77.หน้าที่แห่งการกลับมา

ตอนที่ 1 สำคัญที่กริยาของการกลับมา

ปฏิบัติธรรม คือ การกลับมา…กลับมารู้กายรู้ใจ เมื่อกี้ที่เราเริ่มนั่งสมาธิสังเกตดูเราก็เริ่มนั่งรู้เนื้อรู้ตัวไป แต่เราชอบลืมที่จะกลับมาดูใจตัวเอง รู้สึกตัว คำว่า “ตัว” นี้หมายถึง “กายกับใจ

การปฏิบัติธรรมไม่มีอะไรยาก ทำแค่นี้… “หมั่นที่จะกลับมา” ความรู้เนื้อรู้ตัวนี้เป็นพื้นฐานเป็นแบคกราว พวกเราปฏิบัติกันมามีพื้นฐานอันนี้พอสมควรแล้ว แต่สิ่งที่เราลืมไป คือ “การกลับมารู้ใจ” ซึ่งเป็นคำสอนที่ผมให้ไว้ตั้งแต่คลิปแรกๆ แล้ว คลิปที่ 1-8 ข้อที่ 3 คือ “หันกลับมาดูใจ ใจเป็นยังไงก็รู้ ปกติก็รู้ ไม่ปกติก็รู้” เพราะฉะนั้น สำคัญที่ไหน? “สำคัญที่กริยาของการกลับมา” หน้าที่ง่ายๆ อันนี้อย่าลืม

เรานั่งๆ ไปนี่รู้เนื้อรู้ตัวอยู่เป็นพื้นฐานอยู่แล้ว แต่สังเกตมั้ยว่าพอเราไม่รู้ใจ ไม่กลับมาดูใจ มันชอบไปคิด คิดโน่นคิดนี่ ก็รู้ทัน รู้ทันไม่เท่าไหร่ คิดอีกแล้ว พอไม่คิดก็หลับ ทำอยู่ 2 อย่าง เพราะฉะนั้น แทนที่เราจะปล่อยให้จิตมันคิดหรือมันหลับ อย่าลืมหน้าที่ข้อที่ 3 อีกอันหนึ่ง “หันกลับมาดูใจบ่อยๆ” นั่งไปรู้เนื้อรู้ตัวไป สังเกตใจหน่อยเป็นยังไง อ้าวเป็นแบบนี้ รู้เนื้อรู้ตัวไป สังเกตใจเป็นยังไงตอนนี้ ให้มันเนืองๆ ไว้ “สลับกันเป็นลูกคู่กัน

พวกเราทุกข์ทุกวันนี้เพราะจิตนี้มันชอบออกนอก ฟุ้งซ่านเรียกว่าออกนอก ชอบคิดเป็นเรื่องเป็นราวเป็นจริงเป็นจัง

การปฏิบัติ คือ กลับมา…กลับมารู้กายรู้ใจนี้ เราเพียงแค่สร้างกริยาใหม่ให้กับจิตนี้เฉยๆ สร้างความเคยชินใหม่ให้กับจิตนี้เฉยๆ มันชอบพาเราฟุ้งซ่านมาไม่รู้กี่ภพกี่ชาติ พาเราทุกข์ไม่รู้กี่ภพกี่ชาติ ถึงเวลาที่เราได้รู้แล้วว่า เราต้องสร้างทางใหม่ มันออกนอก เราแค่หัดให้มันกลับมา แค่หันกลับมามันก็กลับมาแล้ว

ลองสังเกตว่าถ้าเราหันกลับมาดูใจเราหน่อยนึงนี่เป็นยังไง ความรู้เนื้อรู้ตัวก็บังเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติเลย เพราะฉะนั้น ถ้าเราหันกลับมาดูใจเราจะรู้สึกกายด้วย “มันมาเป็นแพ็คคู่” แต่ถ้าเรารู้สึกตัวอย่างเดียว แล้วลืมใจไปนี่ ใจมันจะไปคิด มันไม่มาเป็นแพ็คคู่

เพราะฉะนั้น อย่าลืมหน้าที่ ที่ผมบอกไว้ “รู้สึกตัว พ้นออกจากโลกความคิดปรุงแต่ง แล้วอย่าลืมหันมาดูใจตัวเองบ่อยๆ” มันดีก็ได้ ไม่ดีก็ได้ ปกติก็ได้ ไม่ปกติก็ได้ “ก็แค่รู้” เพราะสำคัญคือ “กริยาการกลับมานั่นแหละ เรียกว่า ได้ปฏิบัติ

ทีนี้การปฏิบัติของเราจะไม่อยู่แค่การนั่งการเดินจงกรม ไม่อยู่แค่นั้นอีกแล้ว มันจะอยู่ทุกอิริยาบถของชีวิตเรา ตั้งแต่เราตื่นจนหลับเลย

 

ตอนที่ 2 นาทีทองของการปฏิบัติธรรม

ตอนนี้สังเกตกลับมาดูใจตัวเองเป็นยังไง เราจะรู้สึกถึงการกลับมาทั้งหมด ความอยู่กับเนื้อกับตัวที่หนาแน่นหนักแน่น เรากลับมาดูใจแค่ไม่กี่ทีหรอก มันจะหนาแน่นหนักแน่นถ้าจิตใจเราปกติอยู่

ตอนไม่ปกติมันอาจจะทำยากหน่อย มันอาจจะรู้สึกว่า ไม่ดีเท่าตอนที่จิตใจสงบปกติอยู่นี่มันจะไม่มีอะไร แต่นั้นก็เป็นบทเรียนให้เรารู้ว่า “นาทีทองของการปฏิบัติธรรม” คือ เวลาที่จิตใจนี้เป็นปกติอยู่ อย่าเอาพละกำลังวังชาของกายของใจที่ปกติอยู่นี่ไปทำเรื่องฟุ้งซ่าน ไปทำเรื่องไร้สาระ เพราะการทำแบบนั้นมันยิ่งบั่นทอนกำลังเรา บั่นทอนลงไปเรื่อยๆ เราเอากำลังไปหาความสุขในโลก แล้วจิตก็อ่อนลง พอจิตอ่อนลงเราก็มานั่งปฏิบัติธรรม ปฏิบัติได้ก็ดีไป ปฏิบัติไม่ได้ก็ท้อแท้
ทำไมยังเป็นอย่างนี้อยู่

เพราะฉะนั้น หมั่นกลับมาหันมาดูใจ หันกลับมาเช็คอารมณ์ตัวเอง เช็คใจตัวเองบ่อยๆ ถามตัวเองตอนนี้เป็นยังไง จิตใจเป็นยังไงตอนนี้ ให้รักษาแรงส่ง (Momentum) นี้ไว้ คำว่า รักษาแรงส่ง (Momentum)นี้ คืออะไร? คอยรักษาที่จะไม่ลืมกิริยาการหันกลับมาดูใจ เรียกว่า “อย่าลืมหน้าที่

เพราะฉะนั้น เรามีหน้าที่ไม่กี่อย่างเลย 3 ข้อตลอดกาล (Forever) ที่ผมเคยบอกมาตลอด แต่สังเกตมั้ยตอนนี้พวกเราเหลือทำแค่อะไร เหลือทำแค่รู้สึกตัว รู้ทันจิตไปคิด รู้ทันจนเหนื่อยเพราะคิดเยอะเหลือเกิน เพราะเราลืม…ลืมข้อที่ 3 คือการหมั่นหันกลับมาดูใจตัวเองเป็นยังไงตอนนี้ โดยเฉพาะเวลาที่จิตใจเป็นปกติอยู่ อย่าชะล่าใจอย่าประมาท โอ้ปกติแล้วไม่ต้อง อย่างนี้เรียกว่าคนประมาท

ปกติเป็นสภาวะที่ดีมั้ย ก็ดี มันไม่มีกิเลส มันทำให้จิตใจนี้มีกำลังมีสมาธิ แต่ก่อนจะรู้จักปกติได้ มันต้องกลับมาก่อน เพราะฉะนั้น เห็นความสำคัญของการกลับมา

กริยากลับมา” มันทำให้ความอยู่กับเนื้อกับตัวหนาแน่นขึ้น ความไม่ลืมเนื้อลืมตัวหนักแน่นขึ้น แล้วพอมันหนักแน่นขึ้น ความคิดฟุ้งซ่านจะน้อยลง ความตื่นรู้มันจะตื่นจริงๆ แล้วพอความคิดมันน้อยลง โอกาสที่รู้ทันความคิดได้เร็วขึ้นก็มีมากขึ้น โอกาสที่สังสารวัฏนี้จะถูกก่อร่างสร้างตัวจนเป็นทุกข์ก็น้อยลงสั้นลง เพราะเรารู้ทันมันเร็วขึ้น พอรู้ทันมันปึ๊บเกิดอะไรขึ้น ก็กลับมาดูใจเป็นยังไง เมื่อกี้เผลอแวบไปคิดใจเป็นยังไงตอนนี้ อ่อไม่มีอะไร ปกติอยู่ นี่ ไม่ลืมหน้าที่นี้

พวกเราลองทำดูตั้งแต่เดี๋ยวนี้ ตอนนี้ นั่งไปรู้เนื้อรู้ตัวไป รู้เนื้อรู้ตัวไปปึ๊บจำได้หันกลับมาดูใจเป็นไง เป็นไงก็เป็นงั้น ไม่ได้สำคัญอะไร “สำคัญว่าได้กลับมา สำคัญที่ไม่ลืมหน้าที่

สมมติชีวิตเราเหลือหน้าที่แค่นี้ การปฏิบัติธรรมมีหน้าที่แค่นี้ การปฏิบัติธรรมจะยากได้มั้ย? ยากไม่ได้ มันยากก็ต่อเมื่อเราพยายาม เพราะฉะนั้น ไม่ต้องพยายาม ทำหน้าที่เฉยๆ แค่ไหนแค่นั้น มันจะพัฒนาไปเอง ขอแค่ทำหน้าที่

บางเวลาก็ทำไม่ได้ ความคิดเยอะ ความทุกข์เยอะ ความปรุงแต่งเยอะ เลิกก่อน ไปทำอย่างอื่นให้มันผ่อนคลายก่อน ผ่อนคลายแล้วจิตใจเริ่มสบายขึ้นปกติขึ้น รีบเลย…นาทีทอง อย่าทิ้งเวลาแบบนั้น อย่าทิ้งเวลาแบบนั้นเอาไปดูหนังฟังเพลงดูตลก ช้อปปิ้ง อย่าเอาเวลาดีๆ ไปทำเรื่องไม่เป็นเรื่อง

พอเรารักษาหน้าที่แบบนี้เอาไว้ จิตใจก็มีกำลัง ความทุกข์ถาโถมาก็รับได้ ไม่ใช่รับได้แบบไปรับมัน เมื่อจิตนี้มีกำลังมันจะไม่ปรุงแต่งไปในทางจมทุกข์เหมือนเมื่อก่อนนี้เอง มันจะแค่คิดๆ แล้วก็จบ แต่ไม่สร้างความทุกข์ให้ แต่บางทีก็ไม่รอด…ติดความคิด แต่เราจะสังเกตจิตใจได้ชัดเจนขึ้นว่ามันกำลังจมแล้ว เราจะไม่ทันจม เราจะเห็นก่อน แล้วก็ “ถอนตัวออกมาได้

เพราะฉะนั้น ฝึกแบบนี้เอาไว้ ฝึกง่ายๆ 3 ข้อ รู้สึกตัว ไม่ตามความคิดไป หันกลับมาดูใจบ่อยๆ แปรงฟันก็ทำได้ อาบน้ำเพลินๆ อยู่ก็หันกลับมาดูใจหน่อยเป็นยังไงก็ทำได้ ขับรถนี้ยิ่งทำง่ายเลย

จิตใจมันมีกำลังหนักแน่น เราจะรู้ได้เองเลยว่า อ่อ สภาพจิตที่มันตั้งมั่น อยู่กับเนื้อกับตัว ตื่น นี้มันเป็นยังไง แต่ไม่ต้องคาดหวังว่า โอ้โห้…จะตั้งมั่นแบบคนเค้ามีฌานมีพลังสมาธิ เรามีแค่ขณิกสมาธิ แต่เราก็จะรู้ความแตกต่างได้ เมื่อจิตใจมีกำลังตั้งมั่นอยู่กับเนื้อกับตัวมากขึ้น

 

ตอนที่ 3 ความทุกข์ลับปัญญา

กับดักอีกอย่างหนึ่งของพวกเราทุกคนคือ “การชอบไปคิด” ชอบเรื่องนี้ก็คิด ไม่ชอบไอ้คนนี้ก็คิดเหมือนกัน เพราะฉะนั้น อย่าติดกับความคิด

กับดักของความคิดทำลายสมาธิอย่างรวดเร็วและรุนแรง ยาเสพติดไม่รุนแรงเท่าความคิด “ติดความคิดเมื่อไรชีวิตทุกข์แน่” เพราะความคิดมันสร้างโลกสร้างคนสร้างทุกสิ่งทุกอย่างให้มันเป็นจริงเป็นจังไปหมด ครูบาอาจารย์เลยว่า “เราทุกข์เพราะความคิด

เพราะฉะนั้น เมื่อจิตใจอยู่กับเนื้อกับตัวแล้ว พอที่จะตั้งมั่นขึ้นมาบ้างแล้ว ระวังกับดักของความคิด มันเกิดขึ้นก็รู้ทัน มันกำลังเข้าไปก็รู้ทัน อย่าติดกับมัน พอติดแล้วก็ทุกข์ พอทุกข์แล้วก็ต้องรับทุกข์ เมื่อรับทุกข์แล้วก็เริ่มใหม่ เอาใหม่ เราทุกคนต้องโดนชกล้มเหมือนกันหมด ไม่งั้นมันไม่จำ ถือว่าเป็น “บทเรียน

นั่งสมาธิไปนี่ เพียงแค่เราไม่ลืมใจ มันก็ไปคิดไม่ค่อยได้แล้ว เรานั่งนี่ นั่งด้วยความรู้เนื้อรู้ตัวอยู่แบบนี้ แล้วเราก็ไม่ลืมใจ ไม่ลืมไม่ได้แปลว่าเพ่งเอาไว้ “ไม่ลืมเฉยๆ

ผมพูดไม่ลืม บางทีมันก็ลืม ก็คือมันแวบไปคิด ซึ่งเป็นธรรมชาติที่ดี มันจะได้ไม่เผลอไปเพ่งเอา แต่จะสังเกตได้ว่าพอแวบไปคิดพรึ่บ รู้ทันเร็วเลย เพราะเมื่อกี้มันไม่ลืม รู้ทันพรึ่บก็กลับมาใหม่ทันที…กลับเอง

เวลาเราหันกลับมาดูใจ กลับมารู้สึกตัว บางทีจิตใจก็แน่นๆ นิดนึงไม่ใช่ปัญหานะ อย่างไปคิดว่าเป็นปัญหา มันแค่ยังไม่ผ่อนคลายเต็มที่แค่นั้น มันจะปรับเอง ก็แค่รู้มันเป็นแบบนี้ เพราะฉะนั้น สำคัญ คือ “ได้ทำหน้าที่…ได้ทำหน้าที่แห่งการกลับมา

ได้ทำหน้าที่แห่งการรู้ทันจิตที่ไปคิด แล้วนอกนั้น “ให้มันเป็นเอง” มันจะเป็นอะไรก็รู้มันเป็นอย่างนี้

สมัยก่อนพวกเราก็ทำหน้าที่นี้กันอย่างแข็งขันในช่วงปีแรกๆ ทำไปทำมาไม่รู้เป็นไงลืมไปหมด ข้อ 3 นี่ แต่เพราะอะไร?…เพราะด้วยความประมาท เพราะคิดว่าปกติแล้ว ในการปฏิบัติธรรมถ้าเมื่อไรคิดว่าดีแล้ว จำไว้เลยว่าอันตรายที่สุด นั้นคือ “ทางแห่งความประมาท

พระพุทธเจ้าจึงต้องพูดเรื่องนี้เป็นพุทธโอวาสทก่อนจะปรินิพพาน “จงดำรงตนอยู่ในความไม่ประมาท” เพราะความประมาทเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ปุถุชนยันพระอริยะเลย

ความสุขความสบายชอบหลอก กิเลสนี้มันหลอกเก่ง มันหลอกในคราบของความสุขความสบาย ว่าดีแล้ว มันหลอกในคราบของเรื่องแบบนี้ เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าเลยเน้นย้ำอย่างมากว่า “การปฏิบัติธรรม คือ การเรียนรู้ทุกข์”  “คนจะล่วงทุกข์ไปได้ด้วยความเพียร” ท่านบอก “ไม่เห็นทุกข์ไม่เห็นธรรม

ถ้าชีวิตสุขสบาย ปฏิบัติแล้วสุขสบาย รู้ไว้เลยทุกข์หายไปไหนหมด ถ้ายังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ทุกข์หายไปไหนหมด เพราะฉะนั้น “ทุกข์เป็นกำลัง” “มารไม่มีบารมีไม่เกิด” “ทุกข์เป็นเหมือนหินลับปัญญา” หินลับมีด ทุกข์นี่เป็นตัวลับปัญญา ไม่มีทุกข์ปัญญาเกิดไม่ได้

อย่างที่เราปฏิบัติกัน อย่างตอนนี้ ความทุกข์คืออะไร? คือ ความคิด ถ้าเราบอกว่า โอ้เราก็คิดดีอย่างเดียวก็ไม่ทุกข์ไง แต่เราหนีไม่พ้นถ้าเราคิดดี มันก็ต้องมีคิดไม่ดีด้วย เป็นของคู่กัน เพราะฉะนั้น “ความคิดสร้างความทุกข์ให้กับเราทุกคนที่จิตนี้ยังปรุงแต่งอยู่” จิตที่มีกิเลสนี้มันพร้อมที่จะปรุงแต่งความคิดทุกอัน พาไปทุกข์พาไปสุข ฉะนั้น พวกเรามีความทุกข์ก็คือความคิด เราฝึกที่จะรู้ทันมัน ไม่เข้าไปในมัน

 

ตอนที่ 4 หน้าที่แห่งการกลับมา

เราฝึกหน้าที่อะไร? หน้าที่รู้สึกตัว หันกลับมาดูใจ รู้สึกตัว หันกลับมาดูใจ รู้สึกตัว หันกลับมาดูใจ ทำอยู่แค่นี้ แล้วพอความคิดเกิดขึ้นมันก็รู้ทันได้ รู้ทันแบบมีกำลังด้วย บางทีเป็นแค่สัญญาก็รู้แล้ว

เพราะฉะนั้น เมื่อความคิดหรือสัญญาเกิดขึ้น ถ้าไม่ใช่เรื่องราวที่ต้องไปคิด ไม่ใช่หน้าที่การงานที่ต้องไปทำ รู้เสร็จปึ๊บก็กลับมาดูใจตัวเองเป็นยังไง “พอกลับมาดูใจความรู้สึกตัวก็เกิดขึ้นด้วย” ก็เป็นพลังที่จะหนักแน่น ไม่เข้าไปในสัญญาเมื่อกี้นี้ ไม่เข้าไปคิดต่อ เพียงแค่เรากลับมา

มันเกิดขึ้นปั๊บรู้ทันปุ๊บ กลับมาทำหน้าที่ก่อน “สอนตัวเอง…กลับมาทำหน้าที่ก่อน” อย่าปล่อยให้คิดก็ได้เพราะตอนนี้โอเคคิดแล้วไม่ทุกข์…อย่า!! อย่าประมาทแบบนั้น เวลามันตกหน้าผามันตกเลย ไม่ใช่เอาเท้าแหย่เข้าไปแล้วเอาชักกลับมาใหม่ได้ ถ้าร่วงไปแล้วต้องคอยขึ้นมาใหม่ลำบาก

สัญญาเกิดขึ้น ความคิดเกิดขึ้นให้รู้ทัน แบบนี้เรียกว่า เอาขาแหย่ไปแล้วชักกลับเลย ถ้าเข้าไปลองคิดกับมันหน่อยนึง เรียกว่า กระโดดลงหน้าผาไปแล้ว ทีนี้เกิดอะไรขึ้น? ความชอบไม่ชอบ พอใจไม่พอใจ คนโน่นคนนี้คนนั้นก็เกิดขึ้น โลกมันเลยเป็นแบบนี้ มีแต่ความเกลียดชังอาฆาตพยาบาท ไม่พอใจ รักจนเป็นบ้า เกลียดจนเป็นบ้า

ลองคิดดูว่าถ้าเราหมดทั้งความพอใจและไม่พอใจ เราจะมีความสุขขนาดไหน คนไม่ชอบเรามาพูดกับเรา เรายังเฉยๆ เลย ไม่ใช่ไม่ชอบเค้าด้วย เราเฉยๆ ดีมาเราก็ดีไป ไม่ดีมาเราก็เฉยๆ ไม่ได้ไปโกรธไปเกลียดเค้าด้วย

เพราะฉะนั้น เรานักปฏิบัติ ทุกขณะจิตใจนั้นเป็นทาง 2 แพร่งเสมอ เมื่อเวลามีความคิดเกิดขึ้นมี 2 ทางให้เราเลือก 1) เราจะไปคิดกับมัน  หรือ 2) เราจะกลับมารู้สึกตัวรู้สึกใจของเรา

กลับมาดูใจของเรา กลับมาอยู่กับเนื้อกับตัวของเรา หรือจะเข้าไปคิดต่อดี เรามีทางเลือกเสมอ เราต้องเลือกให้ถูก

อยากเป็นนักปฏิบัติธรรม อยากพ้นทุกข์ เลือกกลับมารู้สึกตัว เลือกที่จะกลับมาดูใจของตัวเอง อยากเป็นคนในโลกก็ไปคิด หาถูกหาผิด หาเรื่องหาราวใส่ตัวใส่คนอื่น อยู่ที่เรา เราเข้มแข็งจะเป็นคนแบบไหน เราอยากให้ชีวิตเป็นยังไง  “เราเลือกได้ด้วยตัวเราเอง

พอเรานั่งสบายๆ รู้เนื้อรู้ตัว นึกขึ้นได้เราก็หันกลับมาดูเป็นยังไง อ่อ…ไม่มีอะไร ปกติ นี่ สลับกันอยู่แค่นี้ ทำกับข้าวทำงานบ้านทำอะไรๆ คุยกับคนอื่นยังทำได้เลยหันกลับมาดูใจ เค้าพูดเราก็หันกลับมาดูใจเรา แวบเดียว รับรองไม่มีใครรู้เรื่องว่าเราปฏิบัติธรรมอยู่ จิตใจเราก็ยิ่งหนักแน่น เผื่อเค้ากำลังพูดอะไรไม่เข้าหูเรานี่ เราจะไม่คล้อยตามเลย เป็นเรื่องของคนบ้าเฉยๆ ที่ฟุ้งซ่านพูดโน่นพูดนี้ นินทาคนโน่นคนนี้ให้ฟัง

ตอนนี้ลองลืมตา มองไปไกลๆ มองไปข้างหน้า สังเกตมั้ยเรามองไปข้างหน้า แต่ความอยู่กับเนื้อกับตัวมันก็ยังอยู่ หันกลับมาดูใจเป็นยังไง เงียบ ปกติ ไม่มีอะไร นี่เค้าเรียกว่า เราอยู่ในชีวิตประจำวัน เรามองได้ยิน สัมผัสหรืออะไรก็ตามที กำลังของความอยู่กับเนื้อกับตัวมันอยู่กับเราอยู่แล้ว

ทีนี้เราอย่าลืม…อย่าลืมหันกลับมาดูใจ พอหันกลับมาดูใจนี่เป็น “แพคคู่” …หนักแน่น ความรู้สึกตัว ความอยู่กับเนื้อกับตัวมันก็มาด้วย “แล้วมันจะเป็นกำลัง” ที่จะถูกใช้ในการทำการทำงานในชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดีเลย

ความท้อแท้ใจจะลดลง ความเศร้าหมองต่างๆ จะลดลง เพราะอะไร? เพราะมันตื่น มันเป็นความตื่น เป็นความอยู่กับเนื้อกับตัว ที่มันตื่น มันมีกำลัง

ลองนิ่งๆ นั่งนิ่งๆ มองไป นี่ความคิดไม่มี อยู่กับเนื้อกับตัว พอมันเริ่มเงียบหันกลับมาดูใจว่าเป็นยังไง เวลามันเงียบมันมีความสุข บางทีมันจะเคลิ้ม เพราะฉะนั้น อย่าลืมเครื่องมือหน้าที่อันนี้ “หน้าที่แห่งการกลับมา ดูใจของตัวเองว่าเป็นยังไง

ถ้าเราไม่ทำหน้าที่นี้บ่อยๆ จิตใจจะทำหน้าที่ของมันเองคืออะไร? คือล่องลอยไปคิด

ซ้อมก่อน ซ้อมเอาไว้ ซ้อมอยู่เรื่อยๆ ไม่ปล่อยปละละเลยให้ใจนี้วิ่งพล่านจนสร้างทุกข์ให้กับเรา

 

28-07-2561

Camouflage

 

YouTube : https://youtu.be/BchKUrhhzXc

คลิปเสียงธรรมะทั้งหมดของอาจารย์ Camouflage : https://goo.gl/RDZFMI

======================

5 ช่องทางการอ่านและฟังธรรม

1) Facebook : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
http://www.facebook.com/sookguysookjai

2) Line : @camouflage.talk
https://line.me/R/ti/p/%40camouflage.talk

3) YouTube : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
https://goo.gl/in9S5v

4) Website: https://camouflagetalk.com/

5) Podcast : Camouflage – Dhamma Talk
https://itun.es/th/t6Mzdb.c
วิธีการติดตั้ง https://goo.gl/tBMY9S