70.เข้าพรรษา 2561

 

ตอนที่ 1 หมั่นหันกลับมาดูใจ

ได้ยินเสียง…ได้ยินแล้วก็หันกลับมาดูใจตนเอง…ปกติก็รู้ ไม่พอใจก็รู้  จิตหลงไปคิดรู้ทัน…รู้ทันปึ๊บ! หันกลับมาดูใจตัวเอง เป็นยังไงก็รู้เป็นอย่างนั้น

เข้าพรรษาบางคนก็ปลีกวิเวก อย่าคิดว่าการปลีกวิเวกนี่เป็นการอยู่ไกลครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์ที่แท้จริงคือ “ตัวเราเอง” เตือนตัวเองได้ สอนตัวเองได้…มีกายกับจิตนี้เป็นครูบาอาจารย์

ฟังธรรมกันมามากแล้ว “หัดอยู่เงียบๆ” …ฟังมากก็ฟุ้งซ่าน ไม่ฟังเลยก็ไม่รู้เรื่อง…ให้มันพอดี ไม่เคยอยู่เงียบๆ ก็อยู่เงียบๆ บ้าง ภาวนาเงียบๆ บ้าง ดูซิภาวนาเงียบๆ นี่ ความคิดมันเยอะขนาดไหน  บางทีเปิดคลิปธรรมะฟังตลอดไม่เห็นความคิดเท่าไหร่ หูมันไปฟังอย่างเดียว

สมัยก่อนครูบาอาจารย์ไม่มี mp3 podcast YouTube ท่านได้หลักปฏิบัติ ก็เอาไปอยู่เงียบๆ แล้วก็ปฏิบัติ หลักมันมีนิดเดียว อย่าไปหาให้มันมากกว่านี้…ยิ่งหามาก ยิ่งเพ้อเจ้อ…ยิ่งหามาก ยิ่งหลงทาง

ฟังมากก็ฟุ้งซ่าน หลักมีนิดเดียวสอนไปแล้ว… “รู้สึกตัว พ้นออกจากโลกความคิดปรุงแต่ง หันมาดูใจบ่อยๆ ”  หันมาดูใจเป็นคำพูด จริงๆ ก็แค่รู้สึกใจว่าเป็นยังไง…อย่าลืม

คำว่า “มีสติรักษาจิต” ของหลวงปู่เทศก์ คือ หมายความว่า “ไม่ลืม

คำว่า “รู้สึกตัว” ของหลวงพ่อเทียน “ตัว” คำนี้คือ “กายกับจิต” ไม่ใช่ร่างกายอย่างเดียว และก็ “ตัว” นี้คือ รวมทั้งกายกับจิต กลับมารู้สึกตัวคือ “กลับมารู้สึกทั้งกายทั้งจิต”  รู้สึกแล้วเป็นยังไงก็เป็นอย่างนั้น

เพราะฉะนั้น วิธีปฏิบัติมีง่ายๆ คือ “การกลับมา” ได้ยินเสียงหมาเห่าแล้วยังไง? กลับมาดูจิตตนเองเป็นยังไง จิตไปคิดรู้ทัน กลับมาดูใจตนเองเป็นยังไง…ไม่ลืม

ไม่ใช่หันมาดูจิตเพื่อจะให้จิตนี้มันดี มันเป็นยังไงก็ได้ แต่ความสำคัญคือ “การได้กลับมา” การได้กลับมาถือว่าเป็นการปฏิบัติแล้ว

พอเรากลับมาบ่อยๆ กลับมาบ่อยๆ มันจะเหมือน “มีสติรักษาจิต” …คำพูดนี้มันเหมือนกับว่าต่อเนื่องเลย แต่ถ้าเราพูดอย่างนี้ปุ๊บคนจะไปเพ่งจิต…ก็ไม่ถูกอีก เพราะฉะนั้น แค่ทำหน้าที่ 3 ข้อที่บอกเมื่อกี้ ทำให้มันเนืองๆ และผลมันจะเนื่องเอง

ต่อไปนี้ไม่ว่าผัสสะอะไรเข้ามากระทบ กระทบแล้วก็หันกลับมา…หันกลับมาดูใจเป็นยังไง ส่งออกไปแล้วรู้ทัน หันกลับมาดูใจเป็นยังไง ทำแบบนี้เราจะดูได้อย่างเป็นธรรมชาติ ดูได้อย่างเนืองๆ เพราะมันมีสิ่งกระทบตลอด มันมีการส่งออกตลอด เราจะไม่ต้องพะว้าพะวงว่าต้องกลับมาบ่อยแค่ไหน  เอาแบบนี้เลย…มีการกระทบปุ๊บก็หันกลับมาดูใจ มีการกระทบปุ๊บก็หันกลับมาดูใจ โดยส่วนใหญ่มันก็เป็นปกตินั่นแหละ แต่การ “หมั่นหันกลับมาดูใจ” พวกเราตอนนี้สังเกตได้มันจะเงียบเลย มันจะปกติ มันจะหนักแน่น มันจะอยู่กับเนื้อกับตัว แต่ถ้าเรานั่งหลับตาแบบนี้ เราต้องพยายามตื่นไว้ด้วย ไม่จมไปในความเคลิ้มความสบาย

เพราะฉะนั้น จำไว้ว่าการปฏิบัติธรรมมันมีไม่มาก หลักปฏิบัติ วิธีปฏิบัติมีไม่มาก เราอยากได้ยินได้ฟังธรรมะดีๆ ได้ยินได้ฟังธรรมะลึกซึ้ง ทำให้มันเกิดขึ้นในหัวใจของเราเอง ไม่ใช่มัวแต่ไปฟัง เอาเวลามาทำแบบนี้

 

ตอนที่ 2 มีหลักปฏิบัติธรรมแล้ว…พึ่งตัวเอง

ใครเคลิ้ม…นี่! ลืมตาหน่อย ช่วยให้มันตื่นหน่อย กระทบสัมผัส กระทบอะไร กลับมาดูใจ กลับมารู้สึกใจเป็นยังไง

ไม่ลืมจะรู้สึกใจ พอเราไม่ลืมจะรู้สึกใจ ความอยู่กับเนื้อกลับตัวมันก็มาด้วยกันเลย

พอรู้สึกใจ…รู้สึกกายก็เกิดขึ้นมันมาเป็นแพ็คคู่

แต่รู้สึกร่างกาย ไม่ยอมรู้สึกใจ ใจนี้จะไปคิด

เพราะฉะนั้น ทำหน้าที่ให้ครบ…รู้สึกทั้งตัว…รู้สึกทั้งกาย รู้สึกทั้งใจ

แล้วพอมีความคิดเกิดขึ้น เราจะรู้ทันได้เร็ว รู้ทันปึ๊บ..มันก็กลับมารู้สึกตัว ก็หันมาดูใจหน่อยเป็นยังไง มันจะยิ่งหนักแน่นเลย

เพราะฉะนั้น ปฏิบัติธรรมอย่าไปหาอะไรทำยากๆ …ง่ายๆ ทำให้ได้ ทำให้มันสม่ำเสมอไม่ลืมที่จะกลับมา ทำให้ได้แค่นี้ ไม่ต้องไปหาอะไรพิสดารทำ

สังเกตเราทำแค่นี้..มันเงียบเชียบหนักแน่น…จิตใจมันเป็นยังไง? ปกติ…

ปกติมากๆ เข้าเป็นยังไง? มันก็เป็นกลาง มันก็เป็นสภาพที่จิตมันตั้งมั่นแล้วก็เป็นกลาง

พอจิตมันตั้งมั่นแล้วเป็นกลางได้ ก็สามารถรู้เห็นกายกับจิตนี้อย่างที่มันเป็น…

มันเป็นแบบไหนกายกับจิตนี้? กายกับจิตนี้เป็นทุกข์ ตกอยู่ภายใต้กฎไตรลักษณ์ เราจะเห็นได้

การมี “จิตที่ถูกต้อง” ก็จะเห็นความเป็นจริงได้ โดยไม่ต้องพยายามเลย

เราปฏิบัติธรรมให้ “จิตมันถูกต้อง” นี้มันเป็นยังไงที่บอกว่ามันจะเห็นเลย? จิตที่ถูกต้องมันก็เหมือนเราไปเที่ยวแล้วก็มีจุดชมวิว สมมติเรามีเป้าหมายว่าต้องเห็นวิวนี้  ถ้าเราไปอยู่ข้างล่างเราก็ไม่เห็นวิวนี้ ให้พยายามให้ตายก็ไม่มีทางเห็นวิวนี้ได้เลย แต่หน้าที่เราคืออะไร? ไม่ใช่พยายามจะเห็นวิว เรามีหน้าที่ขึ้นไปจุดชมวิวให้ได้แค่นั้น…ก็หมายถึงว่า “เรามีหน้าที่ที่จะสร้างสิ่งแวดล้อม” ทำจิตนี้ให้มีคุณภาพพอที่จะเห็นได้ ให้มีคุณภาพพอที่จะเจริญวิปัสสนาได้ ด้วยการทำหน้าที่ปฏิบัติธรรม ทำหน้าที่ง่ายๆ ที่ผมบอกเมื่อกี้นี้ มันยากที่จะลืมทำ ถ้าไม่ลืมมันไม่ยาก แล้วพอเราขึ้นมาถึงจุดชมวิวได้แล้ว ไม่อยากจะเห็นวิวก็ไม่ได้ มันหนีไม่พ้นมันต้องเห็น

การปฏิบัติธรรมเข้าใจให้ถูก เข้าใจให้ถูกว่าเราต้องทำอะไรกันแน่ สิ่งที่เราต้องทำมันมีนิดเดียว แต่เราชอบไปทำสิ่งที่ไม่ต้องทำเยอะ เพราะฉะนั้น ปฏิบัติธรรม…ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน พึ่งตนเอง ในการพึ่งตนเองได้คือ “มีหลักปฏิบัติธรรม” เอาหลักปฏิบัติธรรมไปแล้วพึ่งตนเอง หลักปฏิบัติธรรมเป็นสิ่งเดียวที่อยู่กับเราได้ตลอดเวลา ไม่ใช่ครูบาอาจารย์

ครูบาอาจารย์วันนึงก็ต้องตาย พระพุทธเจ้าวันนึงก็ต้องละขันธ์ปรินิพพาน สิ่งเดียวที่ท่านฝากไว้คือ หลักปฏิบัติ ธรรมวินัย เพราะฉะนั้น เราชาวพุทธ เรานักปฏิบัติธรรม  ถ้าจะยึด…ยึดให้ถูก

ยึดหลักเนี่ย! มันไขว้เขวยากเพราะอะไร? มันไม่มีอคติ (Bias) กับหลัก หลักมันไม่มีชีวิต มันเป็นแค่เนื้อหา เราไม่มีหรอกชอบไม่ชอบ พอใจไม่พอใจหลักปฏิบัติ…ไม่มี แต่ถ้าเราไปยึดครูบาอาจารย์…อคติ (Bias) จะเกิดขึ้น  พอใจไม่พอใจจะเกิดขึ้น…เกิดขึ้นได้ ในประวัติศาสตร์มีเยอะแยะ

เนี่ย! เพราะอะไร…ยึดผิดที่  ยึดเอาคน ไม่ยึดเอาหลักปฏิบัติธรรม ไม่ยึดเอาธรรมะ เสียโอกาสชีวิตตัวเอง…เพราะอะไร? เพราะอวิชชาของจิตตัวเอง ความไม่พอใจก็เกิดขึ้น ความไม่พอใจนั้นก็ปิดบังตัวเองในที่สุด แต่พวกเรานักปฏิบัติธรรม ถ้าเป็นนักปฏิบัติธรรมจริง ก็จะสนใจแต่คำสอน…คำสอนนี้เอาไปใช้ได้มั้ย? ปฏิบัติตามได้มั้ย? ปฏิบัติแล้วโอเคมั้ย? เห็นผลมั้ย? ธรรมะของพระพุทธเจ้าปฏิบัติได้ไม่จำกัดกาลเป็นอย่างนั้นจริงมั้ย? ถ้ามันเป็นจริง ทำได้ มีประโยชน์กับชีวิตเรา ไม่พออีกเหรอ

เพราะฉะนั้น เป็นชาวพุทธต้องหัดฉลาดอย่าคิดอะไรแคบๆ คิดอะไรตื้นๆ ติดอยู่กับเรื่องภายนอก จริงๆ บอกว่าติดภายนอกก็เรื่องนึง จริงๆ แล้วคือ ติดความเชื่อ ทิฐิมานะอัตตาของตัวเองนั่นแหละ มิจฉาทิฏฐิของตัวเอง  ถ้าไม่รู้จักฉลาด ใจกว้างๆ หน่อย ชีวิตก็ระหกระเหินไปเรื่อยๆ เพราะมันมีแต่ความพอใจไม่พอใจ มันไม่เอาธรรมะเป็นที่ตั้ง

 

ตอนที่ 3 มีหน้าที่รดน้ำพรวนดินใส่ปุ๋ยทุกวัน

ฟังธรรมไปก็กลับมาดูใจเป็นยังไง ยังหนักแน่นเหมือนเดิมมั้ย ยังปกติอยู่มั้ย กระเพื่อมหวั่นไหวมั้ย…เป็นยังไงก็ได้ ก็รู้เป็นแบบนั้น…ไม่ใช่ปฏิบัติให้จิตนี้มันดี ปฏิบัติเพื่อจะเห็นตามเป็นจริงได้ว่ามันเป็นยังไง

จำไว้!!…การได้กลับมารู้สึกกาย รู้สึกใจ กิริยา “กลับมา” นั่นเรียกว่าการปฏิบัติแล้ว พอมันกลับมาได้ สติมันก็เกิด สมาธิมันก็เกิด ปัญญามันก็เกิด มันเป็นสายธารเดียวกัน มันเป็นเหตุปัจจัยซึ่งกันและกัน หนีไม่ได้ เหมือนขึ้นมาจุดชมวิวแล้วมันต้องเห็นวิว ไม่เห็นไม่ได้ ครูบาอาจารย์มีหน้าที่บอก มีหน้าที่สอน เรามีหน้าที่เอาไปทำ ไม่ใช่มัวไปชื่นชมธรรมะของอาจารย์…สุดยอด อยากฟังธรรมะลึกซึ้ง…ฟังไปก็เรื่องของคนอื่น ไม่ใช่ของเรา

เหมือนหลวงปู่แหวนพูดมัวแต่ไปชื่นชมมะม่วงของคนอื่น ไม่ปลูกเอาเองล่ะ…หัดปลูกเอาเองสิ

วิธีปลูกก็มีแค่นี้ ปลูกต้นไม้รดน้ำพรวนดินทุกวัน รดน้ำใส่ปุ๋ยพรวนดินต้นมะม่วง 1 วัน 1 ปี 10 ปี มันก็โตขึ้นเรื่อยๆ แต่หน้าที่คนปลูกมีแค่รดน้ำพรวนดินใส่ปุ๋ย มันไม่มีหน้าที่อื่นเลย มันมีหน้าที่ซ้ำซากจำเจอยู่แค่นี้แหละ แล้วมะม่วงมันก็ใหญ่โต ออกดอกออกผล ไม่มีหน้าที่ไปยุ่งกับต้นมะม่วง

เหมือนที่บอกว่าเราไม่มีหน้าที่ไปช่วยให้จิตนี้มันหลุดพ้น ไม่มีหน้าที่ยุ่งกับจิต มีหน้าที่สร้างสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสม แล้วจิตนี้จะหลุดพ้นด้วยตัวมันเอง

ความยากในการปฏิบัติธรรมมีแค่อย่างเดียว…อย่าทำเกินหน้าที่รดน้ำพรวนดินใส่ปุ๋ย…การปฏิบัติง่ายๆ แบบนี้ ปฏิบัติได้ไม่จำกัดกาล ไม่จำกัดอิริยาบท ไม่จำกัดว่ากำลังทำอะไรอยู่ ทำได้ทุกสถานการณ์

ฟังคนอื่นพูดอยู่ก็หันมาดูใจตนเองได้ ไม่มีใครรู้หรอกว่าเราหันกลับมาดูใจเรา…มันแค่รู้สึก

พูดกับคนอื่นอยู่ พอเราหยุดพูดเขาพูดบ้างเราก็หันกลับมาดูใจเราได้

เดินไปไหนมาไหน ทำกับข้าว กวาดบ้าน ถูบ้าน ล้างจาน ทำได้ทุกสถานการณ์เลย ยิ่งเป็นธรรมชาติด้วย อาบน้ำแปรงฟัน เข้าห้องน้ำ ขับรถ ได้หมด

ทำงาน…ทำๆ ไปหน่อย หันกลับมาดูใจเราหน่อยก็ไม่มีใครว่าอะไรหรอก มันแวบเดียวไม่เสียการเสียงาน

พอว่างจากกิจวัตรหน้าที่การงาน…ว่างปุ๊บก็ทำอะไร? ก็ทำในรูปแบบ ไม่ใช่เอาเวลาไปทำเรื่องฟุ้งซ่าน  ทีนี้ชีวิตทั้งชีวิตของเรามันก็เป็นการปฏิบัติธรรมตั้งแต่ตื่นจนหลับเลย ถ้าเราทำแบบนั้นได้ ความพ้นทุกข์มันเกิดขึ้นทันที แค่มันยังไม่สิ้นเชิง แต่พ้นทุกข์แล้ว ได้สัมผัสแล้ว สภาพที่ไม่มีทุกข์

ค่อยๆ ปฏิบัติไปๆ ข้อธรรมะต่างๆ มันจะค่อยๆ ชัดเจนในใจของเราเอง ชัดเจนด้วยความรู้สึกในใจ ไม่ใช่สมอง

เพราะฉะนั้น ธรรมะ ข้อธรรมต่างๆ อย่าเพิ่งรีบไปเข้าใจ ไม่ต้องขวนขวายจะเข้าใจ มันจะเข้าใจเอง ปฏิบัติไปเถอะ ความทุกข์มันสอนเราเอง เห็นของจริงๆ ต่อหน้าต่อตา…กายกับจิตนี้แหละ เห็นการทำงานของมันนี่แหละ มันจะสอนเราเอง มันเป็นครูที่ดีที่สุด  ถึงบอกว่าพอรู้หลักแล้ว ฟังธรรมมามากแล้ว อยู่เงียบๆ บ้าง  หลักมันมีนิดเดียวจำได้แล้วก็เอาไปทำ อดทนจะอยู่เงียบๆ บ้าง ไม่ต้องมีเสียงอะไร

คนที่ต้องฟังธรรมทุกวันคือ คนที่ยังไม่แม่นและจำเป็นต้องฟังก่อน ฟังให้มันเข้าใจ เพราะฉะนั้น ทำอะไรให้มันพอดี

พอหูไม่มีอะไรให้ฟัง หันกลับมาดูใจ…นี่เขาเรียกว่าไม่ลืมหน้าที่

แต่พวกเราตอนนี้ยังหาความสุขจากการคิดได้ ยังหาความสุขจากการปรุงแต่งทางความคิดได้  ถ้าเรายังหาความสุขจากมันได้อยู่ เราก็จะยังไม่เข้าใจว่ามันเป็นเหตุแห่งทุกข์  ก็นั่นแหละค่อยๆ ปฏิบัติไป ค่อยๆ รดน้ำพรวนดินใส่ปุ๋ยไป สร้างเหตุง่ายๆ แค่ที่บอก…แค่นี้

อดทนที่จะไม่ลืมหน้าที่แบบนี้ อดทนที่จะไม่ฟุ้งซ่านไปหาอะไรมากกว่านี้ อดทนที่จะไม่ไปจินตนาการว่าจะมีอะไรให้เราต้องทำมากกว่านี้ ทำหน้าที่แค่นี้ แล้วก็เลิกลดละเรื่องฟุ้งซ่านต่างๆ เรื่องบันเทิงต่างๆ ชีวิตการปฏิบัติธรรมก็จะเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ มันจะโฟกัสมากขึ้นเรื่อยๆ จากการที่เราจัดสิ่งแวดล้อมให้มันเอื้อต่อศรัทธา เอื้อต่อวิริยะ เอื้อต่อสติ เอื้อต่อสมาธิ เอื้อต่อปัญญาที่จะเกิดขึ้นได้

เรามีศรัทธา พอมีศรัทธาปุ๊บ…มันก็มีความเพียร…เพียรอะไร? เพียรที่จะ “ทำหน้าที่”…ไม่ลืมกายไม่ลืมจิต ไม่ลืมจะทำหน้าที่หันกลับมาดูจิตใจตัวเอง นี่เขาเรียกว่ามีความเพียร พอมีความเพียรอย่างถูกต้อง มันก็ก่อให้เกิดสติ “การกลับมา” นี่เรียกว่าทำให้เกิดสติ เพียรอย่างต่อเนื่องมันก็เป็นสมาธิ พอมีสมาธิ ปัญญามันก็เกิดได้

ผมเลยบอกว่าถ้าเราอยู่บนเส้นทางที่ถูกต้องแล้ว มันจะพาเราไปเอง เราไม่ต้องทำอะไรเลย สายธารนี้จะพาเราออกทะเลอันกว้างใหญ่ไพศาลในที่สุดแน่นอน

….ติ๊ง ติ๊ง ติ๊ง

 

ตอนที่ 4 เข้มงวดกับตัวเองในด้าน “วินัย”

ถ้าเราอยู่ในวินัยได้เนี่ย มันเป็นกำลังอัตโนมัติเลย เป็นสติ เป็นสมาธิ เป็นอัตโนมัติเลย…เพราะเราจะระวัง อันนี้ไม่ถูก อันนี้ไม่ได้…อย่างนี้ มันจะคอยระวัง

เพราะฉะนั้น ถ้าเราลองเข้มงวดกับตัวเองในด้านวินัยนะ เราจะรู้เลยว่ามันช่วยมาก หลวงพ่อก็คงอยากให้ทำแบบนั้น

เหมือนกับที่หลวงพ่อไม่ให้ออกจากสถานที่พักก่อนพระอาทิตย์ขึ้นในช่วงเข้าพรรษานี้ทำไม? ถ้าเราเคยชินจะออกข้างนอก มันจะ…เอ้ย! มีสติไม่ทำตามกิเลส ไม่ทำตามใจความเคยชิน เดี๋ยวมันอึ๊บกลับมา…อึ๊บกลับมานี่เป็นสติแล้ว…มันเป็นโครงสร้างแบบนั้น

เพราะฉะนั้น “ให้มีวินัย” ไม่ทำอะไรตามความพอใจของตัวเองอย่างเดียว   การทำตามความพอใจของตัวเอง มันส่งเสริมความเอาแต่ใจ…ก็ไม่ใช่นิสัยที่ดี การบวชพระ เค้าถึงว่า เป็นการขัดเกลา ดัด ดัดแล้วดัดอีก ดัดแล้วดัดอีก เป็นพระโดนด่าทุกวัน

สมัยผมบวช พระรุ่นพี่บอก โดนด่าทุกวัน ไม่เคยมีวันไหนไม่โดนด่าเลย โดนด่าจนว่าเจ้าอาวาสไม่มีอะไรจะด่า จนท่านก็ถามเจ้าอาวาสว่า “หลวงพ่อวันนี้ไม่มีอะไรด่าผมเหรอ”  หลวงพ่อบอก “ไม่มีแล้ว…ทำถูกหมดแล้ว” นี่เรียกว่าดัดจนถูกหมดเลย ทีนี้พอดัดจนถูกหมดแล้วเป็นยังไง? มันเรียบร้อย ก็เป็นพระจริยวัตรเรียบร้อย งดงาม

ทีนี้ว่าพอพระต้องมีจริยวัตรเรียบร้อย…ทำอะไรก็ต้องระวัง แต่ละอัน แต่ละกิริยา…ก็สร้างสติ สร้างสมาธิ เนี่ยมันเกิดขึ้นในชีวิตที่มีวินัย เกิดขึ้นเองเป็นธรรมชาติ

สังเกตว่า การปฏิบัติธรรมเนี่ย! เวลาที่จิตใจปกติดี ไม่ค่อยฟุ้งซ่าน ต้องรีบปฏิบัติ …พอมันฟุ้งซ่าน ความหิวมา สัญญาอะไรมาซักอย่าง เรื่องอะไรมาซักอย่าง…สู้ไม่ได้ กลับมาก็กลับมายาก เพราะฉะนั้น ตอนที่ปกติดี ไม่มีอะไร…รีบๆ ปฏิบัติ ไม่เอาเวลาไปกินขนม นอน ใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ที่สุด…นาทีทอง

อย่าซับซ้อน… “รู้ที่มันเป็นเฉพาะหน้าๆๆ”  แค่เฉพาะหน้า ไม่ต้องไปล้วงลึกลับลวงพราง…ไม่มี เอาแค่ที่มันเห็นเฉพาะหน้า แค่นี้พอ ไม่ต้องคิดมากกว่านั้น ถ้ามากกว่านั้นจะเป็นกิเลสทั้งหลาย อยากรู้อยากเห็น…ความอยากทั้งนั้น อยากเข้าใจ อยากให้มันมากกว่านี้ อยากจะเห็น ….โอ๊ะ! มันต้องอย่างโน้น เห็นเหตุอย่างนี้ เห็นเป็นผลอย่างนั้น เป็นเหตุปัจจัยอย่างนี้…นี่เขาเรียกว่ามากเกินไป เอาเฉพาะหน้าๆ จบไปๆ แค่นี้

การที่เราพยายามต่อเรื่องราว ให้มันเข้ากับทฤษฎีหรืออะไรที่เราเรียนมา เรากำลังคิดเป็นคน เรากำลังคิดว่าเราต้องเข้าใจ ต้องเข้าใจธรรมะ เข้าใจสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ เข้าใจปฏิจจสมุปบาท เราคิดว่าต้องเข้าใจ เราคิดใหญ่เลย…คิดได้ แต่ต้องไม่ใช่ด้วยความรู้สึกแบบที่ผมพูดแบบนี้  ไม่ใช่ด้วยความที่เราคิดว่าเราต้องเข้าใจ แต่พิจารณาธรรมได้ตามโอกาส ไม่ให้มากเกินไป ไม่ให้มากในแนวคิด (Concept) ที่คิดว่าเราต้องเข้าใจ

พวกเราทุกคนเวลามีกิเลสมันมี 2 อย่าง มุมนึงเราก็เห็นว่าถ้าเราทำตามกิเลสซะเราก็จะได้ความสุข ซึ่งเราก็รู้สึกแบบนั้นด้วย อีกมุมนึงคือว่า เราก็รู้สึกว่า โอ้…การมีกิเลสนี่ เป็นทุกข์ การมีความอยากนี้เป็นทุกข์ แม้ว่าเราจะสนองความอยากนั้นได้ มันก็เป็นทุกข์อยู่ดี เพราะฉะนั้น เราปฏิบัติมากเข้าๆ เราเลยพอใจ พอใจกับการไม่มีความอยาก ไม่มีกิเลส

พอเราเห็นตามเป็นจริงได้ว่าการไม่มีกิเลส การไม่มีความอยากขับดันนี้เป็นความสุขที่แท้จริง เราก็จะเรียกว่า ไม่เลิก…ไม่ลดละการปฏิบัติธรรมเลย เพราะเราเห็นแล้วว่าถ้าจิตใจนี้ยังดิ้นรนแสวงหาอยู่ ต้องทุกข์ แม้ว่าจะสนองตัณหานั้นได้ ก็ทุกข์เหมือนกัน เพราะว่าอะไร? เพราะว่าพอสนองได้แล้ว ความสุขที่เคยได้ มันไม่ได้เท่าเดิม เหมือนกินก๋วยเตี๋ยวชามที่สอง มันค่อยไม่อร่อยเท่าชามแรกทุกที มันเป็นอย่างนั้น  พอมันไม่อร่อยเท่าชามแรก มันก็ทุกข์อีก แสวงหาอีก พรุ่งนี้กินอะไรดี…เนี่ย! อย่างนี้  และถ้าหมดการดิ้นรนแสวงหา ก็ไม่มีทุกข์เลย

ชีวิตมันต้องทุกข์” ทุกข์มันถึงฉลาด ถ้าไม่ทุกข์ก็ไม่มีความฉลาดเลย อันนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ถ้าชีวิตไม่ทุกข์นะ ไม่มีความฉลาดเลย…อันนี้ยืนยัน จะไม่มีความชาญฉลาดในชีวิตที่แท้จริงเลย ถ้าชีวิตมีแต่สบายสุข ทำอะไรตามใจได้ทุกอย่าง มีเงินทำอะไรได้ทุกอย่าง มีเวลาทำอะไรได้ทุกอย่าง มีบุญทำได้ทุกอย่าง นั่นแหละ! จะไม่มีวันมีความชาญฉลาดในชีวิตได้เลย เพราะมันไม่มีทุกข์

ทุกข์” นี้เป็นอาจารย์ชั้นเลิศ เรามีทุกข์ เราก็ค่อยๆ ปรับๆ ไป…เดี๋ยวเราก็จะเรียนรู้ว่า ก็ไม่ใช่อีกละ ก็ยังไม่ดีอีก มันก็ยังไม่ได้ มันก็ยังไม่เป็นอย่างที่คิดว่ามันควรจะเป็น และพอมันยังไม่ใช่อีกก็เป็นทุกข์อีก ความทุกข์ก็จะบีบเราอีก เราจะทำยังไงดี นั่นแหละ! ความทุกข์มันจะบีบเราไปเรื่อยๆ ความทุกข์นี้เองแหละ มันบีบให้เราเข้าทางสายกลาง มันค่อยๆ บีบเรา เราก็อย่างนี้แหละ ค่อยๆ ดิ้นไปตามทุกข์ หาทางจะพ้นทุกข์ ดิ้นไปเรื่อยๆ แล้วเดี๋ยวมันก็จะเจอ

ชีวิตที่มีทุกข์… ชีวิตที่สมบูรณ์เป็นชีวิตที่จะพาเราไปสู่ความพ้นทุกข์ได้  เราทุกคนก็อย่าท้อถอยกับความทุกข์ …“ความทุกข์” เป็นสิ่งเดียวที่พาเราพ้นทุกข์ ถ้าไม่มีความทุกข์ ไม่มีทางเลย มันจะติด มันจะประมาท มันจะนึกว่าดีแล้ว ใช้ได้แล้ว เพราะฉะนั้น ถ้ามีความทุกข์อยู่กับตัว มันก็เหมือนไฟลนก้น มันจะไม่ปล่อยให้เราประมาทเลย เพราะฉะนั้น ถ้าเรามีความทุกข์อยู่นี่…ภูมิใจ ทุกข์แสนทุกข์ แต่มันจะช่วยเรา

 

ตอนที่ 5 แค่ใช้ชีวิต…ทำหน้าที่

กิริยาที่จะ “กลับมารู้สึก”…กลับมารู้สึก กิริยานี้อย่าลืม…เราไม่ลืมกิริยา “กลับมารู้สึกตัว” ใช่มั้ย? เราก็อย่าลืมกิริยา “กลับมารู้สึกใจ” ด้วย พื้นฐาน (Basic)…อย่าลืม อย่าทิ้งๆ

สำคัญคือ กิริยา “กลับมา” แต่ใจจะเป็นยังไง ไม่เป็นไร เรื่องของมัน เป็นยังไงก็ได้ แต่อย่าลืมหน้าที่ หน้าที่ที่จะกลับมา…อธิบายให้ละเอียด…กลับมารู้สึกตัว รู้สึกใจ จริงๆ แล้วก็คือ ทั้งหมดเพื่อให้ความอยู่กับเนื้อกับตัวนั่นแหละ พอมันเกิดความอยู่กับเนื้อกับตัว มันก็เกิดสมาธิที่ตั้งมั่น มันมีสมาธิที่ตั้งมั่น มันก็เจริญปัญญาได้ จิตนี้มันเจริญปัญญาได้ มันก็เป็นไปเอง เราสร้างเหตุแค่นี้ แล้วอะไรๆ มันก็เกิดเอง

การปฏิบัติธรรมมันมีนิดเดียว สิ่งที่เราทำได้มันมีนิดเดียว นอกนั้นวิจิตรพิศดารทั้งหลายมันเป็นผล มันต้องให้มันเกิดเอง…ไม่ใช่ไปทำ

เพราะนั้น เวลาสอนธรรมะ มันเลยมีนิดเดียว เอาจริงๆ มันมีนิดเดียว ที่ต้องพูดเยอะๆ แยะๆ เพราะไปทำผิดกัน เห็นโทษของการชอบไม่ชอบ มีชอบก็คิด มีไม่ชอบก็คิด ไม่ชอบคนนี้ก็คิดถึงเขา ชอบคนนี้ก็คิดถึงเขา มีแต่ทุกข์อย่างเดียวทั้งชอบและไม่ชอบ เลยว่าถ้ายังยินดีพอใจ หรือยินร้ายอยู่ ไม่ยินดีไม่พอใจเป็นทุกข์ทั้งนั้น…มันพาเราไปคิด พาเราไปปรุงแต่ง

รู้จักหน้าที่” แต่ไม่ใช่ทำด้วยกิเลส ด้วยความชอบไม่ชอบ…มันจะตื่นเนื้อตื่นตัว มีพลังที่จะทำตามหน้าที่ได้อย่างสดชื่น แล้วจิตใจก็ไม่อ่อนไหวง่าย กระทบอะไรก็ไม่อ่อนไหวง่าย

เราหาความสุขไม่ได้จากตัวเอง เราเลยต้องหาข้างนอก มันเป็นความสุขของเรา แต่สุดท้ายมันเป็นความทุกข์เพราะอะไร? พอรู้เรื่องชาวบ้านปุ๊บก็เอามาทุกข์ พอเป็นเรื่องยินดีพอใจก็ไม่เป็นไร ไม่พอใจขึ้นมาก็ทุกข์  อย่าไปใส่สัญญาบ้าๆ บอๆ ใส่หัว คุยให้น้อย

ทุกคนต้องผ่านเส้นทาง มีประสบการณ์แบบนี้ มีประสบการณ์แบบนั้น มีเจออย่างนี้ จะเป็นอย่างนั้น  จะลองแบบนี้ จะลองแบบนั้น ก็ต้องผ่าน  ผ่านแล้วมันถึงเติบโต  ลองดูแบบนี้เป็นยังไง แบบนั้นเป็นยังไง ผลเป็นยังไง…อืมม! รู้แล้ว..อ่อ! รู้แล้ว ใช่ไม่ใช่รู้แล้ว มันก็ไปเรื่อยๆ  เส้นทางนี้มีอะไรให้เรียนรู้อีกเยอะ ที่ว่ารู้แล้วก็ยังไม่รู้หรอก ไปอีกก็เข้าใจอีก ไปอีกก็เข้าใจอีกมากขึ้นเรื่อยๆ

ปฏิบัติธรรมมากเข้าๆ…เรารู้จักว่าอะไรเป็นเหตุแห่งทุกข์ เราจะไม่ทำ อะไรเป็นเหตุแห่งความฟุ้งซ่าน…ไม่ทำ อะไรเป็นเหตุให้จิตใจนี้กำลังมันตก…ไม่ทำ ชีวิตเราก็ง่ายขึ้นเอง

เวลาที่เหลือก็เป็นเวลาแห่งการปฏิบัติธรรม แห่งการกลับมา…กลับมารู้สึกกายรู้สึกใจนี้  มันก็เป็นการเพิ่มพูนกำลัง สติ สมาธิ อัตโนมัติ แล้วก็เหลือแต่หน้าที่ที่ต้องทำ หน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบในชีวิต มีหน้าที่อะไรก็ต้องทำไป แค่เราลดละเรื่องฟุ้งซ่านไปนะ เวลาแห่งการปฏิบัติธรรมนี่เหลือเยอะเลย แล้วสมาธิที่เราสะสมมาจากการเดินจงกรม นั่งสมาธิ นั่งพลิกมือมาเนี่ย แล้วถ้าไม่ไปทำเรื่องฟุ้งซ่าน สมาธินี้ก็ยังอยู่  แล้วถ้าไม่เอาเวลาไปทำเรื่องฟุ้งซ่าน มันก็เป็นการเติมเข้าไปอีก เติมเข้าไปอีก เพราะมันเป็นการปฏิบัติตลอดเวลา มันก็มีแต่ผลดี

การแค่ไม่ไปไหน…นี่เป็นการปฏิบัติธรรมแล้ว เพราะเราไม่ส่งจิตออกไปที่จะหาความสุขข้างนอก แค่เราอยู่ในห้อง ไม่ไปไหน ไม่ต้องเดินก็ได้ ไม่ต้องพลิกมือก็ได้ นั่งเฉยๆ แต่นั่งแล้วก็กลับมา นั่งแล้วก็กลับมา…นี่! ก็ปฏิบัติแล้ว

หรือเราจะทำกับข้าว ก็ทำไป เราทำอะไรที่โฟกัสนิดหน่อยนี่นะ….โอ้โห! มันกลับมาเร็วเลย เดี๋ยวก็รู้สึกตัว เดี๋ยวก็กลับมาดูใจ เดี๋ยวก็โฟกัส โอ้! โฟกัสนี่รู้ทันไปคิด จิตไปคิดรู้ทันเร็วขึ้น เพราะมีงานต้องทำ ต้องหั่นอะไรอยู่สมมติ มันไปคิดปุ๊บก็รู้ทันเร็วขึ้นทันทีเลย แต่ลองถ้าเราไม่มีอะไรทำเลยสิ ไปคิดปุ๊บก็ไปคิดกับมันเลย…ใช่มั้ย? เพราะฉะนั้น มีอะไรทำหน่อยนึง การงานนิดๆ หน่อยๆ เป็นเรื่องดี ทำงานที่ใช้แรง ไม่ต้องใช้สมองเยอะ ใช้สมองนิดหน่อย ที่จะโฟกัสนิดหน่อย แล้วการปฏิบัติธรรมนี้จะเป็นธรรมชาติที่มันพอดี อย่าคิดว่าการปฏิบัติธรรมนี้ เดินจงกรม นั่งสมาธิ พลิกมืออย่างเดียว ไม่ได้ต้องทำอะไรเลยนี่ถึงจะเรียกปฏิบัติธรรม…ไม่ใช่! เพราะมันจะไม่เป็นธรรมชาติ ต้องมีอย่างอื่นทำบ้าง แล้วเราจะได้รู้ความแตกต่าง เพราะไม่อย่างนั้นพอเราตั้งใจว่าฉันจะปฏิบัติธรรม…โอ้โห! มันแน่นเลยทีนี้ แล้วมันจะเอาด้วย มันเดินแล้วมันต้องดี พลิกแล้วมันต้องเป็นอย่างนี้เป็นอย่างนั้น…เอ้ย! ความคิดต้องน้อยลง

พอมันต้องเป็นอย่างนี้เป็นอย่างนั้น มันก็ทุกข์แล้ว แต่ถ้า “แค่ใช้ชีวิต…พอ…ตามหน้าที่” ได้ทำหน้าที่แล้ว ได้ทำหน้าที่ด้วยการกลับมาแล้วพอ…แค่นั้น แล้วมันจะเป็นยังไง มันจะเป็นเหมือนเดิมตลอดมั้ย? เป็นไปไม่ได้ มันเป็นอนิจจัง…ทำหน้าที่เหมือนเดิมทุกวันมันจะแย่ตลอดได้มั้ย? เป็นไปไม่ได้ …ดีตลอดได้มั้ย? ไม่ได้ มันเป็นอนิจจัง

แต่สิ่งที่สม่ำเสมอได้ที่สุดก็คือ “หน้าที่…ทำหน้าที่” แต่ผลเป็นเรื่องคุมไม่ได้ แต่มันไปในทิศทาง (Trend) ที่ถูกต้องแน่ แต่ว่าระหว่างทางมันจะเกิดอะไรขึ้น…อันนี้คุมไม่ได้ ก็อย่าท้อแท้ อย่าท้อถอยกับการทำหน้าที่ มีหน้าที่ “ทำหน้าที่” ทำไปเรื่อยๆ

ที่ผมเคยบอกว่าชีวิตผมก็พอใจ “แค่ทำหน้าที่” นี่แหละ ไม่เคยหวังบรรลุธรรมเลย ไม่เคยหวังเลย ไม่คิดด้วยว่าจะต้องบรรลุธรรม คิดแค่ว่าได้ทำหน้าที่นี้ผมพอใจกับใช้ชีวิตแล้ว พอใจแล้ว แค่นี้พอใจแล้ว ใครจะว่าเราไม่บรรลุธรรมก็ได้ เราพอใจแล้วกับชีวิตแบบนี้  เนี่ย! แค่นี้พอ ชีวิตดีกว่านี้จะเอายังไง…ไม่มีดีกว่านี้ ชีวิตนี้ดีที่สุดแล้วที่ได้ทำหน้าที่แบบนี้ อย่าไปหวังไกลๆ แบบนั้น ไม่ใช่ว่าทุกคนจะต้องบรรลุธรรม เราแค่ได้ทำหน้าที่แบบนี้ ก็ดีกว่าคนในโลก 6 พัน 7 พันล้านคนแล้ว ทำไมต้องเอามากกว่านี้ แค่นี้ก็เหลือเฟือ ดีเหลือเฟือแล้ว มันไม่ได้ชีวิตนี้ก็ชีวิตหน้าก็ได้ ไม่เห็นเป็นไรเลย มันมีเชื้อมีไฟไปต่อยู่แล้ว เราสร้างเหตุไว้อยู่แล้ว ไม่มีอะไรเสียหาย ไม่มีอะไรเสียหลาย ไม่ต้องกังวลอะไรทั้งนั้น …จำไว้!! การปฏิบัติมีแค่นี้ มีแค่นี้แหละ ทำให้มันได้ อย่าลืม อย่าเอ้อระเหย มีเวลาอย่าไปฟุ้งซ่าน เราทำแค่นี้แหละ มันจะค่อยๆ ก่อรูปก่อร่างเป็นเนื้อเป็นหนังขึ้นมา ทำแบบนี้วันสองวันก็เห็นผลแล้วใช่มั้ย?

 

Camouflage

YouTube : https://youtu.be/UtcgUdHkgjA

คลิปเสียงธรรมะทั้งหมดของอาจารย์ Camouflage : https://goo.gl/RDZFMI

======================

5 ช่องทางการอ่านและฟังธรรม

1) Facebook : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
http://www.facebook.com/sookguysookjai

2) Line : @camouflage.talk
https://line.me/R/ti/p/%40camouflage.talk

3) YouTube : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
https://goo.gl/in9S5v

4) Website: https://camouflagetalk.com

5) Podcast : Camouflage – Dhamma Talk
https://itun.es/th/t6Mzdb.c
วิธีการติดตั้ง https://goo.gl/tBMY9S