84.การเห็นอย่างวิเศษ

ตอนที่ 1 แค่นั่ง “รู้เนื้อรู้ตัว”

เวลาเราเริ่มนั่งสมาธิ คำพูดง่ายๆ นี้ที่ว่า แค่นั่ง ไม่ใช่หมายความว่า เพลิดเพลินเจริญใจในการนั่ง หรือปล่อยเนื้อปล่อยตัวในการนั่ง

คำว่า “แค่นั่ง” ต้องการจะบอกว่า…

ไม่ต้องหวังอะไรจากการนั่ง

ไม่ต้องคาดหวังว่าจะต้องสงบ

ไม่ต้องคาดหวังจะเห็นอะไร… แค่นั่ง

แต่เป็นการนั่งแบบไม่ลืมเนื้อลืมตัว นั่งแบบ “รู้เนื้อรู้ตัว

เริ่มนั่งใหม่ๆ บางทีมันยังไม่เป็นธรรมชาติ บางทีมันอึดอัดหน่อย แน่น จุกหน่อย ไม่เป็นไร ก็รู้มันเป็นแบบนั้น นั่งแล้วก็เห็นความเป็นจริงแบบนั้น แก้อะไรไม่ได้ มันเป็นเอง เราแค่รับรู้ว่า… “ตอนนี้เป็นแบบนี้

นั่งแล้วถ้าเราเริ่มรู้สึกเคลิ้มนิดนึง ต้องสังเกตให้ทัน นิดนึงก็ต้องสังเกตให้ทัน สังเกตทันปึ๊บ…ก็ปลุกความรู้สึกตัวขึ้นมา จะลืมตาก็ได้ จะยืดตัวขึ้นก็ได้ จะหายใจเข้าลึกๆ ซักทีก็ได้ อย่าประมาทกับความเคลิ้ม อย่าเพลิดเพลินพอใจกับความเคลิ้ม ปลุกตัวเองให้ตื่นขึ้นมา

มีเพียง “ความตื่น” เท่านั้นที่จะพาเราพ้นทุกข์ ไม่ใช่ความเคลิ้ม ไม่ใช่ความสุข

ความสุขพาเราพ้นทุกข์ไม่ได้ มีสุขจะมีทุกข์ตามมา จำไว้ว่า มีกิริยา “ตื่น” เป็นกิริยาเดียวที่จะพาเราพ้นทุกข์ได้ เพราะฉะนั้น เรา “รู้” ขึ้นมาก็จะเกิดการตื่น พอจิตตื่นอยู่…ไม่เข้าไปเป็นอะไรกับอะไร ก็เป็นสภาวะของการ “เบิกบาน

เรา “รู้เนื้อรู้ตัว” ไว้ อย่าลืมอิริยาบถย่อยๆ ของร่างกาย รู้สึกได้ หรือรู้สึกถึงพลังงานที่วิ่งวนในร่างกายก็ได้ เรานั่งนิ่งๆ แต่ข้างในมันไม่นิ่ง มันบางทีจะรู้สึกถึงการเคลื่อนไหวของพลังงานในร่างกายได้ เพราะมันเป็นอนิจจัง มันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

 

ตอนที่ 2 อะไรเกิดขึ้น…รู้ทัน  หันกลับมาดูใจบ่อยๆ

ต้องสอนตัวเองให้มากว่า หัวใจหลักของการปฏิบัติธรรมคือ การพ้นออกจากโลกของความคิดปรุงแต่งทั้งปวง” พูดง่ายๆ คือ ไม่ติดกับความคิดใดๆ ถ้าเราติดความคิดใดๆ เมื่อไหร่ นั่นเราอยู่ในความปรุงแต่งทันที เราตกทางทันที

ความคิดมีได้ แต่ไม่มีหน้าที่ติดกับความคิดนั้น มีหน้าที่รู้ทันความคิดแล้วไม่ติดกับมัน ถ้าติดเมื่อไหร่มันจะลากเราไปอยู่ในโลกของความคิดปรุงแต่งทันที…ตกทาง

เพราะฉะนั้น ถ้าเราดูอะไรไม่เป็นเลย ดูจิตไม่เป็น ดูอะไรยังไม่เป็น เอาง่ายๆ แค่นี้…มันติดความคิดเมื่อไหร่…รู้ทัน “ไม่ติดกับมัน

ถ้าเราติดความคิดจะเกิดอะไรขึ้น? ความคิดพาไปปรุงแต่งก็เกิดอารมณ์ขึ้น เกิดอารมณ์ขึ้น เช่น เศร้าหมอง ทุกข์ใจ กังวล พาเราติดอารมณ์ต่อ ทีนี้ก็เรียกว่า ติดทั้งอารมณ์ ติดทั้งความคิด ติดเป็นขบวนเลย เพราะฉะนั้น ถ้าเรารู้ทันความคิด ไม่ติดกับความคิด มันก็ไม่เป็นขบวนยาวๆ

อารมณ์อะไรเกิดขึ้น ก็รู้ให้ทัน ความสุขเกิดขึ้น ก็ต้องรู้ให้ทัน ความสุขเล็กน้อยเรียกว่า ความยินดีพอใจกับอะไรดี? เช่น อากาศ อาหาร สัมผัสต่างๆ สบู่ แชมพู  มีความยินดีพอใจเกิดขึ้น…รู้ทัน ไม่เพลิดเพลินไปกับความสุขเล็กๆ น้อยๆ เหล่านั้น ถ้าเราเพลิดเพลินไปกับความสุขเล็กๆ น้อยๆ เหล่านั้น เรียกว่า “ติดอารมณ์

สังเกตให้มันละเอียดมากขึ้น จะสังเกตละเอียดได้มากขึ้นต้อง อยู่กับตัวเองให้มากขึ้น พูดให้น้อย มีสติตามรักษาจิตอยู่เนืองๆ ถึงจะเห็นได้

ความคิดเกิดขึ้นมา…รู้ทัน อารมณ์อะไรเกิดขึ้นมา…รู้ทัน เพราะฉะนั้น การปฏิบัติธรรมมีกิริยาเดียว “รู้ทัน

พอรู้ทันความคิด ความคิดจะดับไป

รู้ทันอารมณ์ อารมณ์จะดับไป

รู้ทันความยินดีพอใจ  ความยินดีพอใจจะดับไป

แยกให้ออกระหว่างรู้ทันกับปัดทิ้ง “รู้ทันไม่ใช่การปัดทิ้ง” แม้ว่าผลลัพธ์มันจะดับเหมือนกัน แต่วิธีการไม่เหมือนกัน ความรู้สึกของการปัดทิ้งคือ “มีเรา” รู้สึกว่า อันนี้ไม่ดี ไม่เอา แบบว่าไม่มีอะไรดีกว่า ในใจลึกๆ มันมีแบบนั้น แต่การ “รู้ทัน” คืออะไรก็ได้ มีหน้าที่รู้ทัน มันจะเป็น “กิริยาที่เป็นกลาง

 

 ตอนที่ 3 เหตุมีนิดเดียว

ปฏิบัติธรรมต้องรู้จักวิธีการให้ถูกต้อง ศาสนาพุทธเราคุยกันเรื่องการสร้างเหตุ สร้างเหตุแล้วผลมันเกิดเอง ที่เราคุยกันทุกวี่ทุกวัน ฟังธรรมกันทุกวี่ทุกวัน เพื่อจะเน้นย้ำกันในการ “สร้างเหตุให้ถูกต้อง ไม่มีหน้าที่ไปสร้างผล” มีแค่หน้าที่รู้ว่า เหตุที่ถูกต้องคืออะไร แล้วก็เจริญเหตุนั้น เจริญให้มาก

อย่าลืมที่จะหันกลับมาดูใจ ความสำคัญไม่ใช่ว่าใจจะเป็นยังไง ความสำคัญคือ เราได้ทำ “กิริยากลับมา”  กิริยากลับมารู้สึกใจเป็นยังไง กิริยานี้อย่าลืม ถ้าเราหมั่นทำหน้าที่ กิริยากลับมาดูใจบ่อยๆ จิตใจนี้จะไม่ไปทางฟุ้งซ่าน มันจะมีนิสัยใหม่ มีความเคยชินใหม่ ความเคยชินที่จะกลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว เราต้องฝึกไปเรื่อยๆ ฝึกจนวันนึงเป็น “สติอัตโนมัติ

พอมันออกนอก แล้วมันวึ๊บบกลับมาเองได้ เนี่ย! เพราะมันมีความเคยชินใหม่ เคยชินที่จะไม่ออกนอก พอมันมีความเคยชินที่มันจะไม่ออกนอก…อะไรจะเกิดขึ้น? สติก็เกิดขึ้น พอมันอยู่กับเนื้อกับตัวได้นาน มันก็กลายเป็นสมาธิ พอมีสมาธิตั้งมั่น  โอกาสของการเจริญวิปัสสนาที่เรียกว่า “วิปัสสนาปัญญา” ก็เกิดขึ้นได้

เพราะฉะนั้น เข้าใจการสร้างเหตุง่ายๆ ให้ถูกต้อง แต่ได้ผลอันยิ่งใหญ่ อย่าไปวาดภาพว่า การสร้างเหตุนี้มันยิ่งใหญ่โตมโหฬารจนทำได้ยาก “สิ่งที่ยิ่งใหญ่โตมโหฬารก็คือผล ไม่ใช่เหตุ เหตุมันนิดเดียว

 

ตอนที่ 4 เอาความหวังออกไปซะ

ปัญหาของนักปฏิบัติธรรมที่ผมเจอมีแค่ 2 อย่าง อันแรกคือ ลืมทำหน้าที่ที่บอก อันที่ 2 คือ ทำเกินหน้าที่ มีแค่ 2 อย่าง เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะปฏิบัติให้ถูกต้อง ก็คือ “อย่าลืมทำหน้าที่ แล้วก็อย่าทำเกินหน้าที่

ทำเกินหน้าที่คืออะไร? ชอบจัดการ แทรกแซงจิตนี้ ชอบยุ่งกับมัน ชอบทำให้มันดี ชอบทำให้มันเป็นอย่างที่คิด นี่เส้นทางของอัตตา เรียกว่า “ทำเกินหน้าที่”  พวกเราบางคนก็เล่าให้ฟัง…ท้อแท้ เหมือนปฏิบัติแล้วไม่ก้าวหน้าโน่นนี่นั่น สารพัดที่จะทำลายกำลังใจตัวเอง แต่พอมาวันนึงตื่นขึ้นมาก็บอกว่า “วันนี้เห็นว่าจิตกำลังจะเข้าไปร่องเดิมของการเพ่ง กำลังค่อยๆ เข้าไป” ถ้าปฏิบัติไม่ก้าวหน้า ไม่ถูก จะเห็นอย่างนี้ได้ยังไง…เห็นไม่ได้

เพราะฉะนั้น “อย่าตัดสินตัวเอง” มันเจริญอยู่ทุกวันอยู่แล้วถ้าเราทำ ที่เราไม่พอใจเพราะมันไม่เป็นไปอย่างที่เราคิดเฉยๆ… “นี่คือคน” ไม่ใช่การปฏิบัติธรรม แต่ทุกวันทุกเวลาที่เราเจริญอยู่เนี่ย จิตใจนี้มันเจริญอยู่แล้ว เราเห็นผลลัพธ์ได้ อย่างที่เห็นอาการของจิตแบบนี้ได้ จะไม่เจริญได้ยังไง ลองคิดดูถ้าเราไม่ปฏิบัติธรรมเราจะมีโอกาสเห็นอย่างนี้มั้ย…ไม่มีทางเลย ถ้าเราเป็นคนอยู่ในโลก เล่นๆ กินๆ เที่ยวๆ ทำงานทั้งวัน อยู่ในความคิดปรุงแต่งทั้งวัน เราจะเห็นแบบนี้ได้มั้ย

นักปฏิบัติทุกคนต้องรู้จักให้กำลังใจตัวเอง ไม่ใช่คิดแต่เรื่องที่ทำให้ตัวเองท้อถอย ถดถอย เพราะในความเป็นจริงทุกคนที่ปฏิบัติธรรมอยู่แล้ว  ถ้าปฏิบัติถูก มันเจริญอยู่แล้ว แต่มันแค่ไม่เท่าที่เราหวังแค่นั้นเอง “เอาความหวังออกไปซะ

มีหน้าที่แค่…สำรวจความขาดตกบกพร่องตรงไหน ยังปล่อยตัวปล่อยใจไปทำอะไรฟุ้งซ่านอีกมั้ย ที่ผมเคยบอกตลอดว่า แค่อย่าไปทำเรื่องฟุ้งซ่าน เรื่องไม่มีสาระ ก็เพียงพอที่จะทำให้การใส่ใจการปฏิบัติเพิ่มขึ้นเยอะแล้ว

วันๆ จะคิดโปรเจคนี้โปรเจคนั้น จะไปนี่จะไปนั่น จะทำนี่จะทำนั่น เนี่ย! จำเป็นมั้ย? ไม่จำเป็นก็ไม่ต้องคิดไม่ต้องทำ คนในโลกก็เหลือเวลาถ้าไม่ปฏิบัติธรรม…เหลือเวลาทำอะไร? เหลือเวลาฟุ้งซ่านต่อ แต่เรานักปฏิบัติเราเหลือเวลาที่จะกลับมา “อยู่กับเนื้อกับตัว” มากขึ้น เหลือเวลาที่จะมี “สติตามรักษาจิตอย่างเนืองๆ” ได้ต่อเนื่องขึ้น

มีสติตามรักษาจิต…ไม่ใช่ไปเฝ้ามัน อยู่กับเนื้อกับตัวไว้นี่แหละ หันกลับมาดูใจบ่อยๆ ทำหน้าที่แบบนั้นแหละ มันจะเกิดภาวะสติตามรักษาจิตเอง ตามรักษาคืออะไร? ไม่ใช่ไปแปลว่ารักษาให้มันไม่เปลี่ยนแปลงเลย…ไม่ใช่!  “ตามรักษา” คือหมายความว่า มีอะไรเกิดขึ้นในจิตนี้ ก็รู้ทันได้อย่างรวดเร็ว รู้ทันปุ๊บ…ก็ไม่เข้าไปเป็นกับอาการของจิตนั้นๆ รู้ทันปุ๊บ..มันก็ดับไป รู้ทันปุ๊บ..มันก็ไม่เข้าไปเกลือกกลั้วคลุกคลีเป็นอะไรกับมัน นี่! เค้าเรียกว่า สติตามรักษาจิต ไม่ใช่คอยรักษาให้มันดี คนละอย่างกัน การคอยรักษาให้มันดี…ก็มีเรา มีคน อยากให้มันดี รักษามันเอาไว้

นี่! ต้องแยกแยะคำสอนครูบาอาจารย์ให้ถูก เราปฏิบัติอยู่แบบนี้ สติก็เกิด สมาธิตั้งมั่นก็เกิด ปัญญาก็จะเกิดในที่สุด ปัญญาที่จะเห็นสรรพสิ่งในโลกนี้ล้วนตกอยู่ภายใต้กฎไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เรียกวิปัสสนา

 

ตอนที่ 5 การเห็นอย่างวิเศษ

วิปัสสนา” คืออะไร? “การเห็นอย่างวิเศษ” มันวิเศษจริงมั้ย พระพุทธเจ้าพูดเว่อร์ไปรึเปล่า…ไม่เว่อร์ ถ้าเมื่อไหร่พวกเรามีโอกาสที่จะเห็นอย่างวิเศษในมุมของอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เราจะรู้สึกได้เองว่ามันวิเศษจริงๆ  เป็นการเห็นที่อธิบายด้วยคำพูดยังยากเลย นี่ขนาดแค่วิปัสสนา การเห็นอย่างวิเศษนี่ยังอธิบายยากเลยว่ามันวิเศษยังไง

แต่มันวิเศษเพราะเรารู้ว่าถ้าเราไม่ปฏิบัติธรรม เราไม่มีโอกาสที่จะเห็นอย่างวิเศษแบบนี้ได้ ไม่สามารถที่จะรู้สึกว่ามันวิเศษจริงๆ  ที่เราเห็นสภาวะเป็นเพียงแค่สภาวะ ไม่เที่ยง หรือในมุมของว่ามันตั้งอยู่ไม่ได้ ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ หรือในมุมของว่า มันเป็นเพียงแค่สภาวะอันหนึ่งไม่มีใคร ไม่มีสัตว์ ตัวตน บุคคลเราเขาในสภาวะนั้น ไม่มีใครเป็นเจ้าของมัน มันเป็นแค่สภาวะอันนึงเฉยๆ

เห็นให้ละเอียดขึ้น วิปัสสนาเนี่ย คือเห็นอย่างวิเศษ เห็นแม้กระทั่งว่าจะไปเกิดการหยิบฉวยสภาวะนั้นมาสร้างชีวิตความเป็นเราให้เกิดขึ้นได้ว่าเราเป็นอารมณ์นั้น เห็นมันหยิบฉวย เห็นมันปล่อย เห็นว่ามันเป็นแค่สิ่งแปลกปลอมเกิดขึ้นมาจิตใจนี้ และกำลังจะสร้างชีวิตขึ้นมาจริงๆ ว่ามีเราเป็นอารมณ์นั้นๆ ทั้งหมดนี้ “ผ่านการเห็นอย่างวิเศษ ไม่ใช่คิดเอา

แต่การเห็นอย่างวิเศษนี้ไม่ใช่เห็นกันบ่อยๆ ฝึกไปทุกวันๆๆ เราก็เข้าใจ เห็นความคิด เห็นอารมณ์ เห็นอะไรต่างต่างนานาในมุมไตรลักษณ์อยู่แล้ว แต่มันแค่ยังไม่วิเศษเฉยๆ เท่านั้น วันใดถ้ามันเห็นอย่างวิเศษขึ้นมา เราจะเข้าใจว่าทำไมมันถึงชื่อวิปัสสนา

พระพุทธเจ้าสอนเป็นเรื่องของอะไร? ปัจจัตตัง เห็นมั้ยคำว่า “ปัจจัตตัง” มันเป็นเรื่องของศาสนาพุทธคือ รู้ได้เฉพาะตนตั้งแต่เริ่มต้นรู้สึกตัว เรารู้สึกตัว มืออยู่ตรงไหน ขาเราอยู่ตรงไหน เรานั่งอยู่ เรายืนอยู่ มีคนรู้แทนเราได้มั้ย? เรารู้เอง เนี่ย! ปัจจัตตังมันเริ่มตั้งแต่ง่ายๆ แบบนี้เลย เรานั่งอยู่ มีคนบอกเรายืน เราจะเชื่อมั้ย นี่! เราไม่มีทางเชื่อเลยถ้าเรานั่งอยู่ เนี่ย! ปัจจัตตังเริ่มตั้งแต่ตรงนี้ ถึงที่สุดก็ต้องปัจจัตตังเหมือนกัน

พระพุทธเจ้าถึงเน้นย้ำพวกเรานักปฏิบัติธรรม เรื่องของปัจจัตตัง รู้ได้เฉพาะตน ไม่ต้องเชื่อใคร เรามีกิเลสเท่าไหร่ ใครจะรู้ดีกว่าเรา เราเองรู้ดีที่สุด กิเลสอะไรซ่อนอยู่ในใจเรา ใครรู้ดีที่สุดถ้าไม่ใช่เรา ถึงมีคำพูดว่า “หลอกใครก็หลอกได้ แต่หลอกตัวเองหลอกไม่ได้

เพราะฉะนั้น นักปฏิบัติธรรมเราต้องซื่อสัตย์กับตัวเอง เห็นกิเลสตัวเอง เห็นความน่าเกลียดของอัตตาตัวเอง เห็นได้มันถึงจะขัดเกลาได้ เหมือนเราเห็นพื้นสกปรก เราก็ถึงจะกวาดได้ ถูได้ นักปฏิบัติที่แย่ก็คือ เห็นแล้วกูก็ทำเป็นเหมือนไม่เห็น ที่แย่ที่สุดคือ ไม่รู้ว่ามันสกปรก พวกนี้ก็เป็นบัวเหล่าที่สามสี่โน่นเลย

 

ตอนที่ 6 รู้เฉพาะหน้า…อย่าไปหาคำตอบ

นั่งรู้เนื้อรู้ตัว อย่าลืมจะกลับมารู้สึกใจเป็นยังไง อย่าประมาทที่จะไม่กลับมา สังเกตให้ดีพอตอนกลับมาปุ๊บ มันจะหนักแน่นกว่าเดิม มันจะไม่ลอยๆ เหมือนตะกี้นี้ก่อนที่จะกลับมา อย่าเบื่อที่จะทำหน้าที่ อย่าประมาทที่จะว่าดีแล้ว” รู้แล้ว รู้อยู่แล้ว คำพูดแบบนี้คือ คนประมาท

เราปฏิบัติธรรมต้องทำตัวเหมือนพวก รปภ. เค้าต้องเดินไปจุดนี้ ไปจุดนั้น เดี๋ยวก็ไปจุดเดิม ไปมาไปมา ไม่มีอะไรก็ต้องเดิน เพราะฉะนั้น เรามีอาชีพเป็น รปภ. จำไว้!  “ทำหน้าที่” ไม่มีอะไรก็ต้องทำหน้าที่ ระลึกไว้ว่าเรามีอาชีพเป็น รปภ.

กลับมา…ลืมๆ ไปก็ “กลับมารู้เนื้อรู้ตัว” สังเกตมั้ยเวลาเรารู้เนื้อรู้ตัว รู้ไปเรื่อยๆ แล้วเดี๋ยวมันไปคิดตอนไหนก็ไม่รู้ แต่ถ้าเรามีการกลับมา กลับมารู้สึกใจเรา มันจะไม่ลอยๆ เตรียมออกไปคิด มันจะหนักแน่นกว่าเดิม

เราปฏิบัติอยู่แบบนี้…รปภ.เนี่ย แต่ไม่ใช่ว่ามันจะไม่คิดอะไรเลย มันคิด แต่เราจะไม่ติดความคิดนั้น อันนี้คือหัวใจสำคัญเลยนะ คือ “มีความคิด แต่ไม่ติดความคิดนั้น” ไม่ติดความคิดแปลได้ว่า “ไม่เข้าไปคิดกับมัน

ติดอีกอย่างนึงคือ “ติดอารมณ์” …บางทีจิตใจเนี่ยมันเป็นอะไรไม่รู้ บางทีก็หาคำจำกัดความ (Definition) ไม่ถูก เอ๊ะ! มันเป็นอะไรว่ะ แต่สมมติว่าเป็นความเศร้าหมอง ความกังวล หรือเป็นไปในทางลบ (Negative) คนติดอารมณ์คือแบบไหน? ไปหาว่าเป็นอะไรว้า เอ…ทำอะไรผิดไปรึเปล่าว้า เอ…มีอะไรต้องความกังวลอะไรรึเปล่าว้า นี่เรียกว่า ติดอารมณ์ โดนอารมณ์มันหลอกแล้ว

เพราะฉะนั้น “รู้เฉยๆ อย่าโดนมันหลอก” ไม่ต้องยุ่งกับมัน มีอารมณ์บางอย่างเกิดขึ้น ไม่รู้มันคืออะไร…ก็รู้ตอนนี้เป็นแบบนี้ มีความอยากจะคิด รู้ทันความอยากจะคิด รู้ไปเฉพาะหน้าๆ แค่นี้ๆ แต่อย่าไปหาคำตอบ การหาคำตอบคือ ติดอารมณ์เสร็จ ต่อด้วยติดความคิด เละเทะอยู่ตรงนั้นแหละ สลับกันไปมา สุดท้ายจิตก็อ่อน สมาธิก็หมด แล้วก็ทุกข์ในที่สุด นี่คือ “วงจรของมนุษย์ ของคน” คนไปคนมาอยู่นั่นแหละ วนเวียนอยู่อย่างนั้น

เพราะฉะนั้น ขึ้นมาอยู่เหนือน้ำ ขึ้นมาอยู่เหนือสภาวะทุกอย่าง เรียกว่า “ตื่น” นั่นแหละ ตื่นรู้…ตื่นขึ้นมารู้ อยู่เหนือทุกสภาวะ เหมือนเราเล่นเซิร์ฟบอร์ดในทะเล อยู่เหนือทุกลูกคลื่น บางทีคลื่นมันใหญ่มุดเข้าไปในคลื่น ก็ขึ้นมาอยู่เหนือได้อย่างรวดเร็ว

ในทางปฏิบัติธรรม เมื่อเราอยู่เหนือทุกสภาวะได้ มันก็เป็นสภาพ “ปกติ” เต็มที่เราก็รู้สึกมีความสุขที่เราได้ทำหน้าที่แห่งการปฏิบัติธรรมที่แท้จริงคือ รู้ทันทุกสภาวะที่เกิดขึ้นแล้วไม่เข้าไปเป็นกับมัน ไม่ตกเป็นเหยื่อมัน เราจะรู้สึกมีความสุขว่าเราได้ปฏิบัติธรรมแล้ว อันนี้เป็นความสุขทางธรรม ไม่ใช่ความสุขทางโลก ไม่ได้เป็นความสุขจากการสนองกิเลส “เป็นความสุขจากการรู้” จากการที่จิตใจฉลาดขึ้น แต่เมื่อความสุขใดๆ เกิดขึ้น ก็รู้ทัน ก็กลับมาที่เดิม…รู้ทัน ไม่อินเข้าไป

 

ตอนที่ 7 เตือนตัวเอง

เมื่อมีการติดความคิด ติดอารมณ์ วิธีที่จะช่วยเราได้นั้นตรงนี้เป็นศิลปะ  แต่วิธีที่ทุกคนลองใช้ได้คือ การรู้สึกอิริยาบทย่อย รู้สึกอิริยาบถใหญ่แล้วก็ย่อย ให้ความสนใจกับร่างกายนี้ อาการติดเมื่อกี้จะค่อยๆ คลายลง แต่เรามีความอยาก มันมีสัญญาจำได้ว่ายังอยากคิด อยากให้คำตอบ ถ้ารู้ว่าเป็นเรื่องไม่เป็นเรื่อง ต้องอดทน” ไม่เข้าไปในความคิดนั้นอีก อดทนไว้ด้วยการ “รู้สึกตัว” ด้วยการให้ความสนใจกับอิริยาบทย่อยๆ ในร่างกายนี้เอาไว้ จนกว่ามันจะผ่านไป

เพราะฉะนั้น เมื่อไหร่ที่เรามีความคิด แล้วติดกับมัน หลุดยาก หรือมีอารมณ์ติดกับมัน หลุดยาก ให้รู้ไว้ว่าสมาธิไม่พอ ตอนที่เราทุกข์แล้ว เราจะมีกำลังใจที่จะอยู่กับเนื้อกับตัว

แต่สิ่งที่ยากกว่านั้นคือ พออยู่เนื้อรู้ตัวได้ดีแล้ว จิตใจพอจะมีกำลังขึ้นมาบ้างแล้ว ตั้งมั่นขึ้นมาบ้างแล้ว จะทำยังไงให้ไม่ประมาท? จะทำยังไงให้ไม่ประมาทแบบเดิมๆ อีก? จะทำยังไงให้มีกำลังใจที่จะไม่ลืมที่จะทำหน้าที่? ไม่ขี้เกียจที่จะปฏิบัติธรรม ไม่ขี้เกียจที่จะทำในรูปแบบ…ทำยังไง? อันนี้เป็นสิ่งที่แต่ละคนต้องเตือนตัวเอง ความยากที่สุดในการปฏิบัติธรรมจนเกิดผลได้คือ “ความต่อเนื่อง.. Momentum ของสติ สมาธิที่มีอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่สามวันดีสี่วันไข้ ดีแล้วเลิก ดีแล้วเลิก ไม่ใช่แบบนั้น

แต่ละคนต้องเตือนตัวเอง ถ้าไม่เตือนตัวเอง ความทุกข์จะมาเตือนเรา ถ้าความทุกข์มาเยือนก็ยังเอ้อระเหย นรกจะมาเตือนเราในที่สุด เคยอ่านเจอธรรมะหลวงปู่จาม ท่านบอกว่า “ถ้าใครคนไหนที่สอนไม่ได้ ก็ปล่อยให้นรกสอนมัน” เราพูดนรกกันจนเฝ๋อ เรานึกภาพไม่ออกว่านรกมันน่ากลัวยังไง เราเลยไม่ค่อยกลัวเท่าไหร่ มันเลยต้องได้เจอก่อน

ตั้งใจนะ…สังเกตติดกับความคิดมั้ย ติดกับความอยากจะไปคิดอะไรมั้ย ติดกับการหาอะไรจะคิดมั้ย รู้เนื้อรู้ตัวเฉยๆ ได้มั้ย ทรมานมั้ย รู้ทันความคิดแล้วหลุดเลยมั้ย มีอะไรสมควรให้ระลึกถึงมั้ย มีคุณค่าพอให้ระลึกถึงมีมั้ย…ไม่มี! หลวงปู่ดูลย์ว่าไว้ว่า “ความตรัสรู้คือ ความไม่มีอะไรให้ระลึกถึง” ถ้าเมื่อไหร่ที่เรามีความคิด ความกังวลถึงใครๆ จำอันนี้เอาไว้… ความตรัสรู้คือ ความไม่มีอะไรให้ระลึกถึง…อันนี้เป็นทาง

ความห่วงกังวล…เป็นพลังงานแห่งโทสะ เราห่วงกังวลคนที่เรารัก อันนี้เป็นพลังงานแห่งโทสะ ถ้าเราอยากจะห่วงกังวลให้เปลี่ยนเป็นความเมตตาแทน ให้เปลี่ยนเป็นพรหมวิหาร 4 มีเมตตา มีกรุณา มีมุทิตา แล้วสุดท้ายก็ต้องมีอุเบกขาปิดท้าย มันถึงจะพอดี ความห่วงกังวลไม่ใช่คุณธรรมที่พระพุทธเจ้าสอน ใช้พรหมวิหาร 4

บางทีเราไม่ได้เห็นมันเป็นความคิดหรอก บางทีแค่เป็นอากการของจิตที่มันวิ่งออกไป เรารู้สึกมันวิ่งออกไป มันวูบออกไป แค่นี้เราก็เห็นได้ เค้าเรียกว่าจิตมันจะออกนอก…ก็รู้ทัน

ความคิดเกิดขึ้น จะรู้เร็วหรือรู้ช้า ไม่เป็นไร แต่เมื่อรู้แล้วเนี่ยแล้วไม่ติดกับมัน อันนี้สำคัญ แต่คำว่ารู้ช้าไม่ใช่ช้ามากนะ คิดไป 10 20 นาทีเพิ่งรู้อย่างนี้..ไม่ใช่ คำว่าช้า คือไม่กี่อึดใจนั่นแหละก็รู้ขึ้นมา ได้หัวเรื่องหน่อย ได้เนื้อเรื่องนิดนึง

 

09-09-2561

Camouflage

 

YouTube : https://youtu.be/IdBMM2RJJt4

คลิปเสียงธรรมะทั้งหมดของอาจารย์ Camouflage : https://goo.gl/RDZFMI

======================

5 ช่องทางการอ่านและฟังธรรม

1) Facebook : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
http://www.facebook.com/sookguysookjai

2) Line : @camouflage.talk
https://line.me/R/ti/p/%40camouflage.talk

3) YouTube : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
https://goo.gl/in9S5v

4) Website: https://camouflagetalk.com/

5) Podcast : Camouflage – Dhamma Talk
https://itun.es/th/t6Mzdb.c
วิธีการติดตั้ง https://goo.gl/tBMY9S