75.เรื่องง่ายๆ ที่ทำได้ยาก

 

ตอนที่ 1 เรื่องง่ายๆ ที่ทำได้ยาก

นั่งสมาธิร่วมกัน นั่งเพื่อจะเรียนรู้ตัวเอง ไม่ต้องคาดหวังว่าจะได้ยินได้ฟังอะไร เป็นการนั่งร่วมกัน ให้เวลาตัวเองอยู่กับกาย อยู่กับเนื้อกับตัว

สังเกตว่าถ้าเราจะเอาความสงบ อยากให้สิ่งแวดล้อมสงบ เราจะทุกข์

ความสงบ” คือ ความที่เราไม่มีปัญหากับอะไร เค้าเรียกว่า “สงบตั้งมั่น” อะไรเกิดขึ้นก็รู้ กายนี้มันไม่เคยบ่น หูไม่เคยบ่นว่าเสียงดัง มีแต่ใจที่เร้าร้อน ดิ้นรน บ่น

เพราะฉะนั้น เมื่อไหร่ก็ตามที่มันบ่น มันมีปัญหา มีอะไรกับสิ่งแวดล้อม รู้ไว้เลยว่า ตอนนั้นเราหลงแล้ว หลงเอาจริงเอาจังกับเสียง

ตอนนี้ลองดู อยู่กับร่างกาย…มีอะไรมั้ย ความคิดมีมั้ย แต่เดี๋ยวนั่งไปซักพักก็มีความคิด สัญญาบ้าง เสียง ก็นึกภาพตาม นึกภาพคนตัดหญ้าบ้าง ไม่ใช่ปัญหา ปัญหาคือ ปรุงแต่งสัญญานั้น ปรุงแต่งไปในทางพอใจไม่พอใจ ปรุงแต่งไปตามกิเลส

เพราะฉะนั้น นักปฏิบัติเราเมื่อสัญญาเกิดขึ้นต้องรู้ให้ทัน เมื่อมันเป็นเรื่องเป็นราว ต้องรู้ให้ทัน ความคิด ความปรุงแต่งสร้างความเป็นคนขึ้นมาให้กับเรา สร้างเรื่องสร้างราวสร้างชีวิต สร้างทุกสิ่งทุกอย่างให้มันเป็นจริงขึ้นมา

ตอนนี้ ลองกลับมาอยู่กับร่างกาย รู้สึก…แค่รู้สึกร่างกายนี้ โลกทั้งโลกก็ทลายลงไปเลย พอสิ้นโลกก็เหลือธรรม เห็นมั้ยว่าสภาพธรรมเป็นยังไง?…มันปกติ  เค้าถึงว่าพระพุทธเจ้าก็แค่พลิกของคว่ำให้หงายขึ้น

ธรรมะไม่ใช่เป็นเรื่องลึกลับซับซ้อน นึกว่ามัน โอ้โห! ยากมากมาย มันเป็นเรื่องตื้นๆ ที่เราทำไม่ค่อยได้เท่านั้นเอง มันเป็นเรื่องเห็นกันอยู่ทนโท่แต่เราทำไม่ได้…ทำไมทำไม่ได้? เพราะมันเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก เรื่องง่ายๆ ทำได้ยากเพราะเราชอบคิด เราชอบวิเคราะห์ ลึกๆ จริงๆ เราชอบ เราถึงปล่อยความคิดไม่ได้ ต้องเห็นให้ได้ว่า กิเลสความชอบความคิด มันมีกำลังมาก

เราไม่มีสมาธิก็เพราะความคิด พอไม่มีสมาธิ มันก็ไม่เกิดปัญญา เราอยากมีปัญญา ก็กลับไปนั่งคิดวิเคราะห์ หาวิธีการปฏิบัติให้มันยิ่งๆ ขึ้นไป …เนี่ย! กับดับทั้งนั้น โดนหลอก โดนอะไรหลอก? ความคิด เพราะเราคิดก่อนแล้วว่าปฏิบัติธรรมนี่ โอ้โห! มีหลายขั้นหลายตอน หลายซับหลายซ้อน เป็นเรื่องยุ่งยาก มีพื้นฐาน มีขั้นกลาง มีขั้นสูง

ผมพูดตลอดตั้งแต่แรกๆ เลย…ปฏิบัติธรรมไม่มีขั้นมีตอน  ถึงแล้วถึงเลย แค่อยู่กับมันให้ได้ แต่เราอยู่กับมันไม่ได้ เราอยู่กับร่างกายไม่ได้ เราอยู่กับความรู้สึกตัวไม่ได้ เราอยู่กับเนื้อกับตัวไม่ได้ เราชอบอยู่กับความคิด แล้วมันก็เลยเป็นนิสัยเดิมๆ ร่องเดิมๆ ทางเดิมๆ สมาธิมันก็เลยเกิดไม่ได้

เพราะฉะนั้น เราต้องรู้ว่าปฏิบัติธรรม…เส้นทางคืออะไร? เหตุปัจจัยอะไรทำให้เกิดผลอะไร ต้องแม่นยำ รู้หลัก

 

ตอนที่ 2 เพียรที่จะไม่เข้าไปในความคิด

ที่คราวก่อนพูดถึงเรื่อง ถ้าเราปฏิบัติถูกแล้ว มันมีช้ากับเร็ว…. “ช้า” นี้คือยังไง? คุณธรรมเกี่ยวกับ พละ5…ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา เหล่านี้ มันไม่แก่กล้า มันก็เลยช้า…เริ่มต้องมีศรัทธา ศรัทธากับเส้นทางนี้ ศรัทธาที่จะรู้ว่า อ๋อ…จะต้องไม่ตามความคิดไป จะต้องรู้ทันความคิด รู้แล้วว่าอันนี้แหละหัวใจหลักเลย ศรัทธามันมาเต็ม ก็มีความมุ่งมั่น ความตั้งใจที่จะไม่ยอมความคิดที่จะลากเราไป

หลักจากนั้น มันก็มีวิริยะ ความเพียร เพียรที่จะไม่เข้าไปในความคิด เพียรที่จะไม่อยู่ในร่องเดิม ไม่อยู่ในร่องของคนชอบคิด ไม่อยู่ในร่องของคนชอบปรุงแต่ง แล้วอะไรก็เลยเกิด? สติก็เกิด สมาธิก็เลยเกิด ปัญญาก็เลยเกิด มรรคผลนิพพานก็เลยเกิด

พวกเราก็มีพร้อมทุกอย่าง เพราะฉะนั้น เน้นย้ำกับตัวเองให้มากเรื่องของความคิดปรุงแต่ง อย่าตามมันไป เวลาไม่มีเรื่องไม่มีราวอะไรกับชีวิต ชีวิตราบรื่นดี ไม่ใช่เอาเวลาไปเพลิดเพลิน นึกว่าดีแล้ว โอเคแล้ว พระพุทธเจ้าก็ไม่สรรเสริญความดีที่หยุดนิ่ง ความดีในแง่นี้คืออะไร? ไม่เข้าไปในความคิดปรุงแต่ง อย่าคิดว่าดีแล้ว เมื่อไหร่เราคิดว่าดีแล้ว เราจะถอยหลังทันที อย่าชะล่าใจ อย่าประมาท เวลาที่เราดีแล้วนั่นคือ เวลาที่เราจะสั่งสมสร้างเส้นทางใหม่ เส้นทางแห่งความที่ไม่ตามความคิดไป และเส้นทางเก่ามันจะค่อยๆ ถูกลบเลือนไป

เพราะฉะนั้น การที่เราฝึกที่จะไม่ตามความคิดไป เป็นกิริยาที่ทำตลอด กิริยาที่เป็นความเพียร เราจะคิดก็คิดแต่เรื่องงานเรื่องการจริงๆ เรื่องไร้สาระอื่นไม่ต้องคิด เหมือนเราดึงเส้นเอ็น ค่อยๆ ดึงๆๆๆๆ ถึงเวลามีมีดตัดฉั่วเลยเรียกว่า ปัญญา ตัดขาดเลย  ช่วงนี้ช่วงดึง ค่อยๆ ดึง อย่าหยุดดึง ถ้าหยุดดึงมันก็กลับไปที่เดิม เริ่มใหม่อีก….

อันนี้เรียก “ความเพียร” เพียรที่จะ “รู้ทัน” ความคิด เพียรที่จะไม่เข้าไปในความคิด

จะ “รู้ทัน” ได้ต้องมีกำลัง

มี “กำลัง” ได้ ต้องพ้นออกจากโลกของความคิดปรุงแต่ง

เนี่ย! มันวนกัน จะ “พ้น” ได้ยังไง? ก็ต้องรู้สึกตัว

รู้สึกตัว” ก็คือ อยู่กับร่างกาย

พูดไปมันก็วนไปวนมา มันวนอยู่แค่นี้แหละ กงล้อธรรมจักร มันวนไปวนมา ส่งเสริมซึ่งกันและกัน หาจุดต้นจุดปลายไม่พบ

เหมือนเราได้โอกาสปฏิบัติธรรม ได้โอกาสบวชเป็นแม่ชี บางคนก็อยากสึกเพราะคิดว่าสึกก็ดีกว่า เนี่ย! ความคิดมันก็หลอก… โอ้! ปฏิบัติได้ รู้หลักแล้ว  พระก็คิดแบบนี้เหมือนกัน แต่เราไม่รู้ว่า พอขอบเขตมันหายไป เรียกว่า ข้อวัตรต่าง ๆ มันหายไป…โอ้! กิเลสก็กินหัวเลย การปฏิบัติที่ว่าบอกทำได้ ก็ทำไม่ได้แล้ว เพราะฉะนั้น การบวชก็คือ การตัดโอกาสที่จะถูกโลกนี้หลอก ถูกโลกนี้ดึงไป

อดทนที่จะพ้นออกจากโลกของความคิดปรุงแต่ง พอเราอดทนแบบนั้น ความปกติมันก็เปิดเผยตัวออกมา เราก็ได้รู้จัก…อ่อ! สภาพที่มันไม่มีความคิดปรุงแต่ง ไม่เข้าไปในความคิดปรุงแต่งมันดีแบบนี้นี่เอง มันไม่ทุกข์ แต่เราต้องอดทน ถ้าเรายอมกิเลสตลอด สุดท้ายเราจะอ่อนแอป้อแป้ เพราะเราไม่เคยชนะมันเลย

แต่ถ้าเราภาวนาเป็น มีจิตใจที่ตั้งมั่น รู้เหตุของจิตใจที่ตั้งมั่นได้ จิตใจนี้เป็นยังไง? จิตใจไม่มีทุกข์ จิตใจที่ตั้งมั่น กิเลสทำอะไรเราไม่ได้ กิเลสอาจจะมีอยู่แต่ทำอะไรเราไม่ได้ เพราะเราไม่ไหลเข้าไปในความปรุงแต่งที่กิเลสจะพาเราไป

จิตใจนี้มันแสนวกวนซับซ้อน เวลาเราป่วยไข้ มันก็เหมือนจิตใจที่อ่อนแอ…ก็ไม่อยากไปไหน ไม่อยากทำอะไร ไม่มีกำลังใจจะทำอะไรทั้งนั้น คิดอะไรก็เป็นลบไปหมดทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ มีแต่ความเศร้า แต่พอจิตใจเราเข้มแข็งขึ้น มีกำลังขึ้น เหมือนเราหายป่วย ทีนี้ก็มีทางสองแพร่งให้เราเลือกอีกแล้ว อยากจะไปกินโน่น อยากจะไปที่นี่ โอ้โห! คิดถึงความสุขหลายอย่างที่ตอนป่วยทำไม่ได้ กิเลสจะหลอกแบบนี้ แต่อีกแพร่งนึงคือ นักปฏิบัติเราก็… โอ้! จิตใจกำลังมีกำลังแล้ว ร่างกายกำลังแข็งแรง ต้องใช้เวลานี้ให้คุ้มที่สุด เค้าเรียกว่า “นาทีทองของนักปฏิบัติธรรม” คือ ใช้เวลาในยามที่ร่างกายจิตใจนี้เป็นปกติดีที่จะเพียรอยู่กับตัวเองไม่เข้าไปในความคิด เพียรสร้างเสริมกำลังเค้าเรียกว่า ซ้อมรบเสมอ… “ไม่ประมาท”  เนี่ย! ฝึกแบบนี้ ไม่ประมาทแบบนี้ แล้วชีวิตการปฏิบัติธรรมของเราจะราบรื่น จะก้าวหน้า

แต่เนี่ยพูดไปเถอะ สุดท้ายมันก็ประมาทอยู่ดี กิเลสมันเก่งกว่าครูบาอาจารย์ทุกคน เก่งกว่าคำสอนทุกอย่าง แต่ในฐานะเป็นคนพูดคนสอนก็ต้องบอกไว้ก่อน แม้ว่าเราจะประมาท สุดท้ายความทุกข์จะบีบคั้นเราเองให้เราเข้าใจแบบที่ผมพูดวันนี้ แต่ถ้าใครฟังแล้ว เอาไปคอยเตือนตัวเองได้ นั่นก็ดีที่สุด

 

ตอนที่ 3 รู้สึกตัวตะพึดตะพือไป

สังเกตเรารู้สึกร่างกาย มันบริสุทธิ์ เป็นกุศล เหนือบุญเหนือบาป ถ้าเราเข้าไปในความคิดเกิดอะไรขึ้น? คิดดีก็เป็นบุญ คิดร้ายก็เป็นบาป บาปทางใจไม่พอ เอาออกมาทางวาจา ทางร่างกายอีก…เนี่ย! อันตรายของมันคือแบบนี้ ปรุงแต่งตามความคิด ความเชื่อ ทิฎฐิ มานะ อคติ อะไรก็ว่าไป เนี่ย! มันหลอกเราเละเทะเลย สร้างบาปสร้างกรรม สร้างบุญก็ได้ แต่จิตใจของคนส่วนใหญ่ไปในทางต่ำ ส่วนใหญ่มันเลยสร้างแต่บาป ไม่ค่อยสร้างบุญหรอก

พระพุทธเจ้าเลยให้ทางออกแก่ชาวพุทธทุกคน… อยู่เหนือมันซะ! อย่าเข้าไปเลยซะดีกว่า พอเข้าไปแล้วส่วนใหญ่โดนหลอกไปในทางบาป

เป็นนักปฏิบัติธรรมวันๆ โกรธคนนั้น โกรธคนนี้ ไม่ชอบคนนั้น ไม่ชอบคนนี้ ชอบคนนี้ ชอบคนนั้น…หลงทั้งหลายเนี่ย ต้องรู้แล้วว่า อันนี้หลงแล้ว ไม่พอใจคนนั้น ไม่พอใจคนนี้ ถามจริงๆ เหอะ ที่ไม่พอใจคนนั้นถูกมั้ย? คนที่รู้จักคนๆ นั้นไม่พอใจ 100% เลยมั้ย? ไม่มี มันไม่มีแบบนี้ ทำไมเราไม่พอใจแล้วอีกคนนึงพอใจล่ะ…เนี่ย! เราต้องหัดว่า ความไม่พอใจนั้นจริงมั้ย? เกิดขึ้นเพราะเราเองหรือเกิดขึ้นเพราะใคร? ถ้าเป็นนักปฏิบัติรู้ตัวว่าโดนหลอก…รู้เค้าหลอกก็อย่าเต็มใจให้เค้าหลอก รู้จักว่าโดนหลอกอยู่…

ของจริงคืออย่างนี้… บริสุทธิ์…พ้นออกจากโลกของความคิดปรุงแต่ง แล้วมันจะเห็นอะไรๆๆ ได้ชัดเจน… เห็นอะไร? ก็เห็นไตรลักษณ์… เห็นความคิดมันมาเองไปเอง ไม่ได้ทำอะไรมันก็มาอีกล่ะ เกิดเตลิดเปิดเปิงไปกับมัน ก็ปรุงแต่ง เห็นอารมณ์เกิดขึ้นเอง พอใจไม่พอใจเกิดขึ้นแล้ว มันทำของมันเองทั้งนั้น เนี่ย! มันถึงเห็นได้ เห็นได้เพราะอะไร? เพราะว่าตื่นขึ้นมาแล้ว มีสมาธิตื่นขึ้นมาแล้ว พอเห็นได้มันก็ไม่เป็น

เพราะฉะนั้น ความทุกข์ทั้งหลายเกิดขึ้นได้เพราะจิตใจนี้ไม่มีสมาธิพอ ไม่มีสมาธิที่เรียกว่า สมาธิแบบตั้งมั่น แล้วสมาธิตั้งมั่นจะทำยังไง? ก็เริ่มอย่างนี้แหละ… รู้สึกตัวเข้าไว้ มีเวลาทำในรูปแบบ รู้เนื้อรู้ตัวเข้าไว้ ความคิดเกิดขึ้น…รู้ทัน จังหวะที่รู้ทันเป็นจังหวะสำคัญ

หลวงพ่อคำเขียนเคยเทศน์ ปฏิบัติ…ปฏิ แปลว่า กลับ…กลับมา ถ้าเรากลับมาได้นี่เรียกว่า ได้ปฏิบัติแล้ว เพราะฉะนั้น จุดนี้จุดสำคัญ…คือจุดที่ไม่ไหลเข้าไปในความคิดปรุงแต่ง ไม่ยอมตามวิถีชีวิตเดิมๆ ไม่ยอมทำตามวิถีชีวิตแบบคนในโลก คือ ชีวิตเดิมๆ ของเราที่ชอบคิด ไม่อยู่ในร่องเดิมๆ… เนี่ย! เขาเรียกว่า “กลับ” หรือเรียกอีกอย่างว่า “ทวนกระแส” ทวนกระแสจนอยู่เหนือกระแส

หมั่นปฏิบัติ ก็คือ หมั่นกลับ ไม่ตามกระแสเดิมๆ กระแสโลก กระแสกิเลส เพียรให้มันจริงๆ เพียรที่จะรู้เนื้อรู้ตัวจริงๆ เพียรไม่ใช่เพ่ง แต่ไม่ลืมว่ามีหน้าที่รู้เนื้อรู้ตัว มีหน้าที่ที่จะรู้..ห้ามประมาทกับความคิด ไม่ว่าจะคิดดีหรือคิดไม่ดี ทั้งหมดเรียกว่า ความคิด ทั้งหมดเรียกว่า โลก ลองทำดูจริงๆ อันนี้ท้าเลย…วันเดียวจะรู้สึกว่าจิตใจมีกำลังตั้งมั่น

เมื่อเราได้เห็นคุณค่า…เรียกว่าคุณูปการเลยของการที่เราเพียรอย่างนี้ มันจะยิ่งเป็นกำลังใจให้กับเราที่จะไม่เลิกเพียร

พระพุทธเจ้าก็ไม่สรรเสริญความดีที่หยุดยั้ง เพราะฉะนั้น ต้องยิ่งๆ ขึ้นไปเรื่อยๆ ก็เรียกว่า “เพียร” นั่นแหละ แต่เพียรในแบบพอดี ในแบบที่เราต้องรู้ว่า ไม่ใช่ตั้งใจ ไม่ใช่จริงจังมากเกินไป ให้มันพอดีๆ เรียกว่า เพียรแต่ไม่ใช่เพี้ยน ไม่ใช่เพียรจนเพี้ยน ความพอดีตรงนี้หาจากไหน? หาได้จากเรานั่นเอง เราต้องรู้เอง ไม่มีใครจับไปตั้งให้พอดีได้… เราต้องรู้เอง

ผมพูดมาตลอด การปฏิบัติธรรมมันง่ายๆ เพราะมันมีแค่นี้ … “รู้สึกตัว รู้จักใจ ไม่ตามความคิดไป” มันมีแค่นี้  มันเป็นของที่เปิดเผยอยู่แล้ว “ความรู้สึก” มันมีใครรู้สึกตัวไม่เป็น มันไม่มีหรอก

หลวงพ่อคำเขียนพูด…ความรู้สึกเนี่ยมันเป็นของมีอยู่แล้ว มีใครรู้สึกไม่ได้เหรอ… เรารู้สึกได้อยู่แล้ว อย่าทำให้มันเป็นเรื่องลึกลับ อย่ามีเงื่อนไขกับความรู้สึกตัว ถ้าเมื่อไหร่เรามีเงื่อนไข มันก็เป็นความปรุงแต่งทั้งนั้น เรื่องที่มีอยู่แล้วทำให้มันซับซ้อน เคลื่อนมือไป 14 จังหวะ ไม่มีใครไม่รู้หรอกว่ามันเคลื่อนอยู่  แต่พอเคลื่อนไปเคลื่อนมา มันเคลื่อนแต่มันไม่อยู่กับอาการเคลื่อน ไปคิดโน่นคิดนี่ อันนั้นแหละถึงไม่รู้สึกตัว แบบนี้เรียกว่า ไม่รู้สึกตัว  มันมี 2 อย่างคือ รู้สึกตัว กับไม่รู้สึกตัว มีแค่นั้น

หลวงพ่อคำเขียนจะใช้คำว่า รู้สึกตัวตะพึดตะพือไป อย่าไปหาถูกหาผิดกับความรู้สึกตัว รู้สึกตัวตะพึดตะพือไป มัวแต่หาถูกหาผิด..พอดีไม่ต้องปฏิบัติธรรม คิดอย่างเดียว “ถูกยังว้า ถูกยังว้า เอ๊ะ! ผิดเปล่าว้า” ไม่ได้ปฏิบัติธรรมเลย คิดอย่างเดียว เนี่ย! ครูบาอาจารย์ชั้นเลิศ…หลวงพ่อคำเขียน  จำไว้! คนไหนที่ชอบหาถูกหาผิดกับความรู้สึกตัว ท่านบอกไว้แล้ว …ความรู้สึกตัวเป็นของเปิดเผย เป็นของง่ายๆ ให้รู้สึกตัวตะพึดตะพือไป… ท่านสอนแบบนี้ ตะพึดตะพือไปมีมั้ยถูกหรือผิด…ไม่มี

รู้สึกตัวตะพึดตะพือไป…แล้วท่านว่ายังไง? แล้วทุกอย่างมันจะเป็นเอง ญาณจะเกิดเอง ฌานจะเกิดเอง เป็นญานเป็นฌานของพระพุทธเจ้า ของพระพุทธศาสนา มันจะเกิดเอง ปัญญาความรู้แจ้งจะเกิดเอง ทุกสิ่งทุกอย่างจะเกิดเอง จะเปิดเผยออกมาหมดทุกอย่าง เลยพูดตลอดว่ามันง่าย เมื่อไหร่ยากให้รู้ไว้เลยว่าคิดมากไปแล้ว หาเรื่องใส่ตัวแล้ว กำลังหลงทางแล้ว

ที่ผมเคยบอกจำได้ “ย่ำอยู่กับที่”…โม่แป้ง แป้งมันออกมาเอง ความแจ่มแจ้งในชีวิต ในทุกสิ่งทุกอย่างมันเปิดเผยตัวออกมา ไม่ผ่านสมองเลย ไม่ผ่านกระบวนการคิด มันเป็นเหมือนคำพูดนั่นแหละ…พลิกของคว่ำให้หงาย แล้วตาก็เห็นชัดๆ เลยว่าเป็นยังไง ไม่ใช่คิด เค้าถึงเรียกว่า แจ่มแจ้งเพราะมันเห็น  ปฏิบัติธรรมเป็นเรื่องของการเห็น การรู้ การเห็น เห็นของจริงไปเรื่อยๆ

 

ตอนที่ 4 แค่อดทนอยู่ในทางเอาไว้

อยู่กับร่างกายไว้ ดูซิมันมีอะไรมั้ย….เงียบไปซักพักนึงเนี่ยสังเกตตัวเองได้ปฏิบัติมั้ย เราพูดได้ปฏิบัติมั้ยคือ ได้กลับมามั้ย รู้ทันมั้ย ไม่เข้าไปในความคิดได้มั้ย ถ้าได้…ได้ปฏิบัติ

ความหลงเป็นเหมือนมาร แต่เป็นมารที่ช่วยเรา เพราะมันหลงเลยเกิดการรู้ได้ มันเลยเป็นมารที่คอยสร้างบารมีให้กับเรา ถ้าเราใช้มันเป็น เพราะฉะนั้น อย่า…โอ้! หลง หลง ไม่ดี…ไม่ใช่ ยิ่งมันหนักเท่าไหร่ แล้วเราต้านทานมันได้ มันยิ่งเป็นพลังมากเท่านั้น

อย่าให้ความง่วงเหงาครอบครองจิตใจ ยืดเนื้อยืดตัว หายใจเข้าลึกๆ ให้ตาหลับแต่ใจตื่น ถ้าใจไม่ยอมตื่น ลืมตาซะเลย ความเคลิ้มนี้เป็นความสุขอย่างนึงด้วย เป็นการได้พัก แต่อย่าให้มันหลอกว่าพักทุกครั้ง บางทีเราชอบ ความเคลิ้มนี้มันชอบ เป็นความสุข พักก็อย่าง ชอบก็อีกอย่าง แยกให้ออก

ทำไมชอบความเคลิ้ม ทำไมเป็นความสุขได้? เพราะมันเบาๆ ตอนมันหงึกๆ เตรียมจะลงภวังค์ กำลังจะเคลิ้ม อ่อ! ใจมันเบา มันเลยชอบ แต่อันนี้ไม่ใช่เบาแบบตั้งมั่น คนละเบากัน จิตใจที่ตั้งมั่นมันก็เบาเหมือนกันเพราะมันไม่ทุกข์ มันเบาคนละแบบ ที่เคยบอกว่า มันเบาสบาย แต่มันหนักแน่น ไม่ใช่เบาไปเลย เบาวูบไปเลย ไม่ใช่แบบนั้น ต้องตั้งมั่นหนักแน่นแต่เบาสบาย

ความคิดมีได้ แต่เรามีหน้าที่รู้ทัน รู้แล้วถ้าเป็นเรื่องที่ชอบคิด ให้อดทนที่จะไม่เข้าไปต่อ แต่ถ้าเรื่องที่รู้ทันแล้วจบไป ก็ดีแล้ว

ลดละการพูดให้มันน้อยลง ไม่จำเป็นไม่ต้องพูด อยู่ด้วยกันคุยไร้สาระ อันนี้ไม่ต้องคุยเพราะมันไม่ช่วยอะไร รังแต่ทำให้ตัวเองฟุ้งซ่าน คนที่เราคุยด้วยก็ฟุ้งซ่าน เพราะฉะนั้น เรื่องไม่เป็นเรื่องไม่ต้องคุย คุยเฉพาะเรื่องการเรื่องงาน เรื่องมีสาระต้องทำ แค่นั้น เนี่ย! ทำแบบนี้เค้าเรียกว่า ช่วยตัวเอง แล้วก็ช่วยคนอื่น ไม่ใช่คนอื่นเค้าต้องมานั่งฟังเราคุย สำรวมกาย สำรวมวาจา เรียกว่า เราจะได้ช่วยกันปฏิบัติธรรม

ถ้าเราฝึกอย่างนี้ ฝึกแบบนี้ ไม่ต้องกลัวอะไรทั้งนั้น ไม่ต้องกลัวใครทั้งนั้น เรารู้ได้เอง จิตใจตั้งมั่น มีกำลัง มีพลัง เรารู้ตัวเราเอง ใครจะว่าอะไร จะพูดอะไร ทำอะไรเราไม่ได้เลย เต็มที่ก็น่าเบื่อเฉยๆ ฟังเรื่องไร้สาระ

เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าถึงว่าการปฏิบัติธรรมเป็นปัจจัตตัง รู้ได้เฉพาะตัวเอง วัดได้เลย วัดตัวเอง ไม่ต้องไปวัดใคร นักปฏิบัติมีหน้าที่วัดตัวเอง ไม่ได้มีหน้าที่ไปวัดคนอื่น วัดคนอื่นภาษาจีนเค้าเรียกว่า เจี่ยะป้าบ่อสื่อ…กินอิ่มแล้วไม่มีงานทำ หาเรื่อง ยุ่งเรื่องชาวบ้าน เนี่ย! พวกนี้ไม่ใช่นักปฏิบัติธรรม ทำตัวเหมือนคนอยู่ในโลก

ถ้าเราเป็นนักปฏิบัติธรรม เราจะสนใจความรู้เนื้อรู้ตัวมาก เรื่องอื่นๆ เราสนใจน้อย ยิ่งเรื่องชาวบ้าน ยิ่งไม่สนใจเลย ทำไมเป็นแบบนั้น? ก็ “ความรู้เนื้อรู้ตัว” เป็นอุปการคุณมากกับ “จิตใจที่มันตั้งมั่น” แล้วถ้าเราได้สัมผัสจิตใจที่มันตั้งมั่น เราจะไม่ลืมเลย เราจะรู้ว่า อันนี้แหละที่ทำให้เราไม่ทุกข์  เมื่อจิตใจเราตั้งมั่น มีกำลัง มันก็ไม่ไหลไปในอารมณ์ใดๆ หรือว่าการกระทบใดๆ ง่าย อดทนที่จะตั้งมั่น จนวันนึงมันชำแรกกิเลสตัดสังโยชน์ มันก็เป็นการพ้นทุกข์แบบถาวร สมาธิก็บริบูรณ์โดยอัตโนมัติ ฟังครูบาอาจารย์พูดมาว่า ชั้นพระอนาคามีก็สมาธิบริบูรณ์

เพราะฉะนั้น อดทน…แค่อดทนอยู่ในทางเอาไว้ มันยากตรงนี้แหละ อดทนที่จะรู้เนื้อรู้ตัวอย่างนี้ อดทนที่จะไม่เข้าไปในความคิด อดทนที่จะไม่ทำตามกิเลส

พวกเรานักปฏิบัติธรรม ต้องรู้จักกลับมา กลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว อย่าสร้างนิสัยยุ่งเรื่องชาวบ้าน ยุ่งกับตัวเองก็พอแล้ว อย่าสร้างนิสัยการปรุงแต่ง เพราะจิตมนุษย์ส่วนใหญ่ไหลลงต่ำ ถ้าเราสร้างนิสัยปรุงแต่ง มันจะถูกสร้างนิสัยแห่งอกุศลบาปอัตโนมัติเลย ทำร้ายตัวเอง

ถ้าจิตใจเราเศร้าหมอง…ให้เห็น เป็นความปรุงแต่ง ปรุงแต่งแล้ว กลับมารู้เนื้อรู้ตัวจะช่วยเรา ช่วยไม่ให้เราโดนหลอก ไม่ให้ความคิดหลอกเรา

อย่าลืมคำครูบาอาจารย์ หลวงพ่อเกษม เขมมักโก “คิดดีก็ใจเย็น คิดไม่เป็นก็เย็นสบาย” คิดร้ายไม่ต้องพูดถึง มีแต่แย่อย่างเดียว

นั่งให้ดี นั่งอย่างรู้เนื้อรู้ตัว รู้ทันจิตที่ไปคิด ถ้านั่งแล้วไม่มีความคิดปรุงแต่งอะไร… จะเกิดอะไรขึ้น? เกิดความเบื่อขึ้น อย่าหนี  อดทนต่อไป เห็นความเบื่อนี้ มันจะพาเราไปหาอะไรทำอีกแล้ว มันจะพาเราไปหาอย่างอื่นทำ มันว่าเราดีแล้วพอแล้ว อย่าโดนหลอก อยู่กับความรู้สึกทางร่างกายเอาไว้ ความรู้สึกนี้วิ่งวนไปอยู่ในร่างกายนี้ สังเกตมันไม่อยู่กับที่หรอก มันไม่ได้อยู่ที่เดียว ให้สังเกตให้ละเอียดขึ้น สังเกตดิ…รู้ ไม่ได้ทำอะไร ไม่ได้อยู่ในโลกความคิดปรุงแต่ง เป็นการเห็น

เห็นให้มันละเอียดขึ้นหน่อย เวทนามีมั้ย มีแล้วเป็นยังไง เห็นเข้าไป พอเห็นละเอียดเข้าหน่อย สงสัย…อ้าว! เห็นสงสัย มีล่ะ สงสัยมาแล้ว พอสังเกตเวทนาเป็นยังไง ก็เห็นมัน มีเวทนา มันก็ขึ้นๆ ลงๆ …ขึ้นๆ ลงๆ เป็นไตรลักษณ์ ก็เข้าใจอะไรมากขึ้น มันค่อยๆ แจ่มแจ้ง ค่อยๆ เปิดเผย ขอแค่เห็นได้ก็พอ ไม่ได้ทำอะไร แค่เห็น พบเห็น รู้เห็นไปเรื่อยๆ จนสุดท้ายก็แจ่มแจ้ง แจ่มแจ้งในกองทุกข์นี้

เพราะฉะนั้น เราดูไปเรื่อย ดูตัวเอง เห็นตัวเองนี่แหละ ดูกายดูใจไปเรื่อยจนมันแจ่มแจ้ง แจ่มแจ้งก็พ้นทุกข์…จบกิจ

 

ตอนที่ 5 รู้เนื้อรู้ตัวให้มาก…เอาจริงๆ ทำจริงๆ

เราจะรู้สึกบ่อยๆ ว่าเราเหมือนคนภาวนาไม่เป็นเลย …โอ้ย! ทำไมเป็นแบบนี้ โอ้ย! ทำไมทุกข์จัง โอ้ย! ทำไมมันอย่างนี้อย่างนั้น อันนี้เป็นปัญหาของทุกคน ขั้นต่อมาเราจะดิ้นรน …โอ้! หรือว่าเป็นเพราะอยู่ที่นี่

ผมเลยบอกว่า นักปฏิบัติเราต้องอดทนมาก อดทนกับเรื่องไม่คาดฝันของนักปฏิบัติ เอ้ย! ทำไมดีๆ อยู่ดีๆ แล้วไม่ดี แล้วไม่รู้จะทำยังไงด้วย เราก็จะโทษโน่นโทษนี่โทษนั่น…เป็นทุกคน ก็จิตนี้จะเป็นแบบนี้ มันจะทำให้เรารู้สึกว่า เราบังคับมันไม่ได้ มันไม่ยอมให้เราไปตลอด มันต้องทำเราหัวทิ่มซักอย่างนึง ไม่ได้เป็นแป๊บๆ อันนี้เป็นหลายวัน เพราะอะไร? เพราะพอเราเป็น..เราก็ไปเสริมต่อมัน นึกออกมั้ย?

ที่ผมบอกพอจิตมันอ่อนปุ๊บ มีเรื่องเข้ามาเราจะคิดไป คิดไปปุ๊บมันจะคิดไปในทางให้เราอ่อนลง เราก็อ่อนอีก ปรุงต่ออีก จิตก็ไปทางอ่อนๆๆ ต่ำเตี้ยลงไปเรื่อยๆ เวลาจิตมันอ่อน ความคิดมันจะไปในทางทำลายตัวเอง จะอ่อนลงเรื่อยๆ แต่พอวันนี้จิตมีกำลังขึ้น เห็นมั้ยความคิดเปลี่ยนนะ เรื่องเดิมแต่เราคิดเป็นอีกแบบนึงแทน เป็นแบบที่ไม่ทุกข์ นี่! นี่คืออำนาจของจิต เรื่องที่เคยคิดแล้วทุกข์ไปเรื่อยๆ จมไปเรื่อยๆ พอจิตมีกำลัง…คิดเรื่องเดิมมันไปอีกทางนึง คนละทางเลย

เพราะฉะนั้น ความคิดเชื่อไม่ได้ เรามีหน้าที่แค่สร้างจิตนี้ให้มีกำลัง ถ้ามันมีกำลังได้ มันจะไปในทางโอเค ถ้ามันมีกำลังไม่ได้ มันจะไปในทางแย่เสมอ เพราะความคิดจะพาไปทางนั้นตามธรรมชาติของมัน ธรรมชาติคือ จิตอ่อน มันก็ไปอ่อน ธรรมชาติคือ จิตมีกำลัง มันก็ไปในทางไม่กระเทือน ไม่เป็นไร นี่! อย่างนี้ แต่ถ้าเราหนี ยิ่งหนี ยิ่งหาเหตุหาผล เอ๊ะ! จะเอายังไงดี …ยิ่งอ่อนลงเลย

เพียงแค่ไม่ต้องคิดอะไร แค่ว่า อ่อ! ต้องทำให้จิตมีกำลัง ก็รู้เนื้อรู้ตัว บอกให้นั่งขยับมือ นั่งพลิกมือสบายๆ …ก็พลิกมืออย่างเดียวเลยไม่ต้องคิดอย่างอื่นแล้วให้มันต่อเนื่อง ทำมันตะพึดตะพือไปเรื่อย มีความคิด…ไม่เอาเว้ยไม่เข้าไป ไม่เอาเว้ยไม่เข้าไป …ตะพึดตะพือไปเรื่อย พอจิตมีกำลังขึ้นมา เดี๋ยวเปลี่ยน เดี๋ยวจะรู้เลย โอ้! เป็นอย่างนี้ อย่าให้ความคิดหลอกเรา

ธรรมชาติของจิตธรรมชาติของมารมันเป็นแบบนั้น มันต้องให้บทเรียนกับเรา กับนักปฏิบัติ ไม่อย่างนั้นเราเติบโตไม่ได้ จำไว้เลยว่า ใครได้รับทุกข์แบบนี้ เราจะแข็งแกร่งขึ้น ที่วันนั้นบอกว่า มันมีทุกข์ เราถึงรู้จักที่จะหาทางพ้นทุกข์ด้วยตัวเอง จิตใจมันถึงเข้มแข็งได้ มันถึงมีศิลปะในการอยู่รอดได้ ถึงเข้าใจว่า อ่อ! ทางพ้นทุกข์นี่มันเป็นแบบนี้ มันไม่ใช่ให้ใครมาบอกเรา เราต้องรู้เอง รู้เองปุ๊บ…โอ้โห! แจ้มแจ้งเลย มันจะไม่ต้องพึ่งใคร

เหมือนที่ตำรวจเล่าให้ฟังถึงคำสอนหลวงพ่อคูณที่ท่านว่า…พึ่งตัวเองให้มาก ไม่ต้องพึ่งหลวงพ่อ มันก็คำสอน…พระพุทธเจ้าก็สอนแบบนี้

ถ้าเราพึ่งตัวเองได้ บารมียิ่งแก่กล้า ยิ่งเข้มแข็ง ถ้าเราคอยแต่…โอ้ย! ไม่ไหวแล้ว ไปพึ่งคนอื่น พึ่งครูบาอาจารย์ เราก็ไม่โตสักที

เวลาหาทางออกด้วยตัวเอง…มันชัดเลย ถ้าเราไม่เคยหาคำตอบด้วยตัวเอง พอมีปัญหา เราก็จะวิ่งไปล่ะ ไปถามล่ะ ถ้าอดทนหาทางออกด้วยตัวเอง มันนานเหมือนกัน หลายวันกว่าจะรู้จักทางออกได้ แต่คุ้มค่า คุ้มค่ามาก แต่ถ้าไม่ได้จริงๆ ค่อยถาม ครูบาอาจารย์เค้าก็ฝึกกันมาแบบนี้ ที่พูดแบบนี้ไม่ใช่ไม่ให้ถามนะ แต่แค่บอกประสบการณ์เฉยๆ ว่า ถ้าเราอดทนสู้ยิบตา มันต้องผ่านช่วงน็อคช่วงพังทุกคนแหละ มันเป็นธรรมชาติของการปฏิบัติธรรม

เราเรียนหนังสือทำงาน เรายังทำแทบตาย ยอมทุกอย่างจะได้รวย จะได้สอบผ่าน จะได้เกรดดี ปฏิบัติธรรมก็เหมือนกัน มันก็ต้องสุดชีวิตเหมือนกัน ที่ผมบอกไว้…ลอง ลองดู เอาจริงๆ อยู่กับเนื้อกับตัวจริงๆ เนี่ย! ลองดูซิเป็นยังไง วันเดียวก็รู้เรื่องเลย …

รู้เนื้อรู้ตัวให้มาก…ความปรุงแต่งจะสั้นลง มันก็จะรู้เฉยๆ รู้ว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นแล้ว แต่ความปรุงแต่งก็ไม่มี ความปรุงแต่งเป็นส่วนเกิน ความชอบไม่ชอบเป็นส่วนเกิน วันหลังมันก็ไม่มีความชอบไม่ชอบ มันก็รู้อยู่เฉยๆ รู้จักว่าเป็นอย่างนี้ๆ ดีไม่ดีก็รู้หมดแหละแต่ว่าไม่มีความยินดียินร้ายอะไร เพราะจิตมีสมาธิ

จิตจะมีสมาธิได้ก็ต้องรู้เนื้อรู้ตัว นี่เอาจริงๆ ทำจริงๆ ดู วันนึงก็รู้เรื่องแล้ว… ตื่นมาก็เอาเลย อยู่กับตัวเอง นั่งพลิกไป เดินจงกรม เอาแบบไหนที่เราถนัด ให้มันอยู่กับเนื้อกับตัวจริงๆ ดูซิมันเป็นยังไง ไม่ยอมคิด ไม่ไปคิด มันรู้ทัน รู้ทันความคิด รู้ทันจริงๆ ไม่เข้าไป มันจะหนักแน่นเลย ลองดู

เวลาเราหลับตา อาการเคลิ้มมันง่ายกว่า อาการที่เราจะมัวๆ เห็นไม่ทันมันจะเกิดง่ายกว่า แต่ถ้าเราลืมตาอยู่อย่างนี้ แล้วเราพลิกมือ มันจะไว เพราะมันมีอาการหยุดอย่างที่ผมบอก พอหยุดปุ๊บ…อาการเคลิ้มนี่ก็หยุดด้วยเลย เลยบอกว่า เวลาหยุดต้องรู้ว่ามันหยุดแล้วค่อยเคลื่อน ก็ค่อยรู้ว่ามันเคลื่อน แล้วพอหยุดก็ต้องรู้ก่อนว่ามันหยุดแล้วนะค่อยไปต่อ ไม่ใช่เพลิดเพลินไปเรื่อย เพลิดเพลินคิดก็เพลินเหมือนกัน ก็ดูไม่ทันเหมือนกัน อย่างนี้เค้าเรียกว่า พลิกด้วยไขสันหลัง ไปเองเลย

เลยบอกว่า…เคลื่อนก็ต้องรู้ พอหยุดแล้วก็ต้องรู้ว่ามันหยุดแล้ว แต่จะหยุดนานขนาดไหน อยู่ที่สติเรา ถ้าสติมันยังไม่มาก็ต้องหยุดนานหน่อย ให้มันรู้ก่อนค่อยเคลื่อน แต่ถ้าสติมันไว มันหยุดก็รู้แล้ว เคลื่อนต่อได้ มันก็เหมือนไม่ได้หยุด แต่ช้าไว้ก่อนดีกว่า มันจะเห็นอะไรชัด

แต่พอมาอีกช่วงนึงก็ง่วงล่ะ ก็ลองนั่งหลับตา มันก็จะได้พักแป๊บนึง แล้วเราก็ลืมตา จิตได้พักแล้ว พลิกมือต่อ เราต้องแยกว่า เราอยากจะหลับเพราะชอบ หรือว่ามันเป็นอาการนิวรณ์ที่เราจะผ่านไปได้ เนี่ย! ต้องรู้จักศิลปะว่าตอนนี้ต้องทำอะไรๆ

แต่ก็อยากจะให้ฝึกแบบนี้ ให้มันรู้สึกว่า เออ! หนักแน่น ไม่ใช่ฝึกๆ แล้วก็เรียกว่า มันตั้งมั่นเหมือนกัน แต่มันคล้ายๆ มันเท่าเดิม

เราลองจริงจังมากขึ้นอีกหน่อย ลดกิจกรรมฟุ้งซ่านลงอีกหน่อย กิจกรรมไม่จำเป็นก็ลดลงอีกหน่อย ลองดูซิ…โอ้! มันหนาแน่นขึ้น มันก็เป็นกำลังใจของนักปฏิบัติ

เราค่อยๆ ทำสิ่งที่ทำได้ยาก ไม่ใช่ โอ้โห! พลิกหน้ามือเป็นหลังมือ ไม่ใช่ขนาดนั้น เลือกจะทำสักอย่างนึงได้ จะทำอีกอย่างนึงได้ ค่อยๆ เลือกจากเบาไปหาสิ่งที่หนัก มันจะค่อยๆ เข้มแข็งขึ้น บารมีก็เพิ่มขึ้น

ถ้าเราผ่านไปได้เราก็รู้สึกว่า โอ้! ไม่มีอะไรนี่หว่า ก็ทำได้นี่ อย่าให้ความกลัวนำหน้า ถ้าความกลัวนำหน้าจิตมันก็อ่อนอีก

มือถือไม่ต้องเล่น ไม่ต้องดู กินข้าวทำการทำงานที่ต้องรับผิดชอบเสร็จปุ๊บ…ได้เวลาอยู่กับตัวเอง ใช้เวลาตรงนั้นให้มันเต็มที่ มีการมีงานอะไรเราก็ทำไป พอเหลือจากกิจกรรม เราก็ไม่ทิ้งเวลา ไม่ปล่อยเวลา เช่น ไปทำสวนเสร็จแล้ว กวาดเสร็จแล้ว พอไม่มีอะไรทำก็นั่งเอ้อระเหยดูเฟสบุ๊คไปเรื่อย…ไม่ใช่แบบนั้น เราก็เอามาทำ สร้างสติ สร้างสมาธิ สร้างปัญญา ไม่ชะล่าใจ

 

15-07-2561

Camouflage

YouTube : https://youtu.be/9HBINwO_GCE

คลิปเสียงธรรมะทั้งหมดของอาจารย์ Camouflage : https://goo.gl/RDZFMI

======================

5 ช่องทางการอ่านและฟังธรรม

1) Facebook : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
http://www.facebook.com/sookguysookjai

2) Line : @camouflage.talk
https://line.me/R/ti/p/%40camouflage.talk

3) YouTube : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
https://goo.gl/in9S5v

4) Website: https://camouflagetalk.com/

5) Podcast : Camouflage – Dhamma Talk
https://itun.es/th/t6Mzdb.c
วิธีการติดตั้ง https://goo.gl/tBMY9S