53.เรื่องของมัน

 

ตอนที่ 1 ตื่นตัว…ไม่ใช่สงบดำดิ่ง

นั่งสมาธิก็ไม่ใช่นั่งหลับ นั่งให้มันตื่นตัว ตาหลับ แต่ “ใจตื่น” ตื่นโพลงอยู่กับ “ความรู้เนื้อรู้ตัว

“ความรู้เนื้อรู้ตัว” ไม่มีจุด ไม่มีที่ตั้ง ไม่ใช่ไปแช่อยู่ที่ตรงไหนที่เดียว…รู้สึกถึงความมีอยู่ของร่างกายนี้เฉยๆ ความมีอยู่ของก้อนๆ นี้เฉยๆ แต่เดี๋ยวมันจะไปรู้ตรงไหนก็รู้…แค่นั้น

ในขณะที่เรารู้สึกถึงความมีอยู่ของร่างกายแบบนี้ จิตใจนี่! ปกติแหละ!….เงียบ

ความเงียบภายใน” เป็นอาการสำคัญของความสงบที่ “ตื่นตัว…ไม่ใช่สงบดำดิ่ง”

สภาพแห่งความตื่นตัว คือ สภาพที่ไม่ลืม เราไม่ลืมไปว่าเรายังมีร่างกายนี้อยู่

สภาพที่ลืมว่ามีร่างกายนี้ คือ สภาพที่เข้าไปอยู่ในโลกของความคิดปรุงแต่ง เมื่อเราเข้าไปอยู่ในโลกของความคิดปรุงแต่ง…เราก็ตกทางแล้ว เราก็ล่องลอย

แต่จิตก็มีหน้าที่คิดปรุงแต่งของมันไปอย่างนั้น

หน้าที่ของเรา คือ “พ้นออกจากโลกของความคิดปรุงแต่งทั้งปวง…พ้นไป”  คำว่า “พ้นไป” นี่ อธิบายเป็นภาษา ก็คือ ไม่ตามเข้าไปในความคิดนั้น ไม่ใช่ไปหยุดความคิด ไม่ใช่ไป “ละ” ความปรุงแต่ง ความปรุงแต่งเป็นธรรมชาติของจิตที่เป็นแบบนั้น

การปฏิบัติธรรม…เข้าใจให้ถูก!  แปลง่ายๆ คือ การเรียนรู้ เรียนรู้ธรรมชาติของกายกับจิตอย่างที่มันเป็น

ไม่มีหน้าที่ทำให้จิตนี้…มันดี

ไม่มีหน้าที่ทำให้จิตนี้…มีแต่กุศล

ไม่มีหน้าที่ที่จะไปรังเกียจอกุศลในจิตใจ

มีหน้าที่เดียว…เรียนรู้ว่าจิตเป็นแบบนี้ อกุศลเกิดขึ้น…ก็รู้! ตอนนี้เป็นแบบนี้  กุศลเกิดขึ้น…ก็รู้! ตอนนี้เป็นแบบนี้

อย่าลืม!!…ว่าเรามีหน้าที่เรียนรู้เฉยๆ ไม่มีหน้าที่เปลี่ยนแปลงสภาพของธรรมชาติอะไร

เราต้องเริ่มก่อน…ต้องเข้าใจว่า สิ่งที่พระพุทธเจ้านำทางให้เรา บอกเรา เป็นมรดกอันล้ำค่าอันนึงที่เราไม่เคยรู้มาก่อน และไม่สามารถรู้ได้เองก็คือว่า “กายกับจิตนี่…ไม่ใช่เรา” อันนี้เป็นกุญแจสำคัญ มีคนบอกเราก่อนแล้วว่า กายกับจิตนี้ไม่ใช่เรา

กุญแจสำคัญอันนี้ มันทำให้เราเหลือแต่เพียงกิริยาอะไร? คือ “เรียนรู้” มัน…รู้มันว่ามันเป็นยังไง? มันทำงานยังไง?

การที่เราอยากจจะให้จิตนี้มันดี อยากจะให้จิตนี้มันหมดจด อยากจะให้จิตนี้มันบริสุทธิ์….เป็นการกระทำที่ผิดทางทั้งหมด เพราะมันมี “ตัวเรา” เข้าไปต้องการกระทำให้จิตนี้ดีอย่างที่เราอยากให้มันเป็น

ความบริสุทธิ์ที่เกิดขึ้น ต้องเป็นความบริสุทธิ์ที่เกิดจากธรรมชาตินี้ขัดเกลาตัวมันเอง ไม่ใช่เราเข้าไปทำอะไรมัน

 

ตอนที่ 2 ทำเล่นๆ แต่ทำจริงๆ

ศาสนาพุทธเป็นศาสนาของคววามเข้าใจ เราจะเข้าใจสิ่งๆ นึงได้ ไม่ใช่เราเข้าเปลี่ยนแปลงมัน เข้าไปจัดการมัน เข้าไปทำอะไรมัน แต่เราต้องเรียนรู้มัน

เรียนรู้มันในลักษณะที่เรียกว่า..”ผ่อนคลาย สบาย เป็นธรรมชาติ

ไม่ใช่เรียนรู้แบบ…”เพ่งจ้อง เครียด เอาจริงเอาจัง

ครูบาอาจารย์สมัยก่อนก็เลยพูดว่า “ทำเล่นๆ แต่ทำจริงๆ”…

“ทำจริงๆ” คืออะไร? คือ ไม่เลิกนั่นแหละ…ไม่เลิกไม่ลดละ ไม่ลืมว่าเราเกิดมาเรามีหน้าที่แบบนี้ที่จะต้องทำแบบนี้ แต่เวลาทำ “ทำเล่นๆ”

ทำไมมันถึง “เล่นๆ”? เพราะมันผ่อนคลาย สบาย เป็นธรรมมชาติ มันเลยดูเหมือนเล่นๆ มันดูเหมือนเป็นคนไม่เอาจริงเอาจังในการปฏิบัติธรรม

แต่คนพวกนี้แหละที่จะเข้าใจธรรมะได้ เพราะมันใช้ “ใจที่ปกติ ที่ธรรมดา” ปล่อยให้จิตใจนี้ทำงานอย่างอิสระ แล้ว “รู้ทัน” มัน เราไม่มีหน้าที่ที่จะทำให้มันไม่หลง เรามีหน้าที่ให้มันทำงานอย่างอิสระ มันหลงไปแล้ว…เราก็รู้ทัน มันหลงไปแล้ว…เราก็รู้ทัน

เรียนรู้…เรียนรู้ว่าจิตเป็นแบบนี้ เรียนรู้ว่าทำไมพระพุทธเจ้าบอกว่า จิตนี้เป็นทุกข์…ทำไมเป็นแบบนั้น? เพราะจิตนี้มันชอบหานึก หาคิด หาปรุง หาแต่ง

การที่เราเห็นมันบ่อยๆ ว่ามันชอบทำแบบนั้น มันชอบเป็นแบบนั้น ทำให้เราเข้าใจว่า อ่อ…จิตนี้มันเป็นทุกข์จริงๆ มันเป็นทุกข์ด้วยตัวของมันเอง ตัวมันเองวิ่งพล่านไป วิ่งพล่านมา คิดโน่น คิดนี่ ปรุงแต่งอย่างนี้ ปรุงแต่งอย่างนั้น…คิดไปเรื่อย สร้างความทุกข์ สร้างความสุขได้บ้างเหมือนกัน แต่ไม่นานก็ทุกข์อีก  เพราะฉะนั้น ความสุขแบบนั้น ถือไม่อาจจะเรียกว่าเป็นความสุขได้ มันสุขอยู่บนกองเพลิงกองไฟที่มันเร้าร้อน

เมื่อการเรียนรู้ว่าจิตนี้เป็นแบบนี้  เรียนรู้ว่าจิตนี้เป็นทุกข์แบบนี้  “รู้” มากเข้าๆ  สุดท้ายมันไม่เอาแล้วกับจิตนี้ มันจะเป็นอะไรก็ “เรื่องของมัน”  อย่างที่พระอาจารย์เทศน์… “เป็นอะไรก็ช่างหัวมัน” มันจะดีไม่ดีก็ช่างหัวมัน ไม่เกี่ยวกับมัน เราไม่ใช่เป็นจิต

ตัวเราที่แท้จริงที่ผมพูด คือ “สภาพตื่นรู้ล้วนๆ” …“สภาพตื่นรู้” นี้ ไม่มีอะไรเลย ไม่มีดีไม่ดี ไม่มีกุศล ไม่มีอกุศล ไม่มีอะไรทั้งนั้น มันบริสุทธิ์

 

ตอนที่ 3 ความจริง…ไม่ใช่ความเชื่อ

ปัญหาอย่างนึงของพวกเรานักปฏิบัติธรรม…เราติดหนังสือมากเกินไป

ธรรมะจากครูบาอาจารย์มันมีสั้นๆ ง่ายๆ… “รู้” …รู้อย่างที่มันเป็น รู้ด้วยจิตใจที่ “ปกติ” ไม่มีการแทรกแซง จัดการทำอะไรทั้งนั้น พระไตรปิฎกทั้งเล่มมันก็รวมกันเหลือแค่นี้แหละ

พระพุทธเจ้าสิ้นไป 400 กว่าปี เค้าสังคายนาเป็นพระไตรปิฎกขึ้นมา เป็นหนังสือขึ้นมา ก่อนหน้า 400 กว่าปีเล่าๆ ต่อกันมา มั่นใจขนาดไหนว่าเป็นคำพูดพระพุทธเจ้า บางคนอ้างว่า โอ้! เป็นคำพระอรหันต์ พระสาวกเป็นพระอรหันต์ก็พูดต่อกันมา

พระอรหันต์ไม่ใช้ความจำในการถ่ายทอดธรรมะ…ต้องจำเอาไว้! ธรรมะสำคัญที่สุดอันนึงที่ง่ายๆ ที่พวกเราฟังมาตลอด…สัญญาไม่เที่ยง แม้กระทั่งสัญญาในพระอรหันต์ก็ไม่เที่ยงเหมือนกัน เพราะฉะนั้นแค่เรื่อง “สัญญาไม่เที่ยง” เรามั่นใจมั้ยว่าเป็นคำพูดของพระพุทธเจ้า? จากภาษามคธแปลมาจนถึงภาษาไทยนี่ 100%ไม่เพี้ยนเลยจริงๆ มั้ย?

พระพุทธเจ้าสอนเรา ศาสนาพุทธเราสอนกันเรื่อง “ความจริง…ไม่ใช่ความเชื่อ

พระพุทธเจ้าสอนหลักกาลามสูตรให้กับเรา…

อย่าเชื่อตามตำรา

อย่าเชื่อแม้กระทั่งคำพูดนั้นจะพูดต่อกันมาจนเป็นเรื่องน่าเชื่อถือไปแล้ว

อย่าเชื่อแม้กระทั่งคำนั้นเป็นคำพูดจากครูบาอาจารย์ของเรา

เพราะท่านให้ความสำคัญกับการได้เอาไปทำดู…”ลองทำดูด้วยตัวเอง” ทำแล้วรู้เอง ถูกผิดยังไงรู้เอง เจริญไม่เจริญยังไงรู้เอง

เพราะฉะนั้น อย่าให้ความเชื่อ ความศรัทธาในพระพุทธเจ้าปิดบังความจริงที่เราจะต้องรู้ สภาพความจริงสูงสุดที่เราจะได้เจอคือ “พระพุทธเจ้า…ไม่ใช่หนังสือ

ครูบาอาจารย์ที่เข้าถึงธรรมแล้ว เค้าสอนกันง่ายๆ แบบที่ผมบอกเมื่อกี้นี้  ธรรมะ พระไตรปิฎกทั้งเล่มมันรวมลงอยู่แค่นั้นแหละ แล้วเราก็ออกเดินทางซะ!…เริ่มออกเดินทางให้มันถูก ความรู้ทางธรรมะทั้งหลายจะเกิดขึ้นผ่านประสบการณ์ตรงที่เราได้อยู่บนเส้นทางของการรู้ “ความตื่นรู้” ที่ถูกต้อง ความรู้ทั้งหลายจะเกิดขึ้นเอง ความรู้จากความคิดพิจารณาผ่านสมอง…ไม่ใช่ความจริง เป็นเรื่องที่เราเดาๆ เอาเฉยๆ ว่าน่าจะเป็นแบบนี้

เหมือนทุกคนฟังเรื่อง “สติ” มากันเยอะ…ต้องมีสติ แม้กระทั่งมีคำพูดว่า “โอ้! พระอรหันต์มีสติบริบูรณ์”หนังสือเค้าว่าอย่างนั้น ถ้าเราอ่านมา “โอ้!..สติบริบูรณ์” เราก็ต้องคิดของเราไปเรื่อยแหละ “สติบริบูรณ์…โอ๋!แปลว่า รู้ทุกอย่าง รู้ทุกขณะ รู้” ความคิดของเราเนี่ยพาพระอรหันต์ไปเป็นอะไร? ไปเป็นหุ่นยนต์

เพราะฉะนั้น เราทุกคนนักปฏิบัติ มีหน้าที่ที่เราจะต้องเข้าถึงความจริง ประสบการณ์ตรงต่อความจริงด้วยตัวเราเอง ไม่ใช่อ่านตามหนังสือ เมื่อไหร่ที่เราเข้าถึงประสบการณ์ตรงด้วยตัวเราเอง เราจะรู้ว่า “อ้อ! หนังสือเค้าว่าอย่างนี้นะ เอ่อ..เขียนดี”

 

ตอนที่ 4 รู้จัก “สภาพปกติ”…บนพื้นฐานของ “จิตใจที่ผ่อนคลาย สบาย เป็นธรรมชาติ”

วันนี้เราอยู่ท่ามกลางประสบการณ์ของการเป็นพุทธศาสนิกชน เป็นนักปฏิบัติ เรารู้สึกถึงความสูงส่ง ความต่ำต้อย การเปรียบเทียบ

แต่พระพุทธเจ้าไม่ได้มีอาการแบบนั้นเลย ความเป็น “พุทธะ” ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองสูงส่ง ไม่ได้รู้สึกว่าคนอื่นต่ำต้อย “พ้นไป” จากการเปรียบเทียบแล้ว

เราทุกคนเพียงแค่เป็นเมล็ดพันธุ์แห่งพุทธะเหมือนกัน…แค่นั้น! ที่รอวันที่จะเบ่งบาน “ตื่นรู้” ขึ้นมาอย่างสมบูรณ์ผ่านการปฏิบัติง่ายๆ อย่างที่ผมบอกนี่แหละ

หัวใจสำคัญคือ “พ้นออกจากโลกของความคิดปรุงแต่งทั้งปวง” ให้ได้ อันนี้เป็นหัวใจของการปฏิบัติ

จะพ้นได้ด้วยเครื่องมือก็คือ “ความรู้สึกตัว” “ความไม่ลืมเนื้อลืมตัว” “ความอยู่กับเนื้อกับตัว”

เรานึกขึ้นได้…เราก็กลับมาดูจิตใจเราเป็นยังไง? ปกติก็รู้ปกติ

“สภาพปกติ” นี้เป็นสภาพไร้ราคะ ไร้โมหะ ไร้กิเลส…มันไม่มีทุกข์ในนั้น

“สภาพปกติ” นี้เป็นสภาพเดิมๆ ที่เรามีกันอยู่แล้ว…รู้จักมัน พาจิตใจ “รู้จักมัน

เหมือนเรารู้จักพื้นสะอาดๆ ที่เรานั่งกันอยู่แบบนี้ เราจะไม่ไปนั่งคลุกสนามหญ้าแล้วเพราะมันสกปรก…มันรู้เอง! ไม่ต้องบังคับให้มันมาอยู่ในห้องนี้เลย เรียกมันมาอยู่ในห้องนี้…ไม่ต้องเรียกเลย มันวิ่งมาเองเลย มีแอร์ พื้นสะอาด มันไม่ลงไปเล่นดินเล่นโคลนแล้ว มันมาเอง ไม่ต้องบังคับให้มันมาในที่สะอาดแบบนี้ด้วย เราเพียงแค่ให้มัน “เรียนรู้สิ่งที่ดีกว่า สิ่งที่ถูกต้อง พามันรู้จัก”…แค่นั้นเอง! เรามีหน้าที่แค่นั้น

เพราะฉะนั้น พ้นออกจากโลกของความคิดปรุงแต่งแล้ว…ด้วย “ความรู้สึกตัว” รู้จักสภาพของ “จิตใจที่มันปกติ” ไร้ทุกข์ เพียงแค่นี้แหละ เรากำลังเข้าถึง “สภาพตื่นรู้” แล้ว แต่บ่อยแค่ไหน? นี่! เป็นหน้าที่ของเรา เค้าเรียกว่า “ฉันทะ” เรามีความพอใจที่จะตื่นรู้มั้ย? หรือ เรามีความพอใจที่จะหลงไปคิดมากกว่า?  แล้วเราก็ Keep going ทำไปเรื่อยๆ บนพื้นฐานของ “จิตใจที่ผ่อนคลาย สบาย เป็นธรรมชาติ” ไมใช่พื้นฐานของจิตใจที่จะเอา… “ฉันเป็นนักปฏิบัติ” เคร่งเครียด…อย่างที่ผมพูดบ่อยๆ ว่าเป็น “ซอมบี้” นั่นแหละ

การที่จิตใจเราไม่ผ่อนคลาย ไม่สบาย ไม่เป็นธรรมชาติ ตอนนั้นทำไม? มันผิดปกติ…ความผิดปกติมันเกิดขึ้นได้ เพราะความเป็น “คน” มันเกิดขึ้น

เพราะฉะนั้น ถ้าเราปฏิบัติธรรมบนพื้นฐานของจิตใจที่ผิดปกติ มันก็มี “ตัวเรา” นั่นแหละ ไปทำอยู่ตลอดเวลา

เมื่อมี “ตัวเรา” ไปทำตลอดเวลา การเดินทางบนเส้นทางนี้ ยังไม่ได้เริ่มเลย ต่อให้เดินมาเป็นสิบปีก็ยังไม่ได้เริ่ม

เราแค่ถูกสอนเฉยๆ ว่าตัวเราเคยอยู่ในโลกตั้งใจทำงาน… “เฮ้ย! เปลี่ยนมาตั้งใจปฏิบัติธรรมสิ” ก็ใช้ “ตัวเรา” เหมือนเดิมนั่นแหละไปปฏิบัติธรรม แล้วมันจะไปไหนได้ ที่ผมเคยบอกว่า เราแค่เปลี่ยนโลกจากโลกที่เราเคยอยู่มาเป็นโลกในวัด…แค่นั้นเอง! เรายังไม่ได้พ้นจากโลกซะที

 

ตอนที่ 5 ชีวิตที่ “พอดี” กับทุกสถานการณ์

เพราะฉะนั้น การพ้นจากความเป็น “คน”…พ้นจากจิตใจที่เต็มไปด้วย “อัตตาตัวตน” …เป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิบัติธรรม และเป็นจุดสุดท้ายของปฏิบัติธรรมเหมือนกัน เพราะฉะนั้น เราเริ่มที่นี่…และจบที่นี่!…ที่เดียวกัน เพียงแค่ความ “อิสระ” แห่งความ “ตื่นรู้” นี้มันต่างกันแค่นั้นเอง

ความตื่นรู้อย่างถาวรที่ไม่มีการกระทำอะไรเลยโดยสมบูรณ์เมื่อเรามาถึงจุดสุดท้าย เราก็เป็นแค่เพียงสภาพ “ตื่นรู้” เฉยๆ

ไม่ใช่เมื่อเราตื่นรู้แล้ว เราจะไม่รู้ว่าอะไรดี อะไรเลว อะไรชั่ว อะไรถูก อะไรผิด ไม่ใช่เราไม่รู้…รู้ทุกอย่าง!

แต่การรู้นั้น เป็นการรู้อย่างเป็นกลาง เป็นการรู้ที่ไม่มีอารมณ์อะไรเข้าไปแทรกแซง ไม่มีทิฏฐิมานะอะไรเข้าไปตัดสิน…ไม่มีทุกข์

เพราะฉะนั้น ผมถึงบอกว่าเราปฏิบัติธรรมไม่ใช่เป็นคนดี  ไม่ใช่ปฏิบัติเพื่อจะเป็นคนดี ความดีไม่มีที่สิ้นสุดเลย เพราะมันขึ้นกับความพอใจของคน ขึ้นอยู่กับความคิดของคน ทำดีแทบตายมันก็ยังว่าไม่ดี

เพราะฉะนั้น เราจะเข้าไปถึงสภาพที่มัน “พอดี”…รู้จักการใช้ชีวิตตามสมควร ไม่ใช่ตามความดีหรือความชั่ว…”ตามสมควร”  “รู้จักอะไรควรไม่ควร” ชีวิตจะรู้จักสภาพแบบนั้น สภาพแห่งความที่รู้สึกว่า “ควรไม่ควร” อยู่บนพื้นฐานของอะไรเป็นตัวตัดสิน? “ปัญญาญาน

ปัญญาญาน…ไม่ได้ผ่านตัวตน

เราจะไม่กลายเป็นคนที่ดีกว่าเดิม

เราจะไม่ได้กลายเป็นคนที่ดีขึ้น

เราจะไม่ใช่กลายเป็นคนดี๊ดี

เราจะเป็นคนที่ “พอดี” กับทุกสถานการณ์

 

ตอนที่ 6 กลับสู่สภาพจิตใจที่มัน “ซื่อๆ” แล้ว “รู้ทัน เห็นมัน ไม่เข้าไปเป็นกับมัน”

เพราะฉะนั้น การปฏิบัติธรรมเค้าเรียกว่าให้มัน “ซื่อ” จิตใจมันกระทบอะไรขึ้นมาให้มัน “ซื่อ”…ซื่อคือหมายความว่าอะไร? มันกระทบมาปุ๊บ…กระเทือนปึ๊บ ให้มันซื่อตรงต่อความกระเทือนนั้น…ไม่ใช่ห้ามมัน

มันกระทบปุ๊บ! มันโมโห…มันกระทบปุ๊บ! มันหงุดหงิด…มันกระทบปุ๊บ! มันไม่พอใจ…อย่าเอาความเป็นคนดีเข้ามาปิดบังความจริงตรงนี้ อย่าบิดเบือนความจริงตรงนี้…อันนี้เป็นอุปสรรคอันใหญ่อีกอันนึงของนักปฏิบัติธรรม ของชาวพุทธ เพราะชาวพุทธเราไม่กล้าเป็นคนไม่ดี

ให้จิตใจนี้มันกระเทือนแบบ “ซื่อๆ”…แล้ว ”รู้ทัน” มัน แค่เราไม่ออกมาล้นทางปาก ทางมือ ทางเท้า ทางสีหน้า…แค่นี้พอแล้ว

แต่จิตใจ…จิตใจให้มันซื่อ ให้มันทำงานแบบซื่อๆ อย่าเอา Positive thought ความคิดในแง่ดี มาตรฐานของตัวเองส่วนตัวเอามาบิดเบือนความจริงของจิตนี้ที่มันจะตอบสนองต่อสิ่งที่กระทบ

พวกเราคิดว่า เราปฏิบัติธรรมแล้วเราเป็นคนดีขึ้น…ไม่ใช่เลย!  ทุกวันนี้เราเป็นคนดีเพราะอะไร? เพราะเราอยู่ในโลกมาเยอะ เราไม่รู้จะไปทางไหนดีที่จะไม่ทุกข์ เราเลยคิดว่าถ้าเรารู้จักมองโลกในแง่ดี คิดดีเข้าไว้ เราจะไม่ทุกข์ ตั้งแต่นั้นแหละ! เราเลยเป็นคนดี แต่เป็นคนดีไม่รู้กี่ปีแล้ว ก็ยังทุกข์เหมือนเดิม เพราะมันไม่ใช่ทางออก…มันได้แค่บรรเทาทุกข์เฉยๆ

ทำไมผมถึงบอกว่า ตั้งแต่แรกเราไม่ใช่เป็นคนดีหรอก ตอนเด็กๆ เราเอาแต่ใจจะตาย คิดถึงตอนเด็กๆ ของทุกคนมีใครเป็นคนดี? ไม่มีหรอก เอาแต่ใจ…อยากได้นี่ อยากได้นั่น ก็ร้องไห้ๆ โวยวายๆ พ่อแม่ก็เบื่อ รู้อย่างนี้ เอาขี้เถ้ายัดปากตั้งแต่เด็กก็ดี

แต่ถ้าเราปฏิบัติธรรม พ่อแม่ปฏิบัติธรรม ลูกปฏิบัติธรรม ก็ช่วยกัน เราเข้าใจล่ะ เราเข้าใจความจริงล่ะ มันก็จะช่วยกัน  พ่อแม่ลูกกลายเป็นกัลยาณมิตรกัน ชีวิตครอบครัวที่มีธรรมะเป็นหลัก มันก็ต่างจากครอบครัวคนในโลกเยอะแยะ นี่คือ ความศักดิ์สิทธิ์อำนาจของพลังของธรรมะ

เพราะฉะนั้น อุปสรรคเรื่องของ “ความดี” อันนี้ที่ผมพยายามจะบอก

กลับไปสู่สภาพจิตใจที่มันซื่อๆ เหมือนตอนที่เราเป็นเด็ก ปล่อยให้มันโล้ดเล้นอยู่ภายในของเรา แล้วรู้ทันมัน เห็นมัน ไม่เข้าไปเป็นกับมัน อย่าให้ความดีที่ถูกหล่อหลอมมาทั้งชีวิตบิดเบือนความจริงนั้นเพราะเราจะไม่เห็นความจริง

การเห็นความจริงนั้นถูกปิดกั้นด้วยความดี  เวลากระทบอะไรปุ๊บ…ความดีวิ่งฟรึ๊บ…เข้ามาแทรกเลย แล้วเราก็ใช้การมองสิ่งที่ถูกกระทบนั้นผ่านความดี เราไม่ใช้ความจริง

อย่าให้เลนส์ของความดีมาปิดกั้นความจริง ให้จิตใจวิ่งวนไหลเวียน กระทบกระเทือนแบบซื่อๆ แค่มีหน้าที่อย่าให้มันล้นออกมา…แค่นั้น

แล้วเราก็จะได้เรียนรู้ว่า จริงๆ เราไม่ได้ดีหรอก เราทุกคนนั่นแหละไม่ได้ดีหรอก…เพราะอะไร? เพราะธรรมชาติของจิตใจนี้มันไหลลงต่ำ จิตที่มีอวิชชานี้ ธรรมชาติมันไหลลงต่ำ

 

ตอนที่ 7 เรื่องของมัน

ความที่เราเกิดมามีบุญพอสมควร เราก็เป็นคนดีหน่อย ธรรมชาติของจิตนี้ก็อยากจะให้มัน “เฮ้ย! อย่าไหลลงต่ำเลย” พยายามจะทำให้มันสูงแทน

แต่ที่ผมบอกตั้งแต่แรกเมื่อกี้นี้ว่า พระพุทธเจ้าบอกกุญแจสำคัญให้กับเราไว้แล้วว่า “จิตนี้ไม่ใช่ของเรา” ไม่มีหน้าที่ทำให้มันสูง หรือไม่มีหน้าที่ทำให้มันต่ำ มีหน้าที่ “เรียนรู้มันเฉยๆ” ว่าสภาพของมันนั้นเป็นทุกข์ จนสุดท้าย เราจะปล่อยวางจิตนี้คืนให้กับโลกไปเพราะเราไม่ใช่เป็นจิต

ภาษาครูบาอาจารย์เรียกว่า…เราจริงๆ เราเป็น “ธรรมธาตุ” เป็น “ธาตุรู้” “นิพพานธาตุ” “จิตหนึ่ง” “ใจ” “อมตะธาตุ” …แล้วแต่ใครจะเรียก

แต่ไม่ใช่ไอ้จิตที่มันวิ่งไปวิ่งมาอยู่นี้ เราไม่ได้เป็น “จิต” อันนี้  แต่เรายึดกับมันอยู่ เรายึดโยงกับมันอยู่ เพราะเราคิดว่าเราเป็นเจ้าของมัน เรามีหน้าที่ “เรียนรู้” ความจริงไปเรื่อยๆ จนวันนึงเราปล่อยวางมัน มันก็ไม่ใช่เราปล่อยหรอก มันปล่อยเอง มันไม่เอาเอง

พอมันปล่อยแล้ว มันก็เป็นอิสระ พูดภาษาบ้านๆ…มันจะเป็นบ้าอะไรก็เรื่องของมัน เราไม่เดือดร้อนด้วย

กายกับจิตนี้ ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา เหมือนเรามีเพื่อนบ้าน เห็นมันตบมันตีกัน สามีภรรยาตบตีกัน เราเดือนร้อนรึเปล่า? เราก็ไม่ได้เดือดร้อน ก็ “เรื่องของมัน” ….เราจะรู้สึกแบบนั้น มันจะฟุ้งซ่าน มันจะอกุศล มันจะเป็นบ้าเป็นบออะไรของมัน เราจะไม่รู้สึกอะไรกับมัน ก็ “เรื่องของมัน

การที่เราจะไปจัดการมันนั่นแหละ เราคิดว่า จิตนี้เป็นของเรา เราเลยจะไปจัดการมัน เราอยากให้มันดี….นี่คือ ปัญหาของนักปฏิบัติ

เพราะฉะนั้น ทุกคนต้องมีอยู่ในใจของเราทุกคนว่า “เราไม่มีหน้าที่จัดการให้มันดี” มันเหมือนคนข้างบ้าน เหมือนคนนอกบ้าน เหมือนคนนอกประเทศ เราไม่ได้มีอะไรกับมัน อย่าไปเป็นเจ้าของมัน

 

ตอนที่ 8 มีแค่หน้าที่ “รู้ปัจจุบัน…ไม่ตามมันไป”

เพราะฉะนั้น “สัมมาทิฏฐิ” …เริ่มที่จะรู้ว่าปฏิบัติยังไง? เริ่มที่จะรู้เส้นทางของอริยมรรคเดินยังไง? ทุกก้าวของการเดินเป็นมรรค 8 มรรคทั้ง 8 เกิดขึ้นพร้อมกันทุกขณะ จนวันนึงเค้าเรียกว่า เกิดมรรคสมังคีรวมกันแหวกทำลายอาสวะกิเลส

เพราะฉะนั้น เราเดินตามมรรค ต้องเดินให้ถูก เข้าใจการเดินให้ถูก ถ้าเราเข้าใจไม่ถูก ระหว่างทางเราก็สับสน คิดจะทำโน่น คิดจะทำนี่  อันนี้ไม่พอ อันนั้นไม่ดี สารพัดสารเพ สร้างแต่ความกังวลให้เรา แทนที่เราจะผ่อนคลาย สบาย เป็นธรรมชาติ…มีแต่ความกังวล กลัวทำนี่ไม่ได้ กลัวทำนี่ไม่พอ กลัวทำนี่ไม่ดี มรรคข้อนั้นยังไม่ได้ทำ ข้อนี้ไม่ได้ทำ…วันๆ อยู่แต่ความคิด! แบบนี้ไมได้เจริญมรรค แบบนี้เจริญความกังวลอย่างเดียว แล้วนึกว่ากำลังเจริญมรรคอยู่

เพราะฉะนั้น การปฏิบัติ เซน (Zen) นี่เค้าพูดอันนึงว่า “อยากก้าวหน้า ให้ถอยหลัง” ฟังแล้วก็งง… “อยากก้าวหน้า ให้ถอยหลัง” ความหมายคืออะไร? ก็คือ อย่าไปอยากก้าวหน้า “มีแค่หน้าที่เฉยๆ” ทุกคนมีแค่หน้าที่

ที่ผมเคยพูดว่า เหมือนเราโม่แป้ง เราย้ำอยู่กับที่นั่นแหละ ไม่ต้องรู้สึกว่าจะได้อะไร ไม่ต้องรู้สึกว่าเราควรจะดีกว่านี้ ไม่ต้องรู้สึกว่า…เอ๊ะ! ทำไมเรากระทบนี่..ยังกระเทือนแบบนี้ เคยไม่กระเทือนแบบนี้แล้วนะ ทำไมครั้งนี้มันยังกระเทือนอยู่…มีแต่ความสงสัย ไม่ต้องสงสัยแบบนั้น

ชีวิตการปฏิบัติธรรมของเราทุกคนเป็นคลื่น (Wave) เดี๋ยวมันขึ้น…โอ้ย! ดีจัง เดี๋ยวมันก็ลง…เดี๋ยวมันขึ้น เดี๋ยวมันก็ลง…มันเป็นแบบนั้น ไม่มีแบบอย่างนี้ โอ้โฮ! เทรดขาขึ้นตลอด…ไม่มี แม้กระทั่งเศรษฐกิจโลกยังต้องเป็นอย่างนี้ๆ แล้วก็อย่างนี้ ๆ (ขึ้นแล้วก็ลง ขึ้นแล้วก็ลง)…ทุกสิ่งอยู่ภายใต้ “อนิจจัง” จนกว่าเราไปเป็นดาวเทียมที่ไปนอกโลกแล้ว เหนือโลกแล้ว มันก็เท้งเต้งอยู่แบบนั้น ไม่อยู่ภายใต้กฎของอนิจจัง

เพราะฉะนั้น ในระหว่างทางเดินของเรา ดีบ้างก็รู้ว่าเป็นแบบนี้ ทำเหมือนเดิมแล้วมันแย่ลงก็รู้ว่าเป็นแบบนี้ ให้เรา “รู้ทันกับสภาพปัจจุบันขณะนี้” ว่าเป็นยังไง ก็รู้มันเป็นอย่างนั้น ไม่ใช่คอยเปรียบเทียบ…วันนี้แย่กว่าเมื่อวาน วันนี้แย่กว่าเดือนก่อน วันนี้ดีกว่าวันนั้น…ไม่มีหน้าที่เปรียบเทียบอะไรอย่างนั้น

เพราะเมื่อไรที่เราเปรียบเทียบ ความเป็น “คน” นี้ก็เกิดขึ้น เราจะเอาอีกแล้ว เรามีปัญหากับสภาพตรงหน้าอีกแหละ เราไม่ยอมรับแบบซื่อๆ ว่า ตอนนี้เป็นแบบนี้เฉยๆ ถ้าเราอยู่กับปัจจุบัน เราก็แค่ “รู้ปัจจุบัน”…แค่นั้น ปัจจุบันนี้เป็นแบบนี้ ปัจจุบันนี้ยังยึดแบบนี้ก็…อ่อ! ก็เป็นแบบนี้ เพียงแต่เราไม่ตามมันไป ไม่ตามความทุกข์แบบนั้นไป ไม่ตามความปรุงแต่งแบบนั้นไป

“การไม่ตามไป” ศัพท์คำนี้ฟังดีๆ “ไม่ตามไป” คือ ไม่ได้ไปทำอะไรมัน มันมีอยู่ ก็เรื่องของมัน มันจะหายไป ก็เรื่องของมัน การที่เราอดทนที่จะไม่ตามมันไป สุดท้ายเราจะเข้าใจอะไร? เข้าใจ “อนิจจัง”…เข้าใจที่เค้าเรียกว่า “วิปัสสนาญาณ” เห็นไตรลักษณ์เนี่ย!

 

ตอนที่ 9 เข้าถึง “อนัตตา” ได้เอง

เรา “อดทน” ต่อสภาวะธรรมต่างๆ ไม่ว่าสภาวะนั้นจะดี หรือไม่ดี เป็นการเจริญวิปัสสนาญาณอัตโนมัติ ความอดทนแบบนี้ ผมพูดหลายครั้ง มันเป็น “บารมี” ภาษาหรูๆ ก็ “เนกขัมมะบารมี” “ขันติบารมี”

การปฏิบัติที่ถูกต้อง องค์ธรรมทั้งหลาย…บารมี โพธฌงค์ สติปัฏฐาน โพธิปักขิยธรรม 37…อยู่ในนี้ทั้งหมดแล้ว ไม่ต้องไปนั่งหาจะทำ มันอยู่ในนี้หมดแล้ว มันค่อยๆ หล่อหลอม เหมือนเรากำลังจะทำอะไรบางอย่าง มันก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้น ขยายขึ้น ขยายขึ้นๆๆ ขยายขึ้นเอง ด้วยเหตุของการฝึกที่จะ “รู้” อย่างถูกต้อง “ตื่นรู้” อย่างถูกต้อง แล้วทุกอย่างจะค่อยๆ ขยายตัวเป็นเอง เป็นเอง ไปเรื่อยๆ

เวลาเราปฏิบัติธรรม บางทีเราก็ปฏิบัติเหมือนเดิมนะ เราก็ยังเดินจงกรม ทำหน้าที่ ทำเหมือนเดิมทุกอย่าง แต่สภาพจิตใจเราบางทีไม่เหมือนเดิม ทางกายภาพเราก็ว่า เราเหมือนเดิมทุกอย่างนะ มีวินัย ทำหน้าที่ …เอ๊ะ! แต่จิตใจเดี๋ยววันนี้เราตื่นมาฟุ้งซ่าน วันนี้ตื่นมากังวล อีกวัน…อุ้ย! ตื่นมาโปร่งโล่ง

สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งให้เราต้องสังเกตว่า เหตุปัจจัยทั้งหลายส่งผลให้เกิดผลที่ไม่เหมือนกัน แม้ว่าเรากำลังทำหน้าที่เหมือนเดิมก็ตามที จะทำให้เราเข้าใจอะไร? เข้าใจเรื่องของ “อนัตตา” ว่า เหตุปัจจัยมากมายที่เรารู้ไม่ได้ แต่มันมีอยู่ ส่งผลให้เกิดผลลัพธ์ที่แตกต่างกันไปในแต่ละวัน สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ให้เราท้อ แต่มันให้เกิดการเรียนรู้ว่า อ่อ..โลกนี้เป็นแบบนี้ ควบคุมบังคับอะไรก็ไม่ได้ ขนาดทำเหมือนเดิมทุกวัน ผลมันยังไม่ได้เหมือนเดิมเลย อย่างนี้เป็นความเข้าใจอนัตตาเบื้องต้น

เพราะฉะนั้น เราจะเห็นว่าการปฏิบัติธรรมของเราเนี่ยมันรวมลงไปได้ในธรรมะตลอด การที่เราสรุปทางความคิดลงไปในธรรมะบ้าง ไม่ใช่ปัญหา ที่ผมบอก…เรามีสุตมยปัญญา จินตมยปัญญา ภาวนามยปัญญา…3 อย่างนี้ไปด้วยกันอย่างสมดุล

แต่ด้วยการปฏิบัติแบบนี้แหละ สุดท้ายเราจะเข้าถึง “อนัตตา” ของจริงได้เอง สภาพแห่งความเข้าใจว่า ไม่มีสัตว์ ตัวตน บุคคลเราเขา มันจะไม่ใช่การเข้าใจด้วยความคิด แต่เป็น “การเห็น”…

“เห็นด้วย…” ที่หลวงปู่ดูลย์พูดว่า “ญาณเห็นจิต เหมือนดั่งตาเห็นรูป” สภาพแห่ง “อนัตตา” นั้นมันจะเหมือนตาเราเห็นรูปนี่เลย…ของสภาพที่ไม่มีตัวตน บุคคล เราเขา…ไม่ใช่คิดเอา เหล่านี้นี่เป็น “ญาณทัศนะ” ที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ปฏิบัติบนเส้นทางนี้ สุดท้ายเราก็เปิดดวงตามแห่งธรรม

ดวงตาแห่งธรรม” ก็คือ ญาณทัศนะนั่นแหละ มันเป็นสิ่งที่มาเอง ไม่ต้องไปทำ

ปฏิบัติให้มันถูก ปฏิบัติไปเรื่อยๆ สิ่งเหล่านี้เป็นธรรมชาติที่จะต้องมาเอง

พอสิ่งเหล่านี้มันมาเอง ครูบาอาจารย์ที่มีญานทัศนะนี่ ถึงไม่มีโอกาสเลยที่จะหลงตัวเอง เพราะสิ่งเหล่านี้มันมาเอง ไม่ได้ทำขึ้นมากับมือ ไม่ใช่สร้างขึ้นมา มันมาเอง ท่านก็รู้ว่ามันมาเอง มันมาตามเหตุปัจจัย ไม่ใช่ว่าท่านเก่ง ทำได้…ไม่ใช่

เพราะฉะนั้นธรรมะทุกอัน ถ้าเรามาทางที่ถูก มันจะไม่มีเศษเสี้ยวแห่งความเป็นอัตตาตัวตนเข้ามาข้องเกี่ยวกับจิตใจเราอีก และอันนี้คือ ความบริสุทธิ์ของธรรมะที่แท้จริงที่เราทุกคนจะต้องเดินไปให้ถึง

 

#Camouflage

YouTube: https://youtu.be/uPNFkSYQr6w

คลิปเสียงธรรมะทั้งหมดของอาจารย์ Camouflage : https://goo.gl/RDZFMI

======================

5 ช่องทางการอ่านและฟังธรรม

1) Facebook : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
http://www.facebook.com/sookguysookjai

2) Line : @camouflage.talk
https://line.me/R/ti/p/%40camouflage.talk

3) YouTube : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
https://goo.gl/in9S5v

4) Website: https://camouflagetalk.com

5) Podcast : Camouflage – Dhamma Talk
https://itun.es/th/t6Mzdb.c
วิธีการติดตั้ง https://goo.gl/tBMY9S