71.ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ตอนที่ 1 ไม่มีการทำอะไรทั้งสิ้นตั้งแต่ต้นจนจบ

อย่าลืมว่าเราไม่มีหน้าที่ทำอะไร มีหน้าที่ “รู้อย่างที่มันเป็น” มันเป็นยังไงก็รู้มันเป็นอย่างนั้น

เรานั่งนิ่งๆ อย่างนี้ สังเกตร่างกายมันนิ่งๆ จริงมั้ย?  หัวใจมันก็เต้น มีความเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ ในร่างกายนี้ตลอดเวลา แค่ให้ความสนใจร่างกายหน่อย…จิตใจนี้ก็พ้นออกจากโลกของความคิดปรุงแต่งแล้ว

สังเกตร่างกายทำงานของมันเอง อวัยวะต่างๆ ทำงานของมันเอง คุมอะไรไม่ได้ สั่งให้มันหยุดทำก็ไม่ได้ สั่งให้หัวใจหยุดเต้นก็ไม่ได้  รูปนี้มันก็ทำหน้าที่ของมัน จิตนี้ก็ทำหน้าที่ของมัน…รับรู้

เราในฐานะผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ก็ทำหน้าที่แค่ “รู้ ตื่น เบิกบาน”…ไม่ทำหน้าที่เกินจากรู้

พอเราอยู่กับกาย จิตก็คลายสบายขึ้น เป็นปกติ เป็นธรรมชาติ  เนี่ย! มันเป็นเอง เป็นไปตามเหตุ ไม่ใช่ไปทำให้มันสบาย ไปทำให้มันสดชื่น ไปทำให้เป็นปกติ มันทำไม่ได้ ยิ่งทำยิ่งผิดปกติ

การปฏิบัติธรรมต้องมีหลัก หลักต้องแม่น หลักสำคัญที่สุดคือ “ไม่มีการทำอะไรทั้งสิ้น” ตั้งแต่เริ่มจนจบ…มีหน้าที่แค่รู้ ตื่น เบิกบาน

จิตใจมีคุณภาพที่จะรู้จะตื่นได้แค่ไหน ก็เป็นไปตามเหตุ ไม่มีหน้าที่ทำให้มันดีกว่านี้ รู้ได้แค่นี้ก็คือแค่นี้ ปฏิบัติไปเรื่อย อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม ถูกต้อง วิเวก สันโดษ ถือศีลให้มั่นคงมากขึ้น พูดให้มันน้อยลง ไม่ทำบาปอกุศล จิตใจมันก็ค่อยๆ ตั้งมั่นขึ้นเอง ความรู้ตื่นมันก็เพิ่มขึ้นเอง…ให้มันเป็นไปตามเหตุ

การปฏิบัติธรรม “ไม่มีคำว่าต้อง”…จำไว้ให้แม่น เมื่อไหร่มี “ต้อง” เมื่อนั้นอัตตาเกิดขึ้นทันที ไม่มีว่าจิตต้องเป็นอย่างนั้น จิตต้องเป็นอย่างนี้ จิตต้องอยู่ที่นั่น ต้องอยู่ที่นี่ ต้องอยู่ในสภาพนั้น ต้องอยู่ในสภาพนี้ ต้องทำให้จิตมันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ก่อน…ไม่มี นั่น! อัตตาทั้งนั้น

ถ้าเริ่มผิด ที่เหลือผิดหมด การปฏิบัติธรรมมันก็เหมือนการติดกระดุมเสื้อ พอติดเม็ดแรกผิด ที่เหลือดูเหมือนไล่ติดตามเม็ดแรก เหมือนจะถูกนะ แต่เรารู้ว่าทั้งหมดคือผิด

 

ตอนที่ 2 ไม่พักแล้วก็ไม่เพียร

เราทุกคนมานั่งปฏิบัติธรรม มานั่งสมาธิร่วมกัน ไม่ได้ทำไปเพื่อความหวังอะไร แต่ทำไปเพราะรู้จักว่านี่เป็นหน้าที่ของชีวิตเฉยๆ ถ้าเราไม่ทำแบบนี้…เราจะไปทำอะไร ดูหนัง ฟังเพลง ไปเที่ยว

เรารู้หน้าที่ของชีวิต เราเกิดมามีหน้าที่พัฒนาจิตใจ จนถึงวันนึงพ้นทุกข์ เพราะฉะนั้นเวลาของชีวิตเราคือ “การทำหน้าที่”…ทำหน้าที่โดยไม่ต้องคาดหวังอะไร เราไม่รู้หรอกว่าไม้สองอันถูกันแล้วจะติดไฟเมื่อไหร่ เรามีแค่หน้าที่ปั่น ไม่ต้องคาดหวัง สิ่งที่เราต้องรู้คือ เรามีหน้าที่ปั่น เราได้ปั่นหรือยัง…แค่นั้น…ทุกวัน

ถ้าเราได้ปั่นแล้ว มันจะปั่นถูกปั่นผิดนิดๆ หน่อยๆ องศาไม่ตรงซักนิดนึงไม่เป็นไร เดี๋ยวมันตรงเอง อะไรผ่านไปผ่านมาในชีวิตเรา… “รู้เฉยๆ”…เตือนตัวเอง แท้จริงไม่มีสัตว์ ตัวตน บุคคล เรา เขา เป็นเพียงแค่สภาวะผ่านมาแล้วก็ผ่านไป เรื่องราวผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ไม่ต้องเอาจริงเอาจังกับมัน

เหมือนตอนเด็กๆ เราเคยทะเลาะกับเพื่อน เคยทะเลาะกับพี่กับน้องโกรธกันแทบเป็นแทบตาย คิดเป็นจริงเป็นจังมาก เราโตขึ้นมาจนถึงป่านนี้ บางคนก็ลืมไปแล้ว อีกคนจำได้กลับไปคิด…ก็ว่าตัวเองว่าปัญญาอ่อนไปโกรธแบบนั้น ไร้สาระ ติ๊งต๊อง

ชีวิตเราก็ Repeat เรื่องแบบนั้นแหละ…ซ้ำไปซ้ำมา เอาจริงเอาจังตลอด…มันไม่มีอยู่จริง ไม่เป็นความจริง มันเป็นเรื่องผ่านมาแล้วก็ผ่านไปที่เราไปให้ความสำคัญ ให้ความเห็นผิด เอาเป็นจริงเป็นจังกับชีวิต จนสร้างทุกข์ให้กับตนเอง สร้างทุกข์ให้กับคนอื่น จากมิจฉาทิฏฐิของเราเอง

เราต้องเข้าใจความจริง เข้าใจด้วยใจยังไม่ได้ เข้าใจด้วยสมองก่อน…ว่าไม่มีคน เป็นเพียงแค่เหตุปัจจัย รับ-ส่ง สอดประสานกันตามเหตุและผลอย่างต่อเนื่องไป ไม่มีวันจบ เป็นธรรมชาติธรรมดาของโลกนี้

การไปจับยึดอะไร เป็นเจ้าของอะไร เอามาเป็นของส่วนตัว แม้กระทั่งจะพาตัวเราไปบรรลุธรรม ทั้งหมดนี้เป็นความเข้าใจผิด และไม่มีทางที่จะสำเร็จได้เลย

การปฏิบัติธรรมนี้เป็นเรื่องที่สวนทางกับความเคยชินทางโลก ทางโลกนี้เราทำอะไร เราถึงจะได้อะไรมา เราต้องลงมือทำลงแรงทำ เราถึงจะได้งาน ได้เงิน ได้อะไรๆ มา แต่ในการปฏิบัตินั้นตรงกันข้าม 180 องศา การปฏิบัติธรรมคือ “การไม่ทำอะไร แล้วก็ไม่ได้อะไรมาด้วย” มีแต่การสละออก…สละอะไร? ความเห็นผิดออกไปเรื่อยๆ

ทำไมการปฏิบัติธรรมถึงไม่ทำอะไร? เพราะเราต้องการเห็นความเป็นจริงของกายกับจิตนี้ว่ามันทำงานยังไง มันเป็นยังไง จริงมั้ยว่ามันทำงานเอง จริงมั้ยว่าเป็นไปตามเหตุปัจจัย จริงมั้ยว่าคุมอะไรไม่ได้ จริงมั้ยว่ามันไม่เที่ยง มันเปลี่ยนแปลง จริงมั้ยว่ามันทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ เราจะเห็นความจริงได้ เราต้องไม่ยุ่งกับมัน

เหมือนเราไปดู National geographic เวลาเขาไปถ่ายภาพสัตว์ มันล่ากัน ฆ่ากัน ทำอะไรๆ อยากจะรู้ว่านิสัยใจคอการใช้ชีวิตของสัตว์ป่าที่แท้จริงมันทำยังไง ก็ต้องไปแอบดูไกลๆ ไม่ให้มันรู้ จะได้เห็นตามเป็นจริงว่ามันทำอะไรบ้าง

เราอยากจะเห็นตามเป็นจริงว่ากายกับจิตนี้เป็นยังไง… ก็ต้องไม่ทำอะไรเหมือนกัน ไม่ต้องไปยุ่งกับมัน ไม่แทรกแซงมัน ไม่จัดการมัน ไม่ทำอะไรกับมัน…เป็นแค่ “ผู้สังเกตการณ์”  เนี่ย! เรามีหน้าที่แค่นี้ตั้งแต่เริ่มต้นจนจบ การปฏิบัติธรรมก็มีหน้าที่แค่นี้เอง ถ้ามากกกว่านี้คือไม่ถูก

ทำไมคนเราปฏิบัติธรรมแล้วมันก้าวหน้าช้า? เพราะมันทำเกินหน้าที่ มันไปหาอย่างอื่นทำ ตกขอบตกข้างทางไปเรื่อย นึกว่าปฏิบัติธรรมอยู่ แบบนั้นไม่เรียกว่าปฏิบัติธรรม เรียกหาอะไรทำ พาจิตไปนั่นไปนี่ ไปหาสภาวะละเอียดๆ ดู  เนี่ย! แทรกแซงจิตตลอดเวลา ดูไปแล้วเป็นยังไง ละเอียดๆ ไม่เห็นมีอะไรเลย ก็เปลี่ยนแปลง ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาเหมือนกัน เสียเวลาพามันไปดูอีก

อย่าลืมว่าเรามีหน้าเป็น “ผู้สังเกตการณ์” ไม่ได้เข้าใน ไม่ได้ออกนอก… “อยู่กับรู้” แค่นั้น

เข้าในก็ส่งออกอย่างหนึ่ง ออกนอกคือส่งออกอีกอย่างหนึ่ง รวมแล้วคือส่งออกทั้งคู่

ถ้าเราปฏิบัติธรรมแล้วอย่าไปหาอะไรทำ มันจะถูกเอง

พระพุทธเจ้าสอนเรา ทางแห่งการปฏิบัติธรรมนี้คือ “ไม่พักแล้วก็ไม่เพียร” อยู่

คำว่า “ไม่พัก” นี้คืออะไร…ไม่หลงระเริง หลงโลก

ไม่เพียร” คืออะไร…คือ ไม่ไปหาอะไรทำ หาอะไรทำในแง่ของจะปฏิบัติธรรม คือหาอะไรทำไปเรื่อย

เพราะฉะนั้นไม่พักแล้วก็ไม่เพียรอยู่ มันคือกิริยาอะไร… “กิริยารู้…รู้อย่างที่มันเป็น

 

ตอนที่ 3 ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

การปฏิบัติธรรมคือ การเห็นความจริง เข้าใจความจริงของกายกับจิตนี้…จะเห็นได้ จะเข้าใจความจริงของมันได้ ไม่มีหน้าที่ยุ่งกับมัน ไม่มีหน้าที่ช่วยอะไรมัน…มีหน้าที่ “แค่รู้…แค่ดู” ความเป็นไปของมัน ซ้ำแล้วซ้ำเล่าๆ จนมันยอมรับความเป็นจริงว่า…อ่อ! ความเป็นจริงเป็นแบบนี้

เราต้องเห็นมัน ซ้ำไปซ้ำมาๆ ทำไม? เพราะเราต้องเห็นมันจนเรา “เกิดความเบื่อหน่าย” เกิดนิพพิทาญาณว่าสิ่งทั้งหลายในโลกจะสุขจะทุกข์ จะดีจะชั่ว จะเลิศเลอ วิลิศมาหราเท่าไหร่ หรือทุกข์แทบเป็นแทบตายเท่าไหร่ มันก็เหมือนกันคือ ตกอยู่ภายใต้กฎไตรลักษณ์ เอาอะไรไว้ก็ไม่ได้ ไล่อะไรให้ไปมันก็ไม่ไป ไม่เป็นไปตามสั่งการ พอมันเห็นซ้ำเห็นซากมันเลยเกิดความเบื่อหน่าย

ถ้าเราเห็นอะไรใหม่ๆ ทุกวัน ไม่เคยซ้ำซากจำเจเลย ให้รู้ไว้เลยว่านั่นไม่ได้ปฏิบัติธรรม นั่นเรียกว่าการผจญภัยทางใจ ผจญภัยภายในเฉยๆ หาอะไรดู หาอะไรทำไปเรื่อย มีเรื่องน่าสนุก น่าตื่นเต้นทุกวัน อื้อหือทุกวัน อู้วหูวทุกวัน

สังเกตว่าเรารู้สึกอยู่กับร่างกายหรือแค่รู้สึกอยู่กับร่างกายเอาไว้ มันก็พ้นออกจากโลกของความคิดปรุงแต่ง พ้นไปจิตใจนี้ก็เป็นปกติ จิตใจที่รู้สึก รู้เนื้อรู้ตัวอยู่อย่างนี้ เขาเรียกว่าเป็นจิตใจที่มีกำลัง มีความตั้งมั่นของจิต

เวลาเกิดเวทนาขึ้นทางร่างกาย เราก็เรียนรู้ได้หลายอย่าง เราจะไม่เปลี่ยนท่าก็ได้ เราก็ได้ขันติบารมี อดทน แล้วก็ได้เจริญวิปัสสนาคือ เห็นว่าความเจ็บความปวดนี้มันก็ไม่เที่ยงขึ้นๆ ลงๆ ไม่ใช่ขึ้นตลอด

หรือเกิดเวทนา จิตใจมันดิ้นรน อยากจะเปลี่ยนท่าก็เห็น เห็นจิต เห็นกิเลสในใจ นี่ก็ปฏิบัติธรรม บางคนจิตใจปกติอยู่ แต่ขี้เกียจอดทน นั่นก็ขยับก็ได้ ขยับหน่อย เวทนาก็เปลี่ยน ก็จะเห็นได้ว่า อ่อ…เพราะเหตุเปลี่ยนผลมันก็เปลี่ยน

ปัจจัยอันนึงถูกเปลี่ยนแปลง ผลลัพธ์ของเวทนาก็เปลี่ยนแปลง ปฏิบัติธรรมนี่มันดูได้ทุกอย่าง ถ้าเราจะดู ไม่ใช่เรื่องมหัศจรรย์พันลึกหรูหราอะไร ดูง่ายๆ อย่างนี้แหละ สภาวะธรรมดาๆ เกิดขึ้นกับเราทุกวี่ทุกวันทุกเวลา มีให้ดูเยอะแยะ

เราปฏิบัติธรรมไม่ใช่เอาสภาวะละเอียดหรูหราไฮโซ ปฏิบัติจะเอาผล ผลของพระอริยะ พระอรหันต์ ว่าง สว่าง บริสุทธิ์ ไม่มีอะไรเลย ไม่เหลืออะไรซักอย่าง..นี่เป็นผล ไปทำไม่ได้ ทำได้เหมือนกัน ก็เป็นนิพพานพรหม ของเทียม

นั่งๆ อยู่ท้องก็ร้อง ไม่ได้หิว ท้องมันก็ร้องเอง มันมีเหตุ ก็ร้อง ก็ดูไป จะไม่ให้มันร้องก็ไม่ได้ มันร้องเอง ท้องมันร้อง ถ้าเราเห็นว่ามันร้อง มันร้องเฉยๆ มันร้องเอง ก็จบแค่นั้น

แต่คนเราเกิดอะไรขึ้น ท้องร้องแล้วตลก ปรุงแต่งละ เขิน…ท้องมันร้อง เนี่ยเราต้องรู้ทัน…รู้ทันว่า เออ! จิตปรุงแต่งละ ไม่ได้ห้ามนะ ก็รู้ทัน

มีความคิด…ก็รู้ทัน บางครั้งเราก็รู้ทัน บางครั้งมันก็รู้เอง เรียกว่าเป็นอัตโนมัติ รู้เอง

ถ้ามันรู้เอง…กำลังสติ กำลังสมาธินี้มันจะเข้มแข็ง ก็ค่อยๆ ฝึกไป มันก็เป็นเอง

คอยสังเกตร่างกาย ระวังเคลิ้ม สังเกตก็ “แค่รู้สึก” นั่นแหละ แต่ให้ความสนใจเพิ่มนิดนึง

….

ติ๊ง ติ๊ง ติ๊ง

 

Camouflage

YouTube : https://youtu.be/4OUY9es9DsA

คลิปเสียงธรรมะทั้งหมดของอาจารย์ Camouflage : https://goo.gl/RDZFMI

======================

5 ช่องทางการอ่านและฟังธรรม

1) Facebook : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
http://www.facebook.com/sookguysookjai

2) Line : @camouflage.talk
https://line.me/R/ti/p/%40camouflage.talk

3) YouTube : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
https://goo.gl/in9S5v

4) Website: https://camouflagetalk.com

5) Podcast : Camouflage – Dhamma Talk
https://itun.es/th/t6Mzdb.c
วิธีการติดตั้ง https://goo.gl/tBMY9S