78.ติดแล้ว

ตอนที่ 1 รู้ทันสภาวะสงสัย

ชีวิตการปฏิบัติธรรมเป็นชีวิตที่…เราหมั่นที่จะรู้สึกกาย หมั่นที่จะไม่ลืมเนื้อลืมตัว แล้วก็ไม่ลืมจะรู้สึกใจ ใจเป็นยังไงก็รู้สึก ปกติก็รู้ว่าปกติ…มันไม่ปกติก็รู้ไม่ปกติ เรามีพื้นฐานของชีวิตนักปฏิบัติธรรมแบบนี้ คือ พื้นฐานแห่งความอยู่กับเนื้อกับตัว…ไม่ลืมเนื้อลืมตัว

จิตใจปกติก็รู้จัก จิตใจสงบก็รู้จัก สงบเป็นแบบนี้ ปกติเป็นแบบนี้ ตอนนี้นั่งสมาธิร่วมกันก็ช่วยกัน

ทุกคนดูตัวเองช่วยตัวเอง “ระวังตัวเองเท่ากับระวังคนอื่นไปด้วย” ถ้าเราระวังตัวเองไม่รบกวนคนอื่น สิ่งแวดล้อมก็จะเอื้อต่อการปฏิบัติธรรม…เอื้อต่อจิตใจนี้รวมลงสู่ “ความปกติ” แต่ถ้าเราไม่ระวังตัวเองนั่งยุกยิกๆ รบกวนคนอื่นนี่เรากำลังทำบาป จะเห็นว่าเราทำบาปได้ง่ายๆ

ครูบาอาจารย์เลยบอกว่า อยู่ใกล้พระอรหันต์นี่ได้บุญเยอะ แต่ก็ได้บาปเยอะเหมือนกันถ้าไม่รู้จักระวัง เพราะฉะนั้น “เราทุกคนนักปฏิบัติธรรมต้องระวังตัวเอง” แค่เราแต่ละคนระวังตัวเอง โลกนี้จะน่าอยู่ขึ้นเยอะ

ความไม่ดีทั้งหลายมันอยู่ในใจของเราทุกคน…มันคือ กิเลส อวิชชา ตัณหา อุปาทาน ไม่ต้องไปหาว่า…คนอื่นไม่ดี “หาคนไม่ดีหาที่ตัวเองตัวเอง” ตัวเองนิสัยไม่ดีรู้จักนิสัยไม่ดีของตัวเอง จิตใจอกุศลก็รู้จักจิตใจอกุศล

ถ้านั่งแล้วเคลิ้มให้ลืมตาขึ้น การนั่งสมาธิให้นั่งสบายๆ ผ่อนคลายนั่งรู้เนื้อรู้ตัว เรารู้เนื้อรู้ตัวนี่เป็นพื้นฐานของชีวิต เพื่อให้จิตใจนี้มันตั้งมั่นขึ้นมา “เมื่อจิตใจมันตั้งมั่นขึ้นมา…มันจะเห็นสภาวะตามความเป็นจริงได้

สภาวะอันนึงที่สร้างทุกข์ให้กับเรามากมายในชีวิตของคนเราทุกคน คือ “สภาวะแห่งความสงสัย” สังเกตให้ดีความสงสัยนี้สร้างทุกข์ให้เรามาก เราสงสัยคนนั้นจะคิดยังไงกับเรา คนนี้จะคิดยังไงกับเรา เราทำแบบนี้ไปมันดีมั้ย เราพูดแบบนี้ไปมันถูกมั้ย

ถ้าเราเห็นความสงสัยไม่ได้ เราจะติดความคิด ทำไมเราติดความคิด…เพราะเราต้องการได้คำตอบ ทำไมเราต้องการได้คำตอบ…เพราะ “เราคิดว่ามีเราจริงๆ” แต่ถ้าชีวิตมีแค่รู้สึก แค่รู้สึก…โลกนี้ก็ทลายลง ความเป็นเราเป็นเขาก็หมดไป

อยากให้พวกเราเข้าใจความสงสัยให้มากกว่านี้ พิจารณาสภาวะแห่งความสงสัยนี้ มันจะได้ไม่ลืม…ไม่ลืมว่าความสงสัยนี่เป็นทุกข์มาก มันพาให้เราคิดได้ทั้งวี่ทั้งวันเลย นอนไปตื่นมาก็ยังคิดอีก ก็เพราะว่าความสงสัย

เพราะฉะนั้น ความสงสัยอะไรที่ทำให้เราติดกับความคิดต้องรู้ทัน “รู้ทันสภาวะสงสัยนั้น” ถ้าเราเห็นสภาวะสงสัยตามเป็นจริงได้มันจะดับ…แล้วมันจะไม่คิดเรื่องนั้นอีก

แต่ถ้าเมื่อไหร่เราติดความคิด ติดต้องการได้คำตอบ ให้รู้ไว้ว่าเราไม่เห็นสภาวะความสงสัยตามเป็นจริง ถ้าเราเห็นตามเป็นจริงมันเกิดแล้วก็ดับ ไม่ได้มีค่าอะไร เป็นแค่สภาวะธรรมอันหนึ่ง “เราไม่ได้เอาสภาวะความสงสัยนั้นมาเป็นของเรา” พอไม่เป็นของเรา เราก็จะไม่คิด…ไม่หาคำตอบนั่งวิเคราะห์ วิจัย วิจารณ์ แค่สภาวะอันเดียวนี่แหละ จะลดความฟุ้งซ่านลงไปได้เยอะ

ความสงสัยที่ทั่วไปไม่ได้สร้างความทุกข์ให้กับเรา ไม่ได้ทำให้เราติดความคิดอันนี้ไม่เป็นไร แต่ความสงสัยที่พาเราติด…ต้องรู้แล้ว ถ้าไม่รู้ มันจะคิดไปเรื่อยๆ หลุดออกมาจากมันไม่ได้

 

ตอนที่ 2 เห็นสภาวะตามความเป็นจริง จะไม่ติดสภาวะ

ความง่ายของการปฏิบัติธรรม คือ “การแค่รู้สภาวะตามเป็นจริง” ในความง่ายนั้นเป็นความยากเหมือนกัน เพราะเรามักจะไม่เห็นตามเป็นจริง เราเห็นตามสัญญาเก่าๆ ตามความคิดของเราเฉยๆ

ตรงนี้เป็น “ศิลปะ” ที่เราแต่ละคนต้องหมั่นสังเกต การที่เราเรียนรู้อยู่กับกายกับใจนี้จะทำให้เราหมั่นสังเกตมากขึ้น ความทุกข์ที่เกิดในใจจะทำให้เราเป็นนักช่างสังเกตมากขึ้น “ความทุกข์นั่นเองจะทำให้เราฉลาดขึ้น” ถ้าไม่มีความทุกข์…เราจะไม่หาเหตุแห่งทุกข์ พอเราไม่รู้จักเหตุแห่งทุกข์ เราจะทุกข์ไปเรื่อยๆ นั่นแหละ

เพราะฉะนั้น นักปฏิบัติธรรมเราถ้ามีความทุกข์นี่…รู้เลยดีแล้ว ถ้าใครให้ทุกข์กับเรานี่ ในความเป็นจริงต้องไปขอบคุณเขา มันทำให้เราไม่ประมาทมันทำให้เราฉลาดขึ้น ถ้าเราเพลิดเพลิน โอ้…สบายดี อยู่สบายดี กินอยู่อาศัยสบายดีร่างกายสบายดี มีแต่สบายดี ทุกคนไปดูได้เอง คิดอะไรไม่ค่อยออกหรอก ไม่ค่อยฉลาดขึ้น แช่อยู่ในความสุขแบบนั้น แช่อยู่แบบนั้นจนวันนึงความทุกข์ถาโถมเข้ามาเจ๊งเลยทีนี้

เพราะไม่มีภูมิคุ้มกัน “ไม่มีความฉลาดทางจิตวิญญาณ” ไม่มีเพราะเราเห็นสภาวะตามเป็นจริงไม่ได้ เราติดกับทุกความคิด ติดกับทุกอารมณ์ ติดกับทุกเรื่องที่สงสัย

“การเห็นสภาวะตามความเป็นจริงว่า สภาวะนี้เกิดขึ้นแล้ว…แล้วมันก็เปลี่ยนแปลง…แล้วมันก็ดับไป เป็นเหตุให้เกิดการไม่ติดสภาวะ

แต่การเห็นสภาวะตามเป็นจริงได้นั้น “จิตจะต้องตั้งมั่น” จิตจะตั้งมั่นได้ต้องมีความอยู่กับเนื้อกับตัวเป็นธรรมชาติ จะอยู่กับเนื้อกับตัวได้ต้องไม่ลืมที่จะรู้สึกกาย…ไม่ลืมที่จะรู้สึกใจ มีงานหน้าที่ของนักปฏิบัติ มีงานที่จะไม่ลืมรู้สึกตัว ไม่ลืมรู้สึกใจเนืองๆ พอเรากลับมาที่พื้นฐานแล้ว “มันจะเป็นเอง”

แต่จุดตายของนักปฏิบัติทุกคน คือ เวลาที่ไม่มีทุกข์นี่ มันชอบลืมมัน มันชอบฟุ้งซ่าน มันชอบไปคิดเรื่องที่ไม่ต้องคิด มันชอบสงสัยเรื่องที่ไม่ต้องสงสัย แต่มันห้ามไม่ได้

เพราะฉะนั้น ในการปฏิบัติ ครูบาอาจารย์จะเทศน์รวมลงมาอยู่ที่ “มีความคิดเกิดขึ้นต้องรู้ทัน ไม่เข้าไปในความคิด ไม่ตามความคิดไป ไม่โดนความคิดหลอก ไม่ติดกับความคิด

การปฏิบัติในแง่นี้ มันจะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยาก เพราะจิตมีธรรมชาติส่งออก แต่จิตที่ส่งออกเป็นสมุทัย เป็นเหตุแห่งทุกข์  เพราะเราห้ามมันส่งออกก็ไม่ได้ แต่พอมันส่งออกแล้ว มันก็เป็นเหตุของทุกข์ ทำให้ต้องทุกข์ เพราะฉะนั้นความยากมันเลยอยู่ตรงนี้ มันอยู่ตรงนี้ที่ว่า เราพร้อมเสมอมั้ย…ที่จะ “รู้ทัน” จิตที่ส่งออก โดยที่ยังไม่ทันจะกลายเป็นทุกข์

การที่เราจะรู้ทันได้…จิตใจนี้จะต้องพร้อมมาก พร้อมยังไง? “ต้องตั้งมั่นมาก” เราจึงมีหน้าที่ที่จะต้องสร้างฐานที่มั่นอันนี้ ปราการอันสำคัญนี้ให้กับจิตใจของตัวเอง นอกจากรู้ทันได้ นอกจากไม่ทุกข์แล้ว มันยังเป็น “ขณะแห่งวิปัสสนาญาณ” ด้วย เพราะเราได้เห็นสภาพสภาวะต่างๆ ตามเป็นจริง

เพราะฉะนั้น การปฏิบัติไม่มีอะไรซับซ้อนมันรวมลงอยู่ที่เดียว สิ่งที่เราต้องทำมันมีแค่นิดเดียว ความยาก คือ เรามักจะโดนกิเลสหลอกให้เลิก เราไม่ได้อยากเลิกหรอกนะ แต่มันหลอกเพราะมันหลอกให้เราฟุ้งซ่านเท่ากับเลิก เท่ากับเราหยุด

 

ตอนที่ 3 สภาพที่ติดกับอะไร…สภาพเป็นทุกข์

คนที่นั่งลืมตาให้รู้สึกกระพริบตา กระพริบตาก็รู้สึก…รู้สึกได้ รู้สึกไปเรื่อยๆแล้วจะรู้ว่า โอ้โห้ร่างกายนี้เป็นทุกข์มากกระพริบตาบ่อยมากเลย

ความสงสัยนี้เป็นทุกข์อันใหญ่ พอเราหดกลับเข้าๆ แม้ว่าเหลือสงสัยบางเรื่อง เราจะเห็นว่าความสงสัยนี่เป็นทุกข์มากจริงๆ ทำไมมันเป็นสภาพทุกข์? เพราะมันเป็นสภาพติด “สภาพที่ติดกับอะไร เรียกว่า สภาพเป็นทุกข์”…ปล่อยไม่ได้

ถ้าเราติดความสุขเราจะแสวงหา…นี่ก็เป็นทุกข์แล้ว เพราะมีความอยาก มีตัณหา ก็เป็นทุกข์แล้ว ถ้าเราติดความทุกข์ เราจะเกิดการไม่อยากทุกข์ ก็เป็นทุกข์อีกแล้ว เพราะฉะนั้น ติดทั้งสุข ติดทั้งทุกข์ ล้วนเป็นทุกข์หมดทุกอย่าง

จะทำยังไงไม่ให้ติดกับอะไรเลย?

  1. ใช้ชีวิตในระบบสัมผัส…แค่รู้สึก รู้สึกกาย รู้สึกใจเนืองๆ
  2. เห็นสภาวะตามเป็นจริงได้ ไม่เข้าไปเป็นกับสภาวะนั้นๆ เช่น สภาวะสงสัยเกิดขึ้นก็เห็นมัน ไม่ใช่เข้าไปคิดกับมัน เห็นมันเป็นเพียงแค่สภาวะหนึ่งเกิดขึ้น ถ้าเราเห็นมันมันจะแสดงไตรลักษณ์ให้ดู ถ้าเราไม่เห็นมัน เราจะเข้าไปคิดกับมัน

ทีนี้หลับตา สังเกตความต่างระหว่างลืมตากับหลับตา ถ้าจิตใจเราตั้งมั่นอยู่กับเนื้อกับตัวดี เราจะเห็นอาการปรมัตถ์ของจิตที่มันฟุ้งซ่านได้ มันเป็นภาษาที่วูปไปนี้ก็รู้แล้ว มันยังไม่ทันก่อรูปก่อร่างเป็นความคิดหรอกมันวูปไปก็รู้สึกแล้วว่ามันฟุ้งซ่าน

สภาพที่จิตตั้งมั่นนี่มันไม่อยู่ข้างใน ไม่อยู่ข้างนอก และไม่ติดกับอะไร ถ้าเราอยากสังเกตว่าจิตเราตั้งมั่นมั้ย? สังเกตง่ายๆ แบบนี้ ไม่อยู่ข้างใน ไม่อยู่ข้างนอก ไม่มีที่ตั้ง อยู่กับเนื้อกับตัวสบายๆ เป็นธรรมชาติ ไม่ติดกับความคิด ไม่ติดกับสภาวะอารมณ์ใดๆ อย่างนี้เรียกว่า “จิตตั้งมั่น

คำสอนแต่ละประโยคของครูบาอาจารย์ใช้เวลา พวกเราต้องใช้เวลาผ่านประสบการณ์การปฏิบัตินี้แหละ กว่าจะเข้าใจคำๆ นึงที่ว่าเราเข้าใจแล้ว มันจะเข้าใจได้อีก มันจะเข้าใจได้อีกลึกซึ้งขึ้นเรื่อยๆ แต่ใช้เวลา เหมือนที่มีคนบอกว่ากว่าเข้าใจคำว่า “ไม่ต้องทำอะไร” ของหลวงพ่อใช้เวลา 5 ปี มันเป็นแบบนั้น ไม่ต้องรู้สึกว่าทำไมเราปัญญาทึบเข้าใจไม่ได้ ไม่ใช่…ธรรมะมันลึกซึ้งค่อยๆ เข้าใจ มันเข้าไปในใจได้เพราะมันผ่านประสบการณ์นั้น ผ่านความผิดพลาด ผ่านการติดซ้ายติดขวาเรื่องเดิมๆ ก็จะเข้าใจลึกซึ้งขึ้นเรื่อยๆ

 

ตอนที่ 4 จิตที่ตั้งมั่นคือ สภาพที่ไม่ติดกับอะไร

นั่งสมาธิร่วมกันครั้งนี้ สังเกตว่าจิตใจพวกเราส่วนใหญ่จะมีสมาธิแบบนี้ได้ใช้เวลาเกือบครึ่งชั่วโมง กว่าจะสงบระงับเป็นปกติใช้เวลา เราจะเห็นว่าจิตใจมันจะเข้าที่เข้าทางได้ต้องใช้เวลา เพราะฉะนั้น เมื่อออกไปจากการนั่งสมาธิร่วมกัน  ขึ้นรถเพื่อกลับไปที่พัก อยู่บนรถก็อยู่เงียบๆ ไม่ต้องเปิดเพลงฟัง ต่างคนต่างนั่งรู้เนื้อรู้ตัวไป รักษากำลังแรงส่ง (Momentum) อันนี้ไว้

เราไม่ได้มานั่งสมาธิเพื่อให้จิตสบาย เรานั่งสมาธิฟังธรรมเพื่อให้รู้จักสภาวะตามเป็นจริง แล้วก็รักษากำลังแรงส่งของการที่จะสามารถรู้จักสภาวะตามเป็นจริงได้ต่อไป…ไปเรื่อยๆ

เวลามีสภาวะเกิดขึ้น ให้เห็นสภาวะนั้นก่อน รู้ทันสภาวะนั้นก่อน ค่อยกลับมารู้สึกตัว มันมีอะไรก็ต้องเห็นก่อน รู้แล้ว…รู้แล้วก็กลับมารู้สึกตัว

(เสียงดังตึ่ง) เมื่อกี้เสียงดัง จิตใจกระเพื่อมพรึ่บอันนี้ก็เห็น รู้แล้ว…รู้แล้วก็ผ่านไป

หลวงพ่อเทียนสอนว่า อะไรเกิดขึ้น ก็รู้… “รู้แล้วก็ผ่านเลย” รู้ก่อน รู้แล้วผ่านเลยคืออะไร? คือ รู้อยู่แต่ไม่ได้สนใจมัน คือไม่ติดกับมันแต่ก็รู้อยู่

พอเรานั่งสมาธินี่ไม่ได้ต้องการเอาความสงบ ต้องนั่งให้ถูก เราแค่นั่งรู้เนื้อรู้ตัวอยู่ ถ้ารู้เนื้อรู้ตัวได้ดีมันก็รู้ทันความคิดได้ พอรู้ทันความคิดได้ รู้ทันอะไรๆได้ ความสงบก็เกิดขึ้นเอง

ความสงบในศาสนาพุทธไม่ได้เป็นความสงบแบบนิ่งสนิท ไม่รู้เรื่องอะไรเลย มันเป็น “ความสงบแบบตั้งมั่น” คือ รู้เนื้อรู้ตัวอยู่ รู้อะไรเป็นอะไร รู้อะไรผ่านมาผ่านไป รู้ว่าจิตมันฟุ้งซ่านก็รู้อยู่…รู้ได้ แต่ไม่เข้าไปฟุ้งซ่านกับมัน

เพราะฉะนั้น เรานั่งสมาธิไม่ได้นั่งเอาความสงบ ความสงบเป็นผลพลอยได้จากจิตที่ตั้งมั่นแล้ว

จำไว้นะ! “จิตที่ตั้งมั่นคือ สภาพที่ไม่ติดกับอะไร” ไม่ติดกับความคิด ไม่ติดกับความสงสัย ไม่ติดกับสภาวะใดๆ ไม่ติดกับอารมณ์ใดๆ เป็นความรู้ตื่นเบิกบาน

เห็นโทษของอาการติดให้ได้ มันจะสร้างอนุสัยเดิมๆ เหมือนเราขนขยะเข้าบ้านขนทุกวัน ถ้าเรายังไม่เห็นโทษของมันอย่างแท้จริง เราจะขนขยะเข้าบ้านตลอด คิดว่าไม่เป็นไรหรอกนิดเดียว เช่นอะไร? ชอบคิด คิดเรื่องนี้เป็นสุข คิดถึงคนนี้มีความสุข คิดถึงเรื่องนี้มีความสุข เบื้องหลังของมันคืออะไร? อาการปรมัตถ์คืออะไร? คือ “อาการติด” ถ้าเราติดสุขเราจะติดทุกข์เหมือนกัน เพราะมันคืออาการเดียวกัน ในทางปรมัตถ์มันไม่แยกว่าทุกข์หรือสุข เพราะทุกสภาวะล้วนเป็นทุกข์ มีสภาพเดียว คือ สภาพติด ยิ่งเราเสริมสร้างความติดมากเท่าไหร่มันจะยิ่งติดมากเท่านั้น

เราอยากจะเป็นอิสระอยากจะพ้นจากทุกข์ มันคือ…กิริยาใหม่ กิริยาแห่งความอิสระ คือ ไม่ติดกับอะไร ฝึกเส้นทางใหม่ “ฝึกที่จะไม่ติดกับอะไร” เรื่องเล็กเรื่องน้อยอย่าประมาท ให้ไม่ติด…ฝึกที่จะไม่ติด

ถ้ามันเข้าไปแล้วให้รู้ทัน มันจะเข้าอีกแล้วรู้ทัน มันจะไปแล้วรู้ทัน ใช้กิริยา “รู้”…ที่จะคอยสกัดกั้นไม่ให้มันไปทางเก่า ไม่ให้มันไปทางที่มันเคยชิน เขาเรียกว่าการปฏิบัติธรรม คือ การฝึก ดัด ขัดเกลา อนุสัย สันดานแบบนี้

การปฏิบัติทางใจเป็นการปฏิบัติที่ยากที่สุด มันสั่งสมมาไม่รู้เท่าไหร่ต่อเท่าไหร่ เราไม่ต้องไปบุกป่าฝ่าดง ปฏิบัติทางใจนี่มันให้ได้ ไม่ประมาท…ไม่ประมาทกับเรื่องเล็กๆน้อยๆที่จะพาเราติด ไม่ไปทางติด ถ้าเราสงสัยแล้วรู้ไม่ทันติดสงสัย ติดสงสัยก็ต่อด้วยติดคิด พอติดคิดก็ไม่รอดต้องทุกข์

คำสอนอันนี้มันก็แตกแขนงมาจากคำสอนที่ว่า “ไม่ตามกิเลส” นั่นแหละ กิเลส คือ เราชอบคิด ชอบสงสัย ชอบอะไรที่เราชอบที่เราติด เขาเรียกว่า ตามกิเลส แต่อันนี้ก็แยกย่อยมาให้เห็นว่า อาการแบบนี้ก็เป็นอาการตามกิเลสเหมือนกัน

บางทีเราคิดว่าเป็นการพิจารณาธรรม แต่คิดยังไงก็ไม่เหมือนหรอก ให้มันเห็นเองเลย เหมือนเราเข้ามาในห้องนี้ ให้คนอธิบายเรายังไงห้องนี้มันเหลี่ยมๆ สีเป็นอย่างนี้ พื้นเป็นอย่างนี้ กว้างเท่านี้ สูงเท่านี้ ที่นั่งเป็นอย่างนี้ เราก็คิดตามได้ภาพๆ นึงขึ้นมา เขาบอกซะละเอียดเลยนะ เราก็คิดตามได้…ได้ภาพๆ นึงขึ้นมา แต่พอเรามาเห็นเอง…อ้าว! ไม่เห็นเหมือนที่คิดเลย นี่ต้องเข้าใจ การพิจารณามันไม่ใช่ความจริง การพิจารณาธรรมเบื้องต้นเอาไว้สอนตัวเองก่อน ไม่ได้ผิดอะไรแต่ต้องรู้ว่ามันไม่ใช่ความจริง

พิจารณาให้มันพอดี พิจารณาให้มันพอเป็นประโยชน์ไม่ถึงกับฟุ้งซ่านอันนี้โอเค การพิจารณาธรรมเป็นประโยชน์ด้านไหน? ด้านที่สุดท้ายจิตใจนี้จะเป็นปกติ…มันช่วยเรา เวลาเราทุกข์พิจารณาธรรมช่วยเรา มันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตามันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เดี๋ยวมันเกิด…มันก็ต้องดับ ไม่มีอะไรอยู่ตลอดหรอกเว้ย ความทุกข์ก็ไม่มีอะไรอยู่ตลอดหรอกเว้ย สอนตัวเอง ความทุกข์จะได้จางคลายลงจิตใจเป็นปกติได้ จิตใจเป็นปกติได้ก็รู้เนื้อรู้ตัวได้ เหล่านี้เป็นศิลปะ ศิลปะของนักปฏิบัติธรรมใช้ให้เป็น ใช้อย่างสมดุล

 

ตอนที่ 5 แค่รู้สึก รู้ทัน มันก็ไม่เข้าไปติด

ถ้าเราไม่ติดกับอะไร เราจะไม่ทุกข์ มีความคิดมีความสงสัยแต่ไม่ติดกับมันก็ไม่มีใครทุกข์ แต่ไม่ใช่ปล่อยมันคิดฟุ้งซ่าน รู้ทัน…รู้ทันแล้วมันก็ดับไป จิตใจก็อยู่กับเนื้อกับตัว อย่าประมาทกับความคิด อย่าประมาทกับกิเลส มันฉลาดกว่าเรามากมายมหาศาลจริงๆ

ฟังครูบาอาจารย์ท่านเล่าว่า กิเลสตัวเดิมอันเดิมนี่แหละ เคยติดผ่านมาได้ทีนึงแล้ว ภาวนาไปภาวนาไปมันมาอีกทีแล้ว…แต่ลืม มันก็หลอกเราอีก มันหลอกเราไม่พอใช้กระบวนท่าเดิมก็เอาไม่อยู่ ต้องหากระบวนท่าใหม่ มันเป็นเหมือนมะเร็งมันมีอีกหลายขั้น มันหลอกเราได้ซับซ้อนโดยเฉพาะหลอกในความรู้สึกว่ามันต้องคิดต้องทำต้องอะไรเพราะมันดูดี

ภาษาบาลีจึงมีว่า ความปรุงแต่งฝ่ายดี “ปุญญาภิสังขาร” ปรุงแต่งว่างๆ “อาเนญชาภิสังขาร” แล้วก็ความปรุงแต่งฝ่ายชั่ว “อปุญญาภิสังขาร” ปรุงแต่งหมดทุกอย่าง ถ้าเราตกเป็นทาสของความปรุงแต่ง ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายชั่ว ฝ่ายดี หรือไปปรุงแต่งว่างๆ นั่น “เราติดแล้ว” ตกอยู่ภายใต้ความปรุงแต่งแล้ว

แต่ถ้า “แค่รู้สึก” เคลื่อนไหวก็รู้สึก อิริยาบถใหญ่อิริยาบถย่อยรู้สึก อย่าลืมอิริยาบถย่อยสำคัญ…กระพริบตา อ้าปาก กลืนน้ำลาย ขยับเขยื้อน คู้เหยียดเคลื่อนไหว เอี้ยวเนื้อเอี้ยวตัว ขยับนิดขยับหน่อย ไม่ลืมที่จะรู้สึก ถ้าเราแค่รู้สึกอยู่อย่างนี้ มันมีมั้ยปรุงแต่งฝ่ายดี ปรุงแต่งฝ่ายชั่ว ปรุงแต่งว่างๆ…ไม่มี !

แล้วพอจิตใจที่เต็มไปด้วยอวิชามันก็มักจะมีกิเลสจรมา การแค่รู้สึกนี้มันเป็นพื้นฐานแห่งความบริสุทธิ์ เพราะฉะนั้น มีอะไรไม่บริสุทธิ์ผ่านมาปุ๊บมันเห็นเลย เห็นเร็ว เห็นไว เห็นชัด…พอเห็นเร็ว เห็นไว เห็นชัดเป็นไง? “มันไม่เข้าไป”…รู้ทัน พอไม่เข้าไปมันก็ไม่ติด ไม่ติดมันก็ไม่ทุกข์ ไม่ติดมันก็ไม่สร้างเสริมอนุสัยเก่าๆ อนุสัยเดิมๆ มันก็สร้างทางใหม่… “ทางแห่งความไม่ติดกับอะไร” ชีวิตก็จะค่อยๆ หลุดพ้นๆมากขึ้นเรื่อยๆ ความหลุดพ้นนี้มันค่อยๆ ค่อยเป็นค่อยไป…ค่อยๆ

เคยได้ยินบางคนบอก โอ้ย! ไม่ต้องขัดเกลาหรอกเดี๋ยวรอบรรลุธรรมทีเดียวมันจะได้แก้หมดทุกอย่าง นี่พวกคิดเอาเอง มันต้องค่อยๆ ขัดเกลา ขัดเกลา จนขัดเกลาสุดท้ายมันก็หมด

 

11-08-2561

Camouflage

 

YouTube : https://youtu.be/zXUQB49riEc

คลิปเสียงธรรมะทั้งหมดของอาจารย์ Camouflage : https://goo.gl/RDZFMI

======================

5 ช่องทางการอ่านและฟังธรรม

1) Facebook : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
http://www.facebook.com/sookguysookjai

2) Line : @camouflage.talk
https://line.me/R/ti/p/%40camouflage.talk

3) YouTube : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
https://goo.gl/in9S5v

4) Website: https://camouflagetalk.com/

5) Podcast : Camouflage – Dhamma Talk
https://itun.es/th/t6Mzdb.c
วิธีการติดตั้ง https://goo.gl/tBMY9S