72.ร่วมนั่งสมาธิภาวนา

 

ตอนที่ 1 มีหน้าที่ขัดเกลาตัวเอง

มันเป็นยังไงก็รู้มันเป็นอย่างนั้น จะแน่นก็ได้ไม่เป็นไร อย่าเอาจิตเป็นของเรา อย่าเข้าไปเป็นเจ้าของสภาวะอะไรๆ…อยู่กับกายกับจิตนี้เหมือนมันเป็นคนอื่น  พอมันจะเข้าไปเป็นเจ้าของ เตือนตัวเองนิดนึง…มิจฉาทิฏฐิแล้ว

สิ่งที่เราทุกคนมักเป็นเจ้าของโดยไม่รู้ตัวเลย แล้วคิดว่าดีแล้ว คือ เรามักจะเป็นเจ้าของความคิด ความคิดเราดีที่สุด นี่!เป็นต้นเหตุของความผิดพลาดมากมายในชีวิตทั้งต่อตัวเองและต่อคนอื่น

พอเราเป็นเจ้าของความคิด ทิฏฐิมานะ มันจะพาเราไปทะเลาะกับคนอื่น พาเราไปตัดสินคนอื่น ถ้าอยากตัดสินให้ตัดสินตัวเอง ตัดสินกิเลสในใจตนเอง เห็นตัวเองลงไปว่ายังแย่ขนาดไหน

ปฏิบัติธรรม…ถ้าปฏิบัติถูก อัตตาจะลดลง ทิฏฐิมานะจะลดลง หรือถ้ามันยังไม่ลดลง  การเห็นความน่าเกลียดความทุเรศทุรังของอัตตา ทิฐิมานะ ความยึดมั่นในสิ่งเหล่านี้ จะเห็นบ่อยขึ้น เห็นจนไม่ยอมปล่อยให้มันออกมาเพ่นพ่าน

เราอยากก้าวหน้าในทางการปฏิบัติธรรมต้องเห็นกิเลสตัวเองให้มาก เห็นให้มากแล้วไม่ทำตาม พอไม่ทำตามก็เกิดศีลขึ้นอัตโนมัติ พอศีลขึ้นอัตโนมัติจิตใจนี้เป็นยังไง? จิตใจนี้ก็ปกติ ไม่เป็นไปทางอกุศล พอจิตใจไม่เป็นไปทางอกุศล จิตใจนี้ก็เป็นลหุตา…เบาสบาย อ่อนโยน ควรค่าแก่การงาน ควรค่าแก่การปฏิบัติธรรม

เพราะฉะนั้น สำรวจตัวเอง ถ้าปฏิบัติธรรมแล้วอัตตายิ่งเพิ่ม อัตตายิ่งพอกพูน ทิฏฐิมานะยิ่งแข็งแรงขึ้น ต้องรู้ตัว…ตกทางแหละ

ความคิดไม่ใช่ของเรา” เตือนตัวเองเอาไว้ การเข้าไปเป็นเจ้าของอะไรจะต้องทุกข์เพราะสิ่งนั้น ทุกข์คนเดียวไม่พอ พาคนอื่นทุกข์ด้วย

ปฏิบัติไปจนวันนึงอกุศลมันลดลง เพราะเชื้อของกิเลสมันลดลง มันหมดไป กุศลมันก็งอกเงย เปิดเผยตัวออกมา จิตใจก็มีแต่คุณธรรม มีแต่กุศล จิตใจที่มีแต่คุณธรรม มีแต่กุศล มันก็ไม่ทุกข์

นักปฏิบัติธรรมไม่มีหน้าที่ดูคนอื่น…มีหน้าที่ดูตัวเอง อยากจะจับผิดคนอื่น ให้จับผิดตัวเอง อยากจะวิพากษ์วิจารณ์คนอื่น ให้วิพากษ์วิจารณ์ตัวเอง

ต่างคนต่างขัดเกลาตัวเอง ความปกติสุขทั้งต่อตัวเองและต่อผู้อื่นจะเกิดขึ้นเอง เราเพียงแต่ทำหน้าที่ของแต่ละคนให้ถูกต้อง

ศีล” เป็นพื้นฐานสำคัญที่จะพาให้เกิดความเป็นปกติขึ้นในจิตใจ ศีลที่เราทำกันไม่ได้มากที่สุดคือ การพูด พูดมาก นำไปสู่ความฟุ้งซ่าน พูดเรื่องไร้สาระ นำไปสู่ความฟุ้งซ่าน พูดไม่ดีกับคนอื่น ก็มีแต่จะสร้างอกุศลให้เกิดขึ้นในจิตใจของตนเอง ทำร้ายตัวเอง นึกว่าพยายามพูดจะช่วยคนอื่นได้ แต่จริงๆ ทำร้ายตัวเอง

เพราะฉะนั้น เมื่อเราเริ่มปฏิบัติธรรม อะไรที่เป็นของหนัก อะไรที่เป็นอุปสรรค อะไรที่เป็นอกุศล…อย่าทำ

เรามีหน้าที่ขัดเกลาทุกหยาบๆ ออกไป เหมือนที่ผมเคยบอกว่า เราอยากทำให้ตัวเราขาวสะอาด เราก็เอาสีขาวมาทาตัวเอง แต่ทางที่ถูกคืออะไร? เราต้องขัดเกลาสิ่งสกปรกออกไป ไม่ใช่เอาสีขาวมาเคลือบสิ่งสกปรกไว้อีกชั้นหนึ่ง ภายนอกดูดี แต่จิตใจสกปรก แบบนี้ไม่ใช่เรียกว่านักปฏิบัติธรรม เป็นนักสร้างภาพเฉยๆ

เราทุกคนตราบใดที่ยังมีกิเลส มีหน้าที่ขัดเกลาตัวเอง ไม่ต้องไปขัดเกลาคนอื่น แต่ละคนมีหน้าที่ขัดเกลาตัวเอง

 

ตอนที่ 2 สำรวจตัวเอง…ไม่ทำตามกิเลส

นักปฏิบัติธรรมคนไหนปฏิบัติธรรมนานแล้ว ยังเห็นความน่าเกลียดของอัตตา ของทิฏฐิมานะของตัวเองไม่ได้ ต้องพิจารณาตัวเอง

ใครเห็นได้แล้วยังทำตาม หลุดออกมาทางกายวาจา ก็ต้องรู้จักพิจารณาตัวเอง เห็นให้ได้ว่ากิเลสมันกำลังหลอกเรา มันกำลังหลอกเราตั้งแต่มันให้เราคิดว่ามีคนจริงๆ มีเราจริงๆ มีเขาจริงๆ

ลองดูตอนนี้เลย เรานั่งอยู่แบบนี้ ตอนนี้เราแค่รู้สึกร่างกายเฉยๆ แค่รู้สึกถึงความมีอยู่ของร่างกาย มีคนตรงไหน มีความเป็นคนตรงไหนมั้ย

มันเป็นเพียงแค่ “ความรู้สึก” ไหลเลื่อน (Flow) อยู่ในธรรมชาตินี้เฉยๆ…ทำหน้าที่ของชีวิตเฉยๆ ถ้าไม่มีความคิดอะไร…เหลืออะไร? เหลือแค่ความรู้สึก

ความรู้สึกตรงนี้มีทุกข์มั้ย? ไม่มี…เป็นสภาพกลางๆ นักปฏิบัติเราก็ได้ความสุขง่ายๆ แค่นี้ ความสุขคือ “การพ้นออกจากความทุกข์” ไม่ใช่การสนองกิเลส ตัณหา ความอยาก ไม่ฉูดฉาด แต่นุ่มนวล อ่อนโยน

เวลาพูดเรื่องการตัดสินให้ค่า…ฟังให้ดี! ไม่ใช่ห้ามตัดสินให้ค่าอะไร คนเรามีสมอง มีสัญญาความจำได้ มีความรู้ มันเห็นอะไร มันก็รู้อะไรเป็นอะไร เห็นตู้เย็นก็รู้จักว่าเป็นตู้เย็น เห็นไฟเขียวก็รู้จักว่าเป็นไฟเขียว เห็นไฟแดงก็รู้จักว่าเป็นไฟแดง ไม่ใช่บอกไม่ให้ตัดสิน ไม่ให้ให้ค่า กลายเป็นไม่รู้อะไรซักอย่าง…ไม่ใช่แบบนั้น ธรรมชาติของขันธ์ 5 มันรู้

แต่ที่พูดเรื่องของตัดสินให้ค่า หมายความว่าหลังจากรู้ว่าอะไรเป็นอะไรแล้ว…เกิดการปรุงแต่งขึ้นมา ไปตามกิเลส…ตรงนี้หมายถึงว่าการตัดสินให้ค่า

บางคนเข้าใจผิด เห็นอะไรก็ให้มันไม่รู้ว่าเป็นอะไรเลย นี่เป็นบ้าแล้ว ขันธ์ 5 ต้องทำงานตามธรรมชาติ เนี่ย! มีเรื่องมิจฉาทิฎฐิเยอะ พวกเราฟังธรรมฟังให้ดี ฟังไม่ดีก็เป็นโทษกับตัวเองนั่นแหละ ไม่ได้เป็นโทษกับใครหรอก

สำรวจตัวเองกันนะ ใช้ชีวิตที่วิเวกสันโดษ ไม่คลุกคลี พูดเท่าที่จำเป็น ทำหน้าที่ของชีวิต มีหน้าที่อะไรก็ทำ ทำให้มันเป็นการปฏิบัติธรรม ใช้ชีวิตง่ายๆ ไม่เรื่องมาก

และที่สำคัญที่สุดของชีวิตนักปฏิบัติธรรมคือ ไม่ทำตามกิเลส ไม่ว่าจะเป็นกิเลสฝ่ายดีหรือฝ่ายไม่ดี

กิเลสฝ่ายดีถ้าจำเป็นต้องทำหรือเห็นสมควรว่าต้องทำ ให้เห็นความอยากนั้นก่อน เห็นความขับดัน ความดิ้นรนในใจนั้นก่อน เห็นแล้ว จิตใจเป็นปกติแล้ว ถ้าว่าสมควรทำก็ทำ ถ้าจริงๆ แล้วไม่จำเป็น แต่เป็นกิเลส ก็รู้ได้ ก็ไม่จำเป็นต้องทำ

ส่วนกิเลสในทางไม่ดี ก็ไม่ต้องทำอยู่แล้ว โลภ โกรธ หลง แทนที่จะอยู่วิเวกสันโดษ อยู่กับตัวเอง ปฏิบัติธรรม แต่ไปเที่ยว หาโปรแกรมจะไปเที่ยว คือ ครูบาอาจารย์ไม่ได้เดือดร้อน จริงๆ เดือดร้อนตัวเอง แต่ไม่เห็น หลอกตัวเองว่าปฏิบัติธรรมได้ พากันหลงบอกปฏิบัติธรรมได้ หลงเพลิดเพลินเจริญใจ เข้าใจคิดว่านี่ผ่อนคลายสบายใจเป็นธรรมชาติ กิเลสมันหลอกสารพัดสารเพ เราก็ยอมเชื่อเพราะเราชอบ…เราชอบแบบนี้

 

ตอนที่ 3 สงบอย่างตื่นรู้

พระพุทธเจ้าสอนเรา ความสุขยิ่งกว่าความสงบไม่มี…สงบอะไร? สงบจากกิเลสที่มันคอยผลักดันให้เราไปทำโน่นทำนี่ตลอดเวลา

เริ่มแรกปฏิบัติธรรม เราเริ่มรู้จักความสงบจากกิเลส แต่ยังมีกิเลส ยังมีเชื้อของกิเลสอยู่ พอปฏิบัติไปๆ เชื้อกิเลสก็เหมือนกองไฟ เหมือนเราเรียนลูกเสือ เนตรนารี ล้อมรอบกองไฟ กองไฟลุกโชน อะไรเข้าไปใกล้ก็พร้อมจะเผาทุกสิ่งทุกอย่าง แต่มันก็น่าสนใจ เพราะอะไร? เพราะไฟมันสวย ในความมืด ไฟมันสวย แมงเม่าบินเข้ากองไฟ ตายเกลี้ยง

มนุษย์เราก็เหมือนมีกองไฟอยู่ภายในใจ เราเริ่มปฏิบัติกองไฟนั้นก็ยังอยู่ในใจเรา แต่เรารู้จักเจริญสติ นั่งสมาธิ เดินจงกรม รู้จักสภาพปกติ สงบจากกิเลส ก็รู้สึกแล้วว่าอันนี้คือ ความสุขที่ไม่มีอะไรเสียดแทง ไม่มีอะไรบีบคั้น ไม่มีอะไรผลักดันให้เราต้องดิ้นรนทะยานอยากไปทำอะไร

เราปฏิบัติๆ ไป เจริญปัญญาเห็นความจริงว่า ทุกสิ่งทุกอย่างก็ตกอยู่ภายใต้กฎไตรลักษณ์นี้แหละ เห็นมากเข้าๆ กิเลสค่อยๆ ลดละไป เหมือนกองไฟเริ่มค่อยๆ หมดเชื้อฟืน จิตใจก็เริ่มสงบขึ้น สงบจากกิเลสมากขึ้น จนสุดท้ายกิเลส กองไฟดับ หมดเชื้อ ก็เหลือเพียงความสงบ

ความสงบแบบนี้เป็นความสงบแบบพุทธะคือ “สงบอย่างตื่นรู้” หมดความเสียดแทงทางจิตใจ หมดความขับดันภายในใจ หมดความดิ้นรนทะยานอยาก…ชีวิตก็เหลือแต่หน้าที่ หน้าที่ของชีวิตตัวเอง และก็หน้าที่ต่อชีวิตคนอื่น ที่มีกรรมร่วมกัน ต้องมาเจอกัน ต้องมาบอกมาสอนกัน ก็ทำหน้าที่ในชีวิตที่เหลือ เราทุกคนเหมือนกัน วันนี้เรากำลังปฏิบัติธรรม วันข้างหน้า ถ้าเราเข้าใจธรรม เราก็จะช่วยคนอื่นได้ต่อไป

ชีวิตที่ยิ่งใหญ่ในทางโลกเต็มไปด้วยกิเลส  ชีวิตที่ยิ่งใหญ่ในทางธรรมคือ “ชีวิตที่อยู่กับปัจจุบัน”…แค่นั้น เป็นคนหมดอนาคต หมดหวัง

 

ตอนที่ 4 แค่รู้สึก…แล้วก็รู้ทัน

พวกเรามีหน้าที่นั่งสมาธิกันแบบนี้  เราทำหน้าที่เหมือนอะไร? เหมือน “กล้องวงจรปิด” กล้องวงจรปิดมันไม่รู้ด้วยว่าตัวมันเองเป็นกล้องวงจรปิด มันมีหน้าที่ “แค่รับรู้” สิ่งที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป แล้วก็สิ่งที่อยู่กับที่ ตอนไม่มีอะไรผ่านมา ไม่มีอะไรผ่านไป มันก็รู้สิ่งที่อยู่กับที่คืออะไร…ก็ร่างกายเราเองนั่นแหละ

ตอนเรารู้สิ่งที่อยู่กับที่คือ ร่างกายนี้ เรียกว่า “รู้เนื้อรู้ตัว” อยู่ ตอนนี้เราจะเรียกว่าสมถะก็ได้ แต่เดี๋ยวพอมีอะไรผ่านไปผ่านมา ความคิดเกิดขึ้น…รู้ทัน เห็นไตรลักษณ์ได้ เห็นความเป็นอนัตตาได้ ความเจ็บปวดเกิดขึ้น เห็นความไม่เที่ยงของเวทนาได้…ตรงนี้เรียกว่าอะไร? เรียกว่าวิปัสสนา

เพราะฉะนั้นระหว่างที่เรานั่ง สมถะกับวิปัสสนาถูกเจริญตลอดเวลา สลับสับเปลี่ยนกันไปตามเหตุปัจจัย เรามีหน้าที่แค่เป็นกล้องวงจรปิด

กล้องวงจรปิดปรุงแต่งไม่เป็น…คิดดีก็ใจเย็น คิดไม่เป็นก็เย็นสบาย…คิดไม่เป็นก็ไม่เดือดร้อน ถ้าเป็นกล้องวงจรปิดไม่ได้ ความเป็นคนก็เกิดขึ้น…เดือดร้อน

พูดถึงกล้องวงจรปิดเพื่อเปรียบเทียบเฉยๆ ในแง่ของการรับรู้  แต่จริงๆ พวกเรามีมากกว่านั้น มีปัญญา มีอะไรที่จะรู้อะไรเป็นอะไร จิตใจนี้มีมากกว่านั้น

นั่งเริ่มเคลิ้ม เริ่มตัวงอ…ยืดตัวขึ้น ยืดให้มันตื่นขึ้น เราจะรู้สึกได้ว่าพอเรายืดตัวขึ้น ความตื่นก็จะเพิ่มขึ้น จะเห็นเป็นเหตุปัจจัยได้ พอมีเหตุใหม่ ผลแบบใหม่ก็เกิดขึ้น เห็นแบบนี้

อยู่กับปัจจุบัน” ไม่มีเวลา ไม่ต้องคิดว่าจะเลิก อีกกี่นาทีจะเลิก…นั่งรู้ความรู้สึกตัวเองไป

การปฏิบัติธรรม จำให้แม่น ย้ำกันทุกครั้ง…เป็นเส้นทางของอนัตตา ไม่ใช่อัตตา ไม่มีการทำอะไรทั้งนั้นตั้งแต่เริ่มต้นจนจบสิ้น

คนไหนจิตใจฟุ้งซ่านเยอะ ต้องรู้ตัวว่าการทำในรูปแบบไม่พอ วิถีชีวิตยังมีเหตุ สร้างเหตุที่ทำให้เกิดความฟุ้งซ่าน ต้องรู้จักลดละ

พอเรานั่งบางทีเรางีบไป บางคนก็สติเกิดขึ้นอัตโนมัติ…วืบกลับมาเอง ก็เห็นว่าสติมันทำงานเอง แม้แต่สติก็บังคับไม่ได้

รู้สึกไป รู้สึกร่างกายตัวเองไป ให้มันรู้สึกจริงๆ เพียง “แค่รู้สึก” ไม่มีมากกว่านั้น มันรู้ตรงไหนก็รู้ตรงนั้น มันรู้เนื้อรู้ตัวก็รู้เนื้อรู้ตัว ชีวิตเหลืออยู่แค่นี้ลองทำดู…“ชีวิตเหลืออยู่แค่รู้สึก

นั่งแล้วหัดสังเกตร่างกายเอาไว้ เกร็งหัวไหล่ ขา ผ่อนคลายหน่อย แล้วเราจะเห็นอะไร? เห็นว่าร่างกายมันก็เกร็งได้เอง เห็นมันทำงานเอง

ถ้าเราเรียนรู้จริงๆ ในกายในใจ เราไม่เบื่อหรอก มันมีอะไรให้เราเห็นตลอด เราแค่ไม่มีเวลาที่จะเห็นมันเฉยๆ ไม่ใส่ใจ ไม่สนใจ

หายใจลึกๆ ซักทีนึง สังเกตความตื่นมันต่างกัน ต่างจากก่อนหายใจลึก ก็ไม่ต้องคิดว่าดีกว่า ก็ให้รู้ว่ามีเหตุแบบนี้ผลก็เป็นแบบนี้ ถ้าเราคิดว่าดีกว่าจะเกิดอะไรขึ้น? เดี๋ยวเราหายใจๆๆ จนกลายเป็นแน่นแทนอีก เพราะฉะนั้นไม่มีอะไรดีกว่าอะไร เห็นมันเป็นไปตามเหตุปัจจัย

เวลานั่งสมาธิแบบนี้ บางทีจิตใจอยากจะอุทิศบุญกุศลหรืออะไร…ทำได้ ไม่จำเป็นต้องรอให้นั่งเสร็จก่อนค่อยอุทิศ…ไม่ใช่ จิตนี้มันพร้อมแล้วมันจะทำเอง เป็นเรื่องของจิต ไม่ใช่เรื่องของเรา

เราทุกคนต้องรู้จักความสุขจากความสงบจากการนั่งสมาธิแบบนี้เอาไว้  วันนึงที่เรามีโอกาสได้วิเวกสันโดษ ไม่มีภาระอะไรต้องทำ หรือว่าต้องอยู่ในระเบียบวินัย ไม่ได้ไปไหนต่อไหน ต้องรู้จักความสุขจากความสงบแบบนี้เอาไว้ ฝึกที่จะรู้จัก ไม่อย่างนั้นเราจะอยู่เฉยไม่ได้ เราจะเป็นทาสของกิเลส เราจะพ่ายแพ้ต่อความอยาก ความดิ้นรน ความฟุ้งซ่าน

แต่อย่าลืมว่าสงบของพระพุทธเจ้าคือ สงบแบบตื่นรู้ เป็นความสงบที่เกิดจากการรู้เห็นกายและจิตนี้ตามความเป็นจริง ไม่ใช่ไปทำให้มันสงบ รู้ทันความไม่สงบ รู้ทันจิตที่มันฟุ้งซ่าน มันก็สงบเอง

ยังไม่ต้องคาดหวังว่าจะเลิก ยังไม่เลิก…นั่ง! อยู่กับความรู้เนื้อรู้ตัว นั่งให้เหมือนเรานั่งอยู่คนเดียว ไม่มีเพื่อนอยู่ข้างๆ

ทุกครั้งที่นั่งแล้วรู้สึกสบาย ให้สังเกตความยินดีพอใจในนั้น ถ้ามีต้องรู้ทัน มันเริ่มเคลิ้ม เริ่มสบาย ยืดเนื้อยืดตัวขึ้น หายใจเข้าลึกๆ ซักทีนึง ไม่ให้ติดความสบาย

ใครชอบทำอะไรเร็วๆ ในชีวิต ทำให้มันช้าลง มีสติเห็นมันมากขึ้น ส่วนใครเชื่องช้ามากๆ เห็นความอืดอาด ความขี้เกียจของตัวเอง ใช้ชีวิตให้มันกระฉับกระเฉงขึ้น

ดูท่าไม่มีใครอยากจะเลิก ทุกวันเราก็นั่งอย่างนี้ มีเวลาก็นั่ง เอากำลังจากการทำในรูปแบบ เอามาเจริญสติในชีวิตประจำวันต่อได้ ไม่ใช่เลิกนั่งก็เลิกปฏิบัติ

ในชีวิตประจำวัน อาศัยกำลังในการนั่ง ในการทำในรูปแบบ มันจะเข้าใจการเจริญสติอย่างเป็นธรรมชาติ ชีวิตประจำวันใช้ให้เป็นธรรมชาติ กำลังนี้เอง ความระลึกได้นี้เอง มันจะทำงานด้วยตัวมันเอง แรกๆ นานๆ ทีระลึกขึ้นได้ หมั่นทำในรูปแบบ มีระเบียบวินัย มีใจที่จะรู้หน้าที่ว่าต้องปฏิบัติธรรม มันจะถี่เข้าๆ ถี่ขึ้นๆ เองในการระลึกรู้ รู้ทันสภาวะต่างๆ รู้เนื้อรู้ตัวอยู่ในชีวิตประจำวันได้

ยังคงไม่ได้เลิก ยังไปเงียบๆ …เรียนรู้ มีหน้าที่แค่เรียนรู้ สั้นไปกว่านั้นคือ “แค่รู้สึก…แล้วก็รู้ทัน” แค่นั้น

 

01-07-2561

Camouflage

คลิปเสียงธรรมะทั้งหมดของอาจารย์ Camouflage : https://goo.gl/RDZFMI

======================

5 ช่องทางการอ่านและฟังธรรม

1) Facebook : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
http://www.facebook.com/sookguysookjai

2) Line : @camouflage.talk
https://line.me/R/ti/p/%40camouflage.talk

3) YouTube : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
https://goo.gl/in9S5v

4) Website: https://camouflagetalk.com

5) Podcast : Camouflage – Dhamma Talk
https://itun.es/th/t6Mzdb.c
วิธีการติดตั้ง https://goo.gl/tBMY9S