79.ศิลปะ

ตอนที่ 1 อย่าร้อนรนกับผลการปฏิบัติ

ข้อสำคัญอันนึงของนักปฏิบัติธรรมที่ควรจะอยู่ในใจก็คือ อย่าร้อนรนกับผลการปฏิบัติ อย่าตัดสินตัวเอง เมื่อไหร่เราตัดสิน ความเป็นคนก็เกิดขึ้น ความเป็นคนเกิดขึ้นต้องทุกข์ ความร้อนรนในผลการปฏิบัติธรรมนี่ มีได้มีตั้งแต่ผลเล็กน้อยจนไปถึงผลสุดท้ายก็คือ ความหลุดพ้น

พวกเรานักปฏิบัติจำนวนมาก ยิ่งปฏิบัติมานานเท่าไหร่ ยิ่งให้เวลาการปฏิบัติมากเท่าไหร่ ความร้อนแรงในการหวังผลการปฏิบัติยิ่งมากเท่านั้น มีความร้อนแรงในการหวังผลการปฏิบัติมากเท่าไหร่ ต้องทุกข์มากเท่านั้น

ผลการปฏิบัติธรรม เช่น มีเป้าหมายว่าจิตต้องตั้งมั่น มันไม่ตั้งมั่นนี่เครียด มีเป้าหมายต้องรู้สึกตัวให้บ่อย มันรู้สึกไม่บ่อย…ก็เครียด มีเป้าหมายต้องรู้สึกใจบ่อยๆ มันไม่ค่อยมารู้สึก มันลืม…ก็เครียด

เราต้องใช้ธรรมะอะไรมาช่วยเราตรงนี้? ใช้ธรรมะ “จิตไม่ใช่ของเรา

เรารู้ว่า เราควรจะรู้ทันจิตมันไปคิด จิตจึงจะตั้งมั่น เราควรจะอยู่กับเนื้อกับตัว จิตถึงจะตั้งมั่น แต่จิตไม่ใช่ของเรา วันนี้มันรู้ทันได้แค่นี้…ก็คือแค่นี้ เราอาจจะคิดว่า…มันแย่กว่าเมื่อวาน แย่กว่าเมื่อวานซืน แย่กว่าเดือนที่แล้วอีก ทำไมเราเคยดีแล้วมันแย่ได้? เพราะฉะนั้นถ้ามันแย่ได้ มันก็ต้องดีได้…มันเป็นอะไร? เป็น “อนิจจัง

เอาธรรมะเข้ามาสอนตัวเอง วันนี้เป็นแบบนี้ ไม่แน่…พรุ่งนี้อาจจะเปลี่ยนเลย ไม่มีอะไรแน่เลย พรุ่งนี้ดี มะรืนอาจจะแย่ฟุ้งซ่านอีกแล้วก็ได้ นี่คือธรรมะ…คือเราควบคุมบังคับอะไรไม่ได้ มันไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลง เป็นไปตามเหตุปัจจัย

เราอยากมีจิตที่ตั้งมั่น…นี่คือผล พอเราไม่มี เราก็เดือดร้อน…สมควรจะเดือดร้อนมั้ย?

หนีไม่พ้นเรานักปฏิบัติทุกคนก็เดือดร้อน แต่อย่าเดือดร้อนนาน เดือดร้อนปุ๊บ…รู้ทัน จิตใจตอนนี้เป็นยังไง? จิตมันอ่อนแล้ว รู้ทันจิตมันอ่อน ไม่ใช่ไปนั่งเศร้าใจ กลุ้มใจ ทำไมเป็นแบบนี้

คำว่า “ทำไม” นี่แหละคือคำถามของการสร้างคน ความเป็นตัวเป็นตนมันเรียกร้องว่า ทำไม

พอมันมีความทุกข์ขึ้นมาแล้ว สอนตัวเอง เอาธรรมะพระพุทธเจ้าสอนตัวเองก่อน จำคำที่ผมบอกไว้ว่า “วันนี้เป็นแบบนี้” แล้วถ้ารู้สึกว่ามันไม่ดี มันแย่ ลองดูซิพรุ่งนี้จะเป็นยังไง มันจะเหมือนเมื่อวานมั้ย รับประกันเลยว่าไม่เหมือน มันเปลี่ยนตลอดเวลา บางวันก็…โอ้โห! มีกำลังใจในการปฏิบัติมาก แหม…วันนี้จิตใจสบาย รู้เนื้อรู้ตัวดี รู้ทันจิตไปคิด รู้ทันอารมณ์ พรุ่งนี้เป็นคนละเรื่องเลย หนังคนละม้วนเลย แล้วถ้าเราโดนกิเลสหลอก…ทำไมเป็นแบบนี้ ทำอะไรผิด มันจะพาเราไปคิด…

สาเหตุทั้งหมดคืออะไร? เราร้อนรนว่าเราไม่ได้ผลอย่างที่เราคิดว่าควรจะเป็น เบื้องหลังความร้อนรนนั้นคือ “ความกลัว” กลัวไม่ได้ปฏิบัติธรรม กลัวว่ายังปฏิบัติได้ไม่ดี กลัวจะไม่พ้นทุกข์

ถ้าเราต้องเห็นอะไรเกิดขึ้นในใจนี่เรียกว่าปฏิบัติ มีความกลัวอยู่เบื้องหลัง เห็นให้ได้มันมีความกลัว ถ้าเราเห็นได้ มันจะขาดหมดเลย จิตใจนี้จะสบายขึ้นมาเลย คำว่า “สบาย” คือ เป็นปกติ ไม่ใช่ความสุข มันจะเป็นปกติ มันจะพ้นทุกข์ เค้าเรียกว่า หลุดพ้น…เนี่ย หลุดพ้นอย่างนี้ หลุด หลุดไปเรื่อยๆ การเห็นสภาวะตามเป็นจริงคือ การหลุดไปเรื่อยๆ

 

ตอนที่ 2 มีผัสสะอะไรมากระทบ…กลับมาดูใจ

การรู้ การเห็นสภาวะตามเป็นจริง คือ รู้แล้วผ่าน…ทำไมมันผ่านได้? เพราะพอรู้แล้วมันดับไป แต่ถ้ารู้แล้วติด อันนี้ไม่รู้ หรือไม่ก็กำลังสมาธิไม่พอที่มันจะดับไป ถ้าเรารู้อย่างนี้เราจะทำยังไง? ปฏิบัติในรูปแบบ มีฉันทะที่จะไม่ลืมเนื้อลืมตัว ไม่ลืมกายไม่ลืมใจนี้

เหมือนเรานั่งอยู่ตรงนี้ นั่งอยู่ที่บ้าน วิธีปฏิบัติคือ มีผัสสะอะไรมากระทบแล้วก็หันมาจิตใจตัวเองว่าเป็นยังไง มันเป็นยังไงก็รู้มันเป็นอย่างนั้น ฟังธรรมอะไรแล้วพอใจก็รู้ความพอใจเกิดขึ้นแล้ว ฟังธรรมอะไรเกิดความไม่พอใจ…รู้ความไม่พอใจเกิดขึ้นแล้ว นี่เค้าเรียกว่า มีสะอะไรกระทบทางหูก็กลับมาดูใจ มีผัสสะกระทบทางตาก็กลับมาดูใจ ผัสสะกระทบทางลิ้นก็กลับมาดูใจ สัญญาเกิดขึ้น…กลับมาดูใจ นี่คือ ลักษณะของการรู้แล้วผ่านเลย ไม่ใช่รู้แล้วติดอยู่กับสิ่งที่เกิดขึ้น หรือผัสสะที่เกิดขึ้น แต่เมื่อเราทำอย่างนี้ได้อยู่เนืองๆ จิตใจนี้ก็จะตั้งมั่นขึ้นมา

คำสอนครูบาอาจารย์ของหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี “มีสติตามรักษาจิต” ครูบาอาจารย์ก็พูดอย่างนั้นไว้…มีสติตามอารักขาจิตอยู่ แต่คำพูดมันยาก ฟังอย่างนี้ปุ๊บมันจะไปเพ่งกัน จะไปจ้อง พอเค้าบอก ต้องอารักขาเลยก็ไปจ้อง…เสร็จเลย ก็ไม่ถูกอีก แต่คำพูดมันเป็นแบบนี้ เพราะฉะนั้น ตรงนี้เป็นศิลปะ เป็นศิลปะที่เราต้องหาให้เจอด้วยตัวเราเอง ไม่มีครูบาอาจารย์ที่ไหนบอกได้

อย่างผมพยายามจะหาคำที่มันพอดีที่สุด ผมก็ใช้คำว่า “เอาเป็นว่าไม่ลืมแล้วกัน” และหาวิธีปฏิบัติให้ เมื่อมีผัสสะกระทบปุ๊บ…ก็กลับมาดูใจ มีผัสสะกระทบปุ๊บ…ก็กลับมาดูใจ เดี๋ยวมันจะเนืองๆ เองจนรู้อยู่ตลอด มันเหมือนรู้อยู่ตลอดแต่ไม่ใช่เพ่ง ตรงนี้พวกเราต้องหากัน ค่อยๆ ปฏิบัติไปมันจะค่อยๆ เข้าใจเอง ใช้เวลา

เพราะฉะนั้น ผลเล็กๆ น้อยๆ ยังมาไม่ถึง ผลที่เราคาดการณ์เฉพาะหน้า ยังมาไม่ถึง เช่น อยากจะให้จิตเป็นอย่างนี้เป็นอย่างนั้น อยากให้จิตไม่ฟุ้งซ่าน อยากให้จิตตั้งมั่น ทั้งหลายเหล่านี้…พวกเราต้องอย่าร้อนรนกับมัน เรามีหน้าที่รู้ว่า เหตุที่จะทำให้เกิดผลนั้นมันเป็นยังไง เราก็แค่หมั่นสร้างเหตุ ส่วนผลมันจะดีขึ้นหรือยัง ตั้งมั่นหรือยัง ฟุ้งซ่านน้อยลงหรือยัง…ปล่อยให้ธรรมชาติของผลนั้นมันเกิดเอง

เหมือนถ้าเราเคยได้ยินว่า พระโสดาบันมีคุณลักษณะยังไง? พระโสดาบันเป็นบุคคลที่มีสมาธิเล็กน้อย มีปัญญาเล็กน้อย คำว่า “สมาธิเล็กน้อย” แปลว่าอะไร? คือ พระโสดาบันจิตยังไม่ค่อยตั้งมั่นเหมือนกัน พวกเราฟังแล้วอาจจะช็อค…ห๊ะ! พระโสดาบันจิตยังไม่ตั้งมั่น เนี่ย! ครูบาอาจารย์ก็เล่าให้ฟังว่า พระโสดาบันมีสมาธิเล็กน้อยคือหมายความว่า จิตนี้ยังไม่ค่อยตั้งมั่น แฉลบซ้ายแฉลบขวา ออกนอก เหมือนพวกเรานี่แหละที่กำลังปฏิบัติธรรมกันอยู่

แต่พระโสดาบันมีความต่างอีกหลายอย่าง แต่อย่างหลักๆ เลยก็คือว่า คำว่า “ปัญญาเล็กน้อย” นี้เป็นความต่างอันนึง คือพระโสดาบันเห็นความจริงแล้วว่า โลกนี้ว่างจากสัตว์ ตัวตน บุคคล เรา เขา เข้าใจว่าสภาวะใดๆ เกิดขึ้นแล้วก็ต้องดับไป นี่คือ ปัญญาเล็กน้อยของพระโสดาบัน

ส่วน “มีปัญญามากกว่านี้” คือ มีปัญญารู้แจ้งอริยสัจมากขึ้นเรื่อยๆ นี่เค้าเรียกว่ามีปัญญายิ่งๆ ขึ้นไป แต่พระโสดาบันมีปัญญาเท่านี้ พูดในมุมสมาธิก็คือ มีสมาธิเล็กน้อย คือยังไม่ค่อยตั้งมั่นเท่าไหร่ คล้ายๆ พวกเราเหมือนกัน แต่ความต่างคือ เรื่องปัญญา การเห็นตามความเป็นจริง

เพราะฉะนั้น เราฟังไว้แล้วจะได้ไม่ต้องรู้สึกเดือดร้อนมาก ถ้าวันนี้อยากจะมีสมาธิตั้งมั่นแต่ไม่มี หรือมีบ้างไม่มีบ้าง ก็ไม่ต้องเดือดร้อน มันเป็นแบบนั้น ขนาดพระโสดาบันยังเป็นแบบนั้นเลย ที่เล่าให้ฟังก็จะได้มีกำลังใจ ไม่ต้องโทษตัวเอง ไม่ต้องเศร้าใจ ไม่ต้องหมดกำลังใจมากกับการปฏิบัติธรรม

แต่ฟังแบบนี้ไม่ใช่ว่าพระโสดาบันกิ๊กก๊อกไม่มีอะไรนะ ความสำคัญอย่างนึงของพระโสดาบันคือ ความทุกข์ลดลงไปเยอะมาก พระพุทธเจ้าเปรียบเทียบความทุกข์ของปุถุชนเหมือนภูเขาสิเนรุทั้งลูก ส่วนความทุกข์ของพระโสดาบันก็เหลือเพียงก้อนหินขนาดเท่าเมล็ดถั่วเขียว 7 ก้อนแค่นั้น แล้วก็ยังมีความต่างอีกหลายอย่างที่ไม่ต้องอธิบาย ไปหาอ่านเอาเอง

เพราะฉะนั้น เข้าใจการปฏิบัติให้ถูกนะ มันมีลักษณะอย่างนี้แหละคือ รู้อยู่ในกายในใจนี้เนืองๆ จนมันจะค่อยๆ รู้สึกอยู่ตลอด แต่ไม่ใช่เพ่ง ให้มันเป็นเอง เพียงแต่ทำกิริยาที่ผมบอกเมื่อกี้นี้  “ผัสสะอะไรมากระทบ…กลับมาดูใจ”  ความรู้สึกเป็นยังไง… “รู้”  มันปกติก็รู้ มันไม่ปกติก็รู้ จิตมันตกก็รู้ จิตมันฟูก็รู้ มีความพอใจเกิดขึ้นก็รู้ มีความไม่พอใจเกิดขึ้นก็รู้…รู้ยังไง? รู้ว่ามันมีอาการบางอย่างเกิดขึ้นในจิตใจนี้ เปลี่ยนแปลงจากเมื่อกี้นี้ ทำไมพูดว่าเป็นอาการ? เพราะว่าบางครั้งเราไม่รู้ว่ามันชื่ออะไร เราแค่รู้ว่ามันเปลี่ยนแปลงจากเมื่อกี้นี้ไปในทางลบหรือไปทางบวก บางทีก็รู้สึกได้แค่นั้น ไม่รู้จะเรียกมันว่าอะไรดี

 

ตอนที่ 3 มีสติตามรักษาจิตอยู่เนืองๆ

เราลองดู…ถ้าเรามีสติตามรักษาจิตอยู่แบบนี้ อันนี้ขอใช้คำพูดของหลวงปู่เทสก์ ถ้าเรา “มีสติตามรักษาจิตอยู่เนืองๆ” จิตนี้จะค่อยๆ มีกำลังขึ้น ตั้งมั่นขึ้น เพราะมันไม่เกินกายกับใจนี้ออกไป ตรงนี้เป็นศิลปะขั้นสูงมาก ที่มันไม่ใช่การเพ่งจ้อง แต่ก็ไม่ใช่ละเลย

ตรงนี้ฟังให้ดี! ถ้าเราปฏิบัติแบบละเลย มันจะไปในทางที่จิตนี้ฟุ้งซ่านเยอะ แล้วพอเรารู้ทัน มันก็ฟุ้งซ่านอีก หรือแม้กระทั่งเป็นอารมณ์ไปแล้ว ติดอารมณ์ทุกข์ ติดอารมณ์เบื่อ ติดอารมณ์เศร้า เนี่ย! เค้าเรียกว่ามันหละหลวมไปหน่อย

บางทีเราต้องการให้มันเป็นธรรมชาติ เราก็เลย…เออ! เรารู้เนื้อรู้ตัวอยู่แหละ เดี๋ยวจิตใจกระทบอะไรเป็นอะไรปุ๊บ…มีอะไรเกิดขึ้นค่อยรู้ทันทางจิตใจ อย่างนี้เค้าเรียกว่ามันละหลวมไป ผลจากการหละหลวมนั้น เราจะสังเกตได้เองว่า พอมันมีอะไรเกิดขึ้นปุ๊บ…ไปกับมันเลย เป็นเรื่องเป็นราวกับมัน…ติดเลย! ติดเรื่องติดราว คิดเป็นจริงเป็นจัง ตรงนี้เค้าเรียกว่า หละหลวมไปหน่อย

เพราะฉะนั้น ทุกคนต้องมีศิลปะที่จะรู้จักตรงที่มันพอดี… “มีสติตามรักษาจิต..แต่ไม่ใช่เพ่งจ้อง ไม่ใช่ดักดูเอาไว้เอง ไม่ใช่ละเลย หละหลวม” …ตรงนี้พูดเป็นคำสอนกว้างๆ เอาไว้ เราต้องไปหาเอาเองให้ได้ ค่อยๆ ปฏิบัติไป

โดยวิธีการที่ผมพยายามจะสอนที่คิดว่ามันจะไม่ใช่เพ่งจ้อง และก็ไม่ใช่หละหลวม ก็คือ เมื่อมีผัสสะอะไรเกิดขึ้นกระทบมาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ผ่านมาทางอายตนะใดๆ ให้ “กลับมาดูใจเรา” เป็นยังไง ผลลัพธ์จากการที่เราทำหน้าที่แบบนี้ที่จะไม่ลืม ที่จะหันกลับมาดูใจเรา เดี๋ยวมันจะเนื่องเอง เดี๋ยวมันจะรู้สึกว่า มันเห็นได้ตลอดเองอย่างเป็นธรรมชาติ อย่าไปทำให้มันเนื่อง

เพราะฉะนั้น ตรงนี้เป็นศิลปะสำคัญที่พวกเราทุกคนจะต้องหมั่นสังเกต ค่อยๆ ดูไป ต่อไปกระทบอะไรปึ๊บ มันจะรู้สึกเลยว่าใจเป็นยังไง ที่บอกว่าจนบางครั้งเราไม่รู้จะเรียกว่าอะไร แต่รู้ว่ามันเปลี่ยนแปลง มีความรู้สึกบางอย่างเปลี่ยนแปลงภายในใจ แต่ไม่มีชื่อ ให้ชื่อไม่ได้ เพราะมันเกิดนิดเดียว ยังไม่ทันเป็นชื่อเป็นแซ่

ถ้าเราปฏิบัติอยู่แบบนี้ จิตใจนี้โดยส่วนใหญ่จะเป็นปกติ…ชีวิตนี้ไม่ค่อยจมกับอะไร ไม่ตกเป็นทาสของความคิด ไม่ตกเป็นทาสของอารมณ์ เพราะมันไม่ติดกับอะไร มันรู้ก่อน เกิดอะไรขึ้นในใจ มันรู้พรึ้บ…มันดับไป มันดับไปก็ไม่ติด…พอเรารู้แบบนี้ก็เรียกว่า วิปัสสนา …มันมีแต่ “รู้

 

ตอนที่ 4 กิริยา “รู้”

บางทีเราไปฟังผลตอนต้น อยากได้ผลแบบนี้แบบนั้น ปฏิบัติไปปฏิบัติมา มีความดิ้นรนอยากได้ผลตอนปลายสมมติ…อยากให้จิตนี้มันว่าง สว่าง บริสุทธิ์ บางทีไปฟังว่าง…อ่อ! ว่างต้องไม่ให้มีอะไรเลย นี่ก็เข้าใจผิดอีก

ว่างเป็นผลจากที่เราปฏิบัติแบบนี้แหละ คือ เห็นสภาวะเกิดขึ้น เห็นแล้วมันก็ดับไป พอมีอะไรเกิดขึ้น เห็นแล้วมันก็ดับไป ดับไป ผลลัพธ์มันคือ มันว่าง…ว่างจากอะไร? ว่างจากสัตว์ ตัวตน บุคคล เรา เขา ไม่ใช่ว่างเปล่า ว่างจากกิเลสตัณหา…ไม่ใช่เราไปฟัง “ว่าง” แล้วไปทำให้มันว่างเปล่า ไม่มีอะไรเลย…ไม่ใช่! มันเป็นผล เรามีหน้าที่ปฏิบัติแบบนี้

ผลลัพธ์อย่างนี้เค้าเรียกว่า ผลลัพธ์แห่งปัญญาญาน…เข้าใจตามเป็นจริงว่าแท้จริงโลกธาตุนี้ว่างจากสัตว์ ตัวตน บุคคล เรา เขา… มันว่างได้ยังไง? เพราะรู้สภาวะตามเป็นจริง อะไรเกิดขึ้นก็รู้ พอรู้แล้วมันก็ดับไป เนี่ย! มันอาศัยกิริยา “รู้” …รู้ทัน มีกิริยาอื่นได้มั้ย

เคยได้ยินนักปฏิบัติบางคนมาเล่าให้ฟังว่า มีอะไรเกิดขึ้น เอาทิ้งหมด ทิ้งหมด ตัดทิ้งๆๆ …ว่างเหมือนกัน แต่เป็นว่างไม่มีปัญญา…เพราะอะไร? เพราะมีการกระทำตัดทิ้ง ถ้าตัดทิ้งได้ด้วยตัวเองก็เป็นอัตตา ไม่ใช่อนัตตา แต่ถ้า “แค่รู้ แล้วมันดับไป” นี่ไม่ได้ทำอะไร พอรู้ทันมันก็ดับไปเอง

กิริยารู้” มันเป็นกลาง มันไม่สนว่าสภาวะที่เกิดขึ้น เช่น พอใจเป็นความสุข หรือไม่พอใจก็เป็นความทุกข์ “สภาวะรู้” นี่คือ ไม่ว่าสุขหรือทุกข์เท่ากันหมด อกุศลหรือกุศลเท่ากันหมด คือ “รู้” …ไม่เดือดร้อน หรือไม่พอใจ ไม่ยินดีไม่ยินร้ายกับทุกสภาวะ

แต่การตัดทิ้งคือ รู้สึกว่าไม่ดี เลยต้องตัดทิ้ง นี่เค้าเรียกว่า ไม่เป็นกลาง เผื่อวันไหนตัดทิ้งไม่ได้ทำยังไง กลุ้มใจ ความสามารถในการปัดทิ้งลดไป

เพราะฉะนั้น สำคัญคือ กิริยา “รู้” กิริยารู้มันเป็นกลาง อะไรเกิดขึ้นก็รู้ ดีหรือไม่ดีก็รู้ เท่ากันหมด…เท่ากันในแง่ไหน? ไม่ว่าดีหรือไม่ดี เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปเพราะรู้ทัน มันเป็นเพียงแค่สภาวะหนึ่งๆ เท่ากัน ดีไม่ดีนี่เราตั้งชื่อเอาเอง สภาวะให้ความสุขเรา เราก็ว่าดี สภาวะให้ความทุกข์กับเรา เราบอกว่าไม่ดี

เมื่อเราสามารถ “รู้ทัน” จิตใจของเราได้อยู่เนืองๆ ความตั้งมั่นจะเกิดขึ้น

เมื่อตั้งมั่นแล้ว ความสงบที่แท้จริงถึงจะเกิดขึ้น

ความสงบที่แท้จริงในศาสนาพุทธคืออะไร? ไม่กระเพื่อมหวั่นไหวไปตามอารมณ์ ความคิด ไม่ติดกับอารมณ์และความคิด จิตนี้กระทบ เกิดอะไรขึ้นในจิตนี้ แต่ด้วยสภาพที่แท้จริงของเราคือ สภาพที่เรา “ตื่นรู้” อยู่ ความตื่นรู้นี้ไม่ติดเข้าไปกับอารมณ์หรือความคิดของจิตในขณะนั้นๆ อันนี้คือ ความหลุดพ้น เราหลุดพ้นกันได้บ่อยๆ

 

ตอนที่ 5 ศิลปะของการปฏิบัติธรรม

การ “มีสติตามรักษาจิตอยู่เนืองๆ” แบบนี้ เป็นทั้งหมดของการปฏิบัติธรรม…เพราะมันเป็นทางสายกลาง มีแต่รู้ มีแค่รู้ ไม่เกินกายไม่เกินใจนี้ออกไป

ผลพวงการทำแบบนี้ มันเป็นยังไง? เป็นการเจริญวิปัสสนา

ผลพวงการทำแบบนี้ เป็นยังไง? จิตใจมันตั้งมั่น

ผลพวงการทำแบบนี้ เป็นยังไง? เป็นความพ้นทุกข์ตั้งแต่เดี๋ยวนี้เลย

แต่ถ้าเราไม่ทำแบบนี้ ไปสังเกตให้ดี ชีวิตเราจะติดความคิด ติดอารมณ์ง่ายๆ ความคิดหลอกเราง่ายๆ หลอกยังไง เช่น หลอกว่าเราต้องมีอันนี้เพิ่ม มีอันนั้นเพิ่ม ต้องไปซื้ออันนี้เดี๋ยวไม่พอ มีแต่ความกลัว โดนความคิดและความกลัวหลอก พอหลอกทีเดือดร้อนตัวเอง เดือดร้อนคนอื่น นี่คือผลพวงจากการที่ไม่รู้ทันจิตใจตัวเอง ความกลัวเกิดขึ้นก็ให้มันครอบงำ…เพราะคิดว่ามันจำเป็น

การปฏิบัติธรรมเป็นการขัดเกลา

ขัดเกลาภายนอก คือ ไม่ตามกิเลสไป ไม่ตามความเคยชินเดิมๆ ถ้ายังขัดเกลาภายนอกไม่ได้ ภายในก็ลำบาก

ขัดเกลาภายใน คือ มีสติตามรักษาจิตอยู่เนืองๆ เพราะถ้าเรามีสติตามรักษาจิตอยู่เนืองๆ กิเลสครอบงำเราไม่ได้ เมื่อครอบงำไม่ได้ เราก็ไปตามความเคยชินเก่าๆ ไม่ได้ ขัดเกลาภายในเป็นขัดเกลาที่ต้นตอเลย แต่แน่นอนเรายังทำแบบนั้นไม่ได้ทุกคนหรอก มันต้องอาศัยเวลา อาศัยความชำนาญ ความเชี่ยวชาญในการปฏิบัติ ค่อยๆ สะสมประสบการณ์ไป

เพราะฉะนั้น มันจะเกิดการตามกิเลส เกิดการครอบงำของกิเลสได้ เราก็ต้องก็ขัดเกลาภายนอก เห็นว่ามันอยากแล้ว มันกลัวแล้ว มันดิ้นรนแล้ว มันล้นออกมาแล้ว มันทะลักออกมาแล้ว มีเราเข้าไปรับกิเลสนั้นแล้ว ทีนี้มันยากแล้ว…จะบอกให้รู้สึกตัวๆ จะเอาไม่อยู่แล้ว ให้รู้ทันสภาวะตามเป็นจริง เอาไม่อยู่แล้ว มันเป็นผลไปแล้ว ทุกข์ไปแล้ว

ตรงนี้ต้องใช้จินตามยปัญญา…สอนตัวเอง เอาธรรมะมาสอนตัวเอง เพื่อจะไม่ตามความเคยชินเก่าๆ ไป เต็มที่ได้แค่ 2 ทางคือ ไม่ไหวก็ไปทำ เราอาจจะแพ้ก็ได้ไม่เป็นไร อาจจะโดนน็อคบ้างก็ได้ไม่เป็นไร เป็นเรื่องธรรมชาติ แต่อย่าโดนน็อคบ่อยแค่นั้น ในอีกทางมันสอนตัวเองได้…ก็ไม่ทำตาม ก็ถือว่าชนะ พอทุกอย่างจบ จิตใจก็เป็นปกติ …

ต่อไปก็ทำการอะไร? ทำการขัดเกลาภายในด้วยวิธีการปฏิบัติแบบนี้ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่สุด

ทั้งหมดที่พูดวันนี้เรียกว่า ศิลปะของการปฏิบัติธรรม ฟังวันนี้อาจจะเข้าใจได้ระดับนึง ค่อยๆ ปฏิบัติไป มันต้องใช้เวลา

ครูบาอาจารย์พูดมา เข้าหัวสมองหมดแต่ไม่เคยเข้าใจ…ทำไม? มันเป็นธรรมชาติ ทุกคนต้องใช้เวลาผ่านประสบการณ์ด้วยตัวเองถึงจะเข้าใจคำว่า “ศิลปะ” นี้จริงๆ การถ่ายทอดศิลปะแบบนี้ ครูบาอาจารย์หรือผมพยายามถ่ายทอดให้ดีที่สุด แต่มันก็ไม่ถึงใจหรอกจนกว่าเราจะหาศิลปะนั้นได้ด้วยตัวเราเอง คำพูดไหนๆ ก็ดีไม่พอทั้งนั้น

เคยได้ยินครูบาอาจารย์ตอบคำถามว่าศาสนาพุทธนี้คืออะไร ท่านตอบว่าศาสนาพุทธคือ ศิลปะแห่งความพ้นทุกข์ นั่นคือสาเหตุที่พระพุทธเจ้าถึงบอกว่า…จงมาลองดูเถิด เพราะศิลปะนี้มันต้องลองด้วยตัวเอง หาด้วยตัวเอง

ถ้าเรามีสติตามรักษาจิตอยู่เนืองๆ ได้เป็น เราจะทำได้ทุกอย่าง ทำการทำงาน พุดคุยกับคน มีกิจกรรมอะไรเราก็ทำได้ มีสภาวะอะไรเปลี่ยนแปลง ก็เห็นได้ รู้ได้ การที่เราเห็นได้รู้ได้นั่นเป็นกำลังใจของนักปฏิบัติธรรม…ทำไมเรียกกำลังใจ? เพราะมีกำลังของใจจึงเห็นได้ และมันก็เป็นกำลังใจให้กับเราด้วย

 

ตอนที่ 6 ทำหน้าที่รู้ที่บริสุทธิ์

พอเราปฏิบัติแบบนี้อยู่ มันเป็นความหลุดพ้น มันเป็นความพ้นทุกข์ในตัวอยู่แล้ว พวกเราทุกคนตอนนี้สังเกตได้เลยว่า มันเป็นความพ้นทุกข์ในตัวอยู่แล้ว จิตนี้เป็นยังไงก็ได้นะสังเกตมั้ย? จิตนี้เปลี่ยนแปลงยังไงก็ได้นะในทางดีทางร้าย แต่มันพ้น…สังเกตให้ดีทำไมพ้น?

มันไม่ติดกับมัน มันรู้แล้วผ่าน รู้แล้วดับไป มันเป็นชีวิตที่เป็นความพ้นทุกข์ตลอดเวลาอยู่แล้ว มันเลยเป็นศิลปะแห่งความพ้นทุกข์ที่ไม่มีการทำอะไรเลย มีแค่รู้อย่างเดียว แต่คำว่า “รู้” นี้ เป็นศิลปะขั้นสูง เป็นการรู้ที่ปราศจากตัณหา ปราศจากความอยาก เป็นความรู้ที่บริสุทธิ์

เพราะถ้าการรู้นั้น เป็นไปด้วยความอยาก เป็นไปด้วยตัณหา เป็นไปด้วยความดิ้นรน จิตที่รู้นั้นเป็นอกุศล เป็นการรู้ภายใต้อกุศล อย่างที่ผมเคยบอกว่า เป็นการรู้ภายใต้อัตตา นั่นไม่ใช่การรู้ที่ถูกต้อง

เพราะฉะนั้น ใช้คำว่า “ทำหน้าที่” มีแค่หน้าที่ไปวันๆ มีแค่หน้าที่แต่ละขณะๆ ไป เนืองๆ ไป ไม่ต้องหวัง จะเป็นยังไง จะได้อะไร ทำอย่างนี้จะเป็นยังไง ไม่ต้องหวัง ทำแค่หน้าที่

ถ้าเราอยากจะหวัง…ก็ให้หวังว่าได้ทำหน้าที่นี้แล้ว…เอาแค่นี้พอ ใครชอบความหวังมากๆ ก็หวังแค่นี้พอ หวังว่าจะได้ทำหน้าที่นี้ทุกวัน หวังว่าจะมีลมหายใจทำหน้าที่นี้อยู่…สำหรับคนชอบหวังคิดอย่างนี้ก็ได้เผื่อจะช่วย แต่จริงๆ จะไม่ควรจะมีหวังใดๆ ทั้งนั้น มีแค่ “หน้าที่

จิตไปคิดอะไร รู้ทันปุ๊บ..กลับมาดูใจตัวเอง มันถึงจะตัดขาดความติดความคิดนั้นได้ง่ายขึ้น บางทีก็คิด…โอ้! ฟังธรรมวันนี้รู้สึกดีมากเลย อาจารย์สอนดีมาก …ให้เห็น รู้ทันความคิด กลับมาดูใจเกิดอะไรขึ้น? พอใจ…ก็รู้ทัน

ครูบาอาจารย์สายหลวงพ่อเทียนเล่าให้ฟังว่ามีพระมาบวช…แป๊บๆ พ่อมาเยี่ยม จะเอาโน่นมาให้เอานี่มาให้ แป๊บๆ พ่อมาเยี่ยมอีกล่ะ (พร้อมเล่าปัญหาทางบ้านให้ฟัง) มาหลายทีจนพระต้องบอกว่าไม่ต้องมาแล้วรบกวนลูก ลูกจะปฏิบัติธรรม พ่อก็ไม่ฟัง สุดท้ายเดือดร้อนถึงหลวงพ่อเลย ต้องลงมาจัดการเอง ก็ตำหนิไป แล้วก็ออกกฎ ถ้าใครมาบวชแล้ว ห้ามคุยกับญาติเกิน 2 ครั้ง ถ้าใครเกินจะพิจารณามีมาตรการ

คนปฏิบัติต้องรู้จักว่าทำไมถึงจัดการแบบนี้…เพราะครูบาอาจารย์รู้ว่า พันธะใดๆ ล้วนนำมาซึ่งความฟุ้งซ่าน ไปไหนไม่ได้ มันจะผูกเราไว้อยู่อย่างนั้นแหละ ครูบาอาจารย์ก็ได้แต่พูดไป ลูกศิษย์จะทำหรือไม่ทำ เป็นเรื่องของตัวเอง ความทุกข์เป็นของส่วนตัวของตัวเอง ความเจริญเป็นของส่วนตัวของตัวเอง…เลือกเอาเอง

ครูบาอาจารย์บอกว่าพ่อเถียงกับพระ พ่อบอกว่า…นี่! ลูกผม หลวงพ่อบอก…ลูกคุณแต่ตอนเค้ามาบวช เค้าให้อาตมาเป็นคนดูแล เค้ามาขอให้อาตมาดูแล อาตมาต้องดูแลเป็นหน้าที่ ถ้าไม่ทำหน้าที่นั้นก็ไม่ถูกเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ครูบาอาจารย์ก็มีหน้าที่ คนมาปวารณามาขอเป็นลูกศิษย์ ครูบาอาจารย์ก็มีหน้าที่ต้องดูแลตามคำขอนั้น

การปฏิบัติที่ผมบอกไป สังเกตมั้ยผลพวงจากการปฏิบัติแบบนั้น มันจะเป็นกิริยา “สักว่า” …สักว่ารู้ สักว่าเห็นเฉยๆ เห็นปุ๊บ..มันดับไป รู้แล้วผ่านไป นี่เรียกว่า จิตนี้มีความตั้งมั่นและเป็นกลางต่อทุกสภาวะ

สังเกตกันให้ดีว่า เราแค่มีสติรู้จิตเนืองๆ แล้วอะไรๆ ทั้งหมดที่เราเคยฟังมา ผลทั้งหลายที่เราต้องการ มันอยู่ในนี้อยู่แล้ว พูดกันง่ายๆ ก็คือ “ไม่ลืม” ทุกวันตื่นขึ้น…ไม่ลืมจะดูใจตัวเอง ไม่ลืมจะรู้เนื้อรู้ตัว แค่ไม่ลืม ถ้าพูดสั้นที่สุดของผมคือ แค่ “ไม่ลืม” ยิ่งเราเห็นอาการของจิตเร็วเท่าไหร่ มันก็ดับไปเร็วเท่านั้น วงจรของปฏิจจสมุปบาทก็ขาดลงไป ความทุกข์ก็เกิดไม่ได้ ความยึดมั่นถือมั่นก็ทลายลงไปเพราะมันไม่ติดกับสภาวะ อารมณ์ ความคิดใดๆ

พวกเรากลับไปฝึก เดี๋ยวกลับบ้าน ไปทำงาน ลองดู ถ้าเราฝึกให้มันดี กระทบปุ๊บ ความหงุดหงิดเกิดขึ้นวืบบ…เห็น ขาดกระเด็นไปเลย …หมด เหมือนเราอยู่ในรูแล้วมีคนเอาไม้มาแหย่ในรูที่เราอยู่ เมื่อก่อนแหย่ๆ ปุ๊บ พุ่งพรวดออกมาเอาเรื่องเลย…โกรธ ต่อให้รู้ว่าโกรธเถอะ กูก็โกรธเหมือนเดิม เอาไม่อยู่แล้ว แต่เราฝึกแบบนี้ไป มีคนเอาไม้มาแหย่รูที่เราอยู่ แหย่ๆๆ เราก็แค่ค่อยๆ โผล่หัวขึ้นมาเฉยๆ แล้วก็ลงไปใหม่ มันไม่ออกมาทั้งเนื้อทั้งตัวแล้ว โผล่มาแค่หัวก็เห็น…โอ้!

เพราะฉะนั้น ทุกผัสสะ เสียง สัญญา ความจำได้ต่างๆ เกิดขึ้น เกิดขึ้นแล้ว “รู้รู้เสร็จปุ๊บกลับมาดูใจตัวเอง แล้วมันจะเนืองๆ เพราะอะไร? เพราะเรามีผัสสะตลอด พวกเราไม่ได้ไปสงบดำดิ่งที่ไหน ผัสสะมาตลอดทุกทางทั้งวัน เอามาเป็นการปฏิบัติให้หมด

 

18-08-2561

Camouflage

YouTube : https://youtu.be/bOOW5QaNgCE

คลิปเสียงธรรมะทั้งหมดของอาจารย์ Camouflage : https://goo.gl/RDZFMI

======================

5 ช่องทางการอ่านและฟังธรรม

1) Facebook : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
http://www.facebook.com/sookguysookjai

2) Line : @camouflage.talk
https://line.me/R/ti/p/%40camouflage.talk

3) YouTube : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
https://goo.gl/in9S5v

4) Website: https://camouflagetalk.com/

5) Podcast : Camouflage – Dhamma Talk
https://itun.es/th/t6Mzdb.c
วิธีการติดตั้ง https://goo.gl/tBMY9S