63.อกรรม

 

ตอนที่ 1 “แค่รู้สึก” อย่าทำหน้าที่เกินรู้

จิตไปที่หู ก็รู้ทัน…การปฏิบัติธรรมมีแค่ “รู้”  นั่งสมาธินี่! ไม่ได้ทำอะไร ”แค่รู้สึก” …รู้อย่างที่มันเป็น อย่ามากกว่านั้น อย่าทำหน้าที่เกินจากรู้

เมื่อเช้าอ่านเฟสบุ๊ค เจอคำสอน “รู้แล้ววาง” อันนี้เรียกว่า ทำหน้าที่เกินรู้ มันจะวางไม่วางเป็นเรื่องของมัน ไม่ใช่เรื่องของเรา มันไม่วาง ก็รู้ว่ามันติดอยู่ มันวางก็รู้ มันปล่อยแล้ว การปฏิบัติที่ถูกต้องมีเรื่องเดียวคือ “แค่รู้” ถ้าเราแค่รู้ได้โดยไม่เข้าไปจัดการแทรกแซงจิตนี้นั่นเรียกว่า ถูก

จิตใจจะดีจะร้ายยังไง เราไม่มีหน้าที่ไปจัดการ ไม่มีหน้าที่ทำให้มันดีกว่านี้

เมื่อไหร่ก็ตามที่นักปฏิบัติเรามีความรู้ มีความคิด มีความเข้าใจว่า แบบนั้นดีกว่าแบบนี้ ให้รู้ไว้เลยว่านั่นคือ ต้นเหตุของอัตตา และถ้าเราทำได้ให้มันเป็นแบบที่เราอยากให้เป็น เราจะไม่ได้เป็นนักปฏิบัติธรรม เราเป็นนักทำเฉยๆ

ผมสอนให้ทุกคน “รู้เนื้อรู้ตัว”  นึกขึ้นได้…อันนี้ก็กลับมารู้เนื้อรู้ตัว มันกลับมาเอง จำเอาไว้ว่าการปฏิบัติธรรมเป็นเส้นทางของ “อนัตตา” ไม่ใช่เส้นทางของอัตตา มันเริ่มจากเราเรียนรู้แล้วว่า…อ่อ! หลักคือ “พ้นออกจากโลกของความคิดปรุงแต่งทั้งปวง” ด้วยเครื่องมือคือ “ความรู้สึกตัว”

ในชีวิตประจำวันเนี่ย… เราทำโน่น ทำนี่ ใจเรามันมีฉันทะที่ต้องรู้เนื้อรู้ตัว มันนึกขึ้นได้ มันก็รู้ขึ้นมาครั้งนึง… “มันนึกขึ้นได้”…ไม่ใช่เราไปทำความรู้สึกตัว แล้วพอมันนึกขึ้นได้บ่อยเข้าๆ มันก็กลายเป็นความ “อยู่กับเนื้อกับตัว” พอมันอยู่กับเนื้อกับตัว มันไม่ค่อยไปในโลกของความคิดปรุงแต่ง จิตใจนี้ก็เป็น “ปกติ” เราก็รู้จักมัน…อ่อ! ปกติเป็นแบบนี้

 

ตอนที่ 2 อดทนต่อทุกสภาวะได้ นั่นคือ ความก้าวหน้าที่แท้จริง

การปฏิบัติธรรมคือ การเรียนรู้ตามเป็นจริง แล้วก็เห็นตามเป็นจริง เห็นสภาวะที่มันเกิดขึ้นตามเป็นจริง

พอจิตใจปกติ รู้เนื้อรู้ตัวอยู่ มันเกิดอะไรขึ้น? มันเกิดสภาพตื่นขึ้น ตื่นออกจากโลกของความฝัน โลกของความคิด มันตื่นเอง ด้วยการกระทำหน้าที่ง่ายๆ แค่นี้แหละ…มันตื่นเอง

เราตื่นขึ้นเพื่ออะไร? จิตนี้มันตื่นขึ้นเพื่อจะได้เรียนรู้ความเป็นจริงของกายกับจิตนี้ว่ามันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา  เราตื่นขึ้นเพื่อที่จะเมื่อมันมีอารมณ์อะไรเกิดขึ้นในจิตในใจ เราจะได้เห็นมันได้ในมุมของอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ที่เรียกว่า การเจริญวิปัสสนาปัญญา

เมื่อเราเจริญๆๆ มากเข้าๆๆ เกิดอะไรขึ้น? เกิดนิพพิทาญาณขึ้น “นิพพิทาญาณ” คือ ความเบื่อหน่าย…

ทำไมถึงเบื่อหน่าย? เพราะว่าเราได้รู้ได้เห็นแล้วว่า สภาวะทั้งหลายที่ผ่านเข้ามาในจิตใจไม่ว่าจะดีหรือไม่ดี ล้วนมีสิ่งร่วมกันอย่างนึงซึ่งก็คือ “ไตรลักษณ์” และทุกสิ่งก็เป็นแบบนั้น ทุกสภาวะก็ตกอยู่ภายใต้กฎไตรลักษณ์เหมือนกัน เอาอะไรไว้ไม่ได้ซักอย่าง มันจึงเกิดความเบื่อหน่าย ความเบื่อหน่ายนี้ไม่ได้เบื่ออย่างนี้จะไปเอาอย่างนั้น อันนี้เป็นความเบื่อหน่ายของตัณหา แต่ “นิพพิทาญาณ” คือ เบื่อทุกสิ่งทุกอย่างไม่ว่าสิ่งนั้นจะดีหรือไม่ดีก็ตามล้วนน่าเบื่อ ที่ผมเคยบอกว่า เราปฏิบัติจนกระทั่งถ้านิพพิทาญาณเกิด การปฏิบัติธรรมก็น่าเบื่อเหมือนกัน

เมื่อก่อนตอนเราเจอธรรมะใหม่ๆ รู้วิธีปฏิบัติใหม่ๆ เรารู้สึกว่า…โอ้! ได้ปฏิบัติธรรมนี้มันมีความสุขจริงๆ มันดีจริงๆ มันอย่างโน้น อย่างนี้ อย่างนั้น…มีแต่ดี แต่เราปฏิบัติไปจนวันนึงเราถึงนิพพิทาญาณ อะไรๆ ที่เราเคยว่าดี ที่เป็นความสุข เราจะไม่เห็นแบบนั้นอีกแล้ว ทุกสิ่งล้วนน่าเบื่อ และไม่มีความดิ้นรนที่จะไปหาสิ่งอื่นด้วย เพราะรู้แล้วว่าในสามแดนโลกธาตุนี้ไม่มีที่ไหนเลยที่เหยียบลงไปแล้วไม่ทุกข์

เพราะฉะนั้น เราเรียนรู้ อดทน ต่อทุกสภาวะในจิตใจ อดทนต่อทุกสภาวะที่เราติดอยู่จนสร้างทุกข์ให้กับเรา อดทนกับมัน ไม่ต้องแก้ไข อยู่กับมันไป ดูสิว่าสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนเราจริงมั้ย? มันเปลี่ยนมั้ย? มันทนอยู่สภาพเดิมได้มั้ย?

เมื่อเราถึงจุดๆ นั้น ถ้าเราผ่านนิพพิทาญาณไป มันถึงจะไปสู่ “สังขารอุเบกขาญาณ” คือ เราเป็นกลางต่อทุกสภาวะไม่ว่าจิตนี้จะดีจะร้ายยังไงก็ตาม มันจะแน่นไม่แน่น อึดอัด โปร่งโล่ง ไม่โปร่งไม่โล่ง เราเป็นกลางได้ทุกสภาวะ

ทำไมเราถึงเป็นกลางกับมันได้? เพราะเรารู้ว่าแต่ละสภาวะมันก็เหมือนกัน คือ ตกอยู่ภายใต้กฎของไตรลักษณ์ เราจะไม่รู้สึกว่าสภาวะนั้นดีกว่าสภาวะนี้…ไม่มี! ไม่ติดดีกว่าติดอย่างนี้…ไม่มี! ไม่มีความรู้สึกแบบนั้นเลย เพราะวิปัสสนาญาณนั้น การเข้าใจหลักการปฏิบัติแบบนี้ที่ถูกต้อง เราจะไม่เดือดร้อนเลยว่าเราจะก้าวหน้าหรือไม่ก้าวหน้า เพราะว่าเราจะรู้สึกว่ามันน่าเบื่อเหมือนเดิมทุกวัน เราหาจุดที่เราก้าวหน้าไม่ได้เลย เพราะเดี๋ยวมันก็เป็นอย่างนี้ อีกวันก็เป็นอย่างนั้น

ความก้าวหน้าที่แท้จริงก็คือว่า เราอดทนต่อทุกสภาวะได้จนเห็นไตรลักษณ์ได้ เราอดทนต่อความน่าเบื่อในแต่ละวันของชีวิตที่เราต้องทำหน้าที่ง่ายๆ แค่นี้แหละ ไม่มีมากกว่านั้น เราอดทนได้นั่นคือ ความก้าวหน้า

 

ตอนที่ 3 ไม่ทำอะไรตามกิเลส

ไตรลักษณ์เป็นประตูสำคัญ เราตื่นขึ้นมาเพื่อจะเห็นไตรลักษณ์ เพื่อจะไปถึงนิพพิทาญาณ เพื่อจะไปถึงสังขารอุเบกขาญาณ และที่สุดก็คือ ไปถึงโคตรภูญาณคือ ญาณข้ามโคตร การเห็นความเป็นจริงของสภาวธรรมแบบนี้ เป็นสิ่งที่ปกป้องเราจากวิปัสสนูปกิเลส เราจะไม่ติดกับสภาวะใดๆ ทั้งสิ้นไม่ว่ามันจะดีแค่ไหนก็ตาม เพราะเรารู้ว่าไม่ว่ามันจะดีแค่ไหนก็ตาม มันจะเปลี่ยน

คนที่ไปไม่ถึงนิพพิทาญาณ ไม่มีความเบื่อหน่ายในการปฏิบัติเลย มีแต่ความสุขในการปฏิบัติธรรม พอเกิดวิปัสสนาอ่อนๆ เค้าเรียกว่า ดรุณวิปัสสนา เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาอ่อนๆ จิตใจที่ไม่ตั้งมั่นพอ มันจะพลิกไปเป็นวิปัสสนู พอมันพลิกไปเป็นวิปัสสนูปึ๊บ…มันเหมือนเราบรรลุมรรคผลนิพพานเลย และถ้าเชื่อตามนั้นก็เสร็จเลย

เพราะฉะนั้น วิธีการปฏิบัติที่ผมสอน มีข้อนึงที่สำคัญมากก็คือว่า “เราจะไม่ทำอะไรตามกิเลส” อันนี้เป็นสิ่งที่ผมฝึกมาตลอดแบบนั้น เราต้องเห็นความอยากในใจให้ได้ เห็นตัณหาในใจให้ได้ เห็นความดิ้นรนทางใจให้ได้ เห็นความกลัวในใจให้ได้ เห็นความอ่อนแอในใจให้ได้ แล้วทุกสิ่งที่มันเห็น ที่เราเห็น แล้วเราไม่ทำตามมัน มันจะผ่านไป ถ้าเราทำแบบนี้ ไม่มีโอกาสที่เราติดวิปัสสนู

เพราะสิ่งเดียวที่หลอกเราได้ก็คือ กิเลสของตัวเราเอง ของจิตใจนี้เอง…อวิชชา! วิปัสสนูปกิเลสคือ การหลอกที่แนบเนียบที่สุด เพราะมันเหมือนบรรลุมรรคผลนิพพาน ทุกสภาวะต่างๆ นี่มันเนียนมาก แต่หัวใจอันเดียวก็คือว่า เป็นเพราะว่าเส้นทางของการปฏิบัติธรรมมีแต่ความสุขสบาย มันเลยพลิกเป็นวิปัสสนูง่ายๆ

เพราะฉะนั้น เราทำสิ่งที่น่าเบื่อๆ สิ่งที่ง่ายๆ ที่ผมบอก “Simple…but not easy” มันไม่ easy มันไม่ง่าย เพราะมันต้องอดทน ไม่มีอะไรหวือหวา ไม่มีอะไรฉูดฉาด มีแค่เรื่องน่าเบื่อซ้ำซาก แค่นั้นแหละ ไปเรื่อยๆ เห็นมันเข้าไปเรื่อยๆ เห็นสภาวะที่เด่นชัดที่สุดตรงหน้า ไม่ต้องควานหาสภาวะ ไม่ต้องควานหาว่าเราติดอะไรอยู่มั้ย ไม่ต้องควานหาว่าเราประคองอะไรอยู่มั้ย…ไม่ต้องควาน! ถ้าสภาวะตรงหน้ารู้ได้แค่นี้…คือแค่นี้ เราไม่ได้ต้องการจะหลุดจากอะไร เราไม่ต้องการรู้ว่าเราติดอะไร เราต้องการแค่ “เห็นสภาวะตรงหน้า” แสดง “ไตรลักษณ์” แค่นั้น

ความหลุดพ้นเนี่ย…ไม่ต้องไปพูดถึงความหลุดพ้นเป็นพระอริยะนะ ความหลุดพ้นใดๆ ในแต่ละขณะจากเล็กน้อยจนเป็นเรื่องใหญ่ๆ ทุกอันมันจะหลุดเอง พระพุทธเจ้าจึงว่า “เมื่อจิตหลุดพ้น จึงรู้ว่าหลุดพ้น” คือ มันหลุดเอง เราถึงได้รู้เพราะมันเด่น มันเด่นชัดขึ้นมา เราก็รู้ อ่อ..ตอนนี้เป็นแบบนี้ แต่ถ้าเราไปหาว่ามันติดอะไร แล้วเราไปทำให้มันหลุด นั่นคือ “อัตตา” ทั้งนั้น มันหลุดได้ แต่มันก็ไปติดอีกอย่างนึงแทน…เพราะเราทำ

เพราะฉะนั้น อย่ารู้มากกว่าสิ่งที่รู้ได้ในขณะนั้น ไม่มีความจำเป็น ไม่มีประโยชน์อะไร เข้าใจหัวใจของการปฏิบัติธรรมให้ได้ว่า เราตื่นขึ้นมาเพื่อเรียนรู้ความเป็นจริงว่า “ทุกสิ่งตกอยู่ภายใต้กฎไตรลักษณ์”… เรามีหน้าที่แค่นั้น และความหลุดพ้น วิถีญาน 16 ต่างๆ มันจะเกิดขึ้นเอง มันจะเป็นเอง

สิ่งที่ผมสอนตลอดว่า การปฏิบัติธรรมไม่ใช่การเข้าไปทำอะไรตรงๆ…ไม่ใช่! เราสร้างเหตุแบบเนี่ย…ลองคิดดูว่า เราสร้างเหตุคือ การเห็นไตรลักษณ์ แล้วมันก็เกิดขั้นตอน (Step)…นิพพิทาญาณ สังขารอุเบกขาญาณ เกิดโคตรภูญาณ เกิดญาณจนครบ 16 ขั้น เห็นมั้ยว่าเราไม่ได้ไปทำญาณ การทำอะไรตรงๆ สมมติคือเราไปทำญาณให้เกิดอย่างนี้…มันไม่ใช่! เราสร้างเหตุแล้วผลอีกอย่างนึงมันถึงเกิด เราอยากหลุดพ้นไม่ใช่เราไปหาว่าเราติดอะไร…ไมใช่แบบนั้น! การทำแบบนั้นเค้าเรียกว่า เข้าไปทำอะไรตรงๆ ซึ่งไม่ถูก ไม่มีประโยชน์ รังแต่จะทำให้เส้นทางของอัตตาพอกพูนขึ้นไปอีก เพราะมันดิ้นรนหาทาง อยากก้าวหน้า อยากให้ดีกว่านี้

 

ตอนที่ 4 อกรรม

อย่าลืม!!!…สิ่งที่ผมสอนตั้งแต่ไหนแต่ไรว่า เราแค่ย่ำอยู่กับที่ โม่แป้งแล้วแป้งมันออกมาเอง ชีวิตการปฏิบัติธรรมของผม ผมไม่เคยแทรกแซงจิตเลย ไม่เคยอยากให้มันดีกว่านี้ เพราะว่าคำสอนที่ผมได้รับมาคือ “จิตนี้เป็นอนัตตา ควบคุมบังคับบัญชาไม่ได้ มันทำของมันเอง” เรามีแค่หน้าที่… “เรียนรู้อย่างที่มันเป็น” ให้มันแสดงความจริงของมันด้วยตัวมันเอง “อย่าไปแทรกแซงอะไร” ผมยึดหลักนี้ตลอดชีวิตการปฏิบัติธรรมของผม ผมอดทนต่อทุกสภาวธรรมที่เกิดขึ้นในจิตใจไม่ว่ามันจะเป็นนรกขนาดไหนก็ตาม ผมติดอะไรอยู่ ผมก็อดทนอยู่กับมันนั่นแหละ มันติดก็รู้ว่ามันติด แต่ผมก็อดทน

เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจว่าการปฏิบัติธรรมมันคือ “อกรรม…อกรรม” จำไว้ว่า อกรรม…ไม่มีการต่อสังสารวัฎ สังสารวัฎเรามันเลยสั้นลงได้ แต่ถ้าเรามัวแต่ทำ ทำให้มันดี ทำให้มันเป็นอย่างนี้ อย่างนั้น แก้ไข อยากรู้มันติดอะไรมั้ย จะไปทำให้มันไม่ติด เนี่ย! ทั้งหมดนี้เป็น “กรรม” ทั้งนั้น กรรมฝ่ายดี…ก็ต่อสังสารวัฎไปเรื่อยๆ การปฏิบัติธรรมที่แท้จริงเป็น “อกรรม” สังสารวัฎมันเลยจบได้

“อกรรม” คืออะไร?  ก็ “แค่รู้”…แค่นั้น

สิ่งที่ผมสอนทั้งหมด จะเห็นว่ามันเป็นคำสอนหลัก (Main) ของหลวงพ่อ ที่เราฟังจนรู้สึกว่ามีแค่นี้เหรอ คำสอนมีอะไรบ้าง?

Just know,

Don’t do anything,

Don’t judge yourself

มันมีแค่นั้น ถ้าเราอยู่ในหลักอันนี้ เราจะไม่หลงกลกิเลสเลย เราจะพลาดไม่ได้เลย

ตอนนี้เรานั่งแบบนี้ สังเกตจิตใจดู มันเป็นยังไงก็รู้ว่าเป็นอย่างนั้น ไม่ต้องดีกว่านี้ มันรู้เนื้อรู้ตัวอยู่ เราก็รู้มันรู้เนื้อรู้ตัวอยู่ ไม่ต้องทำให้ชัดกว่านี้…ไม่ต้อง!

หลวงปู่ดูลย์เคยสอนการปฏิบัติธรรมว่า “ถ้าจิตมันจะไปคิด ให้มันคิดให้พอ จนมันคิดจนพอแล้ว…มันจะหยุด แล้วกลับมาที่เนื้อที่ตัวเอง” เห็นมั้ยว่าท่านกำลังสอนให้เราเห็นอะไร? เห็น “อนัตตา” มันคิดตลอดไม่ได้หรอก มันเหนื่อย มันก็กลับมา ท่านไม่ได้ห้าม แต่มันเพียงแค่ “รู้ทัน” มันก็ดับ แล้วมันก็กลับมาเอง แต่ถึงแม้เราจะไม่ยอมรู้อะไรเลย สุดท้ายมันก็กลับมาเองอยู่ดี แต่เราจะยอมทุกข์ขนาดนั้นเหรอ ปล่อยให้มันคิดซะเป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โต

แต่บางครั้งเรื่องใหญ่ๆ มันก็ติดคิด…เพราะอะไร? เพราะจิตนี้มีอวิชชา

มันก็ติดคิด หน้าที่เราคืออะไร? ก็รู้มันเป็นแบบนี้

จะรู้เป็นแบบนี้ได้ก็คืออะไร? เราต้องมีความอดทนมากที่จะรู้ว่ามันเป็นแบบนี้

แต่เรานักปฏิบัติเราไม่ค่อยอดทน  จะแก้ไข หาอุบายนี้ หาอุบายนั้น ไม่อยากทุกข์แบบนี้ ไม่อยากให้เป็นแบบนี้…จำไว้เลยนะว่าอุบายใช้เมื่อคับขันเท่านั้น!!  แล้วต้องรู้ด้วยว่าเป็นอุบาย เพราะทุกอุบายมันต้องทำ ใช้แค่เวลาคับขัน นต่ถ้าอดทนได้ ให้อดทน  ไม่มีอะไรดีกว่าที่เราได้รู้ว่า “ตอนนี้เป็นแบบนี้”

ที่ผมบอกว่า “รู้ว่า…ตอนนี้เป็นแบบนี้” บางทีมันไม่มีคำพูด ไม่มีคำอธิบาย ว่าเป็นแบบนี้มันเรียกว่าอะไร มันไม่มี เราแค่รู้อาการปรมัตถ์เฉยๆ ว่ามันเป็นแบบนี้ ไม่ต้องอธิบายมัน มันจะดีไม่ดี มันก็เท่ากัน มันจะติดไม่ติด มันก็เท่ากัน เพราะสุดท้ายมันจะแสดงไตรลักษณ์ให้เห็น…เท่ากันหมดทุกอย่าง

หลวงพ่อถึงสอนเรา พูดตลอดว่าโลกนี้มีแต่ความน่าเบื่อ…เราจะเห็นอย่างนั้นได้ยังไง? เราต้องอยู่กับที่ ทำเหมือนเดิม อยู่ในสิ่งแวดล้อมเดิมๆ กิจวัตรเดิมๆ เพื่อให้รากเหง้าของอวิชชามันแสดงตัวออกมา แล้วเราได้เห็นมัน ได้เรียนรู้มัน ได้เห็นว่าความทุกข์สูงสุดของมนุษย์ก็คือ “ความเบื่อ ความดิ้นรน” แต่อดทนผ่านไปให้ได้ มารไม่มี บารมีไม่เกิด มารนั้นเอง ถ้าเราอดทนกับมันได้ วันนึงมันจะเปลี่ยน มันเป็นอนิจจังเหมือนกัน มันจะพลิกกลับกลายเป็นบารมี พาเราข้ามพ้นโลกนี้ไปได้

เพราะฉะนั้น จะเห็นว่าการปฏิบัติธรรมเป็นเส้นทางแห่งความทุกข์ และความทุกข์นี้เองช่วยเราทุกคนข้ามพ้นสังสารวัฏนี้ไปได้

แต่ถ้าการปฏิบัติธรรมเป็นเส้นทางของความสุข เราจะไปไหนไม่ได้เลยนอกจากติดความสุขอยู่แค่นั้น

จำไว้ว่า ไม่มีการทำอะไรทั้งนั้น “แค่รู้” หลงไปก็ไม่เป็นไร หลงไปก็รู้ การปฏิบัติแบบที่เป็นธรรมชาติ มันมี “หลง” กับ “รู้” 2 อย่าง เพราะฉะนั้น อย่ารู้สึกว่าหลงไม่ดี เพราะหลงมันทำให้รู้เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ แต่ถ้าจะเอาให้ไม่หลงมันก็เป็นการ “ทำ” เพราะอะไร? เพราะเรารู้สึกว่ารู้ดีกว่าหลง มีอะไรดีกว่าอะไรอีกแล้ว มันเลยมีคำสอนที่ผมสอนตลอดว่า “รู้ได้แค่ไหน แค่นั้น” คุณภาพจิตเรามีแค่นี้ตอนนี้ มันก็รู้ได้แค่นี้

พอเราไปตัดสินตัวเองว่ารู้ช้าไป ก็อยากจะรู้เร็วขึ้น อ้าว! เดือดร้อนแล้ว จะหาทางทำให้ดีกว่านี้ ถ้าอยากจะเดือดร้อนในการปฏิบัติธรรม ให้เดือดร้อนว่าตัวเองมีวินัยและทำหน้าที่ได้บริสุทธิ์จริงๆ หรือเปล่า?…ให้เดือดร้อนแบบนี้   เดือดร้อนว่าเราทำเหตุให้ถูกตรงดีหรือยัง?…ให้เดือดร้อนแบบนี้ ให้เดือดร้อนว่าเราทำได้เต็มที่หรือเราเอ้อระเหยอยู่?…เดือดร้อนแบบนี้ มัวแต่ขี้เกียจไม่ตื่น…ให้เดือดร้อนแบบนี้  ไม่ใช่เดือดร้อนกับผลการปฏิบัติ

เพราะฉะนั้น เมื่อเรารู้หลักแล้ว หลักปฏิบัติง่ายๆ ที่ผมบอก….

แล้วที่เหลือคือ แค่อดทน อย่าทำอะไร อย่าแทรกแซงจิต เหลือแค่อดทน อยู่กับมัน เรียนรู้มัน…ทำแค่นั้น

เมื่อวิปัสสนาปัญญาเกิด ญาณต่างๆ ก็เกิดตาม อดทน รอเวลา…แค่นั้น

 

ตอนที่ 5 ไม่หลงไปจัดการอะไร…หน้าที่ของเราคือ “แค่รู้”

ต้องจำสิ่งที่ผมบอกไว้ว่า การปฏิบัติธรรมเนี่ย…มันไม่มีความรู้สึกหรอกว่าก้าวหน้า เพราะมันเห็นแต่ไตรลักษณ์ มันเห็นแต่จิตมันตกอยู่ภายใต้กฎไตรลักษณ์ ทุกสภาวะตกอยู่ภายใต้กฎไตรลักษณ์ มันเห็นเหมือนเดิมทุกวัน เอาอะไรมาก้าวหน้า จิตเดี๋ยวเจริญ เดี๋ยวเสื่อม เดี๋ยวเจริญ เดี๋ยวเสื่อม เอาอะไรมารู้สึกว่าก้าวหน้า หมายถึงความก้าวหน้าแบบที่เราจะคิดทางโลกนะ ที่เราอยากจะทำโน่น ทำนี่ ทำนั่น ให้มันก้าวหน้าขึ้นไปอีกๆๆ อย่างนี้…มันไม่มี! มันมีแต่เรื่องเดิมๆ ซ้ำไปซ้ำมา เราจะเอาอะไรมารู้สึกว่าก้าวหน้า…ไม่มี!

ถ้าจะวัดความก้าวหน้าก็คือว่า ตกทางน้อยที่สุด…นี่คือ ก้าวหน้า  ไม่หลงไปจัดการอะไร…นั่นคือ ความก้าวหน้า เห็นสภาวะตกอยู่ภายใต้กฎไตรลักษณ์เป็นแบบนี้ ซ้ำๆ ซ้ำไปซ้ำมา น่าเบื่อทุกวัน…นี่คือ ความก้าวหน้า  อดทนได้ ไม่ทำตามกิเลสได้…นี่คือ ความก้าวหน้า

เพราะฉะนั้น เข้าใจความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมให้ถูกต้อง แล้วเราจะพึ่งตัวเองได้

ชีวิตผมมีหลักปฏิบัติที่ถูกต้อง ผมถึงพึ่งตัวเองได้ ผมอยู่กับที่ ไม่ไปไหน เรียนรู้แบบที่ผมสอนทุกคนวันนี้แหละ ผมทำมาแล้วเหมือนกัน ผมไม่เดือดร้อนเลยว่า ผมก้าวหน้าไม่ก้าวหน้า ผมได้แต่ทำแบบนี้แหละ ไปเรื่อยๆ

ด้วยความที่ผมไม่ทำอะไรกับจิตนี้ อดทนกับทุกสถานการณ์ ไม่วิ่งไปไหนต่อไหน มันเลยเป็น Fast Track เลย เพราะผมไม่ต่อสังสารวัฎเลย การปฏิบัติของผมเป็น “อกรรม” อย่างเดียว ผม “แค่รู้” “เรียนรู้” จะทรมานแค่ไหน ผมก็เรียนรู้ ผมไม่หนีไปไหน ผมพึ่งตัวเอง

เส้นทางนี้เป็นเส้นทางของมหาบุรุษ ใช้บารมีเยอะ ความอดทนเป็นบารมีอันยิ่งใหญ่ ถ้าเราจะเป็นมหาบุรุษได้ เราต้องอดทนได้ยิ่งกว่าบุคคลทั่วๆ ไป บุรุษไม่ได้แปลว่าผู้ชายนะ คำว่า “บุรุษ” มันคือ ทั้งผู้ชายและผู้หญิง

ชีวิตเราทำมาทั้งชีวิต ชีวิตทั้งชีวิตเรามีนิสัยของการทำ เพราะฉะนั้น การไม่ทำอะไร มันถึงเป็นบารมีอันยิ่งใหญ่ เพราะมันสวนกระแส ฝืนนิสัย ฝืนสันดาน ฝืนความเป็นคน ความเป็นอัตตาตัวตน 180 องศาเลย

เพราะฉะนั้น การปฏิบัติที่ผมสอน ง่ายๆ น่าเบื่อๆ แต่ขอให้อดทนให้ได้ที่จะทำเรื่องน่าเบื่อแบบนี้ไปเรื่อยๆ อย่ามากกว่านี้ ผมรับประกันว่ามันจะดีกับทุกคนสูงสุด เร็วที่สุด มีประสิทธิภาพที่สุด

สิ่งที่ผมสอน ใช้ได้ตั้งแต่วันนี้และใช้ได้กับพระอริยบุคคลทุกขั้นจนกว่าจะเป็นพระอรหันต์ ใช้วิธีเดียวกัน ฝึกเหมือนกัน เราจะฝึกกันไปจนถึงวันที่เราหมดกิเลสโดยสิ้นเชิง

“ไม่มีสภาวะไหนดีกว่าสภาวะไหน” …ทั้งอึดอัด แน่น โปร่งโล่งเบา ทุกอันล้วนตกอยู่ภายใต้กฎไตรลักษณ์

หน้าที่ของเราคือ “รู้” ถ้ารู้ว่าจิตเป็นแบบนี้ ไม่ว่ามันจะแน่นหรือมันจะโปร่งก็ถูกเหมือนกัน เพราะรู้แล้ว เพราะได้รู้สภาวะตรงหน้าอย่างที่มันเป็นแล้ว แม้ว่าจะนิยามชื่อมันไม่ได้ แต่ถ้ารู้อยู่ว่า…ตอนนี้เป็นแบบนี้ ก็ถูกแล้ว ที่ถูกมีแค่นี้

 

Camouflage

 

YouTube : https://youtu.be/0LI0R-QHuXY

คลิปเสียงธรรมะทั้งหมดของอาจารย์ Camouflage : https://goo.gl/RDZFMI

======================

5 ช่องทางการอ่านและฟังธรรม

1) Facebook : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
http://www.facebook.com/sookguysookjai

2) Line : @camouflage.talk
https://line.me/R/ti/p/%40camouflage.talk

3) YouTube : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
https://goo.gl/in9S5v

4) Website: https://camouflagetalk.com

5) Podcast : Camouflage – Dhamma Talk
https://itun.es/th/t6Mzdb.c
วิธีการติดตั้ง https://goo.gl/tBMY9S