82.ไม่แน่

ตอนที่ 1 ไม่แน่

คอมเพรสเซอร์แอร์ดัง รู้สึกมั้ยว่าจิตใจมันหวั่นไหวนิดๆ เปลี่ยนหน่อยๆ ก็รู้ได้ ไม่ใช่ให้มันไม่หวั่นไหว หวั่นไหวหน่อยก็รู้ เราไม่ได้เป็นเจ้าของจิตใจ ไม่ต้องการให้มันดี ไม่ได้ต้องการให้มันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ “มีหน้าที่รู้อย่างที่มันเป็น

ถ้าเราไปเป็นเจ้าของอะไร เป็นเจ้าของจิตใจ จะมีอาการกระทำ จะเกิดความต้องการ ความอยาก จะกระทำบางอย่าง ให้มันเป็นอย่างที่เราคิดว่าดี แต่ถ้าเรา “เป็นกลาง” ไม่เป็นเจ้าของมัน มันหวั่นไหวเราก็รู้ ตอนนี้มันเป็นแบบนี้ แล้วก็ไม่มีตัณหา ไม่มีความไม่พอใจ ไม่มีความอยากที่จะจัดการอะไร เพราะพื้นฐานเราเข้าใจว่า “ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา” เรามีหน้าที่เรียนรู้เห็นมันตามความเป็นจริงว่ามันเป็นยังไง

“พอเราไม่เป็นเจ้าของอะไร มันก็เริ่มนับหนึ่งของความไม่ทุกข์ทันที”

เพราะฉะนั้น ความไม่ทุกข์ ความพ้นทุกข์ไม่ได้อยู่ไกลเราเลย เพียงแต่เรามีสัมมาทิฏฐิในเบื้องต้นที่ไม่เอากายกับจิตนี้เป็นของเรา ความพ้นทุกข์มันก็เกิดขึ้นทันที

ความอยาก ตัณหา ความไม่อยาก เกิดขึ้นได้เพราะความหลง ความหลงคือโมหะ สิ่งที่ทำให้ความหลงดับไปก็คือ “วิชชา” หรือที่เรียกว่า สัมมาทิฏิฐิ เห็นถูก ฉะนั้น ถ้าเราเห็นถูกอยู่เนืองๆ มันทุกข์ไม่ได้

ถ้าเข้าไปกังวลกับกายที่เจ็บป่วย ให้รู้ทัน “มีหน้าที่รู้ทันรู้ทันความเห็นผิด รู้ทันว่าคนนี้เกิดขึ้นแล้ว” เรากังวลไม่อยากให้เป็นแบบนี้ ให้รู้ทันว่าตัวตน ความเป็นเจ้าของ เกิดขึ้นแล้ว เราต้องทุกข์แน่นอนในความเห็นผิดแบบนี้ ทำนายได้เลยว่าทุกข์แน่ เพราะคิดแบบนี้

ความพ้นทุกข์ก็อยู่ตรงนี้เลย…เห็นให้ถูกสิ! เห็นเป็นแค่อาการเฉยๆ ไม่ต้องรีบร้อนจะไปรักษา จะไปหายาอะไร ทั้งหมดคือ “ความดิ้นรนของมิจฉาทิฏฐิ

เราคิดไม่ออกเลยว่า “ชีวิตที่ใช้ปัญญาญาณนำพาเป็นยังไง?” เพราะเราไม่เคยให้โอกาสมันเกิดขึ้นมา เราให้โอกาสแต่ความคิดของความเป็นตัวเป็นตนนั้น คิดแก้ปัญหาของเรา เราไม่เคยรอ เราไม่เคยฝึกในมุมมองของสัมมาทิฏฐิ เราไม่เคยรอจนปัญญามันผุดขึ้นมาบอกเราว่า ควรจะทำอะไร ควรจะกินอะไร

ถ้าเราอดทนพอ มีหน้าที่ปฏิบัติธรรมไป ไม่เข้าไปเป็นเจ้าของความเจ็บป่วย ไม่เป็นเจ้าของร่างกายนี้ ไม่เป็นเจ้าของจิตใจนี้ แล้วบางสิ่งก็จะเกิดขึ้นที่ทำให้รู้สึกว่า อ้อ…. ต้องทำแบบนี้ เพราะฉะนั้น นี่ถือว่าเป็นมิติใหม่ของการใช้ชีวิตอีกมุมนึง “เราไม่เป็นทาสของอะไรทั้งนั้น” แม้กระทั่งความเจ็บป่วย มันจะมีทางออกเอง แต่พอถึงจุดนี้ เราอย่าไปคิดว่าจะมีทางออกดีๆ เสมอ “ความตายเป็นทางออกเหมือนกัน”  แต่เราคิดว่ามันไม่ดี

เพราะฉะนั้นถ้าเราคิดว่า เราเป็นอะไรก็หายได้ จะมียาช่วยเราได้ อย่าคิดแบบนั้น ไม่มีอะไรแน่

คนในโลกใช้ชีวิตบนมุมมองว่า ทุกสิ่งจะต้องแก้ไขได้ จัดการได้ แต่พวกเรานักปฏิบัติธรรม มุมมองของเราคือ “ทุกสิ่งไม่แน่” จำไว้ว่าว่า เราอยู่บนพื้นฐาน “ไม่แน่” อาจจะไม่หายก็ได้ แต่เราไม่มีเวลากังวลกับความไม่แน่นั้น

“การที่เราได้เห็นว่ามันไม่แน่จริงๆ ด้วย นั่นคือ การปฏิบัติธรรม”

เอ้อ…ครั้งนี้ไม่หาย เคยคิดว่าจะหายตลอดเลย พระพุทธเจ้าพูดจริงว่า อะไรก็ไม่แน่ ไม่เที่ยง

ถ้าเรามีหลักในการใช้ชีวิตแบบนี้ ไม่เป็นเจ้าของกายและจิตนี้ “ชัยชนะเราอยู่ตรงที่ไม่แน่ ไม่ใช่หาย” ชัยชนะเราอยู่บนพื้นฐานว่าเราเข้าใจว่าไม่แน่จริงๆ เรารับได้กับความไม่แน่จริงๆ นั่นแปลว่าเราใช้ชีวิตบนพื้นฐานของความเป็นจริง…จริงๆ

ไม่ใช่เหมือนคนในโลก ที่คิดว่าเกิดแก่เจ็บตายเป็นเรื่องธรรมดา ทุกคนต้องเจ็บต้องตายทั้งนั้นแหละ แต่พอเจอเข้าจริงก็ลนลาน ไม่อยากตาย ทำยังไงจะหาย นี่เรียกว่าไม่ซาบซึ้งกับคำว่า ไม่เที่ยง ไม่แน่ ไม่ได้เป็นสุขกับความจริงที่ปรากฏ ที่เคยบอกว่าไม่แน่ ไม่เที่ยง กับกลายเป็นความกลัวไม่แน่ ไม่เที่ยง ซะงั้น ถ้าเป็นแบบนี้เราไม่ใช่ชาวพุทธ เราไม่ใช่นักปฏิบัติธรรม เรากลัวเรื่องจริง

เพราะฉะนั้น “ต่อไปนี้เราใช้ชีวิตบนพื้นฐานของความไม่แน่” เมื่อไหร่ที่เจออะไรที่ไม่แน่ เราต้องรู้สึกว่า โอ้..ได้เจอของจริงแล้ว นี่เรากำลังปฏิบัติธรรม แต่ถ้าจะทำให้มันแน่ นั่นเรากำลังอยู่กับของปลอม อยู่กับตัวตนที่มีความต้องการให้ทุกอย่างมันแน่ มันเป็นอย่างที่เราคิด เป็นอย่างที่เราหวัง เป็นอย่างที่ทุกคนต้องการ

เพราะฉะนั้น ถ้าเราเจออะไรในชีวิตที่แสดงความไม่แน่ แล้วเราโอเคกับความไม่แน่นั้น ไม่หวั่นไหวกับความไม่แน่นั้น นั่นแปลว่า “เราได้ซึมซาบเข้าไปในความจริงที่พระพุทธเจ้าสอนไว้แล้ว

 

ตอนที่ 2 เกินจากรู้

เวลาเรานั่งสมาธิแล้วรู้สึกว่าวันนี้นั่งดี แต่พรุ่งนี้นั่งไม่ดี โอ้…เห็นถึงความไม่แน่ อ้อ…นี่กำลังปฏิบัติธรรมแล้ว เจอความไม่แน่แล้ว ไม่ใช่ปฏิบัติเพื่อจะนั่งแล้วได้อะไร เพื่อให้มันดี ให้มันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ให้มันสบาย ให้มันสงบ

สมมติว่ามันเงียบสงบอย่างนี้อยู่ภายในเรานี้ สิ่งที่เราสังเกตบ่อยๆ คือ เราจมเข้าไปในนั้นมั้ย เรายังตื่นรู้ รู้สึกร่างกายเรานี้มั้ย ยังเห็นร่างกายที่นั่งอยู่นี้มั้ย ยังเห็นจิตใจไปคิดได้มั้ย มันอาจจะคิดน้อย ยังเห็นมันวิ่งไปวิ่งมาได้มั้ย เพราะฉะนั้น รู้สึกตื่นอยู่มั้ย ยังอยู่บนหอคอยมั้ย พร้อมที่จะเห็นอะไรๆ ได้มั้ย เห็นความเงียบความสบายที่เกิดขึ้นภายใน ไม่ใช่เรารับความสบายความเงียบมาเป็นของเรา

มีพระสูตรอันนึง ท่านว่า เมื่อความรู้สึกนี้ไม่ฟุ้งออกไป ไม่ซ่านออกไปที่ภายนอก ไม่ตั้งสงบอยู่ภายใน และไม่สะดุ้งเพราะไม่ถือมั่น ย่อมไม่มีความเกิดแห่งชาติ ชรา มรณะ ทุกข์ และสมุทัย จะเห็นว่านี่เป็นลักษณะของ “จิตที่ตั้งมั่น” คือ ไม่ไหลไปข้างนอก และไม่ใช่เข้ามาสงบที่ภายใน

เมื่อจิตตั้งมั่นรู้ทุกสิ่งตามความเป็นจริง ก็ไม่มีใครไปเป็นเจ้าของความทุกข์นั้น ไม่มีใครเป็นเจ้าของกองทุกข์นั้น คือ กายและจิต เมื่อไม่มีใครเป็นเจ้าของก็ไม่มีชาติ ชรา มรณะ “เพราะมีแต่การเห็น ไม่เข้าไปเป็น” มันก็ไม่มีการปรุงแต่ง วงจรปฏิจจสมุปบาทก็เกิดไม่ได้ มันเป็นสภาพที่ผมบอกว่า ไม่ออกนอกและไม่ได้เข้าใน คือ “รู้อยู่ที่รู้ แต่อยู่ตรงไหนไม่รู้

จังหวะที่จิตออกนอก หรือจิตไปไหนแล้วเรารู้ทัน “ขณะที่รู้ทันนั่นแหละ คือ ขณะที่พอดี ไม่ออกนอกและไม่เข้าใน เป็นขณะเดียว” แต่ขณะเดียวนั้นเป็นลูกโซ่ต่อเนื่องกันไปเรื่อยๆ ก็คือรู้ทันไปเรื่อยๆ ไม่ได้ทำอะไรมากกว่านั้น เพราะมันพอดีที่กิริยานั้น

ถ้าเราจะทำมากกว่ารู้ทัน รู้สึก จะเกิดสิ่งที่มากกว่านั้น คือ เราจะเอา เราจะเอาสมาธิ ถ้านั่งแล้วมีสมาธิ เราก็อยากจะเห็นไตรลักษณ์ อยากจะเจริญปัญญา เหล่านี้คือ “เกินจากรู้ทั้งนั้น” เราจะนั่งเพ่งไว้จะได้มีสมาธิ จะได้ไปถึงฌาณ จะได้มีปัญญา นี่คือตัวตนหมดเลยแต่ไม่เห็น

 

ตอนที่ 3 เห็นกายและจิตนี้ ไม่ใช่เห็นสิ่งกายและจิตนี้ไปเห็น

มีหลายคนมาเล่าสภาวธรรมที่เค้าได้เห็นสภาวะที่เรียกว่าดี ที่เรียกว่าเจริญปัญญา ที่เรียกว่าเข้าใจไตรลักษณ์เกิดดับทั้งหลายนั้น  ลักษณะของคนที่เล่าทุกคนนั้นเหมือนกันก็คือ “เค้าแค่ทำหน้าที่รู้สึกไปเรื่อยๆ” ไม่ได้หวังว่าจะเห็น หรือจะได้อะไรเลย แล้ววันนึงมันก็เห็นขึ้นมา มันก็ได้ขึ้นมา

แต่อีกกลุ่มหนึ่งที่มีปัญหา ก็คิดว่าจะทำยังไง ทำไมมันเป็นอย่างนี้ ทำไมมันไม่เป็นอย่างนั้น ทำไมๆๆทั้งหลาย ถ้ามีทำไม คือ คนจะเอาอะไรบางอย่าง จะทำยังไงให้เป็นอย่างนี้ ทำไมไม่เป็นอย่างนั้น ทำดีก็เพ่ง ทำไม่ดีก็หงุดหงิด ทำไมทำไม่ได้

เราแค่ทำหน้าที่แล้วก็ค่อยๆ ทำ ได้แค่ไหนแค่นั้น แต่ทำเต็มที่ เรียกว่า ใส่ใจ ความใส่ใจสอนกันไม่ได้ บอกกันไม่ได้

ตั้งใจกับใส่ใจไม่เหมือนกัน ความใส่ใจเกิดขึ้นที่เราเอง เกิดขึ้นในใจเราเอง ค่อยๆ ทำไป มีใจที่จะสนใจ “เห็นกายและจิตนี้ ไม่ใช่เห็นสิ่งกายและจิตนี้ไปเห็น

หันเหความสนใจมาที่ตัวกายและจิตนี้ ในชีวิตของเราให้ใส่ใจมาที่ตัวนี้

เหมือนเครื่องฉายหนัง เมื่อก่อนเราใส่ใจที่จอหนัง ตอนนี้เปลี่ยนมาสนใจเครื่องฉายหนังว่ามันทำงานยังไง พอมันเปลี่ยนภาพ ตึ๊ก ตึ๊ก ตึ๊ก ตึ๊ก เปลี่ยนจากภาพนิ่งมันเปลี่ยนด้วยความเร็วเท่านี้มาเป็นภาพเคลื่อนไหวอยู่ในจอหนัง เป็นภาพลวงตาซะแล้ว เพราะในความเป็นจริงต้นตอมันคือภาพนิ่งประกอบด้วยความเร็วที่คงที่อันหนึ่ง จึงเกิดภาพเคลื่อนไหวขึ้นมาได้ มีชีวิตเกิดขึ้นมาจริง ๆ จากสิ่งไม่มีชีวิต เราจะรู้ความจริงได้ ต้องมาที่เครื่องฉายภาพ ไม่ใช่ไปอยู่ที่จอภาพ ไม่ใช่ไปดูที่จอภาพ

เพราะฉะนั้น เราไม่ได้ไปเห็นสิ่งที่ไอ้ตัวนี้เห็น เราเห็นไอ้ตัวนี้เลย คือ กายและจิตนี้มันทำงานกันยังไง เมื่อเห็นมันในขณะนั้นเลย เห็นร่างกายนี้มันนั่งอยู่ “ในขณะเดียวกันที่เห็นก็จะเกิดผู้รู้ขึ้น เกิดขึ้นทันที” แต่สังเกตว่า เราไม่ได้สร้างผู้รู้ มันเกิดขึ้นเองจากการที่เรารู้ เราเห็นไอ้ตัวนี้ แล้วมันก็หมดไปเอง จากการที่เราหลง

เพราะฉะนั้น “ผู้รู้ก็ไม่แน่ ไม่เที่ยง มันมีเหตุ มันก็เกิด หมดเหตุ มันก็ดับไป” เราจะเอาอะไร…เอาผู้รู้มั้ย เอาแล้วทุกข์ แต่จะเป็นผู้หลงมั้ย เป็นก็ต้องทุกข์ งั้นเราเหลือที่เดียว คือ กิริยาเห็นกายและจิตนี้อย่างที่มันเป็น

 

ตอนที่ 4 พร้อมจะรับทุกข์ที่จะเกิดขึ้นแล้วยัง

วันนี้เป็นอีกวันนึงที่เราสูญเสียครูบาอาจารย์ที่สำคัญอีกคนนึง คือ “ท่านเขมานันทะ” ท่านเป็นบุคคลที่ทำให้ผมเข้าใจคำสอนของหลวงพ่อเทียนมากขึ้น คำอธิบายบนภาษาที่สละสลวย ประณีต แม้ว่าอาจจะเข้าใจยาก แต่ถ้าเข้าใจ มันก็เป็นความประณีตมาก เป็นความอิ่มเอิบในการถ่ายทอดธรรมะออกมา

หลายคนเวลาเราพูดถึงครูบาอาจารย์ เราสนใจแต่เรื่องที่เราชอบคิดเอาเองว่า ท่านบรรลุธรรมหรือยัง ท่านอยู่ขั้นไหนแล้ว บ้าๆบอๆ แบบนี้ แต่สำหรับผม…ผมไม่เคยสนใจเลยว่า ครูบาอาจารย์องค์ไหนจะบรรลุธรรม หรือไม่บรรลุธรรม เป็นอริยะ หรือไม่เป็นอริยะ ไม่เคยสนใจเลย “สนใจแต่หลัก” ว่าท่านให้หลักที่เราเอาไปฝึกได้มั้ย สิ่งที่ท่านสอน เราเอาไปใช้ในชีวิตเราจริงๆ ได้มั้ย นี่คือเนื้อหาสาระที่เราได้ประโยชน์จริงๆ ไม่ใช่ว่าท่านเป็นอริยะ หรือไม่เป็นอริยะ หรือบรรลุธรรม หรือไม่บรรลุธรรรม

ถึงจะยังไม่บรรลุธรรม ท่านก็ยังคงมีคุณูปการต่อเราเหมือนเดิม ถึงจะบรรลุธรรม ท่านก็มีคุณูปการต่อเราเท่าที่เรารับได้เหมือนเดิม เพราะฉะนั้น ความเป็นอริยะ หรือไม่เป็นอริยะ หรือบรรลุธรรม หรือไม่บรรลุธรรรม ก็ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเรา สิ่งที่เกี่ยวกับเราคือ คำสอนของท่าน และถ้ามันมีประโยชน์กับเรา นั่นก็คือบุญคุณที่มีกับเรา

ถ้าเราชาวพุทธรู้จักสนใจเนื้อหาสาระจริงๆ เราจะไม่ไขว้เขวอะไรเลย เราจะไม่ตกอยู่ภายใต้ความงมงาย ความเชื่อ ความศรัทธาที่โอเว่อร์

ช่วงปีที่ผ่านมาจนมาถึงปีนี้ ชาวพุทธเราได้สูญเสียครูบาอาจารย์ไปเรื่อยๆ ความสูญเสียนั้นจะไม่มีปัญหากับเราเลย ถ้ารู้จักนำหลักปฏิบัติที่ทุกท่านฝากเอาไว้ สอนเอาไว้ รู้จักเอามาใช้ มาประพฤติ มาปฏิบัติ “ความสูญเสียนั้นก็จะไม่เสียศูนย์” ถ้าเรายังนำมาประพฤติปฏิบัติ ถือได้ว่า ไม่สูญเสียเลยด้วยซ้ำ

ครั้งแรกที่ได้ยินข่าวว่าท่านเขมานันทะได้สิ้นไปแล้วนั้น ผมรู้สึกว่าหมดทุกข์เสียที

ร่างกายเราทุกคนจะต้องป่วยไปเรื่อยๆ เสื่อมไปเรื่อยๆ เราต้องตระหนักให้ชัดว่า ชีวิตเราทุกคน ร่างกายนี้กำลังเสื่อมลงไป มันไม่มีดีกว่าเดิม มีแต่เท่าเดิมกับแย่ลงไป “เราอยู่กับมันได้มั้ยโดยที่ไม่ทุกข์” ตั้งแต่ป่วยเล็กๆน้อยๆ เราอยู่กับมันได้มั้ยโดยที่ไม่ดิ้นรน ไม่เดือดร้อน เราพร้อมที่จะรับความเจ็บป่วยที่หนักกว่านี้มั้ย ถ้ามันเกิดขึ้นเราพร้อมมั้ย

วันนี้เราพร้อมหรือยัง ถ้าเรารู้ว่าเรายังไม่พร้อม เวลาต่อจากนี้ เราจะประมาทไม่ได้ เราจะทิ้งเวลาไปในเรื่องไร้สาระไม่ได้ เพราะเราไม่รู้…ไม่รู้จริงๆ ว่า พรุ่งนี้จะเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตเรา หรือชีวิตคนที่เราผูกพันด้วย

ความกังวลอนาคตช่วยอะไรเราไม่ได้เลย แต่ความที่เรารู้จักเตรียมพร้อมไม่ประมาท เป็นสิ่งเดียวที่จะช่วยเรา

ถ้าวันนี้เราจะขี้เกียจ เราจะเบื่อ จะหมดกำลังใจ ไม่อยากปฏิบัติแล้ว อยากจะไปลั้ลลา อยากจะไปผ่อนคลาย ให้ถามตัวเองว่า “พร้อมจะรับทุกข์ที่จะเกิดขึ้นแล้วยัง” ทุกข์ที่เราหนีไม่พ้น…ความแก่ ความเจ็บ ความตาย

ความตายนั้นคนเราก็พูดกันเกร่อแต่จริงๆ คิดไม่ออกว่าเป็นอย่างไร ความตายที่ผมหมายถึงคือ เมื่อเป็นโรคอะไรแล้วรักษาไม่หาย ให้คิดแบบนั้น ไม่มีวันหายอีกแล้ว หายอย่างเดียวคือตาย

ระหว่างทางที่จะไปถึงความตาย จะประกอบไปด้วยความทรมาน ความเจ็บปวด ความไม่สบายกาย ไม่สะดวกทุกอย่าง อาจจะช่วยตัวเองไม่ได้ พร้อมจะรับทุกข์แบบนั้นมั้ย

ถ้ายังไม่พร้อม ก็อย่าละเลย หน้าที่ “ใช้ทุกกิจกรรม ให้เป็นการปฏิบัติธรรม” ไม่ใช่ตอนนี้ปฏิบัติ ตอนนั้นเป็นเวลาผ่อนคลาย หลงเละเทะเลย ความหลงนั้น หลงสุขก็ได้ หลงเพลินก็ได้ หรือหลงทุกข์ก็ได้…หลงทั้งนั้น

 

13-01-2562

Camouflage

YouTube : https://youtu.be/CSwJR58wJss

คลิปเสียงธรรมะทั้งหมดของอาจารย์ Camouflage : https://goo.gl/RDZFMI

======================

5 ช่องทางการอ่านและฟังธรรม

1) Facebook : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
http://www.facebook.com/sookguysookjai

2) Line : @camouflage.talk
https://line.me/R/ti/p/%40camouflage.talk

3) YouTube : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
https://goo.gl/in9S5v

4) Website: https://camouflagetalk.com/

5) Podcast : Camouflage – Dhamma Talk
https://itun.es/th/t6Mzdb.c
วิธีการติดตั้ง https://goo.gl/tBMY9S