65.ผู้สังเกตการณ์

ตอนที่ 1 ผู้สังเกตการณ์

เวลาเริ่มนั่ง…ถ้ารู้สึกมันอึดอัดแน่น ให้หมั่นหายใจออก…หายใจออกยาวๆ หมดลมหายใจออกยาวๆ ก็ให้หายใจเข้า หายใจออกยาวๆ สังเกตแค่การหายใจที่เปลี่ยน สภาวะภายในใจก็เปลี่ยน…นี่! เป็นการเจริญปัญญาง่ายๆ เหตุปัจจัยเปลี่ยน ผลก็เปลี่ยน

เรานั่งสมาธิ…สังเกตดีๆ เราเป็นแค่ “ผู้สังเกตการณ์” แม้ว่ามันจะเกิดความแน่น สังเกตให้ดีว่าร่างกายมันจะพยายามปรับด้วยตัวมันเอง มันจะปรับการหายใจของมันเอง สังเกตว่าเราไม่ได้ทำอะไร ตัวมันเอง มันก็ทนสภาพความแน่นนี้ไม่ได้ มันต้องเปลี่ยนแปลง มันก็ทำของมันเอง เราจะเข้าใจมุมอนัตตาได้…โอ้! มันทำของมันเอง มันหายใจถี่ขึ้น หรือมันหายใจยาวขึ้น มันทำของมันเองหมดเลย

เพราะฉะนั้น การปฏิบัติธรรม ไม่มีการแก้ไข แทรกแซง จัดการสภาวะที่เกิดขึ้นในกายในใจนี้แม้แต่นิดเดียว ถ้าเราอดทนพอจะเป็นผู้สังเกตการณ์ได้ เราจะได้เห็นมันทำเอง

เราไม่ได้มีเป้าหมายว่า มันต้องหายแน่น เราแค่สังเกตเห็นได้ว่า ความแน่นก็เบาลงได้เอง เพราะมีเหตุเช่น ลมหายใจเปลี่ยน พอลมหายใจออก ความแน่นก็คลายลง พอเข้าก็แน่นขึ้นมาใหม่…สังเกตแบบนี้! ไม่ใช่ต้องให้มันหายแน่น

ถ้าเราเป็นผู้สังเกตการณ์แบบนี้ได้ เราจะค่อยๆ เข้าถึง “ความเป็นกลาง” ต่อทุกสภาวะ

เราจะเป็นผู้สังเกตการณ์ได้แบบนี้ จิตใจต้อง “ปราศจากความดิ้นรน”…ความอยากที่จะทำให้มันเป็นแบบนี้แบบนั้น

จิตใจปราศจากความอยากคือจิตใจแบบไหน…จิตใจที่เป็น “ปกติ” อยู่

สภาพจิตใจที่เป็นกลางๆ เค้าเรียกว่า จิตใจที่ปกติ สภาพจิตใจลอยๆ เค้าเรียกว่า สภาพจิตใจที่สุขสบาย สภาพที่จิตใจมืดๆ เค้าเรียกว่า จิตใจที่เต็มไปด้วยความทุกข์ เราใช้จิตใจที่ “ปกติธรรมดา” ในการปฏิบัติธรรม ไม่ใช่จิตใจที่มีความสุขสบาย หรือจิตใจที่มีความทุกข์ระทม

เวลามีนักปฏิบัติธรรมมาหาเรา เห็นหน้าก็รู้…คนไหนปกติ คนไหนติดสุขติดสบาย คนไหนทุกข์ พวกอยู่ในประเภททุกข์นี่ เป็นประเภทที่รู้ตัวอยู่แล้วว่ายังปฏิบัติธรรมไม่ได้ ทุกข์เกินไป แต่พวกที่จิตสุขจิตสบายเป็นพวกที่น่ากลัวที่สุด เพราะจิตมันลอยอยู่ แต่ไม่รู้นึกว่าจิตแบบนี้แหละเอามาปฏิบัติธรรม

เพราะฉะนั้น จำไว้เราใช้จิตใจที่ปกติธรรมดา สภาพปกติไม่ขึ้นไม่ลง ไม่ลอยไม่จม ไม่บวกไม่ลบ กลางๆ (Neutral) ถึงจะเป็นผู้สังเกตการณ์ได้อย่างแท้จริง

 

ตอนที่ 2 รู้…ตอนนี้เป็นแบบนี้

จิตใจเริ่มคลายลง นี่ก็รู้ได้…คลายออกแหละ ก็เห็นมันเป็นอย่างนั้น  เนี่ย! มันแค่รู้สึกเฉยๆ มันคลายออกแล้ว เราก็แค่รู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลง ไม่ต้องพูด ไม่ต้องพากย์ ไม่ต้องอะไร แต่มันจะพูดมันจะพากย์ก็เรื่องของมัน แต่ในความเป็นจริงนั้น เห็นเฉยๆ เห็นเฉยๆ ได้…เห็นอะไร? เห็นอนิจจัง เปลี่ยนเอง จิตมันเรียนรู้เอง จิตมันเรียนรู้อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาเอง

เรานั่งแบบนี้…สังเกตไม่มีการทำอะไรเลย ไม่มีความอยากจะให้มันต้องดีกว่านี้ สดชื่นกว่านี้…ไม่มี เรามีแต่ รู้…ตอนนี้เป็นแบบนี้ ไม่มีอะไรจะดีไปกว่าการที่เราได้รู้อยู่ว่า…“ตอนนี้เป็นแบบนี้” ถ้ามันจะสดชื่นกว่านี้ ให้มันสดชื่นกว่านี้ด้วยตัวมันเอง ไม่ใช่เราทำ เหมือนเมื่อกี้นี้ที่จิตเริ่มคลายออก เห็นมั้ยมันคลายเอง เราไม่ได้พยายามจะคลายมัน… “ให้มันเป็นเอง” นี่คือ ทางของการปฏิบัติธรรม เส้นทางของอนัตตา

 

ตอนที่ 3 รู้ทันสภาวะต่างๆ ในใจ

สังเกตตอนนี้ จิตใจเราทุกคน อยู่กับเนื้อกับตัว ไม่มีสภาวะ…ก็รู้ว่าตอนนี้เป็นอะไร? จิตใจกำลังสร้างกำลัง เรียกเป็นสมถะก็ได้ เพราะฉะนั้น ถ้ามันจะไม่มีอะไร ก็รู้เนื้อรู้ตัวอยู่เฉยๆ ตอนนี้ให้รู้ว่า จิตใจกำลังสร้างทางของกำลัง ไม่ต้องไปควานหาจะทำอะไร เช่น จะเจริญวิปัสสนาไปหาสภาวะเด่น…ไม่จำเป็น ไม่มีก็คือไม่มี

พอจิตใจมีกำลัง จิตใจเป็นปกติ รู้เนื้อรู้ตัวอยู่….แต่จิตนี้ยังมีอวิชชา มันจะหลงไปนึกคิดปรุงแต่ง แว่บไปแว่บมา เราก็ “รู้ทัน” ได้ เพราะจิตใจมีกำลัง ก็ทำให้เราตื่น จิตใจก็ตื่นขึ้นพอที่จะรู้จะเห็นการทำงานได้ละเอียดขึ้น ทุกครั้งที่จิตแว่บไปนึกคิดปรุงแต่ง เรียกว่า หลงไป พอรู้ทันปุ๊บขึ้นมา มันจะกลับมาตั้งอยู่บนฐานของกำลังนี้ เค้าเลยเรียกว่ามันตั้งมั่น

พอมันไหลเข้าไปในอารมณ์ รู้ทันอารมณ์ที่เกิดขึ้นปึ๊บ..มันก็เลยกลับมาตั้งอยู่ในฐานที่มั่น…ก็คืออะไร? “ความรู้เนื้อรู้ตัว” นี้เพราะเราทุกคนจิตใจนี้ยังมีอวิชชา ยังมีความหลง ยังมีการปรุงแต่งไปในทางกิเลสอยู่ จิตใจเรายังคิดและบวกปรุงแต่งเข้าไปจนเลยเถิดไปเป็นอารมณ์โลภ โกรธ หลง

เพราะฉะนั้น เพื่อไม่ให้สมาธิที่เป็นฐานเป็นกำลังของเราหายไป เราเลยจำเป็นจะต้อง “รู้ทัน” เมื่อจิตหลงไปคิดนึกปรุงแต่ง จนปรุงเป็นอารมณ์ขึ้นมา ก็รู้ทันว่าอารมณ์อะไรเกิดขึ้นในใจแล้ว เพื่อที่จะไม่ให้สมาธิหรือกำลังที่เรามีอยู่นี้โดนทำลายไป เพราะฉะนั้น เมื่อรู้ว่าหลง มันก็จะเป็นการเติมกำลังสมาธิที่เรียกว่า “ความตั้งมั่น” เพิ่มขึ้น

เพราะฉะนั้น ด้วยการทำแบบนี้แหละ…ทำตามคำที่เคยแนะนำไว้สามข้อ บวกกับการคอยรู้ทันสภาวะต่างๆ ในใจ การปฏิบัติมันถึงถูกหลอมรวมเข้ามาในชีวิตของเราตั้งแต่ตื่นจนหลับเลย

 

ตอนที่ 4 เข้าใจการปฏิบัติให้ถูก

สังเกตตอนนี้จิตเราทุกคนสบาย สังเกตความสบายนั้น เกิดจากการที่ไม่มีการทำอะไร อันนี้เป็นความสบายที่แท้จริง ไม่ใช่ทำให้มันสบาย ความสบายเป็นผลจากการไม่ทำอะไร ไม่คาดหวังอะไร

หลงไปคิด…อันนี้ก็ไม่ใช่ปัญหา เดี๋ยวพอมันรู้ทันขึ้นมาปึ๊บ…เราจะเห็นได้ว่า อ่อ…สติก็ทำงานเองได้ สติก็เป็นอนัตตาเหมือนกัน

เพราะฉะนั้น เข้าใจการปฏิบัติให้ถูกต้อง เรามีศีลเพื่ออะไร?…เพื่อความเป็นปกติในจิตใจมากขึ้น เราไม่ทำบาปทำชั่วอะไร จิตใจเราก็ปกติ จิตใจปกติอยู่กับเนื้อกับตัว มันก็เป็นสมาธิ เป็นสมาธิให้เราตื่นขึ้นมาออกจากโลกของความคิดปรุงแต่ง ตื่นขึ้นมาเพื่อที่จะเจริญปัญญาต่อ

เจริญปัญญาว่าอะไร?…เห็นทุกสิ่งตามเป็นจริง

ตามเป็นจริงเป็นยังไง?…เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

สูงไปกว่านั้นก็คือว่า “มันเป็นเช่นนั้นเอง” มันก็เป็นอย่างนี้แหละ จะพูดแค่นี้ก็ได้…อะไรๆ มันก็เป็นอย่างนี้แหละ

เห็นซ้ำเห็นซากไปเรื่อยๆ เจริญปัญญามากไป กำลังไม่พอก็ต้องรู้ตัว…นั่งสมาธิซักหน่อย เติมกำลังทุกวัน ก็เจริญไปเรื่อย เจริญปัญญาไปเรื่อย จริงๆ ไม่ว่าเราต้องเจริญ มันเจริญเอง จิตมันอยู่ในลู่ในทางมันเจริญเอง มันเห็นเอง เรียนรู้ของมันเอง เราแค่อยู่ในทางเอาไว้ ที่ผมบอก…อย่าออกนอกทางก็พอแล้ว ทุกอย่างจะเป็นไปเอง

 

Camouflage

YouTube : https://youtu.be/VxJi2-8pBPI

คลิปเสียงธรรมะทั้งหมดของอาจารย์ Camouflage : https://goo.gl/RDZFMI

======================

5 ช่องทางการอ่านและฟังธรรม

1) Facebook : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
http://www.facebook.com/sookguysookjai

2) Line : @camouflage.talk
https://line.me/R/ti/p/%40camouflage.talk

3) YouTube : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
https://goo.gl/in9S5v

4) Website: https://camouflagetalk.com

5) Podcast : Camouflage – Dhamma Talk
https://itun.es/th/t6Mzdb.c
วิธีการติดตั้ง https://goo.gl/tBMY9S