58.แค่รู้สึก…ไม่ใช่ทำความรู้สึก

 

ตอนที่ 1 อะไรเด่นขึ้นมาก็รู้สึกได้

เวลาเริ่มนั่งสมาธิแบบนี้  เริ่มให้ถูก! ไม่ใช่เริ่มด้วยการหาว่าจะไปอยู่ที่ไหนดี…ไม่ใช่แบบนั้น

กายานุปัสสนาสติปัฏฐานคือ การตามรู้กาย… “กายา” คือ ร่างกาย … “อนุ” ตาม… “ปัสสนา” เห็น คือ เห็นตามอาการทางร่างกาย

ไม่ใช่นั่งปึ๊บ…จะไปอยู่ที่ลมหายใจ ตั้งไว้เลย ตั้งไว้ว่าจะไปอยู่ที่ไหน…ไม่ใช่แบบนั้น!  นั่งปุ๊บ…ความรู้สึกตรงไหนมันเด่นชัด ก็ “รู้สึก” แค่นั้น

ลองกลั้นหายใจ หยุดหายใจ…สังเกตมั้ยความรู้เนื้อรู้ตัวมันเด่นขึ้นมา? นั่นแหละ! รู้สึกแล้ว เนี่ยเค้าเรียกว่า กายานุปัสสนา คือ อะไรมันเด่นขึ้นมา เราก็รู้ชัด ไม่ใช่เราไปตั้งไว้ที่ไหน  พอเราปล่อยลมหายใจปุ๊บ…ขาดลมหายใจนาน เริ่มหายใจเร็วขึ้น เราก็จะรู้สึกที่ลมหายใจชัด…เพราะอะไร? มันเด่นที่สุด

เพราะฉะนั้น เรานั่งสมาธิไม่ใช่อยู่ที่ไหน แต่หมายถึงว่า “อะไรที่มันเด่นก็รู้สึกได้” พอมันไปคิดก็รู้ทัน พอมันเริ่มเคลิ้ม…รู้ทัน พอมันรู้ทันปุ๊บ…มันกลับมาที่ร่างกายตรงไหนก็ตรงนั้น  วูบๆ วาบๆ วูบๆ วาบๆ หัวใจเต้นมันเด่นขึ้นมาก็รู้ทัน…ก็รู้สึกได้ เพราะฉะนั้น นั่งสมาธินั่งแบบนี้ “ไม่ใช่นั่งเอาสงบ”

เดี๋ยวมันหายใจเข้าลึก…เด่นขึ้นมา เราก็รู้สึกได้ สังเกตว่ารู้สึกได้ไม่ได้อยู่ที่ไหน “อะไรเด่นก็รู้สึกได้” นี่คือ การนั่งสมาธิ

ถ้าอะไรเด่น แล้วเราก็รู้สึกได้ นั่นเรากำลัง “ตื่น” ตาหลับแต่ใจตื่น แม้ว่าจะมีอาการเคลิ้ม แต่เราก็รู้สึกได้ถึงอาการเคลิ้ม

เราฝึกแบบนี้ เวลาไปที่ไหน…เดินทาง นั่งรออะไร นั่งเฉยๆ จิตมันจำได้ เราฝึกให้มันรู้จัก…มันจำได้ เดี๋ยวขยิบตา อ้าปาก เคลื่อนไหวนิดหน่อยก็รู้สึกแล้วมันเด่นขึ้นมา มันเด่นขึ้นมาก็รู้สึก

พอมันเป็นแบบนี้…จิตใจเป็นยังไง? ทุกคนตอนนี้ “ปกติ” …ถ้าเรา “แค่รู้สึก” จริงๆ อาการอะไรที่มันเด่นตรงไหนของร่างกายก็ตาม จิตใจที่มันปกติ มันจะเป็น “ความสงบแบบตื่นรู้” ไม่ใช่สงบแบบดำดิ่งแบบไม่รู้เรื่องเลย

 

ตอนที่ 2 ไม่ใช่นั่งเพื่อเอาความสงบ

การปฏิบัติธรรมมันง่ายๆ คือ “แค่รู้สึก” ถ้าเราปฏิบัติถูก อยู่กับคนมากมายก็ไม่มีปัญหา ถ้าเราอยู่กับเนื้อกับตัวเราเอง เรา “รู้สึกอยู่กับเนื้อกับตัวเรา” คนเยอะก็ไม่ใช่ปัญหา คนน้อยก็ยิ่งไม่ใช่ปัญหาใหญ่เลย

เพราะฉะนั้น เวลานั่งสมาธิ ต้องนั่งให้ถูก ไม่ใช่นั่งเพื่อจะเอาความสงบ “ความสงบ

ความสงบเป็นผลลัพธ์จากการนั่งอย่างถูกต้อง

ความสงบของพระพุทธเจ้าไม่ใช่เป็นสิ่งที่ไปทำขึ้นมา

ไม่ใช่ตั้งเป้าหมายนั่งเพื่อจะสงบ ไม่ใช่ตั้งเป้าหมายนั่งเพื่อจะได้สมาธิ

เราเรียนกันมาเยอะ อยากได้โน่น อยากได้นี่ ทำนี่หวังนั่น ทำนั่นหวังนี่…

แค่รู้สึก” นี่แหละ! ทำให้ได้ ไม่มีมากกว่านั้น “รู้สึก” เรียบๆ ง่ายๆ อย่างนี้แหละ ให้มันเนืองๆ ไว้ นั่งก็รู้ อยู่ในชีวิตประจำวันก็รู้ เดินก็รู้ ถ้าทำได้แบบนี้ มรรคผลนิพพานไปไหนไม่ได้ เราต้องพ้นทุกข์ซักวัน

และถ้าเราเข้าใจหลัก (Concept) การปฏิบัติอย่างแม่นยำ เราอยู่บ้านก็ปฏิบัติธรรมได้

เพราะฉะนั้น “นั่งสมาธิ” ไม่ใช่การตั้งเป้าหมายว่าจะไปอยู่ที่ไหน เป็นเพียงแค่ความรู้สึก หลับตาปุ๊บ ความรู้สึกของร่างกายตรงไหนเด่นขึ้นก็ “แค่รู้”…รู้สึกตามนั้น ลมหายใจมันเด่น ก็รู้สึกตามที่มันเด่น แต่ไม่ใช่จะไปอยู่กับลมหายใจ…ไม่ใช่แบบนั้น ไม่มีการตั้งเป้าหมายว่าจะไปอยู่กับอะไร

นั่งก็คือนั่ง มีเพียงแค่รู้สึก อะไรเด่นขึ้นมาก็รู้สึก รู้สึกแล้วก็ผ่านไป ไม่ใช่รู้สึกคาไว้อยู่ตรงนั้น แต่ถ้ามันยังเด่นอยู่ก็รู้สึกไป แต่เดี๋ยวมันเปลี่ยนที่…ก็รู้สึกตาม

ตอนนี้ลองกลั้นหายใจใหม่ จะสังเกตได้…วูบวาบๆ ความรู้เนื้อรู้ตัวชัดขึ้นมาก็รู้สึกได้ ความเด่นก็คือแบบนั้น

เพราะฉะนั้น เราแค่รู้สึก รู้สึก รู้สึก..แค่นี้ ไม่ต้องทำอะไรเลย ความสงบมาเอง จิตใจตั้งมั่นมาเอง สภาวะ อารมณ์ ความคิดเกิดขึ้น…รู้ทันได้

เพราะฉะนั้น การปฏิบัติธรรมของเราทุกคน เดินจงกรมแล้ว ให้เวลากับการนั่งแบบที่ผมสอนแบบนี้ด้วย แบ่งเวลาซักครึ่งชั่วโมง สี่สิบห้านาทีนั่งแบบนี้…การนั่งแบบนี้จะทำให้จิตใจมีกำลังมาก อยู่กับตัวเองมากขึ้น

 

ตอนที่ 3 แค่รู้สึก…ไม่ใช่ทำความรู้สึก

สังเกตเวลาปลายลมหายใจออก ลมหายใจออกไปยาวๆ ยังไม่ต้องการลมหายใจเข้า จังหวะตรงนั้น…ความรู้เนื้อรู้ตัวนี้จะแจ่มชัด…วูบๆ วาบๆ มันมาเอง ถ้าเรานั่งแบบนี้ นั่งเป็นชั่วโมง เราก็นั่งได้ เพราะอะไร? มันไม่ดิ้นรนจะเอาอะไร มันเป็นการเลื่อนไหลอยู่ในธรรมชาตินี้เฉยๆ มันบริสุทธิ์ เพราะมันเป็น “แค่ความรู้สึก

ตามรู้สึก อะไรที่มันเด่นขึ้นมาทางร่างกายนี้…อย่าลืม! มันเด่นขึ้นมา เราถึงรู้สึกขึ้นมาได้

เสียงดังๆ แบบนี้ เห็นมั้ยว่ามันสะเทือนร่างกายเรา? ร่างกายเราก็สะเทือนไปด้วย ก็เด่นขึ้นมา ก็รู้สึกได้ ถ้าเรารู้สึก…รู้สึกอยู่อย่างนี้ เราก็ไม่อยู่ในโลกของความคิดปรุงแต่งอัตโนมัติ พอมันไม่อยู่ในโลกของความคิดปรุงแต่งมันก็เป็นสมาธิอัตโนมัติเลย

สังเกตให้ดี! เราไม่ได้ทำอะไรเลย เราเพียงแต่เริ่มให้ถูก เข้าใจให้ชัดเจนว่าการปฏิบัติธรรมทำยังไงกันแน่ ไม่มีอะไรซับซ้อน เรียบง่าย เริ่มถูกก้าวเดียว ที่เหลือก็ถูกหมด

เวลาฟังครูบาอาจารย์บอก “รู้สึกตัวไว้…รู้สึกตัวไว้” รู้แบบนี้…ไม่ใช่ตั้งใจจะทำความรู้สึก ไม่ใช่แบบนั้น…คือ แบบนี้ อะไรเด่นขึ้นมาก็รู้สึกได้ อะไรเด่นขึ้นมาก็รู้สึกได้ รู้เนื้อรู้ตัวอยู่…ไม่ใช่การทำ!

เพราะฉะนั้น เราต้องเข้าใจว่ารู้สึกตัวที่ถูกต้องคือแบบไหน พวกเราน่าจะมีประสบการณ์ทุกคน อยู่กับครูบาอาจารย์ เจอครูบาอาจารย์ดูจิตได้ รีบทำความรู้สึกตัว เลยโดนด่ากันทุกคนว่า “รู้สึกตัวยังไม่เป็น”…ก็ใช่! เพราะมันทำไม่ถูก มันไปทำความรู้สึกตัว

แต่การปฏิบัติธรรมที่ผมพูดตลอด ไม่ใช่เรื่องของการทำ ไม่ใช่การทำทั้งสิ้น “กิริยาทำ”…ไม่มี!!

พอนั่งลงไปปุ๊บ…มันชัดตรงไหนก็รู้ว่า…อ๋อ! รู้แล้ว  นั่งอยู่ รู้สึกเด่นขึ้นมาตรงไหน รู้แล้ว รู้สึกแล้ว…แค่นั้น! อันนี้เรียกว่า “รู้สึกตัว” ไม่ใช่ไปทำแข็งเกร็งเหมือนซอมบี้เลย

มันไปคิด รู้แล้ว ใจมันเต้นตุ๊บๆ ตุ๊บๆ ตื่นเต้นอยู่ต่อหน้าครูบาอาจารย์ ก็รู้ว่ามันเป็นแบบนั้น  นี่เรียกว่า “รู้สึกตัวแล้ว” มันทำเอง คนจำนวนมาก…อุ้ย! ตื่นเต้น ไม่ดี นึกว่าไม่รู้สึกตัว…ไม่เกี่ยวเลย จิตใจนี้มันทำเอง ก็ถ้าเรารู้อยู่ว่าใจมันเต้นตุ๊บๆๆๆ เราจะไม่รู้ตัวได้ยังไง เรารู้แล้ว แต่เรานึกว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี จะไปทำให้มันหาย…นั่นแหละ! ผิดตรงนั้นแหละ รีบทำความรู้สึกตัวใหญ่อยากจะให้มันหาย…นี่! ผิดแล้ว  เนี่ย! ตกม้าตายกันง่ายๆ แบบนี้แหละ

เป็นอะไรก็ได้…แค่รู้” ก็รู้ว่าตอนนี้เป็นแบบนี้ อย่ามีตัณหาความอยากที่จะเข้าไปจัดการ การที่อะไรมันเกิดขึ้น แล้วเราก็ไม่มีตัณหาความอยากตัดสินแบ่งแยกจะเข้าไปจัดการให้มันดีกว่านี้ นั่นเรียกว่า เรารู้ตัวแล้ว เรา “ตื่น” แล้ว

แต่ถ้าเราอยากจะเข้าไปจัดการ คิดว่ามันควรจะดีกว่านี้…นั่น! เราหลับแล้ว ถ้าหลับก็แปลว่า ไม่รู้สึกตัวแล้ว

 

ตอนที่ 4 รู้เนื้อรู้ตัวล้วนๆ…เป็น “ปกติ” เฉยๆ

ลองอีกที…หายใจออก ตอนที่มันยังไม่ต้องการลมหายใจเข้า ความรู้เนื้อรู้ตัวชัด วูบวาบๆ มันไม่มีความคิดอะไร เป็นความรู้เนื้อรู้ตัวล้วนๆ ชีวิตของพระอริยะ พระอรหันต์ก็อยู่อย่างนั้นแหละ อยู่แบบว่างๆ ไม่มีอะไร แต่ก็ไม่ได้หลงด้วย อยู่แบบที่เรากำลังนั่งอยู่ตอนนี้ทั้งวัน …ไม่ใช่ความสุข และก็ไม่ใช่ความทุกข์ เป็นความเป็น “ปกติ” เฉยๆ

แต่เดี๋ยวจิตบางดวงก็มีปัญญาขึ้นมา ก็ใช้ปัญญานั้น ใช้งานเฉยๆ ปัญญาเป็นของในโลก เป็นของใช้ในโลก เป็นเครื่องมือเฉยๆ ความเป็น “ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน” กับ “ปัญญา” เป็นคนละเรื่องกัน

เมื่อเราเข้าถึงความเป็นพุทธะ ความเป็น “ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน” จิตในโลกนี้เองมีปัญญาขึ้นมา มันเป็นของในโลก ใช้มันเฉยๆ ไม่เกี่ยวกับความเป็น ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน…ความเป็น “ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน” ในความเป็นพุทธะก็มีแค่นั้น คือ รู้ ตื่น และเบิกบาน ไม่มีมากกว่านั้น

นั่งอีก 5 นาที ลองสังเกตสิ่งที่ผมพูดไปทั้งหมด สังเกตดู…ความรู้สึก มี “แค่รู้สึก”…

กลับไปทุกวันหาเวลานั่งแบบนี้เพิ่ม…รู้สึก รู้สึก อะไรเปลี่ยนก็รู้สึก….

 

#Camouflage

YouTube : https://youtu.be/YqmM9RBjRO8

คลิปเสียงธรรมะทั้งหมดของอาจารย์ Camouflage : https://goo.gl/RDZFMI

======================

5 ช่องทางการอ่านและฟังธรรม

1) Facebook : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
http://www.facebook.com/sookguysookjai

2) Line : @camouflage.talk
https://line.me/R/ti/p/%40camouflage.talk

3) YouTube : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
https://goo.gl/in9S5v

4) Website: https://camouflagetalk.com

5) Podcast : Camouflage – Dhamma Talk
https://itun.es/th/t6Mzdb.c
วิธีการติดตั้ง https://goo.gl/tBMY9S