47.สมาธิที่ไม่มีระหว่าง

ตอนที่ 1 “ฌาน”ของพระพุทธเจ้า และ พราหมณ์

ในขณะที่พวกเราจิตใจเป็นปกติอยู่ เรามีสติบริสุทธิ์ตามธรรมชาติ เรามีสติตั้งมั่น แล้วจิตใจเราก็เป็นอุเบกขาแล้วแลอยู่ มันเป็น “ฌาน 4” อยู่แล้ว เราไม่ได้ทำอะไร…ไม่ต้องไปทำอะไร

ถ้าเราพยายามทำฌาน 4 นั่นคือ เรากำลังมี “ตัวเรา” ที่ต้องการสมาธิ มีตัวเราเต็มๆ เลย เราอาจจะมีฌาน 4 จริงๆ แต่มีแบบ “เรามี” มันไม่ใช่เป็นการเข้าไปประจักษ์แจ้งสิ่งที่มีอยู่แล้ว

สติ สมาธิ เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วในจิตในใจนี้
สติมากๆ กลายเป็นสมาธิ
สมาธิมากๆ กลายเป็นความตั้งมั่น
แล้วจิตใจที่ตั้งมั่น มันก็เป็นปกติ มันก็เป็นอุเบกขา
ปัญญาก็เกิดได้

ทั้งหมดทั้งสายจริงๆ แล้วมันก็คือ อันเดียวกัน มันคือ มะม่วงลูกเดียวกัน จากเล็ก ไปดิบ ไปสุก ไปห่าม มันก็อันเดิมนั่นแหละ มันก็คือ มะม่วงลูกเดิม มันก็เป็นสายเดิมอยู่แล้ว เราไม่ใช่ว่าไปทำอะไร

เพียงแต่เราเข้ามาเห็นสภาพที่แท้จริง สภาพที่เป็นจริง เห็นสภาพที่มีอยู่แล้วในใจเรา…สติก็เกิด สมาธิก็เกิด อยากจะเรียกว่าฌานก็ได้…ก็เกิดเหมือนกัน

เราต้องแยกออกว่า ฌานของพระพุทธเจ้า กับ ฌานของพราหมณ์ ไม่เหมือนกัน

อุทกดาบส อาฬารดาบสทำฌานใช่มั้ย? พระพุทธเจ้าก็ทำฌานตามอุทกดาบส อาฬารดาบสทำถึงฌาน 8 แต่พระพุทธเจ้าก็ไปต่อไม่ได้…ก็ได้ฌานแล้วนี่ ฌานลึกแล้วด้วย ลึกกว่าฌาน 4 อีก ไปถึงฌาน 8 เลย แต่พระพุทธเจ้ายังต้องเลิกทำเลย

แล้วทำไมทุกวันนี้เราสอนให้ทำฌาน?
เรายังสอนให้นั่งสมาธิให้เข้าฌานให้ได้?
ทำไมเรายังไปทำสิ่งที่พระพุทธเจ้าเลิกทำ?
แล้วเราก็บอกว่าเราสอนตามพระพุทธเจ้าสอน…มันไม่ใช่!!
เราไปทำสิ่งที่พระพุทธเจ้าเลิกทำมานานแล้วสองพันกว่าปี แล้วเราก็ไปทำแบบนั้นอยู่ได้ เพราะฉะนั้น ทุกคนต้องเลิกทำฌานแบบพระพุทธเจ้าเหมือนกัน เราสอนให้คนเสียเวลาไปทำแบบนั้น

เราสอนนี่เราไม่ดูตัวเองเลยว่าอย่างแรกตัวเองทำได้มั้ย? แล้วตัวเองทำแล้วดีขึ้นมั้ย? หรือตัวเอง ยิ่งทำยิ่งอัตตาเยอะ ยิ่งทิฏฐิมานะเยอะ กูถูกมึงผิด อะไรอย่างนี้…เราต้องดูตัวเองได้ ตรวจสอบตัวเองได้ด้วยว่าเราเป็นอย่างนั้นรึเปล่า?

.

ตอนที่ 2 สมถะกับวิปัสสนาควบคู่กันตลอดทุกขณะ

มันมีเรื่องของ “สมถะ” กับ “วิปัสสนา” อีกที่พระพุทธเจ้าสอนว่า เราต้องเจริญสมถะและวิปัสสนาควบคู่กันไป…เป็นความเข้าใจผิดของนักปฏิบัติจำนวนมากเหมือนกันที่นึกว่า เราต้องไปนั่งสมาธิ ทำสมถะ จนสุดท้ายก็คือ จะได้ฌาน แล้วเราจะออกมาจากฌานมาเจริญวิปัสสนา

ตอนออกมาจากฌานนี่แหละกำลังทำถูกแล้ว แต่เราไปเสียเวลาทำสิ่งๆ นั้นอยู่

ระหว่างทางเดินที่เรากำลังทำฌาน จิตใจเราสบาย สงบนิ่ง มีความสุข…ชอบมั้ย? ชอบ ถ้าคนทำสมาธิทำฌานเนี่ย…ลองไปถามก็ได้ถ้าเรามีเพื่อนที่ทำแบบนั้น ไปถามเลยว่าเวลาสมาธิตกเนี่ย…ทุกข์ใช่มั้ย? ต้องไปทำอีกใช่มั้ย? ทุกคนจะทุกข์ ยิ่งคนได้ฌานลึกยิ่งทุกข์เลย พอมันตกนิดเดียว…มันทุกข์เลย ทุกข์ทันที ทุกข์เยอะกว่าคนอื่นด้วย แม้ว่าจริงๆ ตอนนั้นมันยังมีสมาธิอยู่ด้วยนะ…แต่ทำไมทุกข์?

เพราะว่ามันเป็นเรื่อง Relative มันสัมพัทธ์ ถ้าเรายิ่งสูง แล้วเรายิ่งตก มันก็ยิ่งชัด…ตกนิดนึงก็…โอ้โหห! เป็นทุกข์เยอะ ไม่อยากเป็นแบบนั้น

เพราะอะไร? เพราะ “ติดฌาน” พอใจกับระดับนี้ ลงไม่ได้เลย มันก็เลยเป็นกับดับ

สมมติว่าคนที่ทำฌาน แล้วออกมาเจริญวิปัสสนาแบบที่เค้าจะพูดกัน อาจจะทำได้ถ้าตัวเองไม่ติดฌาน ถ้าไม่พอใจในอารมณ์ในความสุขแบบนั้น อันนี้อาจจะโอเค…แต่ก็เสียเวลาอยู่ดี

แต่จริงๆ แล้ว “สมถะ” กับ “วิปัสสนา” ไม่ใช่การทำแบบนั้น
มันเป็นสิ่งที่ควบคู่กันอยู่ตลอดเวลาทุกขณะของจิตเราเลย

ในขณะที่จิตใจเราเป็นปกติอยู่ รู้สึกตัวอยู่ เราไม่เข้าไปในโลกของความคิดความปรุงแต่ง ในขณะนั้น จิตมันพักอยู่แล้ว มันไม่ไปทำงานอะไร ไม่มีอะไรผ่านเข้ามา ไม่มีอะไรผ่านออกไป ในขณะนั้นจิตเป็นปกติอยู่ สภาพเป็นปกติอยู่แล้ว ไม่มีอะไรเลยตอนนั้น ในตอนนี้แหละกำลัง “เจริญสมถะ” อยู่
แต่เมื่อไรก็ตาม ที่ตากระทบ หูได้ยินเสียง แล้วเกิดอารมณ์อะไรเกิดขึ้นเข้ามาในจิตใจ ผ่านมาปุ๊บ..เราเห็น แล้วเดี๋ยวมันก็ผ่านไปใช่มั้ย? เราไม่ได้สนใจอะไรใช่มั้ย? อารมณ์เหล่านั้นก็ผ่านไป ขณะนั้น “วิปัสสนากำลังเจริญ” อยู่แล้ว

แล้วเดี๋ยวพอมันผ่านมาผ่านไป เรากลับมารู้สึกตัว จิตใจเราปกติ…สมถะเจริญแล้ว แล้วเดี๋ยวเราเห็นอะไร กระทบอะไร สิ่งต่างๆ เกิดขึ้นในใจเรา เราเห็นเฉยๆ…เจริญวิปัสสนาแล้ว

เพราะฉะนั้น สมถะกับวิปัสสนา มันสลับกันตลอดเวลากับชีวิตของนักปฏิบัติทุกคน

“สมาธิที่ตั้งมั่น” มันเลยไม่เคยตกเลย
มันเลยเป็นฌาน 4 ตลอดเวลา
เพราะว่าเรามีความตั้งมั่น มีอุเบกขา
มีจิตใจที่เป็นปกตินี้อยู่แล้ว มันก็เลยตั้งมั่นอยู่ตลอด

.

ตอนที่ 3 สมาธิที่ไม่มีระหว่าง

สมาธิที่เค้าเรียกว่า “อนันตริกสมาธิ” คือ สมาธิที่ไม่มีระหว่างเลย เป็นสมาธิแห่งความเป็นปัจจุบัน ที่เราเห็นทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ตลอด มันไม่เคยตกเลย มันไม่ตก…มันเป็นอะไร? มันเป็นฌาน

มันก็เลยเป็นสิ่งที่มันมีอยู่แล้ว เราไม่ได้ไปทำอะไรขึ้นมา
เพียงแต่เราเห็นให้มันถูกเฉยๆ แค่นั้นเอง
เราเห็นในมุมให้มันถูกต้องก็พอ

แล้วมันก็เจริญสมถะ เจริญวิปัสสนาควบคู่กันไปตามที่พระพุทธเจ้าบอกเปี๊ยบเลย!!…คือ ควบคู่กันไป ไม่ใช่ทำทีละอย่าง

ควบคู่กันไปตลอดเวลา กำลังของเราเลยไม่เคยตกเลย

แต่บางทีต้องมี “อุบาย” เช่น เจอครูบาอาจารย์บอกว่า “เอ้อ…สมาธิน้อยไป ไปทำสมาธิหน่อย” … “หน่อย” นึกออกมั้ย? ทำสมาธิหน่อย ไม่ใช่ให้ไปทำฌาน…ครูบาอาจารย์แนะนำแบบนี้

เช่น เราอยู่ในโลกเยอะ เราออกไปเจอคน ทำงาน เจอลูกค้า เจอลูกน้อง เราก็ฟุ้งซ่าน อารมณ์มาเยอะในจิตใจเรา มันหนักอ่ะ

เราก็กลับไปทำสมาธิซักหน่อย นั่งสบายๆ ก็คือ ทำให้มันหายฟุ้งซ่านซักหน่อยนึง ทำนิดเดียว พอมันเข้าที่ปุ๊บ..ก็ออกมา จิตนี้มีกำลัง สบาย ปกติแหละ พอออกมาก็เหมือนเดิม

เพราะฉะนั้น ที่บอกว่าไปทำสมาธิซักหน่อยนี้เป็นอุบายเฉยๆ ที่จะช่วยเรา แต่ไม่ใช่เป็นเรื่องของการเจริญสมถะเจริญวิปัสสนา เป็นคนละอย่างกัน…มันมีแค่นั้นเอง

ฌานเป็นสิ่งที่ไม่ใช่ทำขึ้นมา

พวกเราเข้าถึงได้อยู่แล้ว ตามคำอธิบายของฌาน 4 จริงๆ เป็นทางลัดด้วย เราเข้าถึงสภาพเดิมแท้ที่มันปกติอยู่แล้ว ที่มันมีอยู่แล้วเนี่ย…มันเหมือนปรื้ดดด..เข้าฌาน 4 ไปเลยไม่ต้องผ่าน 1, 2, 3 เราไม่ต้องไปละปีติ ละสุข ละอะไรแบบที่เค้าว่ากันเป็นฌาน เป็นขั้นๆ แบบนั้น

คำว่า “อนันตริกสมาธิ” เป็นสิ่งที่ไม่ค่อยมีคนจะพูด ที่เคยเจอมีคนพูด 2 คน คือ ท่านเขมานันทะ กับ ท่านพุทธทาส…เป็นสมาธิที่ใช้ในการเจริญวิปัสสนา ใช้ในการปฏิบัติธรรมนี่แหละ…ไม่ใช่ฌาน เป็นอนันตริกสมาธิ คำแปลสวยมาก “สมาธิที่ไม่มีระหว่าง” มันมีอยู่ตลอดๆ

มีอยู่ครั้งนึงผมกำลังเดินจะไปขึ้นเครื่องบินกับหลวงพ่อ อยู่ๆ หลวงพ่อก็หันมาแล้วบอกว่า “สมาธิของวิปัสสนา มันจะเป็นอย่างนี้ๆ ตลอด ไม่มีตก เพราะมันอยู่ปัจจุบันตลอด” แต่หลวงพ่อใช้ชื่อไม่เป็น คนที่รู้จักเหมือนกัน พูดเหมือนกัน…ไม่ได้ไปทำมันขึ้นมา คนที่ไม่รู้จัก พูดไม่ได้

.

ตอนที่ 4 เพื่อเจริญปัญญา ไม่ใช่เพื่อความอดทน

เรื่องของ “เวทนา” นี้เป็นเรื่องที่คนเข้าใจผิดเยอะเหมือนกัน อย่างเวลาไปเข้าคอร์สนั่งสมาธิกัน วันแรกๆ ก็นั่งเจ็บมาก แล้วสมมติผ่านไป ก็บอกว่า “วันนี้ปฏิบัติยังไม่ดีเลยคือ มันยังปวดมากอยู่เลย” พอปฏิบัติไป 3-4 วัน “อุ้ยยย…วันนี้ดีขึ้นเยอะเลย นั่งแล้วมันไม่ปวด นั่งแล้วทนความปวดได้” เค้านึกว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง สิ่งที่ดี

แล้วเค้าก็มาถามผม ผมก็บอกว่า “ให้เปลี่ยนใหม่นะคือ เรานี้มีร่างกาย…ร่างกายนี้มันเป็นทุกข์ เรานั่ง…มันปวด เราก็แค่รู้มันปวดเฉยๆ”

หน้าที่ของเราก็คือ “รู้อย่างที่มันเป็น”

ไม่ใช่ว่าจะนั่งให้มันหายปวด อันนี้เป้าหมายมันผิด
พอหายปวดนึกว่าเป็นสิ่งที่ดี ถ้าเราปวดรู้สึกว่าเป็นสิ่งไม่ดี…ไม่ใช่แบบนั้น

แต่คนส่วนใหญ่ที่เพิ่งเริ่มปฏิบัติธรรมไปคิดแบบนั้นกัน ถ้าเรานั่งแล้วเราทนได้ เราหายปวด แปลว่า เราประสบความสำเร็จ จริงๆ มันไม่ใช่การเห็นความจริงซักอย่างนึงเลย จริงๆ เรานั่งนี่ ปวดก็รู้ว่าปวด

สติปัฏฐานมันมีตั้ง 4 ฐานใช่มั้ย? เราปวดแล้วเรารู้ว่าร่างกายเราจะรับไม่ได้ ถ้าเราจะเอาสติปัฏฐานทางจิตตานุปัสสนาก็ได้ เราก็เห็นความอยาก เห็นอารมณ์ในจิต ความรู้สึกในจิต แล้วเราก็จะเปลี่ยนท่า เราก็เปลี่ยน

แต่ถ้าคนเราอยากจะดูเวทนา โดยไม่ขยับ ก็โอเค ก็ดูเวทนาไป แต่ไม่ใช่ดูให้มันหายปวด เราดูเวทนา เราเห็นว่า ตอนนี้อาการปวดมันเป็นยังไง? มันขึ้นๆ ลงๆ มันไม่ใช่ขึ้นตลอดจนเส้นขาด…ไม่ใช่แบบนั้น มันลงด้วย แล้วเดี๋ยวมันก็ขึ้นอีก แล้วมันก็ลงอีก

ถ้าเราปฏิบัติธรรมแบบนั้น เราจะรู้ว่า จากเดิมที่เราคิดว่า เราเป็นคนปวดเนี่ย มันเคยคิดอย่างนี้เพราะมี “เรา” เข้าไปปวด แต่พอเราเห็นเวทนานี้เป็นเวทนาเฉยๆ ได้ ความปวดจะตกเลยฟรื้บบบ..ทันที เพราะความเป็นเรานี้ถอดออกไป มันไม่มีเราเข้าไปปวด เราเห็นมันเฉยๆ เหมือนเราเห็นคนนั้นปวด…ไม่ใช่เราปวด ความทุกข์เราก็ลดลงทันที

เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ เห็นแบบนี้ ไม่ใช่เห็นให้มันหาย ให้เห็นว่า มันไม่เที่ยง มันขึ้นๆ ลงๆ แล้วก็เห็นความแปรปรวนของมัน แล้วสมมติว่ามันจะหายไป เราก็เห็นว่า “อ่อ…นี่! สิ่งต่างๆ เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย” มันก็หายไปเอง มันหายโกรธ มันก็หายเอง ไม่ใช่ว่าเราไปบังคับควบคุมให้มันหายได้…นี่! อย่างนี้

แต่คนส่วนใหญ่พอเข้าคอร์สนั่งสมาธิต้องทนได้ !!

การปฏิบัติธรรมทั้งหมดของเราเป็นไปเพื่อเจริญปัญญา
ไม่ใช่เป็นไปเพื่อความอดทน

ถ้าเราวางเป้าหมายว่า เราต้องอดทนกับทุกความลำบากได้ ไปเป็นทหารดีกว่า ไปเป็นกรรมกร ไปสร้างถนน ร้อนๆ นอนในสังกะสี แบบนั้นลำบากมาก เห็นทุกครั้ง ก็สงสารคนจนทุกทีว่าเค้าลำบากมาก

เพราะฉะนั้น เราไม่ได้ฝึกว่า เราจะอดทนเก่ง…ไม่ใช่แบบนั้น

เราฝึกที่จะให้จิตใจนี้มีปัญญาขึ้นมา รู้ทุกสิ่งตามเป็นจริง
ทุกข์ก็รู้ว่าทุกข์ ร้อนก็รู้ว่าร้อน ลำบากก็รู้ลำบาก

.

ตอนที่ 5 พอดีกับเรา

การมีปัญญานี้ คือ เราฉลาดที่เราจะรู้ว่าอะไรที่มันพอดี

“พอดี” นี้คือ เรามีปัญญาที่จะรู้ถึงความพอดีของการใช้ชีวิตของเรา

ไม่ใช่แปลว่า เรามีบ้าน เราต้องไปนอนหน้าบ้าน เรามีบ้านเราก็นอนในบ้าน เรามีข้าวให้กิน เราก็กินข้าว เราไม่ต้องไปกินของที่เราไม่ชอบกิน…ต้องใช้ปัญญา ไม่ใช่ฝึกที่จะอดทนเป็นวัวเป็นควาย

เวลาเราคิดภาพของการปฏิบัติธรรม เราชอบคิดอะไรที่มันลำบาก เราชอบคิดว่า เราต้องถึก เราต้องอดทนได้ทุกอย่าง มันเหมือนจะถูกเหมือนกัน มันไม่ใช่ผิดหรอก มันก็ช่วยนะความลำบาก มันช่วยเหมือนกัน แต่เราต้องรู้ว่า เราลำบากไปทำไม

อย่างที่เคยพูดหลายครั้ง ถ้าเราจะลำบาก เราต้องรู้ว่า เราลำบากเพื่อจะขัดเกลาตรงไหนของเรา เพื่อที่จะให้เราเรียนรู้อะไรจากความลำบากนั้น แต่ไม่ใช่ว่า เราเชื่อว่าเราต้องลำบาก…ต้องลำบาก แต่ไม่รู้ว่าลำบากไปทำไม

บางคนเชื่อว่า เราต้องอดทนได้ อันนี้เป็นทาง…มันไม่ใช่แบบนั้น เราต้องรู้ว่า เราลำบากเพื่อจะเรียนรู้อะไรในความลำบาก เรียนรู้จิตใจเราเป็นยังไง…อันนี้พอใช้ได้

แต่ถ้าเพิ่งเริ่มปฏิบัติธรรมเนี่ย…สบายเกินไปก็ไม่ดี เราต้องรู้ตัวเองว่า “อะไรที่มันพอดีกับเรา”

ความอดทน ความลำบาก อันนี้เป็นอุบายของแต่ละคนที่ต้องใช้…แค่นั้นเอง แต่ไม่ใช่ว่าเป็นเป้าหมายของการปฏิบติธรรมเพื่อจะอดทนได้ทุกอย่าง

สุดท้ายเราไม่ได้อดทนได้ทุกอย่าง
แต่เราเป็นกลางต่อทุกสิ่งทุกอย่าง

คำว่า “เป็นกลาง” เนี่ย..มีคนเอามีดมากรีดขาเรา เราก็…โอ้ย! เจ็บเหมือนกันใช่มั้ย?…ไม่ใช่เราทนได้ แต่เราไม่ทุกข์เฉยๆ อันนี้เรียกว่า เป็นกลางต่อสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว
แต่ถ้าเป็นทหารโดนทรมาน…อึ้ดสส! เอาอีก ไม่บอกๆ เป็นความลับ เราจะไม่คลายความลับ เราทนได้ทุกอย่าง

เพราะฉะนั้น เราต้องเข้าใจให้ถูกว่า
เราปฏิบัติธรรมเพื่อจะมีปัญญา
เข้าใจสรรพสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ตามเป็นจริง
แล้วเราก็ใช้ชีวิตในลักษณะของความพอดี
ในลักษณะที่เรารู้ว่า อะไรที่มันพอดีกับเรา
ไม่ใช่ฟุ่มเฟือยหรูหรา ไม่ใช่ขัดสนข้นแค้น
มีอะไรให้ใช้ก็ใช้ มีอะไรให้กินก็กิน

สมมติว่า ถ้าเราจะคิดเรื่องลำบาก เช่น เราเคยได้ยินครูบาอาจารย์ว่า อดอาหาร เนสัชชิก…เนสัชชิกเป็นอุบายเฉยๆ ให้เราได้รู้จัก ว่าถ้าลองไม่นอนเป็นยังไง…อดอาหารนี้เป็นอุบายเหมือนกัน เราต้องรู้ว่า “อุบาย” ไม่ใช่ทาง

หรือแม้กระทั่งอุบายการหยุดลมหายใจของหลวงปู่เทสก์ ท่านให้ลองหยุดกลั้นหายใจซักพักแล้วเราไม่คิดอะไร มันก็ว่าง สภาพนั้นก็ไม่มีกิเลสเหมือนกัน หลวงปู่เทสก์ยังบอกให้รู้จักสภาพนี้เอาไว้….แบบนี้ มันเป็นอุบาย
แต่ละคนก็มีอุบาย ที่ว่าจะเข้าถึงสภาพนี้ยังไง ถ้าลำบากเกินไป ก็รู้สึกไม่ปกติใช่มั้ย? มันไม่พอดีกับเราอย่างนี้ แต่ก็เป็นการเรียนรู้ว่า อ๋อ…ไม่พอดีมันเป็นอย่างนี้นี่เอง

.

ตอนที่ 6 ไม่ใช่การทำอะไรตรงๆ กับสิ่งที่เราต้องการ

การปฏิบัติธรรมนี่…มันไม่ใช่การทำอะไรเลย
ไม่มีการทำอะไรเลยยย

เราจะพ้นออกจากโลกของความคิดปรุงแต่งเนี่ย…เราทำอะไร?
เราไม่ใช่ไปหยุดคิด…เราอาศัยอะไร?
เรารู้สึกตัวขึ้นมา…พอรู้สึกตัวปุ๊บ…มันก็พ้นออกมาอัตโนมัติ

เราไม่ได้ไปทำตรงๆ กับกิริยานั้น เราจะพ้นออกจากโลกความคิดปรุงแต่ง…ไม่ใช่เราไปหยุดความคิด ไปจัดการความคิดมัน แต่เพียงแต่เรารู้สึกตัว เราสร้างเหตุอีกสิ่งหนึ่ง ผลอันนี้จะเกิดขึ้น เราไม่ได้ไปทำอะไรตรงๆ

เพราะฉะนั้น พอเราสร้างเหตุรู้สึกตัวขึ้นมาปุ๊บ
มันก็พ้นออกจากโลกความคิดปรุงแต่งเอง
แล้วครูบาอาจารย์ก็พูดถึงจิตใจที่เป็นปกติ รู้จักมันไว้ เรามีอยู่แล้ว มันก็เกิดขึ้นเองอีก ไม่ใช่เราไปทำให้ใจนี้มันปกติ

เพราะฉะนั้น ทุกอย่างที่เป็นผลทั้งหลายที่เราปฏิบัติธรรมแล้วเราจะเข้าถึง…ไม่ใช่การที่เราเข้าไปทำมันตรงๆ แต่ว่าเราแค่สร้างเหตุที่มันถูก แล้วสิ่งๆ นั้นจะค่อยๆ เกิดขึ้นๆ เป็นลำดับๆ โดยที่เราไม่ได้ทำอะไรเลย

ในขณะที่เรานั่งกันอยู่อย่างนี้ ทุกคนรู้สึกตัวได้ใช่มั้ย? ทุกคนรู้สึกถึงว่าเรามีร่างกายนี้กำลังนั่งอยู่ ความรู้สึกของความมีอยู่ของร่างกายนี้ของเรา…เรารู้สึกได้

ในขณะที่เรารู้สึกได้แบบนี้ เราไม่มีความคิดอะไร เราฟังเสียงเนี่ย…เราฟังเสียง เราก็ฟัง แต่เราไม่ได้คิดอะไรเยอะ เหมือนกับฟังไปเรื่อยๆ ใช่มั้ย? เราไม่ได้คิดอะไรเยอะ

เราก็รู้สึกถึงร่างกายเราด้วย จิตใจเราทุกคนตอนนี้…ปกติอยู่ใช่มั้ย? จิตใจทุกคนตอนนี้ก็เงียบสงบ ราบเรียบ ไม่มีอะไร…สิ่งเหล่านี้ก็เกิดขึ้นเอง เพียงแค่เราอยู่กับเนื้อกับตัวเรา…แค่นั้นเอง แล้วผลต่างๆ ก็ค่อยๆ เกิดขึ้น

เพราะฉะนั้น การปฏิบัติธรรมไม่ใช่การทำอะไรเข้าไปตรงๆ กับสิ่งเราต้องการได้ มันเป็นการที่เราสร้างเหตุให้มันถูกต้อง แล้วผลที่เราต้องการได้จะเกิดเองแต่ “ต้องสร้างเหตุให้ถูกต้อง”

เหมือนที่พูดตั้งแต่แรกเรื่องเราอยากได้สมาธิ
ไม่ใช่เราไปทำสมาธิ ไม่ใช่เราไปทำตรงๆ
เราแค่รู้จักสิ่งที่มี เราแค่พ้นออกจากโลกของความคิด
เรารู้สึกตัวอยู่… “สติ” ที่เราต้องการมันก็เกิด
รู้สึกตัวอย่างต่อเนื่องให้มันบ่อยๆ สมาธิมันก็เกิด
ฌานที่อยากจะได้มันก็เกิด…เป็นอย่างนี้

เพราะฉะนั้น จะสังเกตว่าหลายๆ สิ่ง หลายๆ อย่างที่เราถูกสอนมา ที่เราต้องการให้มันมีขึ้น เราไม่ได้ไปทำตรงๆ ไม่ใช่ไปทำสมาธิ เราไม่ใช่ไปทำสติ แต่การที่เราสร้างเหตุให้มันถูกต้อง คือ

การพ้นออกจากโลกของความคิดปรุงแต่งให้ได้ด้วยความรู้สึกตัว
แล้วผลต่างๆ ที่เรากำลังต้องการนี้มันเกิดขึ้นเอง เราไม่ได้ทำ

แต่ถ้าเราเข้าใจผิด เราจะไปทำมัน ทุกสิ่งทุกอย่างที่เรากำลังอยากจะได้ผลแบบนั้น เราจะเข้าไปทำมัน แล้วพอเราเข้าไปทำมันไม่ว่าขั้นตอนไหนก็ตาม…ผิดหมด มันจะถูกไม่ได้เพราะมันเริ่มก็ผิดแล้ว

การปฏิบัติธรรมเลยมีหัวใจสำคัญไม่มาก เช่น
ไม่ใช่การเข้าไปทำอะไรทั้งนั้น มันมีแต่ “รู้เฉยๆ”
เราจะรู้เฉยๆ ได้ มันต้อง “รู้สึกตัว”
เราจะรู้เฉยๆ ได้จิตใจต้องยังไง? ต้องตั้งมั่น
จิตใจจะตั้งมั่นได้ยังไง? เพราะจิตใจนี้มันเป็นปกติอยู่อย่างต่อเนื่องอยู่บ่อยๆ

เนี่ย!…ผลทั้งนั้นเลย เราไม่ได้ไปทำให้มันเป็นอย่างนั้น ไม่ได้ไปทำให้มันปกติ ไม่ได้ทำให้มีสมาธิ ไม่ได้ทำให้มีสติ

เหมือนการปฏิบัติธรรมนี้เป็นการแค่รู้ว่า เหตุอย่างนี้จะทำให้เกิดผลอย่างนี้ แล้วเราก็สร้างเหตุให้มันถูก…แค่นั้นเลย ไม่ใช่การไปทำไปสร้าง ต้องได้นี่ ได้นั่นขึ้นมา…ไม่ต้องไปทำอะไร

ถ้าเรามีในใจของเราระลึกไว้ว่า “การปฏิบัติธรรมไม่ใช่การทำอะไร” เราจะรู้ว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่มีคำสอนที่ให้เราทำ เราจะรู้ว่ามันผิด แล้วเราจะไม่ต้องคิดว่า เอ้…มันถูกหรือมันผิด หรือต้องลองทำก่อน เราจะรู้เลยว่ามันผิด

 

Camouflage
29-Oct-2016

 

YouTube : https://youtu.be/YwFC11ePdNs

5 ช่องทางการอ่านและฟังธรรม

1) Facebook : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
http://www.facebook.com/sookguysookjai

2) Line : @camouflage.talk
https://line.me/R/ti/p/%40camouflage.talk

3) YouTube : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
https://goo.gl/in9S5v

4) Website: https://camouflagetalk.com

5) Podcast : Camouflage – Dhamma Talk
-iOS https://itun.es/th/t6Mzdb.c
-Andriod https://goo.gl/PgOZCy