51.บนเส้นทางแห่งความตื่นรู้

 

ตอนที่ 1 ฝึกให้รู้จักธรรมชาติชนิดใหม่ “รู้เนื้อรู้ตัว”

สภาวะที่เมื่อกี้ได้นั่งแบบนั้น… “รู้สึกตัว พ้นออกจากโลกของความคิดปรุงแต่ง จิตใจก็กลับสู่ความเป็นปกติ” ในขณะนั้นรู้สึกว่ามีเรามั้ย? พอไป “คิด” ความเป็น “คน” ก็เกิดขึ้น แต่ในขณะที่ไม่ได้คิดอะไร…ไม่มีความเป็นเรา

ธรรมะเป็นสิ่งที่รู้ล่วงหน้าไม่ได้  “รู้ปัจจุบัน” อันนี้เป็นธรรมะ อย่าไปไกลกว่านั้น สิ่งที่เราพยายามจะคาดการณ์ไปในอนาคต ภาพที่เราพยายามคิดไปในอนาคตที่เราน่าจะเข้าใจได้…มันผิด มันไม่ถูก

ธรรมะที่แท้จริงสายเซนก็เลยพูดว่า “…” (อาจารย์ทำท่าปิดปาก) พูดออกมาก็ผิดเลย เพราะมันอธิบายไม่ได้ แต่มันจำเป็นต้องอธิบาย มันเลยต้องใช้คำพูด ภาษามันเป็นอุปสรรค เราพูดให้ครบหมดไม่ได้

การปฏิบัติธรรมมันเลยจำเป็นต้องมีครูบาอาจารย์ เพราะว่าในเส้นทางการเดินของแต่ละคน มันจะไปเจอนี่เจอนั่น ครูบาอาจารย์พูดทุกอย่างไม่ได้ แต่แนะนำได้ในแต่ละรายละเอียดที่เรากำลังเดินผ่านไป แต่ให้พูดหมดทุกอย่างไม่ได้ เพราะพูดกับคนนี้ คนนั้นเอาไปฟุ้งซ่าน มันจะพูดละเอียดหมดทุกอย่างไม่ได้

คำแนะนำทั้งหลายเป็นของเฉพาะบุคคล หลักการปฏิบัติคร่าวๆ รวมๆ ฟังได้ แต่เมื่อเดินทางแล้วเป็นเรื่องของแต่ละคน แต่ละคนจะเป็นอะไร จะเจออะไร จะติดอะไร เหล่านี้ก็ต้องค่อยๆ ตบซ้ายตบขวา ให้มันเข้าทาง…ไม่ให้มันติด

ผมพยายามเน้นมากๆ เลยเรื่อง กลับบ้านที่แท้จริงคือ “กิริยาตื่นรู้” เฉยๆ “กิริยา” มันเป็น Verb ..ไม่มี Subject เป็นแค่ “กิริยาตื่นรู้” และใครต้องการความรู้…ไม่มี เราไม่ต้องการ เราเป็นแค่กิริยานี้เฉยๆ

กลับบ้านไปให้เห็นความสงสัย สงสัยแล้วไม่ตามเข้าไปหาคำตอบ นับ “ความสงสัย” วันนึงได้กี่ครั้ง ขีดไปเลยอาจจะร้อยนึง เริ่มฝึกแบบนี้…สงสัยปุ๊บ! อันนี้เห็นว่าสงสัยแล้ว ไม่หาคำตอบ…“รู้สึกตัว”  สงสัยอีกแล้ว…ขีดสงสัยอีกแล้ว  อันนี้เป็นงานใหม่ สำคัญกว่างานที่ทำอยู่

เคยมั้ยว่าเราทำงานประชุม ทำคอมพิวเตอร์แล้วก็…อุ้ย! ลืมตัวไปเลย หายไปเลยในคอมพิวเตอร์ หายไปเลยในการงาน หายไปเลยในละคร เมื่อไหร่ที่เรา “อยู่กับเนื้อกับตัว” ความรู้สึกเราจะเปลี่ยน เราจะรู้เองว่า เอ่ย! เดี๋ยวนี้อยู่กับเนื้อกับตัวมากขึ้น…เพราะอะไร? มันไม่ทุกข์

เมื่อเราปฏิบัติไปเรื่อยๆ เราจะ “ไม่ลืมตัว” ….มันไม่ใช่การเพ่งจ้อง แต่มันก็ไม่ใช่ลืม  จากการที่เราปฏิบัติใน “รูปแบบ” นี่แหละ…เดินจงกรมอะไรพวกนี้  ความอยู่กับเนื้อกับตัวเนี่ยมันเป็นธรรมชาติใหม่ที่เราฝึกมัน พอเราพูดคุยกับคนอื่น มันไม่ใช่ว่าเราจะต้อง…เฮ้ย! ต้องรู้สึกตัว มันไม่ใช่ว่าเราต้องสั่งตัวเองแบบนั้น มันรู้เอง…

มันรู้เองจากอะไร? จากการที่เรามีวินัย ทำในรูปแบบ ฝึกที่จะรู้จักธรรมชาติชนิดใหม่…ธรรมชาติแห่งความรู้เนื้อรู้ตัว ธรรมชาตินี้มันก็สะสมเป็นความเคยชินใหม่ของจิต พอมันเป็นความเคยชินใหม่ เวลามันพูดคุยอะไร มันจำได้ ภาษาบาลีเรียก “ถิรสัญญา” มันจำได้ มันจำสภาวะนี้ได้ มันก็กลับมา “รู้สึกตัว” เอง

ที่ผมบอกมันมีบันได เราต้องจับราวบันไดขึ้นไป เช่น ผมบอกทุกคนต้องทำใน “รูปแบบ”…

ต้องเดินจงกรม… “รู้จักความรู้สึกตัว รู้จักสภาพที่พ้นออกจากความคิดปรุงแต่ง รู้จักจิตใจที่มันเป็นสภาพเดิมแท้ ที่มันเปิดเผยตัวออกมา

หลังจากที่เรารู้สึกตัว แล้วพ้นออกจากโลกของความคิดปรุงแต่งแล้ว ใจมันก็จะหนักแน่น ความรู้เนื้อรู้ตัวนี้มันหนักแน่น จิตใจกระเพื่อมหวั่นไหว…นี่! เห็นเลย รู้เลยทันทีอย่างนี้…เนี่ย! ทุกสิ่งทุกอย่างก็เป็นเหตุปัจจัย  ทำให้เกิดความเป็นเองขึ้น พูดคุยอยู่ก็รู้ตัวได้ ไม่ลืม มันอาจจะไปฟรึ๊บนิดหน่อย…แล้วมันก็รู้แล้ว เรียกว่า มันไม่ลืมแล้วกัน เราอย่าไปคิดว่ามันต้องแบบ โอ๋ย! อยู่ตลอดเวลาแบบนั้น เรียกว่า “ไม่ลืม มันอยู่กับเนื้อกับตัว”

ความรู้สึก “อยู่กับเนื้อกับตัว” ฟังคำนี้ดีๆ “อยู่กับเนื้อกับตัว” มันเป็นอะไรที่มันไม่ได้เพ่งจ้องอะไรไว้ มันเป็นแค่ความอยู่กับเนื้อกับตัว ไม่ลืมเนื้อลืมตัวนี้เฉยๆ …แค่นั้นเอง

 

ตอนที่ 2 พอ “ตื่นรู้” ก็เข้าใจความจริงได้เอง

การที่เรามีเวลาให้กับการปฏิบัติธรรมมากกว่าเดิม เราจะมีโอกาสที่เราจะเข้าใจวิธีปฏิบัติที่เกื้อกูลให้เราอยู่บนเส้นทางนี้ได้อย่างมั่นคง แล้วก็ไม่เสียเวลา เราจะต้องดำเนินเหตุปัจจัยอะไรบ้าง แล้วมันจะทำให้เข้าถึงผลลัพธ์นั้นได้อย่างรวดเร็ว… แต่นั่นแหละ! มันขึ้นอยู่กับปัญญาของแต่ละคน กรรมด้วย หลายอย่าง

คนเป็นช่างไม้ มันก็เก่งเรื่องไม้สุดๆ เลย ทำอยู่เรื่องเดียว ทำเหล็กไม่ได้ นึกออกมั้ย? ก็เชี่ยวชาญหมดทุกอย่างเกี่ยวกับไม้ เราก็เหมือนเป็นช่าง  แต่ถ้าเราไม่ได้ให้ความสำคัญกับสิ่งๆ นี้มากเท่าชีวิตเรา…เราเป็นอะไร? เป็นสารพัดช่าง รู้งูๆ ปลาๆ รู้เหมือนกัน พูดได้สวยหรู หรูหรา พูดเป็นพระอรหันต์ก็ได้…ฟังเยอะๆ หน่อย อ่านเยอะๆ หน่อย แต่ความเข้าใจในตัวเองไม่มี

ทำไมคนในโลกนี้ถึง “ตื่นรู้” ไม่ได้? ทำไมคนในโลกนี้ถึงยังทุกข์อยู่? เพราะว่าเค้ามีเหตุปัจจัยของความหลง ของอวิชชาก็พาเค้าใช้ชีวิตอยู่ในโลกของความหลงก็ต้องทุกข์ อันนี้หนีไม่ได้…ต้องทุกข์! คนในโลกเห็นทุกข์ละเอียดมั้ย? รู้ๆ ทุกข์ๆ วิ่งหนีความทุกข์ทุกวัน

แต่ถ้าเราเป็นนักปฏิบัติ เริ่มจากการ “ตื่นรู้” ทั้งหมด ผลทั้งหมดที่เป็นผลพวงตามมาเราจะไม่รู้ได้ยังไง? รู้…รู้เห็นแบบคนที่เค้าตื่นรู้แล้ว สร้างเหตุวันนี้ให้ได้ อย่างอื่น…หยาบ กลาง ละเอียด เห็นหมด ไม่ต้องรีบที่จะเห็นให้มันละเอียดก่อน เราชอบเห็นละเอียด เรารู้สึกว่าวมันดูดี ถ้าเราเห็นละเอียด …อุ้ย! เห็นมันยิบยับ ยิบยับเลยนะ  เห็นอะไรที่มันดูพิเศษๆ…พ้นทุกข์มั้ยล่ะเห็นแบบนั้น? มีแต่อัตตาเพิ่ม เพราะฉันปฏิบัติดี เห็นอะไรได้ละเอียด…คนละทางกับความพ้นทุกข์เลย

คนที่ฟุ้งซ่านเยอะๆ เนี่ย…พอหัวทางจงกรม ให้เราระลึกไว้ว่า เดี๋ยวเราจะรู้สึกเท้ากระทบพื้น ระลึกไว้นิดนึง แล้วเดี๋ยวเราพอเดิน พอมันกระทบปุ๊บ.. มันก็จำได้ กลับมาที่นี่ (เท้ากระทบพื้น)  กระทบปุ๊บ..จำได้กลับมาที่นี่ (เท้ากระทบพื้น) แต่เดี๋ยวมันก็ไปคิด เดี๋ยวมันก็ไปรู้สึกที่อื่นบ้าง แต่คล้ายๆ สิ่งที่เราระลึกไว้มันเหมือนเป็นหลัก เรา “มีหน้าที่รู้เฉยๆ”  มันไปไหน เราก็รู้

เพราะเราไม่ค่อยอยู่กับเนื้อกับตัว เราเลยต้องฝึกให้เกิดที่ผมพูดคำเมื่อกี้นี้ “ถิรสัญญา” คือสภาพที่จิตนี้มันจำความรู้เนื้อรู้ตัวได้ เราแค่ฝึกให้จิตมันจำสภาวะแบบนั้นได้ มันจะได้ไม่หลงไปนาน มันจะได้นึกขึ้นได้เร็วขึ้น แค่นั้นเอง

เวลาเราอดทนเจ็บเนี่ย ถ้าจิตใจนั้นเกาะเกี่ยวกับความเจ็บ ต่อให้ทนได้ มันก็ทุกข์ แต่ “ความพ้นทุกข์” นี้ จิตใจมันไม่เกาะเกี่ยวแล้ว มันไม่เกี่ยวกับทนเก่งหรือทนไม่เก่ง “ความไม่ทุกข์” มันเกิดจากอายตนะมันเชื่อมไม่ถึงกัน มันนำความทุกข์มาสู่ใจไม่ได้ ไม่เกี่ยวกับว่าเราอดทนได้ “ความทุกข์ทางใจไม่มี ความเจ็บนี้ยังมีอยู่” จะร้องโอ้ยอ้ายก็ได้ ก็มันเป็นความเจ็บทางร่างกาย แต่ว่าความทุกข์ในใจนี้ไม่มี

อย่างหลวงปู่จันทร์ศรีที่เพิ่งมรณะไป ท่านเคยพูดว่า “เห็นอาตมาแก่ ดูป่วยแบบนี้ แต่ไม่ต้องห่วง อาตมาใจไม่ทุกข์” มันดูภายนอกไม่ได้ ใจที่หลุดพ้นไม่เกาะเกี่ยวแล้ว มันไม่รู้จะทุกข์ยังไง เหมือนเห็นคนนี้เจ็บ เราต้องทุกข์มั้ยล่ะ?  เราก็ไม่ต้องทุกข์ เห็นเป็นคนอื่นเจ็บ ให้มันไม่ทุกข์ด้วยความที่สะพานเชื่อมอันนี้มันขาดออกไป ไม่ใช่ไม่ทุกข์เพราะเราอดทนเก่ง มันจะเป็นความเข้าใจ

พระพุทธเจ้าเคยพูด ท่านเขมานันทะพูดว่า “สตินี่ละเวรไม่ได้” สติเพียงแต่ระลึกรู้เฉยๆ ว่าตอนนี้อะไรกำลังจะเกิดขึ้น แต่ตัวที่ทำหน้าที่ที่จะไม่ให้ความทุกข์ ความปรุงแต่งนี้เกิดขึ้น… “ปัญญา” นี้เข้ามาแทน เมื่อก่อนพอสติระลึกรู้ได้ ก็อวิชชาทำงานเลย แต่พอเราปฏิบัติธรรม สติระลึกได้ปุ๊บ…ปัญญาเข้ามาแทน มันเกิดความเข้าใจ

เหมือนถ้าเราไม่รู้ว่าน้ำแก้วนี้เป็นยาพิษ เราก็กิน…วันหลังเราก็รู้แล้ว โอ้! น้ำสีแบบนี้เป็นยาพิษ ก็ไม่กินแล้ว ต้องทำอะไรมั้ยว่าไม่อยากกิน…ปิดกั้นอะไรมั้ย? มันไม่เอาเอง…มันรู้แล้ว เหมือนเด็กไปเล่นไฟ ไฟมันสีสวย เด็กไปเล่นฟั๊บบ! ร้อนลวก วันหลังมันก็ไม่เอาแล้ว มันเกิดความเข้าใจขึ้น

การปฏิบัติธรรมคือ เราเข้าใจ…ที่ผมบอก “พอตื่นรู้ เราเข้าใจความเป็นจริงได้” ไม่เอาเอง…ก็จบ

 

ตอนที่ 3 บนเส้นทางแห่งความตื่นรู้

พระพุทธเจ้าสอนเรา มงคล 38 ประการ ข้อแรกคือ “ไม่คบคนพาล” เพราะเมื่อไรที่เราคบคนพาล เราจะมีกรรมร่วมกับคนพวกนั้น และถ้าคนพวกนั้นมีเยอะ เราจะโดนดึงดูดไปกับคนพวกนั้น ชีวิตเราก็ดีมั้ย? พระพุทธเจ้าเลยบอกว่า “ต้องคบกัลยาณมิตร” กัลยาณมิตรก็จะพาเราไปสู่พรหมจรรย์ได้

มันอยู่ที่เราเลือก…ทุกชีวิต ทุกวัน ทุกขณะ เราต้องเลือก ออกจากบ้านเราก็ต้องเลือก จะใส่ชุดไหนดี ไปกินข้าวที่ไหนดี วันนี้จะมาที่นี่ดีมั้ย เราต้องเลือก ถ้าเราเลือกทางที่พอดีพอเหมาะพอควรถูกต้อง ชีวิตต้องเจริญขึ้น แต่ถ้าเราเลือกผิด ชีวิตก็เปลี่ยน…เลือกผิด ชีวิตก็เปลี่ยน

เพราะฉะนั้นทุกช่วงชีวิตของเราเปราะบาง เปราะบาง ถ้าเรายังอาศัยความคิด อาศัยสิ่งที่เต็มไปด้วยอวิชชา ตัดสินเส้นทางชีวิตของตัวเองไปเรื่อยๆ เราลำบากแน่นอน

ยิ่งเรามีจิตใจที่ “ตื่นรู้” บริสุทธิ์มากเท่าไหร่ มันเล็กน้อย เราก็เห็นหมด จิตขยับนิดเดียวเราก็เห็นแล้ว เพราะสิ่งเหล่านั้นเป็นอาการของจิต เป็นมายา เป็นผลจากความปรุงแต่งของอวิชชา เราแค่รู้เฉยๆ มันไม่ใช่ตัวเรา มันไม่ใช่ตัวจริงของเรา ตัวจริงของเราคือตัวที่ “ตื่นรู้” ตัวนี้ กิริยาที่ตื่นรู้อยู่

กลับสู่บ้านที่แท้จริง “บ้านแห่งความตื่นรู้” “กิริยาความตื่นรู้”…แค่นั้น และผลทุกอย่างจะเกิดขึ้นเอง

สรุปอีกครั้งคือ เราจะตื่นรู้ได้ยังไง? …“เราต้องรู้สึกตัว พ้นออกจากโลกของความคิดปรุงแต่ง รู้จักสภาพเดิมแท้ที่มันเป็นปกติ ราบเรียบ ไม่ขึ้นไม่ลง ไม่บวกไม่ลบ”  รู้จักสภาพแบบนี้ไว้ “ความตื่นรู้” ก็จะเกิดขึ้น เราจะเข้าถึงสภาพตื่นรู้ที่ปราศจากอคติ ปราศจากทิฏฐิ ปราศจากตัณหาใดๆ ทั้งสิ้น เพราะในขณะนั้นจิตใจเราปกติ ไม่มีความอยากอะไร

พอเราเข้าถึง “ความตื่นรู้” มากขึ้น เราจะเห็นอะไรละเอียดขึ้น เราจะรู้กลไกธรรมชาติที่ว่า ทำไมเราถึงยังทุกข์อยู่? เมื่อก่อนเราไม่รู้ขนาดนี้ เราฝึกไป ฝึกไป เราก็เห็น …อ๋อ! มันมีต้นตอแบบนี้ อ๋อ! มันยังจับอยู่แบบนี้ แล้วทำไมมันปล่อยไม่ได้ เราก็จะเข้าใจขึ้น…อ๋อ! ก็เข้าไปจับแล้ว อันนี้ต้องมีผล เราแค่รอรับผลหน่อย ให้ผลมันจางคลายไป แล้วมันก็จบ เราอย่าไปเพิ่มเหตุ ความทุกข์มันสอนเราให้เราฉลาดขึ้น

ที่ผมพูดตลอดว่า ศาสนาพุทธเป็นศาสนาของความเข้าใจ พอเราเข้าถึง “ความตื่นรู้” เราก็จะเข้าใจ เข้าใจธรรมชาติของกายและใจนี้ เข้าใจการทำงานของอวิชชานี้ เข้าใจสิ่งต่างๆ ที่มันเกี่ยวเนื่องกับตัวเรานี้ได้อย่างละเอียดขึ้นเรื่อยๆ พอเราเข้าใจมันถึงจะปล่อยได้ ถ้าเราไม่เข้าใจ ปล่อยไม่ได้

 

ตอนที่ 4 ไม่ใช่เรื่องของถูกผิด

ไม่ผิด…การปฏิบัติธรรมไม่ต้องกลัวผิด การปฏิบัติธรรมอันนี้เป็นการที่เราเดี๋ยวไปซ้ายหน่อย เดี๋ยวไปขวาหน่อย เดี๋ยวไปซ้ายหน่อย เดี๋ยวไปขวาหน่อย ถ้าเราไม่ยอมไปซ้ายไปขวา เรารู้ตรงกลางไม่ได้ พอมันไปซ้าย มันเลยทุกข์นิดนึง ไปขวาก็ทุกข์อีกนิดนึง ไปซ้ายก็ทุกข์อีกหน่อย ไปขวาก็ทุกข์อีกหน่อย เราจะค่อยๆ เขยิบเข้าๆๆ

เปรียบเสมือนว่า เราอยู่ในโลก เรามีเงินเยอะมาก เราได้ทุกสิ่งทุกอย่างตามต้องการ เราทำอะไรก็ได้ตามต้องการ แต่พอวันนึงเราต้องทุกข์เพราะความอยากของเรา วันนึงมีคนริบเงินเรา วันนึงมีคนริบของชิ้นนี้เรา วันนึงมีคนเอาของที่เราชอบไป ไม่ให้เราทำแบบนี้ ไม่ให้เราทำแบบนั้น ความทุกข์ทั้งหลายก็บีบคั้นเรา บีบคั้นเรา บีบคั้นเรา เราก็จะเข้าใจ โอ๋! ความอยากนี้เองเป็นต้นเหตุของความทุกข์ ถ้ามันไม่มีความทุกข์ให้เรารู้ เราจะรู้ไม่ได้ว่ามันกำลังผิดอยู่

เพราะฉะนั้น เราจำเป็นจะต้องผิดก่อน มันถึงจะถูกได้ ไม่มีใครสามารถเดินปุ๊บ! ถูกเลย…ไม่มี! ทุกคนจำเป็นต้องมีประสบการณ์ ไม่ว่าจะทำอะไรในโลกนี้ก็ตามไม่ใช่แค่การปฏิบัติธรรม เด็กเกิดขึ้นมามันต้องคลานก่อน มันจะเดิน มันต้องล้มด้วย มันถึงจะเดินได้ ไม่ใช่มันเดินได้เลยโดยที่ไม่ล้มอีกเลย มันต้องเซไปเซมา เซไปเซมาอยู่ตั้งนานกว่ามันจะเดินตรงๆ ได้ ทุกสิ่งทุกอย่างมันเป็นแบบนั้น

ธุรกิจเหมือนกัน…มันไม่ใช่เป็นไมโครซอฟเวิล์ด มาปุ๊บ…ใช้ได้เลย Instant coffee ไม่มีอะไรผิดพลาดเลย…ไม่ใช่! ธุรกิจต้องลองทำ ทำอันนี้ปุ๊บ! ไม่ได้…ทำอันนี้ปุ๊บ! ไม่ดี…อุ้ย! ทำอันนี้พลาด  ก็ต้องค่อยๆ แก้ไขๆๆ จนมันเข้าที่เข้าทาง

การปฏิบัติธรรมไม่ใช่เอาถูก… “การปฏิบัติธรรมเป็นเพียงแค่การอยู่บนเส้นทางของความตื่นรู้” นี้…แค่นั้น ไม่มีอะไรถูก ไม่มีอะไรผิด อยู่บนเส้นทางนี้ให้ได้ อย่าตกเส้นทางนี้ ตกไปก็กลับมาใหม่อยู่เส้นทางนี้แค่นั้นเอง

ทุกคนยังต้องมีความทุกข์เป็นครู มีความทุกข์ที่จะคอยกระตุ้นให้เราเติบโตทางจิตวิญญาณขึ้นมา ถ้าเราไม่มีความทุกข์ เราจะติดสุข เราจะเพลิน เราจะนึกว่าเราพ้นทุกข์พ้นร้อนแล้ว ทุกข์…มันถึงจะเจริญ ถ้าไม่ผิด ไม่ทุกข์ ไม่ทุกข์…ไม่เจริญ

การปฏิบัติธรรมไม่ใช่เรื่องของถูกผิด “พ้นไปจากความถูกผิด” อีกทีนึง  “รู้เฉยๆ”  รู้…มันเป็นยังไงก็รู้มันเป็นอย่างนั้น แค่นั้นเอง

 

ตอนที่ 5 ไม่ใช่การทำอะไร

เรารู้เท่าที่รู้ได้ ในขณะนี้เรารู้แค่นี้ ก็รู้แค่นี้ เราจะรู้ทั้งหมด 100% ไม่ได้ ถ้าเรารู้ทั้งหมด 100% เราเป็นพระอรหันต์ไปแล้ว แต่เพราะความเข้าใจเรายังไม่รอบด้าน เรารู้ทั้งหมดไม่ได้ แต่เรารู้ได้เท่าที่เรารู้ตอนนี้ อันนี้เป็นสมบูรณ์ที่สุด ที่ผมเคยพูด… “ทุกขณะสมบูรณ์แบบ” อยู่แล้ว ขณะที่มีอวิชชาเท่านี้ ขณะนี้มีความตื่นรู้เท่านี้ ธรรมชาติของมันก็ทำให้เกิดความสุข ความทุกข์ ความอะไรบางอย่างกับความรู้สึกเท่านี้ อันนี้เป็นสมบูรณ์ที่สุดในขณะนั้นแล้ว

เราต้องยอมรับความสมบูรณ์ที่สุดในขณะนั้น “ยอมรับมัน” แล้วอะไรจะเกิดในตอนนั้น เรารู้ได้เท่าไหน ก็รู้เท่านั้น รู้ได้แค่ไหน รู้ได้แค่นั้น ทำได้แค่นั้น เพราะมันทำอะไรไม่ได้

การปฏิบัติธรรมไม่ใช่การทำอะไร…ไม่มีการทำอะไรทั้งสิ้น มีแต่การรู้อย่างที่มันเป็น แค่เรารู้บนพื้นฐานของความไม่มีตัวตน รู้อยู่บนพื้นฐานของความที่จิตใจนี้เป็นปกติอยู่ ปราศจากตัณหา ปราศจากความอยาก ปราศจากทิฏฐิ…สมบูรณ์แล้วตอนนั้น

 

ตอนที่ 6 เราเป็นแค่ “กิริยาตื่นรู้”

เราคือ “ตัวตื่นรู้” ไม่ใช่สิ่งที่เราไปรู้ คนละอย่างกัน  ตัวที่จะไปรู้ รู้อะไรก็ได้ มันจะเป็นอะไรก็ได้ แต่เราไม่ใช่มัน เราเป็นแค่ “กิริยา” เป็น Verb ตื่นรู้เฉยๆ ในขณะที่ตื่นรู้ ไม่มีตัณหา ถ้าเราสามารถตื่นรู้อยู่เฉยๆ ได้ แต่ถ้าตื่นรู้แล้วตัณหาเกิด เช่น ผิดหรือเปล่า…นี่! ตก (ทางปฏิบัติธรรม) แล้ว เมื่อกี้พอดีแล้ว นี่ตกแล้ว

การปฏิบัติธรรมต้องใช้หลายอุบาย เครื่องมือต้องใช้หลายอย่าง แต่เราต้องรู้ว่ามันเป็นเครื่องมือ เราต้องรู้ว่าตัวจริงของเราคืออะไร? ต้องรู้ว่าเครื่องมือมันคืออะไร? ถ้าเรารู้อะไรเป็นอะไรหมดก็จบ ไม่มีอะไร

เหมือนหลวงพ่อจะสอนบอกว่า ทุกคนชอบเศร้าใจเวลาคิดอกุศลกับครูบาอาจารย์…“อุ้ย! คิดเป็นบาปเยอะ เป็นอะไรเยอะ ไม่น่าเลย ทำไมเราคิดแบบนั้น ทำไมเราเป็นคนแย่แบบนี้”  หลวงพ่อสอนพวกเราว่า “ความคิดไม่ใช่ของเรา” …สบายเลย ไม่มีใครบอกเราแบบนี้ กลุ้มใจอยู่ตั้งนานอย่างนี้…มันไม่ใช่ของเรา

เพราะฉะนั้น เราเพียงแค่รู้ แค่เห็น สภาพต่างๆ ตามความเป็นจริงเฉยๆ ไม่ต้องไปทุกข์กับมัน มันทำงานเอง จิตมีธรรมชาติไหลลงต่ำ ชอบคิดอกุศล แต่ไม่ใช่ไปช่วยมันคิดนะ ก็ดูมันคิดเฉยๆ แต่เราต้องเข้าใจธรรมชาติแบบนั้น

การที่เราเข้าไป…อุ้ย! ทำไมเราคิดไม่ดี ไปคิดอกุศล ทำไมเรา…ฯลฯ เราเอาสิ่งๆ นั้นมาเป็นตัวเราอีกแล้ว สร้างตัวตนอีกแล้ว เราต้องเรียนรู้มัน ไม่ใช่เอามันมาเป็นของเรา ต้องเรียนรู้มัน อ่อ! ธรรมชาติมันทำงานแบบนี้ เพราะธรรมชาติทำให้เราเข้าไปจับแล้วเราเป็นทุกข์ เราไม่อยากทุกข์แบบนี้ เราจะทำยังไง? ไม่ตามความคิดไป ไม่เข้าไปในความคิด ไม่ต้องยุ่งกับมัน กลับมารู้สึกตัว เมื่อกลับมารู้สึกตัว เหตุมันก็ดับอัตโนมัติ ทุกข์มันก็หายไป มันอยู่ไม่ได้ ไม่มีเหตุ มันอยู่ไม่ได้

เราก็เข้าใจง่ายๆ อย่างนี้ ทุกสิ่งเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทุกสิ่งเป็นไปตามเหตุปัจจัย ไตรลักษณ์เราเข้าใจอยู่ทุกขณะที่เราตื่นรู้อยู่แล้ว ถ้าวันนี้ไม่มีใครสอนเราเรื่อง “ไตรลักษณ์” เลย ถามว่าเราเข้าใจมั้ย? เข้าใจ เราแค่พูดไม่เป็น เราแค่ไม่รู้คำศัพท์เฉยๆ

วันที่พระพุทธเจ้าออกไปหาทางพ้นทุกข์ ออกไปตามหาความจริง ไม่มีใครสอนพระพุทธเจ้าเรื่อง “ไตรลักษณ์” พระพุทธเจ้าปฏิบัติแบบนี้แหละ แล้วเข้าใจ…อ๋อ! ทุกสิ่งเป็นไตรลักษณ์ แต่สมัยนี้เราชอบรู้ก่อน ต้องเห็นไตรลักษณ์ เราจะเอาไตรลักษณ์ จะเอาเห็นไตรลักษณ์ให้ได้ ไม่ยอมให้ธรรมชาติพาให้เกิดความรู้จัก ธรรมชาติความเป็นไปด้วยตัวมันเอง เราใจร้อน เรารอไม่ได้ แต่เพียงแค่เรา “ตื่นรู้” ขึ้นมา ธรรมชาติจะพาเรารู้จักทุกสิ่งทุกอย่างเอง

เพราะฉะนั้น กลับมาที่หัวใจสำคัญ เราต้อง “ตื่นรู้” ให้ได้ ความเข้าใจจะเกิดเข้าไปในใจ ไม่ใช่เข้าไปในสมองของเรา

กลับไปที่เรามีเวลาตื่นรู้ขนาดไหน ทุกคนต้องสำรวจตัวเอง กายไม่วิเวก จิตก็วิเวกไม่ได้ ความเจ็บป่วยเกิดกับใครก็ได้ ไม่ต้องแก่ เราเป็นทายาทของกรรม ถ้าจิตใจเราไม่เข้มแข็งพอ แล้วเราต้องรับกรรมจากทางร่างกาย จิตใจเราต้องพร้อมแล้ว

 

#Camouflage

YouTube: https://youtu.be/jDr5xtd-tZU

คลิปเสียงธรรมะทั้งหมดของคุณ Camouflage : https://goo.gl/RDZFMI

======================

5 ช่องทางการอ่านและฟังธรรม

1) Facebook : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
http://www.facebook.com/sookguysookjai

2) Line : @camouflage.talk
https://line.me/R/ti/p/%40camouflage.talk

3) YouTube : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
https://goo.gl/in9S5v

4) Website: https://camouflagetalk.com

5) Podcast : Camouflage – Dhamma Talk
-iOS https://itun.es/th/t6Mzdb.c
-Andriod https://goo.gl/PgOZCy