76.นำเจริญสติแบบเคลื่อนไหว 14 จังหวะ

ตอนที่ 1 จิตใจนี้ต้อง “ตื่น” ขึ้นมาก่อน

นั่งสมาธิเราไม่ได้เอาความสงบ ความสงบทำให้เราติด ชอบ แต่เราปิดอายตนะเพื่อที่จะรู้สึกตัว ลดความฟุ้งซ่านต่างๆ นั่งให้มัน “รู้เนื้อรู้ตัว

ถ้าความรู้สึกตัว ความตื่นเนื้อตื่นตัวลดลงไป ต้องหายใจเข้า ขยับตัวหน่อย อย่าให้ความสงบหลอกให้เราติดกับความสงบ

ความตื่นเนื้อตื่นตัว ความตื่นรู้ อยู่เหนือความสุขและความทุกข์ อยู่เหนืออารมณ์สุขและอารมณ์ทุกข์

ลองบอกตัวเองว่า ชั่วโมงนี้จะไม่ทำอะไรนอกจากรู้เนื้อรู้ตัว คอยรู้เนื้อรู้ตัว เราจะคอยสังเกตสภาพตื่นนี้ ไม่ให้มันหลับ…เอาแค่นี้ ตั้งใจกับตัวเองไว้แค่นี้ ให้มันต่อเนื่องจริงๆ ความคิดความอ่านอะไรตอนนี้ เกิดขึ้นก็รู้ทัน กลับมาอยู่กับความรู้สึกตัว ไม่เข้าไปคิดหาเหตุหาผล หาความเข้าใจอะไรทั้งนั้น

ให้เห็นความอยู่กับเนื้อกับตัวเป็นยังไง จิตที่มันวิ่งวนอยู่ในกายนี้เป็นยังไง รู้สึกอะไรก็รู้สึก แล้วก็ผ่านไป ให้มันเป็นระบบสัมผัส อะไรก็รู้สึก ไม่ใช่ไปคาอยู่ที่ใดที่หนึ่ง มันไปไหนก็รู้ รู้แล้วผ่านเลย

ก่อนที่จิตใจนี้จะไปเจริญปัญญา เห็นอะไรๆ ได้ที่เรียกว่า วิปัสสนา จิตใจนี้ต้องตื่นก่อน ที่กำลังให้ทำอยู่นี้ เพื่อให้จิตใจนี้มัน “ตื่น” ขึ้นมาก่อน มันตื่นขึ้นมาได้ยังไง? เพราะมันไม่ได้อยู่ในโลกของความคิดปรุงแต่ง… “อาศัยความรู้สึกตัว อาศัยร่างกาย

พอมันตื่น มันก็มีสัมมาสมาธิที่จิตมันตั้งมั่น  ก็จะเห็นกายกับจิตนี้ตกอยู่ภายใต้กฎไตรลักษณ์ มันเป็นธรรมชาติของมันแบบนั้น ไม่มีใครบอกพระพุทธเจ้าก่อนว่า ต้องเห็นไตรลักษณ์ พระพุทธเจ้าแค่มาถูกทางเฉยๆ และก็เข้าใจไตรลักษณ์เอง

ส่วนพวกเราก็ฟังคำสอนเกี่ยวกับไตรลักษณ์มาเยอะ เพราะฉะนั้น จิตใจนี้มันเป็นเอง มันไปเองเลย แต่หมายถึงว่าเราต้องเข้าให้ถูกทาง ปฏิบัติให้ถูกทาง ถ้ามัวแต่จะไปทำนี่ทำนั่น เอานี่ไม่เอานั่น…แบบนี้เห็นไตรลักษณ์ไม่ได้ เพราะมันมีเราทำตลอด

ทำแบบนั้นเราเดินทางคนละเส้นกัน เดินทางอีกเส้นก็จะเห็นอีกอย่าง เดินทางอีกเส้นก็เห็นอีกอย่าง ไปตามธรรมชาติของเหตุปัจจัย สร้างเหตุแบบไหน มันไปแบบนั้น

เพราะฉะนั้น สร้างเหตุให้ถูก เข้าใจการปฏิบัติธรรมให้ถูก แล้วมันจะเป็นไปเอง

มันอาจจะไม่ราบรื่น ราบเรียบ ติดนู่น ติดนี่บ้าง แต่มันอยู่ในทาง

เวลานั่งถ้าหลับ อันนี้ต้องรู้… ต้องรู้ว่า อ่อ! แบบนี้ต้องพักหน่อย เดี๋ยวจะมีกำลังเมื่อเช้าฟุ้งซ่านเยอะ แต่ถ้าหลับเพราะความชอบ อันนี้ต้องลืมตา “ตื่น” ขึ้นมา

 

ตอนที่ 2 ฝึกให้จิตมีสมาธิสงบแบบตั้งมั่น

ปัญหาของนักปฏิบัติมากมาย…มากมายจริงๆ ไม่อยากเป็นแบบนี้ ไม่อยากเป็นแบบนั้น ทำไมความคิดมันเยอะ ทำไมติดความคิดสารพัด กลัวติดนี่ กลัวติดนั่น ทั้งหมดเกิดได้เพราะอะไร? เพราะจิตใจนี้ไม่ตั้งมั่น เพราะฉะนั้น ไม่ได้มีหน้าที่ไปหาทางแก้ทีละกรณีๆ มีหน้าที่เดียวคือ ฝึกให้จิตนี้มันตั้งมั่นขึ้นมาด้วย “การพ้นออกจากโลกของความคิดปรุงแต่ง”… ไม่ติดกับความคิด

นักปฏิบัติธรรมเราติดกับความคิดยังไง? สัญญาเกิดขึ้น มันก็เข้าไปคิด เข้าไปคิดปุ๊บ…รู้ทัน อันนี้เรียก ขั้นแรก ต่อมาขั้นที่ 2 ก็คือ พอรู้ทันปุ๊บ…แป๊บเดียวเข้าไปคิดใหม่เรื่องเดิมนั่นแหละ ยาวเลยทีนี้…เพราะอะไร? เพราะชอบคิด มันติดคิดเรื่องนี้ อยากจะไม่คิดก็ไม่ได้ มันอยากได้คำตอบ อยากหาเหตุหาผล นี่คือความคิดของคน อยากได้ถูกผิด อะไรถูก อะไรผิด อยากวิพากษ์วิจารณ์ เพราะมีความเป็นคนถึงทำแบบนี้ ไม่รู้ว่าเป็นการสร้างโทษให้กับตัวเอง สร้างภพสร้างชาติ สร้างการเกิดให้ไม่จบไม่สิ้นกับเรื่องเล็กๆ แค่นี้แหละ คือ ติดความคิด

แต่ครั้นจะไม่ให้ติดความคิด มันก็ยากอีก แล้วทำยังไง? ถอยกลับมา ทางแก้มีอยู่ทางเดียวก็คือ ฝึกจิตใจนี้ให้มันตั้งมั่นขึ้นมา ตั้งมั่นไม่ใช่ความสงบแบบหินทับหญ้า “ตั้งมั่น” คือ ตั้งอยู่บนฐานที่มั่น เหมือนอยู่บนหอคอยก็เห็นอะไรๆ มาได้ เหมือนอยู่บนฝั่ง ไม่ได้อยู่ในน้ำ ไม่ต้องเลอะ ไม่ต้องเปียก ไม่ต้องทุกข์ไปกับสิ่งที่เห็น

ตั้งมั่นมีที่ตั้งมั้ย? ไม่มี ไม่มีที่ตั้งแต่ตั้งมั่น สมาธิของศาสนาพุทธคือ สมาธิสงบแบบตั้งมั่น

ถ้าจะถามว่าตั้งมั่นอยู่ที่ไหน?  ตั้งมั่นอยู่ในสภาพที่พ้นออกจากโลกของความคิดปรุงแต่ง หรือว่าตั้งมั่นอยู่บนฐานของความอยู่กับเนื้อกับตัว ไม่ใช่ตั้งเป็นจุดๆ

เพราะฉะนั้น เราอยากจะแก้ปัญหาความทุกข์ทั้งหลายในชีวิตเรา ไม่ใช่เข้าไปแก้ที่ปัญหา แต่ให้สร้างเหตุให้ถูกต้อง สร้างให้จิตใจนี้มีกำลังตั้งมั่น ให้มันตื่นขึ้นมา ทำแค่นี้แหละ ทำให้มันจริงๆ ไม่เข้าไปในความคิดจริงๆ คิดไม่ดี ไม่ต้องคิดเลย คิดดีก็ไม่ต้องคิดเหมือนกัน คิดแต่เรื่องที่ต้องคิด เรื่องการเรื่องงาน เรื่องจำเป็นเท่านั้นเอง

ความคิด” เป็นสภาวะที่ทำให้เราได้ปฏิบัติธรรม เพราะมันหลงไป เราได้มีโอกาสรู้ ต้องเห็นคุณค่าของมันแบบนี้ แต่เราปฏิบัติไปเรื่อยๆ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ การติดความคิดจะน้อยลง การหาถูกหาผิดมันจะน้อยลง การมัวไปคิดเรื่องคนอื่น เรื่องนอกตัวมันจะน้อยลง

ที่หลวงปู่ดูลย์พูดว่า “ความตรัสรู้คือ ความไม่มีอะไรให้ระลึกถึง” ฟังดูโหดร้ายเหมือนคนเห็นแก่ตัว ถ้าเราปฏิบัติธรรมไม่เป็น มันก็เป็นความเห็นแก่ตัวนั่นแหละ แต่ถ้าเราปฏิบัติเป็น สภาวะแบบนี้มันเป็นเอง หมายความว่า ไม่มีอะไรจำเป็นก็ไม่มีอะไรให้ระลึกถึง แต่ถ้าเราปฏิบัติธรรมไม่เป็น เราก็คิดว่า อ่อ…เห็นแก่ตัวมากต้องทำแบบนี้ เนี่ย! จิตใจมันคนละอย่างเลย

สภาพที่หลวงปู่ดูลย์พูด มันเป็นสภาพที่จิตใจพ้นออกจากโลกของความคิดปรุงแต่ง มันก็เลยไม่มีอะไรให้ระลึกถึง แต่พวกเราฟัง… “ต้องไม่แคร์ใคร ต้องไม่สนใจใคร” เนี่ย! จิตใจมันคนละเรื่อง

หลวงพ่อเทียนก็สอนมานานแล้ว หลักปฏิบัติที่ท่านให้มีนิดเดียว… “รู้สึกตัว จิตมันลักคิด…รู้ทัน” คำว่า “ลักคิด” ภาษานี้คืออะไร? คือ มันไปคิด ก็ให้รู้ทัน ไม่เข้าไปในความคิด ง่ายๆ แค่นี้ ทำให้มันจริงๆ ทำให้มันได้ หัวใจการปฏิบัติมันก็มีแค่นี้แหละ

โลกทั้งโลกนี้เกิดขึ้นมาได้เพราะ ความคิดปรุงแต่ง ความทุกข์ความสุขเกิดขึ้นมาได้เพราะ ความคิดปรุงแต่ง

เพราะฉะนั้น เราต้องเกาให้ถูกที่คัน รู้อะไรคือเหตุแห่งทุกข์ จัดการให้ถูกที่ ไม่ต้องไปหาเรื่องหาราวที่จะทำอะไรมากกว่านี้ ที่จะพาฟุ้งซ่าน แล้วเดี๋ยวทุกอย่างจะเป็นไปเอง ที่ดูเยอะๆ ที่พระพุทธเจ้าอธิบายเยอะๆ มันจะเป็นเอง เห็นเอง มันจะเปิดเผย ญาณทัศนะมันจะเกิดขึ้น วิปัสสนาก็เป็นญานทัศนะอย่างนึง ทุกอย่างจะคลี่คลาย มันจะเปิดเผยตัวออกมาเอง ด้วยการทำอยู่แค่นี้แหละ

อดทนทำเรื่องง่ายๆ ให้ได้ เรื่องยากๆ ชอบทำ เรื่องง่ายๆ ทำไม่ค่อยได้

บางคนก็กังวล…ต้องเพิ่มอันนี้มั้ย ต้องอย่างนี้มั้ย ต้องเก็บตัวมั้ย ต้องสารพัดต้อง จริงๆ แล้วถ้าเราปฏิบัติให้ถูกนะ เราจะรู้เอง ชีวิตจะงวดเข้าๆ เข้มงวดตัวเองมากขึ้นเอง เราจะเลือกชีวิตตัวเอง ให้มันเหมาะสมยิ่งๆ ขึ้น วิเวกสันโดษยิ่งๆ ขึ้น

ศีลเราจะดีขึ้น เพราะเรารู้ว่าถ้าศีลด่างพลอย ความฟุ้งซ่านก็จะเกิดขึ้น

คือถ้าเราปฏิบัติเป็น เราจะรู้จักว่าต้องทำอะไรกับตัวเอง ไม่ต้องให้ใครมานั่งบอกนั่งบังคับ

ติ๊ง ติ๊ง ติ๊ง …

 

ตอนที่ 3 เคลื่อนก็รู้ หยุดก็รู้…ให้ “รู้สึก” ก่อน

ตอนนี้ผมอยากให้ทุกคนพลิกมือ 14 จังหวะ มีใครทำไม่เป็นมั้ย

โอเค…ลองเริ่มพลิก 14 จังหวะ ค่อยๆ ทำ ให้สังเกตความคิด ให้สังเกตความต่างกับการที่เรานั่งสมาธิเมื่อกี้นี้ ความตื่นเนื้อตื่นตัวเทียบกับการนั่งเมื่อกี้นี้ การรู้ทันความคิด ต่างกันมั้ย เร็วขึ้นมั้ย หรือช้าลง หรือมีอะไรต่างอีกบ้าง

เคลื่อนก็รู้ หยุดก็รู้ รู้เสร็จแล้วค่อยเคลื่อน ให้มันรู้จริงๆ เคลื่อน…ก็รู้สึก หยุด….ก็รู้สึก  “รู้สึก” ก่อน

เคลื่อนสบายๆ เป็นธรรมชาติ ลืมตากว้างๆ บอกไปไกลๆ มองไปข้างหน้า มองไปข้างๆ มองไปแต่ก็รู้ถึงการเคลื่อน รู้ถึงการหยุด

ถ้าเคลื่อนก็ไม่รู้ หยุดก็ไม่รู้ นั่นแปลว่าอะไร…คิดตลอด สำคัญตรงไหน? หยุด…ให้รู้สึก รู้สึกถึงสภาพหยุดนั้น แล้วค่อยไปต่อ

เคลื่อนไปๆ หยุดก็รู้ ภาษาหลวงพ่อคำเขียน…ขยับตะพึดตะพือไป ไม่ต้องหาเหตุหาผล ไม่ต้องหาขยับไปทำไม…ไม่ต้อง คำพูดท่านดีมากอันนึงที่อยากให้ทุกคนจำไว้เลยก็คือว่า  ท่านบอกว่า การปฏิบัติ….คำว่า “ปฏิ” นี่คือ กลับมา คือหมายความว่าพอเคลื่อนไป เดี๋ยวจิตมันก็ไปคิด แต่พอหยุดแล้วมันรู้ขึ้นมา ความคิดก็ดับไป…รู้ทันความคิดขึ้นมา

การหยุด” เนี่ยมันพาเรากลับมา ธรรมชาติของการหยุด มันทำให้ความปรุงแต่งขาดไป พอได้กลับมาปุ๊บ…เนี่ย! เรียกว่าการปฏิบัติแล้ว

เพราะฉะนั้น ความคิดช่วยเรา ใช้มันเป็นคุณก็ได้ ให้มันเป็นโทษก็ได้ มันอยู่ที่เรา จะใช้มันยังไง ใช้มันพาบรรลุธรรมก็ได้ ใช้มันเป็นคนบ้าก็ได้ นักปฏิบัติเราเลือกใช้ความคิดให้ถูก คนในโลกใช้พาฟุ้งซ่าน เราใช้พาปฏิบัติคือ “กลับมา

สังเกตให้ดี มันไม่ใช่ความสงบ มันเป็นความตื่นที่มีความสงบหยั่งรากลึกอยู่ภายใน

ไม่หลับตา พลิกมือนี่ให้ลืมตา ทำไมเราหลับตา? เราชอบความสงบ หลับตารู้สึกมันจะดี แต่ลึกๆ คือ จิตนี้มันชอบความสงบ ให้มันตื่นขึ้นมา ตื่นแล้วมันจะสงบเอง อดทนหน่อย อดทนที่จะไม่ได้รับความสงบในแบบเดิมๆ

พลิกไปเรื่อยๆ ทำไปเรื่อย ทำตะพืดตะพือไป ทำไปเรื่อย พลิกไปเรื่อย แต่อย่าลืม! หยุดก็รู้ เคลื่อนก็รู้ เคลื่อนไปเคลื่อนมาคิดเพลินเลยทีนี้…หยุดให้นานหน่อย ค่อยๆ ทำต่อ ต้องรู้จักตอนไหนต้องช้า ตอนไหนต้องเร็ว ตอนไหนต้องหยุดนานหน่อย ตอนไหนเป็นปกติได้…ต้องรู้จักสภาพตัวเองตอนนั้น

เราเคลื่อนมือไปด้วยอัตราความเร็วเดิมๆ ตาเริ่มเบลอ เริ่มง่วงแล้ว ก็ขยับตา กลอกตาหน่อย ลืมตากว้างๆ มองซ้ายมองขวา จะตื่นขึ้นนิดนึง คอยที่จะประคับประคองความตื่นนี้ไว้ การประคับประคองที่ว่า…ไม่ได้ทำอะไร เพียงแต่เป็นนักช่างสังเกตรู้ว่าเป็นยังไงต่อไปหลับแน่ ก็ต้องทำยังไง…เบิ่งตากว้างๆ รู้เอง มันใกล้จะหลับๆ นี่มันชอบนะ มันกำลังได้ความสุข…เพราะฉะนั้น ฝืนหน่อย คำว่า “หน่อย” บางคนคิดว่าไม่กี่วินาที บางทีต้องฝืนเป็นชั่วโมง ก็ต้องอดทน อย่าให้นิวรณ์เอาเราไปกินได้ ชนะมันบ้าง ไม่ใช่แพ้มันตลอด ถ้ามีชนะมันสักครั้งหนึ่ง ครั้งที่สอง ไม่ยากแล้ว …ยากที่ไหน ยากที่ “อดทน” นี่แหละ อดทนให้ได้

จิตใจมันเริ่มตื่น ความมัวๆ ของจิตใจมันก็จะคลี่คลาย สังเกตได้ มันไม่ใช่ความสุข…มันเป็นความตื่น ความสุขในศาสนาพุทธเป็นเรื่องเดียวคือ ความไม่มีทุกข์  ความไม่มีทุกข์มันก็เลยสุข…ก็มีแค่นี้ แต่ไม่ใช่สุขอยู่ในโลก มันเป็นจิตใจที่ปราศจากนิวรณ์ต่างๆ

สังเกตมั้ยตอนง่วง…โอ้ย! ทรมาน แต่ต้องอดทน เดี๋ยวพอมันตื่นขึ้นมา ความทุกข์ก็หายไป ก็รู้สึก…โอ้! ดีจัง แต่มันไม่ใช่ความสุข มันเป็นเพียงแค่ความทุกข์มันหายไปเฉยๆ นี่เป็นความสุขในศาสนาพุทธ…เราปฏิบัติไปเพื่อพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง

เวลาจิตใจจะถูกทำให้มันตื่นขึ้นมา… “นิวรณ์”จะมาเพราะมันเป็นมาร หน้าที่ของมันคือเป็นมาร ขัดขวางทำให้เราท้อแท้ ทำให้เราเลิกสร้างเหตุที่จะตื่น ให้อดทน ไม่ทำตามนิวรณ์ นิวรณ์ต้องการอะไร ไม่ทำตาม การไม่ทำตาม ก็ให้ปฏิบัติ… “ปฏิ” คือ กลับมา ไม่ทำตามมัน ก็กลับมา ถ้าเราตามมัน เราไม่ได้ปฏิบัติ

 

ตอนที่ 4 สร้างเหตุอันใหม่ ผลอันใหม่ก็เกิดขึ้น

ความคิดเข้ามา พลิกไปสองสามทีเพิ่งรู้ตัว…หยุดให้มันนานหน่อย หยุดให้มันรู้สึกถึงสภาพหยุดนั้น เรียกว่า กลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว กำลังจะเกิดขึ้น ค่อยๆ พลิกไป

ถ้าเราอยู่กับการเคลื่อน อยู่กับความรู้สึกตัว เราจะไม่รู้สึกว่าเมื่อย ไม่รู้สึกว่าเบื่อ สิ่งที่เรารู้สึกก็คือว่า ขณะนี้เป็นสภาพพ้นจากทุกข์ สภาพพ้นจากความปรุงแต่ง เรากำลังอยู่กับสภาพของความจริง สภาพที่พ้นจากความปรุงแต่งทั้งหลาย ไม่มีสภาพไหนดีกว่าสภาพนี้แล้ว

แต่อย่างว่า เราจะพ้นจากความคิดปรุงแต่งได้ ก็ต้องอาศัยความคิดนี่แหละ เพราะฉะนั้น ความคิดไม่ใช่ปัญหาถ้าเราใช้ให้เป็น ปัญหาคือ ความปรุงแต่ง

ความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรม ไม่ต้องเอาอะไรเยอะ สังเกตง่ายๆ …ติดความคิดน้อยลงมั้ย ไม่ว่าจะเป็นคิดดี คิดไม่ดี ติดมันน้อยลงมั้ย เอาจริงเอาจังกับความคิดน้อยลงมั้ย ไม่คิดเป็นพรวนๆๆ ได้มั้ย แค่นี้ก็สุดยอดแล้ว แค่นี้ก็ไม่รู้หมดทุกข์ไปเท่าไหร่แล้ว

ชีวิตเราทุกคนเกิดมาได้เพราะอะไร เพราะเราขยันสร้างภพสร้างชาติ การสร้างภพสร้างชาติคืออะไร? คือ “ความปรุงแต่ง” นี่แหละเรียกว่าสร้างภพสร้างชาติ เพราะฉะนั้น เห็นโทษของมันให้ได้ว่าตัวนี้แหละพาเราเกิดพาเราตายไม่จบไม่สิ้น เห็นโทษของมันให้ได้ ถ้าเห็นโทษของมันได้ เราจะไม่ปรุงแต่ง ไม่ใช่เราทำได้นะหมายความว่า เราก็จะมีความหนักแน่นที่รู้ว่าความปรุงแต่งมันพาให้เป็นแบบนี้ พาให้ทุกข์ เราก็จะมีกำลังใจมากขึ้นที่จะไม่เอา…ไม่ได้แล้ว ปรุงแต่งแบบนี้ทุกข์ตาย

แล้วจะทำยังไง? ห้ามมันก็ไม่ได้ หยุดมันก็ไม่ได้ เนี่ย! พระพุทธเจ้าก็สอนเราไว้ สร้างเหตุให้ถูก สร้างเหตุอันใหม่ ผลอันใหม่ก็เกิดขึ้น สร้างเหตุแห่งความรู้สึกตัว ผลของความฟุ้งซ่านก็ต้องลดลง การติดความคิดจะลดลง

เพราะฉะนั้น ไม่ได้ไปแก้ที่ปัญหา แก้ที่เหตุด้วยการสร้างเหตุใหม่ ความปรุงแต่งสร้างคน ไม่อยากจะเป็นคน อยากจะพ้นจากคน ก็แค่พ้นจากความปรุงแต่ง อยู่บนเส้นทางนี้ให้ได้ก็แค่นี้

 

ตอนที่ 5 หัดสังเกตเอง… “อัตตาหิอัตโนนาโถ” ก็เกิดในใจเราได้

บางทีหยุดนานๆ มันเหม่อเหมือนกัน ก็จะต้องรู้จัก แบบนี้ก็เพิ่มความเร็วในการพลิกมือสร้างจังหวะนิดนึง เพราะฉะนั้น ต้องรู้นะ…แต่ละคนต้องรู้จักตัวเอง

พอเร็วไป จะเริ่มฟุ้งซ่าน เคลื่อนด้วยไขสันหลัง ก็ต้องรู้ แบบนี้ก็ต้องหยุด เนี่ย! การปฏิบัติถ้าเป็นนักช่างสังเกตมันไม่น่าเบื่อหรอก

เราจะรู้จักว่าตอนนี้เป็นยังไงอย่างละเอียดเลย แล้วรู้ว่าต้องทำยังไง…จะรู้อย่างละเอียดเลย พอเรารู้จักสังเกตแบบนี้ เราก็พึ่งตัวเองได้ เราจะไม่อ่อนแอเพราะเราหัดสังเกตเอง พอเราหัดสังเกตเอง…คำว่า “อัตตาหิอัตโนนาโถ” ตนเป็นที่พึ่งแห่งตนก็เกิดในใจเราได้

พอพึ่งตนเองได้ อะไรเกิดอีก….โอ้! บารมีเกิดหลายอย่างเลย ความเข้มแข็งต่างๆ ในจิตใจก็เกิดขึ้นทันที

พอเราสังเกต เราก็รู้จักการเคลื่อน รู้สึกถึงร่างกาย ไม่ว่าจะเคลื่อน ไม่ว่าจะหยุด ความคิดเกิดขึ้นก็รู้ทัน ไม่ว่ารู้เร็วหรือรู้ช้ามันก็รู้ทันได้

ในตอนที่ไม่มีอะไร จิตใจเป็นยังไง?…จิตใจหนักแน่น เป็นปกติ ที่ผมบอกว่า ความสงบหยั่งรากลึกเลย แต่เป็นความสงบแบบตื่น สงบแบบไม่หลง เป็นความสงบที่ไม่ใช่ความสุขแต่เป็นความตื่น

ทุกครั้งที่เรารู้สึกมันเคลื่อน แล้วพอมันหยุด หยุดไม่นาน…เคลื่อน แล้วก็หยุด แล้วก็รู้สึกถึงการหยุดนั้น มีแต่เคลื่อนแล้วก็หยุด มันไปคิดแวบไม่ทัน…รู้ แต่พอหยุดปุ๊บรู้เลย…เร็ว รู้ได้เร็ว ยิ่งรู้ได้เร็วเท่าไหร่ โอกาสปรุงแต่งก็น้อยเท่านั้น นี่คือ ความมหัศจรรย์มากของ 14 จังหวะของหลวงพ่อเทียน

ถ้าเราเคยทุกข์กับความคิดปรุงแต่ง เราจะเห็นคุณค่าของความไม่ปรุงแต่งมากๆ ว่า เป็นความสุขมหาศาลยังไง

สังเกตมั้ยว่า ตอนนี้จิตใจเราทุกคนเริ่มตื่นในแบบที่เข้าที่แล้ว แรกๆ เราต้องปรับหน่อย ขยับยังไง พลิกยังไง รู้ยังไง

ถ้าเรา “ตื่น” เราจะไม่อยากหลับแล้ว คอยสร้างเหตุแห่งความตื่นเอาไว้

 

ตอนที่ 6 หมั่นคอยเติม “ความตื่น”

กว่าจิตใจจะตื่นขึ้นมาได้ เราต้องใช้ความอดทน ใช้ความอุตสาหะ ใช้ความวิริยะ ความเพียร เพราะฉะนั้น อย่าทอดทิ้งความตื่น อย่ามัวไปหาอะไรทำที่ทอดทิ้งความตื่น

หมั่นคอยเติมความตื่นก็คือ หมั่น “รู้สึกตัว” ไม่ติดกับความคิดนานๆ รู้ทันปึ๊บ…ก็รู้สึกตัว เนี่ย! เค้าเรียกว่าหมั่นเติมคือแบบนี้

แล้วพอมันตื่นแล้ว จิตใจมีอารมณ์อะไรหน่อย มันเห็นเลย มันเห็นปุ๊บบางทีมันก็ดับไปเลย เนี่ย! มันก็เห็นไตรลักษณ์ได้ หรือบางทีมันก็เห็น มันยังไม่ดับแต่ไม่เข้าไปเป็นกับมัน แล้วเดี๋ยวมันก็จางคลาย ก็เห็นความเป็นอนิจจังได้

มันเห็นเองเพราะอะไร?…เพราะพอเราอยู่กับร่างกายนี้ มันจะไม่สนใจนอกร่างกายนอกจิตใจ เพราะฉะนั้น มันไม่เห็นไม่ได้ มันต้องเห็น มันจะเห็นเองคือแบบนี้ พอจิตใจมันถูกร่องถูกรอยแล้วมันจะเห็นเอง  ถ้าจิตใจมันไม่ถูกร่องถูกรอย อยากจะเห็น ก็ไม่ถูกอยู่ดี เพราะมีแต่ตัวเราอยากจะเห็น

ให้มันตื่นขึ้นมาก่อนถึงจะเห็นได้ ไม่ต้องรีบลัดขั้นตอน ค่อยๆ ทำไป ค่อยๆ เจริญไป หน้าที่เราเจริญได้ไม่กี่อย่างหรอก ที่เหลือมันเป็นเอง

อย่างสมัยพุทธกาลก็มี…พระพุทธเจ้าให้ท่านนึงไปถูผ้าขาว เพราะให้ท่านสวดอะไรท่านก็จำไม่ได้ซักอย่าง คือเรียกว่าสมองไม่ค่อยดี จำอะไรก็ไม่ได้ แล้วอยากจะสึก พระพุทธเจ้าเลยให้ไปถูผ้าขาว ถูผ้าขาวก็รู้เนื้อรู้ตัวอย่างนี้แหละ ถูอยู่อย่างนั้น ในประวัติท่านก็ว่า ผ้าขาวๆ ถูไปถูมามันเริ่มดำ เห็นความเป็นอนิจจัง พระพุทธเจ้าไม่ต้องสอนก่อนเลยนะ ไม่ต้องบอกเลยนะว่าต้องเห็นไตรลักษณ์…ไม่ต้อง พอมันถูกร่องถูกรอย มันเห็นเอง แต่ต้องถูก

แต่เดี๋ยวนี้จำเป็นต้องสอนไตรลักษณ์เพราะการปฏิบัติไม่ถูกร่องถูกรอยมีเยอะ จะไปเอาสภาวะนี้ เอาสภาวะนั้น จะเอาว่าง เลยจำเป็นต้องสอนไตรลักษณ์…เพื่อจะให้เห็นว่าสภาวะใดๆ ล้วนตกอยู่ภายใต้กฎไตรลักษณ์ เอาอะไรไว้ไม่ได้ซักอย่างเดียว เนี่ย! คำสอนพระพุทธเจ้าช่วยเราทุกอย่าง อยู่ที่ว่าจะต้องใช้ตอนไหน

เราปฏิบัติธรรมบางทีอดทนไม่พอ โอ้! ทำไมเป็นแบบนี้ เป็นแบบนี้ คำสอนไตรลักษณ์ก็ช่วยเรา เอ้ย! มันเป็นอนิจจัง ดูสิ! มันจะไม่เปลี่ยนเลยเหรอ เนี่ย! ช่วยเราแบบนี้  มันยังทุกข์…ไม่เปลี่ยนเลยเหรอ

นักปฏิบัติธรรม มีความรู้แล้ว ต้องหัดเอามาใช้ให้เป็นประโยชน์ ใช้ให้ถูก

รู้จักไว้นะ…อันนี้คือ “สภาพตื่น” สภาพที่ไม่ติดกับความคิดใดๆ เรียกว่า สภาพตื่น จิตใจนี่ปกติ อายตนะต่างๆ รับรู้ทุกอย่างแต่ไม่ติดกับอะไร ไม่ติดกับอะไรเลย

อย่าให้ความเบื่อครอบงำ อย่าให้นิวรณ์ชนะ จำไว้!…ตะพึดตะพือ  ตะพึดตะพือไป เราเป็นทาสของกิเลส ทาสของนิวรณ์มาไม่รู้กี่ภพกี่ชาติแล้ว ชาตินี้เอากับมันซักตั้ง ดูสิเป็นยังไง

อยากได้ของจริง ทำจริงๆ เอาจริงๆ ให้ตาเป็นประกายเข้าไว้ ให้มันตื่นไว้ หล่นไปหน่อยนึงต้องรู้ พอมันหล่นไปหนึ่ง จะหล่นไปสอง หล่นไปสามทันทีอย่างรวดเร็ว…ตื่นเข้าไว้

 

ตอนที่ 7 ทุกการพลิก ทุกการเคลื่อน ทุกการหยุด คือ “การเริ่มใหม่”

ทำไมการพลิกมือถึงทำให้เราเห็นความคิดได้เร็ว รู้ทันได้เร็ว

นอกจากที่เคยบอกไป เกี่ยวกับการเคลื่อนแล้วหยุด

แต่ด้วยอิริยาบถใหญ่ที่เรานั่งเฉยๆ ร่างกายนี้มันนั่ง และก็มีอิริยาบถย่อยคือ การที่ใช้มือ 2 มือเคลื่อนแล้วก็หยุด เคลื่อนแล้วก็หยุด

ทีนี้ อิริยาบถใหญ่คือ นั่ง พอความคิดมันวิ่งปุ๊บมันก็รู้ทันได้เร็ว เพราะมีอิริยาบถย่อย(เคลื่อนแล้วหยุด)คอยเตือน มันเป็นการผสมผสานที่ต้องนับถือว่าสุดยอดมาก

มันคือ การรวมการนั่งสมาธิกับเดินจงกรมเอามาอยู่ตรงกลาง เอา 2 อย่างมารวมกัน เอาข้อดีของแต่ละอย่างมารวมกัน

เราเคลื่อนมือไป อย่าให้มันเคลื่อนด้วยความเคยชิน อย่าลืมทุกการพลิก ทุกการเคลื่อน ทุกการหยุด คือ “การเริ่มใหม่

ถ้าเมื่อไหร่เรารู้สึกว่าพอแล้ว ไม่ไหวแล้ว เนี่ย! ความคิดมันหลอกเราแล้ว นิวรณ์นี่มันปรุงเลย ให้ความคิดปรุง พอแล้ว ดีแล้ว ตื่นแล้ว ให้อดทนต่อนิวรณ์ทุกอย่าง ความง่วง ความเบื่อ ความขี้เกียจ

เหมือนความทุกข์ เรามีความทุกข์อยู่ 100 เรากำลังสร้างเส้นทางใหม่ คือ เส้นทางที่พ้นจากความคิดปรุงแต่งทั้งหลายนี้ เรากำลังสร้างเส้นทางอยู่ เหมือนเรากำลังเริ่มเติมน้ำ ฝั่งความทุกข์มีอยู่ 100 เราต้องเติมน้ำให้ได้ชนะมัน อย่างน้อยต้องได้ 101 เมื่อไหร่ได้ 101 ชนะมันหน่อยนึง เราจะรู้สึกถึงความต่างเลย แต่กว่าจะถึง 101 ต้องอดทน ระหว่างทางจะไปถึง 101…โอ้! อุปสรรคเยอะ อุปสรรคก็คือ นิวรณ์นี่แหละ ผ่านมันไปให้ได้ การปฏิบัติธรรมยากตรงนี้  ไม่ใช่ยากที่วิธีปฏิบัติ ยากที่ทนได้มั้ย อดทนผ่านอะไรๆ ไปได้มั้ย ต้อง “ไม่เลิก

เมื่อกลับบ้านไป อดทนแบบที่อยู่กันแบบนี้ได้มั้ย ต้องอดทนให้ได้ อยู่ตรงนี้มีคนอยากเลิกแต่เลิกไม่ได้ มีผู้คุม แต่ว่ากลับบ้านไปต้องทำให้ได้เหมือนกัน ไม่ต้องมีคนคุมก็ทำได้ บารมีเราก็จะเข้มแข็งขึ้น อยู่คนเดียวไม่มีเพื่อนทำก็ทำได้ ทำด้วยกันก็ทำได้

หลวงพ่อเทียนให้ลูกศิษย์ท่านทำทั้งวัน เรียกว่าว่างจากกิจวัตรเมื่อไหร่ก็เริ่มเลย

พวกเราอยากเร็ว อยากก้าวหน้า อยากบรรลุธรรม อยากพ้นทุกข์ มัวแต่อยาก มันไม่ได้

ลืมตาไว้…เราอยากจะได้ความสุข ให้เอาความสุขที่ยิ่งใหญ่ไว้คือ ความตื่น ความสุขเล็กน้อยไม่ต้องเอา

หยุดก็รู้ เคลื่อนก็รู้ ให้มันรู้สึก รู้สึกจริงๆ

สังเกตว่าพอเราตื่นอยู่กับความรู้เนื้อรู้ตัวแบบนี้ หมดเลย…หมดคำถาม หมดความสงสัย สภาพพ้นทุกข์ก็มีแค่นี้แหละ สิ้นตัณหา สภาพสิ้นตัณหา หมดอดีต หมดอนาคต หมดความบีบคั้นทางใจ

คอยสร้างเส้นทางแบบนี้เอาไว้ในใจเรา สร้างเหตุแบบนี้เอาไว้ในใจเราให้ได้มากที่สุด ยิ่งสร้างทางเร็วก็ยิ่งเสร็จเร็ว…ถูกมั้ย? มันเป็นเหตุเป็นผลอยู่แล้ว

ไม่ต้องไปนั่งหาว่าใครบรรลุธรรมหรือยัง ใครเป็นพระอรหันต์ หาเอาที่ตัวเอง หาที่ตัวเองนี่มันไม่ฟุ้งซ่าน ไปนั่งหาคนอื่นนี่ฟุ้งซ่าน บางคนไปนั่งจับผิดคนโน้นคนนี้ เป็นแบบนี้ สงสัยยังไม่เป็นพระอรหันต์ เนี่ย! ฟุ้งซ่าน วันๆ มีแต่อกุศลปรุงแต่ง แทนที่จะเรียนรู้ตัวเอง ฝึกตัวเอง

ลืมตาเอาไว้ อีก 15 นาที ให้มันจริงๆ เป็นคนจริง อย่าลืม ความคิดเกิดขึ้น เข้าไปนานๆ ต้องหยุดให้นานหน่อย เรียกความรู้สึกตัวกลับมา มีเวทนาก็รู้ อันนี้เป็นเวทนาเฉยๆ มันคิดปรุงแต่งเข้าไป โอ้! เมื่อไหร่จะเลิก…รู้ทัน รู้ทันจะขยับก็ได้

ตัวทำลายสภาพตื่น ตัวทำลายสมาธิที่สำคัญที่สุดคือ “การพูด” เราอดทนฝึกแล้ว ต้องอดทนไม่พูดด้วย อยู่กับเนื้อกับตัวเอาไว้ ออกจากรูปแบบก็อยู่กับเนื้อกับตัวเอาไว้ พูดเท่าที่จำเป็นต้องพูด

พวกเรานักปฏิบัติต้องจำไว้นะ พระพุทธเจ้าสอนเรา หลักง่ายๆ การไม่ทำบาป เป็นข้อแรกเลย แล้วค่อยบำเพ็ญบุญ แล้วค่อยไปถึงการทำจิตใจให้ผ่องแผ้ว เพราะฉะนั้น อย่าประมาทกับบาปเล็กๆ น้อยๆ …คิดชั่ว พูดชั่ว ทำชั่ว อย่าทำ ขวางกั้นมรรคผลนิพพานแน่นอน

คิดชั่ว…นี่ยังไง บางทีเราบอกว่า โอ้! จิตมีธรรมชาติไหลลงต่ำ ชอบอกุศล…ใช่ แต่เราไม่ไปคิดกับมัน ถ้าเราเข้าไปคิดกับมัน นั่นแหละ! เราคิดชั่ว คิดชั่วเสร็จปุ๊บก็จะทำชั่ว จะพูดชั่ว ทั้งหมดนี้คือ ทำลายสัมมาสมาธิ มันถึงปิดกั้นมรรคผลนิพพาน เพราะพอมันทำลายสัมมาสมาธิ ปัญญาก็เกิดไม่ได้ ญาณทัศนะก็เกิดไม่ได้ เนี่ย! เรื่องง่ายๆ แค่นี้อย่าพลาด ถ้าพลาดก็ปฏิบัติไปเหอะ…ไปไม่ได้ บาปนี้มันถ่วงเอาไว้ มันเป็นโครงสร้างเดียวกับอนันตริยกรรม…มันปิดบัง ต่อให้เจริญสติปัฏฐานถูกต้อง มันก็ยังปิดบัง แต่เรียกว่า บาปหนักก็ปิดบังนาน บาปน้อยๆ ก็ปิดบังไม่นาน เพราะฉะนั้น ดีที่สุดอย่าทำบาป

เราเคลื่อนมือไป มันจะเป็นเพลิดเพลินเจริญใจของการเคลื่อน…ให้มันมีสติ เคลื่อนก็รู้ หยุดก็รู้ ให้มันรู้จริงๆ จำอันนี้ไว้ ให้มันรู้จริงๆ ให้เหมือนเรา “เริ่มใหม่” เริ่มใหม่ตลอด

 

21-07-2561

Camouflage

 

YouTube : https://youtu.be/5C577npZ-BA

คลิปเสียงธรรมะทั้งหมดของอาจารย์ Camouflage : https://goo.gl/RDZFMI

======================

5 ช่องทางการอ่านและฟังธรรม

1) Facebook : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
http://www.facebook.com/sookguysookjai

2) Line : @camouflage.talk
https://line.me/R/ti/p/%40camouflage.talk

3) YouTube : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
https://goo.gl/in9S5v

4) Website: https://camouflagetalk.com/

5) Podcast : Camouflage – Dhamma Talk
https://itun.es/th/t6Mzdb.c
วิธีการติดตั้ง https://goo.gl/tBMY9S