80.เสร็จทุกวัน

ตอนที่ 1 สิ่งแปลกปลอมไม่ใช่เรา

เบื้องต้นเวลาเรานั่งสมาธิ ก็แค่รู้สึกถึงความมีอยู่ของร่างกายนี้ แต่ไม่นานหรอกเดี๋ยวมันก็ไปคิดแล้ว พอจิตใจไปคิดแล้ว ให้รู้ทัน พอรู้ทันความคิดปุ๊บกลับมาดูใจ ถ้าเราไม่กลับมาดูใจ มันจะเกิดอาการปล่อยตัวปล่อยใจ

ใจนี้เป็นใหญ่เป็นประธาน ใจวิ่งไปคิดรู้ทัน รู้ทันปุ๊บกลับมาดูซิใจเป็นยังไง บางทีแวบของความคิดนั้นจิตตก ก็ให้เห็นสภาพของจิตมันตก ความเศร้าหมองเป็นสิ่งแปลกปลอมแทรกเข้ามาในจิต “จิตเดิมๆไม่มีความเศร้าหมอง สิ่งแปลกปลอมนี่ไม่ใช่เรา ให้เห็นแบบนี้ ไม่ใช่ไปนึกคิดตามความคิดเมื่อกี้นี้

ให้ความสนใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นปัจจุบันเป็นหน้าที่ของนักปฏิบัติธรรม” ให้ความสนใจอารมณ์ความเศร้าหมองเมื่อเกิดขึ้นดูมันเป็นยังไง อ้อ…มันแปลกปลอมเข้ามาเมื่อกี้ไม่ได้เป็นแบบนี้ พอเห็นมัน มันก็จางคลายดับไป” ตรงนี้ก็ เจริญวิปัสสนา แล้ว

หลังจากนั้นก็มาอยู่กับเนื้อกับตัว” อยู่กับอิริยาบถใหญ่อิริยาบถย่อย รู้สึกไป เรานั่งก็รู้สึกได้มีน้ำหนักมีแรงกด ขามันทับกันอยู่ก็รู้สึกได้ทับกันอยู่ มีความรู้สึกตรงนั้นโดนกดตรงนี้ไม่โดนกด รู้สึกได้

เดี๋ยวแวบๆ สัญญามาแล้ว…สัญญาเกิดขึ้นก็รู้ทัน รู้ทันปุ๊บกลับมาดูใจว่าเป็นยังไง บางทีสัญญาก็สร้างความสุขให้กับเรา จิตใจมีความสุขก็เห็นว่ามีความสุขแล้ว ความสุขเป็นสิ่งแปลกปลอมเข้ามาอีกแล้ว ผิดปกติอีกแล้ว สัญญาบางทีก็สร้างทุกข์ให้กับเรา ก็ให้กลับมาดูใจ สัญญาเกิดขึ้นปุ๊บความทุกข์ก็แทรกขึ้นมาในจิตใจเรา เป็นสิ่งแปลกปลอมอีกแล้วก็ทำอยู่แค่นี้แหละ

จิตจะค่อยๆ “ตั้งมั่น” ขึ้น ทำไมตั้งมั่น? เพราะมันไม่หลงไปออกนอก ไม่หลงติดอารมณ์ ไม่หลงติดความคิด

 

ตอนที่ 2 เสร็จทุกวัน

แรกๆ เห็นสิ่งแปลกปลอมไม่ใช่เรายากหน่อย ฟังๆ ดูเหมือนง่ายแต่ยาก แต่ถ้าเป็นแล้วง่าย ตรงนี้เป็นศิลปะ ท้อถอยไม่ได้ ท้อแท้ไม่ได้

เหมือนเราจะสนด้ายเข้ารูเข็มเราก็หมั่นแทงๆ แทงทีแรกก็ไม่เข้าทุกคน มั่นแทงจนมันรู้ว่าต้องแทงแบบนี้ต้องทำแบบนี้ เค้าเรียกว่า “ทำจนเป็นวสี” คือชำนาญ กว่ามันจะชำนาญได้มันต้องไม่ชำนาญก่อน มันต้องไม่เป็นก่อนทุกคนนั่นแหละ ไม่ใช่ใครบอกปุ๊บทำเป็นปั๊บเลย มันอาจจะมีแต่ไม่ใช่เรา…ไม่ใช่ผมด้วย

ต้องรู้ว่าทุกความชำนาญในการเห็นในการรู้ได้ใช้เวลามาก แต่พอชำนาญแล้วสบายแล้ว “แค่อย่าประมาท” อย่าประมาทเหมือนกระต่ายนึกว่าชำนาญแล้วเก่งแล้ว เลยนอนเล่นฟุ้งซ่านทำอะไรไร้สาระ ไปเที่ยวไปเล่นส่งออกนอก ทำร้ายตัวเองไม่รู้เรื่อง

เพราะฉะนั้น เราเหล่านักปฏิบัติธรรมทุกคน ต้องเข้าใจว่า กว่าจะชำนาญมันต้องเริ่มจากไม่ชำนาญก่อน แล้วก็ “ไม่ต้องดูคนอื่น” คนอื่นเขาแทงด้ายเข้าเข็มได้แล้ว แต่เรายังไม่ได้ ก็โอ๊ย…แย่จัง นี่คือ “คิดเป็นคน”  คิดอนาคต ไม่ได้เข้าใจว่า “เราแค่มีหน้าที่แทงทุกวัน” แทงเข้าไม่เข้าอีกเรื่องหนึ่ง แต่ได้ทำหน้าที่แล้วเรียกว่า “เสร็จทุกวัน” ทำหน้าที่เสร็จทุกวันผลจะเป็นยังไงไม่ต้องสนใจ

เหมือนท่านพุทธทาสสร้างโรงมหรสพทางวิญญาณ คนภายนอกมองว่าไม่เสร็จซักที ไปถามท่านเมื่อไหร่จะเสร็จ? ท่านบอกเสร็จทุกวัน

นักปฏิบัติธรรมเราต้องเป็นแบบนี้…เสร็จทุกวัน คืออะไร? คือ “ได้หน้าที่แล้ว…พอแล้ว” ถ้าวันไหนไม่ได้ทำหน้าที่สิค่อยร้อนรน แต่ถ้าทำแล้วมันไม่ได้ผลอย่างที่ตัวเองคาดหวัง หรือที่ฟังมา หรือที่หนังสือบอกมาหรือที่ครูบาอาจารย์บอกมา อันนี้ไม่ใช่หน้าที่เรา

หน้าที่เรานั้นไม่ใช่มีหน้าที่หวังผล แต่หน้าที่เรา คือ “มีหน้าที่สร้างเหตุ” แทงเข้าไป แทงเข้าไป แทงเข้าไปทุกวัน

 

ตอนที่ 3 พอใจได้ทำหน้าที่แล้ว

ครูบาอาจารย์ทุกรูปทุกองค์ต้องปฏิบัติเหมือนกัน…ทรมานก่อนเหมือนกัน ท้อแท้เหมือนกัน ทุกข์เหมือนกัน คนมีบารมีมากสุดอย่างพระพุทธเจ้ายังต้องทุกข์อยู่ 6 ปีไปทำทุกรกริยา ทำผิดอยู่ 6 ปีไม่มีคนสอนแต่ก็ยังทำ แล้วเรามีคนสอนแล้วแต่แค่ยังทำไม่ดีเท่าไหร่ เราก็จะท้อแท้อะไรขนาดนั้น อย่างพระพุทธเจ้าทำทุกรกริยาอยู่ 6 ปีเพราะเคยไปปรามาสพระพุทธเจ้าองค์ก่อนหรือปรามาสพระอริยะองค์ก่อนผมจำไม่ได้ แต่ก็เป็นกรรมต้องติดไปทำทุกรกิริยาอยู่ 6 ปี

เพราะฉะนั้น เราทุกคนมีกรรม เราหนีกรรมไม่ได้ ไปด่าใครไว้ ปรามาสใครไว้ ไปพูดไม่ดีกับคนธรรมดายังมีกรรมเลย เอาอะไรกลับพูดกับพระพุทธเจ้าพูดกับพระอริยะไม่ดี นี่ไม่ใช่เรื่องหลอกเด็ก เป็นเรื่องกรรมธรรมดา

เพราะฉะนั้น ถ้าเรายังมีกรรมก็ต้องรับกรรม แต่ถ้าเราไม่เข้าใจเรื่องธรรมชาติของเหตุปัจจัยแบบนี้ เราก็มัวแต่ทำไมยังไม่ได้ ก็สร้างกรรมใหม่อีกคืออะไร? คือกรรมแห่งความกังวล อกุศลกรรมเกิดขึ้นในใจ เราก็โดนหลอกอีกโดนความเป็นคนนี่มันหลอก หลอกว่าทำไมเรายังไม่ทำไม่ได้นี่ “มันมีเรา” เห็นมั้ย อย่าให้อวิชาไปหลอกสร้างเราขึ้นมา ทำหน้าที่ไปเถอะ

ทำหน้าที่นี้แหละกรรมเก่ามันจะค่อยๆ ล้างไปๆ ไม่สร้างกรรมใหม่ แล้วพอวันนึงมันพลิกขึ้นมาไม่มีใครบอกได้ คำว่าพลิกนี้ไม่ใช่พลิกเป็นพระอริยะบรรลุธรรมอะไรแบบนั้นนะ พลิกจากความไม่เข้าใจเป็นความเข้าใจขึ้นมาในแต่ละเรื่องแต่ละราว…นี่มันก็มหัศจรรย์มากแล้ว แต่ไม่มีใครบอกได้ว่าจะพลิกตอนไหน

เหมือนเจ้าชายสิทธัตถะนั่งใต้ต้นศรีมหาโพธิ์คืนเดียวก็พลิกจากปุถุชนเป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมา เราไม่รู้หรอกว่าวันไหน เวลาไหนความเข้าใจต่างๆ ในธรรมะก็พลิกได้เสมอ พลิกปึ๊บก็เข้าใจ…รอหน่อย

อดทนให้มันมากคาดหวังให้มันน้อยดีที่สุด” คือ ไม่ต้องมีความคาดหวังเลย ชีวิตเป็นแค่ขณะขณะขณะหมดไปหมดไปหมดไป อย่าต่อเติมชีวิตให้มากกว่าขณะนี้ อย่าเอาอนาคตมาต่อให้ขณะนี้ อย่าเอาอดีตมาต่อให้ขณะนี้ ถ้าต่อกันตลอดมันก็ไม่มีปัจจุบันมันจะเป็นอดีตเป็นอนาคตที่ผมเคยบอกว่าเป็นท่อเดียวกัน ท่อแห่งกาลเวลา แล้วก็สร้างความทุกข์ให้

เพราะฉะนั้น ค่อยๆ ทำไปทำหน้าที่แทงด้ายเข้ารูเข็มมีหน้าที่แทงแทงเข้าไปค่อยๆ แทงไป หารูหาช่องหามุมแล้วก็แทงไป วันหนึ่งมันวึ๊บแทงได้ซะงั้น เข้าไปได้แล้วลองแทงใหม่…ไม่ได้เหมือนเดิม นี่เรียกว่ามันยังไม่เป็นวสี มันยังไม่ชำนาญ ก็ต้องฝึกอีก

เราเคยเห็นคนแทงใช่มั้ยจนเขาชำนาญ แปบเดียวแทงเขา แทงเข้า แทงกี่ทีก็เข้า แต่เขาต้องชำนาญมากฝึกมามาก เพราะฉะนั้น เวลาเราโดนความอยากความหวังครอบงำจิตใจให้สอนตัวเอง มีหน้าที่แทงด้ายเข้าเข็มเฉยๆ มีแค่หน้าที่แทง ได้ทำหน้าที่นั้นหรือยัง ถ้าทำแล้วโอเคแล้วก็พอแล้ว “พอใจแล้วได้ทำหน้าที่แล้ว

 

ตอนที่ 4 ฝึกความเคยชินใหม่

ระหว่างทำหน้าที่แทงด้ายเข้ารูเข็มนั้นก็ต้องมีสติมีปัญญาที่จะดูที่จะเห็นว่าต้องแทงมุมไหนยังไง เราจะได้เห็นได้เรียนรู้ระหว่างที่ทำหน้าที่แทงนี่แหละ ไม่ใช่แทงแบบซื่อบื้อๆ ไปเรื่อย ไม่ใช่แบบนั้น เราจะได้เรียนรู้การแทงว่าต้องยังไงดี…เอ๊ะยังไงดี มันเป็น การสั่งสมประสบการณ์” ในการแทง ไม่ใช่บอกว่ามีหน้าที่แทง…ก็แทงซื่อบื้อเหมือนกำปั้นทุบดินอย่างนั้น มีหน้าที่ฝึกไป

การฝึกนี้ไม่ได้อยู่ในรูปแบบอย่างเดียว นอกรูปแบบก็ได้ อย่างเช่น ตื่นมาปุ๊บดูใจก่อนว่าจิตใจเป็นยังไง ฝึกให้มันเป็นนิสัย ไม่ใช่ตื่นมาปุ๊บคิดเลยไปไหนดีวันนี้ ทำอะไรดีวันนี้ กินอะไรดีวันนี้ นิสัยเดิมเป็นแบบนั้น

เราต้องฝึกนิสัยใหม่ “ฝึกความเคยชินใหม่” อย่างนี้เรียกว่า การปฏิบัติธรรม คือ “ทวนความเคยชินเก่าๆ” แล้วก็ไม่ต้องเดือดร้อนว่า โอ้ยยังทวนไม่ดีพอ ยังหลงไปติดอารมณ์  ติดความคิด ลองนับอายุเราชาตินี้ก็พอกี่ปีแล้วเทียบกับที่เพิ่งเริ่มฝึกได้กี่วันกี่เดือนกี่ปี จะน้อยใจท้อใจทำไม หลงมาตั้งเท่าไหร่…แค่เริ่มทวนได้ก็ถือว่าน่าดีใจแล้ว ที่เหลือมันก็แค่การทำให้มันยิ่งๆ ขึ้นไป

รวมความคือ “ไม่ประมาทในทุกผัสสะที่เข้ามากระทบในทุกอิริยาบถที่เคลื่อนไหว” ไม่ว่าเป็นอิริยาบถใหญ่อิริยาบถย่อย เรียกว่าไม่ลืม ไม่ลืมที่จะรู้สึกอยู่ในกายในใจนี้

อย่าลืม…ใจเป็นใหญ่ใจเป็นประธาน เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกลับมารู้สึกใจ…ใจเป็นยังไงก็ต้องรู้ ที่เรียกว่า “ได้ใจได้ธรรม” คืออย่างนี้ ถ้าได้ใจนี้มันได้หมดทุกอย่าง ความรู้สึกตัวความรู้เนื้อรู้ตัวก็ได้ด้วย…ได้หมดจริงๆ

เพราะฉะนั้น “อย่าลืมใจ” เกิดอะไรขึ้นกับมาดูใจเราเป็นยังไง มันจะเป็นยังไงก็ได้รู้อยู่ปุ๊บไม่ติด นี่แหละแบบนี้ไม่ติดอารมณ์ไม่ติดความคิดนี่แหละ “จิตที่มันตั้งมั่น

บางทีทุกอิริยาบถทุกความเคลื่อนไหวของกายของจิตรู้ปุ๊บต้องกลับมาดูใจเป็นยังไง ไม่งั้นมันจะล่องลอยจำเอาไว้ ถ้าแค่รู้ปุ๊บแล้วไม่กลับมาดูใจมันจะล่องลอย ล่องลอยไปตามความคิดเมื่อกี้นี้บ้าง ล่องลอยไปตามเวทนาเมื่อกี้นี้บ้าง เพราะฉะนั้นตรงนี้สำคัญ “ต้องทำกิริยากับมาดูใจ” มันจะได้ขาดจากขณะเมื้อกี้

เหมือนเรานั่งท้องร้อง โอ้ยหิว เอ๊ะกี่โมงแล้ว โอ้ยเดี๋ยวจะไปกินที่ไหนดี โอ้ยถ้าไปกินไกลเดี๋ยวจะหิวมากแล้วจะไม่พอใจ แต่ถ้าเป็นนักปฏิบัติท้องร้องปึ๊บเห็นอาการท้องร้อง อ๋อโครกคราก ดูใจเป็นยังไง…ปกติ ไม่มีอะไร แล้วก็ผ่านไป ไม่ติด เนี่ยก็ฝึกแค่นี้เอง ถ้ามันจะเกิดท้องร้องอีก ชักเริ่มไม่พอใจก็เห็นความไม่พอใจนั้น ความไม่พอใจเป็นสิ่งแปลกปลอมเข้ามา เมื่อกี้ปกติดี กิเลสกำลังหลอกกำลังครอบงำแล้ว ก็ไม่ตามไปไม่เชื่อมันไม่เป็นทาสมัน เท่านั้นแหละมันก็หายไป

บางทีกิเลสมาเป็นเรื่องใหญ่หน่อยเกิดความอึนๆ ขึ้น แหม่มันเศร้าหมองมันมีความขุ่นเคืองอึนๆอยู่ไม่ดับไปซักที หน้าที่เราคืออะไร? หน้าที่เราคือ “ไม่เข้าไปในอารมณ์นั้น รู้เนื้อรู้ตัวไว้” แล้วเดี๋ยวมันก็ผ่านไป รู้เนื้อรู้ตัวไว้ ทำกิจกรรมอื่นของเราไป ทำการทำงาน อาบน้ำซักผ้าถูบ้านกินข้าวก็ไปทำ เดี๋ยวมันก็ผ่านไปหายไป เพราะเหตุมันหมด แบบนี้ก็เจริญวิปัสสนาแล้วง่ายๆ ได้ขันติบารมีความอดทน อดทนหน่อย อย่าให้อารมณ์มันหลอกเรา อย่าให้อารมณ์มันกลืนกินเราเข้าไป จำไว้มันเป็นสิ่งแปลกปลอมเข้ามา ไม่ว่าสุขหรือทุกข์ล้วนเป็นสิ่งแปลกปลอมเข้ามาทั้งนั้น

ไม่ติดหมดทั้งสุขทั้งทุกข์ พอไม่ติดหมดชีวิตเป็นยังไง จิตใจเป็นยังไง? ก็โปรงโล่งเบา เห็นมั้ย“โปร่งโล่งเบาที่แท้จริงไม่ใช่ไปทำขึ้นมา” มันเป็นผลจากการที่จิตใจนี้ไม่ติดอะไร พอไม่ติดกับอะไรมันก็โปร่งโล่งเบาสิ…มันเป็นผล มันเป็นโปร่งโล่งเบาแบบปกติ ไม่ใช่แบบความสุข ถ้าโปร่งโล่งเบาแบบความสุขเป็นยังไง…โอ้วันนี้ปฏิบัติดีจังเลย โอ้สบายจังเลย แล้วไปบอกชาวบ้านว่าเดี๋ยวนี้ปฏิบัติดีสบายมีความสุข…นั่นแหละ อินแล้ว ไม่รู้เรื่องโดนความสุขครอบเข้าให้แล้วไม่รู้เรื่อง เนี่ยมันผิดง่ายๆ

 

ตอนที่ 5 รื่นเริงในธรรม

สัญญาอะไรเกิดขึ้นมาในใจรู้ทัน รู้ทันปุ๊บกลับมาดูใจเป็นปกติมั้ย?  อ่อ…ปกติอยู่ ผิดปกติหน่อยก็รู้ว่าผิดปกติหน่อย การกลับมาดูใจมันเป็นตัวเบรกเรา ไม่ให้เราหลุดเข้าไปในความคิดหรือสัญญานั้นๆ เบรกเราช็อตนึง พอเบรกไปซ็อตนึงมันขาดไปๆ ก็ยิ่งเห็นเร็ว พอเหตุมันน้อยก็หมดไปเลย มันไม่มีแรงดึงดูดให้เราไปคิดอีก

เราก็มารู้เนื้อรู้ตัว รู้สึกตัวรู้สึกกายรู้สึกใจ รู้สึกอิริยาบถใหญ่อิริยาบถย่อยต่อที่อยู่ในนี้ไม่เกินกายใจนี้ออกไป การปฏิบัติธรรมคือ “ไม่เกินกายใจนี้ออกไป” ไม่เข้าใน ไม่ออกนอก…ไม่เกินกายใจนี้ออกไป

ถ้าเราปฏิบัติเป็น ภาษาธรรมนี้เรียกว่า “มีความรื่นเริงในธรรม” ความรื่นเริงอันนี้ก็คือ ความเบิกบานที่เรียกว่า “รู้ตื่นเบิกบาน” มันเบิกบาน ที่จะได้เรียนรู้อยู่ในกายในใจนี้ ไม่เกินกายใจนี้ออกไป

ภาษาง่ายๆ ก็มีความสุขจากการได้รู้ทันกิเลส ได้รู้ทันความคิด รู้ทันอารมณ์ แล้วก็ไม่ติดกับมัน ภาษาพูดเรียกได้แค่ว่าเป็นความสุขแต่มันไม่ได้เป็นความสุขแบบนั้นหรอก ครูบาอาจารย์ท่านก็เลยว่าเวลามาปฏิบัติธรรมแล้วมันจะมีความสนุก มีความยินดีพอใจที่ได้ปฏิบัติได้เห็นอะไรๆ อย่างนี้ แต่มันไม่ใช่ความสุขหรือความยินดีพอใจแบบโลกๆ แต่ไม่รู้จะใช้คำพูดอะไรดี

ความสุขจากการสนองความอยากได้ กับความสุขจากการประจักษ์แจ้งความจริงเป็นคนละอย่าง เรียกความสุขเหมือนกันแต่คนละอย่าง ความสุขในโลกถูกบีบคั้นผลักดันให้ได้มาซึ่งความสุขนั้น “ความสุขทางธรรมไม่มีอะไรบีบคั้น” เราค่อยๆ ฝึกทำหน้าที่สนด้ายเข้าเข็ม (เพิ่งคิดออกว่าเขาใช้คำว่าสนด้ายเข้าเข็ม มั่วแต่ใช้คำว่าแทง)

สังเกตจิตใจเมื่อกี้ก็มีความสุขพูดตลกหน่อย แต่ว่าแป๊บเดียวก็ปกติแล้ว เนี่ยเห็นมั้ย…เห็นความเปลี่ยนแปลงของมัน เราเรียนรู้อยู่กับมันเรียนรู้อยู่ไม่เกินกายกับใจนี้ ความสุขก็เป็นของอยู่ไม่นาน เอาไว้ไม่ได้ ถ้าเราจะหาความสุขในการใช้ชีวิตนั่นเรากำลังโดนหลอก ความจริงคือความไม่ทุกข์ไม่ใช่ความสุข แต่ก็ต้องอาศัยทุกข์เพื่อจะถึงความไม่ทุกข์ ถ้าไม่มีทุกข์ก็จะไม่มีมุมมองไม่มีปัญญาที่ฉลาดพอที่จะถึงความไม่ทุกข์ “ความไม่ทุกข์มันอยู่ในความทุกข์

ความสุขเป็นสิ่งที่หลอกเรา ว่าเราดีแล้ว ใช้ได้แล้ว สบายแล้ว นี่เป็นหน้าที่ของกิเลส…ใครเชื่อก็โง่ ถ้าเรายังไม่เห็นจริงด้วยตัวเองว่าโลกนี้มีแต่ทุกข์ล้วนๆ ก็เชื่อพระพุทธเจ้าไปก่อน ถ้าเราต้องการจะทำตามพระพุทธเจ้าลองเชื่อท่านไปก่อน ท่านบอกโลกนี้มีแต่ทุกข์ล้วนๆ “เราพิสูจน์ด้วยตัวเอง” ถ้ามันเป็นแบบนั้นจริงๆ แปลว่ามาถูกทางแล้วไม่ใช่จมทุกข์

 

ตอนที่ 6 เหนือกระแส

เสียงมา ความคิดก็เกิดสัญญาก็เกิดรู้ทัน รู้ทันปุ๊บกลับมาดูใจเป็นยังไง อย่างประมาทว่า ปกติแล้ว ดูให้มันละเอียดว่าเป็นยังไง…อืม..ปกติ จุดสำคัญคือไม่ใช่ให้จิตใจนี้ปกติหรือไม่มีอะไร สำคัญคือ “ได้กลับมาได้ทำหน้าที่

เพราะฉะนั้น ในการปฏิบัติธรรมต้องเข้าใจให้ถูกว่าเรากำลังฝึกอะไร เราต้องทำหน้าที่แบบไหน ไม่ใช้ฝึกเอาสงบเงียบสบาย ไม่ได้ฝึกเอาแบบนั้น

การฝึกปฏิบัติธรรม คือ การรู้เท่าทันทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในกายในใจนี้เท่าที่รู้ได้ รู้เท่าทันมัน ไม่ติดกับมัน

การไม่ติดกับอารมณ์หรือความคิดใดๆ ถือเป็นกริยาอะไร… “กริยาเหนือกระแส”… “เราทวนกระแสจนอยู่เหนือกระแส” เหนือหมดทุกสิ่งทุกอย่าง

เราอยู่ในโลกอยู่ในสังคม แม้กระทั่งสังคมของนักปฏิบัติธรรม เราจะไปหวังให้ทุกคนดีหมดจดไม่ได้ เพราะทุกคนยังเต็มไปด้วยกิเลสเหมือนกัน ทุกคนก็พร้อมจะประมาทพลาดพลั้ง จะทำไม่ดีได้ หน้าที่เราไม่ใช่ติดกับการกระทำหรือความคิดของคนเหล่านั้น

หน้าที่เรา คือ “รู้เท่าทัน” …เมื่อเกิดผัสสะเกิดขึ้นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วไม่ติดกับอารมณ์หรือความคิดที่จะลากเราไป เราไม่ต้องถามว่าทำไม ทำไมเค้าคิดกับเราอย่างนั้น ทำไมเค้าพูดกับเราอย่างนั้น ทำไมเค้าเข้าใจผิดเราแบบนั้น ไม่ต้อง…ไม่มีประโยชน์ เรามีหน้าที่ไม่ทุกข์” นี่คือหน้าที่เรา เรามีหน้าที่ไม่ติดกับความบ้าคลั่งของคนเหล่านั้น ถ้าเราติดเราจะเป็นคนบ้าอีกคนหนึ่ง

หลวงพ่อเคยบอกว่า ถ้ามีคนมาเข้าใจผิดเรา หรือพูดไม่ดี ทำไม่ดีคิดไม่ดี เราไม่มีหน้าที่ที่จะทำอะไรกับคนพวกนั้น ในทางกลับกันคนพวกนั้นมีหน้าที่ต้องรีบไปปฏิบัติธรรมให้มากกว่านี้ แล้ววันหนึ่งเค้าจะเข้าใจ…ต้องเข้าใจเอง ไม่ใช่เราต้องไปทำอะไร เพราะถ้าจิตใจพวกเค้ายังไม่ฉลาดพอก็เข้าใจอะไรไม่ได้

เพราะฉะนั้น ถ้าเกิดมีใครทำอะไรที่เรารู้สึกว่า อืม…ทำไมทำแบบนี้ เรามีหน้าที่ไม่ต้องสนใจ แต่ให้โอกาสเค้าได้ปฏิบัติธรรมให้มากกว่านี้  พอจิตใจเค้าขาวสะอาดบริสุทธิ์ผ่องใสขึ้นเค้าก็เข้าใจเอง ว่าอะไรถูกอะไรผิดเข้าใจการกระทำที่ผ่านมา เข้าใจกรรม เค้าจะเข้าใจเอง

พอปฏิบัติแล้วมันจะรู้จักว่าอะไรเป็นอะไร รู้อดีตทำอะไรผลเป็นยังไง รู้ว่าปัจจุบันทำอย่างนี้อนาคตจะเป็นยังไง ที่เรียกว่ารู้อดีตรู้อนาคตคือรู้แบบนี้  พอปฏิบัติแล้วเจริญแล้วจิตใจรู้จัก เค้าเรียกว่ารู้ผิดชอบชั่วดี  รู้จักเหตุปัจจัย รู้จักกรรมรู้จักผลของกรรมรู้หมด รู้จักเบื้องต้นเบื้องปลาย

เงียบๆไปแบบนี้กลับมาดูใจตัวเอง ไม่ใช่ปล่อย ไม่ใช่รู้เนื้อรู้ตัวแล้วพอแล้ว กลับมาดูใจตัวองด้วย…อย่าลืมหน้าที่ แล้วเราก็ทำแบบนี้แหละทั้งวัน ตั้งแต่ตื่นจนหลับ เราจำเป็นต้องดูโทรศัพท์ อ่านไลน์ อ่านไปก็ดูใจไป ไม่ใช่ลืม…ออกไปข้างนอกอยู่ในไลน์หมด

เพราะฉะนั้น ย่นย่อการปฏิบัติลงมาเหลือคำเดียวว่า “ไม่ลืม” ไม่ลืมที่จะรู้สึกกาย ไม่ลืมที่จะรู้สึกใจ ไม่ลืมที่จะทำหน้าที่นี้ แล้วถ้ามันเต็มมันอิ่มมันพอ เดี๋ยวมันก็ค่อยๆ เกิดผลขึ้นเองตามลำดับไป

อดทนให้ได้ อดทนที่จะไม่ลืมแค่นั้น อดทนที่จะทำเรื่องซ้ำๆซากๆแบบนี้ อดทนที่จะไม่มีอะไรให้ทำมากกว่านี้ อดทนที่จะไม่ได้เห็นอะไรลึกลับซับซ้อนหรูหราอลังการแบบที่เวลาไปฟังนักปฏิบัตคนอื่นเค้าเห็นโน่นเห็นนี่ เราไม่มี อดทนทำเรื่องเรียบๆ ง่ายๆ แบบนี้ ไปเรื่อยๆ

 

22-08-2561

Camouflage

 

YouTube : https://youtu.be/gO-qS2Z4Des

คลิปเสียงธรรมะทั้งหมดของอาจารย์ Camouflage : https://goo.gl/RDZFMI

======================

5 ช่องทางการอ่านและฟังธรรม

1) Facebook : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
http://www.facebook.com/sookguysookjai

2) Line : @camouflage.talk
https://line.me/R/ti/p/%40camouflage.talk

3) YouTube : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
https://goo.gl/in9S5v

4) Website: https://camouflagetalk.com/

5) Podcast : Camouflage – Dhamma Talk
https://itun.es/th/t6Mzdb.c
วิธีการติดตั้ง https://goo.gl/tBMY9S