54. Moment ที่พอดีเป๊ะ

 

ตอนที่ 1 ไม่มีการทำอะไรเลย

เมื่อไหร่ที่เราเข้าถึงสภาพ “รู้ ตื่น เบิกบาน”  เราจะเข้าถึงความเป็นทั้งหมด ความเป็นองค์รวมของสรรพสิ่งในโลกนี้ เหมือนเวลาเราเข้ามาถึงที่นี่ เรารู้แล้วว่าเราถึงหรือยังไม่ต้องให้ใครบอก ถ้าเรายังไม่รู้ว่าเราถึงหรือยัง?…แปลว่าเรายังไม่ถึง แต่ถ้าเราเข้ามาถึงแล้ว…เราต้องรู้แน่นอน

เวลาที่เราเจอผัสสะ เราเจออะไรๆๆ เนี่ย!…ห้ามไม่ได้หรอก จิตใจที่ยังปรุงแต่งอยู่ มันต้องปรุง…ห้ามไม่ได้ สภาพหลง สภาพรู้ เป็นสภาพที่เราบังคับอะไรไม่ได้เลย

สังเกตมั้ยที่ผมบอกว่า เราต้องการที่จะพ้นออกจากโลกของความคิดปรุงแต่ง…เราทำยังไง? ไม่ใช่เราไปทำอะไรกับความคิด เราแค่ “รู้สึกตัว”…มันก็พ้นออกมา

คือ สิ่งต่างๆ ที่ผมพูดเนี่ย! ผลที่เราจะได้ ไม่ใช่เราไปทำผลอันนี้ ไม่ใช่ไปยุ่งกับมัน เราสร้างเหตุอย่างนึง ผลก็เกิดขึ้น เราสร้างเหตุอย่างนึง ผลก็เกิดขึ้น พอสร้างเหตุอย่างนึง ผลก็เกิดขึ้น

ผมเลยบอกว่า การปฏิบัติธรรม…”ไม่มีการทำอะไรเลย”  มี “หน้าที่เฉยๆ” ทำหน้าที่นี้ให้มันสมบูรณ์ ผลต่างๆ ค่อยๆ ผลิดอกออกผลออกมาเรื่อยๆ เรื่อยๆ เรื่อยๆ ให้เราได้รู้จักๆ มากขึ้นเรื่อยๆ…แค่นั้นเอง เราไม่ได้ทำอะไรเลย ไม่มีการทำอะไรทั้งนั้น

ตอนที่ 2 Moment ที่พอดีเป๊ะ

คือในขั้นนี้ เราทุกคนจะรู้สึกว่า ความรู้สึกตัว มันค่อนข้างจะชัดเจนหน่อย แต่พอเราปฏิบัติไปเรื่อยๆ เรื่อยๆๆ …ความรู้สึกตัวมันจะคล้ายๆ นุ่มละมุน อ่อนละมุน นุ่มนวล มันไม่ใช่แบบ “รู้สึกตัว”…ไม่ใช่แบบนั้น มันจะเป็นคำศํพท์ที่ว่า “ไม่ลืมตัวเฉยๆ” มันรู้สึก “อยู่กับเนื้อกับตัวเฉยๆ” ทุกอิริยาบถ

ถ้าเรารู้สึกตัวอยู่ เราก็ไม่หลงไปคิดปรุงแต่ง “ความเงียบ” ก็มีโอกาสเปิดเผยตัวออกมา และถ้าเรารู้สึกตัวอยู่ตลอด ความเงียบนี้มันก็อยู่ตลอด อยู่ด้วยกัน มันเป็นสิ่งเนื่องกัน…มันเป็นสิ่งเนื่องกัน

เราแค่ “อย่าลืมตัว” อันนี้บอกตัวเองว่า “อย่าลืมตัว” รู้สึกถึงความมีอยู่ของร่างกายนี้ ของ Body นี้เฉยๆ แค่รู้สึกถึงความมีอยู่ของมันเนี่ย! เราก็ไม่ลืมตัว แล้วเราก็ไม่เพ่งด้วย

ไปลองสังเกตดูว่า ถ้าเราฝึกแบบว่า เดี๋ยวเราจะรู้สึกตัวทุกอิริยาบถสมมติ…ลองทำไปเรื่อยๆ เราจะแน่น มันจะเริ่มเพ่ง มันจะเริ่มอึดอัด มันจะเริ่มรู้สึกมีการกระทำบางอย่างของความรู้สึกตัว….แบบนี้ไม่ใช่!

ผมเลยบอกว่า ต้องมารู้จัก “ใจ” ด้วย หันมาดูใจด้วยว่าเป็นยังไง?

Moment ที่เราหันกลับมาดูใจเรา…Moment นั้นคือ เราปล่อยความรู้สึกตัวนิดเดียวเพื่อมาดูใจเราเป็นยังไง Moment นั้นแหละ…อันนี้ พอดีเป๊ะเลย!  มันจะเบาสบาย…พอดี มันกลับปล่อยความรู้สึกตัว ไม่ใช่ลืมตัว

คำว่า “ตัว” นี้มันคือ “กายกับใจ” เราไม่ได้ลืมอะไร อยู่ด้วยกันตลอด

เพราะฉะนั้น Moment ที่เรากลับมาดูใจเราปุ๊บ! ผ่อนคลายเลย…Moment นั้นเป็น Moment ที่พอดีเป๊ะ!

เราก็ฝึกอย่างนี้… “รู้สึกตัว หันมาดูใจเราบ้าง”…บ้าง ดูใจเป็นยังไง?   “รู้”…ปกติก็รู้ ไม่ปกติก็รู้ แล้วปล่อย และก็อยู่กับเนื้อกับตัวต่อ…แค่นั้น

ทุก Moment แบบนั้นที่ผมบอก มันก็เกิดบ่อยๆ ในวันนึงใช่มั้ย? จนวันนึง Moment แบบนั้นบริบูรณ์ มันก็จะเป็นความรู้สึกตัวที่ผมบอกว่า มันนุ่มละมุน ไม่อยู่ที่ไหนเลย จิตไม่มีที่ตั้ง ไม่มีตั้งอยู่ที่ไหนเลย มันเป็นเพียงสภาพ “ตื่นรู้” เฉยๆ ไม่ใช่ว่าเราต้องมาตั้งไว้ที่ตรงไหน กรรมฐานของเราก็ไม่มี…ไม่มีเลย มันเป็นทั้งหมดไปแล้ว มันเป็นความเป็นทั้งหมดไปแล้ว มันก็สบาย ไม่ต้องทำอะไร

 

ตอนที่ 3 ต้องฝึกตัวเองก่อน

ถ้าเรายังอยู่ขั้นตอนของการที่เรากำลังพัฒนา (Develop) เรากำลังอยู่ในกระบวนการ…อันนี้เราต้องมี “ศีล” อะไรที่มันนำไปสู่ความหลง เราต้องไม่ทำ

คือที่ผมบอกเราต้องอาศัยราวบันได “ศีล” นี่เหมือนราวบันไดไปก่อน อาศัยจนวันนึงเราเป็นศีล ก็ไม่ต้องใช้ราวบันได แต่ว่าวันนี้เราต้องอาศัยราวบันไดก่อน ที่จะจับตัวเองขึ้นไป อาศัย “ระเบียบวินัย” อาศัยหลายอย่าง อะไรก็ได้ที่มันกำลังนำเราไปสู่ความหลง นำเราไปสู่ความไม่เจริญ เราต้องออกมาจากมันก่อน เราจะทำทุกอย่างเหมือนเดิม แล้วเราก็จะเป็นพระอรหันต์ไปด้วยไม่ได้…”ต้องฝึกตัวเอง” ก่อน

 

ตอนที่ 4 แค่ใช้ชีวิตเฉยๆ

คือ ตอนนี้พี่ลาออกมา พี่มีความตั้งใจสูงมากที่จะปฏิบัติธรรมเพื่อจะพ้นทุกข์ แล้ว 10 ปีที่ผ่านมาพี่ก็ทำด้วยความตั้งใจมาก อันนี้คือ เหตุ…สาเหตุแบบนี้ต้องรับผล ต้องรับผลที่ว่ายังปล่อยไม่ได้เพราะแบบนี้ พี่ต้องอดทนกับการที่ยังปล่อยไม่ได้

การปฏิบัติธรรมที่ผมพูด คือ “การใช้ชีวิต” ใช้ชีวิตเฉยๆ ไม่ใช่การทำอะไร ใช้ชีวิตให้มันถูกต้องเฉยๆ แต่มันยังถูกไม่ได้ เพราะพี่ต้องรับผลแบบนั้นก่อนจากที่พี่ไปตั้งใจไว้มาก พี่ต้องรับผล…มันต้องเครียด มันต้องเกร็งแข็ง มันต้องเป็นแบบนี้

เพราะฉะนั้น ไม่ใช่แค่เดือนเดียว ผมบอกแล้วไม่ใช่แค่เดือนเดียวที่พี่จะผ่อนได้ ต้องอดทนที่จะอยู่กับมัน แล้วเดี๋ยวมันค่อยๆ ผ่อนเอง แต่อย่าไปเพิ่มอีก อย่าไปเพิ่มมันเข้าไปอีก ถ้าไม่อย่างนั้นมันไม่จบ…ต้องกล้าๆ ปล่อย

ที่ผมบอกว่า เรามีราวบันได ถ้าเราไม่ปล่อยราวบันได เราขึ้นไปขั้นต่อไปไม่ได้ ถ้าเราจับไว้อย่างเดียว เราไปไหนไม่ได้เลย ราวบันไดนี้ดูปลอดภัยดี เรารู้สึกว่า โอ้ย! นี้เป็นสิ่งที่ดี จับไว้ดีแน่นอน  ดี!…ใช่ แต่พ้นทุกข์ไม่ได้ถ้าพี่ไม่ยอมปล่อย ต้องกล้าๆ ปล่อยถึงจะไปต่อได้ มันไม่ใช่ทำได้วันนี้ ไม่ใช่ทำได้พรุ่งนี้ มีหน้าที่ “ใช้ชีวิต” จำคำนี้ของผมไว้…ใช้ชีวิตเฉยๆ เราไม่ต้องทำงานแล้ว มีหน้าที่ใช้ชีวิตให้มันโปร่งโล่งเบาเฉยๆ โดยไม่มีข้อจำกัดในชีวิต

สมาธิ” เกิดได้จากความผ่อนคลาย ความสบาย ความสุข

“สมาธิ” เป็นประตูไปสู่ปัญญา ถ้าเราไม่มีสมาธิ เจริญไม่ได้ ถ้าเราไม่ผ่อนคลาย มีสมาธิไม่ได้เหมือนกัน

เริ่มให้ถูกก่อน…ผ่อนคลาย ไม่เอาอะไร ไม่มีเงื่อนไขใดๆ ในชีวิต แค่ใช้ชีวิตเฉยๆ

 

ตอนที่ 5 ปฏิบัติถูก…ต้องร่าเริง

ศาสนาพุทธเป็นศาสนาของ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน… “เบิกบาน” นี้มันไม่เศร้าหมอง ไม่เคร่งเครียด ร่าเริง

สมัยพุทธกาลมีคนเห็นพระในแวดวงของพระพุทธเจ้า ก็อุทานว่า “โอ้! สมณะของสมณโคดมมีแต่ผู้ที่ร่าเริงทั้งนั้น”

เราปฏิบัติถูก ต้องร่าเริง…ไม่ใช่เคร่งเครียด ขรึม…การทำแบบนั้นนี่! เรากำลังสร้างตัวตนอีกแบบนึงขึ้นมาเฉยๆ ว่า เราเป็นนักปฏิบัติ เราต้องสำรวม ต้องอะไร

ศาสานาพุทธเป็นความอิสระ ไม่ใช่ความถูกกักขัง หรือตัวตนในอีกแบบนึงที่เราเชื่อว่าดี…”อิสระจากทุกสิ่งทุกอย่าง” สิ่งทั้งหลายทั้งแหล่ทื่เรามัดเอาไว้อย่างเคร่งเครียดค่อยๆ คลายออก มันจะค่อยๆ คลาย เราให้มันคลายเลยไม่ได้ ต้องค่อยๆ คลาย

เรื่องของศาสนาพุทธเป็นเรื่องของเหตุปัจจัย เราค่อยๆ คลาย มันก็ค่อยๆ ออก ค่อยๆ ออก ค่อยๆ ออก ค่อยเป็นค่อยไป ไม่ต้องกลัวหลง ไม่ต้องกลัวผิด ไม่ต้องกลัวตาย คนเราถ้าจะพ้นทุกข์ชาตินี้ ไม่ตายหรอก ไม่ต้องห่วง สบายใจได้

ตอนนี้พี่ไม่มีหน้าที่เป็นห่วงเรื่องความพ้นทุกข์ มีหน้าที่เป็นห่วงว่าพี่ทำถูกหรือยังก่อน คือ ต้องผ่อนคลายให้ได้ก่อน อันนี้เป็นหน้าที่ที่พี่ต้องเป็นห่วงว่าจะต้องทำต่อไป จริงๆ ไม่ได้ทำอะไร แค่ไม่ทำอะไรอย่างที่เคยทำนั่นแหละ ก็ผ่อนคลายแล้ว ใช้ชีวิตให้เป็นธรรมดา เป็นธรรมชาติ

เพราะว่า เรามีความคิดว่า การปฏิบัติธรรมเป็นความเคร่งเครียด ความแบบเป๊ะๆ นึกออกมั้ย? ตอนนี้ผมกำลังเปลี่ยนความเชื่อใหม่ว่า ไม่ใช่แบบนั้น การทำแบบนั้น มันเป็นสิ่งที่เค้าเรียกว่า อัตตกิลมถานุโยคกลายๆ คือ เราบังคับ เราทรมาณตัวเองมากเกินไป เราไม่ผ่อนคลาย เราไม่อยู่ตรงกลาง พระพุทธเจ้าให้เราอยู่ตรงกลาง ไม่ใช่อยู่ซ้ายเกินไป ไม่ใช่อยู่ขวาเกินไป ให้เราอยู่ตรงกลาง

เพราะฉะนั้น ไม่ใช่คนที่เคร่งเครียด คนที่ตั้งใจแล้วจะไปได้…ไปไม่ได้ ก่อนพระพุทธเจ้าก็มีพวกทรมาณตัวเองเยอะๆ ใช่มั้ย? นั่งท่าเดียวไม่กินข้าว กินแต่น้ำ มีตั้งหลายอย่างที่โยคีทำ เค้าไม่ได้พ้นทุกข์ มันไม่ใช่เรื่องแบบนั้น มันเป็นเรื่องของ “มัชฌิมาปฏิปทา” ทางสายกลาง คนที่อยู่ตรงกลางถึงจะไปได้ ไม่ใช่คนที่อยู่ซ้ายหรืออยู่ขวา แต่เราก่อนจะอยู่ตรงกลางได้ เราต้องไปซ้ายไปขวาก่อน เราถึงจะรู้ว่า อันนี้มันซ้ายไปนะ อันนี้มันขวาไปนะ ค่อยๆ เข้ามาๆ

ผมพูดตลอดเราจำเป็นจะต้องผิดก่อน ทุกคนจะถูกเลยไม่ได้ ต้องผิดก่อน มันไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่เราจะผิดก่อน เป็นธรรมดา แต่เราผิดแล้วเรารู้จักแก้ เราผิดแล้วเรารู้จักที่จะปรับ มันถึงจะโอเค พวกไม่รอดก็คือ ผิดแล้วไม่ปรับด้วย ก็จะทำเหมือนเดิม

จิตใจที่พอดีต่อการปฏิบัติธรรมคืออะไร? คือ “ปกติ” เรามีจิตใจที่ปกติรึยัง 10 ปีที่ผ่านมา? หรือไม่ปกติ…อันนี้คือ หัวใจ ถ้าเรายังไม่ปกติ เรามีสติไม่ได้ เรามีสัมมาสติไม่ได้ เรามีสัมมาสมาธิไม่ได้

 

ตอนที่ 6 รู้หน้าที่ตัวเอง

ผมให้ทุกคนตื่นเช้าขึ้นมาเดินจงกรม ถ้าทำงานก็ก่อนนอน ซัก 3 ทุ่มเดินจงกรม 4 ทุ่มนอน พรุ่งนี้เช้าจะได้ตื่นขึ้นมาเดินจงกรมไหว เราต้องพร้อมก่อนที่จะไปทำงาน ไม่ใช่ตื่นมางัวเงียๆ รีบๆ แปรงฟัน กินข้าว วิ่งพรวดไปทำงาน อันนี้ไม่มีกำลังของจิตใจเลย มีแต่ความหลงแต่เช้า

แต่ถ้าเราตื่นเช้า เราเริ่มก่อนที่จะรู้จัก “อยู่กับเนื้อกับตัว” รู้จักจิตใจที่มัน “ปกติ”  แล้วก็ออกไปทำงาน ออกไปด้วยความพร้อม ทุกอย่างจะเริ่มต้นด้วยดี ทำชีวิตตัวเองให้มีระเบียบวินัยมากขึ้น แล้วมันถึงจะเจริญได้

คือ นึกออกมั้ย? ของพี่เนี่ยก็ไปทางขวา พี่อีกคนก็ไปทางซ้าย…อูวว! คนละทาง ค่อยๆ ปรับเข้ามาให้มันอยู่ตรงกลาง อันนี้คือ หัวใจ…แค่นั้นแหละ! คนนึงมากไป คนนึงน้อยไป…ดีแล้ว! ได้เห็นทางซ้ายกับทางขวาพร้อมกันเลย เราจะได้เข้าใจมากขึ้น เราจะเข้าใจอันนี้ซ้ายไป เราเข้าใจอันนี้ขวาไป เราเข้าใจจะไม่เป็นแบบนั้น เราก็จะเข้าตรงกลางได้

ระเบียบวินัย” สำคัญ ต้องมีระเบีบบวินัย รู้หน้าที่ตัวเอง เวลาเดินจงกรมก็ฟังคลิปผมไปด้วย พี่จะค่อยๆ เข้าใจสิ่งที่ผมพูดทั้งหมดของชีวิตเราว่า…เราปฏิบัติธรรมยังไง? มันแบบไหน? ผ่อนคลายที่ว่ามันยังไง? ไม่ใช่ลัลลาไปเลย…ไม่ใช่แบบนั้น มีระเบียบวินัยด้วย ใช้ชีวิตยังไง? เวลาทำงานรู้สึกตัวยังไง? เนี่ย! ผมมีพูดไว้หมดแล้ว ค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ ฟังไปเรื่อยๆ แค่มันหลงไปก็รู้สึกตัว หลงไป…อึ้ม! รู้สึกตัว…แค่นั้น

ความหลงสำหรับพี่ตอนนี้เป็นประโยชน์ มันช่วยให้พี่ผ่อนคลายออก ความหลงอันนี้ทำให้พี่รู้สึกตัวแบบพอดี ให้มันหลงไปก่อนแล้ว อึ้ม! รู้สึกตัว…อันนี้พอดี ไม่ใช่คอยรู้สึกตัวไว้ตลอด อันนี้เพ่งไป ให้มันร่าเริงไว้ ให้มันร่าเริง

เราต้องเข้าใจให้ถูกก่อน… “ร่าเริง เบิกบาน ผ่อนคลาย สบาย เป็นธรรมชาติ”  อันนี้เป็นหัวใจของนักปฏิบัติธรรม

 

ตอนที่ 7 ไม่สู้ ไม่หนี…รู้เฉยๆ

ทางของการปฏิบัติธรรม หัวใจสำคัญคือ “การพ้นออกจากโลกของความคิดปรุงแต่งทั้งปวง” ให้ได้ “พ้นออกไป” ไม่ใช่เรากลัว

เหมือนบอกว่า ห้องนี้เป็นโลก เป็นสังสารวัฏ แล้วมีประตูอยู่ตรงโน้น แล้วมีคนบอกเราว่า เออ! เนี่ยทางออกอยู่ทางนี้นะคือ พ้นจากห้องนี้ไป เราก็เดินออกไปเฉยๆ เราต้องกลัวห้องนี้เหรอ? เราไม่ต้องกลัวอะไร เพียงแต่เรารู้ทาง…อ่อ! ทางออกอยู่โน่นเหรอ เดี๋ยวเราเดินไป ไม่เกี่ยวกับเรากลัวอะไร แค่เดินออกไปเฉยๆ เพราะเรารู้ว่าถ้าเราอยู่ห้องนี้ต่อไป เราพ้นทุกข์ไม่ได้…แค่นั้นเอง แต่เราไม่ได้กลัวอะไร ถ้าเราพ้นออกจากความปรุงแต่งได้ เราจะกลัวอะไร…เราไม่กลัวอะไร

มีความคิดได้ เพราะธรรมชาติมันเป็นแบบนั้น มันคิด แต่เราแค่ไม่เข้าไปปรุงแต่งกับมันเฉยๆ เราไม่ได้ห้ามความคิด เราไม่ได้หยุดความคิด ที่บอกว่า เราไม่มีหน้าที่เข้าไปทำอะไรตรงๆ กับมัน เรามีหน้าที่สร้างเหตุอีกอย่างนึงเฉยๆ ผลมันก็เกิดขึ้น เช่น เรารู้สึกตัว มันก็ออกจากโลกของความคิดเอง  เราไม่ได้ไปทำอะไรกับความคิดเลย

แต่เราปฏิบัติไปเนี่ย! ความคิดขยะ ความคิดฟุ้งซ่านมันน้อยลงเอง ซึ่งถามว่า เราทำอะไรมัน เราก็ไม่ได้ทำอะไรมันเหมือนกัน เราไม่ได้ทำอะไรมันเลย มันเป็นผลจากความรู้สึกตัวที่เราฝึก ที่เราอยู่กับเนื้อกับตัว ที่เราไม่ลืมเนื้อลืมตัวเรา ผลของความคิดที่มันน้อยลงก็เกิดขึ้นเอง

การปฏิบัติธรรม ถ้าจิตใจเรายังไม่ปกติ  เรายังมีความกลัวอยู่ เราปฏิบัติธรรมไม่ได้เพราะอะไร? เพราะในขณะนั้น เรามีตัวตน ความกลัวเกิดขึ้นได้เพราะตัวตนเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นเราไม่ได้กลัวอะไร

แต่เราต้องเข้าใจว่า “ความคิด” เป็นสิ่งที่นำไปสู่ความ “ปรุงแต่ง” ได้ เราต้องเข้าใจแบบนั้น

ถ้าเค้าสามารถรู้ว่า ความคิดเกิดขึ้นแล้วเค้าปล่อยมันไปได้ แปลว่า เค้ารู้สึกตัวอยู่ ไม่งั้นเค้าจะปล่อยมันได้ยังไง? ปล่อยไม่ได้ต้องเข้าไปเป็นกับมัน

เราไม่เป็นปฏิปักษ์กับอะไรทั้งนั้น… “ไม่สู้ ไม่หนี รู้เฉยๆ” …แค่นั้นเอง เราไม่ได้สู้ ไม่ได้หนีอะไรเลย แต่อย่างว่านะ คือ ธรรมะนี่! พอมันเข้าไปในความคิดคนปุ๊บ…อันนี้ก็เปลี่ยนหมดทุกอย่าง การวิพากษ์วิจารณ์ ความเข้าใจที่ไม่ตรงก็เกิดขึ้น…ก็ธรรมดา คือ ต้องฟังให้หมด ฟังให้มันกระจ่างแจ้ง ฟังให้มันชัดเจน ไม่อย่างนั้นก็ไปพูดผิดๆ

 

 

#Camouflage

YouTube : https://youtu.be/HE90frc7otA

คลิปเสียงธรรมะทั้งหมดของอาจารย์ Camouflage : https://goo.gl/RDZFMI

======================

5 ช่องทางการอ่านและฟังธรรม

1) Facebook : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
http://www.facebook.com/sookguysookjai

2) Line : @camouflage.talk
https://line.me/R/ti/p/%40camouflage.talk

3) YouTube : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
https://goo.gl/in9S5v

4) Website: https://camouflagetalk.com

5) Podcast : Camouflage – Dhamma Talk
https://itun.es/th/t6Mzdb.c
วิธีการติดตั้ง https://goo.gl/tBMY9S