60.ปฏิบัติได้…แต่ไปไม่ถึงฝั่งฝัน

 

ตอนที่ 1 ไม่ต้องตั้งใจ แต่ไม่เลิก ไม่ลืม

อยากจะให้ทุกคนนั่งสมาธิกันนะครับ นั่งบนเก้าอี้แบบนี้แหละ นั่งสบายๆ…หลับตาครับ

การนั่งสมาธิที่ผมสอน…ตาหลับแต่ “ใจตื่น…ตื่นรู้อยู่กับทุกสภาวะที่เกิดขึ้นในจิตใจ” มันไม่มีอะไรก็รู้ว่าไม่มีอะไร ก่อนที่เราจะเรียนรู้กายกับจิตนี้ได้ เราต้องกลับบ้านก่อน กลับให้ถึงบ้านเราก่อน บ้านเราก็คือ….“สภาพที่มันปกติอยู่

เพราะฉะนั้น เริ่มแรก…นั่งสบายๆ  “รู้เนื้อรู้ตัว” ไม่ต้องคิดจะทำอะไร ไม่ต้องคิดจะทำความสงบ ไม่ต้องคิดว่าจะให้มันเป็นยังไง

เพียงแค่ “รู้เนื้อรู้ตัว” อยู่ มันไปคิดก็รู้ทัน รู้ทันความคาดหวังที่จะฟังธรรม ความสำคัญที่สุดตอนนี้คือ “ความเป็นปกติ รู้เนื้อรู้ตัวอยู่” ความฟุ้งซ่านเป็นสิ่งที่เราต้องรู้ทัน

ทุกคนก็ฟังสิ่งที่ผมสอนมาเยอะมากแล้ว มาที่นี่…มาปฏิบัติตามที่ผมสอน ปฏิบัติร่วมกัน

การปฏิบัติธรรมเราต้องเห็นความไม่ดีของตัวเองให้ได้ ใครที่ปฏิบัติธรรมแล้วเห็นว่าตัวเองดีตลอดต้องพิจารณาตัวเอง  คนทุกคนมีอัตตา พอมีอัตตาปุ๊บ!…เป็นอัตโนมัติเราต้องเห็นแก่ตัว ไม่ว่าคนนั้นจะดีแค่ไหนก็ตามท้ายที่สุดก็คือเห็นแก่ตัว เราเป็นนักปฏิบัติ…เห็นลงไปให้ได้ถึงความไม่ดีของตัวเอง ถ้าเราเห็นไม่ได้ เราขัดเกลาตัวเองไม่ได้…เจริญไม่ได้!!

การปฏิบัติธรรมคือ การเอาออก เอาความโง่ที่สะสมมาตั้งแต่เกิดออกไป

พวกเรามาวันนี้เยอะนะ การปฏิบัติธรรมของแต่ละคนก็หลายระดับ แตกต่างกันมาก แต่ไม่ว่าจะแตกต่างกันแบบไหน เราก็มีพื้นฐานอันเดียว…ไม่กี่อย่าง คือ

รู้สึกตัว ไม่ตามเข้าไปในความคิดปรุงแต่ง แล้วก็รู้จักสภาพอันเป็นปกตินี้บ่อยๆ” … บ่อยๆ ไม่ใช่ตลอดเวลา รู้สึกตัวก็ไม่ใช่รู้สึกตัวตลอดเวลา

การปฏิบัติธรรมเป็นเรื่องของ “ความผ่อนคลาย สบายเป็นธรรมชาติ” … อย่าเพิ่ม ไม่ต้องตั้งใจ แต่ไม่เลิกไม่ลืม … ไม่ลืมว่าชีวิตนี้เราเกิดมาเพื่อที่จะพ้นทุกข์ เพื่อที่จะพ้นการเกิดไป

เพราะฉะนั้นเรามีหน้าที่เดียว เป็นหน้าที่ที่สำคัญที่สุดของการเกิดมา แต่พวกเราเลือกจะไปทำอย่างอื่น คิดว่าอย่างอื่นก็สำคัญเหมือนกัน ถ้าอย่างอื่นสำคัญ ศาสดาของเราคงไม่ทิ้งพระราชวังเข้าป่าไปปฏิบัติธรรมเพื่อไปสู่ความพ้นทุกข์

ผมพูดคราวก่อนไปเรื่อง “เสียสละ” พวกเราพอปฏิบัติกันมานาน ปฏิบัติได้ดี แต่มันก็ยังไม่ค่อยไปถึงไหน เพราะเราขาดพลังสำคัญของการ “เสียสละ” ของ “ความเด็ดเดี่ยว” ที่เราจะทิ้งโลก ทิ้งโลกแล้วเหลือธรรม แต่ถ้าเอาโลกด้วย เอาธรรมด้วย…ไม่ได้อะไร

เซนนี่เขาพูดถึง “เมื่อก่อนเห็นภูเขา เป็นภูเขา” เมื่อก่อนคือก่อนการปฏิบัติ เราเห็นภูเขาเป็นภูเขา ก็คือเราเป็นมนุษย์ธรรมดานี่เหละ หลงสมมติ ระหว่างปฏิบัติเห็นภูเขาไม่ใช่ภูเขา คือเห็นอะไร…เห็นอนัตตา ไม่มีคน ไม่มีสัตว์บุคคล เรา เขา อยู่ที่ไหน พอจบแล้วก็เห็นภูเขา เป็นภูเขาเหมือนเดิม นั่นหมายความว่า เราก็เป็นคนเดิมนั่นเหละที่อยู่ในโลกโดยที่ไม่ต้องทุกข์อีกต่อไป

แต่เริ่มแรก เราเริ่มเรียนรู้ก่อนว่าปฏิบัติธรรมยังไง ซึ่งทุกคนในที่นี้ก็เรียนรู้แล้วปฏิบัติแบบไหน  ที่เหลือคือเราต้องพิจารณาตัวเองแต่ละคน จะปฏิบัติให้ยิ่งๆ ขึ้นไปนี่…ทำยังไง? เรารู้รึยัง รู้แล้วทำได้ไหม

 

ตอนที่ 2 ไม่คบคนพาล คบกัลยาณมิตร

พระพุทธเจ้าสอนเราเรื่องง่ายๆ อันนึง ซึ่งพวกเราก็คงเคยได้ยินมาแล้ว แต่เราอาจจะมองข้ามไป มงคล 38 ประการ ข้อแรกพระพุทธเจ้าบอกเราว่า “ไม่คบคนพาล” คนพาลในความคิดเราเป็นคนแบบไหน…คิดชั่ว ทำชั่ว เป็นคนเลว นี่เราเรียกคนพาลในความคิดของเรา

สำหรับผม “คนพาลคือ คนที่มีมิจฉาทิฏฐิ” ที่ไม่รู้หน้าที่ของตัวเองในการเกิดมาว่าจะเกิดมาเพื่ออะไร…มีหน้าที่อะไร ชีวิตต้องทำอะไร

เพราะฉะนั้นเราไม่จำเป็นต้องคบคนที่ไม่รู้จักหน้าที่ เพราะคนเหล่านั้นจะดึงเราไว้อยู่ในโลก ด้วยเหตุผลแห่งมิจฉาทิฏฐิ โดยเฉพาะเหตุผลแห่งความดี ซึ่งผมพูดเสมอว่ามันคือ “ความมืดสีขาว

ข้อที่สองที่พระพุทธเจ้าสอนเรา คือ “คบบัณฑิต” บัณฑิตคือใคร คนจบปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก ดอกเตอร์ ศาสตราจารย์ หรือว่าใคร ที่เรียกว่าบัณฑิต

บัณฑิตคือ คนที่มีสัมมาทิฏฐิแล้ว คนที่มีสัมมาทิฏฐิแล้วเป็นใคร…คือ พระอริยบุคคล 4 จำพวก ตั้งแต่พระโสดาขึ้นไปจนถึงพระอรหันต์ ไม่ใช่ปุถุชนคนทั่วไปที่เต็มไปด้วยกิเลส

ผมดูแล้วเนี่ย! เราทำแค่ 2 ข้อนี้ให้ได้…ชีวิตเจริญแน่

เราแต่ละคนนักปฏิบัติธรรมลองทบทวนดูว่า เราทำได้ซักข้อนึงหรือยังของพระพุทธเจ้า เรายังคบคนพาลอยู่ไหม เพื่อนเรารอบๆ มีแต่มิจฉาทิฏฐิไหม เรามีบัณฑิตเป็นเพื่อนหรือยัง แล้วถ้ามีเราคบเขาเป็นเพื่อนหรือยัง หรือมีไว้เฉยๆ

บัณฑิต” ในความหมายของพระพุทธเจ้าอีกความหมายหนึ่งก็คือ “กัลยาณมิตร” นั่นแหละ

พระพุทธเจ้าพูดไว้ “กัลยาณมิตรเป็นทั้งหมดของพรหมจรรย์”…เป็นทั้งหมดของพรหมจรรย์ เป็นคนที่จะพาเราไปสู่ความหลุดพ้นได้ในที่สุด เราต้องคบคนแบบนั้นเอาไว้ คนแบบนั้นคือใคร คือ “ครูบาอาจารย์” นี่แหละ

แต่การจะคบครูบาอาจารย์เพื่อจะนำทางชีวิตเราดูเหมือนง่าย…แต่ยาก เพราะครูบาอาจารย์มักจะให้เราทำสิ่งที่เราไม่อยากทำเสมอ นั่นคือปัญหาใหญ่ของนักปฏิบัติธรรมทุกคน

ปัญหาสำคัญที่ผมเห็นมากที่สุดคือ “เชื่อความคิดตัวเอง” ถ้าอาจารย์บอกอันนี้ให้ไปทำ ถ้ามันตรงกับความคิดเรา…เราก็ทำ ถ้าบอกให้ไปทำ แล้วพอดีเราไม่อยากทำ…เราไม่ทำ

อันนี้เป็นปัญหาใหญ่ของความเนิ่นช้าในการปฏิบัติธรรม…เพราะอะไร? เพราะเราใช้ชีวิตตามใจอยากของตัวเองเฉยๆ เราแค่เปลี่ยนการไปทำอะไรหลงโลก เปลี่ยนเป็นมาทำที่เรียกว่าปฏิบัติธรรมเฉยๆ แต่ “อยู่บนพื้นฐานของการเอาแต่ใจตัวเอง” เหมือนเดิม และนั่นแหละ”อัตตาตัวตน” อันใหญ่ที่มันแฝงอยู่…อยู่ในก้นบึ้งของจิตใจเรา

 

ตอนที่ 3 ชีวิตไม่ใช่ของเราอีกแล้ว

วันที่เราก้าวเข้ามาปฏิบัติธรรม เพื่อไปสู่ความบริสุทธิ์หลุดพ้น ต้องจำไว้ว่า “ชีวิตไม่ใช่ของเราอีกแล้ว…ชีวิตเป็นของครูบาอาจารย์

ผมเคยพูดแบบนี้มาตลอด เมื่อ 2 วันก่อน ผมเพิ่งนึกออกว่า ผมมีหลักฐานที่พระพุทธเจ้าพูดไว้อยู่แล้ว ผมว่าทุกคนเคยสวดบทสวดทำวัตรเย็น มีบทหนึ่งที่เราต้องสวดเป็นประจำ บทแปลก็คือว่า “เราเป็นทาสของพระพุทธ เราเป็นทาสของพระธรรม เราเป็นทาสของพระสงฆ์

เมื่อก่อนผมสวดบทนี้ผมก็งงๆ เอ้…ทำไมพระพุทธเจ้าแบ่งชั้นวรรณะ แต่วันนี้ผมเข้าใจ พระพุทธเจ้าต้องการให้เราเข้าใจว่าชีวิตไม่ใช่ของเราอีกแล้ว อันนี้เป็นการขัดเกลาเบื้องต้น “ทิ้งความเป็นของเรา” ไป

ทำไมพระภิกษุ พระสงฆ์ถึงเป็นเพศที่เกื้อกูลต่อการปฏิบัติธรรมมาก… นอกจากการตัดเครื่องกังวลทั้งหลายในโลกแล้ว มีสิ่งที่ลึกซึ้งมาอีอย่างหนึ่งคือ เมื่อเราบวชเข้าไปแล้ว “ชีวิตไม่ใช่ของเราแล้ว” ทำไมชีวิตไม่ใช่ของเรา? เราถูกบังคับทุกอย่างจะเป็นของเราได้ไง เต็มไปด้วยพระวินัย เต็มไปด้วยข้อวัดปฏิบัติ อยากจะทำอะไรตามใจอยากก็ไม่ได้ เจ้าอาวาสสั่งให้ทำอะไรก็ต้องไปทำ พระพรรษามากกว่าเราสั่งอะไร เราก็ต้องไปทำ

เพราะฉะนั้น มันอัตโนมัติที่กลายเป็นชีวิตที่เกื้อกูลต่อการขัดเกลาอัตตาตัวตน…ออกไป วันที่เราบวชเข้าไปวันแรก เราเป็นพระสงฆ์ในธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าปรินิพพานไป ท่านฝากไว้ว่าพระธรรมวินัยเป็นศาสดาแทนเรา พระบวชเข้าไปต้องทำตามพระธรรมวินัยก็คือ ทำตามพระพุทธเจ้านั่นแหละ ไม่มีสิทธิโต้แย้ง ไม่มีสิทธิถามว่าทำไมต้องทำแบบนี้…แค่ “ต้องทำ” แค่นั้น

เหล่านี้เป็นบารมีอันใหญ่ เมื่อชีวิตไม่ใช่ของเราอีกแล้ว ชีวิตนี้เหลืออะไร? “ชีวิตนี้เหลือแต่หน้าที่” ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมพูดตลอดว่า…การปฏิบัติธรรมเราต้องมี “หน้าที่” รู้จักหน้าที่แล้วก็มี “วินัย” เมื่อมันเป็นหน้าที่ มันไม่เกี่ยวกับความอยาก ไม่เกี่ยวกับความต้องการส่วนตัวของเรา

เมื่อมันเป็น “แค่หน้าที่”…จิตใจนี้จะเริ่มเข้าสู่ “ความเป็นกลาง” ต่อทุกอย่างที่เราต้องทำและเมื่อจิตใจเข้าสู่ความเป็นกลาง…โอกาสประตูแห่งการบรรลุมรรคผลนิพพานถึงจะเกิดได้

แต่ถ้าเรายังใช้ชีวิตเต็มไปด้วยความอยากของเรา ความพอใจของเรา…แบบนี้ไม่เอา แบบนี้เอา ให้ทำนี่ไม่เอา ทำไมต้องทำแบบนี้…ปฏิบัติไปเหอะ เจริญไม่ได้ ปฏิบัติได้..แต่เจริญไม่ได้!!

 

ตอนที่ 4 ปฏิบัติได้ แต่ไปไม่ถึงฝั่งฝัน

การปฏิบัติธรรมไม่ใช่เพียงแค่ปฏิบัติถูก “การใช้ชีวิตให้ถูกต้อง” มีความสำคัญไม่แพ้กัน “ชีวิตจะถูกต้องได้ ต้องมีครูบาอาจารย์

ผมเคยเห็นคนที่รู้วิธีปฏิบัติหมดทุกอย่าง อ่านหนังสือเซนรู้เรื่องหมดทุกอย่าง…แต่ไม่เจริญ! เพราะมันเป็นการเข้าใจด้วยความคิด แล้วก็ใช้ชีวิตภายใต้ความอยากของตัวเอง ความเชื่อของตัวเอง ความพอใจของตัวเอง

เรื่องการใช้ชีวิตที่ถูกต้องผมอยากให้ทุกคน กลับไปพิจารณาให้ดี เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ลึกซึ้ง เรื่องเหล่านี้เราหาอ่านในหนังสือไม่ได้

ถึงแม้เราเป็นฆราวาส ไม่ได้บวช แต่เราอยู่เหมือนพระได้

สมัยก่อนผมทำงานที่บ้าน ผมก็นึกว่าผมปฏิบัติธรรมได้ ปฏิบัติได้ไหม ปฏิบัติได้ รู้สึกตัวได้ไหม รู้สึกตัวได้ ผมเรียกว่าผมไม่เคยลืมเนื้อลืมตัวเลย ตอนที่ผมทำงาน จิตมันแค่ขยับผมก็รู้แล้ว ไม่ต้องให้มันไปคิดด้วย แต่มันก็ยังไม่ถึงที่สุด…สุดท้ายผมออกมาใช้ชีวิต “วิเวก สันโดษ เรียบง่าย อยู่กับตัวเอง

วิถีชีวิตแบบนี้จำเป็นต่อนักปฏิบัติทุกคนที่ต้องการไปถึงความบริสุทธิ์หลุดพ้นโดยสมบูรณ์

แต่ละคนมีเวลาไม่เยอะ ไม่เกี่ยวกับอายุมากหรืออายุน้อย คนอายุน้อยตายก่อนคนอายุมากก็มีเยอะแยะ เพราะฉะนั้นเราต้องเลือกทาง

คนที่ได้มาวันนี้ ผมถือว่าทุกคนมีความตั้งใจที่จะไปสู่ความเป็นอริยบุคคล อย่างน้อยก็โสดาบันให้ได้ในชีวิตนี้

และถ้าเราหวังแบบนั้นเราต้อง “เด็ดเดี่ยว มุ่งมั่น ทุ่มเทชีวิตทั้งชีวิต” เพื่อที่จะบ่มเพาะความเป็นพุทธะนี้ให้มันเบ่งบานขึ้นมา อย่างน้อยเป็นพระโสดาบัน ปิดอบายภูมิได้ ไม่ต้องลงนรกอีกแล้ว ถ้าใครจะได้มากกว่านั้นก็ดี

แต่ถ้าเรายังเข้าใจว่าต้องหาเงินก่อน ห่วงนี่ ห่วงนั่น โลกสำคัญ…โลกสำคัญกับเรา ต้องทำนี่ ทำนั่นก่อน แบบนี้ไปไหนไม่ได้ เสียดายการเกิดมา…เสียดายการเกิดมาที่มีโอกาสได้ฟังธรรม ได้ปฏิบัติธรรม แต่ไปไม่ถึงไหน เพราะมิจฉาทิฏฐิบังตาเราอยู่

ที่นี่เรามีพระสงฆ์ มีแม่ชี ท่านเหล่านี้ก็พร้อมแล้ว ทิ้งทุกอย่าง ถ้าเราไม่บวช แต่เราทิ้งได้ ก็โอเคเหมือนกัน

 

ตอนที่ 5 ไม่ใช่แค่ปฏิบัติถูก แต่ใช้ชีวิตให้ถูกด้วย

ตอนนี้เรากลับมาดูจิตใจเราเป็นยังไง?…ปกติมั้ย “จิตใจที่ปกติอย่างต่อเนื่อง” เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดสัมมาสมาธิได้ สัมมาสมาธิทำให้เราเจริญปัญญาได้ เจริญปัญญา…เข้าใจว่า “โลกนี้อยู่ภายใต้อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา” เห็นได้…เห็นได้ด้วยใจ ไม่ใช้คิดเอา

เมื่อเราเห็นว่าโลกนี้อยู่ภายใต้อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา…ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ควบคุมอะไรไม่ได้ ทุกอย่างเป็นไปตามเหตุปัจจัย หรือจะเห็นว่าโลกนี้เป็นของน่าเบื่อ มันก็มีแค่นี้แหละ วนไปวนมาอยู่อย่างนี้แหละ

พอมันเบื่อหน่าย มันก็คลายกำหนัด…คลายกำหนัดเนี่ย! เขาก็ว่าจึงหลุดพ้น แต่ก่อนจะหลุดพ้น…พอมันคลายกำหนัดนี้มันเป็นยังไง? จิตใจมันเป็น “กลาง” เป็น “ปกติ

ที่ผมพูดทั้งหมดเนี่ย! เราไม่ทำอะไรเลย ไม่ต้องทำอะไรยากๆ เลย แต่เรามีเวลาให้มันมั้ย? เราทุ่มเทชีวิตให้กับสิ่งๆ นี้ได้มั้ย? เราเสียสละโลกได้มั้ย?

การปฏิบัติเนี่ย! มันง่ายมาก ทุกคนคงได้ลิ้มชิมรสความง่ายของมันแล้วว่ามันง่ายขนาดไหน แต่ขั้นต่อไป (Step) ที่ผมพูดมาทั้งหมด ชีวิตที่เหลือของเราทุ่มเทให้กับมันได้มั้ย? เรากลายเป็นคนไม่มีคุณค่าในโลกนี้ได้มั้ย? เป็น Useless person ได้มั้ย? เป็นคนที่ทุกคนลืมเราไปแล้วว่ามีเราอยู่บนโลกนี้ได้มั้ย?

แล้วเราจะได้ลิ้มรสความไม่มีตัวตน ความบีบคั้นจากความไม่มีตัวตนในใจเราว่ามันทุกข์ทรมานขนาดไหน จากที่เราเคยมีตัวตนมาตลอดทั้งชีวิต เพื่อนก็คิดถึงเรา คนรักก็คิดถึงเรา พ่อแม่ พี่น้องคิดถึงเรา เราเป็นประโยชน์กับคนนี้ เป็นประโยชน์กับคนนั้น วันนึงถ้าเราไม่มีประโยชน์กับใครเลย ไม่มีใครเอาเราแล้ว เคยรู้สึกแบบนั้นกันบ้างมั้ย? เหมือนหนังเรื่อง Cast away ที่ไปติดเกาะ

ครูบาอาจารย์สมัยก่อน บวชนี่! ก็เข้าป่าไปเลย เป็นบุคคลที่โลกลืมทุกคนทุกองค์…เพราะไม่มีประโยชน์กับใครแล้ว เพราะฉะนั้นเข้าป่าไปฝึกปฏิบัติธรรม “ทิ้งทุกอย่าง”…นี่เป็นบารมีอันใหญ่

เพราะฉะนั้น ต่อไปนี้นอกจากว่าเราเป็นนักปฏิบัติจริงแล้ว เราต้องเป็นคนจริงด้วย…เอาจริง

ผมพูดทั้งหมดนี้ผมไม่ได้พูดตามหนังสือ เป็นประสบการณ์ของผมเอง ผมไม่ได้บอกว่าเราต้องไปเข้าป่าเข้าดง เข้าอะไร ทำแค่ที่ผมบอกนี่แหละ…ออกมาอยู่อย่างวิเวก สันโดษ ใครไม่มีปัจจัยพอก็ไปบวช

เราต้องการผลอันยิ่งใหญ่ ผลของการข้ามโคตร…จากโคตรปุถุชนเป็นโคตรอริยบุคคล เรียกว่าข้ามโคตรเหง้า ต้องใช้พลังงานเยอะ ต้องใช้บารมีเยอะ ไม่ใช่ชิวๆ อยู่ ปกติดี ปกติดี นั่งกระดิกเท้าบรรลุธรรม….ต้องเสียสละเยอะ

อดทนในสิ่งที่ทนได้ยากได้” อดทนต่อคำพูดของคนรอบข้างที่เต็มไปด้วยมิจฉาทิฏฐิให้ได้ ผมอดทนมาแบบนั้นเหมือนกัน

เสียสละตัวเองก่อน” แล้วถึงจะช่วยคนที่เรารักและคนอีกมากมายบนโลกนี้ได้

สังเกตตอนนี้เรายังรู้เนื้อรู้ตัวอยู่มั้ย? สังเกตสภาพแห่งการปลอดความคิดปรุงแต่ง มันไม่ใช่ความสุข มันไม่ใช่ความทุกข์ แต่มันเป็นสภาพที่พ้นทุกข์

ศาสนาพุทธเราสอนถึงความพ้นทุกข์ ไม่ใช่ความสุข ถ้าเราจะเอาความสุข เราจะได้ความทุกข์ด้วย แต่ถ้าเราไม่เอาอะไรเลย…ไม่มีอะไร

ความเป็นพระอรหันต์อย่างหนึ่งก็คือ สภาพสิ้นตัณหาแล้ว…สิ้นความอยากแล้ว หมดสิ้นตัณหาและความอยาก…มันก็หมดทุกข์ มันก็เหลือแต่หน้าที่ “เหลือแต่การทำหน้าที่” เหมือนผมมีหน้าที่ต่อทุกคนต้องมานั่งบนนี้

พระพุทธเจ้าเคยพูดกับพระนางยโสธราบอกว่า “เราเป็นสมบัติของโลกนี้แล้ว” หมายความว่าเราไม่ได้มีหน้าที่เฉพาะต่อกับเมียและลูก แต่เรามีหน้าที่ต่อทุกคนบนโลกนี้ที่เราต้องช่วย

เพราะฉะนั้น การสอนธรรมะของครูบาอาจารย์เป็นไปด้วยหน้าที่เฉยๆ ไม่ได้เป็นไปด้วยความอยากจะสอน

เพราะฉะนั้น วันนี้เราต้องเข้าใจว่านอกจาก ปฏิบัติถูกแล้ว…ก็ใช้ชีวิตให้มันถูก ใช้ชีวิตให้มันถูกได้…ต้องมีครูบาอาจารย์ที่ถูก จะมีครูบาอาจารย์ที่ถูกได้…อาศัยบุญเยอะ  ดูอย่างองค์คุลีมาลไปเจออาจารย์ผิด ฆ่าคนไปตั้งเยอะ ยังมีบุญพอ พระพุทธเจ้าไปโปรด ได้เป็นพระอรหันต์ขึ้นมา

 

ตอนที่ 6 ธรรมชาติขัดเกลา

นักปฏิบัติเราต้องเห็นความไม่ชอบในใจตัวเอง เห็นความกระเพื่อมหวั่นไหวที่เกิดขึ้นในใจตัวเอง

มีคนชอบมาถามผมบอกว่า ปฏิบัติธรรมมาตั้งนานแล้ว คนเขาว่ามายังโกรธอยู่เลย ยังกระเพื่อมอยู่เลย

ผมบอกว่า คนเดียวที่ไม่กระเพื่อมคือ…พระอรหันต์

เพราะฉะนั้น ไม่ต้องรีบว่าจะไม่กระเพื่อม ถ้าบอกว่าปฏิบัติแล้วไม่กระเพื่อมเลย อันนี้! แย่แหละ อาการหนัก ต้องกระเพื่อม…เป็นธรรมชาติ แต่ “รู้ทัน” ว่ามันกระเพื่อมแล้ว

คำถามยอดฮิตที่ผมได้ยินมาอีกอันคือว่า “โกรธ” ปฏิบัติแล้วยังโกรธอยู่เลย คนที่ละโกรธได้คือ พระอนาคามี เพราะฉะนั้น โกรธไว้ก่อนไม่ต้องรีบเป็นพระอนาคามี

เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องของ “การขัดเกลาทางธรรมชาติ” ที่มัน ไปเรื่อยๆ ไปเรื่อยๆ ไปเรื่อยๆ ไม่ใช่เรื่องของการที่ว่า ปฏิบัติปุ๊บ…ต้องดีเลย ปฏิบัติปุ๊บ…ต้องโอ้โห! ยอดมนุษย์อุลตร้าแมน…ไม่ได้เร็วขนาดนั้น

แต่มันจะดีขึ้นเรื่อยๆ คือหมายความว่าเคยกระเพื่อมแบบสุดๆ หลุดออกมาทางปาก สีหน้า มือ เท้า ไปหมด มันคล้ายๆ มันอยู่ข้างใน เก็บปาก เก็บมือ เก็บเท้า เก็บสีหน้าได้ มันก็ค่อยๆ …กระเพื่อมมาก ก็กระเพื่อมลดลง ให้มันเป็นธรรมชาติแบบนั้น ถ้าเป็นแบบนั้นได้ เห็นได้…นี่! ดีขึ้นแล้ว

 

ตอนที่ 7 ต้องเลือกให้ถูก

ทำไมเราไม่ทุ่มเทกำลังกายกำลังใจ เพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้นสูงสุดในชีวิตของเรา ทำไมเราเลือกไม่ได้ อันนี้เป็นเรื่องแปลกนะ เป็นเรื่องแปลกมากว่าเราเลือกไม่ได้ที่เราจะ..โอ้ย! จะเป็นพระอรหันต์ โอ้โห! ต้องดูแลกิจการก่อน เนี่ย! เราต้องไปคิดกันให้ดี ทุกคนจะกิจการใหญ่ กิจการเล็กเราก็ทุ่มเท 100 เปอร์เซ็นต์ทั้งนั้นแหละ ทำงานเป็นพนักงาน เราก็ทุ่มเทเหมือนกัน…ต้องเลือกให้ถูก

พระพุทธเจ้าออกบวชอายุ 29 ปี เป็นพระอรหันต์อายุ 35 ปี ต้องใช้เวลา กำลังกาย กำลังใจที่เรามีอยู่ ใช้มันเต็มที่

แม้กระทั่งเรามีอายุมาก แต่เรามีกำลังกาย กำลังใจที่ดีอยู่ อันนี้ก็เหมือนกัน ก็ทำได้

หลวงพ่อเทียนตัดสินใจออกจากบ้านเลย มีกิจการตั้งเยอะ มีเรือตั้งหลายลำสมัยนั้น วันนึงทะเลาะกับเมีย เมียบอกว่า เจ้าโกรธ เจ้าก็ลงนรกอยู่คนเดียว ฉันไม่เกี่ยว  หลวงพ่อเทียนเข้าไปในห้อง เก็บกระเป๋า ออกเลย บอกว่า ถ้าความโกรธยังไม่หายไปจะไม่กลับบ้าน นั่นแหละ! 3 วัน เป็นพระอรหันต์เลย

มันต้องเด็ดเดี่ยวแบบนั้น “ความเด็ดเดี่ยว” นี้เป็นบารมี เป็นพลังอันใหญ่

ไม่มีชีวิตไหนที่จะดีไปกว่าชีวิตแบบเป็นสมณะ นักบวช…ชีวิตที่ปลดเปลื้องพันธนาการเครื่องร้อยรัด ความกังวลต่างๆ แล้วเหลือเพียงแต่ “หน้าที่ในชีวิต” หน้าที่ที่ผมบอกให้ทำ… “รู้สึกตัว ไม่ตามความคิดไป รู้จักสภาพที่ปกติอยู่

อะไรก็ตามที่มากไปก็ไม่ดี น้อยไปก็ไม่ดี…ต้อง “พอดี” บุญมากไปก็ไม่ดี เพราะเวลารวยมากไป ก็สบายมาก มันก็เลยใช้ชีวิตสบายๆ คิดว่าชีวิตนี้ไม่ทุกข์…ติดสบาย  อันนี้เขาเรียกว่าบุญมากไปก็ไม่ใช่ดี บุญน้อยไปก็ไม่ดี เพราะว่ามันขัดสนข้นแค้นจนไม่มีปัญญาเห็นทุกข์ มันทุกข์อยู่อย่างนั้นแหละ มันต้องดิ้นรน หาเลี้ยงชีวิตให้รอดไปวันๆ อันนี้เรียกบุญน้อยเกินไป ก็ไม่ดีเหมือนกัน

เพราะฉะนั้น เราต้องรู้จักว่าอะไรที่มันเกื้อกูลกับการปฏิบัติ ชีวิตแบบไหนที่ไม่เกื้อกูลกับการปฏิบัติ และ “ชีวิตที่พอดี” ก็เป็นชีวิตแบบที่ผมบอกนี่แหละ….. “วิเวก สันโดษ อยู่ด้วยตัวเอง อยู่แบบเรียบง่าย เป็นบุคคลที่โลกลืม

หลวงปู่ดูลย์เคยพูดใน “จิตคือพุทธะ” ประโยคสุดท้ายหลวงปู่ดูลย์พูดว่า ”ความตรัสรู้คือความที่ไม่มีอะไรให้ระลึกถึง” ฟังดูเย็นชามาก แต่มันเป็นแบบนั้น เพราะอะไร? เพราะเข้าใจแล้วว่า “มันไม่มีคน มันเป็นแค่กรรม

พระพุทธเจ้าตรัสรู้ปุ๊บ…คนแรกที่พระพุทธเจ้าไปหาคือ ปัญจวัคคีย์ พระพุทธเจ้าไม่ได้วิ่งไปหาพ่อก่อน ถ้าเป็นคนในโลก เราคิดว่าพ่อแม่สำคัญที่สุด เราต้องวิ่งไปหาพ่อ แม่ ลูกเราก่อน

แต่เมื่อตรัสรู้แล้ว เราไม่มีอะไรให้ระลึกถึง เราไม่มีพันธะแบบนั้นแล้ว พระพุทธเจ้าจะช่วยคนที่ช่วยได้ก่อน คนที่ใกล้ชิดที่สุดก็เป็นคนที่ช่วยยากที่สุดเป็นธรรมชาติ

บ้าน” นี่ก็ไม่ใช่ที่ปฏิบัติธรรมเหมือนกัน เพราะว่าอะไร? บ้านนี่เต็มไปด้วยพลังงานของ “ความห่วงและกังวล”  เราโตขึ้นมา ก็มีแต่ความห่วงและกังวล…ผัวห่วงเมีย เมียห่วงผัว พ่อห่วงลูก แม่ห่วงลูก ลูกห่วงพ่อ ลูกห่วงแม่ มีแต่ความกังวลอย่างเดียว เพราะฉะนั้น มันไม่ใช่สถานที่ที่เหมาะสมในการปฏิบัติธรรม

ส่วน “กรุงเทพ” เป็นพลังงานแห่ง “กิเลสตัณหา” กลับมาปุ๊บ…เนี่ย! เต็มไปด้วยความฟุ้งซ่าน…ปฏิบัติยาก เดี๋ยวแป๊บๆ ออกไปซื้อโน่นหน่อย เดี๋ยวแป๊บๆ ออกไปซื้อนี่ ขาดนี่…ไปโน่นไปนี่ตลอด

การปฏิบัติธรรมเป็นเรื่องของธรรมชาติขัดเกลา ผมให้ไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม เพื่อให้ธรรมชาตินี้ร่วมขัดเกลาจิตใจเรานี่แหละ แต่ถ้าเราอยู่ในที่เดิมๆ อยู่เหมือนเดิม เคยปฏิบัติได้แค่ไหน มันก็อย่างงั้นๆ…มันก็เหมือนเดิม

สังเกตสิ…พวกเราในนี้ผมว่าปฏิบัติธรรมกันมานานแล้วแหละ แต่ไม่มีใครบอกเราในเรื่องแบบนี้ที่ผมบอก…เรื่องของ “การทิ้ง การเสียสละ” ว่ามันสำคัญขนาดไหน เขาก็บอกเราว่า…เออ! ทำงานไป ปฏิบัติธรรมไป ทำงานไป ปฏิบัติธรรมไป เราก็พิสูจน์ด้วยตัวเองแล้วนะหลายปีว่ามันเจริญหรือไม่เจริญ

เราต้องพิสูจน์ตัวเองได้ว่า… เออ! มันไม่เจริญ มันก็แค่นี้แหละ อะไรอย่างนี้

นักปฏิบัติเราผมพูดตลอดว่า “ต้องซื่อสัตย์กับตัวเอง”… คือ ถ้ามันไม่เจริญ ไม่ดีขึ้นเนี่ย เราต้องรู้ เราต้องตรวจสอบว่าเราขาดอะไร มันยังมีอะไรที่เรายังทำได้อีกมั้ย? แล้วเราก็ต้องทำ ถ้าเรายังทิ้งหมดไม่ได้…ก็เริ่ม ลองเริ่มอย่างนึง…ก็เริ่มอย่างที่สองได้…เริ่มอย่างที่สามได้

แต่ที่ผมบอกเมื่อกี้นี้ว่า เรามีหน้าที่ “ไม่คบคนพาล คบกัลยาณมิตร” กัลยาณมิตรของผมก็คือ หลวงพ่อ ผมก็คบอยู่คนเดียวตอนนั้น

 

ตอนที่ 8 ดูแลเป็นหน้าที่

สภาพที่เป็นปกติ” อันนี้มันมีอยู่แล้ว เราแค่…รู้จักมันบ่อยๆ รู้จักมันบ่อยๆ มันก็เป็นพื้นฐานของจิตใจเรา

การปฏิบัติธรรม!! อย่าคิดว่าเป็นการปฏิบัติแล้วจะได้ความสุขจากการปฏิบัติธรรม เมื่อจิตใจนี้เป็นปกติแล้ว แต่จิตใจนี้ยังมีอวิชชาอยู่ ยังมีสังโยชน์ สังโยชน์คือเครื่องร้อยรัดที่จะก่อให้เกิดกิเลสตัณหาได้ มันยังอยู่ เพราะฉะนั้นมันยังสร้างทุกข์ให้เราเสมอ

เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าเลยบอกว่า การปฏิบัติธรรม…เราต้องปฏิบัติจนวันนึงเรารู้แจ้งกองทุกข์ เรียกว่า รู้แจ้งอริยสัจ 4 เราถึงจะพ้นจากทุกข์ทั้งมวลได้

เพราะฉะนั้น ปฏิบัติธรรมจำไว้ว่า มันจะต้องมีความทุกข์ผ่านเข้ามาและเราก็ได้เรียนรู้มัน แต่ถ้าใครปฏิบัติแล้วมีแต่สุข…โอ้! มีความสุข มีความสุขจัง…นี่! อาการหนักแหละ

โลกนี้เต็มไปด้วยทุกข์ กายกับจิตนี้เป็นทุกข์ด้วยตัวมันเอง เราจะบอกว่ามันเป็นสิ่งสวยงาม มีความสุขกับมันตลอดเวลา…เป็นไปไม่ได้!

เราต้องเรียนรู้ว่า “มันเป็นทุกข์” จนวันนึงมันปล่อยวางกายกับจิตนี้ไป พอมันปล่อยวางกายกับจิตนี้ไป มันก็เบาสบาย มันก็พ้นทุกข์ อยู่กับมันแต่ไม่ทุกข์เฉยๆ

เขาเรียกว่า “ทุกข์มีอยู่ แต่ไม่มีผู้ทุกข์” กายนี้ก็เป็นทุกข์เสมอ ทุกข์มีอยู่ แต่ไม่มีผู้ทุกข์ คือไม่มีใครยึดมัน มันจะเป็นจะตายก็เรื่องของมัน แต่เรามีหน้าที่ดูแล ที่ผมบอกหน้าที่ คำว่า “หน้าที่”….เรา “ไม่ได้เป็นเจ้าของมัน” เรามีหน้าที่ดูแล ให้เราใช้มันได้ เหมือนผมต้องดูแลร่างกายเพื่อผมจะมาพูดได้

เราต้องรู้จักว่า “ดูแลเป็นหน้าที่” กับ “อยากจะให้มันดี” อยากจะให้มันเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้…มันคนละอย่างกัน มันใกล้ๆ กัน แต่มันคนละอย่างกัน

 

ตอนที่ 9 แค่จิตใจ “ปกติ” อยู่…มันก็จะเป็นเอง

สภาพปกตินี้ที่มีอยู่แล้ว มันก่อให้เกิดสัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิก่อให้เกิดการเจริญปัญญา พอเราเจริญปัญญารู้แจ้งแทงตลอดในกองทุกข์นี้แล้ว มันจะ “เกิดญาณ” มันจะเป็นลำดับญาณ

สังขารอุเบกขาญาณ” คือ ความเป็นกลางต่อสภาพปรุงแต่งทั้งปวง แล้วก็ไล่ไปถึงโคตรภูญาณ อันนี้ก็ข้ามโคตรจากปุถุชนไปเป็นอริยชน…มันเป็นเอง มันเป็นเองจากการที่เราทำแค่นี้ แค่จิตใจเรา “ปกติ” อยู่นี่แหละ

พอจิตใจเราปกติ สภาวะที่เกิดมา เราก็เห็นได้ สภาวะทุกข์ สภาวะอะไรเข้ามาเราก็เห็นได้ใช่มั้ย? ความไม่พอใจ ความกระเพื่อมหวั่นไหวเกิดขึ้น… เราก็เห็นได้ใช่มั้ย?

เวลาเราไปอยู่ต่อหน้าครูบาอาจารย์ ใจเต้นตุ๊บๆๆ ตุ๊บๆๆๆๆ เลย นั่งไปสักพักมันก็ค่อยๆ สงบลงใช่มั้ย? ถามว่าเราทำอะไรมั้ย? เราไม่ได้ทำอะไร มันสงบเอง มันก็ค่อยๆ ลดระดับลงเอง เราก็เข้าใจ…อ๋อ! นี่เราคุมอะไรไม่ได้ อยากให้มันหายมันก็ไม่หาย แต่พอนั่งไปเรื่อยๆ คุยกับครูบาอาจารย์ไปเรื่อยๆ มันคุ้นเคยมากขึ้น มันก็เป็นปกติเอง มันเป็นไปตามเหตุปัจจัยอย่างนี้

คือสภาวะแต่ละอันเข้ามา เราก็จะเริ่มเรียนรู้ว่ามันเป็น “อนิจจัง ทุกข์ขัง อนัตตา” จิตใจนี้มันเริ่มเรียนรู้ว่าสภาวะใดสภาวะหนึ่งเกิดขึ้นแล้วมันก็ต้องดับไป มันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

จิตใจจะเรียนรู้อย่างนั้นได้คือ จิตใจต้องมีสัมมาสมาธิก่อน สัมมาสมาธิเกิดขึ้นได้เพราะมันปกติอยู่ มันก็เริ่มจากอันเดียวนี้แหละ แล้วมันก็เป็นเองไปเรื่อยๆ

เราปฏิบัติถูกแล้ว เราเข้าใจวิธีปฏิบัติง่ายๆ แบบนี้แล้ว เราต้องมีเชื้อเพลิง….

ก็สิ่งที่ผมบอกคือ “การเสียสละ การทิ้ง การเลือกชีวิตที่ถูกต้อง” ให้ได้ มันจะเป็นกำลังสำคัญ

 

#Camouflage

YouTube : https://youtu.be/QF-f0N3BGQY

คลิปเสียงธรรมะทั้งหมดของอาจารย์ Camouflage : https://goo.gl/RDZFMI

======================

5 ช่องทางการอ่านและฟังธรรม

1) Facebook : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
http://www.facebook.com/sookguysookjai

2) Line : @camouflage.talk
https://line.me/R/ti/p/%40camouflage.talk

3) YouTube : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
https://goo.gl/in9S5v

4) Website: https://camouflagetalk.com

5) Podcast : Camouflage – Dhamma Talk
https://itun.es/th/t6Mzdb.c
วิธีการติดตั้ง https://goo.gl/tBMY9S