56.เสียสละ

 

ตอนที่ 1 “ใจที่เป็นปกติ”…ความสงบตามวิถีธรรมชาติ

การนั่งสมาธิ! …เริ่มแรกเราก็หลับตานิดหน่อย การหลับตาในตอนเริ่มแรกนี้ไม่ใช่เพื่อจะได้ความสงบ แต่การปิดอายตนะทางสายตาลงไป เพื่อลดความฟุ้งซ่านในการที่เราส่งออกไปทางตา พอเราหลับตาซักหน่อย…เราจะรู้สึกถึงความฟุ้งซ่านที่มันสงบระงับลง เมื่อความฟุ้งซ่านมันลดลง ความสงบก็บังเกิดขึ้นเอง ไม่ใช่เราไปทำให้มันสงบ

ความสงบแบบนั้น…เมื่อกี้ที่ผมเงียบไป เป็นความเป็น “ปกติ” เป็นความสงบที่เราไม่ได้สร้างขึ้นมา เป็นความสงบที่เกิดขึ้นจากการที่เราได้อยู่กับตัวเอง อยู่กับกาย “อยู่กับความรู้สึกตัว

“การอยู่กับความรู้สึกตัว”…ไม่ได้เพ่ง รู้สึกสบายๆ เป็นความรู้สึกของการแค่เราไม่ลืมเนื้อลืมตัวไป  อันนี้เป็นความสงบตามวิถีธรรมชาติที่เราทุกคนมีอยู่แล้วโดยไม่ต้องทำอะไรเลย

การปฏิบัติธรรมทุกคนฟังคลิปที่ผมพูด อ่านหนังสือมาเยอะมากแล้ว เป็นเรื่องที่ทุกคนเข้าใจแล้วว่า…

หัวใจหลักของการปฏิบัติธรรม คือ……

“รู้เนื้อรู้ตัว พ้นออกจากโลกของความคิดปรุงแต่ง ไม่ตามเข้าไปในความคิด” ไม่ให้ความคิดหลอกเรา

แล้วก็ “รู้จักสภาพจิตใจที่มันเป็นปกติ” ซึ่งเป็นสภาพที่อยู่กับเราเสมอ อยู่กับเราตลอดเวลา

 

สภาพเดิมแท้…สภาพไร้กิเลส สภาพไร้ราคะ ไร้โทสะ ไร้โมหะ สภาพบริสุทธิ์ …..เราทำแค่นั้นแหละ

ความเป็นพุทธะ…ความเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานนี้ มันเบ่งบานออกมาเอง มันทำงานของมันเอง เป็นธรรมชาติ

การปฏิบัติธรรมทั้งหมดทั้งสิ้น มันเป็นแค่การกลับบ้าน กลับมาอยู่ให้ถูกบ้าน พอเรากลับถูกบ้าน จิตใจเป็นปกติ มันก็พ้นทุกข์เลย

อย่าไปคิดเรื่องการปฏิบัติธรรมเป็นเรื่องลี้ลับ ลึกลับ ซับซ้อน ต้องทำนี่ทำโน่น ต้องมีอย่างนี้ ต้องมีอย่างนั้นก่อน ถึงจะปฏิบัติได้

 

ตอนที่ 2  ไม่ประมาท

ครั้งนึงหลวงพ่อเล่าให้ฟังบอกว่า มีคนมาหาหลวงพ่อบอกว่า “โอ้!…มาถ้ำหลวงพ่อ สถานที่น่าอยู่มากเลย ลมเย็นสบาย ไม่ต้องวุ่นวายทางโลก อยากมาอยู่อย่างนี้บ้างจัง”  หลวงพ่อบอก…”มาเลย มาบวช” เค้าบอก “ยังไม่ได้ครับ ผมยังกิเลสเยอะ” หลวงพ่อบอก “ถ้าไม่มีกิเลสแล้วไม่ต้องมาบวช

การบวช…เพราะเรามีกิเลสนั่นแหละ เราถึงต้องบวช เพราะเรามีกิเลสเยอะนั่นแหละเราถึงต้องปฏิบัติธรรม ถ้าเราหมดกิเลสแล้ว ก็ไม่ต้องบวช ไม่ต้องปฏิบัติธรรม เพราะเป็นพระอรหันต์แล้ว แต่คนในโลกมักเข้าใจผิดแบบนี้ คิดว่าตัวเองยังทำไม่ได้ คิดว่าตัวเองกิเลสยังเยอะ คิดว่าตัวเองมีภาระเยอะ

ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่ไม่ยอมจำนนต่อกรรม หมายความว่า เรายอมรับกรรมที่เราทำ แต่เราไม่ยอมจำนนต่อมันตลอดชีวิต เราจะพ้นกรรมไปให้ได้

พระพุทธเจ้าสอนเราที่จะต้อง..ทำยังไง? มีวิธีปฏิบัติยังไง? ใช้ชีวิตยังไง? สิ่งแวดล้อมแบบไหนที่เหมาะสมที่จะขัดเกลาพัฒนาเราไปจนวันนึงจิตใจเราเนี่ยอยู่เหนือกรรม เหนือโลก เหนือสุข เหนือทุกข์ เหนือดีเหนือชั่ว รวมเข้ากับความจริง รวมเข้ากับธรรมะ เป็นธรรมชาติแห่งการหลอมรวม…หลอมรวมตัวเองเข้าไปในธรรมะ

เมื่อไหร่ตัวตนเราหายไปในแต่ละขณะ เรากำลังหลอมรวมเข้าไปในกระแสธรรมชาติเดิมแท้ กระแสของความว่าง กระแสของ…ภาษาบาลีเรียก “มหาสุญญตา” ทะเลของความว่าง

เมื่อไหร่ที่จิตใจเราปกติ อัตตาตัวตนหายไป เรากำลังค่อยๆ ถูกกลืนกินเข้าไป เราก็ค่อยๆ ถูกธรรมชาติเดิมแท้นี้กลืนกินเข้าไปมันคือ การเปลี่ยนผ่าน (Transform) เรามีชิวิตยาวนานเพียงพอที่จะถูกมันกลืนกินมั้ย? ถ้าเรามัวเอ่อระเหยลอยชาย รอแก่ๆ ก่อนค่อยปฏิบัติธรรม ชีวิตเราอาจจะไม่พอ ที่ผมเคยบอกขาดอีกวันเดียวเราอาจเป็นโสดาบันได้ ดันตายซะก่อน…ยุ่งเลย!   พระพุทธเจ้าถึงสอนเราเรื่อง “ความไม่ประมาท”

 

ตอนที่ 3 เสียสละ…คุณสมบัติอันยิ่งใหญ่ที่จะบรรลุธรรม

พันธะทั้งหลายในชีวิตของเรา ความเป็นคนดี ความรักตัวเอง ความกลัวถูกสังคมประนามว่ามาทำอะไร ปฏิบัติธรรม…บ้ารึเปล่า?

อดทน…เสียสละ” อันนี้เป็นคุณสมบัติสำคัญของนักปฏิบัติธรรมที่จะบรรลุธรรม อดทนกับเสียสละ เป็นเรื่องที่อยู่ด้วยกันเสมอ เป็นเหมือนเหรียญสองด้าน แต่มันมาด้วยกันเสมอ

เมื่อก่อนผมไปหาหลวงพ่อ หลวงพ่อชอบพูดกับผมว่า อยากจะพูดกับคนที่มาหาหลวงพ่อว่า มาที่นี่พร้อมที่จะตายมั้ย? เมื่อก่อนผมฟังไม่เข้าใจคืออะไร “พร้อมที่จะตาย”? นึกว่าต้องไปทนทุกข์ทรมานเยอะๆ …

มาวันนี้ผมเข้าใจแล้ว “พร้อมที่จะตายมั้ย?” คือหมายความว่า เราพร้อมที่จะเสียสละอะไรก็ตามที่เราติดอยู่มั้ย

เราพร้อมที่จะเสียสละโลกได้มั้ย

เราพร้อมจะเสียสละความเชื่อของตัวเองได้มั้ย

พร้อมจะเสียสละทิฎฐิมานะของตัวเองได้มั้ย

พร้อมจะเสียสละความกลัวได้มั้ย

ความเสียสละแบบนั้น…เป็นบารมีอันยิ่งใหญ่

มันเคยมีเรื่องเล่า….พ่อแม่เป็นนายพราน ล่าสัตว์ มีลูกคนเดียว อยากให้ลูกคนนั้นสืบทอดกิจการให้ลูกเป็นนายพรานเหมือนกัน แต่ลูกคนนี้เป็นคนมีศีลมีธรรม ล่าสัตว์ไม่ได้ ทำใจไม่ได้ สุดท้ายลูกโตขึ้นมา พ่อแม่ก็เริ่มบีบบังคับว่า แกต้องเป็นนายพรานให้ได้ ลูกตัดสินใจหนีออกจากบ้านเลย…ไปบวช!  พ่อแม่ตามไม่เจอ ไม่รู้ไปบวชที่ไหน ก็โกรธมากที่ลูกทำแบบนั้น จนวันนึงพ่อแม่ตาย…ตายปุ๊บ! ไปไหน? ลงนรกทันทีไม่ต้องคิดมาก ยมบาลก็จับพ่อแม่โยนลงกระทะทองแดง โยนไปปุ๊บ…มีดอกบัวมารับ โยนไปปุ๊บ…มีดอกบัวมารับ

ยมบาลถามแม่ว่า “ตอนโยนลงไปคิดอะไรอยู่” แม่บอก “คิดถึงลูก” ยมบาลเลยไปเช็คว่าลูกอะไรอยู่? ปรากฏไปดู….อ้อ! ลูกเป็นนักบวชอยู่ในศาสนาพุทธ ยมบาลก็ส่งพ่อแม่ขึ้นสวรรค์ไปเลย บอกไปรับบุญก่อน

เมื่อก่อนผมอ่านเรื่องนี้แล้วผมก็ไม่แน่ใจ  พวกเราอาจจะคิดว่าบุญใครทำใครได้ แต่วันนี้ผมเข้าใจอย่างหนึ่ง ไม่ว่าพ่อแม่จะโกรธเราขนาดไหน แต่ถ้าวันนึงเค้าอุเบกขา เข้าใจ ปล่อยวาง บุญนั้นได้เกิดขึ้นทันที…เป็นบุญของอะไร? ไม่ใช่เพราะลูกไปบวช หรืออาจจะเป็นเพราะลูกไปบวช แต่ตามความเข้าใจผม คือว่า บุญนั้นเกิดจากพ่อแม่ “ปล่อยวาง” ได้แล้ว นั่นคือ ได้เสียสละลูก การที่เรายอมเสียสละอะไรได้ นั่นแหละคือ “บุญ” นั่นแหละคือ บารมี

เราเสียสละสิ่งที่เรารักที่สุดได้ อันนี้เป็นบุญ เป็นบารมี ของตัวเราเอง ไม่ใช่ว่าลูกทำให้ ตัวเองทำให้ตัวเอง

พระพุทธเจ้าสอนเรา คุณสมบัติง่ายๆ ของชาวพุทธที่เราฟังกันมาตลอด… “ทาน ศีล ภาวนา” ไปคิดกันให้ดี

ทาน”  เราบริจาคทานได้ เราต้องเสียสละ…เสียสละอะไร? เสียสละปัจจัยเรา เสียสละแรงกายเรา เสียสละเวลาเรา มันคือ การเสียสละ

ศีล” การถือศีลคือการอะไร? การที่เราไม่ยอมทำตามกิเลส เสียสละความอยากของตัวเอง อยากพูดมาก…ไม่พูด อยากพูดเพ้อเจ้อ…ไม่พูด อยากด่าคนอื่น…ไม่ด่า เราเสียสละความอยาก

ภาวนา” เสียสละอะไร? เสียสละความคิดปรุงแต่งนี้ออกไป…อยู่กับความรู้สึกตัว รู้เนื้อรู้ตัว

เพราะฉะนั้น นัยยะของ “ความเสียสละ” คือเป็นคุณสมบัติอันยิ่งใหญ่ที่พวกเราทุกคน นักปฏิบัติ จะต้องรู้ว่า มันสำคัญมาก มันอยู่ในทุกอณูของคำสอนของพระพุทธเจ้า

มีเรื่องเล่าของพระเวสสันดรที่ยกลูกยกเมียให้กับชูชกเหล่านี้ เราไม่ต้องคิดว่า เราต้องทำขนาดนั้น แต่นัยยะของมันคืออะไร? คือ ความเสียสละ นัยสำคัญของการที่เล่าเรื่องมาแบบนั้น คือ จะบอกว่า การเสียสละของพระเวสสันดร เป็นพลังอันยิ่งใหญ่ที่ทำให้วันนึงเป็นพระพุทธเจ้า

 

ตอนที่ 4 ไปให้มันไกลกว่าความกลัว ความเชื่อ ทิฏฐิ ความคิด ความดี ที่ติดอยู่

การปฏิบัติธรรมที่พวกเราทุกคน ได้ดำเนินมา ปฏิบัติกันมา ด้วยกันเป็นปี  ถ้าใครอยู่ในสิ่งแวดล้อมเดิมๆ แล้วก็บอกว่า ปฏิบัติแล้วก็ประมาณนี้แหละ มันคล้ายๆ ดูไม่ค่อยเจริญยังไงไม่รู้ ก็ให้รู้ไว้ว่า เราอาจต้องเสียสละอะไรบางอย่างเพิ่ม

สมมติผลของการปฏิบัติธรรมมันเหมือนเราสะสมน้ำไว้ในตุ่ม เรามีตุ่มเดียว เหมือนเราอยู่ในสิ่งแวดล้อมเดิมของเรา หยดน้ำในตุ่มจนเต็มแล้ว พอมันไม่มีตุ่มใบที่ 2 น้ำมันล้นทิ้งออกไป…ปฏิบัติอยู่มั้ย? ปฏิบัติอยู่ ปฏิบัติถูกมั้ย? ปฏิบัติถูก แต่ทำไมมันไม่เป็นพระโสดาบันซักที เพราะมันขาด…ขาดตุ่มใบที่ 2 ที่จะมารองน้ำ เพื่อจะเอาไว้ใช้ให้ได้มากกว่านี้ ภาษาธรรมะก็คือ “ขาดบารมี” นั่นแหละ

เพราะฉะนั้น ทุกคนต้องสังเกตตัวเอง ถ้าเราปฏิบัติแล้ว ทำในสิ่งแวดล้อมที่เราอยู่แล้ว ทำเต็มที่อย่างนี้แล้ว มันก็ไม่มีความก้าวหน้ามากกว่านี้แล้ว…ติดต่อครูบาอาจารย์ด่วน รับรองได้เสียสละแน่นอน

เพราะฉะนั้น ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจ พิจารณาตัวเอง “เสียสละ ในทำสิ่งที่ยาก” ถ้าเราทำได้ จะเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ ผมพูด…คนไม่เคยเจอเนี่ย! คิดไม่ถึงหรอกว่ามันเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ขนาดไหน พยายามคิดให้ถึงแล้วกันว่ามันยิ่งใหญ่มาก

มันทำให้คนๆ นึง…เปลี่ยนจากปุถุชนเป็นอริยชนได้ด้วยพลังแห่งความเสียสละสิ่งที่ยากได้

มันทำให้คนๆ นึง…ที่ต้องเวียนว่ายตายเกิดไม่จบไม่สิ้น หมดสิ้นการเวียนว่ายตายเกิดได้

มันทำให้คนๆ นึง…จากมีประโยชน์แค่กับคนในครอบครัว กับเพื่อนรอบข้าง เป็นมีประโยชน์กับคนทั้งโลกนี้

เพราะฉะนั้น ไปให้มันไกลกว่าความกลัว ความเชื่อ ทิฏฐิ ความคิด ความดี ที่เราชอบทึกทักเอาเอง ทำแบบนี้ได้ ทำแบบนี้ไม่ได้ ทำแบบนี้ไปเค้าว่าเราตายเลย…ข้ามผ่านมันไปให้ได้ อย่าติดอยู่กับเรื่องไร้สาระแบบนั้น

 

ตอนที่ 5 เสียสละให้มันถูก

พวกเราต้องเสียสละเวลามาที่นี่เหมือนกัน การเสียสละมันอยู่กับเราตลอดตั้งแต่เรื่องเล็กไปจนถึงเรื่องใหญ่ แต่ถ้าเราอยากจะเสียสละ…เสียสละให้มันถูก เสียสละไปในทางที่ถูกที่ควร เสียสละไปในที่จะได้ผลอันยิ่งใหญ่ ไม่ใช่ได้ผลซ้ำไปซ้ำมาแบบเดิมๆ ในโลกที่เราเคยอยู่ การเสียสละแบบั้น…เสียสละพอแล้ว เพียงพอแล้วกับชีวิตที่เกิดมา

พวกเรามาที่นี่ ผมอยากให้รู้ว่า เราไม่ได้มาแค่ฟังธรรม เรามาที่นี่เพื่อจะถูกเขี่ยวกรำ เขี่ยวเข็ญ ให้มุ่งมั่นที่จะพ้นโลกนี้ไปให้ได้ ไม่ใช่เป็นการฟังธรรมเพื่อหาความสุขทางจิตใจ ไม่ใช่มาฟังธรรมเพื่อจะได้บุญ

ความพ้นโลก พ้นจากการเกิด…เป็นเป้าหมายเดียวของการเกิดมาของพวกเราทุกคน โรงเรียนไม่ได้สอนแบบนี้ คนเลยไม่ค่อยรู้กัน รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการไม่ได้เป็นพระอรหันต์เลยไม่รู้ว่ามันสำคัญ

เวลาผมหยุดพูด…สังเกตเข้าไปข้างในตัวเองว่าจิตใจปกติมั้ย? เงียบเชียบมั้ย? รู้จักสภาพแบบนั้นไว้

วันนี้เราก็มีคนที่จะบวชแม่ชีปีหน้า 3 รูป เป็นความเสียสละอันยิ่งใหญ่เหมือนกัน ต้องเสียสละโลก เสียสละครอบครัว เสียสละพ่อแม่ เสียสละเพื่อน สังคม เสียสละความสุขทางโลกที่เราชอบ แต่เราจำเป็นต้องเสียสละ ไม่อย่างนั้น เราไปไม่ถึงความพ้นทุกข์ ในฐานะลูก เราอยากทดแทนบุญคุณพ่อแม่…ทำแบบนี้

พระพุทธเจ้าสอนเรา….พ่อแม่มีบุญคุณมาก สมมติว่ามีอายุ 100 ปี แบกพ่อไว้บนบ่าข้างซ้าย แบกแม่ไว้บนบ่าข้างขวา บำรุงบำเรอ นวด บีบ อาบน้ำ ประทินกลิ่นหอม ปล่อยให้อุจจาระ ปัสสาวะบนบ่าเรานี่แหละ จนตายไป พระพุทธเจ้าบอกว่า นั่น! ยังไม่ได้ชื่อว่าได้ทดแทนบุญคุณพ่อแม่เลย การทำแบบนั้นไม่ได้เรียกว่า ทดแทนบุญคุณพ่อแม่

กิริยาเดียวที่พระพุทธเจ้าถือว่าเป็นการทดแทนบุญคุณพ่อแม่ คือ สามารถนำพาพ่อแม่มาสู่ทางธรรมได้ ไม่มีศีล…ก็ให้มีศีล ไม่รู้จักให้ทาน…ก็รู้จักให้ทาน ไม่รู้ภาวนาเจริญปัญญา…ก็รู้จักให้เจริญปัญญาภาวนา เหล่านี้ถึงเรียกว่าทดแทนบุญคุณพ่อแม่ได้

พวกเราเป็นคนดี อยากทดแทนบุญคุณพ่อแม่ ทำให้มันถูก ไม่ใช่ไปนั่งตามใจพ่อแม่ ให้ความสุข หลอกพ่อแม่ไปวันๆ ว่าโลกนี้มีแต่ความสุข แบบนั้นเรียก อกตัญญู…ไม่ใช่กตัญญู

เพราะฉะนั้น คนเป็นลูกทุกคนต้องรู้หน้าที่ตัวเองว่าต้องทำอะไร?

 

ตอนที่ 6 อุเบกขา “ใจที่เป็นปกติ”…ประตูสำคัญสู่การบรรลุธรรม

คนเป็นพ่อแม่ต้องรู้หน้าที่ตัวเองเหมือนกัน…พระพุทธเจ้าบอกว่า พ่อแม่เป็นดั่งพระพรหมของลูก คำว่า “พระพรหม” เป็นสัญลักษณ์เฉยๆ ที่จะบอกว่ามีคุณธรรมอะไรบ้าง พระพุทธเจ้าบอก…คนที่จะเป็นพ่อแม่คนได้ต้องมีคุณธรรม 4 อย่างต่อลูก คือ เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา…นี่คือ คุณสมบัติของคนเป็นพ่อแม่ ถ้ามีไม่ครบ ไม่รู้เรียกได้หรือเปล่า?

แต่พระพุทธเจ้าบอกแบบนั้นว่า “พรหมวิหาร 4” คือ คุณสมบัติของพ่อแม่ที่มีต่อลูก…คืออะไร? ปรารถนาดีต่อลูก ปรารถนาให้เค้ามีความสุข ปรารถนาให้เค้าพ้นทุกข์ ยินดีกับเค้าที่เห็นเค้ามีความสุข…สุดท้ายคืออะไร? อุเบกขา ไม่ว่าลูกจะเป็นยังไง สิ่งที่ลูกทำอยู่ เป็นอยู่ ไม่ว่าพ่อแม่จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย สุดท้ายพ่อแม่รู้จักอุเบกขาคือ “ปล่อยวาง”…ความปล่อยวางนั้น ไม่ใช่ช่างแม่ง ความปล่อยวางนั้นอยู่บนพื้นฐานของความปรารถนาดีเหมือนเดิม นี่คือคุณสมบัติของพ่อแม่ ที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้

จะเห็นว่า ถ้าเราเป็นพ่อแม่ที่ถูกต้อง เป็นลูกที่ถูกต้อง โลกนี้ไม่มีปัญหาเลย แต่ทุกวันนี้เพราะคนไม่ศึกษาว่า สมมติแบบไหนควรจะมีคุณธรรมแบบไหน

คุณสมบัติข้อสุดท้าย “อุเบกขา” นี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก…สำคัญยังไง? พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนเราแค่เรื่องของในโลก สอนพ่อแม่นี่สอนว่าสุดท้ายต้องอุเบกขา…หมายความว่าอะไร?…ไม่ว่าลูกจะเป็นนายกรัฐมนตรี หรือลูกจะเป็นโจรก็ตาม ทั้ง 2 สถานะพ่อแม่ต้อง “ปล่อยวาง…ยอมรับ” สุดท้ายกลับมาอยู่กับตัวเอง อยู่กับสภาพที่อุเบกขา คือ อยู่กับสภาพที่จิตใจนี้เป็นปกติอยู่ พระพุทธเจ้าสอนพ่อแม่คนให้ใช้ชีวิต รู้จักใช้ชีวิตตามสมมติ แล้วก็สุดท้ายหนีไม่พ้น…กำลังชี้ทางให้เห็นว่าต้องปฏิบัติธรรมด้วย ก็คือกลับสู่ใจที่เป็นอุเบกขาก็คือ “ปกติ” อยู่

ความเป็นกลางนี่..เขาเรียกว่า อุเบกขา ความเป็นกลางต่อสิ่งทั้งหลายที่มากระทบ เป็นสภาพสภาวะสำคัญ คนๆ นึงจะบรรลุธรรมได้ ในญาณ 16 มีภาษาบาลีเค้าเรียก “สังขารอุเบกขาญาณ”  แปลเป็นไทยก็คือว่า มีความเป็นกลางต่อสังขารหรือความปรุงแต่งทั้งปวงที่เกิดขึ้นภายในใจนี้

“สังขารอุเบกขาญาณ หรือ ความเป็นกลาง” นี้ เป็นประตูสำคัญสู่การบรรลุธรรม

เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าชี้ทางให้กับทุกคน เราแค่ไม่ยอมศึกษา ไม่เคยมีใครบอกเรา เราไม่หัดสังเกต เราเลยเอามาใช้ประโยชน์ไม่ได้ เราคิดว่าธรรมะเป็นเรื่องไกลตัว เป็นเรื่องเอาไว้ก่อน เป็นเรื่องที่เรายังทำไม่ได้หรอกเรากิเลสเยอะ เราคิดผิดหมดเลย มันเป็นเรื่องใกล้ตัวมาก ใกล้จนมองไม่เห็นเลย

ความคิดนั้นเองปิดบังเรา หลอกเราว่าเป็นเรื่องไกลตัว เป็นเรื่องทำไม่ได้ เป็นเรื่องยังไม่ถึงเวลา…อย่าให้ความคิดอวิชชาแบบนั้นหลอกเรา เพราะเราต้องตายแล้วต้องเกิดใหม่ แล้วก็ต้องตายอีกแล้วต้องเกิดใหม่อีก แล้วไม่รู้ด้วยว่าเราจะเจอธรรมะรึเปล่าในการเกิดใหม่นั้น แล้วไม่รู้ว่าจะได้เกิดเป็นคนรึเปล่าด้วย

จิตใจที่ปกติอยู่บ้างนี้ สามารถดำรงให้ชีวิตไปวันๆ ได้อย่างไม่เป็นบ้า แต่ถ้าเราจะมีโอกาสเกิดเป็นคนได้นี่ไปสังเกตกันทุกวันมีความเป็นปกติของจิตใจกี่เปอร์เซ็นต์ ถ้ามันแทบจะหาไม่ได้เลย…เนี่ย! ทำนายตัวเองเลย ลงนรกแน่ ไม่ก็ไปต่ำกว่ามนุษย์แน่…ไปเป็นไส้เดือน กิ้งกือ หมา เดรัจฉาน สัมภเวสีล่องลอยไป

ชีวิตทุกคนเราอยู่ภายใต้กรรม แต่เราเลือกชีวิตของเราเองได้ เราแค่ต้องหนักแน่นกับทางที่เราจะเลือก คือ ความพ้นทุกข์โดยสิ้นเชิง…ติ๊ง ติ๊ง ติ๊ง

 

ตอนที่ 7 ต้องอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เกื้อกูล…”วิเวก สันโดษ”

(มีผู้ฟังธรรมถามคำถาม)

ถาม : พวกนี้เรามีวิธีที่จะพิจารณาเองได้มั้ยว่าเราควรเสียสละอะไรเพื่อให้มันเข้มข้นขึ้น

ตอบ : ได้…เหมือนกับว่าบางคนก็พร้อมแล้ว พร้อมที่จะต้องออกจากงาน  แต่ติดโน่น ติดนี่ ยังต้อง…เงินน้อยไป ขอหาเงินอีกแป๊บนึง…

อันนี้เป็นเรื่องนึง เรื่องสมควรจะออกจากงาน ทำไมต้องออกจากงาน? คือ โอเค…จะอธิบายยาวหน่อย

นักปฏิบัติเราต้องเข้าใจว่า เราปฏิบัติถูกแล้ว ปฏิบัติดีแล้ว รู้วิธีแล้ว อันนี้เป็นปัจจัยนึงเฉยๆ แต่อีกปัจจัยนึง คือ เราต้องไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เกื้อกูลให้กับความเป็นพุทธะหรือพลังทั้งหลายมันหลอมรวม หล่อหลอมจนมันสามารถที่จะพุ่งแหวกทำลายอาสาวะกิเลสได้ มันต้องอาศัยสิ่งแวดล้อมแบบนั้นด้วย

ผมขอยกตัวอย่าง…พระพุทธเจ้าบอกว่า ปฏิบัตินี่เหมือนชาวนาปลูกข้าว ชาวนาก็มีหน้าที่หว่านเมล็ดพันธุ์ แล้วก็เอาน้ำเข้าในนา ขังมันเอาไว้ เกิดฝนตกเยอะ น้ำเยอะไป ต้องเอาน้ำออก เหล่านี้คือ การสร้างสิ่งแวดล้อมให้ข้าวนี้มันโตได้ด้วยตัวมันเอง ชาวนาไม่ได้ไปทำอะไรข้าว ชาวนาสร้างสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสม แล้วข้าวนี้มันจะออกรวงเอง

ทีนี้! สิ่งสำคัญมากที่เราไม่ได้นึกถึงกันเลยว่า เราต้องมีดิน เมล็ดข้าวต้องอยู่ในดิน มันถึงจะโตได้ สมมติว่า ให้เมล็ดข้าวชาวนาไป แล้วก็..เอ้า! ไปปลูกในกรุงเทพฯ ไป พื้นคอนกรีตนี่แหละ มันปลูกทั้งปีทั้งชาติ คงไม่ขึ้นซักทีนึง…เนี่ย! เค้าเรียกว่าอะไร? มันไม่มีสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม แม้ว่าชาวนาจะรู้วิธีว่า อ้อ..หว่านเมล็ดครับ..เอาน้ำเข้า เอาน้ำออก…มันไม่ขึ้น ก็เพราะมันไม่มีดิน

เหมือนกันเราปฏิบัติธรรม เรารู้วิธีปฏิบัติทั้งหมดแล้ว เราต้องมีดินด้วย ดินคือสิ่งแวดล้อมที่เกื้อกูลที่จะให้เมล็ดข้าวนี้เติบโตออกรวงได้ สิ่งแวดล้อมแบบนั้นเป็นสิ่งแวดล้อมแบบไหน? “วิเวก สันโดษ” เพื่อที่จะได้มีโอกาสเรียนรู้กายกับใจนี้อย่างละเอียดลึกซึ้งอย่างแท้จริง…เรียนรู้ว่ามันเป็นยังไง? มันเป็นทุกข์!!

ถ้าเราไม่อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่วิเวก สันโดษ ตัดขาดออกจากโลก เราไม่เห็นเลย เราเหมือนจะเห็นนะ…อุ้ย! ทุกข์ มีชีวิตก็ทุกข์เหลือเกิน ไปทำงานก็ทุกข์ ลองไม่ทำดิ! ทุกข์กว่าอีก…โคตรเบื่อเลย!

การไปทำงานมันเหมือนทุกข์นะ เราทุกคนก็ทุกข์อยู่ในโลกทุกข์…ไม่ใช่ทุกข์ที่พระพุทธเจ้ากำลังสอน อันนี้เป็นทุกข์แบบ Basic มาก

แต่พระพุทธเจ้ากำลังบอกให้เราวิเวก สันโดษ เพื่อที่จะกลับมาเรียนรู้ว่า ร่างกายนี้เป็นทุกข์ จิตใจนี้เป็นทุกข์ด้วยตัวมันเอง แต่ที่เราบอกทุกข์ๆ ในโลกนี้ ก็คือว่า “เราทุกข์” คือ “กู” นี่แหละทุกข์ แต่เราไม่ได้เรียนรู้ว่าจิตใจนี้แท้จริงมันเป็นทุกข์ด้วยตัวมันเอง ถ้าเราเรียนรู้ไม่ได้ว่าจิตใจนี้ร่างกายนี้เป็นทุกข์ด้วยตัวมันเอง เราจะปล่อยวางมันไม่ได้ และถ้าเราจับมันเอาไว้ตลอดชีวิต เราก็ทุกข์ทั้งชีวิตนั่นแหละ

เราเลยต้องมีสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมเพื่อที่จะให้เกิดการเรียนรู้อย่างแท้จริงลงไปในกายในใจนี้ว่าความจริงมันเป็นอะไรกันแน่… มันมีเราจริงๆ มั้ย? เราอยู่ตรงไหน? อะไรกันแน่เป็นเรา?

สมมติให้แต่ละคนลองนึกว่า บอกซิว่าเราเป็นคนแบบไหน? บอกได้มั้ย? โอ้! พูดยาก…ก็งกเหมือนกันนะ แต่ก็ทำบุญนะไม่ได้งกมาก..นึกออกมั้ย? เราเป็นคนไม่ค่อยกลัวอะไรหรอก แต่เราก็กลัวตุ๊กแกเหมือนกัน เวลาเจอเราก็กรี๊ดว้ายตายสลบเหมือนกัน คือ มันเป็นย้อนแย้งตลอด เราจะ Identify ตัวเองไม่ได้เลยว่าตกลงกูเป็นอะไรกันแน่ กูเป็นคนแบบไหนกันแน่ นี่คิดไม่ออกเลย

เนี่ย! เราได้เรียนรู้ว่า เราจะหา“กู” อยู่ตรงไหน อะไรแสดงความเป็นกู…มันไม่มี จริงๆ แล้วมันไม่มี เพราะมันไม่มีตัว ความจริงก็มันไม่มีเรา เราเลยหาคำตอบไม่ได้ คิดจนตายก็หาคำตอบไม่ได้ว่าเราเป็นคนแบบไหน เพราะมันไม่มี สิ่งที่เหมือนกันหมดก็คือ “กิเลส” ที่เราจะเห็นก็คือ กิเลส วันนึงเราเรียนรู้ไป เรียนรู้ไป เรียนรู้จนมันหมดกิเลส…ทำไมหมดได้? ก็ไม่มีเราแล้ว ไม่มีเราไปรองรับกิเลสแบบนั้น

การจะเรียนรู้อะไรให้มันลึกซึ้งขนาดนี้…มันต้องอาศัยอะไร? อาศัยการ “อยู่กับตัวเองอย่างต่อเนื่อง” ไม่ใช่มาเข้าคอร์ส 7 วัน กลับบ้านบ้าเหมือนเดิม มาฟังธรรมวันนึง กลับบ้านบ้าเหมือนเดิม มันไม่ได้เรียนรู้ตัวเอง

พระพุทธเจ้าสอนเราเรื่องของศาสนาพุทธนี่คืออะไร? คือการเรียนรู้และก็เข้าใจมันในที่สุด ไม่ใช่การเชื่อ มีหน้าที่เรียนรู้อย่างที่มันเป็น เข้าใจอย่างที่มันเป็น ไม่ใช่การนั่งเชื่ออะไร เป็นการประจักษ์แจ้งด้วยตัวเอง การเข้าไปเห็นความจริงด้วยตัวเอง แล้วก็พ้นทุกข์ด้วยตัวเองนั่นแหละ

นี่คือสาเหตุที่สำคัญที่ทำไมใครมาถามผมก็ต้องลาออกจากงานหมด ดูภายนอกเหมือนเป็นนโยบายนะ แต่ความสำคัญคือ “ความวิเวก สันโดษ” ที่ผมบอก ความที่เราต้องทิ้งสิ่งที่ไม่จำเป็น ความที่เราต้องหัดเสียสละเพื่อจะเป็นบารมีในการเรียนรู้ตัวเองนี้ได้อย่างเข้มแข็งมาก แต่นโยบายก็คืออะไร? ลาออก เพราะคนเราทุกวันนี้ก็บ้าทำงานอย่างเดียว จะช่วยคนโน้น ต้องช่วยคนนี้ก่อน ต้องช่วยเค้าก่อน ไม่ยอมช่วยตัวเองจะช่วยเค้าก่อน…ช่วยตัวเองก่อน! ช่วยตัวเองได้แล้ว ถึงช่วยคนอื่นได้

เหมือนเราขึ้นเครื่องบิน เค้าจะบอกอะไร? ถ้าหน้ากากตกลงมา ใส่ให้ตัวเองก่อน ถ้ามีลูกก็ต้องใส่ให้ตัวเองก่อน แล้วค่อยใส่ให้ลูก จะรักลูกแค่ไหนก็ต้องใส่ให้ตัวเองก่อน…ทำไม? เพราะเราช่วยตัวเองได้แล้ว เราจะรู้ว่าจะช่วยเค้ายังไง…นี่เป็นหลักง่ายๆ

เพราะฉะนั้นให้เข้าใจแบบนี้…เข้าใจว่า “สิ่งแวดล้อมที่เกื้อกูลต่อการปฏิบัติสำคัญไม่แพ้การที่เรารู้วิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง”

ความเสียสละ” ที่ผมพูดวันนี้เป็นกำลังสำคัญที่เราต้องเข้าใจ…เราต้องการเชื้อเพลิง…เชื้อเพลิงที่จะถีบเราให้ออกไปจากโลกนี้ หลุดพ้นโลกไป เราต้องอาศัยเชื้อเพลิงคือ ความเสียสละ

 

ตอนที่ 8 อย่าเชื่อความคิดตัวเอง

เสียสละง่ายๆ ในชีวิตประจำวัน เราก็เสียสละได้ เช่น เราต้องตื่นเป็นเวลาทุกวัน  เรียกว่าเสียสละเหมือนกันถูกมั้ย? ต้องเดินจงกรมเป็นเวลาทุกวัน…ต้องเสียสละที่เราจะไปทำอย่างอื่น…อุ้ย! ใกล้เวลาล่ะ เราต้องเสียสละสิ่งนั้นเพื่อจะมาทำสิ่งนี้ก่อน…นี่! อย่างนี้ เลยบอกว่า “ระเบียบวินัย” สำคัญ เพราะระเบียบวินัยมันสร้างให้เรารู้จักความเสียสละ มันสร้างพลังให้เราในที่สุด

เห็นมั้ย? ทุกอย่างที่ผมบอกให้ทำทุกอย่างเบื้องหลังมันคืออะไร? คือ ความเสียสละ และความเสียสละนั้นมันเป็นพลัง เราเสียสละการตามใจกิเลสนี้เป็นพลัง

เริ่มเราต้องเสียสละก่อน มันอาจจะดูตึงไปหน่อยนึง แต่พอวันนึงเรามีปัญญาญาณแล้ว เราจะรู้จักความพอดี เราก็จะรู้ว่าตรงไหนที่มันพอดี แต่ให้มีปัญญาก่อน เราอย่าเพิ่งเชื่อความคิดตัวเอง

คุณสมบัติสำคัญของนักปฏิบัติอีกข้อนึงคือว่า “อย่าเชื่อความคิดตัวเอง

 

ตอนที่ 9 อยู่กับคนที่มีปัญญามากกว่า

เราต้องอยู่กับคนที่มีปัญญามากกว่าเรา เราถึงจะรู้ว่าชีวิตเราควรไปทางไหน ควรทำอะไร พูดง่ายๆ เราต้องอยู่กับคนที่เก่งกว่าเรา

เหมือนกับสมัยก่อนผมชอบเล่นหมากฮอสอยู่บ้าน จะมีคนงานคนนึงเล่นเก่งมาก ผมต้องเรียกมันมาเล่นกับผมทุกวัน เมื่อก่อนผมกินได้แค่ต่อเดียว ผมเล่นจนกินได้ 3 ต่อ เราเล่นกับคนงานอีกคน มันก็เล่นห่วยมาก เล่นกับมันชนะทุกที..น่าเบื่อ! เราต้องเล่นกับคนที่เก่งกว่าเรา สุดท้ายเราก็เก่งเหมือนกัน เพราะเราจะรู้ว่ามันคิดอะไร จะรู้ว่า โอ๋! มันทำแบบนี้เหรอ โอ้! มันวางแผนล่วงหน้าขนาดนี้เพื่อจะมากินเรา 3 ต่อ

นโยบายข้อนึงที่ผมยังไม่ได้บัญญัติไว้…”อย่าอยู่กับคนที่โง่กว่าเรา” อยู่กับคนที่เก่งกว่าเรา ถ้าเราอยู่กับคนที่โง่กว่าเรา แล้วเรามีพันธะกับเค้าด้วย เราจะคล้ายๆ เดี๋ยวกูจะโง่ เดี๋ยวกูฉลาด เดี๋ยวกูจะโง่ เดี๋ยวกูฉลาด การที่เราอยู่กับคนที่โง่กว่าเรา แล้วพันธะอันนั้นจะดึงเราไว้ ดึงให้เราโง่เหมือนกัน

นี่คือสาเหตุที่ทำไมเราทุกคนต้องมีครูบาอาจารย์ หมั่นไปหาหลวงพ่อ เราต้องหมั่นไปอยู่กับคนที่เก่งกว่าเรา เรียนรู้จากท่าน เรียนรู้จากคนที่เก่งกว่าเรา อยู่กับคนที่เก่งกว่าเรา ใช้ชีวิตอยู่กับเค้า

ความหลอมรวมที่ผมพูด…ธรรมชาติแห่งความหลอมรวมจะเกิดขึ้น เหมือนเราเล่นหมากฮอสกับคนที่เก่งกว่าเราทุกวัน เราก็เก่งขึ้นเอง…นี่เป็นธรรมชาติ

เพราะฉะนั้น เห็นมั้ย? ทุกอย่าง ทุกอย่าง ทุกอย่าง มันอยู่ที่เราเลือก เราไม่ยอมจำนนต่อกรรม มันอยู่ที่เราเลือก เราจะเลือก…ชีวิตเราจะดีขึ้น อ๋อ! เราต้องทำแบบนี้…เราทำ! ชีวิตเราดีขึ้นต้องทำ…เราทำ!  “เด็ดขาด Focus Commitment Sheer will” เนี่ย! ต้องรู้ธรรมชาติแบบนั้น

อยู่กับคนที่ฉลาดกว่าเรา เค้าจะได้บอกเราว่าตรงไหนเราโง่ พอเค้าบอกเราได้ เค้าชี้เราได้ เราเห็นได้ เราจะไม่โง่อีก เราจะไม่ทำแบบเดิมอีก พอเราไม่ทำแบบเดิมอีก มันก็ฉลาดขึ้นเอง เป็นธรรมชาติ เห็นมั้ยทุกอย่างเป็นธรรมชาติหมด

ผมแค่มีหน้าที่ “Put the right man to the right place” แค่นั้น ผมแค่วางคนให้มันอยู่ถูกที่ แล้วธรรมชาตินั้นมันจะหล่อหลอมคนๆ นั้นเอง มันจะบีบบังคับ บีบคั้น คนๆ นั้นเอง ให้มันพัฒนาขึ้น ให้มันเติบโตขึ้น

เหมือนหลวงพ่อเคยมีคนมาหาบอกว่า หลวงพ่อครับ! อาจารย์คนเก่าผมตายไปแล้วเป็นพระเหมือนกัน ตอนนี้ก็ยังไม่มีครูบาอาจารย์เลย ก็อยากจะมาขอหลวงพ่อเป็นครูบาอาจารย์ หลวงพ่อก็ฟังๆ ฟังๆ แล้วคนนี้ก็บอกว่า เนี่ย! หลวงปู่ที่เป็นอาจารย์ผม ท่านแบบว่าดูอนาคต ดูโน่น ดูนี่ บอกเราได้ว่าผิดถูก หลวงพ่อบอกว่า อ๋อ…แบบนั้นหลวงพ่อทำไม่ได้ ถ้าแบบนั้นต้องไปหาคนอื่น

หลวงพ่อก็บอกแค่ว่า หลวงพ่อทำหน้าที่แค่ไปทางซ้ายหลวงพ่อจะตบมาทางขวา พอมันไปทางขวาไป หลวงพ่อก็จะตบมาทางซ้ายให้ แล้วมันจะอยู่ “ตรงกลาง” พอดี นี่ธรรมชาติคือแบบนั้น

ครูบาอาจารย์ก็มีหน้าที่แบบนั้น ตบซ้ายตบขวา ตบซ้ายตบขวา บางทีตบจนน่วมมันก็ยังไม่เข้าตรงกลางซักทีนึง

 

ตอนที่ 10 “อยู่กับตัวเอง” อย่างเข้มข้นต่อเนื่อง

เราก็พิจารณาตัวเอง อะไรก็ตามที่เรากำลังรู้สึกว่า เข้มข้นได้มากกว่านี้ เราต้องฝึกให้มันเข้มข้นมากกว่านี้  “ระเบียบวินัย” สำคัญ อย่าเพิ่งไปเที่ยว นึกว่าผมพูดเล่น ผมไม่ได้พูดเล่น

อยู่กับตัวเอง” เหมือนปั่นไฟ ปั่นให้มันติดก่อน การอยู่กับตัวเองอย่างเข้มข้นอย่างต่อเนื่อง มันเป็นเรื่องที่ใช้ความอดทนเยอะ ความเสียสละเยอะ ถ้าตัวเราเองเห็นอนาคตได้ ปรากฏว่า พรุ่งนี้จะเป็นโสดาบันอยู่แล้ว ไปญี่ปุ่น…จบเลย! อันนี้เริ่มใหม่ สิ่งเล็กๆ น้อยเนี่ย! ก็อย่าประมาท

ถ้าเราอดทนได้…“ฝึกตัวเองก่อน” เหมือนกับที่ผมบอก เราต้องฝึก ขึ้นวัดเส้าหลินไปฝึกตัวเองผ่านด่าน 18 อรหันต์ก่อนแล้วค่อยลงมาในโลก เราจะลงมาได้อย่างภาคภูมิ ลงมาได้อย่างไม่กลัวโลกอีกแล้ว โลกทำอะไรเราไม่ได้แล้ว เพราะเรารู้จักทุกสิ่งทุกอย่างทุกแง่ทุกมุม บาปบุญคุณโทษ อะไรก็ตามที่เราเคยเชื่อ มันอยู่เหนือเราไม่ได้อีกแล้ว

คนไม่มีวินัย ก็ให้มันมีวินัย คนที่ยังไม่รู้จักหน้าที่ของการเกิดมา ต้องรู้จักหน้าที่ของการเกิดมาว่าเราเกิดมาเพื่อจะพ้นทุกข์ ไม่ได้เกิดมาเพื่อจะจมอยู่ในทุกข์ จมอยู่ในกรรม เราไม่ได้เกิดมาแบบนั้น เราไม่ต้องโง่แบบนั้นด้วย

 

ตอนที่ 11 ฉลาดในการเลือกทางเดินของชีวิต

ความทุกข์” ของแต่ละคนที่มีพันธะ (Bonding) ซึ่งกันและกัน บางทีเราคิดว่าเราทำให้เค้าทุกข์…ไม่ดี! เราจะลาออกจากงาน เราจะไปปฏิบัติธรรม เราจะไปใช้ชีวิตไปสู่ความพ้นทุกข์ เราก็กลัวว่าคนที่มีพันธะกับเรา เค้าจะทุกข์…เราบาปหรือเปล่า? ก็คิดไปอย่างนั้นอีก…ไม่บาป!

“ความทุกข์” เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยตัวเค้าเอง…ไม่ใช่เราทำ!

ทำไมเค้าทุกข์? เพราะเค้ามีมิจฉาทิฏฐิ เค้ามีความเห็นผิด เค้าเลยทุกข์ ไม่ใช่เพราะเราทำ ถ้าตัวเค้าเองไม่อยากทุกข์ ถ้างั้นก็ไปปฏิบัติธรรมด้วยกันจะได้มีสัมมาทิฏฐิ แล้วมันก็จะไม่ทุกข์ มันจะพ้นทุกข์

แต่ถ้าเรามัวแต่…อุ้ย! ไปแล้วเค้าทุกข์…อุ้ย! ไปแล้วทำให้เค้าทุกข์ ก็อยู่กับมันต่อแล้วกัน…ถ้างั้นก็ทุกข์ทั้งคู่  เนี่ย! คนโง่ก็คิดแบบนั้น

เพราะฉะนั้น เราต้องมองโลกให้กว้าง ฉลาดในการใช้ชีวิต ฉลาดที่จะเลือกทางเดินของชีวิต เข้าใจโลกให้มันลึกซึ้ง เราจะเลือกทางที่ถูกต้องได้ เราจะแน่วแน่ เราจะมีพลังใจที่จะตัดสินใจ

หลวงพ่อเคยบอกผมวันที่ผมจะบวชว่า หลวงพ่อมีหน้าที่ที่จะพาคนดีในโลกข้ามสะพานไปสู่คนที่มีปัญญา สะพานนี้ไม่ได้ลาดด้วยยางมะตอย ไม่เรียบเท่าไหร่ ขรุขระ ลำบาก ไม่ Smooth…และไม่มีวัน Smooth เพราะคนในโลกที่เสียผลประโยชน์จากการที่เราไป…ทางจะพ้นโลก จะดึงเราเอาไว้ จะฉุดเราเอาไว้ จะด่าเราเอาไว้ จะประนามเราทุกสิ่งทุกอย่าง ด้วยเหตุผลที่ทำให้เรารู้สึกว่าเราแย่มาก เราเป็นคนแย่มาก แต่เบื้องหลังคืออะไร? คนที่ทำแบบนั้นคืออะไร? เสียประโยชน์…เต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัว ไม่มีทั้งเมตตา ไม่มีทั้งกรุณา ไม่มีทั้งมุทิตา ไม่มีทั้งอุเบกขา…จะอยู่กับคนแบบนั้นทำไม!  นี่! คิดให้ดี จะอยู่กับคนแบบนั้นทำไม คนที่ไม่มีคุณธรรมซักข้อเดียว คนที่ไม่มีคุณธรรมเป็นคนไม่ได้ เป็นได้ก็คือ เป็นสัตว์

คนเหนือกว่าสัตว์เพราะมีคุณธรรม มีความยับยั้งชั่งใจ มีความละอายชั่วเกรงกลัวต่อบาป ไม่คิดเบียดเบียนใคร…เหล่านี้คือ คุณธรรมของมนุษย์ แต่เราแบบเบลอ เราชอบคิดว่า อ้อ…อยู่ด้วยกันมานาน ก็เป็นคนดีเหมือนกัน ตอนจีบกัน เคยป้อนข้าวให้ ก็ดีเหมือนกัน เคยหวานซึ้งเหมือนกัน เราเบลอๆ เราชอบเบลอๆ คิดไม่ออกว่าปัจจุบันนี้มันเปลี่ยนไปแล้ว จิตเปลี่ยนทุกขณะ เมื่อกี้นี้เป็นคนมีเมตตา ตอนนี้ก็เป็นคนบ้า โกรธเป็นฟืนเป็นไฟ คนละคนแล้ว

เพราะฉะนั้น เราจะ Action…ไม่ใช่ Action กับคนนี้ เรา Action กับจิตขณะนี้มันเป็นยังไง เราไม่ได้มองว่าเป็นคน ไม่ได้มองว่าเป็นสมมตินี้…เป็นครู เป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นพี่เป็นน้อง เป็นเพื่อน…ไม่ใช่! เราเห็นเป็นจิตเฉยๆ จิตขณะนี้เป็นอะไร เป็นสัตว์นรกอย่างนี้คืออะไร? มีแต่โทสะอย่างนี้ ในขณะนั้นเราจะเรียกเป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นพี่เป็นน้อง เป็นเพื่อนได้มั้ย? ไม่ได้…อันนี้เป็นสัตว์นรกอยู่ เพราะฉะนั้น เราจะ Action กับสัตว์นรกยังไง อันนี้เราต้องรู้ ในขณะนั้นไม่มีความเป็นคนอยู่แล้ว

เพราะฉะนั้น มาเรียนรู้…ปฏิบัติธรรมเรียนรู้เข้าไปให้ถึงจิตถึงใจ เราจะไม่กลัวอะไรทั้งนั้น ความเชื่อ บาปบุญคุณโทษทั้งหลาย เราจะรู้จักอะไรเป็นอะไร

 

#Camouflage

YouTube : https://youtu.be/66zP3ynir-c

คลิปเสียงธรรมะทั้งหมดของอาจารย์ Camouflage : https://goo.gl/RDZFMI

======================

5 ช่องทางการอ่านและฟังธรรม

1) Facebook : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
http://www.facebook.com/sookguysookjai

2) Line : @camouflage.talk
https://line.me/R/ti/p/%40camouflage.talk

3) YouTube : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
https://goo.gl/in9S5v

4) Website: https://camouflagetalk.com

5) Podcast : Camouflage – Dhamma Talk
https://itun.es/th/t6Mzdb.c
วิธีการติดตั้ง https://goo.gl/tBMY9S