74.เพราะเชื่อความคิดตัวเอง

ตอนที่ 1 เพราะเชื่อความคิดตัวเอง

หลวงพ่อเคยสอนพวกเรา…ส่วนตั้งแต่คอขึ้นไปถึงบนสุดเรียกว่า หัวเรา…เป็นสิ่งที่เชื่อไม่ได้

ในความหมายคือ “อย่าเชื่อความคิดตัวเอง”…ความคิดสร้างความหวัง ความเชื่อในความคิดก็สร้างความหวัง เราเชื่อว่าทำอย่างนี้จะได้อย่างนั้น เราก็หวัง หวังทีไรผิดหวังทุกที เพราะมันมีคน มันมีคนหวัง ถ้ามีคนหวังก็มีคนผิดหวัง

แต่ถ้าเราเพียงแค่ “รับรู้ปัจจุบันธรรมในแต่ละขณะไปเรื่อยๆ” ไม่ต้องหวังว่า…จะได้อะไร จะเห็นอะไร จะไปถึงไหน  การเพียงแค่ “รับรู้” แบบนั้น เป็นทางของการปฏิบัติธรรม…รับรู้ความมีอยู่ของร่างกาย

เมื่อไหร่มีความคิด รู้แล้วยังไงต่อๆ …อัตตาก็เกิดทันที ตกทางทันที ตกปัจจุบันขณะ

มิจฉาทิฏฐิ” มันชอบสร้างคน มันชอบทำให้เราคิดว่าเราเป็นคน…เป็นกับดัก ต้องรู้ให้ทันกับดักแบบนี้ “ความคิด” หลอกนักปฏิบัติ หลอกคนทุกคน ….เพราะฉะนั้นคำสอนคือ

เราไม่ตามเข้าไปในความคิด

เราไม่หลงเข้าไปปรุงแต่งกับความคิดนั้นๆ

มีความคิดเกิดขึ้น…ก็รู้ทัน

ถ้าเราเป็นนักปฏิบัติ แต่ไม่รู้จักความคิด เราจะตกเป็นทาสของมัน เมื่อตกเป็นทาสของความคิด ความคิดนั้นจะพาเราไปทำบุญแล้วก็ทำบาปด้วย

เพราะเมื่อไหร่ที่เราเชื่อความคิด ยึดมั่นในความคิด ความคิดนั้นจะพาเราไปได้ทั้งสองทาง เราจะไปเหนือความคิดไม่ได้ เหนือบุญเหนือบาปไม่ได้ เหมือนเราคาดหวังว่าพระอริยะต้องเป็นอย่างนั้นต้องเป็นอย่างนี้ เนี่ย! มันเป็นความโง่ของเราเอง  เราได้แต่อ่านหนังสือ แล้วก็ไปตัดสินครูบาอาจารย์…ใช่ ไม่ใช่  โอ้! อันนี้เรานับถือ…ใช่ อันนี้เราไม่นับถือ…ไม่ใช่ โอ้!ความโง่ของเราเอง

ตัวเองไม่เคยเป็น แต่ไปตัดสินเขาได้ ลองคิดว่าโง่ขนาดไหน ตัดสินในสิ่งที่ตัวเองไม่รู้ อกุศลเกิดในใจไม่รู้ตัว ไม่รู้เรื่องเพราะอะไร?…เพราะเชื่อความคิด ยึดมั่นในความคิดตัวเอง

เคยฟังครูบาอาจารย์พูดบ่อย พวกเราชาวพุทธเป็นนักปฏิบัติ …โอ้ย! องค์นี้เป็นพระอรหันต์แล้ว รู้ได้ยังไง เคยเป็นเหรอ ถึงรู้ว่าพระอรหันต์เป็นยังไง อู๊ย…องค์นี้ไม่ใช่หรอก เคยเป็นเหรอ ถึงรู้ว่าเขาไม่ใช่พระอริยะ พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ เคยเป็นเหรอ

เนี่ย! เราจะเห็นว่าความคิดไปทางบุญก็ได้ ไปทางบาปก็ได้ แต่ถ้าเรานักปฏิบัติเพียงแค่รับรู้…อ้อ! เป็นอย่างนี้ จบแล้ว…อ้อ! ท่านเป็นแบบนี้ จบแล้ว

เหมือนท่านเขมานันทะเคยเล่า ท่านบวชกับหลวงพ่อเทียน หลวงพ่อเทียนก็เป็นคนที่เรียกว่าเดาทางไม่ออกเลย วันนึงพูดอย่าง อีกวันพูดอีกอย่าง เรื่องเดียวกันนั่นแหละ วันนึงตอบอย่าง อีกวันตอบอีกอย่างเลย คนละทางเลย เรื่องเดียวกัน แต่ตอบแบบเรียกว่าหัวกับก้อยเลย ภาษาสมัยนี้เรียกว่าย้อนแย้ง เมื่อก่อนท่านไม่เข้าใจหลวงพ่อเทียน แต่พออยู่ไปๆ ท่านก็…อ่อ! ท่าน (หลวงพ่อเทียน) เป็นแบบนี้ เข้าใจละ

ตอนเราไม่เข้าใจ เราก็เกิดอกุศล อาจจะไม่พอใจครูบาอาจารย์ วันนึงตอบอย่างนึง อีกวันตอบอีกอย่าง เหมือนคนไม่มีหลักเกณฑ์ ซึ่งไม่แปลกอะไร…หลายคนที่อุปัฏฐากหลวงพ่อ สนิทกับหลวงพ่อก็จะรู้ว่าเป็นสไตล์หลวงพ่อเทียนนี้เหมือนกัน ตอบคนนึงอย่างนึง ตอบอีกคนนึง ก็อีกอย่าง คำถามเดียวกันนั่นแหละ

ถ้าให้ลูกศิษย์พวกที่ยึดมั่นในตัวเองมากๆ เอาคำตอบที่ตอบกูนี่แหละถูก เอาไปทะเลาะกับคนอื่น ไปหาว่าคนอื่นโกหก เนี่ย! ความยึดมั่นในความคิด มันพาเราทำบาปอกุศลง่ายๆ เพราะไม่รู้จักเหตุปัจจัย ไม่รู้จักความเป็นเช่นนั้นเอง ไม่มีธรรมะในระดับวิปัสสนา ก็อาศัยแต่ความคิดตัวเอง โลกนี้วุ่นวายเพราะทุกคนเชื่อความคิดตัวเอง

แต่ศาสนาพุทธเรา พระพุทธเจ้าสอนให้ “ลองทำดูก่อน” เมื่อได้เห็นตามเป็นจริงแล้วก็จะเชื่อเอง ท่านไม่ได้สอนให้เชื่อความคิด ท่านไม่ได้สอนให้เชื่ออะไรง่ายๆ ท่านไม่ได้สอนให้เราเชื่อแม้กระทั่งตัวท่าน ท่านสอนให้เราลอง

แล้วความเชื่อ ความศรัทธา มันเกิดจากการที่เราได้ลองทำดูแล้ว มันจะเป็นความเชื่อเพราะเห็นตามเป็นจริง ไม่ใช่เชื่อเพราะความคิด เหตุผล ตรรกะพาให้เชื่อ นั่น! เป็นเรื่องในโลก เรื่องของคนโง่

เพราะฉะนั้นเรานักปฏิบัติจำไว้ให้แม่น เรามีหน้าที่ “รู้ทัน” เมื่อความคิดเกิดขึ้น ไม่หลงเข้าไปในความคิดปรุงแต่ง อย่าเพลิดเพลินกับความคิดไม่ว่าจะดีหรือไม่ดีก็ตาม

เพราะว่าอะไร? เพราะว่าความคิดของเราทุกคนตอนนี้ มันมีมิจฉาทิฎฐิ มีอวิชชา สัญญาที่มีก็เป็นสัญญาวิปลาส เพราะฉะนั้นเอาเรื่องวิปลาสมาคิด คิดเท่าไหร่ก็ไม่ถูกหรอก มันมีเชื้อของกิเลส… โลภ โกรธ หลง โลภะ โทสะ โมหะ เต็มหัวใจ เวลาคิดมันก็มีทิฎฐิ อคติ มานะเข้ามาตลอดเวลา แล้วเราจะเชื่อมันได้ยังไง

 

ตอนที่ 2 ไม่ลืมกาย ไม่ลืมใจ

เราปฏิบัติธรรมต้องเข้าใจการปฏิบัติธรรมให้ถูกว่า เราไม่ได้ปฏิบัติเพื่อให้จิตนี้เบาสบาย โปร่ง โล่ง เราปฏิบัติเพื่อจะเห็นทุกสิ่งตามเป็นจริง เห็นกายกับจิตตามเป็นจริง มันเป็นยังไงก็รู้มันเป็นอย่างนั้น เห็นไปเรื่อยจนสุดท้ายเราเข้าใจว่า อ่อ! มันมีลักษณะร่วมกันอย่างนึงคือ มันตกอยู่ภายใต้กฎไตรลักษณ์

จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน จะใช้ชีวิตในชีวิตประจำวันก็เห็นได้ทั้งนั้น ถ้าเราหมั่นที่จะไม่ลืมเนื้อลืมตัว ไม่ลืมกาย ไม่ลืมใจ วันทั้งวันของเราก็เป็นการปฏิบัติธรรมอยู่แล้ว ไม่ใช่ว่าต้องนั่ง ต้องเดิน ทั้งวี่ทั้งวัน

แต่เราอาศัยชีวิตที่วิเวกสันโดษ ไม่มีภาระการงานที่มากเกินไป ไม่มีกิจกรรมที่ไร้สาระมาพาจิตใจให้ฟุ้งซ่าน เราจัดชีวิตเราให้ถูกต้อง ความอยู่กับเนื้อกับตัว ความไม่ลืมกายไม่ลืมใจ มันจะเข้มข้นขึ้นตามสิ่งแวดล้อมที่เราได้ปรับให้มันเอื้อต่อการปฏิบัติธรรม

อะไรไม่จำเป็นเราก็ตัดออก ตัดทิ้ง เรื่องราวอะไร ความสัมพันธ์ใดๆ ไม่จำเป็น ตัดออก ตัดทิ้ง ให้ชีวิตมันเหลือแต่สิ่งจำเป็นจริงๆที่เอื้อต่อการปฏิบัติธรรม

ที่บอกว่าเราปฏิบัติธรรม เราไม่ได้ปฏิบัติเพื่อให้จิตนี้มันสบาย…เพราะอะไร? เพราะเป้าหมายในการเห็นตามเป็นจริงเพื่อจะเห็นว่ากายกับจิตนี้เป็นตัวทุกข์ มีแต่ทุกข์ล้วนๆ ถ้ามันเป็นตัวทุกข์เนี่ยมันจะสบายได้มั้ย

เพราะฉะนั้น นักปฏิบัติไปกันผิดทางเยอะ ไปทำให้จิตมันสบาย แล้วนึกว่านี่กำลังปฏิบัติธรรม เรามีหน้าที่เห็นตามเป็นจริงว่ามันเป็นตัวทุกข์ กายนี้เป็นตัวทุกข์

ทุกวันนี้เรามีร่างกาย คนไหนเริ่มอายุมากก็อายุมากกันเกือบหมดแล้วทั้งห้อง เราจะรู้สึกได้ว่าร่างกายนี้มันเป็นทุกข์ เจ็บนี่ ปวดโน่น ป่วยอย่างนี้ พลังงานตก อะไรก็ว่าไป ตาเริ่มฝ้าฟาง เหี่ยวหมดทุกส่วน ตึงอยู่ส่วนเดียวคือหู

เราจะเห็นได้ว่าร่างกายนี้ก็เป็นทุกข์พอสมควรแล้ว แต่สังเกตให้ดีเรายังใช้ร่างกายนี้หาความสุขได้เหมือนกัน เรายังมีความสุขในการเห็นรูปที่สวย เรายังมีความสุขในการกินอาหารที่อร่อย เรายังมีความสุขในการดมกลิ่นที่หอม เรายังมีความสุขในการได้ยินสิ่งที่น่าฟัง เรายังมีความสุขในสัมผัสอะไรก็ได้ที่เราชอบ จะเห็นว่าแม้เราก็รู้ว่าร่างกายนี้เป็นทุกข์นะ แต่มันยังหาความสุขได้อยู่เหมือนกัน มันเลยยังไม่ถึงจุดที่เราจะเห็นว่าร่างกายนี้มีแต่ทุกข์ล้วนๆ

ถ้าเราค่อยๆ ปฏิบัติไป จนถึงวันนึงเราหาความสุขไม่ได้ ผ่านทางตา หู จมูก ลิ้น กายใจนี้ เราถึงจะเข้าใจว่ากายนี้แหละเป็นทุกข์ล้วนๆ

เขาถึงว่าพระอนาคามีก็ทิ้งกายได้…ทำไมทิ้งได้? ก็เห็นโทษเห็นภัยแล้วว่ากายนี้มันเป็นทุกข์ มันไม่เหลือที่ของความสุขเลย ก็ทิ้งได้ เนี่ย! มันเป็นการเห็นทุกข์

จิตก็เหมือนกัน เรียนรู้เข้าไป เห็นเข้าไป จนวันนึงเห็นมันเป็นทุกข์ หาความสุขจากมันไม่ได้ มันก็ไม่เอา

เหมือนเราอยู่กับใคร แล้วเราก็ทุกข์มากๆ มีแต่ทุกข์อย่างเดียว หาสุขไม่ได้เลย เราจะอยู่กับมันมั้ย มันก็ไม่อยู่ มันเป็นธรรมชาติ ถึงบอกว่าพระพุทธเจ้าสอนเรา…มันเป็นกฎธรรมชาติเลย มันไม่มีอะไรแปลกพิศดารเลย

เรายังอยู่กับคนๆ นึงได้ แม้ว่ามันจะทุกข์ แต่มันก็ให้สุขกับเรา เราถึงยังอยู่ได้ ลองเขาให้ทุกข์เรา 100% สิ เราจะยังอยู่กับเขามั้ย เอาเขาอยู่มั้ย…ไม่เอา

เพราะฉะนั้น พระอนาคามีคือ คนที่ทิ้งกายแล้ว เห็นมันเป็นทุกข์ล้วนๆ เลย หาความสุขจากมันไม่ได้ แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกข์นะ ก็ไม่ทุกข์ ก็เป็นปกติ ก็เห็นว่ามีอยู่ ทุกข์เฉยๆ

 

ตอนที่ 3 ทำให้มันถูกก็พอ

เราทุกคนก็มีหน้าที่เป็นแค่กล้องวงจรปิด รับรู้สิ่งที่ผ่านมาผ่านไป ถ้าไม่มีอะไรผ่านมาผ่านไปก็รับรู้เฉพาะตรงหน้าที่เป็นอยู่

สำคัญคือ “อย่าหลงเข้าไปในโลกความคิดปรุงแต่ง รู้ให้ทัน”…ไม่ตกเป็นทาสของความคิด ไม่ตามเข้าไปในความคิด ไม่ว่าจะคิดดี คิดไม่ดี มีประโยชน์อะไรก็ไม่ต้องไปคิด รู้ให้ทัน ก็ทำอยู่แค่นี้แหละ

ไม่ต้องตัดสินตัวเองว่าปฏิบัติดีหรือยัง? ขี้เกียจไปมั้ย? นู่นนี่นั่น สารพัดสารเพ แค่รู้จัก “ทำหน้าที่ให้มันถูกต้อง มีระเบียบวินัย” แค่นั้นพอแล้ว ไม่ไปทำเรื่องที่ไม่ควรจะต้องทำ ก็พอแล้ว ใช้ชีวิตให้มันถูกต้องพอเหมาะพอสมใช้ได้แล้ว

นักปฏิบัติธรรมบางคนชอบไปเที่ยว…มีข้ออ้างสบายๆ ไปได้ เที่ยวก็ปฏิบัติธรรมไปด้วย รู้กายรู้ใจ รู้เนื้อรู้ตัว เนี่ยไม่เห็นเลยว่ากำลังตกเป็นเหยื่อของกิเลสที่มันหลอก ไม่เห็นเลยว่าแท้จริงเบื้องลึกเรากำลังได้ความสุขจากร่างกายนี้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่เห็นกิเลสที่มันซ่อนอยู่ นึกว่าไปแล้ว อ่อ! รู้เนื้อรู้ตัว ไม่ทุกข์ อันนี้ใช้ได้แล้ว…มันก็ไม่ทุกข์ เพราะมันทำสิ่งที่มันชอบ สิ่งที่มันเป็นความสุข มันจะทุกข์ยังไง มันก็ไม่ทุกข์สิ เนี่ย! กิเลสมันหลอกเก่ง หลอกให้เราเข้าใจว่าปฏิบัติธรรม เราปฏิบัติธรรมภายใต้กิเลสอยู่

ทีนี้อธิบายไปว่า ร่างกายนี้จิตใจนี้เป็นทุกข์ล้วนๆ ฟังแล้วก็ไม่ใช่ว่าไปพยายามเห็นว่าร่างกายนี้มีแต่ทุกข์ล้วนๆ มันจะเป็นไปเอง ค่อยๆ ฝึกไป ฝึกอย่างที่บอก ง่ายๆ นี้แหละ ค่อยๆ ฝึกไป จิตใจลดละกิเลสลงไป มันค่อยๆ เป็นเอง ไม่ต้องรีบไปทำผล…ห้ามทำ!

ยิ่งทำยิ่งช้าจำไว้ ยิ่งอยากได้ผลแบบนั้น ยิ่งช้า เพราะมีแต่อัตตา บางคนไปฟังว่าง สว่าง บริสุทธิ์ พาจิตเข้าไปที่ว่างเลย มีคนมาเล่าให้ฟังว่าเข้าได้ด้วย…ฟรึ๊บบบ! เข้าไปเลยว่างไม่มีอะไรเลย พาลคิดไปต่อว่า อ่อ! นี่เหรอสภาวะที่ครูบาอาจารย์บอกไว้ ว่าง สว่าง บริสุทธิ์ โอ้! เป็นแบบนี้

เนี่ย! ไม่รู้จักไตรลักษณ์เลย ไม่รู้ว่าโคตรภูญาณมันต้องผ่านไตรลักษณ์ พอหลุดออกมาก็เข้าไปใหม่ พาจิตเข้าไปว่างใหม่ สบาย เข้าใจว่านี่เป็นทางลัด….เซน (Zen) มั่วสุดๆ เลย

เวลาเราฟังเซน (Zen) กันนะ เราชอบเข้าใจผิดว่าเซนนี่บรรลุฉับพลัน ไปคิดให้ดี…สังฆปรินายกองค์ที่ 5 ก่อนท่านเว่ยหลาง มีลูกศิษย์เต็มวัด ลูกศิษย์เบอร์ 1 คือ ท่านชินเชา อยู่กับสังฆปรินายกองค์ที่ 5 จนท่านก็จะตายอยู่แล้ว ท่านชินเชายังไม่บรรลุธรรมเลย อาจารย์บอกเจ้ามายืนอยู่ที่ธรณีประตูนี้นานแล้ว ยังไม่ข้ามไปซักที จนท่านเว่ยหลางมาอยู่ที่วัด ต้องมอบบาตรและจีวรให้ท่านเว่ยหลางแทน

เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าเซน (Zen) ปุ๊บก็บรรลุธรรมง่ายๆ เราเข้าใจกันผิด ทั้งวัดยังไม่มีเลย ขนาดลูกศิษย์เบอร์ 1 ยังไม่บรรลุธรรมเลย

สุดท้ายท่านเว่ยหลางพูดยังไง? ที่ว่าบรรลุฉับพลัน ที่ว่าบรรลุเชื่องช้า ในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่วิธีปฏิบัติของเซนหรือของเถรวาทอะไรแบบนั้น ท่านบอกว่าวิธีปฏิบัติมีวิธีเดียว แต่ส่วนใครจะบรรลุเร็ว ใครจะบรรลุช้า เป็นเรื่องของแต่ละคน แต่วิธีปฏิบัติมีวิธีเดียว ไม่มีทางอื่น ท่านก็พูดไว้ชัดอยู่แล้ว

เพราะฉะนั้น อย่าไปหาทางลัด ทางลัดก็คือว่าอย่าทำผิด นั่นก็คือทางลัด… “ทำให้มันถูกก็พอ

การปฏิบัติธรรมก็เห็นกายกับจิตนี้เป็นทุกข์ไปเรื่อยๆ ตั้งแต่เริ่มนี่แหละมันจะค่อยๆ เห็นไปเรื่อยๆ จะเห็นมากเข้าๆ มันลึกซึ้งขึ้น เห็นมากขึ้นๆ ลำดับความฉลาดทางปัญญาญาณก็เพิ่มขึ้นๆ ก็เลยเป็นชั้นของพระอริยะชั้นต่างๆ คือมีความเข้าใจในกองทุกข์นี้ลึกซึ้งขึ้นเรื่อยๆ เข้าใจสิ่งเดิมนั่นแหละ เข้าใจลึกซึ้งขึ้นเรื่อยๆ

เข้าใจในตอนแรกก็ตัดสังโยชน์ 3 ละสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาสได้

ละสักกายทิฏฐิ”…เข้าใจให้ถูก เป็นเพียงแค่การเห็นความจริงว่ากายกับจิตนี้ ไม่มีความเป็นตัวตน บุคคล เรา เขา  โลกธาตุนี้ไม่มีความเป็นสัตว์ ตัวตน บุคคล เรา เขา ถึงละสักกายทิฏฐิได้ แต่ยังยึดอยู่ เห็นความจริงแล้ว แต่ยังยึดอยู่ ยังหวงอยู่

เหมือนเราไปอยู่ในที่ดินคนอื่น เกิดมาก็อยู่ในที่ดินนั้น อยู่จนโต 10 ปี ตามกฎหมายบอกว่าถ้าอยู่ในที่ดินเกิน 10 ปี ไม่มีใครมาไล่ที่ที่ดินนั้นเป็นของเรา วันนึงเจ้าของมาบอกว่าที่ของฉัน ฉันมีโฉนด แกไปอยู่โดยไม่ได้รับอนุญาต ฉันเป็นเจ้าของ ไม่ใช่แกเป็นเสียหน่อย เห็นความจริงเป็นแบบนี้ โอ้! รู้แล้วว่าความจริงไม่ใช่ที่เรา แต่อยู่มานานหวง ยังไงก็เป็นที่ของกูอยู่ ถึงกูรู้ก็ยังเป็นที่ของกูอยู่…เนี่ย! แบบนี้ ไม่ใช่ โอ้! ละสักกายทิฏฐิแปลว่าละตัวตน ละหมดแล้ว นั่นพระอรหันต์ ไม่ใช่โสดาบัน

เพียงแต่มันเห็นความจริงแล้ว แต่มันยังยอมรับไม่ได้ มันยังหวงอยู่ ตามอวิชชาที่ยังมีอยู่ ตามกิเลสที่ยังเหลืออยู่ แต่ก็ไม่ใช่ว่ามีอัตตาตัวตนเหมือนสมัยเป็นปุถุชน ก็ไม่ใช่อีก…เพราะอะไร? เพราะพระโสดาบันนี่ ตัดโลภมูลจิต 4 ดวงทิ้งไปแล้ว  โมหะมูลจิตอีก 1 ดวงละแล้ว เพราะฉะนั้น มันไม่เหมือนเดิมหรอก

แต่อย่าไปเข้าใจผิดขนาดว่าไม่มีตัวตนเลย มันยังยึดอยู่ แต่มันจะไม่ทำผิดศีลผิดธรรม เช่น ไม่ไปทำร้ายคนอื่น ไม่ว่าร้ายคนอื่น ไม่คิดร้าย ไม่ไปฆ่าใคร ไม่ไปตีใคร จะไม่ทำแบบนั้น จะโกรธ จะไม่ชอบ ไม่พอใจก็ไม่ทำผิดไปในทางกาย วาจา มันจะมีหิริโอตัปปะ คือมีความละอายชั่วกลัวบาป รู้สึกสิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งหยาบ ไม่อยากทำ จิตใจจะปราณีตขึ้น

จริงๆ แล้วถ้าตามพุทธวจน  โอ้โห! อธิบายความเป็นโสดาบันได้เป็นเล่มเลย แต่ถ้าพูดอีกมุมหนึ่งที่เคยอ่านมา พระพุทธเจ้าบอกว่าพระโสดาบันมีความทุกข์เพียงแค่ขี้ฝุ่นที่ติดปลายเล็บนิ้วก้อย เทียบกับเดิมที่มันเคยมีอยู่เต็มผืนแผ่นดิน เรียกว่าความทุกข์มันหายไปมาก…มากจนไม่น่าเชื่อ แต่แค่ปลายเล็บนิ้วก้อยนี่แหละ สำหรับพระโสดาบันก็ถือว่าทุกข์มากแล้ว ยังเหลือทางที่ต้องเดิน ทางที่ต้องไป ไม่รู้สึกว่าตัวเองดีแล้ว ไม่รู้สึกแบบนั้น

 

ตอนที่ 4 รู้สึก…รู้ทัน

สังเกตร่างกายตรงไหนเกร็ง…รู้ ก็จะคลายออก ผ่อนคลาย

ความคิดแวบไปแวบมา…ก็แค่รู้แค่เห็น ไม่เข้าไป…เข้าไปก็รู้ทัน ต้องอดทนนะ อดทนที่จะไม่เข้าไปคิดกับมัน แต่ถ้าเป็นการเป็นงานต้องคิด

ถ้าเราฝึกแบบนี้ จิตใจมีกำลัง ถึงเวลาคิดการคิดงานก็จะคิดได้ดี ได้รอบคอบ

ปฏิบัติธรรม! ถ้าปฏิบัติผิด มันจะไม่เอาการเอางาน…เพราะอะไร? มันติดสบาย มันไม่ได้ฝึกเห็นตามเป็นจริง ฝึกผิด ติดสบาย อะไรก็ไม่อยากทำหมด คิดว่าการปฏิบัติธรรมคือการนั่งสมาธิ เดินจงกรมแค่นี้ อย่างอื่นไม่ใช่…เข้าใจผิด ปฏิบัติผิด! อ้างว่าต้องปฏิบัติธรรม แต่ลึกๆ จริงๆ คือ ขี้เกียจ หลบหลีกหลบหนีเนี่ยขี้เกียจ แต่เอาการปฏิบัติธรรมมาอ้าง

พวกติดสบาย ปฏิบัติผิด ติดสบาย…โทสะจะขึ้นง่าย ไม่พอใจง่าย หงุดหงิดง่ายเพราะอะไร? เพราะรักสบาย อยากให้กายกับจิตนี้สบาย เนี่ย! นักปฏิบัติต้องสังเกตตัวเอง ปฏิบัติถูกปฏิบัติผิดนี่ดูกันง่ายๆ

นั่งสมาธิ…หลับตาแบบนี้ แต่หลับตาแบบใจมันตื่น…ทำไม “ใจมันตื่น” ? เพราะมันไม่ลืมเนื้อลืมตัว น้อมใจมาสังเกตร่างกายอยู่เนืองๆ คนไหนนั่งแล้วเริ่มเคลิ้ม เริ่มจมไปในความสุขจากความสงบ น้อมใจนิดนึงมาสังเกตกายให้ใจมันตื่นขึ้น เราจะเข้าใจว่าสภาพตื่น สภาพที่จิตใจนี้ปกติอยู่ เป็นสภาพไม่มีทุกข์ ไม่มีกิเลสขับดันให้ทุกข์ ถ้าไม่มีอัตตา ก็ไม่มีใครรับทุกข์ เป็นเพียงแค่กล้องวงจรปิด อันนี้ก็รับรู้ปัจจุบันขณะไปเรื่อยๆ

นั่งแล้วก็สังเกตร่างกาย ใครหน้านิ่วคิ้วขมวดก็สังเกต…คลายออก เรียนรู้อยู่ในกายนี้ เห็นในมุมของไตรลักษณ์ มันหน้านิ่วคิ้วขมวดเอง กล้ามเนื้อมันเกร็งเอง เราไม่อยากให้มันเป็น มันก็เป็น พอเราไป “รู้สึก..รู้ทัน” มันก็คลาย คลายเองเป็นไปตามเหตุปัจจัย และเดี๋ยวมันก็เป็นใหม่เอง…เห็นไปในมุมของไตรลักษณ์

ส่วนใหญ่พวกเราก็นั่งรู้เนื้อรู้ตัวได้ดีอยู่แล้ว ความคิดก็มี แต่ก็ไม่มาก อาศัยการนั่งสมาธิร่วมกัน อาศัยพลังงานที่ส่งเสริมซึ่งกันและกัน (Synergy) ช่วยกัน

ใครอยากจะอุทิศบุญกุศล จิตมันอยากจะอุทิศบุญกุศลก็ทำได้ จิตมันพร้อมมันก็จะทำเอง ไม่ใช่เป็นหน้าที่ของเรา เป็นเรื่องของจิต

 

08-07-2561

Camouflage

คลิปเสียงธรรมะทั้งหมดของอาจารย์ Camouflage : https://goo.gl/RDZFMI

======================

5 ช่องทางการอ่านและฟังธรรม

1) Facebook : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
http://www.facebook.com/sookguysookjai

2) Line : @camouflage.talk
https://line.me/R/ti/p/%40camouflage.talk

3) YouTube : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
https://goo.gl/in9S5v

4) Website: https://camouflagetalk.com/

5) Podcast : Camouflage – Dhamma Talk
https://itun.es/th/t6Mzdb.c
วิธีการติดตั้ง https://goo.gl/tBMY9S