66. 3 ประตูสู่ญาณข้ามโคตร

ตอนที่ 1 รู้ปัจจุบันธรรม

เวลาเราพูดปฏิบัติธรรม เหมือนเรากำลังนั่งสมาธิแบบนี้ ไม่มีความคาดหวังอะไร ไม่มีความคาดหวังว่าครั้งนี้จะดีเหมือนครั้งก่อน หรือจะดีแบบที่เราคิด…นั่น! ไม่ใช่การปฏิบัติธรรม นั่น! เป็นการทำให้ได้อย่างที่หวัง…เป็นเส้นทางของอัตตา

ทิ้งความหวังทั้งหมด…มีหน้าที่แค่ “รู้ปัจจุบันธรรม”…ตอนนี้เป็นแบบนี้

จิตใจฟุ้งซ่าน ยังกระวนกระวาย ยังไม่เข้าที่เข้าทาง ไม่ต้องเดือดร้อน มันเป็นอย่างนั้นของมัน…

จำไว้ว่า “จิตไม่ใช่ของเรา” เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องสำคัญมาก เหลือเป็นมรดกให้กับเรา เหล่าชาวพุทธ เหล่านักปฏิบัติธรรม… “จิตไม่ใช่เรา”  มันจะเป็นอะไรก็เรื่องของมัน ไม่ต้องเดือดร้อนกับมัน

นักปฏิบัติธรรมจำนวนมากก็เข้าใจผิด มีความรู้สึกอยู่ลึกๆ ซ่อนอยู่ ลึกๆ มันอยากให้จิตมันดี อยากให้มันหลุดพ้น หาทางปฏิบัติธรรม หาทุกวิถีทาง ลึกๆ คือ อยากให้จิตนี้มันดี อยากจะช่วยให้มันหลุดพ้น…เบื้องลึกของความรู้สึกนี้คือ จิตนี้เป็นของเรา  พอเราไม่หนักแน่นในหลักการที่พระพุทธเจ้าสอนเราไว้ เราก็ตกม้าตายแบบนี้แหละ ทุ่มเทปฏิบัติธรรมแทบตายมีแต่อัตตา มีแต่ตัณหา มีแต่ความอยาก ยอมลำบากลำบนปฏิบัติธรรม แต่ถ้าจิตมันผิดนิดเดียว มันไปคนละทางเลย

เพราะฉะนั้น หลักต้องแม่น พระพุทธเจ้าเราก่อนปรินิพพาน สิ่งเดียวที่ท่านฝากเอาไว้คือ พระธรรมวินัย คือ หลัก ไม่มีอะไรยิ่งใหญ่ไปกว่าหลัก พระพุทธเจ้าให้พระธรรมวินัยเป็นพระศาสดาแทนท่าน เพราะฉะนั้น อย่าพลาด จะทำอะไร จะฟังอะไร จะปฏิบัติแบบไหน อย่าให้มันตกหลัก… “จิตไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวเรา” จำไว้ให้แม่น ไม่ได้มีหน้าที่ช่วยให้จิตนี้หลุดพ้น จิตมันจะหลุดพ้น มันจะหลุดด้วยตัวมันเอง เรามีหน้าที่สร้างเหตุไป เรียนรู้ไป

การปฏิบัติธรรมเริ่มใหม่ทุกขณะ จึงเรียกว่า “รู้ปัจจุบันธรรม

 

ตอนที่ 2 ประตูสู่ญานข้ามโคตร

สังเกตจิตใจเริ่มคลายออก มันคลายเอง เริ่มกลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว สงบลง ให้เห็นว่ามันเป็นเอง ไม่มีใครเข้าไปทำอะไรทั้งนั้น การที่เราปฏิบัติแบบนี้อยู่คือ ไม่ทำอะไร

สร้างเหตุยังไง?…รู้เนื้อรู้ตัวอยู่ ไม่ตามเข้าไปในความคิดปรุงแต่ง พ้นออกจากโลกของความคิดปรุงแต่ง จิตใจนี้สงบระงับลง สงบระงับลงเอง มันก็เริ่มเป็น “ปกติ” พอมันปกติ เราก็รู้จักปกติเป็นแบบนี้

เราปฏิบัติแบบนี้ เราจะเห็นว่า ผลนั้นเกิดแต่เหตุ มีเหตุแบบนี้ ก็เกิดผลแบบนี้  พอเราเริ่มสังเกตจิตใจมากเข้าๆ สังเกตร่างกายมากเข้าๆ เราจะเข้าใจ อ่อ…ผลก็เกิดแต่เหตุ ผลก็เกิดแต่เหตุ มีเหตุอย่างนี้ ผลก็เป็นแบบนี้ มีเหตุอย่างนี้ ผลก็เป็นแบบนี้ มันก็เป็นเรื่องของเหตุปัจจัยทั้งนั้น ไม่มีความเป็นสัตว์ตัวตนบุคคลเราเขาเลย

การเห็นแบบนี้ได้ ถ้าอิงไปในตำราหน่อยเค้าเรียกว่า ญาณขั้นที่ 2 ในญาณ 16 คือ การเห็นเหตุปัจจัยของสรรพสิ่ง โดยที่ไม่มีตัวเราเข้าไปเกี่ยวข้องเลย ผู้ที่เจริญเห็นตามเป็นจริงแบบนี้ ในคัมภีร์เค้าเรียกว่า จุลโสดาบัน คือ คนที่มีคติแน่แท้ว่า วันนึงจะบรรลุโสดาบันได้

เพราะฉะนั้น เราปฏิบัติธรรมเพื่อวันนึงเราปิดอบายได้ เราต้องรู้ว่าอะไรเป็นทาง อะไรต้องเจริญ

ญาณที่ 3 นี่ เราจะเห็นการเกิดดับของสภาวะ มันเป็นจะเป็นไปเอง เราปฎิบัติไปๆๆ เราก็จะเห็นเอง

ญาณต่อมาก็เห็นไตรลักษณ์ เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา  มันก็จะเป็นไปเอง เพราะเห็นเอง

ไปเรื่อยๆ นิพพิทาญาณ สังขารอุเบกขาญาณ มันจะเป็นไปเองหมด ไม่ต้องทำอะไรเลย ปฏิบัติให้มันถูกก็พอ มีหลัก อย่าตกหลักก็พอ

จนไปถึงโคตรภูญาณ แปลว่า ญาณข้ามโคตร คือ ข้ามโคตรจากปุถุชนเป็นอริยะชน ในญาณนี้ก็มีความน่าสนใจ เป็นญาณข้ามโคตรไปสู่มรรคผลนิพพาน มีทางเข้าสามทาง….ทางที่ 1 เข้าทางมุมของอนิจจัง ทางที่ 2 เข้าในมุมของทุกขัง ทางที่ 3 เข้าในมุมของอนัตตา ชื่อภาษียากๆ เข้าทางอนิจจังนี้เรียกว่า อานิมิตตวิโมกข์ เข้าทางทุกขัง…อัปปณิหิตวิโมกข์ เข้าทางอนัตตานี่…สุญญตวิโมกข์

สุญญตวิโมกข์ แปลว่า หลุดพ้นด้วยการเห็นโลกธาตุนี้เป็นของว่าง ไม่ใช่ว่างเปล่า ว่างจากความรู้สึกมีสัตว์ตัวตนบุคคลเราเขา เวลาเราพูดถึงสุญญตา พูดถึงความว่าง ที่เราๆ ชอบบอกว่า ว่างๆ…ไม่ใช่ว่างสุญญตา ว่างแบบสุญญตาว่างแบบไหน? แบบสุญญตวิโมกข์

ที่พวกเราว่า ว่าง อธิบายกันเบื้องต้น “ว่าง” คือ ว่างจากกิเลส ว่างจากราคะ โทสะ โมหะ ก็คือ “สภาพปกติ” นั่นแหละ เรียกว่า จิตประภัสสร ยังไม่มีกิเลสจรมา เพราะฉะนั้น เวลาพูดกันว่า “ว่าง” เข้าใจกันให้ถูก

สุญญตวิโมกข์ หลุดพ้นด้วยการเห็นโลกธาตุนี้ว่างจากความรู้สึกเป็นตัวตนบุคคลเราเขา ที่คำว่า “มีแต่ไม่มี” คำนี้แหละ ไม่ใช่เห็นบางอย่างไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน แต่อีกอย่างยังเป็นตัวเป็นตน แบบนี้ไม่ใช่สุญญตวิโมกข์ แบบนั้นเป็นสมาธิ

เคยอ่านเจอหลวงปู่เทศก์พูดเรื่องนี้ เมื่อวิปัสสนาปัญญาเกิดขึ้น สรรพสิ่งทั้งหลายเป็นเหมือนกันหมด เป็นเหมือนกันในแง่ไหน…เป็นแค่ธาตุ 4 ทำไมเห็นแบบนั้นได้ เพราะขณะนั้นจิตพลิกตัวออกจากสังขารเลยเห็นตามเป็นจริงได้ว่า สรรพสิ่งทั้งหลายนี้ไม่มีสูงไม่มีต่ำ ไม่มีน้อยไม่มีมาก ไม่มีหญิงไม่มีชาย เรียกว่า โลกธาตุทั้งหมดที่เห็นอยู่ หมดความเป็นคนตัวตนบุคคลเราเขา…แบบนี้แหละสุญญตวิโมกข์  ความอัศจรรย์ ความเข้าใจจะเกิดขึ้นในใจว่าแท้จริงสรรพสิ่งทั้งหลายไม่มีความเป็นตัวตนแม้เพียงสักอณูเดียวเลย

และเมื่อเราผ่านโคตรภูญาณนี้ไป มันก็เป็นญาณแห่งมรรค มรรคญาณ ผลญาณ ปัจจเวกขณญาณ ไปเรื่อยๆ …ก็เข้าถึงกระแสเค้าเรียกว่า เป็นพระโสดาบัน พระโสดาบันก็ละสังโยชน์ 3 ละสักกายทิฎฐิ ละวิจิกิจฉา ละสีลัพพตปรามาส ไม่เห็นละกิเลสสักข้อนึงเลย นึกว่าพระโสดาบันมีกิเลสเหมือนเดิม มีอัตตาเหมือนเดิม…เข้าใจผิด

พวกเราเคยได้ยินคนโบราณพูดกันมา…กิเลส 1,500 ตัณหา 108 ไม่ใช่พูดเล่น อันนี้พูดตามตำราเลย พระพุทธเจ้าแจกแจงกิเลสไว้ 1,500 ข้อ พระโสดาบันคือ ผู้ที่ตัดกิเลสได้แล้ว 300 ข้อ อันนี้ในทางละเอียด พระสกิทาคามีเปรียบเสมือน…โอ้! ไม่ได้ตัดสังโยชน์อะไรเลย…บอกว่ากิเลสเบาบางลง จริงๆ แล้วตัดไปอีก 150 ข้อ คนเราตัดกิเลสได้ 300 ข้อคิดว่าอัศจรรย์ขนาดไหน…ชีวิตพวกเราก็เหมือนต้นไม้ เติบโตแตกกิ่งก้านใหญ่เล็กออกดอกออกผล ผลิดอกออกใบไปเลย…กิเลสก็ทำแบบนั้น วันนึงเป็นพระโสดาบัน ก็เหมือนกับว่าเราก็ตัดแต่งกิ่งอะไรออกไปเยอะ ตัดไปเรื่อยจนถึงสุดท้ายถอนรากถอนโคนก็คือ อวิชชา หมดเชื้อ แต่ทั้งหมดทั้งสิ้นก็ปฏิบัติอยู่แค่นี้แหละ จนไปถึงรากถึงโคนก็ปฏิบัติอยู่แค่นี้

เพราะฉะนั้น ไตรลักษณ์ เป็นความจริงที่เราหนีไม่พ้น แม้กระทั่งตอนที่จิตนี้จะข้ามโคตร ยังต้องข้ามผ่านมุมของไตรลักษณ์ไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง หลวงปู่เทศก์บอกไว้…มันจะแจ้ง เค้าเรียกว่า ไตรลักษณญาณ มันจะแจ้งแก่ใจตัวเอง เรียกว่าประทับใจเลย

เคยมีคนมาเล่าให้ฟังว่า เจอพระรูปนึง ท่านก็เล่าให้ฟังตามประสบการณ์ของท่าน โดยสรุปก็แบบเดียวกัน ท่านผ่านโดยสุญญตวิโมกข์เหมือนกันคือ เห็นโลกธาตุนี้ ทั้งโลกธาตุนี้ ทุกสิ่งทุกอย่างว่างจากความเป็นตัวตนบุคคลเราเขา

 

ตอนที่ 3  รู้ทัน…อย่าตามเข้าไปในความคิด

สังเกตการนั่งอย่างนี้ การหายใจเราไม่คงที่ เดี๋ยวเบาเดี๋ยวแรง เดี๋ยวเร็วเดี๋ยวช้า สังเกตว่ามันทำเอง มันปรับเปลี่ยนของมันเอง ความคิดเกิดขึ้น…รู้ทัน บางทีความคิดบางอย่างมันไม่ทำให้เราทุกข์ อันนี้เป็นตัวอันตรายที่สุด เราก็คิดไปเรื่อย อันนี้ต้องรู้ว่าเป็นความประมาท ต้องรู้ว่าอันนี้เป็นกับดักทำให้จิตมันอ่อนลงเรื่อยๆ

เพราะฉะนั้น เรามีหน้าที่เลือก ถ้าไม่ใช่เรื่องอะไรสำคัญ “รู้ทัน…อย่าตามเข้าไปในความคิด” อย่าโดนหลอก ไม่ทุกข์ก็จะคิดเอาๆ อย่าโดนหลอกแบบนั้น

เนื้อหาหลักการปฏิบัติธรรมนี่ มันมีไม่เยอะ มีนิดเดียว ฟังกันมากี่ครั้งต่อกี่ครั้ง มันก็มีแค่นิดเดียว เพราะฉะนั้น หลักการปฏิบัติธรรมไม่มีอะไรใหม่ มีแต่เรื่องเดิมๆ ไม่ใช่มีหาอะไรทำไปเรื่อย

รู้สึกว่านั่งวันนี้ไม่เหมือนวันนั้น ก็ไม่เป็นไร รู้ตามเป็นจริง ไม่ต้องเปรียบเทียบ วันนี้คนเยอะ อาจจะมีคนดึง Mean เพราะฉะนั้น จิตใจเป็นยังไงก็รู้เป็นอย่างนั้น อันนี้ปฏิบัติแล้ว ลองหายใจออกยาวๆ ความรู้เนื้อรู้ตัวจะชัดขึ้น จนหมดลมหายใจ มีเวทนาที่ร่างกายก็รู้เฉยๆ อย่าไปเป็นเจ้าของมัน… “รู้เฉยๆ

สักว่ารู้” เรียกว่า รู้เฉยๆ ทำไมต้อง “สักว่ารู้ สักว่าเห็น”…เพราะจะได้แสดงไตรลักษณ์ให้ดูในที่สุด แต่ไม่ต้องหาไม่จ้องว่าจะดูไตรลักษณ์มัน อย่างนั้นมันไม่แสดงเพราะเราแทรกแซงแล้ว เดี๋ยวจิตมันเห็นเอง ไม่ต้องยุ่งกับมัน ไม่ต้องทำอะไร ให้จิตมันได้ฟังธรรม เดี๋ยวจิตมันทำเอง สังเกตลมหายใจเปลี่ยน อันนี้ โอ้…มันเปลี่ยนเองอีกแล้ว ปฏิบัติธรรมแล้ว

สภาวะที่พวกเรามีกัน เวทนาต่างๆ ทางกายทางใจ พระอริยะก็มีเหมือนกัน แต่ความต่างคืออะไร…คือกิเลส ตัณหา อยากเอาไว้ หรือไม่อยากเอาไว้ นี่คือความต่าง เรามีธาตุขันธ์เหมือนกัน แต่ถ้าเราฝึกให้ดี ฝึกให้ถูกทาง สิ่งที่พัฒนาก็คือ ความลดละไปของกิเลส กิเลสนั้นเองสร้างอัตตาขึ้นมา หมดกิเลสก็ไม่มีอะไรขับดันให้อยากหรือไม่อยากอะไร

นั่งแล้วเคลิ้มไป…อันนี้บางทีจิตมันพักก็เคลิ้มไปไม่ใช่ปัญหาอะไร นักปฏิบัติเราบางทีบอกว่า เคลิ้มๆ แต่ก็รู้นะว่าเคลิ้มอยู่ นั่นก็ใช้ได้แล้ว หรือบางทีสติมาปึ๊บ…ทำอัตโนมัติเด้งกลับมาเหมือนเดิม สติก็ทำงานเอง นี่แสดงความเป็นอนัตตา เด้งกลับมานั่งตรงเหมือนเดิมได้

เพราะฉะนั้น ปฏิบัติธรรมอย่าไปกะเกณฑ์อะไรมาก “เรียนรู้กายกับจิตนี้อย่างที่เขาเป็น”…

จะเรียนรู้ได้นี้….จิตใจต้องมีกำลัง

จิตใจมีกำลัง….จิตใจนี้พ้นออกจากโลกของความคิดปรุงแต่ง ด้วยเครื่องมือ “ความอยู่กับเนื้อกับตัว”  “รู้จักสภาพจิตใจที่เป็นปกติบ่อยๆ” มันก็จะเป็นกำลังที่จะให้จิตนี้ตื่นขึ้นมาที่จะเรียนรู้กายกับจิตนี้ตามเป็นจริง

เพราะฉะนั้น พวกเราก็จะต้องเติมกำลังทุกวัน ก็นั่งอย่างที่นั่งอยู่ตอนนี้นั่นแหละ เดี๋ยวมันก็เจริญวิปัสสนา เดี๋ยวมันก็เติมกำลัง มันสลับไปสลับมาเอง เราแค่มีเวลาที่จะ “ทำในรูปแบบทุกวัน” … “ทำหน้าที่” แค่นั้น

 

ตอนที่ 4  ให้เวลากับมัน…รู้ด้วยตัวเอง

เรามานั่งด้วยกันแบบนี้ เป็น Synergy เป็นสิ่งที่หลวงพ่อพูดตลอด หลวงพ่อปฏิบัติธรรมให้ใครไม่ได้ ทุกคนต้องปฏิบัติเอง สิ่งเดียวที่หลวงพ่อทำได้คือ หลวงพ่อมานั่งเป็นเพื่อน อันนี้คือความเมตตาของครูบาอาจารย์ ทำไมหลวงพ่อถึงบอกว่าหลวงพ่อทำได้แค่นั่งเป็นเพื่อน…เพราะการเรียนรู้กายกับจิตนี้ เราจะต้องเรียนรู้และรู้แจ้งด้วยตัวเองเท่านั้น ต้องให้เวลากับมัน รู้ด้วยตัวเอง รู้เอง

สังเกตให้ดี…พระพุทธเจ้า ท่านบารมีมากขนาดไหน แต่ท่านก็ไม่สามารถจะปฏิบัติธรรมแทนใครได้เลย ท่านได้แต่บอกว่าท่านเป็นเพียงผู้บอกทาง เพราะฉะนั้น มันเป็นเรื่องของการที่ทุกคนจะต้องปฏิบัติเองและก็รู้เอง และนี่คือ วิธีการสอนของพระพุทธเจ้า

ใครฟุ้งซ่านไม่ต้องพยายามทำให้มันสงบ เห็นมันฟุ้งซ่านแล้วอย่าไปต่อกับมัน…แค่นั้น ใครฟุ้งซ่านนี่ลองหายใจออกยาวๆ ความอยู่กับเนื้อกับตัวมันจะชัดขึ้น ใครเบื่อ…ให้รู้ว่าเรากำลังคาดหวังอนาคต  “ฝึกที่จะอยู่กับขณะนี้

 

Camouflage

YouTube : https://youtu.be/iAsfTU6KXf8

คลิปเสียงธรรมะทั้งหมดของอาจารย์ Camouflage : https://goo.gl/RDZFMI

======================

5 ช่องทางการอ่านและฟังธรรม

1) Facebook : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
http://www.facebook.com/sookguysookjai

2) Line : @camouflage.talk
https://line.me/R/ti/p/%40camouflage.talk

3) YouTube : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
https://goo.gl/in9S5v

4) Website: https://camouflagetalk.com

5) Podcast : Camouflage – Dhamma Talk
https://itun.es/th/t6Mzdb.c
วิธีการติดตั้ง https://goo.gl/tBMY9S