50.หาเวลาให้กับชีวิต

ตอนที่ 1 เริ่มทำสิ่งที่ถูกต้องในชีวิตของเรา

เราต้องเริ่มทำสิ่งที่ถูกต้องในชีวิตของเรา…เหมือนกับถ้าเราปฏิบัติธรรม เราเริ่มที่เราจะสร้างเหตุที่ถูกต้อง และเข้าถึง “สภาพตื่นรู้” ผลลัพธ์ต่างๆ ที่ทุกคนหวังไว้ในท้ายที่สุดคือ “ความพ้นทุกข์” นี้จะเกิดขึ้นได้

เหมือนกันชีวิตของพวกเราทุกคน เรามีห่วงมากมายในโลกนี้ แต่ถ้าเราติดอยู่กับห่วงเหล่านั้น ต้องถามตัวเองเราจะไปไหนได้ยังไง? ผลลัพธ์แห่งความหลุดพ้นจะเกิดขึ้นยังไง?…มันเกิดไม่ได้!

เพราะฉะนั้น ทุกคนต้องดำเนินชีวิตของตนเองให้ถูกต้อง ดำเนินชีวิตตามคำสอนพระพุทธเจ้า นั่นคือ “จงตื่นออกมา” แล้วจะตื่นยังไง? ให้ทุกคนลองถามตัวเองว่าทุกวันนี้ ทำงานอยู่ในโลกตื่นได้มั้ย? ตื่นได้เท่าไหร่? ตื่นวันละกี่ครั้ง? 24 ชั่วโมงตื่นกี่นาที?…แทบจะนับเป็นเปอร์เซ็นต์ไม่ได้เลย และถ้าเราตื่นไม่ได้ในชีวิตประจำวัน เราต้องเปลี่ยนเส้นทาง (Way) ของชีวิต

ผมไม่ได้บอกว่า ทุกคนจะต้องไปบวช ทุกคนจะต้องเลิกทำงาน แต่ทุกคนต้องพิจารณาชีวิตตัวเองให้ได้ว่า ในขณะที่เราเป็นอยู่ทุกวันนี้ เรามีช่วงเวลาเพียงพอ หรือมีกำลังเพียงพอที่เราจะตื่นรู้ได้มั้ย? ถ้าทำไม่ได้ เราต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตของเราให้ได้ ไม่ว่าจะยังไงก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นวิธีไหนก็ตามที่เราจะมีเวลาอยู่กับตัวเอง อย่างวิเวกสันโดษได้

สมัยพระพุทธเจ้าเป็นเจ้าชาย ไม่มีพระ ไม่มีคำว่า “พระ” ไม่มีศาสนาพุทธ ท่านก็ออกจากวังไป ทำไมต้องออกจากวัง? เพราะต้องการความ “วิเวกสันโดษ” ต้องการจะอยู่กับตัวเอง ต้องการหาความพ้นทุกข์ แต่ท่านรู้ว่าอยู่ในวังนี่มันไปไม่ได้ มีภาระหน้าที่เยอะ เพราะฉะนั้น ท่านก็หาทาง ท่านเหนื่อยกว่าเราเยอะ ไม่มีใครบอกเลยว่าจะทำอะไรดี…ไปหาทางแบบที่เรียกว่า ไปตายเอาดาบหน้าเลย

แต่ทุกวันนี้ เรามีเส้นทางค่อนข้างจะพร้อมมาก ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีชาวพุทธเยอะ มีทั้งศาสนา พระ ครูบาอาจารย์ ความเลื่อมใสศรัทธา มีเยอะจนเรารู้สึกว่า ถ้าเราจะออกไปทำเรื่องแบบใช้ชีวิตอยู่กับตัวเองอย่างวิเวกสันโดษนั้นเป็นเรื่องที่แปลกไม่มาก…แต่ก็แปลกเหมือนกัน เหนื่อยเหมือนกันที่จะต้องต้านทานกับกระแสสังคม กระแสในโลก กระแสของคนที่ไม่เห็นด้วย แต่เราเหนื่อยน้อยกว่าพระพุทธเจ้าเยอะ เราเหนื่อยน้อยกว่าสมัยที่ศาสนาพุทธยังไม่เกิดเยอะ

และถ้าช่วงเวลาแบบนี้ที่ทุกอย่างสมบูรณ์มากแล้ว ที่มีคนปูทางปูศาสนามาให้เราให้เป็นที่น่าเลื่อมใส เป็นที่พึ่ง น่าเคารพนับถือ แล้วเรายังไม่ใช้ในห้วงเวลาแบบนี้อีก…แล้วเราจะไปใช้ตอนไหน? เราจะไปรอยุคพระพุทธเจ้าสร้างศาสนาใหม่อีกหรือเปล่า? ลำบากเหมือนกัน อันนี้โดนด่าเป็นขอทานทุกวัน…ต่างจากยุคนี้ที่เมื่อมีพระมา ก็มีคนยกมือไหว้ ยุคนั้นพระไป ก็โดนด่า เป็นพระอรหันต์ยังโดนด่าเลย

เพราะฉะนั้น เราต้องเลือกเส้นทางของชีวิตเราให้ได้ ถ้าเราเลือกไม่ได้ เราก็อยู่อย่างนั้น อยู่จนเหี่ยวแห้งตายไป โลก กิเลส ความเชื่อในสังคมสูบชีวิตเรา จนเราไม่เป็นตัวของตัวเองเลย

สังเกตชีวิตของแต่ละคนเป็นยังไงตั้งแต่เกิดมา เป็นตัวของตัวเองคนละกี่เปอร์เซ็นต์ ชีวิตเราส่วนใหญ่เป็นของคนอื่น ถ้าชีวิตของเราส่วนใหญ่เป็นของคนอื่นตลอดเวลาไม่ต้องเกิดมาดีกว่า เราเลี้ยงดูชีวิตนี้อย่างดี แต่เป็นของคนอื่น เราใช้ชีวิตของตัวเองไม่ได้ จะเลี้ยงดูมันไปทำไม เราต้องเลือกทางของตัวเองให้ได้ เราถึงจะได้มีชีวิตที่แท้จริง

 

ตอนที่ 2 หนักแน่น มั่นใจ…กับเส้นทาง

ทางของความพ้นทุกข์นี้ พระพุทธเจ้าเปรียบเทียบเป็นเขาโค กับขนโค คิดดูว่าขนโคมีเยอะแค่ไหน ส่วนเขาโคมีแค่ 2 อันต่อหนึ่งตัว…เราต้องเป็นเขาโค! เพราะฉะนั้น เราต้องแตกต่างจากคนอื่น เราจะเหมือนคนอื่นไม่ได้ ถ้าเราเหมือนคนอื่น เราก็เป็นขนโค

ถ้าเราเป็นนักการตลาดต้องคิดสิ่งที่แตกต่างจากแบบเดิมๆ ใช่มั้ย? เราทำไม่เหมือนคนอื่นได้มั้ย? ถ้าเราทำเหมือนคนอื่น ก็ไม่ต้องจ้างเรา…ออกไปเลย เราต้องสร้างสรรค์สิ่งใหม่มันถึงจะประสบความสำเร็จใช่มั้ย?  ธุรกิจก็เหมือนกัน เราก็ต้องแตกต่าง ทำสิ่งใหม่ๆ เล่นหุ้นเหมือนกัน เวลาเค้าตื่นตระหนก เราต้องซื้อ ถ้าเค้าตื่นตระหนกแล้วเราตื่นตระหนกด้วย เราก็เจ๊งไปด้วย…ถูกมั้ย?  อันนี้เป็นทฤษฎีธรรมชาติ ไม่ใช่ของพระพุทธเจ้าคนเดียว

การประสบความสำเร็จในเรื่องๆ นึงนี้ ไม่ใช่การที่เราแห่ตามกันไป การแห่ตามกันไปนี้มันง่าย สบาย ใครๆ ก็..อุ้ย! ดีจัง…ยอมรับทุกอย่าง…สบายใจแต่ไม่พ้นทุกข์ สบายใจฉาบหน้าเฉยๆ กลับบ้านก็เซ็ง เบื่อ คนโน้นพูดนั่น คนนั้นพูดนี่ ตื่นเช้ามาต้องไปแข่งกับคนโน้น ต้องไปเถียงกับเจ้านาย ต้องไปทำอะไรตั้งหลายอย่าง

เคยคิดว่าเราหยุดทุกวันได้มั้ย ถ้าทุกวันเป็นวันหยุด มันจะมีความสุขขนาดไหน ต่อให้เราต้องทำอะไร เราก็ยังหยุดทุกวัน เพราะข้างในนี้เรามันหยุด เราก็หยุดทุกวันอยู่แล้ว ถ้าข้างในเราหยุด มันก็หมดการแสวงหา หมดความดิ้นรน หมดความกระวนกระวายใจ…มันก็ไม่ทุกข์

แต่เส้นทางนี้มันต้องเกิดขึ้น เรามีหน้าที่สร้างเส้นทางนี้ด้วยตัวเอง  เส้นทางแห่งความเป็น “พุทธะ” นี้อยู่ในตัวเราทุกคน อยู่ในตัวเราตลอดเวลา แค่ไม่เคยเปิดสวิทซ์มันเฉยๆ เพียงแค่เราเปิดสวิทซ์ปุ๊บ…เส้นทางแห่งความหลง เส้นทางของอวิชชาดับไปเลย

มันมีอยู่กับเราอยู่แล้ว แต่เราไม่เปิดมัน แล้วเราก็โวยวายกับตัวเองว่าชีวิตเรายังไม่มีความสุข ชีวิตเราน่าเบื่อ เราต้องมีชีวิตอย่างนี้ไปอีกนานเท่าไหร่ เราจะต้องอยู่กับคนแบบนี้ไปอีกนานเท่าไหร่ เราจะต้องอยู่กับบริษัทนี้ไปอีกนานเท่าไหร่ เราอยากจะหางานใหม่ที่ดีกว่านี้ หากี่ทีก็เหมือนเดิม ต้องหาดีกว่าตลอด เพราะว่าสิ่งที่เรากำลังตามหามันไม่ใช่ความสุข พอมันไม่ใช่ความสุข มันเลยไม่เคยเต็ม

มันเต็มไม่ได้เพราะสิ่งที่กำลังตามหา มันไม่ใช่สิ่งที่เรากำลังตามหาจริงๆ …เคยฟังเพลงใช่มั้ย? “หยุดตรงนี้ที่เธอ”  ถ้าเราเจอเธอคนนั้นแล้ว เราก็หยุดเลย แต่ทุกวันนี้เรายังหยุดไม่ได้ เพราะยังไม่เจอ ควานหาทั้งชีวิตก็ยังไม่เจอ

แต่วันนี้เธอคนนั้นอยู่ในใจเราแล้ว…ทำยังไงจะจีบให้ติด? ต้องรู้จักเค้าบ่อยๆ มีเวลารู้จักเค้าบ่อยๆ ใครไม่มีเวลา…ต้องหาเวลา!  ผู้ชายจะจีบผู้หญิง หาเวลาได้ตลอด ยุ่งแค่ไหนมันก็หาเวลาได้ สมัยนี้ผู้หญิงจีบผู้ชายคิดได้เหมือนกัน…ก็หาเวลาให้ได้แบบนั้นเหมือนเราจีบผู้ชาย

ถ้าเราต้องหาเวลา เราจะหาให้ได้ ถ้าเรารักใครซักคนนึง เราอยากจะจีบเค้า อยากอยู่กับเค้า เราหนีตามเค้า เรายังทำได้เลยไม่เห็นสนใจว่าพ่อแม่จะเป็นไร ขอเพียงแต่ว่าเราหนักแน่น เรามั่นใจกับเส้นทาง…เส้นทางนี้ ไม่มีอะไรหยุดเราได้

สิ่งที่ผิดทั้งชีวิตก็ทำมาตลอดไม่เห็นเสียใจเลย ทำสิ่งที่ถูกนี่คิดหนักเหลือเกิน เนี่ย! เราต้องพิจารณาชีวิตให้ดี สิ่งที่ผิดๆ สิ่งที่ตามกิเลส พ่อแม่เป็นทุกข์ คนอื่นไม่พอใจ…ก็ทำเอา ทำเอาตั้งแต่เด็ก แต่วันนี้เราจะทำสิ่งที่ถูก เราคิดหนักเหลือเกิน โอ้โห! กลับกลายเป็นมีจริยธรรมขึ้นมาทันที…เพราะอะไร? “มิจฉาทิฏฐิ” นี่มันหลอกเรา

 

ตอนที่ 3 ดำเนินชีวิตด้วยความ “พอดี” ไม่ใช่ “หลักการ”

ที่ผมบอกความมืดสีขาว พวกเราต้องทำความเข้าใจความมืดสีขาวให้ชัดเจนให้ได้ ความเป็นคนดีเป็นความมืดสีขาว ความเป็นอริยบุคคลคือ ความพ้นไปจากดี

ลองนึกดูว่า ความพ้นทุกข์ ความหลุดพ้นจากมิจฉาทิฏฐิ ความหลุดพ้นจากตัวตน แล้วจะเอาอะไรมาเป็นคนดี มันไม่เหลือแบบนั้นแล้ว สิ่งที่ไม่เหลือแล้วจะสอนแบบนั้นได้ยังไง? สอนไม่ได้ ที่เหลือของชีวิตมันเป็นแค่การตื่นรู้เฉยๆ เป็นแค่ “กิริยาตื่นรู้” เฉยๆ แล้วดำเนินชีวิตไปบนความพอดี ดำเนินชีวิตไปบนทางสายกลาง

ความพอดีมันไม่มีหลักการ ถ้ามันมีหลักการ พระอรหันต์ต้องตีกัน แต่เค้าเข้าใจกัน ความพอดีในแต่ละเหตุปัจจัย พอดีตรงนั้น…ตรงนั้นเฉยๆ ไม่สามารถเอามายึดเป็นหลักการได้…พอดีตรงนั้นเฉยๆ

เหมือนที่ผมเคยพูดหลายครั้งว่า เวลาผมบอกว่าคนนี้ควรจะทำแบบนี้ตอนนี้นั่นคือ ความพอดีของคนๆ นั้นในตอนนั้น แต่ถ้าเวลาผ่านไปแล้ว ไม่ใช่คำตอบนั้นแล้ว อาจจะทำแบบนั้นไม่ได้แล้ว เพราะฉะนั้น คำแนะนำของแต่ละบุคคลเป็นของแต่ละบุคคล  แล้วก็ไม่คงเส้นคงวา (Consistency) ด้วย ไม่เหมือนเดิมตลอด…ขึ้นอยู่กับสถานการณ์เฉยๆ

พอเราดำเนินชีวิตด้วยความ “พอดี” ไม่ได้ดำเนินชีวิตด้วยหลักการ หรือด้วยความเป็นคนดี เราทุกข์ไม่ได้เลย

ถ้าใครมาเหยียบหลักการเรา…เราทุกข์เลยใช่มั้ย? ผิดหลักการที่เรายึด นี่! เราทุกข์เลยใช่มั้ย? ผิดไม่ได้ด้วยเพราะมีหลักการนั้น คนแบบนี้เป็นคนที่ทุกข์ที่สุด มีปัญหากับชีวิตตัวเองตลอดเวลา เพราะสร้างหลักยึดให้กับตัวเองและก็ขังตัวเองเอาไว้ในหลักยึดนั้น…จะมีความสุขไม่ได้ เป็นอิสระไม่ได้ ทุกข์ตลอด

เพราะฉะนั้น ความหลุดพ้น…ตัวอย่างง่ายๆ คือแบบนี้…หลุดพ้นจากสิ่งเหล่านี้ แล้วปล่อยให้ “ปัญญา” ซึ่งเป็นผลจากการที่เราเข้าถึง “สภาพตื่นรู้” เข้าถึงความเป็น “พุทธะ”นี้แล้ว…บอกเราว่าเราจะดำเนินชีวิตในแต่ละขณะ แต่ละขณะไปยังไง ไม่ใช่แต่ละวัน

 

ตอนที่ 4 หาเวลาให้กับชีวิต

พอเราเป็นแค่การไหลเลื่อน (Flow) อยู่ในธรรมชาติเฉยๆ…มันแปลว่าอะไร? เราไม่ได้ห่วงหน้าพะวงหลัง จะหาความทุกข์จากที่ไหน…หาไม่ได้ แต่เราจำเป็นต้อง “บ่มเพาะปัญญาญาณ” ให้มันเกิดขึ้นให้ได้…จะเกิดขึ้นได้ยังไง? ต้อง “มีเวลาเข้าถึง” สภาพเดิมแท้ เข้าถึงความเป็นพุทธะ เข้าถึง “สภาพตื่นรู้ของตัวเอง” ให้ได้…

อันนี้เป็นทางย้อนกลับ ค่อยๆ คิด ค่อยๆ คิดก็ได้ ตัวเองแต่ละคนค่อยๆ คิด มันก็กลับไปสู่ที่ว่า เราจะมีเวลาเข้าถึงสภาพตื่นรู้นั้นได้ยังไง? ถ้าชีวิตเรามันไม่เอื้อ…ต้องเปลี่ยน!

เราต้องจัดระบบชีวิตใหม่ เรามี Passion เพียงพอมั้ยที่เราจะเข้าถึงความหลุดพ้นในชีวิตนี้? ถ้าเราไม่มี ต่อให้พระพุทธเจ้าเป็นพ่อเราก็ช่วยเราไม่ได้ แต่เรามี…ความเป็นพระพุทธเจ้าเป็นของทุกคนอยู่แล้ว บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์นี้ให้มันเติบโตขึ้นในใจของเราให้ได้ เราจะไม่ต้องวนทุกข์ วนสุข…วนทุกข์ วนสุข…วนทุกข์ วนสุขไปไม่รู้อีกนานเท่าไหร่

พุทธโอวาทก่อนปรินิพพานของพระพุทธเจ้ากล่าวว่า “จงดำรงชีวิตอยู่ในความไม่ประมาท” พวกเราไม่เคยเจ็บป่วย ไม่เคยใกล้ตาย ไม่เคยมีอะไรรุนแรงกับชีวิตของทุกคน…อุ้ย! อยู่มาได้ตั้งนานปลอดภัยดี ประเทศเราก็สงบสุข มีในหลวงดูแลมาได้ตั้งนาน สงบสุขตลอด เราเป็นประเทศที่มีบุญมากถึงสงบสุขได้ขนาดนี้ แต่บุญมันมีวันหมดเหมือนกัน

เพราะฉะนั้น บุญนี้มันไม่นิจนิรันดร์ “ความหลุดพ้น” เป็นสิ่งเดียวที่นิจนิรันดร์ ถ้าเราไม่ใช้เวลาที่มีอยู่ตอนนี้ให้ดีที่สุด…สูญเสียโอกาสอย่างรุนแรง  ก้าวมาถึงที่นี่ ถึงในห้องนี้แล้ว ผมถือว่าเป็นโอกาสของตัวเองที่ดีที่สุด

 

ตอนที่ 5 แค่ “ตื่นรู้” เปิดสวิทซ์นี้เฉยๆ

ความหลุดพ้น” นี้เป็นสิ่งที่อธิบายไม่ได้  ศาสนาของชาวพุทธ…เป็นสิ่งเราต้องประจักษ์แจ้งด้วยตัวเอง เป็นสิ่งที่เค้าเรียกว่า เป็นปัจจัตตัง…รู้ด้วยตัวเอง

เราต้องรู้ว่า การปฏิบัติธรรมไม่ได้อะไร การปฏิบัติธรรมไม่ใช่เอาอะไรเข้า มีแต่การ “ปล่อยวาง” สิ่งที่ต่างๆ ที่เราเอาเข้ามาตลอดชีวิตออกไป การที่เราเข้าถึงสภาพตื่นรู้นี้… “กิริยาตื่นรู้” เฉยๆ ไม่มีรูปร่าง ไม่มีสีสัน ไม่มีตัวตน มันเป็นเพียงแค่ “กิริยาตื่นรู้” เฉยๆ ลองคิด “กิริยาตื่นรู้” ใครวาดภาพมันได้มั้ย? วาดไม่ได้ แต่มันเป็นแค่กิริยาตื่นรู้เฉยๆ เราเข้าถึงสภาพนั้น…ถึงแล้ว! ในขณะที่เราถึงสภาพนั้น เราได้สัมผัส “นิพพานชิมลอง” แล้ว เพียงแต่ว่าเราแค่ยังไม่สมบูรณ์เฉยๆ

เพราะฉะนั้น ผมถึงบอกว่า การปฏิบัติธรรมมันไม่ยาก เราเพียงแต่ “เข้าถึงให้ได้” “รู้จักมัน อยู่กับมัน” เป็น “กิริยาตื่นรู้” เรื่อยๆ มันจะก่อตัว มันจะทำงาน มันจะขัดเกลา มันจะทำทุกสิ่งทุกอย่างที่ผมบอกในเรื่องของศีล สติ สมาธิ ในเรื่องของการชำระกิเลส การตัดสังโยชน์…มันทำเอง

ผมถึงบอกว่า ทุกคนนี้มีเครื่องจักรสังหารกิเลสนี้อยู่ในตัวอยู่แล้ว… “เครื่องจักร” นี้แปลว่าอะไร? เครื่องจักรนี้ถูกผลิตมาเสร็จแล้ว เราเพียงแค่เปิดสวิทซ์เฉยๆ

หน้าที่เราคือ เปิดสวิทซ์เฉยๆ เครื่องจักรนี้มันทำงานเอง เราแค่เปิดสวิทซ์ให้ได้…แค่นั้นเอง! เปิดสวิทซ์นี้…เครื่องจักรแห่งความหลงก็จะหยุดทำงาน แล้วเครื่องจักรแห่งความตื่นรู้ก็จะทำงานเองโดยที่เราไม่ต้องรู้อะไรเลย ไม่ต้องรู้ว่าทำยังไง มีเฟืองกี่ตัว มีมอเตอร์กี่อัน มีโซ่กี่อัน ใช้น้ำมันยี่ห้ออะไรอะไรอย่างนี้…เราไม่ต้องสนใจเลย เราเพียงแค่ “ตื่นรู้” นี้ เปิดสวิทซ์ขึ้นมาเฉยๆ แต่ไม่ต้องห่วงว่าจะไม่รู้ มันรู้ทุกสิ่งทุกอย่างเพราะอะไร? เพราะเราไม่ได้หลับอยู่

 

ตอนที่ 6 พ้นทุกข์…ไม่ใช่ได้ความรู้

ในขณะที่เราตื่นรู้อยู่เนี่ย! เราจะเข้าใจไตรลักษณ์ ทำไมเข้าใจได้? ขณะที่ตื่นรู้อยู่ ความเป็นตัวตนมันไม่มีแล้ว ความเข้าใจนี้ที่จะเข้าไปในใจได้…ไม่ใช่เข้าไปในความคิด ไม่ใช่เข้าไปในสมอง พอความเข้าใจมันเกิดขึ้นจริงๆ มันถึงขัดเกลาได้

เพราะฉะนั้น เราจะเข้าใจไตรลักษณ์ได้ เราจะเข้าใจวงจรปฏิจจสมุปบาทได้ หรือเราจะเข้าใจวงจรของอวิชชาได้โดยที่เราไม่ต้องอ่านเลย เราอาจจะเรียกไม่ถูกด้วยซ้ำ แต่มันเข้าใจ ถ้ามีคนมาพูดกับเราให้เราอธิบายหน่อย เราก็เข้าใจได้ว่ามันมีเหตุปัจจัยแบบนี้ แบบนี้ แบบนี้เกิดขึ้น แต่เราเรียกชื่อไม่ถูก แต่พอเราไปอ่านหนังสือ…อ๋อ! อันนี้ชื่อนี้ชื่อนี้ …อ๋อ! ชื่อนี้มันแปลว่าแบบนี้…ชื่อนี้มันแปลว่าแบบนี้ เราก็เข้าใจได้…อ๋อ! มันชื่อนี้ เป็นสมมติทีหลังเฉยๆ

เพราะฉะนั้น เรายังไม่ต้องเข้าใจศัพท์ยากๆ แม้แต่คำเดียวก็ได้ แต่ความเข้าใจอาการของทุกสิ่งทุกอย่างเราเข้าใจอยู่แล้ว

ตอนผมปฏิบัติธรรมใหม่ๆ ผมก็เป็นแบบนี้…ค้นคว้า หาคำตอบ อ่านทุกครูบาอาจารย์ เจอปฏิจจสมุปบาทนี่ หงายหลังเลย…เลิก เพราะว่ารู้สึกว่าอ่านไปก็จำไม่ได้ พยายามทำความเข้าใจก็รู้สึกว่า ก็ไม่เข้าใจอยู่ดี

ปฏิบัติง่ายๆ อย่างที่ผมบอกทุกคน วันนึงความเข้าใจปฏิจจสมุปบาทอันนี้เกิดขึ้น แต่ว่าตอนนั้นผมเรียกไม่ถูก ผมแค่รู้ว่าเป็นวงเฉยๆ ผมก็นึกขึ้นได้ว่า วงๆ แบบนี้เป็นวงจรอะไรนะ เราก็ไปหาดู… อ๋อ! อธิบายอย่างนี้ …อ๋อ! มันเป็นอย่างนี้

เพราะฉะนั้น การปฏิบัติธรรมเราไม่ได้ต้องการมีความรู้ …การปฏิบัติธรรมคือ การเข้าใจตัวจริงของเราเฉยๆ กลับบ้านที่แท้จริงของเราเฉยๆ กลับให้ถูกบ้านเฉยๆ พอเรากลับถูกบ้าน…ไม่ทุกข์ พ้นทุกข์! อันนี้เป็นเป้าหมายสูงสุดของการปฏิบัติธรรม… “พ้นทุกข์…ไม่ใช่ได้ความรู้” แค่นั้น เราอาจจะไม่รู้อะไรเลยก็ได้ แต่เราพ้นทุกข์ อันนี้พอแล้ว

เคยฟังท่านเว่ยหลางซึ่งท่านเป็นสังฆปรินายกองค์ที่ 6 ของนิกายเซน ในสมัยนั้นมีชื่อ สำนักฉับพลัน เค้าเรียกว่า บรรลุฉับพลัน กับสำนักเชื่องช้า ในสมัยนี้ก็แปลกันว่า “สำนักฉับพลัน” ก็คือ บรรลุฉับพลันทันทีเลย รวดเร็ว “สำนักเชื่องช้า” สมัยนี้เราแปลกันว่า มีขั้นมีตอน มีการปฏิบัติ ต้องทำนี่ก่อนค่อยไปทำนั่นทำโน่น สวดมนต์ก่อนนะ แล้วค่อยไปถือศีล…เค้าแปลความเชื่องช้าว่าเป็นแบบนั้น

แต่ท่านเว่ยหลางพูดดีมากว่า เส้นทางของการเข้าถึงทางหลุดพ้นมีทางเดียวเท่านั้นก็คือ

เข้าถึงสภาพที่แท้จริงของจิตเราให้ได้” เป็นทางเดียว แต่จะฉับพลันหรือเชื่องช้าขึ้นอยู่กับปัญญาของแต่ละคนเฉยๆ

ถ้าเราจะพูดให้เห็นภาพหน่อย…คนนี้ก็เคยฝึกมาเยอะ สะสมมาเยอะ เจออีกทีก็ปึ๊งเลย…ฉับพลัน  บางคนก็สะสมมาน้อย เพิ่งมาเจอวิธีการปฏิบัติที่ถูกต้องที่ท่านเว่ยหลางพูดมีทางเดียว ไม่มีทางอื่น …ก็ใช้เวลา

 

ตอนที่ 7 ใช้เครื่องมือที่จะเข้าถึง “ความตื่นรู้”

การปฏิบัติธรรมคือ การอยู่กับ “สภาพตื่นรู้” ให้มันเต็มที่ที่สุดที่เราจะอยู่ได้ เมื่อไหร่ที่มีเมฆหมอกเข้ามาปิดบังสภาพที่แท้จริงนี้…เค้าเรียกว่า “นิวรณ์” เข้ามาปิดบัง เราก็ต้องมี “อุบาย” ซึ่งมีหลายอย่าง…ง่วงนอนก็อาบน้ำ นั่งหลับก็ลุกขึ้น

ความทุกข์เข้ามาในจิตใจเยอะ บางคนก็กังวล…อุ้ย! เค้าบอกให้พ้นออกจากโลกความคิดปรุงแต่ง แต่ความทุกข์ ความเสียใจ ความกังวลใจยังมีอยู่ตลอดเลย  ถ้าอย่างนั้นต้องมีอุบาย…คิดเลย คิดว่ามันเป็นอะไรของมัน หาต้นเหตุให้ได้ ทำไมเราถึงกังวลเรื่องนี้…อันนี้เค้าเรียกว่าอะไร? “จินตามยปัญญา” ไม่ใช่เป็นเรื่องผิด แต่เราต้องรู้ว่าใช้มันตอนไหนเฉยๆ  โอเคเราไปคิด…อ่อ! มิจฉาทิฏฐิอีกแล้ว ไปโกรธคนนี้ เค้าอาจจะคิดอย่างนั้น ใช้ Positive thought เข้ามาช่วยหน่อย เราใช้ได้ แต่เราต้องรู้ว่า เป็นเครื่องมือ เป็นอุบาย ที่ในสุดท้ายทำให้จิตใจเรานี้ผ่อนคลายลง กลับมาเป็นปกติ…สบาย แล้วเราก็ตื่นรู้ได้…แค่นั้น

ทุกอย่างเป็นเครื่องมือ หยิบใช้เครื่องมือชิ้นไหน เราหยิบใช้ได้ แต่เส้นทางเราต้องรู้ว่า เราใช้เครื่องมืออะไรที่จะไปถึง “ความตื่นรู้” นี้ได้ เราใช้เฉยๆ ใช้แล้วก็ปล่อยไป

 

ตอนที่ 8 อย่าชะล่าใจ

ความเป็น “พุทธะ” ไม่เคยหายไปไหน อยู่ในตัวเราอยู่แล้ว เราเข้าถึง เหมือนเปิดสวิทซ์ พอเราเลิกจะเข้าถึงมันปิดสวิทซ์ มันไม่ได้หายไปไหน มันอยู่ในตัวเรานั่นแหละ เราแค่ไม่ได้ใช้มันเฉยๆ ไม่ได้เปิดสวิทซ์ให้มันทำงาน

นี่! การปฏิบัติธรรมมันง่ายมาก เราแค่ไม่ยอมใช้สิ่งที่เรามีอยู่แล้ว…แค่นั้นเอง  เราใช้แต่เรื่องของความหลง เรื่องแห่งความคิดปรุงแต่ง เคยรู้สึกมั้ยชีวิตเราที่ผ่านมาประสบความสำเร็จทุกอย่าง เงินก็เยอะ แต่เรายังไม่มีความสุข เรายังหาความสุขที่แท้จริงไม่ได้

ถ้าผมบอกให้พี่อยู่เฉยๆ วันนึง ไม่ต้องเล่นโทรศัพท์ ไม่ต้องทำอะไร อาบน้ำ กินข้าว นั่งเฉยๆ ไม่ให้ออกไปไหน จะทุกข์มั้ย? … “เบื่อนิดหน่อย” ….ลองดู ความเบื่อนั้นเป็นความทุกข์

ทำไมเราเบื่อ? เพราะจิตใจนี้มันดิ้นรน ต้องการจะได้ความสุข มันเลยเบื่อ

ทำไมคนเราถึงเบื่อ? เพราะมันทนอยู่ในสภาพเดิมๆ นี้ไม่ได้ สภาพเดิมๆ นี้ทนอยู่ไม่ได้เค้าเรียกว่า เป็นทุกข์  เพราะฉะนั้น เรายังทุกข์อยู่

สมมติว่า ผมไปบ้านพี่ ผมเอาเครื่องอำนวยความสะดวกในบ้านออก ไม่ให้มีน้ำอุ่นด้วยเวลาหน้าหนาว …ทุกข์มั้ย? เพราะเรามีสิ่งที่บรรเทาทุกข์ตลอดเวลา เราเลยเห็นความทุกข์ไม่ได้ เราเห็นไม่ได้ว่าชีวิตนี้เป็นทุกข์  เราทุกข์ปุ๊บ เบื่อปุ๊บ…รีบไปข้างนอก เราทุกข์ปุ๊บ เบื่อปุ๊บ…โทรหาเพื่อนดีกว่า เราทุกข์ปุ๊บ เบื่อปุ๊บ…เข้าอินเตอร์เน็ตดูว่าที่ไหนมีคอร์สปฏิบัติธรรมบ้างจะไปเข้าคอร์สอย่างนี้ ….เราไม่ได้ปฏิบัติธรรม!

เราหนีความทุกข์ไปวันๆ เฉยๆ เพราะเราไม่เข้าใจชีวิตจริงๆ ของเราว่า ชีวิตเราเกิดมา เรามีหน้าที่อะไร…มีหน้าที่ว่าจะรู้จักตัวจริงของเรา

เราทุ่มเททุกอย่างเพื่อการทำงาน เรียนหนังสือ ได้ปริญญา ได้เงิน ตำแหน่งหน้าที่…เปลี่ยนความทุ่มเทนั้น ไปทุ่มเทที่จะรู้จักตัวตนที่แท้จริงของตัวเอง ใช้พลังความสามารถทั้งหมดที่เคยใช้ในโลกเอามาใช้ในทางนี้ ประสบความสำเร็จในโลกได้ ก็ประสบความสำเร็จทางธรรมได้ แค่มี Passion แบบที่คนในโลกทำ

คำสอนพระพุทธเจ้า “อย่าประมาท” หรือ “อย่าชะล่าใจ” เหมือนกระต่ายกับเต่า กระต่ายมันชะล่าใจสุดท้ายก็แพ้เต่า มันก็คิดว่ามันมีทุกอย่างดีกว่า วิ่งเร็วกว่า อะไรกว่าทุกอย่าง ไม่มีทางเลยที่เต่าจะชนะ ไปนอนก่อน ไปทำงานก่อน เราก็เป็นกระต่าย เราไม่รู้ว่าวันไหนเราจะตาย เราไม่รู้ว่าวันไหนเราจะโดนความทุกข์ถาโถมเข้ามาแบบที่เรารับไม่ได้ เราไม่รู้ว่าวันไหนที่จะมีคนบอกว่าเราเป็นมะเร็งหรือเปล่า พอความทุกข์ที่มันเข้ามาแล้ว จิตใจปกติไม่ได้ ไม่ทัน เหมือนคนกำลังจะจมน้ำ ไม่เคยหัดว่ายน้ำ…ต้องจมน้ำ!!

 

Camouflage

13-Jul-2017

YouTube : https://youtu.be/AuBBAesT3SQ

คลิปเสียงธรรมะทั้งหมดของคุณ Camouflage : https://goo.gl/RDZFMI

======================

5 ช่องทางการอ่านและฟังธรรม

1) Facebook : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
http://www.facebook.com/sookguysookjai

2) Line : @camouflage.talk
https://line.me/R/ti/p/%40camouflage.talk

3) YouTube : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
https://goo.gl/in9S5v

4) Website: https://camouflagetalk.com

5) Podcast : Camouflage – Dhamma Talk
-iOS https://itun.es/th/t6Mzdb.c
-Andriod https://goo.gl/PgOZCy