว่าแบบไหนที่มันตื่นจริงๆ ที่มันเหมาะกับเรา ทำอันนั้นให้มาก

เหมือนผมแนะนำให้พระรูปนึงลองเพิ่มการพลิกมือ 14 จังหวะของหลวงพ่อเทียน พลิกแบบที่ผมสอน ง่ายๆ เงื่อนไขอันเดียว… “เวลาหยุดให้รู้สึกว่าหยุดแล้ว” เคลื่อนไปถึงจุดที่หยุด…ให้รู้สึกถึงสภาพหยุดนั้นแล้วค่อยเคลื่อนต่อ รวมความย่อๆ ก็คือว่า หยุดให้รู้สึก เคลื่อนไป…หยุดอีกให้รู้สึก เคลื่อนไป…หยุดอีกให้รู้สึก

มันจะมีจังหวะเพลิน เคลื่อนไปแล้วหยุดก็ไม่รู้สึก หลงไปแล้ว หยุดอีกทีถึงค่อย…อุ้ย! ลืมไปแล้วเมื่อกี้ลืมรู้สึก เคลื่อนไปตามไขสันหลังเลย ก็ไม่เป็นไร หยุดถึงตรงไหนก็รู้สึกตรงนั้น แล้วค่อยเคลื่อนต่อ เนี่ย! ท่านทำอยู่ไม่กี่วันหรอก เจอครูบาอาจารย์ก็ทักเลยว่า ไปทำอะไรมาทำไมถึงเปลี่ยนแปลงขนาดนี้ ท่านก็บอกว่า…แค่รู้เฉยๆ ครับ เนี่ย! มันเกิดอาการแค่รู้เฉยๆ ได้ยังไง ก็ด้วยการปฏิบัติในรูปแบบนี่แหละ มันเป็นกำลัง ไม่ได้ทำอะไรเยอะแยะมากกว่านั้นเลย มีหลักปฏิบัติง่ายๆ แค่นั้น ก็ทำอยู่แค่นั้น

 

ตอนที่ 4 เตือนตัวเองไว้…รู้สึกตัว

พวกเราทุกคนต้องเข้าใจให้ถูก การปฏิบัติธรรมมันไม่มีอะไรยาก มันอยู่ที่ทำถูกมั้ย เข้าใจถูกมั้ยว่าเรามีหน้าที่อะไร เข้าใจถูกแล้วทำมั้ย ถ้าทำมันไม่มีไม่ได้หรอก ที่ไม่ได้เพราะไม่ได้ทำ ไม่ให้เวลา ไม่ให้ความใส่ใจ ละเลยซะเป็นส่วนใหญ่ ไม่ต้องไปสนใจความรู้อะไรทั้งนั้นกับการปฏิบัติธรรม… แค่รู้สึกให้มันได้เป็นลูกโซ่ ให้มันได้เป็นลูกโซ่เนี่ย ไม่ใช่เป็นพรื้ดด หลวงพ่อคำเขียนใช้คำว่า มันไม่ใช่เหมือนเหล็กแผ่นนะ ที่มันเป็นพรื้ดไปเลย ไม่ใช่แบบนั้น อันนั้นมันจะกลายเป็นเพ่งแทน

คำว่า ต่อเนื่อง ในการปฏิบัติธรรมนี่ก็คือ เป็นลูกโซ่ คือหมายความว่า “มันรู้..แล้วมันก็จบ” รู้…แล้วมันก็จบ ไม่ใช่รู้แบบเพ่ง หรือที่บอกเมื่อกี้ว่า แค่รู้สึกอยู่ในร่างกายเรานี้ รู้สึกตรงนี้แล้วผ่าน เดี๋ยวมันก็รู้สึกตรงนั้น…รู้ก็ผ่าน แล้วมันก็ไปรู้สึกตรงโน้น…รู้สึกไปก็ผ่าน วนไปเรื่อยอยู่ในร่างกาย วนไปวนมานี่แหละ จิตใจเกิดอะไรขึ้นก็รู้ได้ นี่เค้าเรียกว่าเป็นลูกโซ่ คือ วนเวียนอยู่ในกายในใจนี้ ไม่อยู่ในโลกความคิดปรุงแต่ง ความเป็นลูกโซ่ก็จะเกิดขึ้น

ความไม่เป็นลูกโซ่คืออะไร? เป็นเหล็กแผ่น เหล็กพรื้ด เหล็กเส้น คือ เพ่งไว้จุดเดียว เพ่งไว้ไม่ให้มันไปไหน ถามว่ารู้กายมั้ย? รู้  รู้ใจมั้ย? รู้  แต่เป็นเหล็กแผ่นเหล็กเส้น ไม่ใช่เป็นลูกโซ่

หลวงพ่อเทียนก็ไม่อยู่แล้ว หลวงพ่อมหาดิเรกก็ไม่อยู่แล้ว พวกเราปฏิบัติกันเอง ทำยังไง? พอเราเลิกปฏิบัติในรูปแบบ มันไม่ใช่การเลิกปฏิบัติธรรม เตือนตัวเองไว้ว่า มันเป็นแค่การเปลี่ยนอิริยาบถเฉยๆ “เตือนตัวเองด้วยคำว่า รู้สึกตัว” เค้ามีคำบริกรรมกันมากมาย พวกเราบริกรรมว่า รู้สึกตัว

แต่ถ้าเป็นภาษาสมัยใหม่ผมใช้คำว่า เตือนตัวเอง จะเดินไปไหน จะทำอะไร จะหยิบจับอะไร “เตือนตัวเองไว้ รู้สึกตัว” เตือนตัวเองไว้ คำว่าเตือนตัวเองว่า รู้สึกตัว เนี่ย มันเป็นคำที่กลางมาก และมีแนวโน้มจะพาเรามารู้สึกตัวอย่างรวดเร็ว พาเรากลับมา ไม่ใช่พาเราออกไป

พอออกจากรูปแบบแล้ว พูดให้น้อย พอเรารู้จักเตือนตัวเอง พูดให้น้อย…ผลลัพธ์คือ มันก็เกิดความเป็นปกติในชีวิต เกิดภาวะความสำรวม เกิดภาวะแห่งการมีสติ อยู่กับตัวเอง เพราะฉะนั้น ต่อไปนี้เราต้องเตือนตัวเอง ให้ความสำคัญกับความเป็นลูกโซ่

ตอนผมลาออกมาปฏิบัติธรรม ผมทำในรูปแบบ พอนอกรูปแบบผมก็นั่ง…นั่งเฉยๆ อยู่กับตัวเอง ไม่ได้คุยกับใครเพราะไม่รู้จักใคร ไม่มีเพื่อนกัลยาณมิตรเยอะขนาดนี้ เพื่อนโทรมาก็ไม่รับโทรศัพท์ ความเป็นลูกโซ่ก็เกิดขึ้นคือ อยู่คนเดียว ไม่ใช่อยู่แล้วคิดฟุ้งซ่านไปเรื่องอื่นนะ “อยู่คนเดียว…อยู่กับตัวเอง” มีหลักปฏิบัติธรรมแล้ว ความเป็นลูกโซ่มันก็เกิดขึ้น หรือที่ผมพูดบ่อยๆ เรียกว่า ความไม่ลืมเนื้อลืมตัว ความอยู่กับเนื้อกับตัวมันก็เกิดขึ้น

ความคิดมันไม่ใช่ปัญหา ปัญหาคือเราชอบเข้าไปในความคิด เวลาความคิดเกิดขึ้น เรามีทางเลือกเสมอ เราจะรู้ทันหรือเราจะเข้าไป ชีวิตนี้เราเลือกเอง เราเลือกอะไรให้กับชีวิตเรา แต่เราส่วนใหญ่ชอบความคิด เราชอบคิด เราไม่ชอบถ้าแค่รู้สึก เราไม่ชอบรู้สึกตัว เราชอบคิด เพราะฉะนั้น จำไว้ว่า ไม่ใช่เราทำไม่ได้ เราไม่ทำต่างหาก เราชอบเลือกทางที่เราชอบ ทางที่เราชอบก็คือ ทางแห่งความเคยชิน สิ่งที่มันฝืนความเคยชิน มันเลยเป็นเรื่องที่ไม่ชอบ รู้สึกทำได้ยาก แต่จริงๆ มันไม่ยาก อยู่ที่เราจะทำอะไรแค่นั้นเอง

เราจะอดทนกับแค่รู้สึกได้มั้ย? รู้สึกร่างกายนี้ มีความคิด เรารู้ทันไม่เข้าไปได้มั้ย? อาศัยความอดทน

เพราะฉะนั้น เส้นทางชีวิตของการปฏิบัติธรรมของเราทุกคน เราเลือกเอง กิริยาการปฏิบัติธรรมเราก็เลือกเอง เราเป็นคนกำหนดชะตาชีวิตของเราเอง เราอยากมีชีวิตแบบไหน เลือกแบบนั้น

เราจะนั่งอีก 5 นาที นั่ง…แค่รู้สึก อย่าลืมว่าการปฏิบัติธรรมไม่ใช่การเข้าใจด้วยความคิด ปฏิบัติให้มาก แล้วจะสิ้นสงสัยเอง อย่ารีบ อย่ารีบไปเข้าใจด้วยความคิด ไม่มีประโยชน์อะไร

 

14-10-2561

Camouflage

 

YouTube : https://youtu.be/NwCEK3f5gvg

คลิปเสียงธรรมะทั้งหมดของอาจารย์ Camouflage : https://goo.gl/RDZFMI

======================

5 ช่องทางการอ่านและฟังธรรม

1) Facebook : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
http://www.facebook.com/sookguysookjai

2) Line : @camouflage.talk
https://line.me/R/ti/p/%40camouflage.talk

3) YouTube : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
https://goo.gl/in9S5v

4) Website: https://camouflagetalk.com/

5) Podcast : Camouflage – Dhamma Talk
https://itun.es/th/t6Mzdb.c
วิธีการติดตั้ง https://goo.gl/tBMY9S