57.เดินไปเดินมา…บรรลุธรรม

ตอนที่ 1 รู้สึกถึงการเคลื่อนไหว…ให้ความปกติเผยตัวออกมา

เราเดิน… “เดินเป็นธรรมชาติ” เคยเดินท่าไหน…ที่บ้าน ที่สวนลุม ที่สนามกีฬา ก็เดินท่านั้น

เวลาเดิน จิตใจไหลไปคิดก็ “รู้ทัน”…รู้ทัน มันจะกลับมาที่ความ “รู้เนื้อรู้ตัว” ร่างกายของเราเอง

การเดินเป็นการเคลื่อนไหวอย่างนึงเฉยๆ แต่หน้าที่เราก็คือว่า “รู้สึกถึงการเคลื่อนไหว” นั้น ไม่ว่ามันจะเคลื่อนไหวช้า เคลื่อนไหวเร็ว เราก็ “รู้สึก” อยู่

จิตใจปกติดี…เดินไปเดินมาจิตใจชักไม่ปกติล่ะ…รู้ทัน

เดินไปสังเกตจิตใจเป็นยังไง? ไม่มีอะไร เงียบ ปกติ

ทำไมการเดินจงกรมมันถึงปกติง่ายๆ เงียบง่ายๆ…เพราะอะไร? ไม่เหมือนไปเดินช้อปปิ้ง ไปเดินเล่น เดินโน่นเดินนี่

เพราะ “กิริยาของการเดินจงกรม” นี้มันพาให้เรารู้จักความ “วิเวก” รู้จักว่าเราอยู่ในหน้าที่ที่จะอยู่กับตัวเอง เรียนรู้ตัวเอง เราก็รู้จัก “สภาพปกติ” ง่ายๆ สภาพที่ผมบอกเราทุกคนจะต้องรู้จักมันบ่อยๆ สภาพที่มันไม่มีกิเลส สภาพที่มันปราศจากราคะ โทสะ โมหะ…เป็นสภาพเดิมๆ ที่มันมาพร้อมกับเราตั้งแต่เราเกิดมาอยู่แล้ว

การเดินจงกรม” ทำให้มันเปิดเผยตัวออกมาง่ายๆ เราได้พาจิตใจมารู้จักสภาพที่มันสะอาด สว่าง สงบนี้ เรากำลังเปลี่ยนนิสัยจิตใจ แทนที่มันจะไปฟุ้งซ่านมันก็จะมารู้จักสภาพที่ดีกว่า มันก็จะมาอยู่ที่นี่แหละ

พอมันรู้จักบ่อยๆ บ่อยๆ เข้า มันก็เป็น Momentum ส่งผล เวลาเราอยู่ในชีวิตประจำวัน สภาพปกตินี้มันจะไปกับเราด้วย มันจะเปิดเผยตัว เพราะจิตใจเรารู้จัก หรือชอบอยู่กับมันเหมือนกัน ชีวิตวันๆ ของเราจาก Momentum แบบนี้มันก็ทุกข์น้อยลงอัตโนมัติเลย

แล้วความที่ “จิตใจปกติ” อยู่แบบนี้แหละ สัมมาสมาธิ…เรียกว่า สมาธิตั้งมั่น….เรียกว่า “จิตตั้งมั่น”  ก็จะก่อตัวขึ้นพร้อมที่จะเป็น “ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน” พร้อมที่จะเจริญวิปัสสนาญาณ คือ การเห็นความจริง ว่าทุกสิ่งในโลกนี้ล้วนตกอยู่ภายใต้กฎไตรลักษณ์คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ทนอยู่สภาพเดิมไม่ได้ เป็นอนัตตา ควบคุมบังคับอะไรไม่ได้เลย ทุกอย่างก็เป็นไปตามเหตุปัจจัยเฉยๆ

เพราะฉะนั้นมันเกิดจากอะไร? ทุกสิ่งทุกอย่างก็เป็นผลเนื่องๆ กันมา มันเกิดจาก….

เราเดินจงกรม พอมันอยู่กับเนื้อกับตัวปึ๊บ…ความเป็นปกติมันก็เปิดเผยตัวออกมา

ความปกติเปิดเผยตัวออกมานานเข้าๆ…สมาธิตั้งมั่นก็เกิดขึ้น

สมาธิตั้งมั่นเกิดขึ้น อะไรผ่านมาในจิตใจเราเห็นได้ ก็กลายเป็นการเจริญวิปัสสนา

พอเราเจริญวิปัสสนา เห็นความจริงในโลกนี้ว่ามันเป็นอย่างนั้นเอง เป็นเช่นนั้นเองมากเข้าๆ เห็นว่ามันตกอยู่ภายใต้กฎไตรลักษณ์มากเข้าๆ…เกิดอะไรขึ้น?

ญาณทัศนะต่างๆ เริ่มดำเนินจนไปถึงญานที่เรียกว่า “สังขารอุเบกขาญาณ” คือ ญานแห่งความเป็นกลางต่อสังขารปรุงแต่งทั้งปวง และนั่นเป็นประตูสู่มรรคผลนิพพาน

ที่ผมพูดทั้งหมดเนี่ย จะสังเกตว่าเราไม่ได้ทำอะไรเลย มันเกิดจากเราเริ่มเดินจงกรม ทำหน้าที่ “รู้สึกตัว พ้นออกจากโลกของความคิดปรุงแต่ง รู้จักสภาพที่มันปกติ” นี้ไว้บ่อยๆ แล้วทุกอย่างเมื่อกี้ที่ผมพูดทั้งหมดมันเกิดเอง เป็นเอง เจริญเอง

เพราะฉะนั้น จะให้ผมบอกการปฏิบัติธรรมมันยากนี่ ผมพูดไม่ได้เลย เพราะมันง่าย อยู่ที่เราจะทำมันรึเปล่า?…มันยากตรงนี้แหละ

 

ตอนที่ 2 ตื่นเนื้อตื่นตัว ตื่นกายตื่นใจ

เดินไป…จิตใจเริ่มล่องลอย กลับมารู้สึกตัว เริ่มเหม่อลอย กลับมารู้สึกตัว…รู้ทัน

เวลาเดินช้าๆ…สังเกตแรกๆ เราเริ่มเดิน…ความตื่นตัว สดใหม่ สดชื่น มันดี เดินช้าๆ มันเริ่มซึม มันเริ่มเซื่อง…หายใจเข้าลึกๆ “ปลุกความสดชื่น” ขึ้นมาให้มัน “ตื่นตัว” เอาไว้ ให้มันสดชื่นเอาไว้

ความซึม” นี้เป็นโมหะ ความหลง เป็นฝ้าบางๆ อย่าให้มันครอบงำเรา สูดหายใจลึกๆ ลืมตากว้างๆ… “ตื่นเนื้อตื่นตัว” นี่สำคัญ

ปฏิบัติธรรมไม่ได้ไปเอานิ่งสงบ ให้มัน “ตื่นรู้” ตื่นตัว รู้อะไรเป็นอะไร รู้จิตรู้ใจของเรา เรียนรู้มัน มันทำงานได้เอง มันไปคิดเอง…รู้ทัน อารมณ์เปลี่ยนเอง…รู้ทัน เดี๋ยวเบื่อ…รู้ทัน เดี๋ยวสดชื่น…รู้ทัน

มีกิริยาเดียว “รู้อย่างที่มันเป็น” ไม่มีหน้าที่จัดการมัน ไม่มีหน้าที่จัดการให้มันดีกว่านี้ สงบกว่านี้ ไม่มีหน้าที่แบบนั้น มีหน้าที่เรียนรู้มันเป็นแบบนี้จนเข้าใจว่ามันเป็นทุกข์

เวลาเราเข้าใจว่าอะไรเป็นทุกข์ เราจะปล่อยมันได้ ถ้าเราปล่อยมันได้ เราจะเข้าถึงความพ้นทุกข์ทันที

เพราะฉะนั้น “มีหน้าที่เรียนรู้กายกับจิตนี้อย่างที่มันเป็น” ไม่มีหน้าที่ไปแก้ไข จัดการอะไรทั้งนั้น ถ้าเรามัวจัดการให้มันดีอย่างที่เราอยากให้มันเป็น เราจะไม่สามารถเรียนรู้ได้เลยว่ามันทุกข์  และถ้าเราไม่สามารถเรียนรู้ได้ว่ามันเป็นทุกข์ เราจะไม่มีวันปล่อยวางมันได้เลย

เหม่อลอยก็ให้รู้ทัน ซึมก็ให้รู้ทัน อย่าลืมว่าเราต้องตื่น… “ตื่นเนื้อตื่นตัว ตื่นกายตื่นใจ

ถ้าในขณะเดินเราฟุ้งซ่านเยอะ นั่นแปลว่าก่อนหน้านี้เราไม่ค่อยได้ปฏิบัติในรูปแบบ เราไม่ค่อยมีความเป็นปกติเป็นพื้นฐานของจิตใจ…นั่นแปลว่าอะไร? เราไม่ค่อยมีสมาธิ เพราะฉะนั้นสังเกตตัวเอง อะไรที่เรายังอ่อนด้อยอยู่…เพิ่ม!!  ไม่มีระเบียบวินัย ก็มีระเบียบวินัย ไม่ได้ทำในรูปแบบก็ทำซะ มันจะได้เจริญขึ้น

รู้สึกตัว” แล้วอย่าลืมงานอีกอย่าง…กลับมารู้จัก “สภาพที่ปกติ”  เดินไปเนี่ย! เรามีงานอยู่ไม่กี่อย่าง…รู้สึกตัว หันมาดูใจเรา…ปกติ ก็รู้จักมันปกติ นอกนั้นที่เหลือ อะไรจะเกิดขึ้นในใจนี้ “รู้ทัน” อย่างเดียว  รู้ทัน…แล้วก็ปล่อยมันไป ไม่ต้องไปยุ่งกับมัน ไม่ต้องไปวิเคราะห์ วิจัย วิจารณ์มัน…รู้แล้วผ่านไปเลย!

 

ตอนที่ 3 เดินไปเดินมา…ได้บรรลุธรรม

เวลานี้เป็นเวลาอยู่กับตัวเอง เรียนรู้ที่จะอยู่กับตัวเอง

วันนึง อาทิตย์นึง เดือนนึง ปีนึง เราไม่ค่อยมีเวลาอยู่กับตัวเอง มาที่นี่รู้จักการอยู่กับตัวเอง รู้จักความไม่ทุกข์ รู้จักว่าเรามีชีวิตแบบนี้ได้ ชีวิตที่ทำเรื่องง่ายๆ แบบนี้แหละ…เดินไปเดินมานี่แหละ เดินไปเดินมา…“ทำงานทั้งวันได้ 1,500 เดินไปเดินมาได้บรรลุธรรม”

พวกคนสิ้นคิดทั้งหลายไม่ทำอะไร วันๆ เดินไปเดินมา…คนในโลกจะว่าเราแบบนั้น ไม่ทำประโยชน์อะไรให้กับโลกเลย จริงๆ คนในโลกไม่รู้เรื่อง แค่เราไม่ทำบาป ก็ทำประโยชน์ให้กับคนในโลกนี้เยอะแล้ว

สมัยผมสึกมาใหม่ๆ ไม่ได้กลับบ้าน แม่ผมถามว่า วันๆ ทำอะไร? ผมบอกว่า ผมเดินไปเดินมา เหมือนที่พวกเรากำลังเดินอยู่ตอนนี้  จำไว้อันนี้เป็นนโยบาย “ทำงานทั้งวันได้ 1,500 เดินไปเดินมาได้บรรลุธรรม”

ได้บรรลุธรรม” คือได้อะไร? ได้ความไม่ทุกข์ ได้ความพ้นทุกข์อย่างถาวร ได้ความไม่ต้องเกิดอีกต่อไป ภาษาไทยจะพูดว่า เดินไปเดินมามันง่ายๆ แต่หลายคนก็แย้งในใจว่ามันก็ยาก มีภาษาอังกฤษอันนึงได้ยินตอนเล่นโยคะ เค้าบอกว่า การเล่นโยคะ…แค่หายใจ “Simple doesn’t mean easy”…Simple แต่ไม่ได้หมายความว่า ง่าย

การปฏิบัติธรรม คือ Simple แต่ก็ไม่ใช่เชิงง่ายซะทีเดียว แต่ Simple Simple ทำให้ได้…เดินไปเดินมานี่แหละ

ตอนเรียนจบใหม่ๆ ปริญญาตรี ปริญญาโท มีปริญญาเอกด้วย หางานทำแทบตาย ตอนนี้ให้ไม่ทำงานรู้สึกจะยากกว่ายังไงไม่รู้

ตอนไปคอร์สที่เชียงรายปีก่อน หลวงพ่อเคยเทศน์ว่า ทุกคนเสียสละมาเข้าคอร์สที่นี่ ใช้เวลาหลายวัน ถ้ามีคนถามเราว่า “เรามาทำอะไร?” หลวงพ่อให้ตอบว่า “เรามาไม่ทำอะไร” นี่เป็นคำตอบที่ดีมาก เราดิ้นรนทำอะไรตลอดเวลาทั้งชีวิต เราไม่เคยเลยที่จะไม่ทำอะไร เรื่องง่ายๆ เลยกลายเป็นเรื่องยากทันที

เรามาฝึกที่จะไม่ทำอะไร มีหน้าที่แค่เรียนรู้ กายกับจิตนี้อย่างที่มันเป็น และความเข้าใจจะเป็นผลลัพธ์ที่เกิดเอง ใจนี้จะสรุปประมวลความเป็นจริงที่เราสร้างกระบวนการเรียนรู้นี้…มันจะสรุปเอง

มันสรุปเองด้วยตัวมันเองไม่เกี่ยวกับความคิด ไม่ใช่เราเข้าใจ แต่เราก็เข้าใจด้วยนั่นแหละในที่สุด

(ระฆังดัง ติ้ง ติ้ง ติ้ง)

 

ตอนที่ 4 ความสุขอยู่ตรงไหน?

ผู้ฟังถาม : ชีวิตมันอยู่กับความเบื่อ เราก็ทำโน่นทำนี่เพราะว่าเราเบื่อ เพิ่งเข้าใจอย่างลึกซึ้งเพิ่มขึ้น ปกติเราก็อาจจะอยู่กับมันได้ บางครั้งเราก็อาจหนีมันนิดหน่อย เช่น ไปฟังเพลง ดูหนังที่บ้าน แต่ตอนนี้รู้สึกว่า ก็เริ่มอยู่กับมันได้มากขึ้นคือ ด้วยการหายใจเฉยๆ ไม่ทำอะไรเลย ก็นั่งเฉยๆ ชาวบ้านเค้าคงจะมองมาเหมือนนั่งเฉยๆ

ตอบ : ถูกแล้ว อยู่กับมัน เรายังวิ่งไปทำอะไรอยู่เนี่ย เช่น ไปดูหนัง ฟังเพลง ไปเที่ยว ไปอะไรแบบอย่างนี้ เค้าเรียกว่า เรายังไม่เห็นว่ามันเป็นทุกข์ คือ เรายังไม่เข้าใจว่า สิ่งที่เราไปทำนี้มันไม่ใช่ความสุข พอเราเข้าใจว่า เรายังได้ความสุขจากมันอยู่ เราเลยอยากจะไปทำมัน

แต่แน่นอนทุกคนก็จะต้องมีการผ่อนคลายในการปฏิบัติบ้าง  แต่อยากจะให้ทุกคนเรียนรู้ว่า สิ่งที่เราอยากจะไปทำมากๆ เวลาเราได้เสพแล้ว เค้าเรียกว่า “เสพ…ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ” นี้ เสพแล้วมันใช่ความสุขมั้ย? เราต้องสังเกตแบบนี้…เราจะผ่อนคลายแบบที่เราอยากไปทำบ้าง ไม่เป็นไร แต่เราต้องเรียนรู้จากมันด้วยว่า สิ่งที่เราทำมันใช่ความสุขมั้ย? ความสุขอยู่ตรงไหน? ไปดูหนังความสุขอยู่ตรงไหน?…ลองหา หาอยู่ตรงไหน? มันไม่มีหรอก คือ ในความจริงไม่มี ที่บอกอยู่บ้านเราก็เบื่อ ไปเดินห้าง เราบอกเราได้ความสุข เราไปดูซิว่า ความสุขอยู่ตรงไหน เวลาเข้าไปเดินห้างความสุขอยู่ตรงไหน…อะไรเรียกว่าความสุข? เราจะต้องสังเกตแบบนี้ ตรงไหนเป็นความสุข แล้วพอหัดสังเกตเราจะรู้ว่า ไม่มี

เราจะไปญี่ปุ่น ไปสังเกตดูตรงไหนเป็นความสุข…ทำอะไร? ได้ช้อปปิ้งเหรอถึงมีความสุข หรือได้เห็นหิมะ หรืออากาศมันเย็น ก็เปิดแอร์อยู่บ้านก็ได้ ไม่เห็นต้องไปถึงญี่ปุ่น ลองไปสังเกตให้ดีว่า ตรงไหนที่เราเสพเข้ามาแล้วเรียกว่า ความสุข

ถ้าเราสังเกต เรียนรู้จนวันนึงเรารู้สึกได้ว่า มันไม่ได้เรียกว่าความสุข มันแค่เป็นเวทนาอย่างหนึ่ง ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเวทนาก่อนหน้า ก็คือ ความรู้สึกแรกมันเบื่อ แล้วเราก็วิ่งไปทำ พอมันเบื่อปุ๊บ…กิเลสก็ขับดันเรา โอ้ย! ไม่ไหวแล้วโว้ย ไม่ไหวแล้วเว้ย ทำไรดีว้า…ไปเที่ยวดีกว่า ไปฟรึ๊บบ…พอแค่สตาร์ทรถ…ชึ้ง! มันก็มีความสุขแล้ว ยังไม่ถึงที่เที่ยวเลย…เพราะอะไร? “มันได้เปลี่ยนอารมณ์ มันทนอยู่สภาพเดิมไม่ได้” นี่คือ สภาพที่ผมบอกว่า ทุกสิ่งอยู่ภายใต้กฎไตรลักษณ์ คือ มันเป็นทุกข์ทนไม่ได้ จิตใจมันก็เหมือนกัน เป็นทุกข์ทนอยู่สภาพเดิมไม่ได้ มันเลยต้องวิ่งรอกทั้งวันที่จะไปหาอะไรทำ แล้วพอเราได้สิ่งที่เราอยากจะทำ เราก็บังเอิ๊ญ บังเอิญ เรียกมันว่า นี่แหละคือความสุข…แต่จริงๆ ไม่ใช่! เรา “หนีความเบื่อ” ตลอดชีวิตเฉยๆ…หนีความเบื่อตลอด

แม่ผมเคยถามว่า แล้วอยู่อย่างนั้นไม่เบื่อเหรอ ไม่ทำอะไรเลย เดินไปเดินมา ผมบอกว่า เบื่อ…แต่เบื่อนี่แหละ เป็นครูของผม เบื่อนี่แหละเป็นตัวที่ทำให้เรารู้ว่า เรายังปฏิบัติไม่ได้เรื่องเลย…เป็นตัวฝึกเรา

ความเบื่อเป็นตัวฝึกเรา มันเป็นทุกข์ที่ลึกซึ้งที่สุดคือ “ความเบื่อ” เราต้องเรียนรู้อยู่กับมันให้ได้

คนเราจะไม่เบื่อได้ยังไง? เมื่อหมดการแสวงหาแล้ว หมดกิริยาอาการของจิต คือ เป็นพระอรหันต์

เพราะฉะนั้น เบื่อ…เป็นสิ่งที่ต้องอยู่กับมันให้ได้ ฝึกเรียนรู้ มันเป็นสิ่งที่ลึกซึ้งอยู่ก้นบึงของหัวใจเราทุกคน ถ้าเราจะหาความสุข…ไม่ใช่หาไม่ได้ นักปฏิบัติเราต้องผ่อนคลายบ้าง เป็นศิลปะในการปฏิบัติธรรม เป็นศิลปะในการใช้ชีวิตแบบนี้แหละ ที่ไม่ตึงไป ไม่หย่อนไป  พูดแบบนี้เดี๋ยวพวกนี้เอาไป… “ต้องพอดีพี่..ต้องพอดี ต้องไปเที่ยวบ้าง” การผ่อนคลายที่ผมให้ทำแค่…เคยทานข้าวที่บ้านทุกวัน ออกไปทานข้างนอกบ้าง…แค่นี้

 

ตอนที่ 5 จิตใจมันทนอยู่สภาพเดิมไม่ได้

พระพุทธเจ้าบอกว่า “กิเลสตัณหา” เปรียบเสมือนมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ เติมเท่าไหร่ไม่เคยเต็ม ไม่ว่าเราจะสนองมันเท่าไหร่ก็ตาม จะเบื่อมันเท่าไหร่ก็ตาม แต่ถ้ามันขึ้นชื่อว่า เป็นกิเลสตัณหา มันไม่เคยเต็ม แม้ว่าเราจะรู้สึกเบื่อ แต่เราก็ยังอยากไป เหมือนเรามีแฟน…เบื่อมั้ย? เบื่อมันแทบตาย แต่ก็เลิกกับมันไม่ได้ คล้ายๆ มนุษย์เราไม่ค่อยจำความทุกข์ เรามักจะจำความสุขอย่างเดียว

ไปเที่ยวนี่! เบื่อเหมือนกัน …ไม่เบื่อเหรอนั่งเครื่อง แบกกระเป๋า 4 5 6 ตื่น กลับมาถึงเที่ยงคืน พรุ่งนี้เช้า 4 5 6 นะครับ…โอ้โฮ! ยิ่งกว่าไปปฏิบัติธรรมอีก ต้องมีระเบียบวินัยมาก เวลานี้นะครับ ช้อปปิ้งเวลานี้…ห้ามเลยๆเวลา ถ้าเลยเวลาเราจะไม่รับคุณ…คุณกลับเอง  นี่! อย่างนี้…มันก็น่าเบื่อเหมือนกัน แต่เราก็ชอบไป

เรื่องน่าเบื่อๆ ทั้งหลายเนี่ย จริงๆ แล้วทุกสิ่งในโลกนี้ล้วนน่าเบื่อ แต่เราก็ยังอยากทำ…เพราะอะไร? ที่ผมบอก เราทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ จิตใจที่ยังมีอวิชชาอยู่เนี่ย มันทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ต่อให้เบื่อก็ไป คือ กูขอเปลี่ยนจากอารมณ์นี้ กูขออารมณ์อื่นอะไรก็ได้

ผมเคยครั้งนึง ผมอยู่กับตัวเอง…เบื่อเรียกว่า โคตรเบื่อเลยแหละ…เบื่อมาก จิตใจนี้เบื่อมาก ดิ้นรนมาก เรารู้เลยว่า จริงๆ มนุษย์เรา จิตใจของเรานี้ไม่ใช่ต้องการความสุข…ไม่ใช่เลย!  มันแค่ “ต้องการ เปลี่ยนแปลง”  ต้องการการเปลี่ยนแปลงเฉยๆ อะไรก็ได้ ให้กูไปลงนรกก็ยอมตอนนั้น คือ ขอให้ได้เปลี่ยน ความที่มันอยู่ตรงนี้อย่างเดียวมันทุกข์กว่านรกอีก…มันหิวอารมณ์ มันอยู่ที่นี่ไม่ได้ มันต้องไปอีกที่นึง ขอให้เปลี่ยนแปลงหน่อย

เพราะฉะนั้นเลยบอกว่า วันนึงเราจะเข้าใจว่า “จิตแท้จริงแล้วมันเป็นทุกข์ด้วยตัวมันเองเลย” เพราะฉะนั้น มันต้องการเปลี่ยนแปลงเสมอ แล้วเมื่อมันได้รับการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าทุกข์หรือสุข เราพอใจว่าเราได้เปลี่ยนแปลงแล้ว

พอเราพอใช้ว่าเราได้เปลี่ยนแปลงปุ๊บ…หลังจากนั้น ถ้าสมมติอยู่ในสถานการณ์ที่ว่า เหมือนลงนรก เราก็จะค่อยทุกข์ต่ออีก ไม่อยากอยู่ที่นี่แล้ว เราจะเปลี่ยนอีก ไปอีก ถ้าเราไปอยู่ในสถานการณ์ที่สุข เช่น ไปช้อปปิ้ง โอ้! มีความสุข…จับขังอยู่ในนั้นเลยไม่ให้กลับบ้าน จะทุกข์อีกแหละ เพราะในความจริงแล้ว ไม่ใช่สถานที่หรือสิ่งที่เราไป…เราสุขเพราะมันได้เปลี่ยนแปลงเฉยๆ …แค่นั้นเอง

แต่เราเข้าใจผิดว่า สิ่งที่เราไปทำได้ความสุข…โอ้!ไปเที่ยวได้ความสุข…ไม่ใช่! เปลี่ยนใหม่วันหลังอยากจะทำอะไร….อุ้ย! ได้ความเปลี่ยนแปลง …มันจะได้สอนตัวเองว่า ไม่ใช่ได้ความสุข เราได้ความเปลี่ยนแปลงเฉยๆ เพราะจิตใจนี้มันดิ้นรนที่จะเปลี่ยนแปลงเสมอ ทนอยู่สภาพเดิมไม่ได้

ความลึกซึ้งของจิตใจ ความลึกซื้งของชีวิตของเราเองเนี่ย มีเรื่องที่เรายังไม่เคยรู้อีกเยอะที่เราต้องเรียนรู้…ทำไมเราต้องใช้ชีวิตที่วิเวก สันโดษ? ลาออกจากงานเพื่อจะเรียนรู้แบบนี้แหละ เรียนรู้ให้มันเข้าใจด้วยตัวเอง ไม่ใช่มีคนมานั่งบอกแบบนี้ ไม่มีใครบอกผมเหมือนกัน แต่สิ่งแวดล้อมที่ผมอยู่สอนผม และผู้ได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง และเราทุกคนก็ต้องเรียนรู้สภาพเหล่านี้ด้วยตัวเองเหมือนกัน มันถึงจะเป็นการ “เข้าใจ” เข้าไปในใจของเราเอง

ถ้าเราได้แต่ฟังๆ เราไม่เคยรู้เห็นมันจริงๆ …เหมือนเราฟังไฟว่ามันร้อน เราก็ฟังว่าร้อนๆ แต่ไม่รู้ร้อนยังไง จนกว่าจะเอามือไปโดนไฟลวกซักทีนึง รู้แน่เลยว่าร้อนยังไง…อย่างนี้  เพราะฉะนั้น “ต้องรู้เอง”

จะรู้เองได้” ต้องมีเวลาอยู่กับตังเอง เรียนรู้ความทุกข์ที่อยู่ก้นบึ้งที่สุดของชีวิตเราทุกคนคือ “ความเบื่อ

ถ้าเราอยู่ในโลกเราจะไม่ได้เรียนรู้ความลึกซึ้งของความเบื่อนั้น เพราะเดี๋ยวเราก็ไปทำงาน เดี๋ยวคนนี้ก็มาคุยกับเรา เดี๋ยวคนนั้นก็มาคนกับเรา มีแต่เรื่องทุกข์ทั้งนั้นเลย แต่พอบอกให้ลาออก ก็บอกว่าลาออกแล้วจะให้ทำอะไร เบื่อตายเลย….

เห็นมั้ย? มนุษย์เรากลัวเบื่อมากกว่ากลัวทุกข์ที่ทำงานอีก เรากลัวเบื่อที่สุดในโลกนี้เลย แปลว่า ความเบื่อนี้เป็นความทุกข์มหาศาลกับมนุษย์เราทุกคน ถ้าเราไม่สามารถที่จะอยู่กับมันได้…จนพ้นจากมันไป เราต้องเป็นทุกข์ตลอดชีวิตทั้งชาติ

 

ตอนที่ 6 ต้องรู้ตัวเองว่าเหมาะกับอะไร

ผู้ฟังถาม : กลางคืนบางทีเราทำงาน อาจจะมีบางวันที่เราเหนื่อย เราไม่อยากเดิน เราก็แค่อยากจะนั่งเหมือนนั่งฟังแบบเมื่อเช้า หรือนั่งฟังแบบหลวงพ่อ แล้วเปิดธรรมะฟังไปด้วยอย่างนี้ก็แทนกันได้ใช่มั้ยคะ?

ตอบ : ได้ เพียงแต่ว่าในเวลานั้นที่เรากำหนดเอาไว้ เราอยู่กับตัวเอง ถ้าเราอยู่กับตัวเองได้ มันก็อิริยาบถไหนก็ได้

วันก่อนเพิ่งอ่านเจอว่า ลูกศิษย์หลวงปู่มั่นองค์หนึ่ง ไม่ชอบเดินจงกรม อายุสั้น อายุแค่ 40-50 ปีก็มรณภาพแล้ว แต่เป็นพระอรหันต์ นิพพานท่าไหนรู้มั้ย? ท่านอน

นี่! พระพุทธเจ้าเลยบอกว่า “ยืน เดิน นั่ง นอน ปฏิบัติธรรมได้หมด” แต่พวกเราอย่านอนดีกว่า ก็มีลูกศิษย์หลวงปู่มั่นองค์นึง (จำชื่อไม่ได้) ที่เล่าเรื่องนี้บอกว่า แต่ของอาตมาก็นอนไม่ได้ นอนปุ๊บ..หลับเลยยาววว

เนี่ย! เราต้องรู้ตัวเองว่าเราเหมาะกับอะไร….ยืน เดิน นั่ง นอน….เราเหมาะกับอะไร

 

ตอนที่ 7 ไม่ต้องทำอะไร

ผู้ฟังถาม : คิดว่ายังมีหลายคนยังไม่ค่อยเข้าใจว่า “ไม่ต้องทำอะไร” จะขอให้อธิบาย

ตอบ : “ความไม่ทำอะไร”…อย่างแรกสำคัญที่สุดคือ อย่างเมื่อกี้ที่เราเดินจงกรม ที่ผมบอก “เราไม่มีหน้าที่จัดการอะไรให้มันเป็นอะไรอย่างที่เราอยากจะให้มันเป็น” เรามีหน้าที่เรียนรู้อะไรก็ตามที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ตรงหน้าเรานี้ “เรียนรู้มันเฉยๆ…รู้อย่างที่มันเป็น” ไม่มีการเข้าไปทำอะไร จัดการอะไร อันนี้คือการปฏิบัติทางใจ…ทำแบบนี้คือ ไม่ทำอะไร

ส่วน “การไม่ทำอะไรในชีวิตของเรา” ที่ผมบอกส่วนหนึ่งคือ เรารู้ปฏิบัติยังไง ปฏิบัติให้ถูกปฏิบัติยังไง  อีกส่วนหนึ่งคือ ใช้ชีวิตให้ถูกใช้ยังไง…การใช้ชีวิตให้ถูกใช้ยังไง? ก็คือ การรู้จักว่า อะไรต้องทำ อะไรไม่ต้องทำ…อะไรที่ไม่ต้องทำบ้าง? เยอะ เอาอะไรที่ต้องทำดีกว่า…

อะไรที่ต้องทำบ้าง?…ตื่นเช้าเป็นเวลาทุกวันเวลาเดียวกัน จะตี 4 ตี 5 เลือกเอาแล้วกัน เดินจงกรม ตั้งเวลาไว้ 45 นาที 1 ชั่วโมงแล้วแต่ แต่เดินเท่าที่ตั้ง อยากเดินต่อไม่ต้องเดินต่อ  ไม่อยากเดินจนจบเดินให้มันจบ หลังจากนั้นทำกิจวัตรประจำวัน กินข้าว ออกกำลังกาย ล้างจาน ซักผ้า ตากผ้า ถูบ้าน…ทำไป  ในกรณีคนไม่ทำงาน ช่วงก่อนเที่ยง 10 โมง เดินอีกรอบนึง เสร็จปุ๊บ…กินข้าวเที่ยง  ตอนบ่าย บ่าย 3 เดินอีกรอบนึง กินข้าวเย็น สมมตินอน 4 ทุ่ม 3 ทุ่มเดินอีกรอบ 4 ทุ่มนอน…ทำแบบนี้ทุกวัน อันนี้คือ สิ่งที่ต้องทำ

ถ้าอะไรก็ตามที่มาขัดขวาง 10 โมง บ่าย 3 และ 3ทุ่มของเรา…ยกเลิกกิจกรรมนั้นไปซะ ต้องเดินจงกรม เราจะได้รู้ว่าไม่ต้องทำอะไร…นี่ง่ายๆ! ออกไปไหนถ้ากลับมาไม่ทันบ่าย 3 ไม่ต้องไป อยู่บ้านเตรียมเดินจงกรม ถ้าออกไปกลางคืนกลับมาไม่ทัน 3 ทุ่ม ไม่ต้องไป  เราก็จะเหลืออะไรทำน้อยลงเยอะโดยไม่ต้องคิดเลย

ชีวิตเราทั้งชีวิตก็เลยมีแต่การปฏิบัติธรรมอยู่ในหัวใจของเรา แรกๆ ตึงไว้ก่อน หลังๆ พอมันเข้าไปอยู่ในเลือดในเนื้อในกระดูกเราแล้ว เราจะรู้แล้วว่าเราจะเลือกทำในสิ่งที่จำเป็นแม้ว่าอาจจะผิดเวลาบ้าง

เราต้องเข้าใจให้ได้ว่า ชีวิตของเราเกิดมาเพื่อความพ้นทุกข์ พอเราเข้าใจได้ เข้าไปในเลือดในเนื้อ ในไขกระดูกของเรานี้ เราจะไม่ทำสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องพวกนี้เอง แต่ถ้าเราเข้าใจไม่ได้ ก็จำเป็นต้องใช้ “ระเบียบวินัย” อันเคร่งครัด มาบังคับตัวเอง ถ้าเราเข้าใจได้ เราก็จะรู้เองว่า อ้อ…ไม่จำเป็น ไม่ต้องทำ

 

ตอนที่ 8 พาตัวเองไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เกื้อกูล

อันนี้ผมพูดกับหลายคน ตอนผมสึกมา ผมไม่ได้กลับบ้าน ไม่ติดต่อเพื่อน ไม่คุยกับใครเลย ผมฝึกที่จะ “อยู่กับตัวเอง” ตัดโลกภายนอกทั้งหมด กลายเป็นคนไร้ประโยชน์ในโลกนี้ ทุกคนจะต้องเข้าถึงสภาวะ “ชีวิตที่ไร้คุณค่า ไร้ประโยชน์กับโลกนี้” ชีวิตที่ไม่มีใครเอาเราแล้ว เข้าถึงสภาพแบบนั้นได้ นั่น! เรากำลังก้าวหน้าแล้ว

เพราะการที่เราเข้าถึงสภาพแบบนั้น เราจะทุกข์มาก อัตตาตัวตนที่เราเคยมีนี้ถูกบดขยี้ไปด้วยความไร้คุณค่าของตัวเรา… “อดทนอยู่กับมัน” เห็นมั้ยใครทำให้เราได้รับสภาพนั้น?…“สิ่งแวดล้อม”

เพราะฉะนั้น เราต้องอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มันจะบดขยี้กิเลสและอัตตาของเรา  เราจะได้เรียนรู้มัน

“กิเลส อัตตา ตัวตน” ถูกสิ่งแวดล้อมนี้บดขยี้ในความ “วิเวกสันโดษ” ทำให้เราสามารถที่จะรู้ เห็น และเรียนรู้ สภาพทุกข์แบบนั้นได้

พอเราเรียนรู้สภาพทุกข์แบบนั้นได้ เราจะเรียนรู้ว่า โอ้! อัตตานี้เป็นโทษมาก ก่อทุกข์มากจริงๆ

พอเราเรียนรู้ว่ามันเป็นโทษ เราเรียนรู้ว่าอะไรเป็นโทษได้ เราถึงจะปล่อยวางมันได้

ถ้าเราไม่สามารถเรียนรู้ เห็นโทษเห็นภัยของมันได้ ไม่มีวันเลยที่เราจะปล่อยวางมันได้

เพราะฉะนั้น พาตัวเองไปอยู่ในสิ่งแวดล้อม เหมือนอยู่ในหม้อตุ๋น ให้มันตุ๋นเรา ตุ๋นเรา บดขยี้เรา ถูกกิเลสบดขยี้ จนสุดท้ายหลังชนฝา ทำอะไรไม่ได้แล้ว แก้ไขอะไรไม่ได้ สู้อะไรไม่ได้ ได้แต่ยอมอย่างเดียว สภาพนี้สภาวะแบบนี้สำคัญ “สภาวะหมาจนตรอก”

สภาวะแบบนี้ หลวงพ่อชาเคยพูดถึง หลวงพ่อปราโมทย์ก็เคยพูดถึง สภาพที่แบบ “หลังชนฝา” แล้ว หลวงพ่อเคยพูดถึงเหมือนกันบอกว่า หลวงพ่อชาเคยพูดว่า “ปฏิบัติไปจนวันนึงเราจะเหมือนกับเดินเข้ามาในห้องทึบ พอเข้าปุ๊บ…ประตูปิด อันนี้เปิดออกไม่ได้เลยโดนล็อคอยู่ในนั้น ไปไหนไม่ได้”  ในความหมายก็คือ สภาพหลังชนฝานั่นแหละ ทำอะไรไม่ได้อีกแล้ว อันนั้นแหละเป็นประตูสำคัญ เพราะว่าความทุกข์นี้จะบดขยี้ขนาดนั้นจนเรายอม…พอยอมเกิดอะไรขึ้น? ก็เป็นกลาง ยอมแล้ว

เพราะฉะนั้นสิ่งแวดล้อมที่เกื้อกูลต่อการปฏิบัติ ทุกคนต้องไปพิจารณาให้ดี เราพร้อมจะถูกบดขยี้หรือยัง ด้วยสิ่งแวดล้อมที่จะเหมาะสมที่จะทำให้ความเป็น “พุทธะ” ของเราเบ่งบานขึ้นมาในใจของเราให้ได้

แต่มีปัญหาของเหล่านักปฏิบัติ เหล่าลูกศิษย์ทั้งหลาย อยากก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรม แต่แนะนำปุ๊บ…ยังไม่ได้ ยังทำไม่ได้

จำตัวอย่างที่ผมบอกไว้…ตุ่มที่มันเต็มแล้ว ต่อให้เราทำต่อไป น้ำก็ล้นทิ้งเปล่าๆ เราต้องมีตุ่มใหม่เพื่อจะรองรับผลจากการปฏิบัตินั้นต่อไป

ตุ่มใหม่ที่ว่า สมมติว่ามันอาจจะไม่ใช่เรื่องของการที่เราจะต้องมีอะไรที่เป็นการเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ (Major change) แบบนั้น แต่มันอาจจะเป็นการที่เราอาจจะชอบทำอะไรแบบนี้เป็นประจำ แต่เราก็ฝึกที่จะไม่ทำตามแบบนี้แล้ว ไม่ทำตามกิเลสแบบนี้ แล้วดูว่าเป็นยังไง? …อย่างนี้ อย่างละนิดอย่างละหน่อยเหล่านี้ ก็เป็นการเพิ่มตุ่มเหมือนกัน เป็นการเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมเหมือนกัน

คอยเพิ่มความเข้มข้นในการใช้ชีวิต ในการปฏิบัติของเราให้มันงวดเข้าๆ

 

#Camouflage

YouTube : https://youtu.be/B-ccjIIsbo8?list=PL-nWQRla16EXeSxhPBR5NwF7KfDqtosjV

คลิปเสียงธรรมะทั้งหมดของอาจารย์ Camouflage : https://goo.gl/RDZFMI

======================

5 ช่องทางการอ่านและฟังธรรม

1) Facebook : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
http://www.facebook.com/sookguysookjai

2) Line : @camouflage.talk
https://line.me/R/ti/p/%40camouflage.talk

3) YouTube : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
https://goo.gl/in9S5v

4) Website: https://camouflagetalk.com

5) Podcast : Camouflage – Dhamma Talk
https://itun.es/th/t6Mzdb.c
วิธีการติดตั้ง https://goo.gl/tBMY9S