48.ตัวจริงของเรา

ตอนที่ 1 Live in the moment

 

ในชีวิตของเราทุกคน เราต้องตอบสนองต่อสถานการณ์ในขณะนั้นๆ เลย (Action in the Moment)

 

ไม่ใช่ว่าเราต้องมีหลักการ เรามีหลักยึด หรือเราอาศัยประสบการณ์ในอดีต แล้วก็เชื่อแบบนั้น แล้วก็ทำตาม คนในโลกนี้ทำแบบนั้น เรายึดกับอะไรอยู่ เราก็ใช้ประสบการณ์ในอดีต ในกล่องข้อมูลของเรา แล้วก็เอามาตัดสินใจทำเรื่องในปัจจุบันไปสู่อนาคตในที่สุด

 

แต่การปฏิบัติธรรมนั้น เราแค่ดำรงอยู่ในสถานการณ์นั้นๆ “Live in the moment” และทุกการตอบสนองของเราในสถานการณ์แต่ละสถานการณ์ เราตอบสนองในขณะนั้น (Moment)…แค่นั้นเอง

 

มันเป็น “ขณะเดียว” ของสัญญา ของวิปัสสนาญาน ของปัญญา…ก็พรึ้บบบเดียว! อันนี้ก็ตอบสนองเลย ไม่ต้องไปคิดในอดีตในหลักการที่เรายึด

เพราะฉะนั้น การตัดสินใจของเรามันก็จะสมบูรณ์ที่สุด…คำว่า “สมบูรณ์” ที่ผมพูดไม่ได้หมายความว่า มันถูกหรือมันผิด มันสมบูรณ์ในขณะนั้นแล้ว…แค่นั้น

 

ตอนที่ 2 ฝึกอยู่กับ “ความเงียบภายใน”

 

เราต้องฝึกที่จะอยู่กับ “ความเงียบ” ให้มันบ่อยขึ้นในชีวิตของเรา

 

ในรูปแบบเราก็รู้จักความเงียบได้ ในชีวิตประจำวันเราก็รู้จักความเงียบได้ในทุกๆ ขณะที่เรากำลังทำอะไรอยู่ ความเงียบภายในนี่มันมีอยู่แล้ว มันมีอยู่ตลอดเวลา

 

แต่พอเราคิด เราติดอยู่กับความเชื่ออะไร สิ่งเหล่านั้นก็เข้ามาปิดบังความจริงทั้งหมด หรือที่ผมบอกว่า เมฆหมอกทั้งหลายกำลังปิดบังดวงจันทร์เอาไว้ แล้วเราก็เข้าไปเป็นเมฆหมอกอันนั้นซะเอง…เข้าไปเป็นจริงเป็นจังกับเมฆหมอกนั้น พอเป็นจริงเป็นจังเสร็จปุ๊บ…เราก็เป็นทุกข์ในที่สุด

 

(ในขณะบรรยาย มีเสียงตอกตะปูดังขึ้นมา)…เวลาได้ยินเสียงแบบนี้ เราก็ลองดูว่า มันกระทบกระทบเทือนความเงียบภายในของเรารึเปล่า?

 

ในความเป็นจริงเราอยู่ในที่ที่เงียบตลอดเวลาไม่ได้ เราก็อยู่แบบนี้แหละ ต่อให้เราไปอยู่วัด ไปอยู่ในป่าในเขา มันก็มีเสียงลม เสียงโน่น เสียงนี่ เสียงต้นไม้ใบไม้พัด สารพัดเสียง

 

อยู่ที่เราจะไปยึดมันรึเปล่าแค่นั้นเอง

 

 

ตอนที่ 3 แค่รู้สึก “จุดที่หนักแน่นที่สุด”

 

เดี๋ยวจะให้นั่งสมาธิกันสักแป๊บนึง…

 

เวลาเรานั่งสมาธิ เราหายใจ…ให้สังเกตตอนเราหายใจออก…ตอนมันใกล้ๆ จะหมดลมหายใจออก เราจะรู้สึกถึงความหนักแน่นแถวๆ ท้องน้อย หรือบางคนก็ลงไปต่ำกว่านั้น ให้เรารู้สึกบริเวณที่เรารู้สึก “หนักแน่นที่สุด” ตรงนั้น

 

การที่เรารู้สึกถึงบริเวณที่มันหนักแน่นที่สุดตรงนั้น

จิตจะมีกำลังขึ้นมา

 

ที่ผมบอกให้เรารู้สึกอยู่ที่มันหนักแน่นตรงนั้น หมายความว่า

แค่รู้สึก” มันชัดอยู่ที่ตรงนั้น

รู้สึก…ไม่ใช่ไปอยู่กับมัน รู้สึกเฉยๆ

ขณะที่เรารู้สึกในจุดที่หนักแน่นที่สุดของร่างกายตรงนั้น เราไม่ได้ลืมเนื้อลืมตัวหรอก ร่างกายทั้งร่างกายเราก็ยังรู้อยู่เหมือนกัน “จิตใจเราปกติอยู่” เราก็รู้เหมือนกัน เป็นสภาวะปราศจากความคิด เราก็รู้เหมือนกัน แล้วเราจะได้สัมผัสความเงียบภายใน

 

ความเงียบ” อันนี้มีอยู่แล้ว มีอยู่เสมอตลอดอนันตกาล

ไม่เคยหายไปไหน แต่เราไม่ยอมจะรู้จักมัน

เราชอบไปคิดปรุงแต่ง คิดอะไรเป็นจริงเป็นจังไปหมด

 

 

ตอนที่ 4 ตัวเราที่แท้จริง คือ กิริยาตื่น

 

การปฏิบัติธรรมไม่มีอะไรยากเลย ขอแค่เราเข้าใจว่า เรากำลังทำอะไรอยู่ ขอให้เราเข้าใจ “ธรรมชาติที่แท้จริง” ของเราให้ได้ว่า ธรรมชาติที่แท้จริงของเราคืออะไรกันแน่?

 

ธรรมชาติที่แท้จริงของเรา…แปลออกมาเป็นภาษาให้พอเข้าใจได้ ก็คือ “สภาพตื่น” สภาพตื่น คือ รู้กายกับจิตนี้ทำงาน กายเป็นอย่างนี้ จิตเป็นอย่างนี้

ตัวเราที่แท้จริง คือ “สภาพตื่น…กิริยาตื่นเฉยๆ” สภาพอื่นๆ ที่ผ่านเข้ามาในจิตใจ เวทนาต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในร่างกาย เป็นแค่สิ่งที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป แต่เราชอบไปเป็นมัน เราชอบเป็นจริงเป็นจังกับสิ่งที่ผ่านเข้ามาทั้งหลายว่า มันเป็นตัวเรา เป็นของเรา

 

เพราะฉะนั้น การปฏิบัติธรรมมันง่ายเพราะว่าขอให้เราแค่รู้ว่าตัวจริงของเรา คือ “เป็นกิริยาตื่นเฉยๆ” เราต้องรู้ว่า ตัวจริงของเราทุกคนคือ “กิริยาตื่น” ถ้าเรามั่นใจ เราเข้าใจแบบนี้แล้ว เราจะหลงเข้าไปเอาจริงเอาจังกับร่างกายกับอารมณ์ กับสุข ทุกข์ เศร้า เสียใจ อะไรต่างๆ นานา หรือแม้กระทั่งเอาความคิดมาเป็นตัวเรา…เราจะเอาแบบนั้นทำไม?

 

เราต้องสอนตัวเองว่า ตัวเราที่แท้จริงคือ “กิริยาตื่น”

 

เมื่อไหร่ก็ตามที่เราเข้าไปเป็นอะไรกับอะไร…นั่นเราหลับแล้ว! เราหลงผิดแล้ว เรามีมิจฉาทิฏฐิแล้ว เรากำลังกลับไปสู่วัยเด็กที่เรากำลังเล่นละคร เล่นเป็นนางฟ้า เล่นเป็นพ่อ เล่นเป็นจอมยุทธ เล่นเป็นลูก

 

เราสังเกตคนมีลูกแล้ว ลูกก็เล่นเป็นพ่อเป็นลูกกัน เล่นจนมันติดออกมาจริงๆ เลิกเล่นแล้วยังติดนิสัยที่เล่นอยู่ในละครนั้นออกมาในชีวิตจริงอีก เราเป็นพ่อเป็นแม่ เป็นผู้ใหญ่เห็นแล้วก็ตลกมั้ย? เป็นเด็กเราก็ว่าตลก ถ้าเป็นผู้ใหญ่ เราก็ว่ามันบ้า เอาเรื่องไม่จริงมาเป็นจริงเป็นจังได้ยังไง?

 

ครูบาอาจารย์ก็เห็นคนในโลกนี้แบบนั้นเหมือนกัน ผู้ใหญ่ คนใหญ่คนโต คนเด่นคนดัง เอาเรื่องไม่จริงมาเป็นจริงเป็นจังหมด…มันจริงใน “สมมติ” แต่เรานักปฏิบัติธรรม เราต้องรู้ชีวิตที่แท้จริงของเรามันคือ “สภาพตื่น” เราต้องรู้ว่ามันจริงเหมือนกัน แต่มันจริงโดยสภาพสมมติเฉยๆ เหมือนที่เรากำลังต้องเล่นละคร มันจริงตอนนั้นเฉยๆ

 

เพราะฉะนั้น เราอย่าเอาจริงโดยสมมติมาเป็นชีวิตที่แท้จริงของเรา เราต้องเตือนตัวเอง สอนตัวเองว่า เรากำลังจะเป็นคนบ้าคนนั้นอีกแล้ว ถ้าเราหมั่นเตือนตัวเอง สอนตัวเองได้บ่อยๆ …สติเกิดขึ้น

 

ตอนที่ 5 ดูเข้ามาให้ถึงใจ…ไม่ใช่ไปดูจิต

 

การปฏิบัติธรรม คืออะไร? คือ เราขัดเกลาตัวเอง ขัดเกลามิจฉาทิฏฐิ ความหลงผิดทั้งหลายออกไป สังเกตชีวิตพวกเราทุกคน ปฏิบัติธรรมมาได้กันขนาดนี้ เราคิดว่าเราปลอกเปลือกความเห็นผิดของเราตั้งแต่เด็กจนโตไปไม่รู้เท่าไร เราหลงผิดตั้งเยอะ

 

หน้าที่เรา คือ เราแค่ใช้เวลาที่เหลืออยู่ของเราทั้งหมด

ขัดเกลาจิตใจนี้ให้มันบริสุทธิ์ ให้มันไม่มีความหลงผิดหลงเหลืออยู่

ให้มันเป็น “ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน” โดยสมบูรณ์

 

ถ้าเราไม่ช่วยตัวเอง ไม่มีใครช่วยเราได้

ถ้าเราไม่เลือกทางเดินด้วยตัวเอง ไม่มีใครเดินให้เราได้

เราจะตายอย่างไร้ค่า ไร้ราคา

 

หลวงปู่ดูลย์พูดถึง “จิตคือพุทธะ” หมายความว่า ทุกคนมีจิตคือพุทธะอยู่แล้ว ทุกคนมี “สภาพตื่น” นี้อยู่แล้ว

 

ดูเข้าไปให้ถึงจิต หมายความว่า เข้าไปถึงจิตคือพุทธะ

ไม่ใช่มัวไปดูเมฆหมอกของจิต

ไม่ใช่มัวไปดูอาการของจิตที่มันปรุงแต่งไปแล้ว

 

หลวงปู่เทสก์เรียกว่า “จิต กับ ใจ” ถ้าใช้คำของหลวงปู่เทสก์ต้องเรียกว่า “ดูเข้ามาให้มันถึงใจ…ไม่ใช่ไปดูจิต

 

จิตนี่มีหน้าที่คิดนึกปรุงแต่ง จะไปดูของปรุงแต่งทำไม? ดูกลับมาถึงตัวตนที่แท้จริงของเรา ก็คือ “ใจ

 

ใจนี้ หรือเรียกว่า “จิตเดิมแท้” เรียกว่า “จิตหนึ่ง” เรียกว่า “ธาตุรู้”…ใครจะเรียกอะไรก็ได้ แต่ดูเข้ามาให้มันถึงใจ อย่าไปติดอยู่แค่ถึงจิต มันเข้ามาไม่ถึงตัวเอง มันเข้ามาไม่ถึงสภาพที่แท้จริงของตัวเอง

 

เมื่อไหร่ก็ตาม ที่เราเข้ามาถึงสภาพต้นกำเนิด สภาพที่แท้จริงของตัวเอง ไม่ต้องห่วงว่า เราจะไม่รู้ไตรลักษณ์ ไม่ต้องห่วงว่าเราจะไม่เข้าใจไตรลักษณ์…เข้าใจ เข้าใจชัดเลย จะเป็นความเข้าใจจริงๆ

 

เพราะในขณะที่เราเข้ามาถึงใจนี้

เข้ามาถึงสภาพแห่งความเงียบเชียบนี้

เข้ามาถึงสภาพแห่งความปกตินี้…มันปราศจากตัวตน

 

เพราะฉะนั้น อะไรผ่านมาผ่านไป มันเห็นชัด เห็นทุกอย่าง จิตใจนี้ก็จะรู้เองว่า ทุกสิ่งทุกอย่างมันก็เป็นอย่างนี้ มันผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ เป็นไปตามเหตุปัจจัย

เป็นไปตามเหตุปัจจัย” นี้ หมายความว่า พระพุทธเจ้าพูดว่ามันไม่มีจุดเริ่มต้นและมันก็ไม่มีจุดสิ้นสุด ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามเหตุปัจจัย…ดำเนินกันไป ไม่เคยหยุดเลย

 

กายกับจิตที่พวกเรามีกันอยู่ตอนนี้ เป็นเหมือนเมฆหมอกที่มันผ่านเข้ามา พอมันผ่านเข้ามา เราก็ใช้อวิชชากระโดดเข้าไปจับมัน ว่ามันเป็นตัวเรา เราเป็นเจ้าของมัน เราไม่ยอมรู้มันเฉยๆ เราไม่เรียนรู้เฉยๆ ไม่ตื่นรู้เฉยๆ กับสิ่งต่างๆ ที่มันผ่านมาและก็ผ่านไป

 

ทุกวันนี้เราเรียนธรรมะแล้วเราก็เรียนรู้ว่า

อ้อ…อารมณ์อะไรเกิดขึ้น ความคิดอะไรเกิดขึ้น ก็เห็นมัน

แต่เราไม่เคยเห็นว่า กายกับจิตนี้ตกอยู่ในสภาพเดียวกัน

กับอารมณ์ทั้งหลายที่เราพยายามดูอยู่แล้วว่า

มันเป็นไตรลักษณ์ว่า มันไม่ใช่ตัวเรา

มันเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย

 

กายนี้กับจิตนี้เหมือนกัน เป็นสิ่งที่เราต้องรู้ว่า

มันเป็นสภาพเดียวกับเมฆหมอกที่เราอย่าเผลอเข้าไปยึดถือ

อย่าเข้าเอาไปเป็นของส่วนตัว

เราแค่กลับสู่สภาพเดิมแท้ของเราคือ “สภาพตื่นอยู่…ตื่นรู้”

 

หลวงปู่ดูลย์พูดว่า “เพียงแค่เราลืมตา ตื่นขึ้นมา มันอยู่ตรงหน้าเราอยู่แล้ว”

 

เพราะฉะนั้น การปฏิบัติธรรมมันเลยง่ายจนไม่รู้จะง่ายยังไง

แต่การที่จะลืมตาตื่นขึ้นมาเข้าถึงสภาพเดิมแท้ได้ มันมีวิธีการ

 

ธรรมะต้องพูดกันเยอะ เพราะพูดกันเรื่องที่จะทำให้คนเข้าถึงสภาพเดิมแท้ของตัวเองให้ได้แค่นั้นเอง มันเลยมีเรื่องของ :

 

ความรู้สึกตัว

ให้พ้นออกจากโลกของความคิดปรุงแต่ง

ความเงียบ

 

ความเงียบจะเกิดขึ้น เมื่อเราพ้นออกจากสภาพความคิดปรุงแต่งทั้งปวง เราก็มีหน้าที่รู้จัก…รู้จักตัวตนที่แท้จริงของเราทุกคนให้บ่อย ให้เป็นนิสัย แล้วสุดท้ายมันจะต่อเนื่องเป็นหนึ่งเดียวกลมกลืนกับชีวิตของเราในสภาพตื่นรู้

 

 

ตอนที่ 6 ไม่เอาอะไรในการปฏิบัติธรรม

 

เริ่มแรก เราต้องรู้ว่า “เราไม่เอาอะไรในการปฏิบัติธรรม” ไม่ใช่เพื่อจะได้ปัญญาด้วย…ไม่เอาอะไรเลย ปัญญาก็ไม่เอา

 

เราแค่กลับไปสู่ตัวตนที่แท้จริงของเราคือ “สภาพตื่นรู้” เฉยๆ

 

สภาพตื่นรู้ หรือสภาพว่างสุญญตานี้ ไม่มีสภาพของการที่เรารู้สึกว่าเราต้องมีปัญญา…ไม่ต้องมี เราแค่กลับสู่บ้านเดิม…จบแล้ว

 

สมมติ เราอยู่ในป่าคนเดียว เราเรียนรู้ชีวิตตัวเอง ซึ่งจะเรียกว่าปฏิบัติธรรมแล้วกัน จนวันนึงเราบรรลุธรรม แล้วเราก็อยู่คนเดียวจนตายนั่นแหละ ไม่ต้องพูดกับใคร ไม่ต้องคิดอะไร เราแค่ไม่มีทุกข์เฉยๆ เราไม่ต้องรู้สึกว่าเราจะต้องมีปัญญาอะไรทั้งนั้น

 

ที่ผมพูดตั้งแต่แรกว่าเราดำรงอยู่ในขณะนั้นๆ เฉยๆ เรา Live in the moment ทุกขณะๆ เฉยๆ ในทุกขณะจิตใจนี้เต็มไปด้วยพลังงาน เต็มไปด้วยกำลัง เต็มไปด้วย Energy

 

ถ้าเราจะต้องตอบสนองกับอะไร มันจะหยิบจับสัญญาประสบการณ์ในอดีต หรือแม้กระทั่งสิ่งเราไม่เคยมีในอดีต…มันก็มาได้ มาตอบสนองออกไปในขณะนั้น

 

แล้วเหล่าพวกเราชาวโลกก็บอกว่าอย่างนี้เรียก “ปัญญา” แต่คนที่มีปัญญา เค้าไม่ได้ฝึกมีปัญญา

 

เค้าฝึกที่จะอยู่กับความเงียบ

ฝึกที่จะอยู่กับสภาพที่แท้จริงของตัวเอง

แล้วสิ่งต่างๆ มันเกิดขึ้นเป็นผลลัพธ์เฉยๆ ที่เรียกว่า “ความเข้าใจ” ก็ได้

 

สมมติว่า ปัญญาในมุมมองของศาสนาคือ เข้าใจว่าโลกนี้เป็นไตรลักษณ์…นี่ก็เป็นผลลัพธ์เหมือนกัน จากการเราเข้าถึงสภาพที่แท้จริงของเรานี้ก่อน แล้วเราถึงจะเห็นสิ่งต่างๆ นี้ชัดเจน…เคลียร์

 

จิตใจที่เป็นปกติ เงียบเชียบ มันเหมือนน้ำที่มันนิ่งเรียบ เราก็มองลงไปถึงก้นเลยใช่มั้ย? มีหิน มีตะไคร้น้ำ มีปลา แต่ถ้าเรายังเข้าไม่ถึงสภาพเดิมแท้นี้เลย น้ำก็กระเพื่อมตลอดเวลา จะเห็นอะไรข้างล่างได้มั้ย? เห็นไม่ได้

 

เพราะฉะนั้น สิ่งต่างๆ ที่เราเคยอ่านมา เคยฟังมานี่เป็นผลลัพธ์ทั้งนั้นเลย…มันจะมาเอง แต่ถ้าเราหวังจะได้มัน ในขณะนั้นน้ำกระเพื่อมแล้ว เราไม่ปกติแล้ว เรามีความอยากแล้ว

 

ตอนที่ 7 กลับสู่ “บ้านที่แท้จริง”

 

ตัวตนที่แท้จริงของพวกเราทุกคนไม่มีอวิชชา ดังที่พระพุทธเจ้าพูดว่า “จิตเดิมแท้นี่มันประภัสสรอยู่แล้ว” มีเพียงอุปกิเลสจรมาก็คือ เมฆหมอกมาคอยปิดบังเอาไว้

 

คนในโลกทุกคนไม่สนใจที่จะกลับเข้าสู่ดวงจันทร์ที่มันเป็นจิตประภัสสรอยู่แล้ว ไม่สนใจที่จะรู้ว่าชีวิตเรามันประภัสสรอยู่แล้ว

โดยแท้จริงคือ “สภาพตื่น” นี่มันประภัสสร สะอาด สว่าง สงบอยู่แล้ว

 

เราไปสนใจเมฆหมอกที่ปิดบังอยู่ เราก็เข้าไปจับมัน

 

กายกับจิตนี้เป็นเมฆหมอกเหมือนกัน เราเข้าไปจับมัน อันนี้เป็นของเรา เช่น บ้านเรา รถเรา แฟนเรา ลูกเรา อะไรอย่างนี้

เราเข้าไปจับเมฆหมอก เราไม่กลับมาที่สภาพที่ไม่มีอวิชชา…ไม่ยอมกลับกัน เราเอาจริงเอาจังกับเมฆหมอกอยู่ได้ เอาจริงเอาจังตลอดเวลา

 

เราต้องกลับเข้ามา กลับเข้าสู่ “สภาพตื่น” นี้ พอเรากลับสู่สภาพตื่นนี้ เราจะเห็น “อ่อ…นี่เมฆหมอก นั่นเมฆหมอก” เห็นโลกเป็นแบบนี้ เข้าใจทุกสิ่งทุกอย่างในโลก

ที่ผมเคยพูดในคลิปว่า เราเข้าใจทั้งสองอย่าง คือ เข้าใจทั้งสภาพเหนือโลก และเข้าใจทั้งสภาพในโลก พอเราเข้าใจทั้งสองอย่าง ก็จบ

 

พอเราเข้าใจอะไรได้ เราก็ไม่ต้องทุกข์กับมัน

 

สมมติว่าเราขับรถไป เครื่องยนต์เราดับกลางทาง เราซ่อมไม่เป็นก็ทุกข์แล้วใช่มั้ย? แต่ถ้าเราเป็นช่าง เครื่องดับปุ๊บ รู้เลยว่าจะต้องเติมน้ำในหม้อน้ำก่อนอะไรแบบนี้…ไม่ทุกข์เลยใช่มั้ย?

 

ถ้าเราเข้าใจอะไรๆ ในชีวิตทั้งหมดเราจะทุกข์ยังไง?

มันทุกข์ไม่ได้ มันไม่ทุกข์เอง

 

คนที่บอกว่า กิเลสขึ้นปุ๊บ เห็นไว ตัดไว…นั่น! ยังไม่ใช่

 

ต้องไม่มีกิเลส ไม่ใช่เห็นกิเลสปุ๊บ..ตัดไว คนดีๆ เยอะแยะที่เป็นนางฟ้า พอเค้าเห็นกิเลสเกิดขึ้น โกรธเกิดขึ้นปุ๊บ เค้าก็…อ้อ ไม่เป็นไร หายแล้ว…แป๊บเดียว เราเจอคนใจเย็นๆ แป๊บเดียวหายแล้ว เจอคนใจร้อนโกรธทั้งวันทั้งคืน

 

เพราะฉะนั้น ถ้ายังมีกิเลสอยู่ แล้วบอกว่า เราเห็นปุ๊บ ตัดไว ถือว่าปฏิบัติธรรมก้าวหน้า…มันก็ถูกเหมือนกัน แต่ถูกไม่หมด

 

เพราะในความเป็นจริงมันต้องกลับไปสู่สภาพเดิมแท้

สภาพที่มันสะอาด สว่าง สงบ

มันไม่มีกิเลส

 

ถ้าเราอยู่อย่างนี้ เราต้องใช้ขันธ์ 5 ใช้สัญญา สังขารที่จะพูดออกมา แต่พอเราอยู่คนเดียว เราอยู่กับความเงียบ เค้าเรียกว่าอยู่ในสภาพที่เหมือนเรียกว่า “สภาพที่ไม่มีจิต

 

เราต้องเข้าใจว่า “จิต” คือ สิ่งในโลก ปรุงแต่ง

ตัวแท้จริงของเราคือ “ใจ” ซึ่งก็คือ สภาพของจิตเดิมแท้

 

สภาพตื่น สภาพของจิตคือพุทธะ นี่คือหมายถึง “ใจ” ที่ไม่ปรุงแต่งอะไร อยู่ยังไงก็อยู่อย่างนั้นของมัน เราแค่กลับบ้านเฉยๆ แต่พอมีคนมาเคาะหน้าบ้าน เราก็ออกไปดูได้ โดยอาศัยจิตในการพูดคุย คิดโน่น คิดนี่ ตอบปัญหา

 

เพราะฉะนั้น การปฏิบัติธรรม คือ

การกลับสู่บ้านเดิมของเราให้ได้ กลับให้ถูกบ้าน…แค่นั้น!

อย่าไปติดอยู่กับเมฆหมอก

ไม่ใช่ไปเข้าใจว่าการปฏิบัติธรรม คือ ต้องไปทำอย่างนี้ ทำอย่างโน้น “ทำๆๆ มีแต่ทำ” ทำอะไรไม่รู้ตั้งหลายอย่าง…ไม่ต้องทำอะไรแบบนั้น

 

ความเข้าใจในธรรมะที่แท้จริงเกิดจาก “จิตที่มันว่าง” ไม่ได้เกิดจากเราไปอ่านหนังสือมา ไปฟังเค้ามา ไปคิดวิเคราะห์ สิ่งเหล่านั้นไม่ใช่ธรรม แต่เป็น “ความฟุ้งซ่าน” ต่อให้เราคิดแล้วเราพูดออกมาคล้ายๆ ครูบาอาจารย์พูด มันก็ไม่เหมือนหรอก

 

วันนึงถ้าเราเองเข้าถึงสิ่งที่เราพยายามคิด และก็พยายามเข้าใจ แล้วก็พยายามพูดออกมาให้คนอื่นฟัง ถ้าในอนาคตเราเข้าถึงเอง เราจะรู้ว่าวันที่เราพูดวันนั้น เราไม่เข้าใจอะไรเลย แต่เราพูดได้เหมือนมาก แต่เราจะรู้ว่าเราไม่เข้าใจอะไร…มันเป็นแบบนั้น

 

ให้เรากลับสู่ธรรมชาติที่แท้จริงของเราเอง

แล้วเราจะเข้าใจทุกสิ่งทุกอย่างด้วยใจ

 

ใจ” นี้จะ “เข้าใจ”

ไม่ต้องคิดจะทำอะไรมากกว่าการกลับไปสู่ “บ้านที่แท้จริง” ของเราให้ได้

 

ที่ผมบอกว่า “Zen” ก็เลยพูดว่ามันไม่มีขั้นมีตอนอะไร เข้าถึงก็ถึงเลย

 

 

ตอนที่ 8 เข้าใจ หัวใจของการปฏิบัติธรรม

 

พระพุทธเจ้าก็ให้ความรู้หลายอย่าง เช่น มีศีล หรือหนังสือก็บอกให้เราทำหลายอย่าง มีข้อมูลหลายอย่าง สิ่งเหล่านั้นมีไปเพื่ออะไร? คล้ายๆ เราหยิบมาใช้สิ่งที่มันเกื้อกูลกับเราให้เรากลับบ้านที่แท้จริงให้ง่ายที่สุด เร็วที่สุด

 

อย่างการที่เราทำงาน เรากลับบ้าน (สภาพตื่นรู้) ได้มั้ย? ไม่ค่อยได้ เรามักจะกังวลลูกค้า กังวลลูกน้อง กังวลครอบครัว สารพัดกังวล จะกลับบ้าน (สภาพตื่นรู้) กี่นาทีต่อวัน เราอยากจะบรรลุธรรม แต่เราให้เวลามันแค่ 10% หรืออาจจะ 1% ของชีวิตเราทั้งหมด เพราะอะไร?

 

เพราะเราเชื่อ เมฆหมอกว่ามันคือชีวิตเรามากกว่า

เราเชื่อว่าจิตเดิมแท้นี้คือ ชีวิตของเรา

 

เราเชื่อเมฆหมอกมากกว่า นั่นคือแปลว่าอะไร? เราเชื่ออวิชชามากกว่า เราเห็นว่า อวิชชาคือ ชีวิตของเรา เราเลยปล่อยมันไม่ได้

 

ถ้าอะไรที่เราทำได้ที่จะเกื้อกูลชีวิตของเราที่เหลืออยู่ทั้งหมด ที่จะช่วยให้เรากลับสู่บ้านที่แท้จริงของเราได้…เราต้องทำ!

 

เวลาเราทำงานประกอบอาชีพ สร้างเนื้อสร้างตัว เราทำทุกอย่างเลยใช่มั้ย? ทำทุกทางที่มันจะให้มันเหมาะสมที่สุด ที่มันจะดีที่สุด มีประสิทธิภาพที่สุดที่เราจะได้ผลงานที่ดีที่สุด

 

แล้วทำไมเราไม่คิดอย่างนี้กับชีวิตเราบ้าง?

 

เพราะเราไม่เข้าใจว่าชีวิตที่แท้จริงของเรามันคืออะไรกันแน่ 

เราเข้าใจว่าเมฆหมอกคือ ชีวิตของเรา

ประเด็นมันคือตรงนั้น

 

ผมถึงบอกว่า การปฏิบัติธรรมมันต้องเริ่มที่ความเข้าใจให้ได้ก่อนว่า “ชีวิตที่แท้จริงของเราทุกคนมันคืออะไร?”

 

ถ้าเราเข้าใจตรงนี้ไม่ได้ เราทำอะไรไม่ได้เลย เราก็ไปทำอะไรผิดๆ ตลอด แม้กระทั่งเราจะปฏิบัติธรรม เราก็จะไปปฏิบัติผิดด้วย

 

ถ้าเราไม่เข้าใจตรงนี้ เราก็ไปอ่านหนังสือ ไปฟังครูบาอาจารย์ทั้งหลายที่เป็นผู้สอน เค้าแนะนำอะไร เราก็มืดๆ แล้วเราก็ทำตามเค้าไปก่อน เค้าบอกแบบนี้เราก็ทำไป….เสียเวลา!!

 

ถ้าเรายังไม่เข้าใจชีวิตที่แท้จริงของเราว่ามันคืออะไร เราจะมืดๆ คลำๆ ทางไปเรื่อยๆ ยิ่งเจออาจารย์มืดๆ ก็เสร็จเลย เรียกว่า “เตี้ยอุ้มค่อม” ไปด้วยกันนั่นแหละ

 

แต่ถ้าเราเข้าใจ “หัวใจ” ของการปฏิบัติธรรมได้ เราไปฟังที่ไหน เราก็รู้ว่าไม่ใช่ทาง

 

คนที่สอนให้เรายังเชื่ออะไรอยู่ จะเป็นอาจารย์ได้ยังไง?

ไม่มีความเชื่ออะไรทั้งนั้น!

 

เราจะถึงความพ้นทุกข์อย่างสมบูรณ์ เราจะติดกับอะไรได้ยังไง?

เราจะเชื่ออะไรอยู่ได้ยังไง? จะไม่มี

 

ถ้าเราถึงความจริง แล้วต่อให้มีคนบอกว่า คนนี้เป็นพระพุทธเจ้าแต่พูดสิ่งที่ไม่จริง เราก็ไม่เชื่อเหมือนกัน เพราะเราถึงความจริงไปแล้ว เราจะไม่อยู่ภายใต้ความเชื่อ ระบบความเชื่อใดๆ ทั้งสิ้นในโลกนี้

 

“สีลัพพตปรามาส” คือ ไม่งมงายในศีลพรต ในความเข้าใจผมคือ ความเชื่อทั้งหลายในโลกนี้จะถูกทำลายทิ้งทั้งหมด อยู่เหนือเราไม่ได้เพราะเราอยู่เหนือมันไปแล้ว

 

ถ้าเรายังเชื่ออะไรอยู่…เราต้องเป็นทาสสิ่งนั้น

 

คนที่สอนให้เราเชื่ออะไรอยู่ เค้าเองยังเป็นทาสอยู่ แล้วจะสอนคนอื่นได้ยังไง?

 

เพราะฉะนั้น เราก็กลับสู่ “บ้านที่แท้จริง” ของเราให้ได้ อันนี้เป็นเป้าหมายของชีวิตของเรา

 

ต้องกลับไปพิจารณาชีวิตทั้งหมดของเราตั้งแต่วันนี้ เราจะทำอะไรได้บ้างที่จะเกื้อกูลให้ชีวิตของเรากลับสู่บ้านที่แท้จริงได้มากที่สุด เร็วที่สุด…เราต้องไม่ประมาทกับชีวิต

 

เราเป็นคนดีมาพอแล้ว เราทุกข์เพราะความดีมาพอแล้ว เราต้องไปอยู่เหนือมัน เราต้องเผชิญหน้าตอบสนองต่อสิ่งต่างๆ ในขณะนั้นๆ…แค่นั้น

 

แต่เราจะตอบสนองเผชิญหน้ากับสิ่งต่างๆ ในขณะนั้นๆ ได้ “จิตเราต้องว่างก่อน” มันถึงจะเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง ไม่ใช่เรื่องของ “ความคิด” เป็นเรื่องของ “ขณะนั้น

 

Camouflage

22-Nov-2016

 

YouTube : https://youtu.be/hM3hOqrNUbQ

คลิปเสียงธรรมะทั้งหมดของคุณ Camouflage : https://goo.gl/RDZFMI

======================

5 ช่องทางการอ่านและฟังธรรม

1) Facebook : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
http://www.facebook.com/sookguysookjai

2) Line : @camouflage.talk
https://line.me/R/ti/p/%40camouflage.talk

3) YouTube : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
https://goo.gl/in9S5v

4) Website: https://camouflagetalk.com

5) Podcast : Camouflage – Dhamma Talk
-iOS https://itun.es/th/t6Mzdb.c
-Andriod https://goo.gl/PgOZCy