68.ได้อะไร

ตอนที่ 1 เป็นอะไรก็ได้

อย่าลืมว่าเป็นอะไรก็ได้…กายนี้จะเป็นอะไรก็ได้ จิตนี้จะเป็นยังไงก็ได้ “เรื่องของมัน” เราเป็นแค่ผู้สังเกตการณ์ มันแน่น มันอึดอัด ก็เรื่องของมัน

ปฏิบัติธรรมอย่าคาดหวัง…ไม่ต้องคาดหวังว่ามันจะเป็นอย่างนี้เป็นอย่างนั้น มันเป็นยังไง…ก็รู้มันเป็นอย่างนั้น

เห็นกายกับจิตนี้เหมือนเป็นคนอื่น…นักปฏิบัติเราไม่ชอบยุ่งเรื่องคนอื่น ทำแบบเดียวกัน ไม่ต้องยุ่งกับมัน

มันแน่น ใช่ว่าไม่ดีมั้ย? ไม่ใช่ มันมีเหตุปัจจัย มันก็แน่น ก็แค่นั้นเอง  มันคลายแปลว่าดีมั้ย? ก็ไม่ใช่อีก มันมีเหตุปัจจัยมันก็คลาย

เห็นมันแสดง…มันแสดงบทนี้ บทนั้นให้เราเห็น ก็เห็นมันไปเฉยๆ หน้าที่ของเราคือ “ต้องเป็นกลางกับมันเฉยๆ

สังเกตจิตใจ…แน่นๆ นี้บางทีมันคลายออก คลายไม่เท่าไหร่ เดี๋ยวแน่นใหม่อีกแล้ว สังเกตไปแบบนี้…นี่! อนิจจัง ไม่เที่ยง สังเกตไป…ทุกขัง ทนอยู่สภาพเดิมไม่ได้ สังเกตไปว่าคุมอะไรไม่ได้ เป็นเอง ไม่มีดีไม่ดี ไม่มีทั้งสองอย่าง มันเป็นอย่างนั้น ไม่มีว่าแบบไหนดีกว่าแบบไหน

เราจะแน่นทั้งวันก็ได้ แต่ถ้าเราเป็นกลางกับมัน…นั่นเราได้ปฏิบัติธรรมแล้ว แต่ถ้าเราจะคลายทั้งวัน แล้วเราก็ทำให้มันคลายทั้งวัน คลายได้ แต่ไม่ได้ปฏิบัติธรรม เพราะมัวแต่ทำ เพราะเดือดร้อน เดือดร้อนกับสภาวะที่เป็นอยู่ ใครเดือนร้อน? อัตตาเดือดร้อน แล้วก็ทำตามอัตตา…ถ้าอย่างนี้ไม่ได้เรียกปฏิบัติธรรม

การปฏิบัติธรรมคือ การเรียนรู้…เป็นนักเรียน ไม่ใช่เป็นนักทำ เรียนรู้อย่างที่เขาเป็น ไม่ใช่เป็นนักเรียน ไม่ใช่เป็นนักทำ ไม่ใช่พาจิตไปโน่นไปนี่ พาจิตเข้าไปว่าง สว่าง สงบ อะไรก็ว่าไป…นี่ทำทั้งนั้นเลย  ไม่มีหน้าที่พาจิตไปไหน มีหน้าที่… “รู้อย่างที่มันเป็น

กายไม่สบายนี้…เห็น เห็นเฉยๆ เห็นมั้ยอาการไม่สบาย มันก็ไม่เที่ยง เดี๋ยวหนักเดี๋ยวเบา เปลี่ยนตลอด ใช้ความไม่สบายนี้เป็นโอกาสในการที่เราจะอยู่กับเนื้อกับตัว ได้เรียนรู้ในมุมของอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

เรานั่งไป มีสภาวะอะไรก็สังเกต…ลมหายใจ เห็นมั้ยว่าเดี๋ยวมันก็ถี่ เดี๋ยวมันก็ช้า เดี๋ยวมันก็หายใจลึก เนี่ย! สังเกต กายมันทำงานเอง มันไม่ใช่เรา มันทำของมันเอง

คิดแว่บไป… “รู้ทัน”  ทำไมต้องรู้ทัน? เพื่อจะได้ลดละ นิสัยแห่งความฟุ้งซ่าน การปรุงแต่งต่อจากความคิดที่เริ่มขึ้น ลดความเคยชินกับนิสัยเก่าๆ คือ ความฟุ้งซ่าน การต่อความคิดปรุงแต่งไปเรื่อย สร้างนิสัยใหม่ให้กับจิตที่จะรู้ทัน ที่จะอยู่กับเนื้อกับตัว ที่จะไม่ตามความคิดไป

มันอยู่กับเนื้อกับตัวแล้วนี่ก็รู้…ตอนนี้เป็นแบบนี้ มีความพอใจขึ้นมาต้องรู้ทัน มีความยินดีพอใจ ถ้ามันรู้ไม่ทัน มันจะอยากให้เป็นแบบนั้นตลอด ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ เดี๋ยวมันก็เปลี่ยนอีก

จิตวูบวับไปทางหูนี้…รู้ทัน จิตจะทำอะไรก็ได้ หน้าที่เราคือ “รู้ทัน” รู้ได้แค่ไหนแค่นั้นไม่ต้องรู้ทุกอย่างทั้งหมด รู้เท่าที่รู้ได้ อันไหนที่ไม่รู้ ก็ผ่านไปแล้ว เป็นอดีตแล้ว ไม่ต้องไปยุ่งกับมันแล้ว

 

ตอนที่ 2 การปฏิบัติธรรมเป็นแค่ “การเรียนรู้” เฉยๆ

เวลาผมบอกว่าการปฏิบัติธรรมนี่มันคือ “การเรียนรู้”  คำๆ นี้อย่าฟังเผินๆ ฟังแล้วก็ลืมไป ไม่ใส่ใจ คำว่า “การปฏิบัติธรรมเป็นแค่การเรียนรู้” คำนี้สำคัญมาก “เรียนรู้” ถ้าคำนี้อยู่ในหัวใจเราอย่างลึกซึ้ง เราจะไม่ทำอะไรเลย เหมือนที่บอกเรานั่งอย่างนี้ เราสังเกต มันหายใจเอง มันเปลี่ยนจังหวะการหายใจเอง เนี่ย! เขาเรียกว่าการเรียนรู้… เรียนรู้ลงไปในมุมของไตรลักษณ์ มุมไหนก็ได้ ขอให้เป็นนักเรียนจริงๆ ก็พอ การปฏิบัติธรรมถึงจะก้าวหน้า

นักปฏิบัติบางคนฟังว่าดูสภาวะๆ ไปหาสภาวะดู สภาวะดีๆ “สภาวะโอ้! ละเอียด…ลึกซึ้ง” ตื่นเต้นกับสภาวะที่เห็น นึกว่าปฏิบัติธรรมอยู่…ไม่ได้ปฏิบัติเลย เป็นแค่การผจญภัย (Adventure) เฉยๆ

การปฏิบัติธรรมคือ “การเรียนรู้ แล้วเห็นสภาวะต่างๆ มันตกอยู่ภายใต้กฎไตรลักษณ์” …เพราะฉะนั้นมันไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น มันเรื่องเดิมๆ ของเก่า ของเดิม เห็นทุกวัน เห็นทั้งวัน มันจะมีอะไรน่าตื่นเต้น…ไม่มี! เจอสภาวะดีเลิศประเสริฐศรีแค่ไหน มันก็ตกอยู่ภายใต้กฎไตรลักษณ์ ถ้ามาไม่ถึงไตรลักษณ์ มันก็ติดสภาวะอยู่นั่นแหละ ติด Adventure ติดผจญภัย ติดตื่นเต้น ชอบของแปลกใหม่…แค่นั้น  เหมือนได้ไปดูนรกสวรรค์ ตื่นเต้น เห็นอะไรที่ไม่เคยเห็น ตื่นเต้น หลงอยู่ในสภาวะเหล่านั้น เพราะฉะนั้นปฏิบัติธรรมเข้าใจให้ถูกมุม ดูให้ถูกมุม เรียนให้ถูกมุม ถึงจะเจริญได้

อุทกดาบส อาฬารดาบส สภาวะดีมาก เข้าอรูปฌาน 7 อรูปฌาน 8 ภาษาครูบาอาจารย์เขาเรียกว่ามันเหมือนนิพพานเลย แต่ก็ติดอยู่อย่างนั้นแหละ เพราะไม่เข้าใจไตรลักษณ์ เขาเรียกว่า “นิพพานพรหม” คือ ตายไปเป็นพรหม แต่สามารถอธิบายสภาวะนั้นได้เหมือนนิพพานมั้ย? ก็เหมือนไม่อย่างนั้นเขาไม่เรียกนิพพานพรหมหรอก…มันยังไม่ใช่! เพราะที่ผมเคยบอกว่าญาณข้ามโคตร…โคตรภูญาณ มันต้องผ่านประตูไม่อนิจจัง ไม่ทุกขัง ไม่งั้นก็ต้องเป็นอนัตตา ผ่าน 3 ทางนี้ทางใดทางหนึ่ง มันถึงจะข้ามโคตรได้

นั่นเป็นสาเหตุว่าทำไมเราต้อง “ตื่น” ขึ้นมา…เมื่อตื่นขึ้นมาแล้ว เราถึงจะเห็นกายกับจิตนี้มันทำงาน การเห็นกายกับจิตนี้มันทำงาน เห็นมันเป็นไตรลักษณ์ นั่นคือการเจริญวิปัสสนา ซึ่งจิตนี้เขาจะเรียนรู้เองเมื่อเราตื่นขึ้นมาแล้ว

แต่ขอให้เราเข้าใจคำว่า “การเป็นนักเรียน” คำว่า “มีหน้าที่เรียนรู้เฉยๆ”…เข้าใจคำนี้ให้ชัดเจน ยึดหลักปฏิบัติให้มั่นคง แล้วเราจะเข้มแข็ง เราจะพึ่งตนเองได้ พอเราเข้มแข็ง นั่น! เป็นบารมี สะสมบารมีเข้าไปทุกวันๆ พึ่งตัวเอง อดทน…อดทนเรียนรู้ เรียนรู้อะไร? “เรียนรู้ตัวเอง” นี่แหละ เรียนรู้กายกับจิตนี้อย่างที่มันเป็น อดทนให้ได้ มันทุกข์ก็อดทนอยู่กับมัน เดี๋ยวมันก็จะเปลี่ยนให้ดู มันไม่เปลี่ยนก็ช่างมัน อดทนไป พิสูจน์คำสอนของพระพุทธเจ้าไป ดูซิว่ามันไม่เปลี่ยนจริงมั้ย? เหมือนเดิมเปี๊ยบเลยมั้ย?…ไม่เป็นแบบนั้นหรอก ทุกข์มันก็มีขึ้นมีลง มีมากมีน้อย มีหนักมีเบา มันเปลี่ยนตลอดเวลา อยู่ที่เราเห็นรึเปล่าแค่นั้นแหละ

ความอดทนที่จะรู้ ที่จะดูอยู่เฉยๆ นี่แหละเรียก “บารมี” อย่าไปแก้อะไร อย่าอยากให้มันหายเร็วกว่านี้ อย่าอยากให้มันเปลี่ยนเร็วกว่านี้นั่นคือ เส้นของอัตตาทั้งนั้นเลย เราช้าเพราะแบบนี้แหละ ช้าเพราะไม่อดทน อดทนไม่พอ

อดทนไว้…บารมีมันจะก่อตัวขึ้น ที่ผมพูดบ่อยๆ ปฏิบัติถูกแล้วไม่พอ เราต้องอาศัยบารมีด้วย มันถึงจะถีบเราข้ามฝั่งได้ ปฏิบัติถูกไม่พอ อดทนไม่พอ ต้องรู้จักขัดเกลากิเลส สันดาน นิสัยที่ไม่ดีของตัวเองด้วย เพราะไม่อย่างนั้นมันหนัก พอกแต่ความเห็นแก่ตัว พอกแต่ความโลภ พอกแต่ความอยาก ความมืดดำในจิตใจ มันหนักเกินไป ไปไหนไม่ได้หรอก ปฏิบัติถูกก็เหอะ…มันหนักเกินไป

เพราะฉะนั้น การปฏิบัติธรรมมันถึงว่า ยิ่งปฏิบัติ ยิ่งเห็นตัวเองไม่ดี ยิ่งเห็นกิเลสเยอะแยะไปหมด…ทำไมเป็นแบบนั้น? เพราะเมื่อเห็นแล้ว รู้แล้วก็จะรู้ว่าต้องขัดเกลา ต้องไม่ทำตามกิเลส ต้องไม่ตกเป็นทาสของมัน ไม่โดนมันหลอก นั่นเรียกการขัดเกลา สำนึกผิดในความผิดของตัวเองได้ที่หลงทำตามกิเลสไป เขาเรียกว่าการขัดเกลา ถ้าเราสำนึกผิดอะไรไม่ได้กับความทุเรศทุรังน่าเกลียดของกิเลสเลย เราไม่มีวันได้ขัดเกลาเลยเพราะเราจะทำอีก คิดว่ามันถูกแล้ว เรานึกว่ามันดีแล้ว…นั่นแหละ! มิจฉาทิฐิทั้งนั้น จิตใจเรามีแต่หนักขึ้นๆ ปฏิบัติมีแต่หนักขึ้นๆ อัตตามากขึ้นๆ ความอยากมากขึ้นๆ แล้วจะไปยังไง ไปไม่ได้ การปฏิบัติธรรมมันต้องสละออก…ไม่ใช่เพิ่ม

 

ตอนที่ 3 อย่าเดือดร้อน

พอฟังธรรมเยอะๆ จิตมันคลายออก…ก็ต้องรู้ เห็นมั้ย? ทำไมมันคลาย เพราะมันไม่ตั้งใจจะปฏิบัติ …เนี่ย! ให้เห็นเหตุปัจจัยแบบนั้น

นั่งไปบางทีรู้สึกสงบ รู้สึกดี ลองหายใจลึกๆ เข้าทีนึง ดูซิว่ามันตื่นขึ้นกว่าเดิมมั้ย?…ดูความแตกต่าง ถ้ามันตื่นขึ้นกว่าเดิม แปลว่าขณะเมื่อกี้นี้มันจมไปหน่อย แต่ถ้ามันเหมือนกันก็ไม่มีอะไร แต่ถ้าเราจะเห็นเร็วกว่านั้นก็คือว่า เมื่อจิตมันเริ่มสงบเหมือนจะลงภวังค์ เราจะเห็นความพอใจว่าอยากจะให้มันลงไปแบบนั้น เพราะมันสบาย ถ้าเราเห็นความพอใจนั้นได้…มันจะตื่นขึ้นมา ด้วยการหายใจก็ได้หรือด้วยการขยับเนื้อขยับตัวนิดนึงก็ได้

สังเกตจิตใจตอนนี้  จิตใจเราทุกคนเป็นปกติ จิตใจที่ปกติเรียกว่าอะไร? ว่างจากกิเลส ว่างจากราคะ โทสะ โมหะ รู้จักสภาพแบบนี้ไว้ สภาพที่ไม่มีกิเลสขับดัน สภาพปกติ ว่างจากกิเลสอันนี้ไม่ใช่สุญญตานะ…คนละเรื่อง! สุญญตานี้คือนิพพาน

สภาพว่างจากกิเลสนี้ เขาถึงเรียกว่า “นิพพานชิมลอง” มันไม่ใช่นิพพาน มันเหมือนๆ แต่มันไม่ใช่ เขาให้ได้รู้จักสภาพที่มันไม่มีทุกข์ สภาพพ้นทุกข์ ชิมดูสิมันเป็นอย่างนี้ แต่สุญญตามันคนละเรื่อง “สุญญตา” คือ ว่างจากสัตว์ ตัวตน บุคคล เรา เขา  เพราะฉะนั้น เราไม่ได้มีหน้าที่ทำจิตให้มันว่างเพราะคิดว่ามันคือสุญญตา…คนละเรื่องเลย

เราจะเข้าถึงสุญญตาหรือที่เรียกว่านิพพานได้ที่บอกเมื่อกี้นี้ มันต้องผ่านการรู้แจ้งแทงตลอดโลกนี้ว่ามันตกอยู่ภายใต้กฎไตรลักษณ์ มันต้องผ่านประตู 3 ประตูนี้ ไม่ประตูใดก็ประตูหนึ่ง ถึงจะได้รู้จักสุญญตาหรือนิพพาน

สังเกตความคิดมั้ย? เวลาไปคิด…รู้ทัน เวลาความคิดเริ่มเยอะ หายใจลึกๆ เข้าไปทีนึงให้ตื่นขึ้นมา อย่าเคลิ้มอยู่ในความสงบ

จิตมันจะพูดอะไร มันจะพากย์อะไร ไม่ต้องสนใจ…รู้เป็นแบบนั้นเฉยๆ

บางจังหวะเราก็จะเห็นได้ว่าจิตมันวืบออกไป วืบออกไปบางทียังไม่เป็นความคิดหรอก…เราก็รู้ เนี่ย! ลักษณะจิตมันออกนอก ไม่ดีมั้ย…ไม่ใช่ ก็มันเป็นแบบนี้ รู้ทัน…แค่นั้นเอง

เวทนาอะไรเกิดขึ้นในร่างกาย ก็รู้เฉยๆ เดี๋ยวมันก็เปลี่ยนให้ดู มันมีอะไรให้ดูเรื่อยๆ นั่งอยู่อย่างนี้ เนี่ย! เขาเรียกว่าเรียนรู้ เป็นแค่ ”ผู้สังเกตการณ์” …นั่งให้เป็นมันไม่เบื่อหรอก มันอยู่กับปัจจุบัน มันไม่เบื่อ คนที่นั่งแล้วเบื่อ…คืออะไร? คือไม่ได้อยู่กับปัจจุบัน ไม่ได้เป็นผู้สังเกตการณ์ คิดแต่อนาคต “จะไปทำอย่างอื่นต่อแล้วเว้ย…เบื่อ!” มันไม่ได้เรียนรู้ มันไม่รู้ว่านั่งเพื่อจะเรียนรู้

นี่! ตั้งใจขึ้นมา…มันแน่นหน่อยก็รู้ทัน ก็รู้มันเป็นแบบนั้นแหละ คลายๆ อยู่มันก็แน่นใหม่ ไม่ต้องตกใจ มันเป็นธรรมดา แน่นน้อยแน่นเยอะไม่เป็นไร เรื่องของมัน เห็นมันไปเรื่อยๆ เปลี่ยนไปอย่างนี้แหละ สลับไปสลับมา ของคู่มีอยู่ 2 อย่าง แน่นกับคลาย แน่นกับไม่แน่น มันก็มีอย่างนี้ ธรรมดาโลก ธรรมดากายเป็นแบบนี้ ธรรมดาจิตเป็นแบบนี้…อย่าไปเดือดร้อน

ใครปฏิบัติธรรมสภาวะดีตลอด สบายตลอด รีบสงสัยตัวเองเลย ทำไมมันไม่เปลี่ยน? จิตนี้มีอวิชชา มีกิเลสเต็มไปหมด ทำไมไม่เปลี่ยน เนี่ย! ต้องสงสัยตัวเองแล้ว ส่วนใหญ่ไม่มีอะไรมากหรอก ถ้ามีแต่สบายอยู่แปลว่า มันเพลิดเพลิน หลงอยู่ จิตมันออกนอก สบายตลอด หลงเพลินอยู่

เพราะฉะนั้น จิตนักปฏิบัติธรรมมี 2 อย่าง…เพ่งกับเผลอ มันมีแค่นี้แหละ เดี๋ยวมันก็เพ่งก็แน่น เดี๋ยวมันก็เผลอ เผลอหน่อยคลาย ก็มีแค่นั้น เพราะฉะนั้นไม่ใช่เรื่องน่าตกใจเลย ไม่ว่าจะเพ่งหรือเผลอ แต่รู้ให้ทันก็พอ ก็รู้เป็นแบบนี้ ไม่ต้องแก้ไขอะไร เผลอ..รู้ทันขึ้นมามันก็กลับมาเอง พอกลับมาหน่อย จิตมันจะตั้งใจ ก็เพ่งอีก เพ่งก็รู้ว่ามันเพ่งแล้วแน่นแล้ว ไม่ต้องทำอะไรเหมือนเดิม…ก็ “รู้อย่างที่มันเป็น”  รู้อย่างที่มันเป็นไปเรื่อยๆ สุดท้ายมันก็เป็นกลาง อะไรก็ได้

เพราะฉะนั้น จำไว้…จิตไม่ใช่ของเรา กายไม่ใช่ของเรา เป็นคนอื่น อย่าไปเดือดร้อนกับเรื่องของคนอื่น

มาใหม่ก็นั่งสบายๆ หัวใจเต้นแรงก็ช่างมัน เรื่องของมัน ไม่ต้องแก้ไขอะไร มีหน้าที่เรียนรู้ เรียนรู้อย่างที่มันเป็น เราไม่ได้เป็นเจ้าของกาย ไม่ได้เป็นเจ้าของจิตนี้ เพราะไม่มีใคร…เป็นแค่ธาตุ 4 ขันธ์ 5 แล้วก็มีมิจฉาทิฐิ เอาธาตุ 4 ขันธ์ 5 นี้ไปเป็นเจ้าของก็เลยเดือดร้อน มันเป็นอะไรก็เดือดร้อน

เพราะฉะนั้น สอนตัวเอง ตื่นเช้ามาบอกตัวเอง “กายกับจิตนี้ไม่ใช่เรา” มีหน้าที่เรียนรู้มัน มันเป็นยังไงก็เรื่องของมัน เรามีหน้าที่เรียนรู้มันอย่างเดียว เรียนรู้ลงไปในมุมของไตรลักษณ์ อันนี้คือปัญญาทางพุทธศาสนา…วิปัสสนาปัญญา เป็นปัญญาที่จะนำพาเราข้ามพ้นโลกนี้ไป

คนทำงานหนักอย่างนี้…ทุกวันต้องหาเวลานั่งสมาธิแบบนี้ เติมพลัง กำลังใจทุกวัน ระหว่างทำงานนี่เราใช้การหายใจลึกๆ เข้าซักทีนึง เวลาเราจมไปในงาน จะช่วยเราได้เยอะ สังเกตจิตทำงานตลอดเวลา เดี๋ยวมันไปคิด มันก็วิ่งอยู่ในร่างกายนี่แหละ เดี๋ยวไปรู้สึกตรงนั้น เดี๋ยวไปรู้สึกตรงนี้…เห็นมันทำงานไป มันทำเอง

 

Camouflage

YouTube : https://youtu.be/LFsVBFrPbdU

คลิปเสียงธรรมะทั้งหมดของอาจารย์ Camouflage : https://goo.gl/RDZFMI

======================

5 ช่องทางการอ่านและฟังธรรม

1) Facebook : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
http://www.facebook.com/sookguysookjai

2) Line : @camouflage.talk
https://line.me/R/ti/p/%40camouflage.talk

3) YouTube : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
https://goo.gl/in9S5v

4) Website: https://camouflagetalk.com

5) Podcast : Camouflage – Dhamma Talk
https://itun.es/th/t6Mzdb.c
วิธีการติดตั้ง https://goo.gl/tBMY9S