73.ตั้งแต่ต้นจนจบก็มีแค่รู้

 

ตอนที่ 1 หมั่นรู้จักตัวเอง...รู้กาย รู้จิต

แรกๆ นั่งฟุ้งซ่าน...ก็รู้  คิดก็รู้  ความคิดมันเยอะ...ก็ลองใช้วิธีปลายลมหายใจออก หายใจหมด ก็ Pause...มันยังไม่ต้องการลมหายใจเข้า...หยุด...ความรู้เนื้อรู้ตัวจะชัดขึ้น

เราใช้ “ธรรมชาติแห่งการหยุด” เพื่อจะช่วยบรรเทาธรรมชาติแห่งความฟุ้งซ่าน...เราจะเห็นเหตุปัจจัยได้ พอมีธรรมชาติแห่งการหยุด ธรรมชาติแห่งความฟุ้งซ่านก็ดับไป ธรรมชาติแห่งความรู้เนื้อรู้ตัวก็เกิดขึ้น ....อย่างนี้เป็นกลไกธรรมชาติที่มันมีอยู่แล้ว ไม่ต้องทำอะไรเลย เราแค่เพียงค้นพบธรรมชาติ ใช้กลไกธรรมชาตินี้เรียนรู้

การปฏิบัติธรรมก็มีแค่นี้ ...รู้จักกลไกตามธรรมชาติว่ามันเป็นไปตามเหตุปัจจัย...มีเหตุอย่างนี้ ผลก็เป็นอย่างนี้...ไม่มีคน ไม่มีใครในกลไกธรรมชาตินั้นๆ

เนี่ย! แค่เราใช้กลไกธรรมชาติง่ายๆ จิตใจปกติละ ความฟุ้งซ่านก็หายไป ไม่ได้ทำอะไรเลย

พอความฟุ้งซ่านมันหายไป จิตใจเป็นปกติ ความดิ้นรนก็ไม่มี ความดิ้นรนทะยานอยากใดๆ ก็ไม่มี ความทุกข์มันก็ไม่มี ก็เหลือ “แค่รู้”...รู้ตามเป็นจริงไปเรื่อยๆ

แต่พอจิตใจไม่ทุกข์ ต้องระวัง…ระวังความยินดีพอใจในความสุข ต้อง “รู้ทัน” ไม่เคลิบเคลิ้ม จมอยู่ในสภาพที่รู้สึกว่าเป็นสุขนั้น…นั่นแปลว่าอะไร? แปลว่าเราต้องไม่ลืมที่จะ “ตื่น”  ปลุกความตื่นเนื้อตื่นตัว ถ้าเรารู้จักสภาพที่มันจม เราจะรู้จักสภาพตื่นรู้ตื่นตัวได้

การที่เราหมั่นสังเกตร่างกายเอาไว้ จะเป็นตัวป้องกันไม่ให้เราเคลิ้ม จม บางทีเราก็สังเกตลมหายใจ เดี๋ยวเร็ว เดี๋ยวช้า สังเกตอวัยวะ กล้ามเนื้อตรงไหนเกร็ง ตรงไหนตึง ผ่อนคลาย การหมั่นสังเกตร่างกายซักนิดนึงจะป้องกันความเคลิบเคลิ้ม ความจม รู้กระทั่งความฟุ้งซ่านด้วย

การสังเกตนี่...ก็ไม่ใช่เพ่ง แค่ให้ความสนใจมันหน่อย...หน่อยนึงเท่านั้น  “ไม่ลืม” เรียกว่าไม่ลืม

ฝนตกหนักบางทีพาจิตใจเราสะเทือน...ก็รู้ทัน พาจิตใจเราฟุ้งซ่าน...ก็รู้ทัน

มีความสงบ ละเอียด ก็อย่าจมลงไป... “รู้” จมลงไปก็รู้

สังเกตร่างกายสบายขึ้น อึดอัดน้อยลง เป็นปกติธรรมดาก็รู้ เรียกว่า “หมั่นรู้จักตัวเอง รู้กาย รู้จิตนี้”...หมั่นรู้จักตัวเอง

คนโบราณเขาสอน... สอนทางโลก เกิดเป็นคนอย่าลืมตัว แหม่! สอนเหมือนทางโลก แต่จริงๆ มันเป็นทางธรรมเลย...เป็นคนอย่าลืมตัว เป็นวัวอย่าลืมตีน

ตัว” นี่คืออะไร คือ “กายกับจิต” นี่แหละ “อย่าลืม” ถ้าลืมก็แปลว่าล่องลอยไปในความคิดปรุงแต่ง เมื่อไหร่ล่องลอยไปในความคิดปรุงแต่ง ความเป็นคนก็เกิด กิเลสก็เกิด เกิดทุกอย่างที่เรียกว่ามหรสพทางวิญญาณ เกิดหมด  เราเสกสรรปั้นแต่งมันขึ้นมาด้วยความโง่ของเราเอง

 

ตอนที่ 2 Beyond…go to unknown

ความเบื่อหน่ายเป็นกิเลส เป็นนิวรณ์ เป็นสภาวะจรเข้ามาหลอกเรา ให้เรารู้สึกว่าพอแล้ว นั่งนานไปแล้ว จริงๆ เราก็ไม่รู้ว่าถ้าเราเลิกนั่งแล้วเราจะไปทำอะไรต่อดี  ถ้าไม่มีการไม่มีงานอย่างอื่น ส่วนใหญ่ก็ไปหาเรื่องฟุ้งซ่านทำ เพราะไม่รู้จะทำอะไรดี

แต่กิเลสก็จะคอยหลอกเราอย่างนี้แหละ หลอกตั้งแต่ง่ายๆ จนแนบเนียนมากมาย หลอกเราได้ถึงขนาดว่าต้องไปวัดเท่านั้นถึงจะปฏิบัติธรรมได้ พาเราเดือดร้อนวิ่งไปวัด รถก็ติด  สุดท้ายก็เหมือนเดิม บารมีไม่เกิดเพราะว่าพึ่งตัวเองไม่ได้ ไม่เคยเชื่อมั่นในตัวเองว่าตัวเองทำได้ ก็พอกพูนอนุสัยความอ่อนแอลงไปในจิต มันเลยไม่มีวันจะเข้มแข็งเลย

เหมือนคนเป็นพ่อแม่ สอนลูกว่ายน้ำ แรกๆ ก็ต้องจับต้องประคอง สุดท้ายก็ต้องปล่อยให้ว่ายเอง มันถึงจะว่ายเป็น มันจะจม จะสำลักน้ำ ก็จำเป็น แต่ถ้าไม่ปล่อยออกจากมือเลยก็ไม่มีวันว่ายน้ำเป็นทั้งชีวิต จนโต จนตาย จับมันจนมันแก่นั่นแหละ ก็ยังว่ายไม่เป็น

จิตใจเหมือนกัน จะให้จิตใจมันเข้มแข็งได้ ก็ต้องว่ายน้ำด้วยตัวเอง... “พึ่งตัวเอง” ต้องกล้าที่จะพึ่งตัวเอง ทางเดินของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่ทางเดินของคนอ่อนแอ ไม่ใช่ทางเดินของคนใจเสาะ

หลวงพ่อสอนพวกเรา มีคำสอนอยู่อันหนึ่ง “Go to unknown” คือ ไปเผชิญหน้ากับสิ่งที่เราไม่รู้ แต่พวกเราส่วนใหญ่กลัว ไม่ไป ชอบอยู่ใน Safety zone ถ้าแบบนั้นก็อยู่อย่างนั้นแหละ...ปฏิบัติธรรมมั้ย? ปฏิบัติ  เดินจงกรมมั้ย? เดิน  นั่งสมาธิมั้ย? นั่ง …แต่ก็แค่นั้นแหละ ไม่มีพลังแห่งบารมี ไม่มีพละปัจจัยที่เรียกว่าบารมีที่จะถีบเราให้ข้ามฝั่งได้

ให้ไปอยู่คนเดียว อยู่สบายๆ ไปอยู่คนเดียวก็ไม่กล้าไป…กลัว ให้นั่งสมาธิสองชั่วโมง ใจนี้กลัวไม่เอา เจ็บ ไม่เคยรู้จักคำว่า Beyond…go to unknown สุดท้ายถ้ามันพร้อม ลองทำดู… อ้าว! ทำได้ ไม่เห็นมีอะไรนี่หว่า จิตใจก็จะเข้มแข็งขึ้นทันที บารมีเกิดขึ้นทันที  เงื่อนไขของชีวิตน้อยลงทันที ชีวิตมันก็เลยสบาย อะไรก็ได้ ก็เรียกว่ามีชีวิตอย่างเรียบง่ายได้มากขึ้นเรื่อยๆ

 

ตอนที่ 3 สำรวจตัวเอง…ปฏิบัติให้มันถูก

นักปฏิบัติธรรมสำรวจตัวเอง ถ้าปฏิบัติธรรมแล้วเงื่อนไขยังเยอะเหมือนเดิม Condition ยังมากเหมือนเดิม ภาษาวัยรุ่นเขาเรียกว่าเยอะ รู้ตัวเองเลยว่าไม่ไปถึงไหนเลย เพราะมันรักตัวเองมาก   รักร่างกายกับจิตใจนี้มาก ไม่อยากให้มันทุกข์  เนี่ย! กิเลสมันหลอกเราขนาดนี้แนบเนียน

เคยฟังครูบาอาจารย์เล่าเป็นพระอนาคามีนี่…โอ้ย! มารนี่มาหลอก พอแล้ว เป็นพระอนาคามีก็มีสุขมาก กามก็ไม่มี ปฏิฆะก็ไม่มี หมดแล้ว จะสุขกว่านี้จะเอาไปทำไม พอแล้ว ใช้ชีวิตให้เป็นสุขไปเถอะ อีกชาติเดียวก็จบแล้วไม่ต้องรีบ...เนี่ย! มันหลอกเราขนาดนี้ มันหลอกตั้งแต่เริ่มจนใกล้จะจบ มันยังหลอกอยู่เลย

เพราฉะนั้น หลักก็คืออะไร? ฝึกตั้งแต่วันนี้ ไม่ทำตามกิเลส เนี่ย! เป็นตบะบารมีที่จะไม่ตามอะไรไปง่ายๆ ไม่โดนหลอกง่ายๆ

เพราะฉะนั้น เรานักปฏิบัติ ถ้าอะไรที่มันเป็นกิเลส  มาปึ๊บเราไปปั๊บเลยเนี่ย  รู้ตัวได้เลยว่าปฏิบัติไม่ได้เรื่องเลย

นักปฏิบัติเราสำรวจตัวเองได้ง่ายๆ ไม่ต้องให้ใครมาสำรวจแทนเรา...สำรวจตัวเองง่ายๆ แบบนี้ ถ้าตัวเองรู้ตัวเองไม่ได้ ก็ไม่ต้องมาปฏิบัติธรรมหรอก

เหมือนที่ผมเคยพูดไว้ว่า นักปฏิบัติธรรมจำนวนมาก โลกก็ทิ้งไม่ได้ก็หมายความว่าทิ้งกิเลสไม่ได้ ธรรมะก็จะเอา มันก็เหมือนเหยียบเรือสองแคม ขาก็ถ่างออกๆ จนวันนึงขาต้องฉีกแล้วไม่ได้อะไรเลย เพราะอะไร? เพราะเข้าใจผิดนึกว่าโลกกับธรรมไปด้วยกัน...สิ้นโลกถึงจะเหลือธรรม

ถ้าไม่สิ้นโลก ไม่รู้จักกิเลส ไม่รู้จักหน้าค่าตาของกิเลส เราจะเจอคนแบบนี้เป็นแบบไหน? ยิ่งภาวนา ยิ่งปฏิบัติธรรม “ตัวกู” นี่มันยิ่งใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ กูเก่งกูรู้แล้ว

เพราะความเข้าใจผิดแบบนี้ คือ ไม่รู้จักหน้าค่าตาของกิเลส จะเอามันไปด้วย ทำไมจะเอามันไปด้วย? เพราะมันคือความสุขของคนโง่

คนฉลาดนี่เขารู้จักใช้กิเลส...ใช้ยังไง? พลิกกิเลสเป็นปัญญา กิเลสมาก็รู้ว่ามันบีบคั้นมันทุกข์ ความทุกข์นั้นจะเสริมสร้างปัญญาให้รู้ว่าปฏิบัติยังไม่พอ โดนบีบคั้นเยอะ ก็ไม่ตามมันไป รีบเร่งหาเวลาที่จะได้มีเวลาเจริญในทางธรรมมากขึ้น...รู้จักพลิกอธรรมเป็นธรรมขึ้นมา

เมื่ออธรรมลดละ ลบล้างไป ธรรมะก็เบ่งบานขึ้นมา...มันเป็นเรื่องของเหตุปัจจัยทั้งนั้น รู้จักเจริญให้มันถูก คุณธรรม ธรรมะทั้งหลายไม่ใช่ไปทำมันขึ้นมาได้

เหมือนความว่างสว่างบริสุทธิ์ หยุดการปรุงแต่ง หยุดการแสวงหา หยุดกิริยาอาการของจิต ไม่มีอะไรเลย ไม่เหลืออะไรเลย ไม่เหลืออะไรซักอย่าง….มันเบ่งบาน แสดงตัวออกมาได้เพราะกิเลสมันหมด อวิชชามันดับ ไม่ใช่เราไปทำมันขึ้นมา

กิเลสจะหมด อวิชชาจะดับได้ยังไง? “เจริญสติปัฏฐาน 4”...ทางสายเอกทางสายเดียว  พระพุทธเจ้าก็บอกไว้อยู่แล้ว เจริญสติปัฏฐาน 4 ไม่มีทางอื่น ….เจริญเข้าไปจนจิตใจนี้มันรู้แจ้งอริยสัจ 4 มันจะทำลายสังโยชน์ ทำลายอวิชชา กิเลสก็หมด คุณธรรมก็เติบโต เบ่งบานออกมา เปิดเผยตัวออกมา

เพราะฉะนั้น ปฏิบัติให้มันถูก รู้ว่าเจริญอะไร เจริญแบบไหน เจริญยังไง ไม่ใช่ไปหาทางมั่วๆ ซั่วๆ ทำ จะไปทำผลลัพธ์อย่างนี้ จะไปทำให้มันว่าง สว่าง บริสุทธิ์ จะไปทำให้มันไม่ปรุงแต่ง ไม่ให้ค่า ไม่ตัดสิน หาเรื่องไม่เข้าเรื่องทำ ถ้าได้ก็ได้นิพพานเทียมนั่นแหละ

 

ตอนที่ 4 ตั้งแต่ต้นจนจบก็มีแค่ “รู้”

ในขั้นนี้เราต้องรู้ว่าต้องเจริญยังไง...มันปรุงแต่งก็รู้ทันว่ามันปรุงแต่งแล้ว ปรุงแต่งจนมีอารมณ์เกิดขึ้นก็รู้ทันว่ามีอารมณ์เกิดขึ้น เห็นมันในมุมของวิปัสสนา ของไตรลักษณ์ อารมณ์ความปรุงแต่งใดๆ ล้วนไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ดูมันไปเฉยๆ จิตนี้มันเจริญปัญญาเอง

เรามีหน้าที่ “แค่รู้...แค่ดู” จิตก็มีหน้าที่เจริญปัญญาของมันเอง ต่างคนต่างทำหน้าที่ ไม่ต้องยุ่ง ไม่ต้องแทรกแซง

ความคิดแบบนั้นล้วนเป็นความคิดของคน อัตตามันเกิดขึ้น แทรกทันที

เพราะฉะนั้น เราทุกคนต้องการปฏิบัติธรรมเพื่อจะไปถึงความพ้นทุกข์ หัดเป็นนักช่างสังเกต รู้ว่าอะไรเป็นทาง ไม่ใช่ทาง ไม่ใช่ใช้แต่ความเชื่อ นั่นเขาเรียกว่าโง่ ใช้ปัญญาให้มาก

ครูบาอาจารย์เคยพูด ทุกอย่างต้องสมดุล ศรัทธามากไปก็กลายเป็นงมงาย เพราะฉะนั้นจะทำอะไรให้มันอยู่ตรงกลาง คุณธรรมทุกอย่างให้มันพอดีๆ

เพราะฉะนั้น พวกเรามีหน้าที่ “รู้เนื้อรู้ตัว” ไว้ จิตใจปกติก็ “รู้จักสภาพปกติ” เป็นแบบนี้...รู้จักแล้วก็ผ่านไป มีความคิดก็ “รู้ทัน” ไม่ตามเข้าไปปรุงแต่งกับมัน...ฝึกอยู่แค่นี้แหละ จิตใจจะ ”ตื่น” ขึ้น จะค่อยๆ ตื่นขึ้น จะเข้าถึง “สภาพตื่นรู้”  กิริยาตื่นรู้...

เมื่อ “ตื่น” ขึ้นมาแล้วก็จะเห็นร่างกายกับจิตใจนี้มันทำงานของมันเอง ภาษาทางศาสนาพุทธเรียกว่า “เจริญวิปัสสนา” เรียกง่ายๆ คือ เห็นกายกับจิตนี้มันทำงาน ดูมันทำงานเป็นยังไง เห็นมันเฉยๆ ดูมันเฉยๆ ไปเรื่อยๆ ทุกวันทุกเวลาก็ดูอยู่แค่นี้แหละ...

ดูไปเรื่อยๆ ได้อะไร? ได้ความจริง...ได้ความจริงว่าทุกสิ่งทุกอย่างก็ตกอยู่ภายใต้ “กฎไตรลักษณ์” เมื่อเห็นตามความเป็นจริงจึงเบื่อหน่าย นิพพิทาญาณก็เกิดขึ้น เบื่อหน่ายจึงคลายกำหนัด คลายกำหนัดก็เกิดความเป็นกลางขึ้น เมื่อคลายกำหนัดจึงหลุดพ้น เมื่อมันเป็นกลางจิตใจนี้ก็เรียกว่าพร้อม พร้อมจะหลุดพ้น เมื่อมันหลุดพ้นก็รู้ว่าหลุดพ้นแล้ว จิตมันปฏิวัติตัวเอง หลุดพ้นด้วยตัวเอง เราก็มีแค่หน้าที่รู้ว่ามันหลุดพ้นแล้ว

เพราะฉะนั้น... ตั้งแต่ต้นจนจบก็มีแค่ “รู้

เราเอาอัตตา ไปเจริญอนัตตาไม่ได้ เราใช้ตัวตน ไปถึงความไม่มีตัวตนไม่ได้

เริ่มให้ถูกตั้งแต่แรกคือ “ไม่มีการทำอะไรเลย...มีแค่รู้

ที่เคยพูดไปหลายครั้ง การจะช่วยจิต ทำจิต พาจิตไปไหนต่อไหน เบื้องลึกคือคิดว่าจิตนี้เป็นของเรา...เนี่ย! มันผิดตั้งแต่ต้น  แต่มันไม่เห็นเบื้องลึกกันว่า ลึกๆ ทำไมมันถึงต้องช่วย ทำไมมันถึงต้องทำ...เพราะมันเข้าใจว่าจิตเป็นของเรา

เราไม่รู้ ไม่ตระหนักชัดว่าพระพุทธเจ้าสอนเราว่า “จิตนี้ไม่ใช่เรา” เห็นมันเหมือนเห็นคนข้างบ้าน คนข้างบ้านมันทุกข์ มันเดือดร้อน จะไปช่วยเขามั้ย ผัวเมียเขาทะเลาะกันจะไปช่วยเขามั้ย  ส่วนใหญ่เราแค่แอบดูเฉยๆ เต็มที่ก็ไปนินทากับคนอื่นต่อแค่นั้น แต่เราไม่ยุ่งกับเขา

เพราะฉะนั้น เรียนรู้เรื่องกายกับจิต เรียนรู้ว่ามันเป็นคนข้างบ้าน คนที่เราไม่รู้จัก เป็นคนอื่น

ถ้าเราเรียนรู้ให้มันถูกทาง เจริญให้มันถูกที่ ดูให้มันถูกต้อง โอกาสที่จะผิดพลาดในการปฏิบัติธรรมก็ย่อมไม่มี

เพราะฉะนั้น จับหลักให้มันแม่น อย่าตกม้าตายง่ายๆ เสียเวลา เสียกำลังใจ เสียทุกอย่างแต่ก็เป็นเรื่องห้ามไม่ได้ คนเราบางทีมีกรรม บุญมันไม่พอ เคยสนับสนุนพาคนไปผิด มันก็ต้องรับกรรมเหมือนกัน เพราะฉะนั้น เราช่วยใครไม่ได้ ทุกคนมีหน้าที่ช่วยตัวเอง

เมื่อเวลาของแต่ละดวงจิตมาถึง มันก็ค่อยได้โอกาสที่จะรู้อะไรถูก อะไรไม่ถูกเอง ชีวิตเราทุกคนเป็นทายาทของกรรม กรรมเก่าก็มี กรรมใหม่ก็มีที่เรียกว่า “กรรมปัจจุบัน”...กรรมปัจจุบัน เป็นกรรมที่สำคัญที่สุด เพราะเป็นกรรมที่เราเลือกเองได้ ถ้าเรามีบุญ มีปัญญา มีสัมมาทิฎฐิพอ เราจะไม่เลือกผิดอีก

กรรมเก่าเป็นสิ่งที่แก้ไม่ได้ ต้องรับกรรมไป เพราะฉะนั้น กรรมใหม่ทำให้ดี

 

02-07-2561

Camouflage

คลิปเสียงธรรมะทั้งหมดของอาจารย์ Camouflage : https://goo.gl/RDZFMI

======================

5 ช่องทางการอ่านและฟังธรรม

1) Facebook : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
http://www.facebook.com/sookguysookjai

2) Line : @camouflage.talk
https://line.me/R/ti/p/%40camouflage.talk

3) YouTube : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
https://goo.gl/in9S5v

4) Website: https://camouflagetalk.com/

5) Podcast : Camouflage – Dhamma Talk
https://itun.es/th/t6Mzdb.c
วิธีการติดตั้ง https://goo.gl/tBMY9S