81.ใส่ใจ

ตอนที่ 1 ใส่ใจ

เวลาเราได้ยินเสียงแปลก ๆ ให้รู้ทันความสงสัยนั้น ความคิดปรุงแต่งจะหลอกเราว่าเสียงอะไร ตัวอะไร หลอกเราให้ลืมเนื้อลืมตัว ลืมกายลืมใจ แต่พอเรารู้ทันความสงสัยที่เกิดขึ้น เสียงก็จะเป็นแค่เสียง จะเป็นคำว่า ได้ยินก็สักว่าได้ยิน

การปฏิบัติธรรมอย่าคิดว่าเป็นเรื่องซับซ้อน มันไม่เกินกายกับใจนี้ออกไป อย่าคิดไปไกล เราต้องทิ้งความรู้ทั้งหมด ทิ้งความหวังที่จะให้เป็นอย่างนี้อย่างนั้น

การปฏิบัติธรรมจะเกิดขึ้นได้ที่ขณะนี้เลย ขณะตรงหน้าเรานี่เลย ไม่มากกว่านี้

ขณะนี้เรารู้สึกได้มั้ย เรารู้สึกน้ำหนักที่นั่งอยู่ได้มั้ย เรารู้สึกถึงอากัปกิริยาทั้งร่างกายเรา เล็กๆน้อยๆ ได้มั้ย เรารู้สึกจิตใจเราได้มั้ย มันเป็นยังไง ความรู้สึกตอนนี้เป็นยังไง รู้สึกได้มั้ย พอเราเริ่มขณะนี้ได้ มันเป็นโมเมนตัม (แรงส่ง) ไปสู่ขณะต่อไป

เพราะฉะนั้น การปฏิบัติธรรมเริ่มใหม่ทุกวัน “เริ่มใหม่ทุกขณะ” มันเป็นเพียงแค่การทำซ้ำๆ repeat ความรู้สึกตัว ความรู้สึกใจ ถ้าเราใส่ใจอยู่กับอิริยาบถย่อยๆ ของร่างกายนี้ ให้ใส่ใจมันหน่อย…ใส่ใจนะไม่ใช่ตั้งใจ “ใส่ใจให้ความสนใจ” จิตใจนี้ก็จะลดความฟุ้งซ่านลงไปได้มหาศาลเลย

เพราะฉะนั้น วันนี้ให้ทุกคนจำคำนี้ไว้ “ใส่ใจ” ใส่ใจให้มากขึ้น กับความรู้สึกทางกาย ความรู้สึกทางใจ ใส่ใจให้มากขึ้น ละเอียดขึ้นอีกซักหน่อย

มือที่ทับกันอยู่ รู้สึกได้มั้ย ทรวงอกกระเพื่อมจากการหายใจ รู้สึกได้มั้ย คิ้วขมวด รู้สึกได้มั้ย จิตใจเป็นยังไง รู้สึกได้มั้ย การที่รู้สึกได้ ภาษาครูบาอาจารย์ เรียกว่า “มีสติตามรักษาจิต” เรียกว่า รู้สึกตรงไหนก็รู้ แต่ไม่ใช่เพ่งจ้อง ภาษาหลวงพ่อมหาดิเรก ใช้คำว่า ..หาอะไรเล่นกับกาย… ทำไมจะต้องหาอะไรเล่นกับกายนี้  ก็เพื่อให้มันคุ้นชิน ที่จะเคยชิน ที่จะไม่ออกนอก

พวกเราไปสังเกตกันให้ดี ถ้าเราไม่รู้สึกอิริยาบถย่อย ไม่ใส่ใจให้มันละเอียดขึ้นซักหน่อย เรามีเวลาเผลอเพียบเลย เราจะเกิดความดิ้นรนแทรก อยู่นิ่งไม่ได้แล้ว หยิบมือถือมาดูแล้ว ความอยากจะแทรก

ทำไมถึงแป็นแบบนั้น? เพราะจิตมีธรรมชาติดิ้นรน ออกนอก

เรามีหน้าที่เหมือนพี่เลี้ยง คอยดูมัน พี่เลี้ยงคือใคร? คือ “สติ” พอเราใส่ใจที่จะรู้สึกกาย รู้สึกใจนี้ จะเกิดสภาพที่พ้นจากการปรุงแต่งทั้งปวง นั่นแปลว่า เราอยู่ในทางเป๊ะเลย

พอเรามีสติแบบนี้ ความตั้งมั่นที่เรียกว่า “สมาธิตั้งมั่น” จะเกิดขึ้น พอสมาธิตั้งมั่นเกิดขึ้น พอมีอะไรก่อตัวขึ้นหน่อย ก็จะเห็นเลย ถ้ากำลังตั้งมั่นดี เห็นปุ๊บมันก็ดับ หมดไป หมดไป “ไม่ติดกับอะไร

ทุกคนจะต้องใส่ใจมากขึ้น เรื่องเล็กๆน้อยๆ แค่นี้ล่ะ มีผลยิ่งใหญ่ กิเลสก็หลอกให้เราละเลยความใส่ใจนี้ กิเลสจะหลอกให้เรารู้สึกว่า เราอยู่กับเนื้อกับตัวแล้ว เพราะฉะนั้น เรามีหน้าที่ใส่ใจที่จะกลับเข้ามารู้สึกกายรู้สึกใจ นี่เป็นหน้าที่ที่ทุกคนจะต้องทำตลอด ไม่ว่าจะรู้สึกว่า ชั้นโอเคแล้ว ชั้นรู้สึกอยู่กับเนื้อกับตัวแล้ว ก็ยังต้องทำหน้าที่นี้

 

ตอนที่ 2 ปฏิบัติถูกคือตอนนี้เลย

หน้าที่ของการปฏิบัติธรรม คือ “หน้าที่ของการกลับมา

ตอนนี้ลองเล่นกับร่างกายนี้ รู้สึกร่างกายนี้ การปฏิบัติธรรมเป็นเรื่องของการทำหน้าที่ อยากจะให้ทุกคนจำและเข้าใจ ความหมายของการปฏิบัติธรรมนี้ ให้เข้าใจเพียงแค่ว่าเป็นการทำหน้าที่

อย่าลืม! อย่าลืมที่จะทำหน้าที่ ไม่ว่าเราจะอยู่อนุบาล ประถม มัธยม มหาวิทยาลัย ทุกคนต้องทำหน้าที่ ทำหน้าที่ง่ายๆ ที่ผมสอน ทำเหมือนเดิม ผมไม่อยากให้คิดว่าการปฏิบัติธรรมเป็นเรื่องพิสดาร “มีแค่ทำหน้าที่ทีละขณะให้สมบูรณ์ที่สุด” แล้วความตั้งมั่นมันจะเกิดขึ้นเอง เมื่อจิตมันตั้งมั่นแล้ว จะถึงจุดชมวิว ก็จะเห็นอะไรๆ ได้เอง

พวกเรานักปฏิบัติธรรม ชอบฟังธรรม หาอะไรฟังไปเรื่อย ถ้าหลักแม่นดี ก็ไม่เป็นไร หลักไม่แม่นปุ๊บ ธรรมะทั้งหลายที่ฟังนั่นแหละ สร้างความฟุ้งซ่านให้กับเรา ขาดอันนี้มั้ยนะ ขาดอันโน้นมั้ยนะ เราปฏิบัติถูกแล้วยังนะ

ปฏิบัติถูกคือตอนนี้เลย” รู้สึกมั้ย สงสัยอยู่รู้มั้ย มีแค่นี้เอง ถ้าอยากปฏิบัติธรรมให้ถูก…ก็รู้ตอนนี้เลย ร่างกายก็มี จิตใจก็มี รู้ได้เลย นี่เป็นการปฏิบัติธรรมแล้ว มัวจะไปหาวิธีปฏิบัติธรรม มือเราทับกันอยู่ รู้สึกกันบ้างมั้ย รู้สึกได้ นี่เราได้ปฏิบัติแล้ว “มันง่ายจนเรามองข้าม” เรานึกว่าเป็นเรื่องสลับซับซ้อนซ่อนเงื่อนมาก เรานั่งอยู่ เรารู้สึกก้นเราได้มั้ย

หลวงพ่อคำเขียนชอบเทศน์ว่า มือเราอยู่ตรงนี้ เรารู้มั้ย มือเราตั้งอยู่ เรารู้มั้ย มือเราเคลื่อนอยู่ เรารู้มั้ย  เรื่องง่ายๆ เรารู้ได้มั้ย แต่เราไม่เอา เราไปหาอะไรที่วิจิตรพิสดารทำ แล้วเราค่อยเรียกว่าเป็นการปฏิบัติธรรม

แต่เรื่องง่ายๆ นี่แหละ…ทำยาก ทำไม? เพราะคนเรา “ประมาท” ละเลย เหมือนกระต่ายกับเต่า ทำไมเต่าชนะ เต่ามีหน้าที่เดินมันก็เดิน มันเดินช้าๆ ของมันนั่นแหละ แต่กระต่ายเป็นยังไง วิ่งพรวดไปนอนก่อน ทำไมนอน? เพราะประมาท ชะล่าใจ ไม่ทำหน้าที่ เพราะฉะนั้น นักปฏิบัติคนไหนก็ตาม ที่ยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ ยังคงต้องสังวรณ์เอาไว้ว่า เรายังมีหน้าที่ ที่จะต้องเดินอยู่

นักปฏิบัติคนไหนรู้สึกว่า ปฏิบัติไปหน่อย โอ้ววว ดีแล้ว เราปฏิบัติได้ดีแล้ว เดี๋ยวนี้ดี สบายขึ้นเยอะ อันนี้เรียกว่าเตรียมตัวประมาทแล้ว ลึกไปกว่านั้น คือ คนนี้เป็นคนที่มีอัตตาเยอะ

เพราะฉะนั้น ถ้าเราปฏิบัติถูก “เราจะไม่รู้สึกว่าเราปฏิบัติดี” เราจะแค่เห็นว่า จิตมันเป็นอย่างนี้ จิตที่มีสมาธิเป็นแบบนี้ จิตที่ฟุ้งซ่านเป็นแบบนี้ จิตที่อยู่กับเนื้อกับตัวดีเป็นแบบนี้ “ไม่ใช่เรา” ไม่ใช่เราปฏิบัติดี ที่คิดว่าวันนี้ดีแต่พรุ่งนี้ไม่แน่

การที่เราจะรู้สึกว่าปฏิบัติดี เป็นอะไรที่คิดไม่ได้ เพราะเราเห็นเป็นกายกับจิต เห็นเป็นธาตุ 4 ขันธ์ 5  “ไม่ได้เป็นเราปฏิบัติ” เพียงแต่เราสร้างสิ่งแวดล้อมให้เห็นสภาวะต่างๆ ได้ สภาพแบบนี้ส่งผลยังไง สภาพแบบนั้นส่งผลยังไง มันไม่ใช่เราทั้งนั้น

นักปฏิบัติที่จะเจริญได้ จะมีความรู้สึกว่า ไว้ใจอะไรไม่ได้ทั้งนั้น ต่อให้ตอนนี้รู้สึกว่าดีแล้ว จิตใจตั้งมั่น มีสมาธิอยู่กับเนื้อกับตัว ไม่ต้องพรุ่งนี้หรอก เย็นนี้ไม่แน่ ทำไม? เดี๋ยวเราก็เผลอเรอ พูดไปเถอะว่าทำหน้าที่ อย่าลืมทำหน้าที่ แต่เดี๋ยวก็หลงไปแล้ว…ไหลแล้ว หลงไปคิดเรื่องราว กังวลนี่ กังวลนั่น

 

ตอนที่ 3 ชีวิตที่แท้จริงมีแค่รู้สึก

ความกังวลทั้งหลายหลอกเรา เป็นกิเลสอันนึงที่หลอกเรามากที่สุดในชีวิตของคนคนนึงเลย เราทุกคนต้องรู้ไว้ว่า เรากำลังถูกหลอก “เรามีหน้าที่รู้ให้ทัน” การไปคิดหาคำตอบของปัญหาที่ไม่มีสาระอะไรก็ตามนั้น ไม่มีประโยชน์อะไรเลย โทษอันใหญ่ที่สุดของการไปหาคำตอบในเรื่องที่ไม่จำเป็นต้องคิด คือ มันเสริมสร้างความเป็นตัวเป็นตนให้ยิ่งแข็งแกร่งขึ้นไปอีก

เพราะฉะนั้น อย่าตกเป็นเหยื่อ สอนตัวเองว่า “ชีวิตที่แท้จริงมีแค่รู้สึก” บอกตัวเอง สอนตัวเอง ให้จิตใจมันคลายลง กำลังโง่แล้ว กำลังบ้าแล้ว สอนตัวเอง เตือนตัวเอง คิดเป็นคนจริงๆ แล้ว คิดมีเรามีเค้าจริงๆ แล้ว เวลาเกิดภาวะแบบนี้ สอนตัวเองแล้วทำหน้าที่ หน้าที่ของชีวิตคือ “แค่รู้สึก ใส่ใจ

ใส่ใจกับร่างกาย กำลังยืนอยู่ ความกังวลมา น้ำหนักที่เท้าเรารู้สึกมั้ย กลับมาใส่ใจอิริยาบถที่กำลังเป็นอยู่ ไม่ใช่ไปคิดหาคำตอบ แล้วพอเราลองดู ใส่ใจอิริยาบถ แป๊บเดียว ไม่เกินหนึ่งนาที ความกังวลเมื่อกี๊หายไปแล้ว

ถ้าความกังวลมันหนัก ใส่ใจอิริยาบถจนกว่ามันจะหายไป  เราได้ทำหน้าที่ จนสุดท้าย เราได้เจริญปัญญา คือ “เห็นไตรลักษณ์” ว่ามันหายไปเอง มันดับไป

วิเวกสันโดษทีละขณะก็ได้” สังเกตให้ดี พอเราใส่ใจอิริยาบถในขณะนั้นๆ เรียกว่า วิเวกสันโดษแล้ว พอวิเวกสันโดษเกิดขึ้น การเรียนรู้ตามเป็นจริงก็เกิดขึ้นได้ เพราะฉะนั้น ยิ่งเรามีผัสสะเยอะ และเราไวมากขึ้นเท่าไหร่ เราจะกลับมารู้สึกอิริยาบถ นั่นเรายิ่งได้ปฏิบัติธรรม แต่ถ้าคนที่วิเวกสันโดษ แล้วก็ปล่อยจิตใจล่องลอยคิดฟุ้งซ่านไปเรื่อย นี่เรียกว่า ไม่ได้ปฏิบัติธรรม

เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า นักปฏิบัติธรรมจะต้องเข้าใจให้ถูก เข้าใจให้ได้ เหล่านี้คือ “ศิลปะในการปฏิบัติธรรม” วิเวกสันโดษได้ทุกขณะที่เรารู้สึก ไม่เกินกายกับใจนี้ออกไป แต่ชีวิตไม่มีอะไรสมบูรณ์ Perfect มันจะมีกิเลส มีความโง่ มีอวิชชาของจิตนี้ ไม่ใช่ทุกครั้งจะเอาชนะมันได้ ไม่ใช่ทุกครั้งเราไม่ติดกับมันได้

เราเหมือนนักมวย บางครั้งเราก็น็อคคู่ต่อสู้ได้ บางครั้งเราก็ถูกน็อค ส่วนใหญ่จะถูกน็อค แต่เพราะถูกน็อคนั่นแหละ จะเกิดความแข็งแกร่ง จะก่อประสบการณ์ที่หล่อหลอมจนเป็นศิลปะเฉพาะตัวของเราได้

เพราะฉะนั้น เวลาเราพ่ายแพ้ต่อกิเลส ไม่ต้องท้อใจ ไม่ใช่คุณคนเดียว ครูบาอาจารย์ทุกคนโดนน็อคเหมือนกัน โดนน็อคแล้วถึงจะมาสอนได้ ถ้าฉลุยผ่านหมดก็ไม่รู้จะสอนอะไร

ธรรมะเป็นสิ่งที่เราฟังเอาไว้ แต่การเรียนรู้เป็นเรื่องที่เราต้องทำเอง ต้องรู้สึกเอง เราเข้าใจธรรมะจากการฟังไม่ได้ มันเข้าไปในใจเราไม่ได้ แต่ทำหน้าที่เถอะ ทำหน้าที่อยู่แค่นี้แหละ มันจะกระจ่างใจเอง

 

ตอนที่ 4 จัดการให้ตัวเราไม่ทุกข์

มีคนมีปัญหาการปฏิบัติมากมาย ปัญหาส่วนใหญ่คือ จิตยังไม่มีความตั้งมั่น เพราะฉะนั้น ไม่ใช่แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นที่ปลายเหตุ ไม่ใช่ไปนั่งหาอุบายแก้ปัญหาตลอดเวลา มีหน้าที่เดียวคือ “สร้างเหตุ” จนจิตตั้งมั่นขึ้นมา เมื่อจิตตั้งมั่นขึ้นมา ทุกปัญหาจะถูกแก้ไขด้วยตัวมันเอง นี่คือ สิ่งที่ผมพยายามบอกว่า เราอย่าไปคิดว่าการปฏิบัติมันสลับซับซ้อนอะไร

การฝึกให้จิตตั้งมั่นขึ้นมา ก็ไม่มีอะไรมากให้ “ใส่ใจ” ใส่ใจกับร่างกายนี้ จิตใจเป็นยังไงก็รู้สึกได้ แต่ไม่มีใครสามารถใส่ใจได้ร้อยเปอร์เซนต์ ไม่ต้องคาดหวังให้มันเป็นร้อยเปอร์เซนต์  แต่มีหน้าที่ “ได้แค่ไหนแค่นั้น” มันจะพัฒนาไปเอง มันจะละเอียดขึ้นเอง จนเข้าสู่สภาพที่ไม่ลืม พอมันไม่ลืม ก็คือสภาพที่จิตใจมันอยู่กับเนื้อกับตัว

คนไหนที่เคยมีสภาวะของจิตที่ตั้งมั่นแล้ว อยู่กับเนื้อกับตัวแล้ว เราจะรู้สึกได้เลยว่า มันไม่ใช่ความสุข เป็นสภาพของความไม่มีทุกข์เฉยๆ นั่นเรียกว่า “สภาพปกติ” จิตใจจะหนักแน่น ได้ยินได้ฟังอะไร ใครด่าอะไรมา ก็ไม่ติด ไม่หวั่นไหว

ในประวัติศาสตร์ ครูบาอาจารย์ก็โดนด่าเยอะ วันนี้ชอบก็ชม พรุ่งนี้ไม่ชอบก็ด่า แต่สิ่งที่สำคัญคือ กลับมามีหน้าที่ของนักปฏิบัติธรรม ไม่ใช่ไปสนใจคำชมหรือคำด่า สนใจว่า เมื่อผัสสะมากระทบแล้ว ใจเป็นยังไง หวั่นไหวมั้ย ทุกข์อยู่มั้ย เราไม่สามารถทำให้คนทั้งโลกรักเราได้ พอใจกับทุกสิ่งที่เราทำได้ แต่เรามีหน้าที่อยู่กับโลกธรรม 8 โดยที่ไม่ทุกข์ เมื่อเราไม่ทุกข์แล้ว ใครจะด่า ใครจะว่า จะสรรเสริญ นินทา มียศเสื่อมยศ มีลาภเสื่อมลาภ อะไรก็ว่าไป โลกธรรม 8 นั้นก็ไม่มีผลอะไรกับเรา

เพราะฉะนั้น เราเป็นนักปฏิบัติธรรม เราต้องแก้ให้ถูกจุด จัดการให้ถูกจุด ไม่ใช่จัดการให้คนรักเรา “จัดการให้ตัวเราไม่ทุกข์” นี่คือหน้าที่เรา

 

ตอนที่ 5 ตัดตอนสังสารวัฏ

เวลาเราเดินทางจากกรุงเทพมาเหนื่อยๆ แล้วนั่งสมาธิ จิตจะไปพัก ก็จะหลับ มีสองทางคือ หลับก็ได้ หรือลืมตาให้มันตื่น แต่ถ้านั่งแล้วหลับทุกครั้ง ต้องสังเกตให้ดีแล้ว ส่วนใหญ่เป็น “นิวรณ์” ต้องผ่านมันไปให้ได้ แพ้ตลอดนี่เสร็จเลย

ใครที่นั่งแล้วหลับเป็นประจำ ต้องไม่นั่งหลับตา ถ้าจะนั่งก็ต้องลืมตา ลืมตาแล้วก็รู้สึกได้ อิริยาบถทางกายก็รู้สึกได้ ความรู้สึกทางใจก็รู้สึกได้ แล้วอย่าลืมที่ผมสอนว่า เมื่อมีผัสสะที่มากระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ให้กลับมาดูใจ

ผัสสะทางใจคือ ความรู้สึกต่างๆ และสัญญา เช่น สัญญามา รู้ว่าสัญญาเกิดขึ้นปุ๊บ ปกติวูบไปคิดต่อเลย…สังขารมาปรุงต่อ มันชอบมาคู่กัน สัญญาแล้วสังขารเลย แต่มันอยู่ที่เรารู้เร็วแค่ไหน ถ้าเรารู้เร็วมันก็เป็นสัญญาเฉยๆ พอรู้ว่ามีสัญญาปุ๊บกลับมาดูใจเราเลย ปกติก็รู้ปกติ ผิดปกติก็รู้ผิดปกติ อย่าประมาทที่จะไม่กลับมา

ตรงนี้ที่ผมบอกว่าใส่ใจหน่อย “ใส่ใจหน่อยที่จะมีกิริยาที่จะกลับมาดูใจเรา”  หลังจากมีผัสสะมากระทบ ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นลิ้มรส เกิดธัมมารมณ์ทางใจ ให้ “กลับมา

บางคนบอกว่า ชั้นปกติแล้ว ส่วนใหญ่ก็รู้สึกปกติอยู่แล้ว ไม่ต้องกลับมา อันนี้ประมาท

เรากำลังสร้างความเคยชินใหม่ มันชอบออกนอก “เราสร้างความชินใหม่ คือกลับมา” การกลับมานี้ ส่งผลอะไรมากอย่างนึงคือ “มันเกิดอาการหยุด มันเกิดอาการขาดตอน” ตรงนี้แหละ เค้าเรียกว่า “ตัดตอนสังสารวัฏ

เพราะฉะนั้น หน้าที่ง่ายๆ นี้ ทำให้มันได้ มันส่งผลอันยิ่งใหญ่ มหาศาล อย่าละเลยกับการทำหน้าที่ง่ายๆ อันนี้ ใส่ใจ ที่จะไม่ลืมหน้าที่ ใส่ใจร่างกายนี้ให้มันละเอียดขึ้นอีกซักหน่อย เพราะถ้าเราไม่ใส่ใจร่างกายและจิตใจนี้ เราจะไปคิดฟุ้งซ่าน ออกนอก หาเรื่องทำอะไรไปเรื่อย ส่วนใหญ่ทำแต่บาป เรื่องดีๆ มีน้อย เรื่องไม่ดีมีเยอะ

 

ตอนที่ 6 ไม่ทำบาป อย่าคบคนพาล

พระพุทธเจ้าสอนเรา ข้อแรกคือ “การไม่ทำบาปทั้งปวง แล้วค่อยทำกุศลให้ถึงพร้อม แล้วก็ค่อยทำจิตใจให้ผ่องแพ้ว

พวกเราชาวพุทธสังเกตให้ดี สิ่งที่พระพุทธเจ้าให้ความสำคัญสูงสุดคือ การไม่ทำบาปทั้งปวง ซึ่งข้อแรกเลย

ทำไมเป็นแบบนั้น ปฏิบัติไปเถอะ แล้วมันจะรู้เอง “เพราะถ้าเรายังทำบาปอยู่ มันทำบุญไม่ขึ้น” บาปเป็นตัวปิดกั้น บาปมีพลังที่บังตาเรา ให้ไปทางมิจฉาทิฐิได้ง่าย ตรงนี้ให้ฟังไว้ก่อนละกัน

เห็นความสำคัญของการไม่ทำบาปให้มาก การไม่ทำบาปง่ายๆ คือ ศีล 5  และข้อธรรมอีกอันนึงที่พระพุทธเจ้าเน้น คือ เรื่องมงคล 38 ประการ ข้อแรกคือ ไม่คบคนพาล ข้อสอง คบบัณฑิต

เพราะฉะนั้น เราต้องเข้าใจให้หนักแน่นว่า พระพุทธเจ้าเน้นย้ำมากถึงความไม่ดีทั้งหลายในตัวเองที่จะเกิดขึ้น อย่าทำ! คนไม่ดีทั้งหลายอย่าเข้าใกล้ คนบาป หรือ คนพาลเป็นคนแบบไหน? ก็คือ คนไม่มีศีล ตรงนี้มันลึกซึ้ง เราฟังเผินๆ ไม่มีอะไร แต่ในทางกรรมนั้นลึกซึ้ง

กรรมของคนพาลของคนไม่มีศีล ถ้าเราไปพัวพันด้วย กรรมนั้นก็ผูกพันมาถึงเราได้ ความเดือดร้อนก็มาถึงเราได้ เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าสอนไว้ข้อแรก อย่าคบคนพาล พออย่าคบคนพาล ก็แนะนำว่า คบบัณฑิต

คำสอนแต่ละอันของพระพุทธเจ้าลึกซึ้ง ฝึกแบบที่ผมบอก ฝึกแบบที่ผมสอน “ใส่ใจ อย่าลืม” ใช้เวลาไม่นานหรอก อาทิตย์นึง สองอาทิตย์ สามอาทิตย์ หนึ่งเดือน จิตใจมันตั้งมั่นขึ้นมา พอกิเลสเกิดปุ๊บ เห็นปุ๊บดับปั๊บ เราจะเห็นได้เหมือนกัน แต่แค่ทำหน้าที่…ไม่ต้องคาดหวัง

เป้าหมายในชีวิตของนักปฏิบัติธรรมอย่างพวกเรามีอย่างเดียว…ถ้าอยากจะมีเป้าหมาย คือ “ได้ทำหน้าที่ในแต่ละวันแล้ว” ผลจะเป็นยังไง…เรื่องของมัน ถ้าได้ทำหน้าที่แล้ว สมบูรณ์แล้ว

 

ตอนที่ 7 กล้าที่จะเพียวๆ

ความสงสัยใดๆ เกี่ยวกับสิ่งที่เรายังไม่เข้าใจในธรรมะ หรือคำพูดใดๆ ที่ฟังจากครูบาอาจารย์แล้วยังไม่เข้าใจ ยังไม่ชัดเจน ยังไม่แจ้มแจ้ง ปล่อยผ่านไปก่อน มันเกินหน้าที่ เกินความสามารถ

ที่สำคัญคือ “มันเกินหน้าที่ที่เราจะต้องทำ” ทำหน้าที่ไปเรื่อยๆ ความเข้าใจในธรรมะ ความเข้าใจในสรรพสิ่งต่างๆ มันจะเกิดขึ้นในใจเราเอง เราเพียงแค่รอวันนั้น ไม่ต้องรีบเข้าใจตอนนี้ ความอยากจะรีบเข้าใจตอนนี้ มันกำลังหลอกเราอีกแล้ว นี่คือความฉลาดของกิเลสของอวิชชา มันหลอกเราได้สารพัด ให้เราติดอยู่

เพราะฉะนั้น เรามีหน้าที่ รู้ให้ทันความอยากจะได้คำตอบนั้น รู้ให้ทันความสงสัยที่เกิดขึ้น เราต้องสอนตัวเอง “เกินหน้าที่แล้ว

บางคนฟังว่าเห็นสภาวะเกิดดับ พอมันไม่ดับก็กลุ้มใจอีกว่าทำไมมันไม่ดับ ผมจึงบอกว่า “การปฏิบัติธรรมต้องทิ้งความรู้ทุกอย่างไปซะ” มันไม่ดับก็เห็นว่ามันไม่ดับ ก็แค่นั้น มันยังอยู่ก็เห็นว่ามันยังอยู่ ก็แค่นั้น ดูไปซิว่ามันจะดับหรือไม่ดับ

ให้ทำหน้าที่รู้สึกกายรู้สึกใจนี้เพียวๆ เลย “เพียวๆ ปราศจากข้อมูล” ว่าจะต้องเห็นมันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้

ทำหน้าที่อย่างไร้ความหวังเพียวๆ ดูซิมันเป็นยังไง ทำไปเรื่อยๆ ดูซิมันเป็นยังไง จะโง่ลงมั้ย หรือจะฉลาดขึ้น พิสูจน์กันเลย “กล้าๆ ที่จะเพียวๆ ไม่หวังอะไรมากกว่านี้

 

“เดินจงกรม”

เริ่มต้นให้สบายๆ ยืนสบายๆ สังเกตจิตใจเป็นยังไง ปกติก็รู้ปกติ

เริ่มเดิน เดินก็รู้เนื้อรู้ตัวไป บางคนก็ใช้ความรู้สึกเท้ากระทบพื้น บางคนไม่ถนัดก็รู้เนื้อรู้ตัวไป

สุดทางจงกรม หันมาดูใจเลย รู้เนื้อรู้ตัว ทำหน้าที่ กลับมารู้สึกตัว กลับมารู้สึกใจตัวเอง

หมุนตัวกลับ อย่าเพิ่งเดิน ทำเหมือนเดิม

เดินไปอีกรอบนึง ระหว่างเดินมีความคิดวูบขึ้น รู้ทัน รู้ทันแล้วกลับมาดูใจตัวเอง เช็คอารมณ์เหมือนในคลิปแรกที่ผมสอน แล้วพอไปสุดทางก็เหมือนเดิม

เดินจงกรมก็ทำหน้าที่ ต่อให้รู้สึกปกติแล้ว รู้เนื้อรู้ตัวแล้ว “ก็ให้ทำหน้าที่กลับมา” ไม่ชะล่าใจที่จะไม่ทำหน้าที่ ที่พูดวันนี้ก็พูดเหมือนเดิมนั่นแหละ คลิปที่ 1-8 หัวใจหลักมีแค่นี้

ทำหน้าที่ให้ได้ แล้วทุกอย่างจะเป็นไปเอง เจริญเอง ไม่ใช่เราเจริญ ไม่ใช่เราเก่ง ไม่ใช่เราปฏิบัติได้ดี เราเป็นเพียงแค่ “ผู้สังเกตการณ์” ความเป็นไปของกายและจิตนี้

เราได้เรียนรู้ว่ามันไม่ใช่เรา เราแค่ได้เรียนรู้มันเฉยๆ ที่เรียกว่ารู้ตามเป็นจริง เพราะฉะนั้น เรียนรู้ไป ไม่มีคน ไม่มีใคร มีแต่ทุกข์ที่เกิดขึ้น ทุกข์ที่ตั้งอยู่ และมีแต่ทุกข์ที่ดับไป ไม่มีเรา

 

25-08-2561

Camouflage

YouTube : https://youtu.be/Z6xAoMfkBCg

คลิปเสียงธรรมะทั้งหมดของอาจารย์ Camouflage : https://goo.gl/RDZFMI

======================

5 ช่องทางการอ่านและฟังธรรม

1) Facebook : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
http://www.facebook.com/sookguysookjai

2) Line : @camouflage.talk
https://line.me/R/ti/p/%40camouflage.talk

3) YouTube : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
https://goo.gl/in9S5v

4) Website: https://camouflagetalk.com/

5) Podcast : Camouflage – Dhamma Talk
https://itun.es/th/t6Mzdb.c
วิธีการติดตั้ง https://goo.gl/tBMY9S