69.วนอยู่ในอ่าง

 

ตอนที่ 1 อย่าทำหน้าที่เกินรู้

จิตใจตื่นเต้นวุ่นวายก็รู้มันไปเฉยๆ ไม่ต้องไปทำอะไร จิตใจหนักๆ แน่นๆ ไม่ใช่ปัญหา….

จิตใจหนักๆ แน่นๆ มีสาเหตุ 2 อย่าง…อย่างแรก มีเราตั้งใจจะปฏิบัติธรรม มันก็หนักก็แน่นขึ้นมา อย่างที่สอง จิตใจมันตั้งใจของมันเอง เคยชิน…เคยชินที่จะทำ

แต่ไม่ว่าสาเหตุแบบไหน หน้าที่ของเราก็มี “แค่รู้” ถ้าเราแค่รู้ได้ว่าตอนนี้เป็นแบบนี้…เราได้ปฏิบัติธรรมแล้ว

แต่ถ้าเราทำหน้าที่เกินรู้ เมื่อไหร่ที่เราทำหน้าที่เกินจากรู้ นั่นคือจุดเริ่มต้นของความผิดพลาด…เพราะเมื่อไหร่เราทำหน้าที่เกินจากรู้ นั่นคือหน้าที่ของอัตตา อัตตาจะแทนที่ (Override) การรู้อย่างที่มันเป็นทันทีโดยที่เราไม่รู้ตัวเลย เราก็นึกว่าเรากำลังหาทางปฏิบัติธรรมอยู่ เรากำลังพยายามทำให้ถูกอยู่

ครูบาอาจารย์พูด…ความพยายามอยู่ที่ไหน ความหายนะอยู่ที่นั่น…ถ้าเราปฏิบัติเป็น เราจะรู้เลยว่าหายนะจริงๆ

เปรียบเทียบที่ผมเคยพูดตั้งแต่ในคลิปแรกๆ คนที่ปฏิบัติโดยเอาตัวตนไปปฏิบัติ เอาเราไปปฏิบัติ มันก็เหมือนคนอยู่ในน้ำ มันยังไม่ขึ้นมาบนฝั่ง มันก็เห็นอะไรลอยไปลอยมาผ่านไปผ่านมา เหมือนคนอยู่บนฝั่ง เหมือนกันทุกอย่างเลย แต่สิ่งที่ไม่เหมือนคือ ตัวมันเลอะไปด้วย ตัวมันเลอะกับสิ่งสกปรก เลอะกับทุกสิ่งทุกอย่างที่ลอยผ่านมาในน้ำด้วย

เวลาเราพูดถึงผลการปฏิบัติ…เราก็พูดว่าเราเห็นเหมือนกัน แต่เราไม่ได้พูดว่าเราอยู่ที่เดียวกันรึเปล่า

หลวงพ่อคำเขียนเคยเทศน์ ท่านบอกว่าเปรียบเสมือนนายพรานที่มีกระเช้า มีตั่งอยู่บนต้นไม้ เฝ้ารอดู ถ้ามีสัตว์ผ่านมาก็ยิงได้ ตัวเองก็ปลอดภัย เพราะไม่ได้อยู่บนพื้นข้างล่างเดียวกับสัตว์

นัยยะอันนี้สำคัญมาก มันหมายความว่า เราไม่ได้วิ่งเข้ามาในป่าหาสัตว์  “เราอยู่กับที่” เราไม่ได้วิ่งไปหาอะไรดู เราไม่ได้วิ่งหาสภาวะธรรม เราไม่ได้วิ่งหาดูอะไรที่ละเอียดลึกซึ้งประณีต…เหล่านั้นเป็นการส่งจิตออกนอก การส่งจิตออกนอกไม่ใช่แค่ส่งไปข้างนอก ส่งไปข้างในนี่เขาเรียกว่าส่งจิตออกนอกเหมือนกัน

เพราะฉะนั้น จะเห็นว่าการปฏิบัติธรรม ถ้าเราทำหน้าที่เกินจากรู้ ผิดหมดทุกอย่าง ผิดได้สารพัดนานัปการ ความผิดพลาดในการปฏิบัติธรรม สรุปทั้งหมดทั้งสิ้น คือ “ทำหน้าที่เกินจากรู้” หาอะไรทำ มีอะไรทำตลอดเวลา ผิดพลาดได้ตั้งแต่พื้นฐาน ผิดพลาดไปจนถึงนิพพานยังได้ ที่ครูบาอาจารย์สมัยก่อนท่านเรียกนิพพานพรหม…ทำไมท่านเรียกนิพพานพรม? เพราะมันเหมือนนิพพานมาก ความต่างอยู่ที่ไหน…มันทำขึ้นมา นิพพานพรมคืออะไร? คือสิ่งที่ดาบสทั้งสองที่พระพุทธเจ้าไปเรียนด้วยนั่นแหละ…อรูปฌาน

เพราะฉะนั้น นักปฏิบัติเราหลักต้องแม่น สร้างเหตุให้มันถูก การเดินทางของเรามันจะได้ไปได้ถูกทาง แน่วแน่ มั่นคง แล้วสิ่งสำคัญที่สุดที่วัดการปฏิบัติของเราทุกคนก็คือ “กิเลส”  พระพุทธเจ้าก็แบ่งไว้แล้ว โสดาบัน สกทาคามี อนาคามี พระอรหันต์ ชั้นภูมิไหนตัดกิเลสได้เท่าไหร่ ท่านพูดไว้หมดแล้ว อย่าไปนึกเอาเองว่ายังมีเหมือนเดิมก็ได้

 

ตอนที่ 2 ใช้ชีวิตตามหน้าที่

สังเกตจิตใจพวกเราตอนนี้ ฟังธรรมแล้ว จิตใจพวกเราสงบลงเยอะ เรามานั่งสมาธิร่วมกัน อย่าคาดหวังอะไร นั่งเพื่อจะเรียนรู้ปัจจุบัน เรียนรู้สภาพจริงๆ ตอนนี้ เรานั่งนิ่งๆ แบบนี้ สังเกตให้ดี ร่างกายบางทีมันก็ขยับของมันเอง เราคุมอะไรไม่ได้เลย

ผมสอนพวกเรามาตลอดเรื่องของการปฏิบัติธรรมแท้จริงแล้วคือ “การใช้ชีวิต” หลายคนอาจจะไม่ลึกซึ้งกับคำที่ผมบอกว่า “ใช้ชีวิต” มันสำคัญขนาดไหน

การใช้ชีวิตบนหน้าที่ที่ผมบอก…หน้าที่แห่งอริยมรรค หน้าที่ 3 ข้อที่ผมให้ไว้ มันจะไม่พาเราไปทางสุดโต่ง ตั้งใจปฏิบัติมากเกินไป หรือไม่ไปทางหลงมากเกินไป

ทำไมเราต้องรู้จักการใช้ชีวิตให้ได้? ทำไมการใช้ชีวิตถึงสำคัญ? เพราะเวลาคนๆ นึงจะบรรลุธรรมขึ้นมา ในขณะจิตนั้น ครูบาอาจารย์ท่านว่า มักจะเป็นขณะจิตที่เลิกปฏิบัติ คำศัพท์เรียกทีเผลอ ไม่ได้ตั้งใจ

ตัวอย่างง่ายๆ…พระอานนท์ พวกเราอ่านมาเยอะ ฟังมาเยอะ ท่านเลิกปฏิบัติ ล้มตัวลงนอน ยังไม่ทันถึงที่นอน ไม่ใช่ท่านั่งท่านก็บรรลุธรรมขึ้นมา…หลวงตามหาบัวเคยฟังครูบาอาจารย์เล่าบอกว่าท่านบิณฑบาตกลับมา ตอนขึ้นอาสนะ เอาบาตรวางปึ๊บก็…จิตเปลี่ยน…หลวงพ่อพุทธ ก็เกิดขึ้นขณะกำลังเทศน์อยู่อย่างนี้ จิตก็เปลี่ยนตรงนั้นเลย แวบเดียว

เพราะฉะนั้น เราต้องเข้าใจว่าการใช้ชีวิตที่ผมบอกมันสำคัญแค่ไหน เราต้องรู้จักทางสายกลาง…“การใช้ชีวิตตามหน้าที่” อย่ารีบร้อน อย่าเดือดร้อน อย่าเร่งร้อน ถ้าเราปฏิบัติเป็น มันปฏิบัติได้ทุกที่  “มันแค่รู้”…รู้จักอะไร? รู้จักกายกับจิตนี้มันเป็นยังไง

อย่างเรามานั่งสมาธิกัน บางคนก็เคลิ้ม…ทำไม? ต้องรู้อันนี้ บางทีร่างกายมันเหนื่อย ทำงานมาก จิตมันจะไปพัก เราต้องรู้แล้วว่าถ้าเรายังทิ้งการปฏิบัติในรูปแบบ จิตใจเราจะยิ่งอ่อนกำลังลงมากมายกว่านี้อีก เนี่ย! รู้จักเรียนรู้ เรียนรู้เสร็จปึ๊บ…มันมีบทเรียน มีบทเรียนแล้วเราจะไม่ประมาท ไม่เอ้อระเหย ไม่ขี้เกียจ

การปฏิบัติธรรมคือ การเรียนรู้ของจริงตรงหน้าเรา เรียนรู้เข้าไป พูดมาก พูดอกุศล ฟุ้งซ่านในบาปในอกุศล เพลิดเพลิน ในเรื่องไร้สาระทั้งหลาย ถ้าปฏิบัติเป็นจะดูจิตออกว่ามันฟุ้งซ่านหลังจากนั้น…ต้องมีบทเรียน เรียนรู้ว่าการทำแบบนั้นจะทำให้จิตฟุ้งซ่านขนาดนี้ วันหลังอย่าทำ … เนี่ย! ปฏิบัติเป็นมันต้องสอนตัวเองได้ บาปอะไร ความชั่วอะไรที่ยังไม่ละก็ละซะ เลิกทำซะ จิตใจมันจึงจะเจริญขึ้นมาได้ คุณธรรมมันถึงจะเบ่งบานออกมาได้

คนไหนนั่งแล้วเคลิ้ม ยืดตัวขึ้นตรงๆ สังเกตทันทีเราจะเห็นว่าจิตใจมันตื่นขึ้น

นิพพานเป็นสภาวะ เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้ว เราเพียงแค่ตื่นขึ้นมา จนจิตนี้มีคุณภาพเพียงพอที่จะสัมผัสพระนิพพานได้ จิตนี้บริสุทธิ์เพียงพอที่จะสัมผัสพระนิพพานได้

จิตจะบริสุทธิ์เพียงพอได้ยังไง…คือ “เราอย่าไปยุ่งกับมัน” อย่าให้อาหารกิเลส อย่าไปต่อเติมเสริมความปรุงแต่งให้กับมัน อย่าต่อสังสารวัฏให้กับมัน ทุกครั้งที่เรารู้ ตื่นรู้ รู้อย่างที่มันเป็น จิตใจมันจะเริ่มขัดเกลาตัวเอง มันไม่ไปทางเก่า มันไม่ไปทางของอัตตา มันไม่ไปทางของความอยาก มันไม่ไปทางของกิเลส มันจะสร้างทางใหม่ เป็นทางแห่งการขัดเกลา ทางแห่งความบริสุทธิ์ ทางของอกรรม ทางแห่งการตัดสังสารวัฏ ผลอันยิ่งใหญ่มหาศาลกับชีวิตของเราทุกคน จากกิริยาเดียวคือ “รู้อย่างที่มันเป็น”

 

ตอนที่ 3 วนอยู่ในอ่าง

ผมเห็นนักปฏิบัติจำนวนมาก ปฏิบัติไปก็เดือดร้อนแล้ว อยากก้าวหน้า อยากเร็วกว่านี้ มันน่าจะมีเทคนิคอื่นหรือวิธีปฏิบัติอื่นที่ช่วยให้เราไปได้เร็วกว่านี้…นั่นแหละ! ทางอ้อมเลย อ้อมยาวเลย มันไม่เห็นอัตตาตัวเอง ไม่เห็นว่ากำลังโดนกิเลสครอบงำแล้ว พ่ายแพ้ต่อกิเลสที่หลอกตัวเอง

ผมพูดมาตลอดว่าการปฏิบัติธรรมตั้งแต่คลิปแรกๆ ว่า ไม่มีขั้นไม่มีตอน ถึงแล้วก็ถึงเลย…“แค่รู้”…รู้ปุ๊บก็จบแล้ว จบแค่นั้นเลย

ขั้นตอนทั้งหลายมันเป็นผล ซึ่งมันเกิดเอง แต่พวกเราจำนวนมากจะไปช่วยทำผลให้มันเกิด จะเห็นว่าทำหน้าที่เกินรู้ มันผิดเอาง่ายๆ ไปช่วยมันก็ดูเหมือนดีด้วยว่าเรากำลังปฏิบัติธรรม…แต่หารู้ไม่ว่าผิด หลงทาง ปฏิบัติวนอยู่ในอ่างนั่นแหละ วนไปเรื่อยๆ หาเรื่องทำไปทุกวัน วันนี้ทำอย่างนี้ พรุ่งนี้จะทำอย่างนั้น

พอพวกเรา “แค่รู้”…การปฏิบัติธรรมก็ง่ายเลย ทุกคนก็รู้ ก็เห็นสภาพภายในของตัวเองได้ เป็นยังไง..มันก็รู้ว่าเป็นอย่างนั้น มันไปคิดก็รู้ว่ามันไปคิด จะคิดเยอะคิดน้อยก็ไม่มีผลอะไร เพราะเราก็รู้…รู้ได้ มันน้อยก็รู้ได้ มันเยอะก็รู้ได้

เราปฏิบัติธรรมเราไม่ต้องเดือดร้อนนะว่าเราจะเห็นไตรลักษณ์ ต้องเห็นบ่อยมั้ย บ่อยแค่ไหน วันนี้ไม่เห็นเลย ไม่ต้องกังวลอะไรแบบนั้น จิตเขาเรียนรู้ เขาเห็น เขาสรุปด้วยตัวเขาเอง เรามีหน้าที่ “รู้อาการ รู้สภาพตามเป็นจริงในปัจจุบันขณะนั้นๆ “ อันนี้พอแล้ว

เจริญปัญญามันไม่ได้เจริญบ่อยๆ คล้ายๆ เราอ่านหนังสือซักบทหนึ่ง กว่าจะเข้าใจบทนี้ก็คือต้องจบบท ระหว่างที่กำลังอ่านไป 10 หน้า 20 หน้า 30 หน้า ก็ใช้เวลา กว่ามันจะอ๋อ… “อ้อ! เป็นแบบนี้” เนี่ย! เจริญวิปัสสนาลักษณะอย่างนั้น…ใช้เวลา ไม่ใช้เกิดกันทุกนาที ทุกชั่วโมง

ให้มันเป็นเอง” ให้มันเห็นเอง ให้มันสรุปเอง  ทำหน้าที่ไป…ทำหน้าที่อะไร? ฟังธรรม…ฟังธรรมก็ต้องฟังที่มันถูกด้วยนะไม่ใช่ฟังที่ผิดๆ ฟังที่ผิดๆ ก็เหมือนเราไปดูละคร อิจฉาริษยากันทั้งวัน ก็อยู่ในใจเราพาเราฟุ้งซ่าน ฟังธรรมผิดๆ ก็พาเราหลงทาง

พิจารณาธรรม…จินตามยปัญญา พิจารณาบ้าง เขาเรียกว่าสอนตัวเอง

ภาวนามยปัญญา..ปฏิบัติในรูปแบบ เจริญสติในชีวิตประจำวัน เหล่านี้ให้มันสมดุล

เพราะฉะนั้น การปฏิบัติที่ถูกต้องสรุปอีกครั้งหนึ่งก็คือว่า “ไม่มีการทำอะไรทั้งนั้น…มีแค่รู้” ไม่มีการเอาอะไร ไม่เอาอะไร นั่นเป็นตัณหา นั่นเป็นความยินดียินร้ายที่ซ่อนอยู่เบื้องลึกของจิตใจ

 

ตอนที่ 4 ให้เวลากับตัวเอง

มีเวทนาทางร่างกาย เจ็บขา เมื่อยขา สังเกตรู้ว่าเป็นอาการเฉยๆ  ตอนนี้อยากให้ทุกคนสังเกตร่างกาย สังเกตว่าจิตนี้มันจะไปรู้สึกตามร่างกายไปเรื่อยๆ ของมัน ไม่อยู่นิ่ง เพราะบางคนดูไปแล้วก็จะรู้สึกว่ามันไม่ค่อยวิ่งไปไหน มันเป็นความอยู่กับเนื้อกับตัวแทน อันนี้ใช้ได้

จะสังเกตว่าไม่ใช่การเพ่งนะ เป็นการตามรู้ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในกายนี้เฉยๆ เดี๋ยวมันก็มีแวบไปคิดบ้าง ก็จะรู้ทัน ลืมกายไป คนไหนเคลิ้มก็ยืดตัวขึ้น หายใจเข้าลึกๆ ให้ตื่นขึ้นมา ต้องฝึกตัวเองในเรื่องนี้สำหรับคนที่ชอบเคลิ้ม…“เคลิ้ม” นี้เป็นความสุขอย่างหนึ่ง อย่าให้จิตไหลไปทางเคลิ้มบ่อยๆ ในแบบที่เรายินดีพอใจ อาการคนกำลังจะหลับจะเคลิ้มนี่มันเป็นความสุข ถ้าเรารู้ว่าไม่ใช่ว่าจิตต้องการพัก ฝืนขึ้นมาหน่อยไม่ให้มันสร้างนิสัยเดิมๆ ใครลืมร่างกายไปแล้ว…อย่าลืม! กลับมาอยู่กับร่างกาย

เราค่อยๆ ฝึกไป ใช้เวลาและความอดทน  ฝึกง่ายๆ ฝึกเหมือนเดิมทุกวันนี่แหละ ฝึกไปจนวันนึง จิตใจนี้ไม่มีเชื้อของกิเลส เจอเสียงน่ารำคาญในความคิดของเราสมัยก่อน มันก็ไม่เป็นเหมือนเดิม มันไม่มีเชื้อที่จะปรุงไปให้เป็นโทสะได้ ถ้ามีโทสะต้องเป็นทุกข์ ไม่ต้องอาศัยความคิดดี (Positive thinking) ช่วย ไม่ต้องอาศัยอะไรทั้งนั้น…เป็นอิสระ มันไม่ปรุงของมันเอง

เราทุกคนปฏิบัติกันมา เราก็ได้สัมผัสกันบ้างแล้วแหละ จิตใจที่ปกติ มันก็ไม่พาเราไปปรุงอะไร เราก็สัมผัสกันได้บ้าง แต่แค่มันไม่ถาวรเฉยๆ แค่นั้นเอง เพราะฉะนั้นเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องมีอยู่จริง เราแค่ต้องไปให้ถึงแค่นั้นเอง ภาษาบาลีเรียกว่า “สมุจเฉทประหาร” ประหารกิเกส ไม่กลับคืน

เพราะฉะนั้น หลวงพ่อจะพูดกับพวกเราเสมอๆ ว่าทุกคนอยู่ในกระบวนการ in process ใครไปถามหลวงพ่อก็ in process

ถ้าเราอยู่ในลู่ในทางหลักปฏิบัติที่หลวงพ่อสอน ที่ผมสอน ทุกคนกำลังอยู่กระบวนการแล้ว ไม่ต้องเดือดร้อน พอเดือดร้อนปุ๊บ…มันตกทางทันทีเลย ช้าทันที

เพราะฉะนั้น ให้เวลาตัวเอง ให้เวลาจิตใจนี้ มันสั่งสมความเห็นผิดมาตั้งเท่าไหร่  ตอนสั่งสมความเห็นผิดไม่เห็นเดือดร้อน พอเริ่มปฏิบัติธรรมจะเอาให้เร็วเลย  ตอนสั่งสมความเห็นผิดเอ้อระเหยมาไม่รู้กี่ร้อย กี่พัน กี่หมื่น กี่ล้านชาติ ไม่เดือดร้อน  เพราะฉะนั้น ให้เวลากับตัวเอง ให้เวลากับจิตใจดวงนี้ที่มันจะค่อยๆ ขัดเกลาตัวเอง ขัดเกลาไม่หมดในชีวิตนี้ก็ไปขัดเกลาต่อชีวิตหน้า ทำให้มันเป็นนิสัยเอาไว้ ให้มันเป็นอุปนิสัยติดเข้าไปในจิตใจนี้เอาไว้

อย่างที่ผมบอก ถ้าเราได้ทำดีที่สุดแล้วเท่าที่เราทำได้ อันนี้เป็นความสำเร็จสูงสุดในชีวิตเราแล้ว

เรานั่งมาเวทนามันเริ่มมาแล้ว ใช้มันให้เป็นประโยชน์ เห็นมันเฉยๆ มันขึ้นๆ ลงๆ หรือว่าจะตุบๆๆๆ อะไรก็ว่าไป ก็เห็นมันเป็นอย่างนั้น ไม่เที่ยง ถ้าเราอยู่กับร่างกายนี้ เวลาจะไม่มีผลกับเรา

ลองอยู่กับร่างกายนี้อีก 5 นาที อยู่กับร่างกายนี้ไม่ใช่เพ่ง เสียงนกเกิดขึ้น จิตไปเกิดที่หู…ก็รู้  มีความคิดก็รู้ทัน

 

Camouflage

YouTube : https://youtu.be/4gmrvgujQXg

คลิปเสียงธรรมะทั้งหมดของอาจารย์ Camouflage : https://goo.gl/RDZFMI

======================

5 ช่องทางการอ่านและฟังธรรม

1) Facebook : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
http://www.facebook.com/sookguysookjai

2) Line : @camouflage.talk
https://line.me/R/ti/p/%40camouflage.talk

3) YouTube : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
https://goo.gl/in9S5v

4) Website: https://camouflagetalk.com

5) Podcast : Camouflage – Dhamma Talk
https://itun.es/th/t6Mzdb.c
วิธีการติดตั้ง https://goo.gl/tBMY9S